‘สมพงษ์ อมรวิวัฒน์’ ผู้นำฝ่ายค้าน กางโรดแมปตรวจเข้ม รบ.บิ๊กตู่

หมายเหตุ – นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ให้สัมภาษณ์ มติชนŽ ถึงแนวทางการทำงานของพรรค พท.ในบทบาทแกนนำ 7 พรรคร่วมฝ่ายค้าน รวมทั้งการประเมินเสถียรภาพของรัฐบาลและทิศทางการเมืองในอนาคต

‘ในฐานะหัวหน้าพรรค พท.คนใหม่ จะนำทัพ พท.ไปในทิศทางไหน

เราต้องดูทิศทางของยุคปัจจุบัน ผู้นำรัฐบาล เราจะเห็นว่าขณะนี้ทุกคนเห็นตรงกันว่า ประเทศชาติบ้านเมืองมันไปไม่ได้จริงๆ ปัญหาปากท้องมาเป็นอันดับ 1 เนื่องจากไม่มีความเชื่อมั่นจากบุคคลในรัฐบาลที่ทำงานมา 5 ปี แบบมีอำนาจเต็มทุกรูปแบบยังทำไม่สำเร็จ วันนี้ไม่มีอะไรที่เป็นตัวช่วยมากกว่าเก่า แล้วแบบนี้ชาวบ้านจะมีความเชื่อมั่นได้อย่างไร เขาจะทำงานให้ประชาชนมีกินมีใช้ พ้นจากวิกฤตได้อย่างไร ฝ่ายค้านเราเพียงอยากแนะนำว่าบ้านเมืองในขณะนี้ไม่ได้เป็นอย่างที่ท่านคิด คนรอบข้างท่านเพ็ดทูลว่าดีอย่างนั้นอย่างนี้ ซึ่งท่านก็เชื่อ แค่ ส.ส.พรรค พท.ไปเยินยอท่านยิ้มร่า พออกพอใจ แต่ถ้าพูดอะไรที่เป็นเนกาทีฟท่านจะไม่ค่อยแฮปปี้ แต่อยากเรียนว่า สิ่งที่เราพูดคือการแนะนำ เราอยากให้ท่านเข้าใจ ดังนั้น เราจึงมีแนวทางเมื่อเกิดเป็นปัญหาขึ้นมา บ้านเมืองเราคงพ้นจากปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจไปไม่ได้ เนื่องจากปัญหาบ้านเมือง รัฐบาลต้องเข้าใจเพื่อให้สิ่งต่างๆ ไปรอด คนที่มีความรู้ความสามารถหลายคนอยากเข้ามาช่วย แต่เนื่องด้วยรัฐบาลท่านไม่ยอมรับฟังความเห็นที่รอบด้าน พรรค พท. เราจึงคิดว่า เราต้องฟังทุกอย่างให้รอบด้าน แต่การจะฟังทุกอย่างรอบด้านเป็นเหตุเป็นผลได้ รัฐธรรมนูญเข้ามามีส่วน ถ้ารัฐธรรมนูญไม่เป็นประชาธิปไตย คนอยากจะพูดก็ไม่ได้พูด เราต้องทำให้บ้านเมืองเราเป็นรัฐประชาชน ไม่ใช่รัฐข้าราชการ ต้องเอาคนมารวมกัน และมาคิดอ่านร่วมกัน เพื่อแก้ไขปัญหาร่วมกัน นอกจากนี้ คนเป็นนายกฯ คนเป็นรัฐบาล ทุกอย่างต้องโปร่งใส ถ้าหากเราไม่สามารถสะท้อนความคิดเห็นของประชาชนได้ก็ไม่ถูก พรรค พท.จึงพยายามทำทุกอย่างให้เป็นประชาธิปไตย ซึ่งขณะนี้รัฐธรรมนูญเป็นไปในคนละทาง ซึ่งหากไม่ได้รับการแก้ไข บ้านเมืองก็จะเป็นแบบนี้ต่อไปอีก เราจึงมีความจำเป็นที่ต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งหลายคนก็ติงเราว่าทำไมพรรค พท.ไม่พูดเรื่องเศรษฐกิจปากท้องเลย แต่เราจะบอกว่า เราจะแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจได้อย่างไร ในเมื่อรัฐธรรมนูญยังเป็นลักษณะนี้อยู่ เราต้องทำควบคู่กันไป เพราะความเชื่อมั่นเป็นเรื่องสำคัญ

‘แปลว่าแนวทางการขับเคลื่อนของพรรค พท.ในยุคของ สมพงษ์ อมรวิวัฒน์ คือ รักษาประชาธิปไตย และแก้รัฐธรรมนูญ ใช่หรือไม่

Advertisement

ถูกต้อง ซึ่งการแก้ไขรัฐธรรมนูญนี้ เราได้รับฉันทานุมัติจากพรรคร่วมฝ่ายค้านที่เราจะรณรงค์ร่วมกันให้พี่น้องประชาชนได้เข้าใจร่วมกันว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ออกแบบมาเพื่อเอื้อให้ผู้มีอำนาจสืบทอดอำนาจต่อไป มีพรรคเล็กพรรคน้อยกว่า 20 พรรคร่วมรัฐบาล มีการเรียกร้องในเรื่องต่างๆ มากมาย และทุกครั้งที่มีญัตติสำคัญๆ ก็ต้องมีการเรียกร้องในลักษณะนี้อีก ผมถึงขนาดพูดเล่นว่า แหม สภาแห่งนี้ยังไม่เสร็จ และถึงแก้จะเสร็จห้องน้ำก็คงจะไม่พอŽ

‘จะปฏิรูปพรรค พท.อย่างไร

บุคลากรของเรามี 3 ส่วน คือ รุ่นใหญ่ กลาง และรุ่นใหม่ เราจะทำงานผสมผสานกัน และเราจะทำงานโดยการเอาข้อมูลจากพื้นที่สะท้อนขึ้นมาเพื่อให้ส่วนกลางแก้ไข ภายใต้สโลแกน ประชาชนคิด เพื่อไทยทำŽ เราจะรู้ถึงความต้องการของพี่น้องประชาชนอย่างแท้จริง นอกจากนี้ เราจะเปิดชั้นล่างของพรรค พท.เป็นพับบลิก ให้มีร้านกาแฟ ให้ประชาชนทั่วไปมีโอกาสได้เข้ามาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับเราได้ พบผู้แทนฯ อดีตรัฐมนตรี และแกนนำพรรคได้ ทั้งนี้ มีคนปรามาสว่าพรรค พท.เป็นฝ่ายค้านไม่เป็น เพราะเคยเป็นแต่รัฐบาล จะบอกว่า ไม่ใช่ เราพยายามเต็มที่ในการทำงาน เราลงลึก ลงไปถึงประชาชน โดยเอาแนวทางที่เราเคยเป็นรัฐบาลมาจับ

Advertisement

‘ในฐานะผู้นำฝ่ายค้าน จะนำธงฝ่ายค้านไปในทิศทางไหน

เราไม่ได้ทำงานพรรคเดียว เราทำงานร่วมกันกับทุกพรรค มีสิ่งใดเราสามารถแนะนำกันได้ แต่อย่างไรก็ตาม พรรคฝ่ายค้านมีฉันทามติร่วมกันว่าเราจะลงพื้นที่เพื่อขับเคลื่อนการทำงานร่วมกัน เช่น การลงไปถามทุกข์สุข และสอบถาม รวมถึงทำความเข้าใจเรื่องรัฐธรรมนูญว่าประชาชนต้องการรัฐธรรมนูญอย่างไร

‘วางแนวทางการทำงานระหว่างคณะกรรมการบริหารพรรค (กก.บห.) กับคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรค พท.อย่างไร

การทำงานเราแบ่งแยกกันโดยตรง แต่ในการบริหารพรรคเป็นเรื่องที่ผมต้องดูแล อย่างล่าสุดก็มี ส.ส.มหาสารคาม ยื่นให้ตรวจสอบจริยธรรมของ ส.ส.สุรินทร์ ที่ไปต้อนรับนายกฯ เมื่อสัปดาห์ก่อน ในส่วนนี้ก็เป็นเรื่องของฝ่ายบริหารพรรคจะต้องจัดการ ไม่ได้เกี่ยวข้องกับฝ่ายยุทธศาสตร์พรรค
คณะกรรมการยุทธศาสตร์ จะมีหน้าที่คิดอ่าน การขับเคลื่อนของพรรค อย่างเช่น แนวทางที่พรรคจะกลับไปหาประชาชนตามแนวทางที่ว่า ประชาชนคิด เพื่อไทยทำŽ คือ การกระจายบุคลากรของพรรคไปลงพื้นที่เพื่อจะไปรับฟังประชาชน และนำข้อมูลกลับมาให้พรรคกำหนดแนวทางแก้ปัญหาให้กับประชาชน อันนี้คือเรื่องของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ที่จะทำภายใน 6 เดือนข้างหน้า ซึ่งเรื่องนโยบายที่จะขับเคลื่อนไปสู่ประชาชนและสังคมนั้น จะต้องเห็นพ้องต้องกันทั้ง กก.บห.และคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรค

‘การขับเคลื่อนการทำงานของ 7 พรรคร่วมฝ่ายค้านกำหนดทิศทางอย่างไร
จนถึงนาทีนี้ การทำงานของ 7 พรรคร่วมฝ่ายค้าน ยังคงเป็นไปในทิศทางเดียวกันไม่มีการเปลี่ยนแปลงจะไม่มีการออกไปเป็นฝ่ายค้านอิสระแน่นอน ผมเชื่อมั่นอย่างนี้ อย่างที่มีกระแสข่าวว่าบางพรรคจะแยกทางไม่ทำงานร่วมกันแล้วนั้น แต่เท่าที่คุยกับผู้ใหญ่ในทุกพรรคก็ยังยืนยันว่ายังยึดมั่นในอุดมการณ์แนวทางการทำงานของฝ่ายค้าน เพียงแต่คนอาจจะมองว่าการทำงานของฝ่ายค้านจะให้น้ำหนักไปในเรื่องการเมือง ซึ่งต้องบอกว่าขณะนี้
เราอยู่ในบทบาทของการทำงานในสภาผู้แทนราษฎร วันศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ ส.ส.ก็ต้องกลับไปลงพื้นที่เพื่อสอบถามรับฟังปัญหาของประชาชน
พอกลับมาช่วงวันอังคาร พุธ และพฤหัสบดี ก็ต้องมาประชุมสภา
แต่อย่างที่ผมบอกว่าวันที่ 31 สิงหาคมถึง 1 กันยายนนี้ 7 พรรคร่วมฝ่ายค้านจะไปทำกิจกรรมรณรงค์ สร้างความเข้าใจในเรื่องของการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่ามีเรื่องใดที่จะต้องแก้ไขควบคู่ไปกับการแก้ไขปัญหาปากท้องให้กับประชาชน

‘มองเสถียรภาพของรัฐบาลและอนาคตของพรรค พท.หลังการเลือกตั้งครั้งหน้าอย่างไร

ผมคิดว่าการเลือกตั้งในอนาคตข้างหน้า ไม่ว่ารัฐบาลจะอยู่ครบ 4 ปีหรือไม่ก็ตาม ผมยังมีความหวังว่าประชาชนในเวลานี้จะเข้าใจแล้วว่าเลือกพรรคไหนที่เป็นประชาธิปไตย เพราะก่อนหน้าการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา ยังมีความซับซ้อนกันในบางพรรค อย่าง 2 พรรคการเมืองก็ประกาศชัดเจนก่อนเลือกตั้งว่าไม่ร่วมมือกับพรรคที่ไม่เป็นประชาธิปไตย แต่พอหลังเลือกตั้งก็ยกเหตุผลต่างๆ นานา ว่าหากมาเป็นฝ่ายค้านก็จะไม่สามารถผลักดันนโยบายที่หาเสียงไว้ให้กับประชาชนได้ จึงมีความจำเป็นต้องร่วมงานกับพรรคที่ไม่เป็นประชาธิปไตยเป็นรัฐบาล
เพราะหลายฝ่ายที่เข้าร่วมรัฐบาลก็คิดว่าอย่างไรก็ตามด้วยรัฐธรรมนูญ ฉบับพิสดารฉบับนี้ อย่างไรก็ต้องเอื้อให้กับคนกลุ่มนี้เป็นรัฐบาลต่อไป แม้จะเป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อย หรือปริ่มน้ำแต่ก็เป็นได้
อย่างไรก็ตาม หากมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่สำเร็จ และยังไม่มีการเลือกตั้ง แต่สมมุติมีเหตุการณ์อย่างเรื่องการถวายสัตย์ปฏิญาณตนไม่ครบของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แล้วทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ต้องลาออก ก็จะกลับไปสู่กระบวนการคัดเลือกนายกฯกันใหม่ ตามบัญชีรายชื่อนายกฯ ที่แต่ละพรรคเสนอไว้ในช่วงการเลือกตั้ง ก็จะเหลือแค่แคนดิเดตนายกฯ ของพรรคภูมิใจไทย (ภท.) กับพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) แค่ 2 คน
แต่การโหวตเลือกนายกฯ ที่ ส.ว.ยังสามารถโหวตเลือกได้ด้วยในช่วง 5 ปีแรก อย่างไรเสียท้ายที่สุด ส.ว.250 คน ก็ต้องเลือกคนที่ตั้ง ส.ว.เข้ามาเป็นนายกฯ อยู่ดี
เมื่อเลือกนายกฯ ในบัญชีของพรรคการเมืองที่มีอยู่ไม่ได้ เพราะ ส.ว.อาจไม่เห็นชอบด้วย รัฐธรรมนูญก็เปิดช่องให้สามารถเสนอชื่อคนนอกเข้ามาเป็น
นายกฯ ได้ ตรงนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ก็จะสามารถเข้ามาเป็นนายกฯ ได้อยู่ดี
ถ้าผมเป็น พล.อ.ประยุทธ์ หากเกิดเหตุการณ์อย่างที่ถูกตรวจสอบ ผมจะลาออก แล้วก็ใช้กระบวนการของรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญที่มีอยู่ กลับมาเป็นนายกฯ ได้อีก
แต่ท้ายที่สุด ผมยังเชื่อว่าในการเลือกตั้งครั้งต่อไป ประชาชนจะจดจำจุดยืนของแต่ละพรรคว่าเป็นอย่างไร ใครยึดมั่นหลักการประชาธิปไตย ใครอยู่กับฝ่ายเผด็จการ รวมทั้งได้เรียนรู้ปัญหาต่างๆ ที่เกิดจากรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ซึ่งจะใช้เงินซื้อประชาชนไม่ได้อีกต่อไป ผมจึงเชื่อว่าสัดส่วน ส.ส.ของฝ่ายประชาธิปไตยจะมีจำนวนเพิ่มขึ้นแน่นอน

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image