สุทธิศักดิ์ ตันตะโยธิน รองเลขาธิการ กสทช.สายงานโทรคมนาคม เปิดทิศทาง กสทช.ในปี 2564

สุทธิศักดิ์ ตันตะโยธิน รองเลขาธิการ กสทช.สายงานโทรคมนาคม

สุทธิศักดิ์ ตันตะโยธิน รองเลขาธิการ กสทช.สายงานโทรคมนาคม เปิดทิศทาง กสทช.ในปี 2564

หมายเหตุนายสุทธิศักดิ์ ตันตะโยธิน รองเลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) สายงานโทรคมนาคม ให้สัมภาษณ์ “มติชน” ถึงแนวทางการดำเนินงานของ กสทช. ด้านโทรคมนาคมในปี 2564

แนวทางการดำเนินงานของ กสทช.ด้านโทรคมนาคมปี 2564 การส่งเสริมสนับสนุนการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี 5G เป็น 1 ใน 4 แนวทาง จะเป็นการเตรียมความพร้อมในการนำคลื่นความถี่ย่าน 3500 เมกะเฮิรตซ์ จำนวน 300 เมกะเฮิรตซ์ มาประมูล หากสำนักงาน กสทช.ดำเนินการหลักเกณฑ์ต่างๆ เช่น การศึกษาจำนวนคลื่นความถี่ที่ต้องใช้เป็นแนวป้องกันการรบกวนของคลื่นความถี่ (การ์ดแบนด์) รวมถึงการศึกษากรอบวงเงินชดเชยเยียวยาคลื่นความถี่ สำหรับผู้ใช้จานดาวเทียมระบบซีแบนด์ (จานดำ) จำนวนกว่า 10 ล้านราย เป็นต้น คาดว่าจะดำเนินการศึกษาในช่วงไตรมาส 2 หรือ 3 ของปี 2564

ทั้งนี้ สำนักงาน กสทช.ต้องศึกษาข้อมูลเพื่อเตรียมความพร้อมในการตัดสินใจ สำหรับ กสทช.ชุดใหม่ คาดว่าจะสามารถออกหลักเกณฑ์การประมูลได้ภายในปลายปี 2564 นอกจากนี้ ยังมีคลื่นความถี่อื่นที่คาดว่าจะเตรียมนำมาประมูล ได้แก่ คลื่นความถี่ย่าน 1800 เมกะเฮิรตซ์ จำนวน 35 เมกะเฮิรตซ์ และคลื่นความถี่ย่าน 28 กิกะเฮิรตซ์จำนวน 2,000 เมกะเฮิรตซ์ อีกทั้งต้องมีการจัดทำมาตรฐานการให้บริการ 5G ด้วย

Advertisement

นอกจากนี้ สำนักงาน กสทช.ต้องเร่งผลักดันให้เกิดรูปแบบการใช้งาน (ยูสเคส) 5G ใหม่ๆ ต่อเนื่องจากปี 2563 ที่ได้เริ่มทำไปแล้วในภาคการเกษตร สาธารณสุข และการท่องเที่ยว โดยในปี 2564 จะมีการเพิ่มเติมในกลุ่มการศึกษา ซึ่งอยู่ระหว่างการหาพันธมิตรสถาบันการศึกษากลุ่มคมนาคม ขนส่ง เช่น การทำสถานีบางซื่อให้เป็นสถานี 5G และกลุ่มการบริหารทรัพยากรน้ำ ทำร่วมกับมูลนิธิปิดทองหลังพระ ภายใต้งบประมาณ 20 ล้านบาท ใช้เวลา 6 เดือน เพื่อติดเซ็นเซอร์ ตามแปลงเกษตรเพื่อควบคุมการปล่อยน้ำให้เกษตรกรมีน้ำเพียงพอ เหมาะสมกับการทำการเกษตรตามฤดูกาล รวมถึงป้องกันการลักลอบปล่อยน้ำ เป็นต้น สำนักงาน กสทช.จะดำเนินงานร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) คาดว่าจะมีการเสนอต่อคณะกรรมการขับเคลื่อน 5G แห่งชาติ ในเดือนมกราคม 2564

ขณะที่อีก 3 แนวทางการดำเนินงานของ กสทช.ด้านโทรคมนาคมปี 2564 ประกอบด้วย 1.ส่งเสริมการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคม โดยหาแนวทางในการส่งเสริมให้เกิดการใช้งานโครงสร้างพื้นฐานร่วมกัน ได้แก่ การจัดระเบียบสายสื่อสาร แบ่งเป็นการจัดระเบียบสายสำหรับพื้นที่ที่ยังไม่สามารถลงดินได้ จำนวน 600 กิโลเมตร และการจัดระเบียบสายสื่อสารลงดิน จำนวน 200 กิโลเมตร รวมถึงต้องเร่งหาข้อสรุปเรื่องค่าเช่าท่อร้อยสายระหว่างบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) และบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด (เคที)

นอกจากนี้ ต้องมีการขยายความเร็วอินเตอร์เน็ตในการให้บริการโครงการยูโซเน็ตในถิ่นทุรกันดารจากเดิมที่ให้บริการอยู่ที่ 30/10 เมกะบิตต่อวินาที รวมถึงการเร่งเปิดประมูลโครงการยูโซเน็ตในพื้นที่ที่ทีโอทีดำเนินการไม่แล้วเสร็จ เพื่อให้ผู้ประกอบการรายอื่นดำเนินการต่อ โดยเฉพาะศูนย์ยูโซเน็ตที่มีปัญหาอยู่

Advertisement

2.การยกระดับการกำกับดูแลยุคใหม่ ได้แก่ การปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการประกอบกิจการโทรคมนาคมให้สอดคล้องกับเทคโนโลยีที่มีการหลอมรวมกัน การออกกฎ หรือการกำกับผู้ได้รับใบอนุญาตให้เหมาะสมกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ รวมถึงมีการขยายความร่วมมือความปลอดภัยด้านข้อมูลในบริการโทรคมนาคม ต่อยอดจากที่ได้ตั้ง ทีซีซี-เซิร์ต เพื่อเฝ้าระวังภัยคุกคามด้านโทรคมนาคม จะมีการจับมือเพิ่มเติมกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสมาคมธนาคารไทย เพื่อเชื่อมโยงข้อมูลการเฝ้าระวังภัยไซเบอร์ที่เกิดในวงการการเงินกับวงการโทรคมนาคมที่เกี่ยวข้องกัน ตลอดจนการยกระดับการให้บริการโทรคมนาคมให้มีมาตรฐานและความปลอดภัยผ่านโมบายไอดี และการยืนยันตัวตนทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-KYC)

สุดท้าย คือ การทรานส์ฟอร์เมชั่นองค์กรไปสู่องค์กรดิจิทัล โดยสำนักงาน กสทช.จะมีการนำเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อใช้ในการกำกับดูแลและการวิจัยมากขึ้น ด้วยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีการวิเคราะห์ข้อมูล เพื่อพัฒนาฐานข้อมูลโทรคมนาคม เพื่อให้มีการรายงานแบบอินเตอร์แอ๊กทีฟมากขึ้น รวมถึงการนำเครื่องมือดิจิทัลมาใช้งานให้เป็นประโยชน์ในการประสานความร่วมมือกับผู้ประกอบการ ตลอดจนหน่วยงานวิจัยทั้งในประเทศ และต่างประเทศ เพื่อลดการใช้งานเอกสารกระดาษ เป็นต้น

สำหรับทิศทางเทคโนโลยีคาดว่าภายในไม่กี่ปี เทคโนโลยี 5.5G จะมีความสำคัญมาก “หัวเว่ย” มีการระบุว่า รูปแบบการเชื่อมต่อระหว่างสิ่งของต่างๆ จะต้องได้รับการพัฒนาให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้นไปอีก ดังนั้น การมี 5.5G จึงเป็นสิ่งสำคัญ นิยามของ 5.5G จะมีคุณสมบัติเพิ่มเติมจาก 5G จากเดิมที่ความสามารถ ประกอบด้วย 1.eMBB คือ การใช้งานในลักษณะที่ต้องการการส่งข้อมูลความเร็วสูงในระดับกิกะบิตต่อวินาที ซึ่งการใช้งานลักษณะนี้ตอบสนองความต้องการการส่ง และรับข้อมูลที่มากขึ้นเรื่อยๆ 2.mMTC คือ การใช้งานที่มีการเชื่อมต่อของอุปกรณ์จำนวนมากในพื้นที่เดียวกัน โดยมีปริมาณมากถึงระดับล้านอุปกรณ์ต่อตารางกิโลเมตร โดยการส่งข้อมูลของอุปกรณ์ในการใช้งานลักษณะนี้ จะเป็นการส่งข้อมูลปริมาณน้อยๆ ที่ไม่ต้องการความเร็วสูง หรือความหน่วงเวลาต่ำ อุปกรณ์โดยทั่วไปมีราคาถูก และมีอายุการใช้งานของแบตเตอรี่ที่มากกว่าอุปกรณ์ทั่วไป ความสามารถนี้ทำให้ระบบ 5G เหมาะสมกับการทำงานของอุปกรณ์จำพวกอินเตอร์เน็ต ออฟ ธิงส์ (ไอโอที)

3.URLLC คือ การใช้งานที่ต้องการความสามารถในการส่งข้อมูลที่มีความเสถียรมาก รวมทั้งมีความหน่วงเวลาหรือความหน่วงในการส่งข้อมูลต่ำในระดับ 1 มิลลิวินาที(ระบบ 4G ในปัจจุบันรองรับความหน่วงเวลาในระดับ 10 มิลลิวินาที) ความสามารถนี้ทำให้ระบบ 5G เหมาะกับการใช้งานระบบที่ต้องการความแม่นยำสูง เช่น การผ่าตัดทางไกล การควบคุมเครื่องจักรในโรงงาน หรือการควบคุมรถยนต์ไร้คนขับ เป็นต้น

เพิ่มเติมอีก 3 ประการ ได้แก่ 1.ลักษณะ UCBC จะเร่งการยกระดับอุตสาหกรรมสู่ระบบอัจฉริยะ UCBC จะเพิ่มอัพลิงก์ แบนด์วิดธ์ได้มากถึง 10 เท่า ถือว่าสมบูรณ์แบบสำหรับผู้ผลิตที่ต้องการอัพโหลดวิดีโอในระบบแมชชีนวิชั่น และอุปกรณ์ไอโอทีที่ใช้เครือข่ายบรอดแบรนด์ขนาดใหญ่ โดยจะเร่งกระบวนการยกระดับอุตสาหกรรมสู่ระบบอัจฉริยะให้รวดเร็วยิ่งขึ้น 2.ลักษณะ RTBC จะมอบประสบการณ์การใช้งานที่สมจริง RTBC รองรับแบนด์วิดธ์ขนาดใหญ่และค่าความหน่วงต่ำ เป้าหมายคือการเพิ่มแบนด์วิดธ์ 10 เท่า มีค่าความหน่วงตามต้องการและมีความเสถียรในระดับคงที่ หากบรรลุเป้าหมายเหล่านี้ได้ เราจะสามารถมอบประสบการณ์การใช้งานที่ผู้ใช้จะตอบสนองกับโลกเสมือนได้อย่างสมจริง 3.ลักษณะ HCS ทำให้ระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติเกิดขึ้นได้จริง HCS ได้รับการออกแบบเพื่อให้รถยนต์เชื่อมต่อถึงกัน หุ่นโดรนเชื่อมต่อถึงกันได้จริง รวมถึงทำให้สถานการณ์ต่างๆ ที่ต้องใช้ระบบการขับเคลื่อนแบบอัตโนมัติเกิดขึ้นได้จริง

สำหรับภาพรวมการอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคม ถึงสิ้นไตรมาส 3/2563 มีการอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมที่ไม่มีโครงข่ายเป็นของตนเอง รวมทั้งสิ้น 933 ใบอนุญาต เป็นใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมจำนวน 542 ใบอนุญาต และใบอนุญาตการให้บริการอินเตอร์เน็ต จำนวน 391 ใบอนุญาต มีผู้รับใบอนุญาตที่สิ้นสุดการอนุญาตแล้ว 412 ใบอนุญาต คงเหลือผู้รับใบอนุญาตจำนวน 521 ใบอนุญาต ขณะที่ปี 2563 มีจำนวนใบอนุญาตที่สิ้นสุดลง 93 ใบอนุญาต รวมกรณีการยุบรวมใบอนุญาตการให้บริการอินเตอร์เน็ตไว้ ในใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคม 46 ใบอนุญาต ซึ่งเป็นการปรับปรุงใบอนุญาตตามประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคม ที่มีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2563

ทั้งนี้ ปัจจุบันมีผู้รับใบอนุญาตคงเหลือ 521 ใบอนุญาต เป็นผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมแบบที่หนึ่ง 486 ใบอนุญาต และใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคม แบบที่สอง 35 ใบอนุญาต ขณะที่บริการที่มีผู้ให้บริการสูงสุด 5 อันดับ ได้แก่ บริการอินเตอร์เน็ต, บริการจีพีเอส แทร็กกิ้ง หรือระบบติดตามตำแหน่งด้วยดาวเทียม, บริการขายต่อวงจรเช่า, บริการขายต่อบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่/MVNO และบริการวิทยุคมนาคมสำหรับรถยนต์รับจ้าง ตามลำดับ

สำหรับปี 2563 มีการให้อนุญาตใหม่จำนวน 26 ใบอนุญาต เป็นใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมแบบที่หนึ่ง 25 ใบอนุญาต และใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมแบบที่สอง 1 ใบอนุญาต เป็นการอนุญาตเพื่อให้บริการอินเตอร์เน็ตและจีพีเอส แทร็กกิ้ง อย่างละ 9 ใบอนุญาต บริการ MVNO 2 ใบอนุญาต และอื่นๆ ได้แก่ บริการดาต้าเซ็นเตอร์, บริการไอโอที, บริการไอซีซี, บริการ VoIP Termination, บริการ VMS และวิทยุแท็กซี่ อย่างละ 1 ใบอนุญาต ขณะที่มีการดำเนินการตามคำขอของผู้รับใบอนุญาตแล้วเสร็จ 55 ราย เป็นการเปลี่ยนแปลงข้อมูล นิติบุคคล 34 ราย การต่ออายุใบอนุญาตตามหลักเกณฑ์ การอนุญาตเดิม 13 ราย การขอเพิ่มบริการ 5 ราย การขอขยายเวลาเปิดให้บริการ 2 ราย และการขอสิ้นสุดบางราย บริการ 1 ราย

ขณะที่ไตรมาส 3/2563 มีการให้อนุญาตใหม่จำนวน 7 ใบอนุญาต เป็นใบอนุญาตแบบที่หนึ่ง เพื่อให้บริการอินเตอร์เน็ตและบริการจีพีเอส แทร็กกิ้ง อย่างละ 3 ใบอนุญาต และบริการ VMS 1 ใบอนุญาต ส่วนการดำเนินการตามคำขอของผู้รับใบอนุญาต 13 ราย เป็นการเปลี่ยนแปลงข้อมูลนิติบุคคล 10 ราย ขอเพิ่มบริการภายใต้ใบอนุญาตเดิม 2 ราย และขอขยายระยะเวลาการเปิดให้บริการ 1 ราย

ส่วนสถานะการให้บริการของผู้รับใบอนุญาตทั้งหมดในปัจจุบันจำนวน 521 ใบอนุญาต พบว่าเป็นผู้รับใบอนุญาตที่เปิดให้บริการแล้ว 431 ใบอนุญาต (82%) ยังไม่ครบกำหนดการเปิดให้บริการ 57 ใบอนุญาต (10%) ยังไม่เปิดให้บริการ 12 ใบอนุญาต (3%) ขอขยายระยะเวลาการเปิดให้บริการ 9 ใบอนุญาต (2%) ตรวจสอบสถานะการให้บริการ 8 ใบอนุญาต (2%) และอยู่ระหว่างเสนอสิ้นสุดการอนุญาต 4 ใบอนุญาต (1%)

ทั้งนี้ ปัจจุบันมีผู้รับใบอนุญาตแบบที่หนึ่ง 486 ใบอนุญาตเป็นผู้รับใบอนุญาตที่เปิดให้บริการแล้ว 402 ใบอนุญาต ยังไม่ครบกำหนดการเปิดให้บริการ 52 ใบอนุญาต ยังไม่เปิดให้บริการ 12 ใบอนุญาต ขอขยายระยะเวลาเปิดให้บริการ 9 ใบอนุญาต ตรวจสอบสถานะการให้บริการ 7 ใบอนุญาต และอยู่ระหว่างเสนอสิ้นสุดการอนุญาต 4 ใบอนุญาต ขณะที่ผู้รับใบอนุญาตแบบที่สอง ที่ไม่มีโครงข่ายเป็นของตนเอง 35 ใบอนุญาต เป็นผู้รับใบอนุญาตที่เปิดให้บริการแล้ว 29 ใบอนุญาต ยังไม่ครบกำหนดการเปิดให้บริการ 5 ใบอนุญาต และตรวจสอบสถานะการให้บริการ 1 ใบอนุญาต

ณ สิ้นไตรมาส 3/2563 มีการสิ้นสุดการอนุญาตรวม 412 ใบอนุญาต เป็นใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคม 207 ใบอนุญาต และใบอนุญาตการให้บริการอินเตอร์เน็ต 205 ใบอนุญาต โดยในปี 2563 มีการสิ้นสุดการอนุญาต 93 ใบอนุญาต เป็นการสิ้นสุดใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคม 29 ใบอนุญาต ใบอนุญาตการให้บริการอินเตอร์เน็ต 18 ใบอนุญาต และเป็นกรณีสิ้นสุดจากการยุบรวมใบอนุญาตการให้บริการอินเตอร์เน็ตไว้ในใบอนุญาตประกอบกิจการ โทรคมนาคม 46 ใบอนุญาต สำหรับไตรมาส 3/2563 มีการสิ้นสุดใบอนุญาตแบบที่หนึ่ง 18 ใบอนุญาต เป็นบริการอินเตอร์เน็ต 8 ใบอนุญาต บริการจีพีเอส แทร็กกิ้ง 4 ใบอนุญาต บริการบัตรโทรศัพท์ระหว่างประเทศ 3 ใบอนุญาต บริการรีเซลโมบาย/MVNO 2 ใบอนุญาต และอื่นๆ 1 ใบอนุญาต

บริการที่มีการสิ้นสุดการอนุญาตสูงสุด ได้แก่ บริการอินเตอร์เน็ต 201 ราย รองลงมาเป็นบริการบัตรโทรศัพท์ระหว่างประเทศ 91 ราย บริการขายต่อบริการ 73 ราย บริการจีพีเอส แทร็กกิ้ง 41 ราย และบริการอื่นๆ ได้แก่ บริการ IIG/NIX บริการ VSAT บริการ Forward Call และโทรศัพท์ผ่านเครื่องแปลงสัญญาณ รวม 12 ราย

สาเหตุการสิ้นสุดการอนุญาตในภาพรวม พบว่าเป็นการขอสิ้นสุดการอนุญาต/บริการสูงสุด 206 ใบอนุญาต โดยเป็นการสิ้นสุดด้วยตนเอง 179 ใบอนุญาต และขอสิ้นสุดด้วยตนเองภายหลัง สำนักงาน กสทช.ไม่สามารถแข่งขันได้ มีบริการอื่นทดแทน บริการได้รับความนิยมลดน้อยลง ไม่สามารถเปิดให้บริการได้ เลิกกิจการ และพฤติกรรมของผู้ใช้งานเปลี่ยนแปลงไปรองลงมาเป็นการเสนอสิ้นสุดจากสาเหตุที่ผู้รับใบอนุญาตขาดต่ออายุใบอนุญาต 64 ใบอนุญาต ไม่ชำระค่าธรรมเนียม 50 ใบอนุญาต ขาดคุณสมบัติในการเป็นผู้รับใบอนุญาต 12 ใบอนุญาต ยังไม่เปิดให้บริการ และไม่อนุญาตให้ต่ออายุ เนื่องจากไม่มีการประกอบกิจการแล้ว อย่างละ 9 ใบอนุญาต

ขณะที่การขอสิ้นสุดในปี 2563 จำนวน 93 ใบอนุญาต พบว่าเป็นการสิ้นสุดจากการยุบรวมใบอนุญาตการอินเตอร์เน็ตไว้ในใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคม 46 ใบอนุญาต รองลงมาเป็นการขอสิ้นสุดการอนุญาต/บริการ 35 ใบอนุญาต แบ่งเป็นการสิ้นสุดด้วยตนเอง 20 ใบอนุญาต และขอสิ้นสุดด้วยตนเองภายหลัง สำนักงาน กสทช.ตรวจสอบสถานประกอบการ 15 ใบอนุญาตเหตุผลในการขอสิ้นสุดส่วนใหญ่ พบว่าธุรกิจมีการแข่งขันสูง ไม่สามารถเปิดให้บริการได้ ปัญหาทางด้านเศรษฐกิจ ขาดทุนและอื่นๆ ได้แก่ เปิดให้บริการแต่ไม่มีผู้ใช้บริการ เจรจากับคู่ค้าส่งไม่ได้ และเทคโนโลยีล้าสมัย และเป็นการเสนอสิ้นสุดของสำนักงาน กสทช. จากสาเหตุที่ผู้รับใบอนุญาตไม่ชำระค่าธรรมเนียม ขาดต่ออายุ และขาดคุณสมบัติในการเป็นผู้รับใบอนุญาต รวม 12 ใบอนุญาต

ทั้งนี้ กรณีการสิ้นสุดการอนุญาตโดยการขาดต่ออายุใบอนุญาต ไม่ชำระค่าธรรมเนียม และขาดคุณสมบัติในการเป็นผู้รับใบอนุญาตนั้น ส่วนใหญ่เป็นกรณีที่สำนักงาน เสนอ กสทช.สิ้นสุด โดยได้มีการออกตรวจสอบสถานที่ประกอบการก่อนเสนอสิ้นสุดการอนุญาต ส่วนใหญ่ไม่พบสถานประกอบการ และไม่สามารถติดต่อผู้รับใบอนุญาตได้ จึงไม่สามารถระบุเหตุผลที่ผู้รับใบอนุญาตในกลุ่มนี้ ไม่ประกอบกิจการตามที่ได้รับอนุญาตและไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขในการอนุญาตได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image