“ไม่มีหรอก ระบบเลือกตั้งที่ดีที่สุด” อรรถสิทธิ์ พานแก้ว 

“ไม่มีหรอก ระบบเลือกตั้งที่ดีที่สุด” อรรถสิทธิ์ พานแก้ว 

เราควรหลีกเลี่ยงการบอกว่า ระบบเลือกตั้งที่ดี หรือระบบเลือกตั้งที่ดีที่สุด เพราะมันไม่มีอยู่จริงหรอก ทุกระบบต่างมีข้อดี และข้อด้อยต่างกันไป” 

เป็นคำตอบของ รศ.ดร.อรรถสิทธิ์ พานแก้ว อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อถูก มติชนออนไลน์” ถามถึงข้อถกเถียงเรื่องระบบเลือกตั้ง ในการยื่นขอแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคการเมือง ที่รัฐสภากำลังพิจารณาในวันที่ 23 มิถุนายนนี้

เพราะในทัศนะของ อรรถสิทธิ์ ไม่ว่า ระบบเลือกตั้งแบบรัฐธรรมนูญปี 2540 ที่ พรรคพลังประชารัฐ พรรคเพื่อไทย และพรรคประชาธิปัตย์เสนอ หรือระบบเลือกตั้งแบบ MMP ของเยอรมัน ที่พรรคก้าวไกล พยายามนำเสนอนั้น ล้วนมีทั้งข้อดี และข้อด้อยด้วยกันทั้ง 2 แบบ

วันนี้ต่างฝ่ายต่างพูดว่า อยากแก้เพราะระบบนั้นระบบนี้มันดี ในความหมายที่ว่า มันดีต่อพรรคเราไม่ใช่มันดี หรือมันเด่น ในความหมายที่เหมาะสมกับประเทศนี้เลย” 

Advertisement

นี่จึงทำให้เราเห็นภาพที่ พรรคใหญ่ อย่าง พรรคพลังประชารัฐ ชูธงนำระบบแบบรัฐธรรมนูญปี 2540 กลับมา โดยมี พรรคเพื่อไทย โดดเข้ามาเป็นแนวร่วม  

ขณะที่ พรรคขนาดกลางๆ อย่าง พรรคก้าวไกล แม้จะเห็นพ้องว่า ระบบเลือกตั้ง แบบจัดสรรปันส่วนผสม ตามรัฐธรรมนูญฉบับนี้จำเป็นต้องถูกรื้อทิ้ง แต่ก็มีท่าทีเห็นต่างกับ พรรคเพื่อไทย อย่างชัดเจน ที่เดินตามธงการแก้ไขระบบเลือกตั้งที่พรรคพลังประชารัฐเป็นผู้เริ่มต้นเสนอ   

เหตุที่เป็นเช่นนี้ เพราะมีฝ่ายหนึ่งคิดว่า ตัวเองกำลังจะได้ประโยชน์ และมีอีกฝ่าย ที่กำลังจะเสียประโยชน์ ในกติกาที่กำลังจะถูกแก้ไขในครั้งนี้  

Advertisement

.อรรถสิทธิ์ ย้อนว่า นับตั้งแต่ปี 2548 ทุกครั้งที่มีการเลือกตั้ง เราเปลี่ยนระบบเลือกตั้งทุกครั้ง โดยทุกครั้งที่เปลี่ยนก็เกิดขึ้นเพราะ คนที่อยากเปลี่ยนคิดว่า ตัวเองจะได้เปรียบจากระบบใหม่ 

แต่สำหรับ “ประชาชน” ยังเป็นเพียง แฟนคลับ” ที่รู้สึกว่า พรรคที่ฉันชอบจะมีโอกาส จึงสนับสนุน 

“ที่พูดแบบนี้ เพราะที่ผ่านมา การพูดถึงระบบเลือกตั้ง จะเป็นการพูดถึงพรรคนั้นพรรคนี้พูดว่า หรือเป็นการพูดจากผู้ร่างรัฐธรรมนูญ โดยที่ประชาชนเป็นได้แค่แฟนคลับ ไม่ได้มีสิทธิเสนอแนะ หรือมีใครออกมาพูดในภาพใหญ่ของประเทศเลยว่า เราควรมีระบบเลือกตั้งที่เหมาะสมกับสังคมไทยอย่างไร”   

ดังนั้น ในทัศนะของผู้ที่สนใจพัฒนาการการเลือกตั้งไทย อย่าง “อรรถสิทธิ์” จึงมองว่า 20 ปีที่ผ่านมานับตั้งแต่ปี 2540 แม้ระบบเลือกตั้งจะถูกแก้ไขอยู่ตลอด แต่ก็เป็นเพียงการแก้เพื่อเปลี่ยน เส้นทางเข้าสู่อำนาจ” เท่านั้น โดยพฤติกรรมการเลือกตั้งของคนไทยยังไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมากนัก  

อ.อรรถสิทธิ์ บอกว่า ด้วยพฤติกรรมการของประชาชนต่อเลือกตั้งที่ไม่เปลี่ยนไปเช่นนี้ ทำให้ระบบเลือกตั้ง แบบรัฐธรรมนูญปี 2540 จึงถูก “ปัดฝุ่น” นำกลับมาเป็นโมเดลในการแก้ไขรัฐธรรมนูญอีกครั้งหนึ่ง เพราะพรรคใหญ่ ยังเชื่อมั่นว่า ประชาชนยังตัดสินใจเลือกที่ “คน” เป็นปัจจัยแรก รองจาก “นโยบาย” พรรค

ทั้งยังเชื่อมั่นว่า ถ้าได้ส.ส.แบบเขตมาก โอกาสที่ก็จะได้ส.ส.แบบปาร์ตี้ลิสต์ก็ย่อมมากขึ้นไปด้วย

แน่นอนว่า พรรคพลังประชารัฐ เสนอโมเดลนี้ ขณะที่ พรรคเพื่อไทย สนับสนุนก็เพราะต่างฝ่ายต่างมั่นใจว่า ตัวเองก็มีโอกาสในระบบนี้เช่นเดียวกัน

“ต้องยอมรับว่า โจทย์ของพลังประชารัฐเปลี่ยนไปจากเดิม เพราะเป็นพรรคใหญ่ขึ้น มีส.ส. มีผู้สมัครที่มีโอกาสไหลมาอยู่มากขึ้น ถ้าลงเลือกตั้งโดยใช้ระบบเดิม หรือแบบจัดสรรปันส่วนผสม อาจไม่ตอบโจทย์แล้ว เช่นเดียวกับคุณโทนี (ทักษิณ ชินวัตร) เขายอมรับเลยว่า เขาถนัดแบบนี้ แบบเยอรมันไม่รู้จัก เพราะเขามีส.ส.ในมือ ยิ่งถ้าส.ส.เขตทำแต้มให้คนเลือกพรรคด้วย มันจะยิ่งทวีคูณเลย ทั้ง 2 พรรคคิดแบบนี้ คิดว่า มันดีสำหรับเขา” 

“แลนด์สไลด์” แบบที่ นายทักษิณ พูดถึง ระบบเลือกตั้งแบบนี้เท่านั้น ถึงจะเป็นไปได้

อย่างไรก็ตาม ในฐานะผู้ที่ศึกษาระบบเลือกตั้งทั่วโลก “อรรถสิทธิ์” ยืนยันว่า ก่อนที่จะบอกว่าระบบไหนดี” เราจำเป็นต้องตั้ง “โจทย์” กับการแก้ไขในครั้งนี้ให้ได้เสียก่อน 

เขาได้ฉายภาพพัฒนาการของระบบเลือกตั้งของไทย โดยย้อนกลับไปตั้งแต่ก่อนที่จะมีรัฐธรรมนูญปี 2540 เพื่อชี้ข้อดีข้อด้อยของทั้ง 2 ระบบที่กำลังที่เป็นข้อถกเถียงอยู่ในขณะนี้ 

โดย.อรรถสิทธิ์ อธิบายว่า ระบบเลือกตั้งที่เก่าแก่ที่สุดในโลกคือระบบเสียงข้างมาก ใครได้คะแนนมากที่สุด คนนั้นก็ชนะได้ที่นั่งไป แต่ปัญหาของระบบนี้ คือสิ่งที่เราเจอก่อนรัฐธรรมนูญปี 2540 นั่นคือมีเสียงตกน้ำ ไม่ได้สัดส่วน พรรคการเมืองเยอะ เกิดรัฐบาลผสม การเมืองไร้เสถียรภาพ 

ต่อมา รัฐธรรมนูญปี 2540 จึงพยายามแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น โดยนำระบบเลือกตั้งแบบสัดส่วน ซึ่งมีทั้งข้อเด่นและข้อด้อย มาแก้ปัญหาที่เราเจอก่อนปี 2540 ด้วยการนำมาผสมกับระบบเลือกตั้งแบบข้างมาก เป็น ระบบผสมแบบอิงเสียงข้างมาก หรือ “MMM” โดยมีทั้งระบบเขตที่ยึดเสียงข้างมาก และระบบสัดส่วนแบบปาร์ตี้ลิสต์ นับคะแนนคู่ขนานกันไป 

ผลลัพธ์ที่ได้คือ เรามีพรรคการเมืองใหญ่ การเมืองมีเสถียรภาพ แต่พรรคเล็กก็ยังมีเยอะเช่นเดิม 

“การเปลี่ยนเป็น MMM โดยพื้นฐานไม่ได้ช่วยให้การเกิดขึ้นของพรรคการเมืองลดลงมากถึงขนาดจะเหลือระบบ 2-3 พรรค เพียงแต่ระบบนี้ พรรคเล็กจะยังมีโอกาส แต่มีไม่มีโอกาสเท่ากับพรรคใหญ่ ปาร์ตี้ลิสต์ช่วยพรรคเล็กแต่ก็ช่วยพรรคใหญ่มากกว่า”

มาถึงคราวนี้ มีการนำระบบเลือกตั้งแบบผสม หรือ MMP มานำเสนอ บัตร 2 ใบเช่นเดียวกับระบบปี 2540 โดยมีทั้งระบบเลือกตั้งแบบเขต และแบบสัดส่วนปาร์ตี้ลิสต์ แต่สาระสำคัญอยู่ที่การนับคะแนนจะต่างออกไป โดยจะนำคะแนนทั้งหมดมารวมกันก่อน แล้วค่อยมาจัดสรรที่นั่งที่หลัง 

ระบบนี้มีข้อเด่น ทำให้มีพรรคการเมืองมีความหลากหลาย จากความแตกต่างทางนโยบาย รัฐสภาจะได้ตัวแทนจากคนที่หลากหลายมากขึ้น กลุ่มต่างจะได้สิทธิ มีผู้แทนของตัวเองเข้าสภาฯ ขณะเดียวกันก็ต้องยอมรับด้วยว่า เมื่อเรามีพรรคการเมืองที่หลากหลาย อาจทำให้เกิดผลเป็นข้อด้อยจากการมีพรรคมากในสภาฯ การเมืองไร้เสถียรภาพจะตามมา การผลักดันแนวนโยบายต่างๆจะทำได้ยากขึ้น เพราะมีการต่อรองทั้งทางการเมืองและทางนโยบาย

อ.อรรถสิทธิ์ บอกว่า ระบบผสม แบบ MMP มักจะได้ผลดีมากในประเทศที่มีความแตกต่างหลากหลายมากๆ เช่น สวิตเซอร์แลนด์ เบลเยียม เป็นต้น ที่ในหนึ่งประเทศพูดกันหลายภาษา คนแตกต่างกันเพราะหากสังคมแบบนี้ ถ้าใช้แบบเขตเดียวเบอร์เดียว ไม่มีทางที่ชนกลุ่มน้อยจะมีตัวแทนเข้าสภาฯ หรือในประเทศที่ต้องการความหลากหลายทางนโยบายอย่างนิวซีแลนด์

ดังนั้น ในทัศนะของ “อรรถสิทธิ์” ชี้ว่า ถ้าโจทย์คือความผูกกันกับพื้นที่ ต้องการการเมืองเข้มแข็ง มีเสถียรภาพก็ควรเลือกทางที่ “พรรคใหญ่” เห็นพ้องต้องกัน

แต่ถ้าโจทย์คือ ความหลากหลายก็ควรเดินไปอีกเส้นทางหนึ่ง ที่ พรรคก้าวไกล พยายามนำเสนอ

พร้อมๆกับโยนคำถามให้สังคมช่วยกันถกเถียงกันต่อไปด้วยว่า เรามีความหลากหลายขนาดนั้นหรือไม่รวมไปถึงการพิจารณาถึง “คะแนนขั้นต่ำ” ในการจัดสรรที่นั่งในระบบเลือกตั้งแบบผสมด้วย

เพราะการกำหนดคะแนนขั้นต่ำ คือการป้องกันประสบการณ์ที่เราเจอพรรคการเมืองแบบตีหัวเข้าบ้าน กระทั่งมาสร้างปัญหาขายตัว มีลิงกินกล้วย แบบที่เกิดขึ้นในสมัยนี้ 

“โดยเฉพาะในปี 2560 ฉบับ.มีชัย ฤชุพันธ์ นำการจัดสรรปันส่วนมาใช้ โดยไม่มีขั้นต่ำในการคำนวณ จึงทำให้พรรคเล็กพรรคน้อย ที่มีคะแนนน้อยกว่าคะแนนพึงมีในระบบปาร์ตี้ลิสต์ได้เป็นส.จากการปัดเศษให้ ทั้งๆที่ไม่ควรจะได้”   

.อรรถสิทธิ์ ยกตัวอย่างตอนรัฐธรรมนูญปี 2540 เรามี 5% เป็นขั้นต่ำ ถ้าพรรคไหนได้คะแนนไม่ถึง จะไม่ได้รับจัดสรรที่นั่ง กระทั่งตอนปี 2550-2560 เรายกเลิกไป เพราะถูกมองว่ากีดกันพรรคเล็กแต่ในสังคมเยอรมัน ต้นแบบโมเดลนี้ ไม่ได้มองเช่นนี้

หัวใจของการคิดตามฐานของระบบเยอรมัน ไม่ได้ถือว่า เป็นการกีกกัน แต่มันเป็นการบอกว่า ถ้าคุณคือตัวแทนประชาชน คุณควรมีจำนวนที่เหมาะสมจำนวนหนึ่ง ตัวเลข 5% นี่คือฉันทามติของคนเยอรมัน ประเทศอื่นอาจจะต่างออกไปก็ขึ้นอยู่กับสังคมนั้นๆว่า จะใช้ขั้นต่ำจำนวนเท่าไหร่” 

นอกจากมี “คะแนนขั้นต่ำ” แล้ว ในทัศนะ “อรรถสิทธิ์” ยังมองว่า การคำนวนที่นั่งก็จำเป็นต้องระบุให้ชัดเลยว่า จะใช้สูตรคำนวณแบบไหน 

เราจะปล่อยให้เลือกตั้งเสร็จแล้วค่อยมาเคาะ ทั้งๆที่ทุกระบบจะมีสูตรการคำนวณให้อยู่แล้ว โดยแต่ละสูตรก็จะเปิดโอกาสให้พรรคแต่ละขนาดได้เปรียบเสียเปรียบแตกต่างกันออกไป ฉะนั้น จึงอยากให้แก้ให้ชัดเจนทั้งจำนวนที่นั่ง ระหว่างเขตกับปาร์ตี้ลิสต์รวมไปถึงเรื่องขั้นต่ำในการคำนวณ

อย่างไรก็ตาม เรื่องร้อนแก้ไขรัฐธรรมนูญที่นอกจากระบบเลือกตั้ง ยังมีอำนาจส.ว.โหวตนายกฯอีก 1 เรื่อง

แม้ พรรคร่วมฝ่ายค้าน จะผนึกพลังกับ ประชาธิปัตย์-ภูมิใจไทย 2 พรรคร่วมรัฐบาลในการเสนอร่างแก้ไข

แต่เรื่องนี้ก็ยังถือว่า ห่างไกลจากความเป็นจริงที่จะสามารถปิดสวิตช์ส.ว.ได้

“วันนี้เราถกเถียงกันอยู่แค่ระบบเลือกตั้งอย่างเดียว โดยที่ยังไม่ได้พูดถึงโครงสร้างการเมืองใหญ่ทั้งหมด ซึ่งการออกแบบให้ส.ว.มีอำนาจโหวตนายกฯ ถือเป็นเรื่องผิดธรรมชาติของระบบรัฐสภา ถ้าเลือกตั้งครั้งหน้า ส.ว.ที่ไม่ใช่ตัวแทนประชาชน ยังมีอำนาจโหวตนายกฯได้ ระบบเลือกตั้งที่พูดถึงการสะท้อนเจตนารมณ์ของประชาชนคงไม่ทางเกิดขึ้น เพราะเลือกยังไงก็แพ้เสียงของ 250 ส.ว.อยู่ดี”

ดังนั้น ในทัศนะของอ.อรรถสิทธิ์ ส.ว.ถือเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการสะท้อนเจตนารมณ์ของประชาชน

ถ้าไม่เอาส.ว.ออกไป ข้อถกเถียงเรื่องระบบเลือกตั้ง คงไม่มีทางเกิดขึ้นได้จริง   

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image