‘พิสุทธิ์ งามวิจิตวงศ์’ถอดรหัส หนทางสู่ ศก.ดิจิทัลของไทย
หมายเหตุ – หนังสือพิมพ์มติชน กำหนดจัดสัมมนา “7 เสือที่อยากเห็น กสทช.ชุดใหม่ เปลี่ยนผ่านเศรษฐกิจไทย” วันที่ 25 พฤศจิกายน ณ ห้องประชุมหนังสือพิมพ์ข่าวสด เวลา 09.00-12.00 น. ภายใต้มาตรการควบคุมโควิด-19 ของกระทรวงสาธารณสุข มีนายพิสุทธิ์ งามวิจิตวงศ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ กสิกรไทย จำกัด (มหาชน) เป็นหนึ่งในวิทยากรผู้ร่วมสัมมนาดังกล่าว ได้ให้สัมภาษณ์พิเศษถึงมุมมองที่มีต่อ กสทช.ชุดใหม่
⦁มุมมองต่อเศรษฐกิจดิจิทัลของไทย
แบ่งตลาดออกเป็น 3 ส่วน ผู้บริโภค องค์กร และภาครัฐ หากประเมินจากผู้บริโภคในประเทศจะเห็นว่าประเทศไทยค่อนข้างมีความพร้อมในการใช้งานอินเตอร์เน็ต วัดจากในแง่ของจำนวนนาทีที่อยู่บนอินเตอร์เน็ต ทั้งด้านเสพสื่อบันเทิง การทำงาน และการค้นคว้าหาความรู้ รวมถึงด้านการใช้งานผ่านแอพพลิเคชั่นต่างๆ อาทิ อี-เพย์เมนต์ อีวอลเล็ต หรือการสั่งอาหารออนไลน์ จะเห็นว่าธุรกิจในลักษณะนี้เติบโตขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เชื่อว่าประเทศไทยโตเป็นอันดับต้นๆ ในอาเซียน ผู้บริโภคในประเทศมีความพร้อม มีความรู้และมีความชำนาญในการใช้เครื่องมือเกี่ยวกับดิจิทัล เพื่อทำให้ชีวิตตัวเองทีความสะดวกสบาย และมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ในแง่ของผู้ประกอบการ แบ่งออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ ผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับซัพพลายเชนในแวดวงดิจิทัลอยู่แล้ว แต่น่าเสียดายที่ผู้ประกอบการส่วนใหญ่จะเป็นต่างชาติ เป็นเรื่องระดับโลก ทำให้คงฝืนตลาดไม่ไหว ขณะที่ยังมีผู้ประกอบการบางส่วน อาศัยประโยชน์จากพัฒนาการทางเทคโนโลยีในการเพิ่มยอดขาย แตกไลน์ธุรกิจ ไม่ใช่เพียงผู้ประกอบการขนาดใหญ่เท่านั้น แต่ก็มีผู้ประกอบการรายย่อยหรือรายบุคคล สามารถใช้ประโยชน์ได้เช่นกัน จะเห็นว่ามีเด็กหลายคนก้าวเข้าสู่การเป็นยูทูบเบอร์จำนวนมาก หรือผู้ถูกเลิกจ้าง ก็ก้าวเข้าสู่การขายของออนไลน์ เพราะต้นทุนในการดำเนินงานค่อนข้างต่ำ ถือเป็นนวัตกรรมที่คนไทยสามารถปรับใช้ได้
แต่ยังมีธุรกิจอีกหลายส่วนที่ยังลังเลในการปรับตัว เพราะการปรับตัวดังกล่าว ไม่ใช่การปรับในเรื่องการบริหารจัดการเท่านั้น แต่ในส่วนของการผลิต และการบริการ ระบบการเก็บข้อมูลลูกค้า และการนำข้อมูลเหล่านั้นมาวิเคราะห์ต่างๆ ยังมีไม่มากนัก โดยเฉพาะในส่วนของธุรกิจขนาดเล็กและกลาง (เอสเอ็มอี) ต้องใช้เวลาในการพัฒนาต่อไป ไม่อย่างนั้นก็จะอยู่ได้ยากในช่วงภาวะแบบนี้ ส่วนธุรกิจขนาดใหญ่จะขยับตัวได้ช้า ขับเคลื่อนไปได้ แต่เชื่อว่าทุกคนมองไปในทิศทางเดียวกันแล้วว่า หากไม่มีการปรับตัว ธุรกิจก็มีแต่จะถอยหลัง และอาจต้องล้มหายตายจากไป ในส่วนของภาครัฐ ช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา มีความพยายามค่อนข้างมาก สิ่งที่เห็นในช่วงที่ผ่านมา คือ ความมีเสถียรภาพของรัฐบาล ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม แต่ทำให้นโยบายที่ออกมา และหน่วยงานภาครัฐ มีการทำงานไปในทิศทางเดียวกัน เป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพราะจริงๆ แล้วนโยบายที่ดี แต่เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา สู้นโยบายที่ดีน้อยกว่า แต่มีเสถียรภาพ มีความแน่นอน และมีทิศทางเดียวกันไม่ได้
นอกจากนี้ ยังเห็นว่ารัฐบาลได้ตั้งหน่วยงานในด้านดิจิทัลขึ้นมา และจัดตั้งกองทุนเพื่อลงทุนและสนับสนุนแนวคิดใหม่ๆ ในด้านดิจิทัล รัฐบาลควรต้องดำเนินการเพิ่มเติม และเร่งทำให้เร็วกว่านี้ คือ การบังคับใช้กฎหมาย หรือการร่างกฎหมายที่ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของตลาด และเทคโนโลยี การร่างกฎหมายไทยในปัจจุบันยังไม่เร็วเท่าที่ต้องการได้เห็นและให้เกิดขึ้น รวมถึงกฎหมายส่วนใหญ่ยังมุ่งเน้นไปในด้านความมั่นคงเป็นหลัก ทำให้ต้องหันมาสร้างสมดุลกันใหม่อีกครั้ง เพราะความมั่นคงไม่ใช่ไม่จำเป็น แต่หากใช้ความมั่นคงนำ ความก้าวหน้าจะถดถอยตามไปด้วย
ต้องการให้ภาคเอกชนและภาครัฐ โดยเฉพาะภาครัฐในการยึดเกณฑ์ของระบบตลาด เป็นสิ่งปฏิเสธไม่ได้ รวมถึงเรื่องการกระจายอำนาจ เพราะการรวมอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลางไม่ได้ช่วยได้มากนัก ดีไม่ดียังทำให้การพัฒนาประเทศในชุมชนต่างๆ ล่าช้าออกไป อาทิ โครงการหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ หรือโอท็อป เป็นนโยบายที่ดี แต่ขณะนั้นยังไม่มีอินเตอร์เน็ต ทำให้ในขณะนี้ หากสามารถนำโอท็อปมาบวกกับไอทีได้ จะมีความน่าสนใจมากขึ้น แต่ก็ต้องอาศัยองค์ความรู้ เงินทุนเพิ่มเติม รวมถึงต้องอาศัยการตรวจสอบที่มีประสิทธิภาพด้วยเช่นกัน
⦁ปัจจัยบวกและอุปสรรคในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัล
เนื่องจากตลาดในประเทศไทยค่อนข้างมีความพร้อม เพราะมีโอกาสของธุรกิจ จะมาเก็บเกี่ยวจากความพร้อมของผู้บริการและผู้บริโภค ทั้งในส่วนของบุคคลและองค์กร โอกาสพัฒนาต่อเป็นในส่วนของธุรกิจเอสเอ็มอีจะช่วยให้มีพื้นที่เข้ามาเล่นในเศรษฐกิจยุคใหม่นี้ ทั้งในส่วนของช่องทางการขายของ และการพัฒนาโครงสร้างต้นทุน แน่นอนว่ารัฐบาลต้องเข้ามามีส่วนร่วม เพราะว่าการลงทุนปรับเปลี่ยนระบบการผลิต หรือระบบการบริการแบบเดิมมาเป็นของใหม่ ต้องใช้เงินทุนค่อนข้างมาก การที่รัฐบาลจะเข้ามาช่วยดูแลในส่วนของการหาแหล่งเงินกู้ คำแนะนำ และการอุดหนุนต่างๆ มีความสำคัญมาก เพราะธุรกิจเอสเอ็มอีเป็นรากฐานของเศรษฐกิจภาพรวมในประเทศไทย ไม่อยากเห็นเศรษฐกิจในประเทศไทยมีผู้เล่นรายใหญ่อยู่ไม่กี่ราย แต่ครอบครองตลาดทั้งประเทศ ทำให้พวกเราทุกคนกลายเป็นลูกจ้าง หากเป็นอย่างนั้น เศรษฐกิจไทยจะไม่แข็งแรง
อุปสรรคที่สำคัญเป็นเรื่องกลไกของตลาด หากรัฐจะขยับขยายตัวจนมีขนาดใหญ่ หรือการที่รัฐปล่อยให้กลุ่มธุรกิจขยายตัวมากเกิน จนทำให้ตลาดขาดประสิทธิภาพ มีความสมบูรณ์น้อยลง จนกลายเป็นกึ่งผูกขาด ส่วนนี้เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาเศรษฐกิจยุคใหม่ รัฐบาลควรกล้าทำภาพของตลาดให้มีประสิทธิภาพมากกว่านี้ ไม่ว่าจะเป็นการออกกฎหมาย การบังคับใช้กฎหมาย
⦁การบ้านฝากให้ กสทช.ชุดใหม่อยู่ในขั้นตอนการสรรหา เร่งดำเนินการเพื่อเปลี่ยนผ่านเศรษฐกิจอย่างไร
หน้าที่ของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) มีความหลากหลายมาก แต่สิ่งสำคัญคือ เรื่องโครงสร้างพื้นฐานหลัก ด้านระบบสารสนเทศและการสื่อสาร สิ่งที่เป็นปัจจัยมีนัยยะสำคัญต่อตลาด คือ โทรศัพท์มือถือ อินเตอร์เน็ตบ้าน โทรทัศน์ และดาวเทียม เป็น 4 หัวใจหลัก เป็นสาระสำคัญการเปลี่ยนผ่านระบบเศรษฐกิจของประเทศไทยจากโลกเก่าเข้าสู่โลกใหม่ การมีโครงสร้างพื้นฐานต้องอาศัยความร่วมมือกันระหว่างภาครัฐและเอกชน เพราะภาครัฐไม่มีเงินมากพอจะทำ และไม่ได้มีประสิทธิภาพมากพอด้วย ทำให้ที่ผ่านมาเน้นสร้างความมั่นคง พัฒนาปัจจัยพื้นฐานให้กับผู้บริโภคเข้าไม่ถึง ส่วนเอกชนก็ต้องให้ปัจจัยตลาดหรือโครงสร้างตลาดเป็นตัวกำหนด เพื่อสร้างสภาพของการแข่งขันเหมาะสม เพื่อให้เกิดพัฒนาการนวัตกรรมใหม่ๆ หรือบริการใหม่ๆ ที่มีราคาสมเหตุสมผลให้กับประชาชน
ในแง่แนวทาง แบ่งออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ 1.ส่วนของโทรศัพท์มือถือ พูดถึงเรื่อง 5จี ผู้ให้บริการในตลาดมีอยู่ 3 ราย กสทช.ควรให้น้ำหนักสร้างตลาดที่มีการแข่งขันแบบสมบูรณ์ หากมีเจ้าใดเจ้าหนึ่งมีทรัพยากรต่ำกว่าอีก 2 เจ้า กสทช.ก็ควรรีบสรรหาทรัพยากรให้ เพื่อให้ผู้ประกอบการนั้นสามารถให้บริการประชาชนได้อย่างทั่วถึง ไม่อยากเห็นตลาดที่มีผู้เล่นอยู่ 3 ราย มีความเหมาะสมแล้ว ต้องลดลงเหลือ 2 ราย จะเป็นผลเสียต่อผู้บริโภคมากกว่า กสทช.จึงต้องชั่งน้ำหนักให้ดีว่า จะกำกับดูแลโครงสร้างตลาดให้อยู่รอดได้อย่างไร และ 2.ส่วนของดาวเทียม เป็นธุรกิจที่มีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในต่างชาติมีดาวเทียมวงโคจรต่ำ กำลังจะเข้ามาในประเทศไทย กสทช.ต้องเข้ามากำกับดูแลให้ดี
เพราะเป็นตลาดใหม่ มีทั้งผู้เล่นรายเก่า และผู้เล่นรายใหม่อยากจะทำ การนำเทคโนโลยีใหม่เข้ามา หากเป็นเทคโนโลยีดีกว่าเทคโนโลยีเก่า อาทิ หากรัฐบาลจะใช้นโยบายเน็ตประชารัฐ หรือเน็ตชายขอบ ในอดีตจะต้องลากสายไฟเบอร์ไป มีต้นทุนในการลงทุน ดูแล หรือการบำรุงรักษาไม่คุ้มค่า และไม่สามารถทำได้ดีด้วย แสดงถึงความด้อยประสิทธิภาพของรัฐ แต่ไม่ใช่เรื่องผิด เป็นเรื่องปกติ ทำให้ควรใช้ระบบของเอกชนในการจัดซื้อจัดจ้าง เพื่อใช้เป็นสัญญาณออกไป ไม่ว่าจะเป็นการร่วมทุนแบบการร่วมทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน เป็นการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (พีพีพี) หรือการทำในรูปแบบใดก็ตามให้เอกชนเข้ามาเป็นส่วนร่วม เพราะเทคโนโลยีดาวเทียมวงโคจรต่ำ จะเข้ามาช่วยนโยบายนี้ได้มาก ทั้งในแง่เงินลงทุนช่วงแรก ต้นทุนการดูแลรักษา รวมถึงคุณภาพของการบริการมากกว่าสายไฟเบอร์
สุดท้ายเป็นเรื่องการใช้เงินของ กสทช.จากการเก็บค่าธรรมเนียมต่อปีที่ได้ค่อนข้างมาก ต้องการเห็นการใช้เงินส่วนนี้มีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ มีประสิทธิภาพ ด้วยข้อกฎหมายที่มีความเข้มข้นมาก ทำให้ผู้จะใช้เงินส่วนนี้กังวลว่าหากใช้ไม่ดีจะมีความผิด อยากให้หารือกันให้เรียบร้อย เพื่อให้เงินในส่วนนี้พัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลในประเทศไทยอย่างแท้จริง
⦁ปัจจัยที่จะทำให้ 5จี เกิดช้า
เป็นเรื่องของการสรรหา กสทช. หรือการใช้อำนาจ เพราะหากพูดจริงๆ 5จี ตอนนี้เริ่มต้นแล้วในประเทศไทย แต่เริ่มต้นที่คลื่นความถี่ 2600 เมกะเฮิรตซ์ ไม่ได้เป็นคลื่นหลักในการใช้ 5จี ของทั่วโลก ทำให้ประสิทธิภาพการใช้ 5จี ด้อยลง ทั้งในแง่ของต้นทุนของผู้ประกอบการในการลงทุน ต้นทุนของผู้บริโภคในการซื้อโทรศัพท์มือถือใหม่ รวมถึงการใช้อุปกรณ์ไม่ได้เป็นอุปกรณ์ส่วนใหญ่ในตลาด แต่เป็นอุปกรณ์เฉพาะ ทำให้ต้นทุนของผู้ประกอบการแพงขึ้น ต่อให้ต้นทุนของใบอนุญาตถูก แต่ราคาอุปกรณ์แพงขึ้น ก็จะทำให้ต้นทุนในภาพรวมแพงขึ้นเหมือนกัน ภาระก็จะตกมาสู่ผู้บริโภคอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้นการเกิดขึ้นของ กสทช. มีความสำคัญมาก เพราะ กสทช.ชุดใหม่ จะต้องผลักดันในการนำคืน 3500 เมกะเฮิรตซ์ ทั่วโลกใช้กันมาใช้ใน 5จี ให้ได้
คุณสมบัติของ กสทช.ชุดใหม่ คาดว่าจะเข้ามาทำงานต่อเนื่องนั้น จากคุณสมบัติที่กำหนดไว้ คาดว่าน่าจะเป็นผู้มีอายุค่อนข้างสูง น่าเสียดายมากผู้มีคุณสมบัติเหมาะสมจะเข้ามาทำงานในด้านนี้ และมีอายุยังค่อนข้างน้อยไม่ได้ถูกรับเลือก แต่ก็ยังหวังว่าผู้เข้ามาทำงานต่อจะมีทัศนคติที่ดี มุ่งมั่นและเป็นกลางในการทำงาน เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในด้านดิจิทัลของประเทศไทยอย่างแท้จริง ปัจจัยนี้เป็นจิตสำนึกของผู้จะได้รับการแต่งตั้งเข้ามาเป็น กสทช.ต่อ
⦁ทิศทางธุรกิจและหุ้นในกลุ่มดิจิทัลของประเทศ
ภาพรวมในระยะสั้นถือว่าเป็นลบ แต่เชื่อว่าในระยะยาว อย่างไรอุตสาหกรรมนี้ก็ยังเป็นอุตสาหกรรมหลักมีบทบาทผลักดันเศรษฐกิจดิจิทัลในประเทศไทย สาเหตุเป็นลบระยะสั้น ประเมินจากโทรศัพท์มือถือ ขณะนี้เรากำลังก้าวเข้าสู่วัฏจักรการลงทุนใน 5จี แตกต่างจากรอบ 3จี หรือ 4จี ที่ผ่านมา ทั้งในด้านดีและด้านไม่ดี ด้านดีคือ ช่วง 3จี และ 4จี มาช้าหากเทียบกับเพื่อนบ้าน ทำให้ได้เห็นวิธีการทำตลาดในต่างประเทศเป็นตัวอย่าง แต่จะเห็นว่าการใช้งานของ โทรศัพท์มือถือ 3จีและ 4จี เพิ่มขึ้นในอัตราเร่ง รวมถึงรายได้ของผู้ประกอบการก็เพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน เป็นเรื่องดี แต่เรื่องที่ไม่ดีคือ เราเสียโอกาส หากมองว่าการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตที่มีเสถียรภาพ มีความรู้มากพอ คือ โอกาสในการสร้างองค์ความรู้ให้กับประชาชนในประเทศ การสร้างรายได้มากขึ้น ลดต้นทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ส่วนนี้จะเป็นการเสียโอกาส มองไม่เห็นเป็นรูปแบบของตัวเงิน เพราะ 3จี และ 4จี มาช้าในช่วงที่ผ่านมา นอกจากนี้ยังพบว่าต้นทุนของใบอนุญาต 4จี ราคาแพงมาก ทำให้ระยะเวลาการเริ่มลงทุน หาลูกค้า และเก็บเกี่ยวมีเวลาสั้นมากเพราะไม่นานก็มี 5จี เข้ามาเปลี่ยนแปลง ทำให้ระดับของผลตอบแทนต่อเงินลงทุนของหุ้นกลุ่มนี้ดูด้อยลง
ส่วนข้อดีของ 5จี คือ ราคาของใบอนุญาตต่ำมาก อยู่ในระดับเหมาะสม ข้อกำหนดการชำระเงินค่อนข้างดีเพราะใช้เวลาถึง 10 ปี ทำให้ผู้ประกอบการที่ชนะการประมูลคลื่น 5จี มีเงินเหลือลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน รวมถึงประเทศไทยเป็นผู้เริ่มใช้ 5จี เป็นประเทศแรกในอาเซียน เป็นผลงานของ กสทช. เรียนรู้จาก 3จี หรือ 4จี ทุกอย่างเกิดขึ้นเพราะความมั่นคง ความแน่นอน และความมีเสถียรภาพของ กสทช. หากไม่ต้องเปลี่ยนคณะทำงานบ่อยหรือปรับเปลี่ยนกฎหมายบ่อยๆ จะเห็นพัฒนาการดีขึ้นเมื่อเทียบกับชาวบ้าน
แต่ข้อเสียของ 5จี คือ เนื่องจากตลาดเป็นของใหม่ จึงต้องใช้เวลาเพิ่มระดับของอุปสงค์ ผู้ประกอบการก็ต้องลงทุนก่อน เมื่อลงทุนไปแล้วรายได้ก็ยังไม่เข้ามา รวมถึง4จี ลงทุนเพิ่งเสร็จไปก็ต้องกลับมาลงทุน 5จี เพิ่ม ทำให้เกิดความไม่สมดุลย์กันระหว่างเงินเข้าและเงินออกในช่วงแรก แต่ช่วงสุดท้ายปริมาณอุปสงค์ของการใช้บริการจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งในส่วนของผู้บริโภคและองค์กรเชื่อว่าครึ่งหลังของ 5จี ช่วง 5 ปีแรกจะเป็นการลงทุนสร้างโครงสร้างพื้นฐาน และการเพิ่มจำนวนผู้ใช้บริการรวมถึงการสร้างนวัตกรรมจะเกิดขึ้นในการนำ 5จี มาใช้ในองค์กร แต่ในช่วงครึ่งหลังอีก 5 ปี ผู้ประกอบการมีระยะเวลายาวเพียงพอในการเก็บเกี่ยวรายได้อย่างต่อเนื่อง จึงเชื่อว่า 5 ปีหลัง จะเป็น 5 ปีที่ผู้ประกอบการจะมีความสุขในการสร้างรายได้เติบโตขึ้นและกำไรเติบโตขึ้นตาม
หุ้นในช่วงแรกจะดีกับกลุ่มภาคการขายมือถือ เพราะมีการเปลี่ยนมือถือเป็น 5จี แต่ในยุคถัดไปหลังจากวัฏจักรจากของการเปลี่ยนเครื่องสมบูรณ์มากขึ้น กลุ่มผู้ให้บริการจะเป็นผู้ได้รับประโยชน์ในท้ายที่สุด