‘พิธา’ นำก้าวไกลปี’65 สร้างการเมืองใหม่ เคลื่อนประเทศ

สัมภาษณ์พิเศษ : ‘พิธา’ นำก้าวไกลปี’65 สร้างการเมืองใหม่ เคลื่อนประเทศ

หมายเหตุ – นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคก้าวไกล (ก.ก.) ให้สัมภาษณ์พิเศษ “มติชน” ถึงสถานการณ์การเมือง ในปี 2565

  • การเมืองในปี 2565 และการเตรียมความพร้อมในการเลือกตั้ง ครั้งต่อไป ในส่วนของพรรค ก.ก.วางเป้าหมายไว้อย่างไร

สำหรับผม ปี 2565 เป็นปีของทางสองแพร่ง รัฐบาลที่สืบอำนาจมาจาก คสช. อยู่ในอำนาจครบ 8 ปี ในขณะเดียวกันก็เป็นปีแรกของการฟื้นฟูประเทศ ผ่านการเลือกตั้งใหญ่ๆ หลายครั้ง ทั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯกทม.) นายกเมืองพัทยา หรืออาจจะเกิดอุบัติเหตุทางการเมือง อย่างการยุบสภาจนนำไปสู่การเลือกตั้งใหญ่ จึงมีโอกาสที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลง หรือการหาฉันทามติของประชาชนผ่านการเลือกตั้งใหญ่ เป็นสิ่งที่พรรคการเมืองทุกพรรค รวมถึงพรรค ก.ก.ต้องเตรียมตัวเข้าสู่โหมดเลือกตั้ง และนำเสนอนโยบายเพื่อไปสู่เป้าหมาย

สำหรับเป้าหมายใหญ่ๆ ที่เราจะทำ ถ้าจำกันได้ตั้งแต่สมัยอดีตพรรคอนาคตใหม่ จะเป็นเรื่องของไทยสองเท่า คือ คนไทยเท่าเทียมกัน และคนไทยเท่าทันโลก สำหรับเป้าหมายปีนี้ของผมที่จะพาประเทศไทยไปข้างหน้าหลังยุคโควิด-19 คือ การกระจายไม่กระจุก ล่างขึ้นบน ไม่ใช่บนลงล่าง และภายนอกมาสู่ภายใน ไม่ใช่ภายในมาสู่ภายนอก

การกระจายไม่กระจุก คือ กระจายอำนาจ งบประมาณ และโอกาสการเก็บภาษี เป็นต้น ล่างขึ้นบน ไม่ใช่บนลงล่าง เพราะการบริหารราชการในอดีตที่ผ่านมา ทุกอย่างอยู่ที่ กทม. เมื่อพรรค ก.ก.ลงพื้นที่ตามจังหวัดต่างๆ ก็พบว่าการบริหารราชการจากบนลงล่างอย่างเดียวไม่สามารถแก้ไขปัญหาหลายๆ อย่างได้ กรณีที่ข้าราชการประจำจังหวัดจะต้องรายงานไปที่ปลัดกระทรวงต่างๆ แต่ไม่ได้นำเสนอการแก้ปัญหาที่ตอบโจทย์คนในพื้นที่ ทั้งเรื่องน้ำท่วม เรื่องไฟไหม้โรงงานหมิงตี้ จ.สมุทรปราการ ที่รัฐราชการไม่สามารถแก้ปัญหาได้อย่างทันท่วงที และยังต้องขอรับบริจาคเงินเพื่อนำมาแก้ไขปัญหา แต่เมื่อเป็นเรื่องเกี่ยวกับความมั่นคงของรัฐ ม็อบจะนะ หรือม็อบเยาวชนคนหนุ่มสาว ก็จะจัดการได้อย่างรวดเร็วทันใจ

Advertisement

แสดงให้เห็นว่าการที่มีทุกอย่างมารวมศูนย์จากห้องแอร์ลงไปข้างล่างไม่สามารถแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นซ้ำซากได้ คงต้องมีวิธีคิดใหม่ว่าภารกิจสำคัญบางอย่างควรจะส่งมอบไปที่ท้องถิ่น รายได้จากการท่องเที่ยวเกิดจากท้องถิ่น แต่ต้องส่งภาษีเข้ามาให้ กทม. เป็นต้น จึงไม่เกิดการบริหารจัดการที่ให้ประเทศไทยเดินไปข้างหน้าได้ หาก กทม.ติดโควิด-19 ทีหนึ่ง ก็ทำให้ 50% ของจีดีพีประเทศหายไปได้ทันที เพราะทุกสิ่งทุกย่างมากระจุกอยู่ที่ กทม.

สุดท้ายภายนอกมาสู่ภายใน ไม่ใช่ภายในมาสู่ภายนอก ผมคิดว่าการทำให้ประเทศไทยไปสู่ในระดับสากล ได้เท่าทันโลก เช่นเรื่องสิทธิมนุษยชน เค้าโครงเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และการศึกษา เป็นสิ่งที่ต้องรีบทำ ไม่ใช่ว่าเราต้องผลิตของที่ดีที่สุดเพื่อให้ค้าขายในเวทีโลกได้ ผมคิดว่าเราต้องนำของจากระดับสากลข้างนอกเข้ามาทำในเมืองไทย เพื่อให้ดูมีสามัญสำนึกเหมือนกับประเทศที่ไทยเป็นคู่ค้าด้วย สิ่งที่เราต้องเร่งเร้าให้มากขึ้นเช่น เศรษฐกิจ สังคม การเมือง สิ่งแวดล้อมหลายๆ

อย่าง ในอดีตอาจจะเคยพูดกันว่าพรรคใดมีนโยบายจับต้องได้ หรือแก้ไขปัญหาของพี่น้องประชาชนได้เร็วที่สุดก็น่าจะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ชนะเลือกตั้ง

Advertisement

การที่ไทยไม่สามารถส่งออกข้าวได้ ติดหนี้ ติดน้ำท่วม แล้วยังติด โควิด-19 ภายในครอบครัวเดียวกัน จึงเริ่มจะเข้าใจว่าการที่คนกรุงพูดเรื่องภาวะโลกร้อน ไม่ใช่แค่คำพูดที่อยู่ในข่าว แต่คือ 40 วันที่ไม่สามารถใช้ห้องส้วมในบ้านของตัวเองได้ ผลผลิตทางการเกษตรก็ถูกน้ำท่วมเละเทะ และไม่ได้รับการเยียวยาอย่างรวดเร็วทำให้ติดหนี้ ธ.ก.ส.ไปอีก 3 ปี ก็เป็นเรื่องที่สามารถสัมผัสได้ ผมจึงเริ่มสังเกตความเปลี่ยนแปลงของบริบทการเลือกตั้งเมื่อเทียบกับการเลือกตั้งปี 2562 และเป็นเรื่องที่น่าสนใจ

  • พรรค ก.ก.ยังชูนโยบายการปฏิรูประบบราชการอยู่หรือไม่

แน่นอนครับ เรื่องนี้มีอยู่ตั้งแต่สมัยอนาคตใหม่ ทิศทางอาจจะยังเหมือนเดิม แต่รายละเอียดชัดเจนมากขึ้น ด้วยความที่ได้เป็น ส.ส.ต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 รวมถึงการทำงานในคณะกรรมาธิการงบประมาณ จึงเริ่มเห็นว่าข้าราชการ 2 ล้านกว่าคน อยู่ที่ กทม.เท่าไหร่ และอยู่ในต่างจังหวัดประมาณเท่าไหร่ เริ่มเห็นความซับซ้อนของโครงสร้าง ที่จะต้องรีดไขมัน เช่น ความซับซ้อนระหว่างกองทัพและกระทรวงกลาโหม ที่ต่างก็มีหน่วยงานดูแลเรื่องกฎหมายเหมือนกัน การบริหารจัดการเงินก็มีการจัดการซับซ้อน หรือการควบรวมกระทรวงสำคัญหลายๆ กระทรวง เช่น กระทรวงอุตสาหกรรม สามารถควบรวมกับกระทรวงพาณิชย์ได้ อันเป็นการจัดกระดูกระบบราชการ

หากไม่ทำอะไรเลยก็จะเป็นช้างอุ้ยอ้ายที่เต้นไม่ได้ในโลกยุคใหม่ เพราะเงินกว่า 30% ของงบประมาณแผ่นดินจะถูกนำไปเป็นเงินเดือนและบำนาญของข้าราชการ ทำให้เมื่อพบวิกฤตใหม่ๆ อย่างน้ำท่วม สังคมสูงวัย ดิจิทัลดิสรัปชั่น หรือสาธารณสุข เราจะไม่มีความยืดหยุ่นทางการคลัง ส่วนการปกครองส่วนท้องถิ่นก็ไม่ได้เป็นการกระจายอำนาจอย่างแท้จริง หรือทำให้ท้องถิ่นเข้มแข็ง

  • ด้วยกติกาบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ มีการมองว่าเข้าทางพรรคใหญ่ ในฐานะหัวหน้าพรรคก้าวไกล มองและวางกลยุทธ์ต่อการสู้ศึกเลือกตั้งอย่างไร

ผมคิดว่าเป็นเรื่องการอนุมาน อย่างที่เคยอนุมานว่าอดีตพรรคอนาคตใหม่จะได้ ส.ส.แค่ 10-20 เสียง ซึ่งเป็นการอนุมานของพรรคพวกเดียวกัน ไม่ใช่ศัตรู ครั้งนี้ก็คงเป็นการอนุมานอีกหนึ่งครั้ง แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับตัวผมและลูกพรรคว่าจะยอมรับคำอนุมานนั้นหรือไม่ หรือจะลบคำสบประมาท โดยฟังไว้แต่ยังไม่เชื่อ แล้วก็สู้กันเต็มที่ในเรื่องกติกา ที่จะไม่พาประเทศไทยย้อนหลังไปอีก 20 ปี

อย่างผมเติบโตที่นิวซีแลนด์ มีรัฐบาลผสมที่สะท้อนถึงความหลากหลายทางสังคม และใช้ระบบเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสม หรือ MMP ซึ่งเป็นที่น่าสนใจ แต่เมื่อการได้มาซึ่งระบบนี้จบไปแล้ว ผมก็ก้าวข้ามไปได้ ไม่ได้รู้สึกตะขิดตะขวงใจ เมื่อกติกาเปลี่ยนเราก็ต้องพร้อมสู้ทุกกติกา และมาโฟกัสในสิ่งที่เราสามารถควบคุมได้ คือ ความขยัน และทัศนคติ ที่จะเป็นยุทธศาสตร์ในการเดิน เมื่อมี ส.ส.เขต 400 คน และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 คน แน่นอนว่าฝ่ายผู้มีอำนาจจะเขียนเขตให้ตัวเองได้เปรียบ ต้องโยกย้ายข้าราชการ และมีงบประมาณที่จะใช้เป็นกระสุนพร้อม

สำหรับเราจะใช้ลูกขยัน อุดมการณ์ ความจริงใจ นโยบาย และความเข้าใจในการแก้ปัญหาเข้าสู้ ทำให้คนที่อยู่ใน 400 เขต ที่ถึงแม้จะไม่เคยเจอว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.เขต ของเรา ที่ไม่ได้มีนามสกุลใหญ่ หรือมาจากบ้านใหญ่ แต่ทำให้กระดิ่งในใจเขาดังได้

ทั้งนี้ แต่ละเขตจะมีคะแนนเฉลี่ยของทางพรรคก้าวไกลมาให้ส่วนหนึ่งแล้ว ที่เหลือคือการทำงานร่วมกันเพื่อหาเนื้อคะแนนว่าก้อนเนื้อคะแนนเหล่านี้อยู่ที่ไหน แล้วจะทำอย่างไรให้ได้ก้อนคะแนนเหล่านี้ และชนะใจประชาชนให้ได้ ด้วยนโยบายและอุดมการณ์ของพรรค ถ้าเป็นแบบนั้นได้ผมก็คิดว่าจะสามารถเปลี่ยนเกมทำให้เราเป็นท้องถิ่นแบบไฮเปอร์ ที่จะต่อสู้กับ ส.ส.เก่าๆ ที่อยู่มานาน และไม่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง จึงคิดว่ามีสิทธิลุ้น แน่นอนว่าการทำงานในสภา และการผลักดันกฎหมาย เช่น สุราก้าวหน้า หรือสมรสเท่าเทียม จะแสดงให้เห็นว่าเรากำลังทำในสิ่งที่สัญญาไว้ตั้งแต่อดีตพรรคอนาคตใหม่อยู่

  • ประเมินแนวทางและการแก้เกมการเมืองไว้อย่างไร หากพรรคร่วมฝ่ายค้านชนะเลือกตั้ง แต่จัดตั้งรัฐบาลไม่ได้

จะแก้เกมนี้ได้ อย่างหนึ่งที่ต้องเข้าใจคือ เกมนี้ไม่เหมือนเมื่อปี 2562 ทั้งเนื้อคะแนนที่ออกมากลางๆ หรือช่วงที่ประชาชนบอกว่าให้ออกจากเผด็จการ และเป็นประชาธิปไตยครึ่งใบก็ยังโอเค คือยังเป็นช่วงที่ยังไม่มีใครคิดถึงประสิทธิภาพและการทำงานของ ส.ว. 250 คน ยังไม่เคยเห็นเขาเถียงกับนายปิยบุตร แสงกนกกุล หรือผมในรัฐสภา และยังไม่มีใครต้องการให้แก้ไขรัฐธรรมนูญสักเท่าไหร่ แต่ช่วงนี้มีร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญหลายฉบับที่ส่งเข้ารัฐสภา ซึ่งถูกตีตกไปหมด ได้แค่แก้ในประเด็นการเลือกตั้งที่เป็นเพียงเรื่องผิวๆ จึงไม่สามารถระบายอุณหภูมิทางการเมืองออกจากระเบิดเวลาที่รัฐบาลจุดขึ้น และทำให้ประเทศไทยเดินหน้าต่อไม่ได้

ผมคิดว่า บริบทเกมตอนนั้น กับบริบทเกมตอนนี้ต่างกันเยอะ ความนิยมของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ตอนนั้นกับตอนนี้ต่างกัน

ส่วนสภาพเศรษฐกิจตอนนั้นอาจจะโคม่า แต่สภาพตอนนี้คือเตรียมฝัง ถ้าพี่น้องประชาชนอยากเห็นการเปลี่ยนแปลง และออกมาใช้สิทธิกันอย่างถล่มทลาย ไม่ว่าจะเลือกหรือไม่เลือกพรรคผม ก็อาจจะเห็นผลคะแนนสูงจนทำให้ต้นทุนของความชอบธรรมสูงเกินกว่าที่เขาจะเล่นเกมเดิม เราจึงคิดว่าไม่ใช่เรื่องที่เป็นไปไม่ได้ ที่ผมกล้าพูดได้ เพราะดูจากการเปลี่ยนแปลงของประเทศชิลีในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งเป็นประเทศที่เพิ่งผ่านความรุนแรงในปี 2019 แต่ผมเชื่อว่าก็คงไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ เพราะประชาธิปไตยไม่ได้เป็นเส้นตรงเสมอไป อาจจะต้องมีการหล่อหลอมทางความคิด และเกิดฉันทามติใหม่

หากคิดว่าการที่เราเอา ส.ว. 250 คนออกไม่ได้ คือการแก้เกมไม่ได้ จนจะทำให้ประเทศไทยไม่มีทางไปนั้น ผมก็ยังมีความหวังว่าความจริงยังจะเป็นไปได้อยู่ ต้องเข้าใจว่าเกมตอนนี้มีความเสี่ยง และมีผู้เล่นไม่เหมือนเดิม ความรู้สึกของคนนอกเกมก็ไม่เหมือนเดิม ฉะนั้น ผมจึงคิดว่าถ้าไม่เข้าใจตอนนี้ว่าเกมเปลี่ยนไปแล้วอาจจะทำให้การแก้เกมของผมง่ายขึ้น หรือการแก้เกมของเขายากขึ้น

ส่วนที่มีการพูดว่าสิ่งที่เป็นอยู่คือภาวะปกติของประชาธิปไตยแบบไทยๆ ผมก็คิดว่าคนรุ่นใหม่เริ่มมีความเข้าใจ ทั้งเรื่องการทำนิติสงคราม การยุบพรรค ไม่ใช่เรื่องที่เป็นวิสัยปกติในระบอบประชาธิปไตย ผมจึงคิดว่านี่จะเป็นการต่อสู้ช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของประเทศ

ประชาชนตอนนี้มีความอึดอัดทั้งในแง่ความชอบธรรม และประสิทธิภาพของรัฐบาล นายกฯบางคนมีความชอบธรรม แต่ไม่มีประสิทธิภาพ บางคนมีประสิทธิภาพ แต่ไม่มีความชอบธรรม ส่วนคนที่ไม่มีทั้งความชอบธรรมและไม่มีประสิทธิภาพ น่าจะยากที่จะเล่นเกมแบบเดิม แม้จะใช้ตัวช่วยอยู่ตลอด เขารักษาอำนาจได้ แต่บริหารไม่ได้ เป็นรัฐบาลมา 2-3 ปี จากเสียงปริ่มน้ำ และเชื่อว่าโหวตกี่ครั้งก็คิดว่าเอาอยู่ แต่ตอนนี้ไม่เสมอไปแล้ว การรักษาองค์ประชุมยังไม่ใช่เรื่องง่าย ซึ่งเป็นปัญหาจากเอกภาพของพรรคร่วม เป็นการแสดงให้เห็นว่าอะไรก็เกิดขึ้นได้

  • การเมืองใหม่ที่ในฐานะหัวหน้าพรรค ก.ก.คิดว่าจะเปลี่ยนประเทศไปในทิศทางใหม่ได้หรือไม่ และมีแนวทางอย่างไร

ผมคิดว่าได้ โดยทั้งการกระจายไม่กระจุก ล่างขึ้นบน ไม่ใช่บนลงล่าง และภายนอกมาสู่ภายใน ไม่ใช่ภายในมาสู่ภายนอก ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับเรื่องการส่งออก การนำเสนอวัฒนธรรม หรือการศึกษา แนวทางที่กล่าวไปข้างต้นจะสามารถตอบโจทย์ ทิศทางที่ผมอยากให้ประเทศไทยเปลี่ยน ถือเป็นเอนด์เกมที่ประเทศไทยจะมีจุดยืนในการแข่งขัน ทั้งการต่างประเทศ เศรษฐกิจมหภาค หรือการที่คนไทยได้รับการยอมรับจากต่างประเทศ เป็นต้น

หากคนที่เป็นผู้นำมองไม่เห็น ก็คงจะส่งผลต่อการใช้งบประมาณ และการตั้งผู้ปฏิบัติงานในตำแหน่งต่างๆ สุดท้ายจะทำให้เกิดการกระจุกไว้ก่อน อยู่ในเจ้าสัว ศักดินา และขุนศึกของเขา ไม่ยอมให้กระจายออก ยกตัวอย่าง อุตสาหกรรมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ที่ญี่ปุ่นมีผู้เล่นเป็นหมื่นราย แต่ของไทยมีแค่ 7 ราย รวมถึงการควบรวมข้อมูลของผู้บริโภค และการเสพสื่อกว่าครึ่งประเทศรวมอยู่ในเจ้าสัวไม่กี่คน ซึ่งผมคิดว่ากระทบกับวงการสื่อมาก นอกจากเจ้าสัวจะมี Network แล้ว ยังมี Content อีก กลายเป็น Content Monopolization

  • ประเทศไทยควรเตรียมพร้อมและปรับตัว โลกหลังยุคโควิด-19 อย่างไร

สั้นๆ ภายในประโยคเดียวคือ งบกลาโหมต้องเป็นงบเศรษฐกิจฐานราก หากยังคิดในกรอบความคิดเดิมๆ เหมือนคนรุ่นคุณพ่อผม ก็จะคิดว่าความมั่นคงเป็นเรื่องทางการทหาร ต้องมีโดรน และมีเรือดำน้ำที่ให้เบ่งกล้ามได้ แต่คนรุ่นผมจะคิดว่าความมั่นคงคือเรื่องเศรษฐกิจ สามารถต่อสู้จากวิกฤตต้มยำกุ้ง ไปเป็นอย่างไต้หวัน และเกาหลีใต้ได้ นอกจากนี้ ต้องมีความมั่นคงทางการคลัง คือต้องมีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศเยอะๆ และในบริบทต่อไป นิยามความมั่นคงจะเป็นความมั่นคงทางสาธารณสุข ความมั่นคงทางสิ่งแวดล้อม ความมั่นคงทางดิจิทัล หรือความมั่นคงทางตาข่ายของสังคม

  • จะต้องทำงานทางความคิดกับประชาชนให้มาสนับสนุนการทำงานระดับนโยบาย และแนวคิดของพรรคก้าวไกลอย่างไร

ผมคิดว่าแต่ละเรื่องจะใช้เวลาแตกต่างกัน แต่ไม่ว่าอย่างไร ผมคิดว่าคนก็เริ่มจะเข้าใจแล้วว่าทำอะไรไม่สำคัญเท่าทำอย่างไร และสู้กับใคร ทุกคนคิดว่าหากมียูนิคอร์นเยอะๆ จะช่วยเสริมสร้างสิ่งที่แหว่งเว้าจากเค้าโครงเศรษฐกิจของไทยได้ แต่ไม่มีใครกล้าพูดเกี่ยวกับช้างอุ้ยอ้าย (รัฐราชการ) และเสือนอนกิน (นายทุนหรือเจ้าสัว) ที่อยู่ในระบบ ช่วงที่ผมทำเกี่ยวกับแอพพลิเคชั่นช่วยเหลือการคมนาคม ก็ต้องสู้กับกระทรวงคมนาคม ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม คือถึงแม้จะมีเทคโนโลยีที่ดีที่สุด ก็มีคนที่พร้อมจะต่อต้านการเปลี่ยนแปลง ในรูปแบบของข้าราชการ และนายทุน ที่ได้รับผลประโยชน์จากแรงเฉื่อยในสังคม

ดังนั้น ต้องรอให้ถึงจังหวะและจุดเปลี่ยนที่ทำให้คนเข้าใจ และต้องเรียงลำดับการทำงาน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image