หน้า2 : พิษโควิดคนแห่‘ฝากเงิน’ หนีผันผวนโยกเข้าแบงก์ สคฝ.เล็งคุ้มครอง‘อีวอลเล็ต’

หมายเหตุนายทรงพล ชีวะปัญญาโรจน์ ผู้อำนวยการสถาบันคุ้มครองเงินฝาก (สคฝ.) หรือดีพีเอ แถลงข่าวเรื่อง “พฤติกรรมการฝากเงินที่เปลี่ยนไปในสภาวะการแพร่ระบาดโควิด-19 และนโยบายการคุ้มครองเงินฝากเพื่อสร้างความมั่นใจแก่ผู้ฝากเงิน” โรงแรมสยามแอ็ทสยาม ดีไซน์ โฮเต็ล กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม

ทรงพล ชีวะปัญญาโรจน์
ผู้อำนวยการสถาบันคุ้มครองเงินฝาก (สคฝ.)

จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจและวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของทุกคนทั่วทุกมุมโลก โดย สคฝ. มีบทบาทสำคัญในการคุ้มครองเงินฝากแก่ผู้ฝาก ทั้งบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติที่ฝากเงินเป็นสกุลเงินบาทกับสถาบันการเงินภายใต้กฎหมายว่าด้วยสถาบันคุ้มครองเงินฝากทั้ง 35 แห่ง ซึ่งจะคุ้มครองทันทีในลักษณะ 1 รายชื่อผู้ฝากต่อ 1 สถาบันการเงิน ในบัญชีเงินฝาก 5 ประเภท ได้แก่ 1.เงินฝากกระแสรายวัน 2.เงินฝากออมทรัพย์ 3.เงินฝากประจำ 4.บัตรเงินฝาก และ 5.ใบรับฝากเงิน

อย่างไรก็ตาม ในกรณีสถาบันการเงินที่อยู่ภายใต้การคุ้มครองถูกเพิกถอนใบอนุญาต ผู้ฝากจะได้รับเงินฝากคืนภายใน 30 วัน ตามวงเงินที่กฎหมายกำหนด โดยปัจจุบันวงเงินคุ้มครองเงินฝากอยู่ที่ 5 ล้านบาท ทั้งนี้ วงเงินคุ้มครองดังกล่าว สามารถครอบคลุมการคุ้มครองเงินฝากเต็มจำนวนของผู้ฝาก 80.51 ล้านราย หรือคิดเป็น 99.63% ของผู้ฝากทั้งระบบ สำหรับเงินฝากที่เกินวงเงินการคุ้มครอง ผู้ฝากมีโอกาสได้รับเงินฝากคืนเพิ่มเติม จากการชำระบัญชีสถาบันการเงินที่ถูกปิดกิจการในภายหลัง

Advertisement

จากข้อมูลสถิติการฝากเงินในสถาบันการเงิน ภายใต้กฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองเงินฝากย้อนหลัง 3 ปี พบแนวโน้มจำนวนเงินฝากที่ได้รับความคุ้มครองของระบบสถาบันการเงินเป็นไปในทิศทางที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยระหว่างปี 2560-2562 มีเงินฝากที่ได้รับความคุ้มครอง 12.54 ล้านล้านบาท, 13.02 ล้านล้านบาท และ 13.56 ล้านล้านบาท ตามลำดับ

จากข้อมูลในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2563 ระหว่างเดือนมกราคม-มิถุนายน พบว่ามีจำนวนผู้ฝากในระบบสถาบันการเงินภายใต้ความคุ้มครองของ สคฝ.รวม 80.82 ล้านราย เพิ่มขึ้น 1.38% หรือราว 1.1 ล้านราย และมีเงินฝากที่ได้รับความคุ้มครองทั้งสิ้น 14.67 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.12% เมื่อเทียบกับข้อมูลเมื่อสิ้นปี 2562 โดยกว่า 98% เป็นผู้ฝากรายย่อยที่มีเงินฝากไม่เกิน 1 ล้านบาท

ขณะเดียวกัน พบว่าปัจจุบันปริมาณเงินฝากมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นในกลุ่มผู้ฝากเกือบทุกกลุ่ม โดยปริมาณเงินฝากเพิ่มขึ้นสูงสุดในกลุ่มผู้ฝากบุคคลธรรมดา และผู้ฝากภาคธุรกิจ องค์กรภาครัฐ และกองทุนต่างๆ อีกทั้งมีการขยายตัวในทุกระดับวงเงินฝาก โดยเกือบครึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นของเงินฝากในระดับเงินฝากวงเงินสูงกว่า 25 ล้านบาท

Advertisement

ปริมาณเงินฝากที่ขยายตัวในอัตราสูง เป็นผลมาจากความผันผวนในตลาดการเงิน ทำให้นักลงทุนโยกย้ายเงินลงทุนมาเข้าเงินฝากมากขึ้นเพื่อความปลอดภัย เนื่องจากเงินฝากมีความปลอดภัยสูง เมื่อเทียบกับการลงทุนในสินทรัพย์ประเภทอื่นในตลาดเงินที่ผลตอบแทนลดลง และยังมีแนวโน้มการออมเพื่อสำรองการใช้จ่ายในอนาคต

อย่างไรก็ดี จากข้อมูลผลตอบแทนตามประเภทสินทรัพย์เฉลี่ยย้อนหลัง 10 ปี ระหว่าง 2553-2562 พบว่าผลตอบแทนการฝากเงินประเภทออมทรัพย์อยู่ที่ 0.72% ประเภทฝากประจำ 1 ปีอยู่ที่ 1.88% ประเภทพันธบัตร 3 ปีอยู่ที่ 2.41% ทองคำอยู่ที่ 2.31% JUMBO25 (หุ้น) อยู่ที่ 10.01%

แม้ว่าการฝากเงินยังเป็นช่องทางที่มั่นคงและมีความปลอดภัยสูง แต่ผู้ฝากยังสามารถพิจารณาการจัดสรรสินทรัพย์ ตามความเหมาะสมและความต้องการของตนเอง โดยต้องพิจารณาและศึกษาการจัดสรรสินทรัพย์อย่างละเอียด เพื่อความปลอดภัยในการบริหารการเงินอย่างยั่งยืน ขณะนี้ สคฝ.อยู่ระหว่างการศึกษาผลิตภัณฑ์ทางการเงินต่างๆ เพื่อพิจารณาขยายการคุ้มครองในอนาคต

ทั้งนี้ จากมติ ครม.ที่ให้ความเห็นชอบในการขยายระยะเวลาบังคับใช้วงเงินการคุ้มครองเงินฝาก 5 ล้านบาท จากเดิมถึงวันที่ 10 สิงหาคม 2563 เป็นขยายระยะเวลาถึงวันที่ 10 สิงหาคม 2564 เนื่องจากสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่องค์การอนามัยโลกประกาศให้เป็นภาวะการระบาดใหญ่ทั่วโลก ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างต่อนานาประเทศทั้งในเชิงเศรษฐกิจและสังคม รวมถึงเกิดความผันผวนในตลาดเงิน ตลาดทุน และระบบการเงินทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย

ดังนั้น เพื่อแก้ไขปัญหาผลกระทบที่เกิดจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 และรักษาความเชื่อมั่นของผู้ฝากเงินไว้ อันจะเป็นการเสริมสร้างเสถียรภาพและความมั่นคงต่อระบบสถาบันการเงินและระบบเศรษฐกิจโดยรวม จึงขยายระยะเวลาการบังคับใช้วงเงินคุ้มครองเงินฝาก โดยมีรายละเอียด ดังนี้ กำหนดวงเงินความคุ้มครองเงินฝากปัจจุบัน 5 ล้านบาท ถึงวันที่ 10 สิงหาคม 2564 และตั้งแต่วันที่ 11 สิงหาคม 2564 เป็นต้นไปคุ้มครองจำนวน 1 ล้านบาท

การขยายวงเงินคุ้มครองเงินฝากครั้งนี้ จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้ฝากเงิน ในช่วงสถานการณ์ปัจจุบัน และทำให้ผู้ฝากเงิน มีความมั่นใจต่อการใช้บริการของสถาบันการเงินเป็นปกติ โดยวงเงินคุ้มครองที่ 5 ล้านบาทต่อคนต่อสถาบันการเงิน ครอบคลุมผู้ฝากถึง 99.65% ของจำนวนผู้ฝากเงินทั้งระบบ (ณ 31 ธันวาคม 2562) และในปัจจุบันสถาบันการเงินของไทยได้รับการกำกับดูแลจากทางการอย่างใกล้ชิด

การขยายวงเงินคุ้มครองในครั้งนี้ เป็นการดูแลคุ้มครองผลประโยชน์ของประชาชนผู้ฝากเงิน สถาบันคุ้มครองเงินฝากจะดูแลผลประโยชน์ของผู้ฝากอย่างเต็มกำลังความสามารถ เพื่อให้ผ่านพ้นวิกฤตในครั้งนี้ไปด้วยกัน

ทั้งนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยืนยันว่าฐานะการดำเนินงานและเงินกองทุนของธนาคารพาณิชย์ทุกแห่งยังมีความแข็งแกร่ง สามารถรองรับผลกระทบจากปัญหาเศรษฐกิจที่เกิดจากโควิด-19 ได้ดี ซึ่งตั้งแต่ต้นปี 2563 ระบบธนาคารพาณิชย์มีเงินสำรองส่วนเกินอยู่มากจากนโยบายการกันสำรองอย่างเข้มงวดในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยสิ้นมิถุนายน 2563 อัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงของระบบธนาคารพาณิชย์ อยู่ที่ระดับสูงถึง 19.2% และผลประกอบการยังมีกำไร รวมทั้งสภาพคล่องในระบบการเงินและระบบธนาคารพาณิชย์ยังมีสูงมากด้วย

นอกจากนั้น จากการให้ธนาคารพาณิชย์จัดทำประมาณการฐานะและการดำเนินงานภายใต้ภาวะวิกฤต พบว่าธนาคารพาณิชย์ทุกแห่งมีระดับเงินกองทุนสูง สามารถรองรับภาวะวิกฤตในระดับที่รุนแรงได้ ในขณะที่ภาครัฐและ ธปท.ได้ออกมาตรการช่วยเหลือเยียวยาได้อย่างรวดเร็ว ทั้งมาตรการการเงินและการคลังตั้งแต่เกิดปัญหาโควิด-19 ทำให้ช่วยบรรเทาผลกระทบต่อประชาชนและธุรกิจได้มาก ประชาชนและธุรกิจจำนวนมากยังสามารถจ่ายชำระหนี้ได้ตามปกติ

ขณะนี้ ธปท.และสถาบันการเงินทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด เพื่อเร่งให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ และเร่งปรับปรุงโครงสร้างหนี้ เพื่อช่วยให้ลูกหนี้สามารถชำระหนี้ได้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน ซึ่งจะช่วยให้ธนาคารพาณิชย์สามารถบริหารจัดการคุณภาพสินเชื่อได้ในเชิงรุก ป้องกันมิให้เกิดเป็นหนี้เสียเพิ่มขึ้นมากจนเป็นปัญหาต่อฐานะและการดำเนินงานของธนาคารพาณิชย์ และต่อเสถียรภาพระบบการเงินไทย

สำหรับสถานะเงินกองทุนคุ้มครองเงินฝาก ปัจจุบันมีเงินเข้าปีละกว่า 2,000 ล้านบาทเศษ ซึ่งเอาไว้เยียวยาในกรณีที่สถาบันการเงินปิด แล้วจำเป็นต้องชำระเงินคืนให้ผู้ฝากเงิน

อย่างไรก็ตาม การคุ้มครองเงินฝากจะเกิดขึ้นในกรณีเดียว คือแบงก์ถูกเพิกถอนใบอนุญาต ซึ่งก่อนจะไปถึงขั้นเพิกถอนใบอนุญาตจะมีกระบวนการในการบริหารจัดการอีกมากมาย โดย ธปท.จะเข้าไปดูแลเพิ่มสภาพคล่อง หรือเข้าควบคุมการบริหารจัดการแบงก์นั้นๆ ก่อน ซึ่งสุดท้ายเม็ดเงินที่จะคุ้มครองในขั้นสุดท้ายอาจจะมีไม่มาก

ส่วนกรณีเงินกองทุนคุ้มครองเงินฝากไม่เพียงพอ ก็จะมีวิธีการออกกฎหมายกู้เงินได้ แต่ด้วยปัจจุบันสถานะของแบงก์ที่แข็งแรง และเงินกองทุนคุ้มครองเงินฝากปัจจุบัน ก็มีไม่น้อย โดยสัดส่วนอยู่ที่ 6% ของเงินฝากทั้งหมด ซึ่งหลายๆ ประเทศมีต่ำกว่านี้มาก คือไม่ถึง 3%

ที่ผ่านมา สคฝ.ได้ปรับแก้ไขกฎหมาย ทำให้หากเกิดกรณีแบงก์ถูกปิด ผู้ฝากเงินจะได้รับเงินที่ได้รับความคุ้มครองคืนภายใน 30 วัน เนื่องจากระบบพร้อมเพย์ที่รัฐบาลจัดทำขึ้น ทำให้การจ่ายเงินคืนผู้ฝากเงินมีประสิทธิภาพมากขึ้น เนื่องจากมีการผูกเลขบัตรประจำตัวประชาชนไว้กับบัญชีธนาคาร ทำให้ สคฝ.สามารถค้นหาข้อมูล และโอนเงินผ่านบัญชีผู้ฝากได้ทันที

ปัจจุบันมีธุรกรรมบางส่วนที่ไม่อยู่ในขอบข่ายได้รับการคุ้มครองเงินฝาก อย่างเช่น เงินสกุลต่างประเทศ เงินของผู้ฝากที่มีถิ่นฐานอยู่ต่างประเทศ กระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (อีวอลเล็ต) เป็นต้น โดยเฉพาะอีวอลเล็ตนั้น ทาง สคฝ.จะศึกษาภายใน 1 ปีนี้ ว่าจำเป็นต้องขยายความคุ้มครองหรือไม่

ตอนนี้เราคุ้มครองเฉพาะบัญชีเงินฝาก ที่เป็นเงินบาท ของคนฝากที่มีถิ่นฐานในเมืองไทย แต่กำลังศึกษาอยู่ว่าควรคุ้มครองอะไรเพิ่มเติม เช่น อีวอลเล็ต เป็นต้น โดยธุรกรรมทางการเงินที่มีสภาพคล้ายเงินฝาก น่าจะเป็นตัวที่เราพยายามที่จะทำความเข้าใจ พยายามศึกษาให้กว้างที่สุด และจะนำมาใช้อย่างไร ก็จะนำมาพิจารณาอีกที ส่วนพวกสินทรัพย์ดิจิทัล อย่าง ลิบรา รวมถึงสหกรณ์ จะไม่ศึกษาส่วนนี้ โดยจะศึกษาเพิ่มเติมเฉพาะสิ่งที่เกี่ยวกับการให้ใบอนุญาตของ ธปท. และอะไรที่มีความใกล้เคียงในเงินฝาก

ทั้งนี้ การคุ้มครองเงินฝากเป็นนโยบายและมาตรการสำคัญของภาครัฐในการคุ้มครองความเสี่ยงของประชาชนผู้ฝากเงิน เพื่อให้มั่นใจได้ว่าผู้ฝากเงินจะได้รับเงินฝากคืนภายในวงเงินและระยะเวลาที่กำหนดตามกฎหมาย หากสถาบันการเงินที่ได้รับการคุ้มครองปิดกิจการ

ผู้ฝากเงินจะได้รับความคุ้มครองโดยอัตโนมัติทันทีที่เปิดบัญชีเงินฝากของสถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยสถาบันคุ้มครองเงินฝาก หากสถาบันการเงินใดถูกเพิกถอนใบอนุญาต ผู้ฝากเงินในสถาบันการเงินนั้นทุกรายจะได้รับเงินฝากคืนตามเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดอย่างรวดเร็ว

ผู้ฝากเงินสามารถตรวจสอบความมั่นคงของสถาบันการเงินที่ผู้ฝากเงินมีบัญชีเงินฝากได้จากอันดับความน่าเชื่อถือ ที่จัดโดยองค์กรที่เป็นที่ยอมรับทั้งในและต่างประเทศ ผลประกอบการ ซึ่งเปิดเผยอยู่ในเว็บไซต์ของสถาบันการเงินนั้นๆ หรือองค์กรกลางต่างๆ เช่น ธปท. และสำนักงาน ก.ล.ต. นอกจากนี้ ควรพิจารณาปัจจัยอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นความพึงพอใจในการให้บริการ ผลตอบแทน ควบคู่ไปด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image