สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ : ชู 3 แนวทางเศรษฐกิจ สร้างศักยภาพใหม่ประเทศ (มีคลิป)

สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ : ชู 3 แนวทางเศรษฐกิจ สร้างศักยภาพใหม่ประเทศ

สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์

ชู 3 แนวทางเศรษฐกิจ

สร้างศักยภาพใหม่ประเทศ

หมายเหตุ นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยแนวทางการดำเนินงานของรัฐบาล ผลักดันให้เศรษฐกิจไทยขับเคลื่อนในปี 2565 และสร้างศักยภาพใหม่ให้แก่ประเทศ

Advertisement

เศรษฐกิจไทยในขณะนี้มียังมีสัญญาณที่ดี มีการจับจ่ายใช้สอยอยู่ สะท้อนจากราคาก๊าซและราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้น แต่ถ้ามีปัญหาการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) สายพันธุ์โอมิครอนเข้ามา ทิศทางเศรษฐกิจก็จะกลับกัน และหากโอมิครอนไม่รุนแรง ซึ่งมีแนวโน้มว่าน่าจะไม่รุนแรงเนื่องจากปัจจุบันประชาชนได้รับวัคซีนแล้วจำนวนมาก องค์การอนามัยโลกก็ระบุว่าอัตราการครองเตียงไม่ได้สูง ซึ่งต่ำกว่าสายพันธุ์เดลต้า สำหรับประเทศไทยรอผลการประเมินทางการแพทย์ที่ชัดเจน เข้าใจว่าทุกฝ่ายต่างกังวลกับเรื่องพวกนี้เพราะเข็ดกับเหตุการณ์ที่ผ่านมา แต่มันขึ้นอยู่กับว่าจะแย่แค่ไหน รุนแรงแค่ไหน อัตราการเสียชีวิตสูงขึ้นไหม เรื่องที่กังวลที่สุดคืออัตราการครองเตียง ถ้าเป็นประเภทผู้ป่วยที่อาการน้อย (สีเขียว) แบบนี้ก็ไม่น่ากลัว เพราะไทยเรามีความพร้อมเรื่องโรงพยาบาลสนามอยู่แล้ว

เพราะฉะนั้น ขึ้นอยู่กับว่าโอมิครอนจะรุนแรงแค่ไหน และระหว่างที่ทำการศึกษานั้นรัฐบาลมีคำสั่งระงับมาตรการเกี่ยวกับการเดินทางเข้าประเทศชั่วคราว ซึ่งนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ได้ลงทะเบียนเข้าระบบเทสต์แอนด์โกแล้ว ก็ได้ขอความร่วมมือว่าจะต้องตรวจอาร์ที-พีซีอาร์เพิ่มอีกครั้ง โดยที่รัฐบาลไทยอำนวยความสะดวกเรื่องค่าใช้จ่ายให้ เพื่อประคองให้เศรษฐกิจยังต่อเนื่องไปได้ และไม่ถือว่าเป็นการตื่นตระหนกมากจนเกินไป

Advertisement

โดยเศรษฐกิจปี 2565 จากข้อมูลเท่าที่มียังแสดงให้เห็นว่า การระบาดของโควิดสายพันธุ์โอมิครอนยังไม่รุนแรงเท่าเดลต้า ซึ่งก่อนหน้านี้ที่เจอกับสถานการณ์รุนแรงเพราะว่าตอนนั้นยังไม่มีการฉีดวัคซีน แต่ในขณะนี้การฉีดวัคซีนเกิน 100 ล้านโดสแล้ว และรัฐบาลส่งเสริมให้ฉีดเพิ่มเป็นเข็มที่ 3 หรือบูสเตอร์ ซึ่งมีวัคซีนเพียงพอ เพราะฉะนั้น เรามีบทเรียนจากปี 2564 แล้ว และประชาชนเองมีความพร้อมมากขึ้น ถ้าโอมิครอนไม่รุนแรง ความพร้อมต่างๆ ก็จะดีขึ้น จึงคิดว่าเศรษฐกิจปี 2565 ยังคงมองในเชิงบวก ผลการวิเคราะห์ทางเศรษฐกิจของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ภายใต้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ก็ให้ข้อมูลว่าดัชนีทางเศรษฐกิจทุกตัวดีขึ้นหมด

ถึงแม้ว่าจะยังไม่กลับมาดีเท่าปี 2562 ก่อนการระบาดโควิด และมีปัจจัยเรื่องการระบาดของสายพันธุ์เดลต้าในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปี 2564 ก็ตาม แต่ก็ยังดีขึ้นทุกตัว ขาดเพียงเรื่องการท่องเที่ยวและบริการเท่านั้น ส่วนด้านการส่งออกก็ดี และการอุปโภคบริโภคยังดี จึงถือว่ามีแนวโน้มที่ดีขึ้น ถ้าในปี 2565 ดีเช่นตอนนี้ก็ไม่ต้องกังวลในเรื่องของการเยียวยา แต่จะเน้นไปที่การประคับประคองให้เศรษฐกิจภายในประเทศค่อยๆ ฟื้นตัว ควบคุมอัตราเงินเฟ้อให้ดี เพราะว่าถ้าอยู่บนสมมุติฐานนี้ การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจก็จะเกิดขึ้นทั่วโลก ซึ่งมันเกิดขึ้นแล้วตั้งแต่ในช่วงต้นไตรมาสที่ 4 ปี 2564 เห็นได้จากราคาสินค้าอุปโภคบริโภคต่างก็ราคาขึ้นทั้งหมด เช่น โลหะทางอุตสาหกรรม ราคาพลังงาน จึงเป็นเหตุว่าทำไมราคาพลังงานจึงแพงขึ้น ไม่ใช่เกิดจากการขาดแคลนเพราะปริมาณยังเพียงพอ แต่เป็นการกลับมาบริโภคเพิ่มขึ้นหลังความต้องการมันถูกกดไว้เป็นเวลานาน แต่เมื่อมีโอมิครอนก็ทำให้ชะลอตัวลงในบางช่วง

ดังนั้น ถ้าสถานการณ์โอมิครอนไม่รุนแรง แผนงานถัดไปรัฐบาลจะเน้นในนโยบายเชิงรุก แต่เรื่องของการเยียวยามีงบเหลืออยู่กว่า 2 แสนล้านบาท จากพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) กู้เงิน 5 แสนล้านบาท ซึ่งเพียงพออยู่แล้ว แต่สิ่งหนึ่งที่เห็นได้ในปี 2564 และพิสูจน์ได้ คือ อุตสาหกรรมเดิมของไทยมีความเข้มแข็ง ไม่ว่าจะด้านอิเล็กทรอนิกส์ อาหาร และปิโตรเคมี ล้วนแต่มีผลประกอบการในตลาดหลักทรัพย์ที่ดี และยังมีการขอส่งเสริมการลงทุนกับคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) สูงถึง 6 แสนล้านบาท ถือว่าเกือบใกล้เคียงกับก่อนที่จะมีโควิด และเริ่มเห็นการลงทุนในอุตสาหกรรมใหม่บ้างแล้ว

คิดว่าเครื่องจักรต่างๆ เริ่มทยอยขับเคลื่อนไปได้ และรัฐบาลยังคงมีนโยบายในการตรึงราคาสินค้าต่างๆ เพื่อไม่ให้มีต้นทุน และอัตราเงินเฟ้อของประเทศสูงจนเกินไป ส่วนสถานการณ์ที่สินค้ากลุ่มที่มีการบริโภคสูงมีราคาแพงขึ้นมากนั้น เชื่อว่าเป็นสถานการณ์ชั่วคราว เพราะทั่วโลกต่างก็มีการบริโภคสูงพร้อมกัน ซึ่งหลังจากนี้จะมีการปรับตัวในระดับที่ลดลงมา และต่อไปนี้จะเป็นเรื่องของการ “พลิกฟื้นประเทศไทย” ต้องเปลี่ยนประเทศไทยให้ได้

การพัฒนาประเทศที่สำคัญคือ เรื่องของการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน โดยไทยเราโชคดีที่มีการพัฒนาด้านนี้มาก่อนแล้ว คือการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็น โทรคมนาคม ระบบขนส่งมวลชน และถนนหนทางต่างๆ ซึ่งระบบขนส่งมวลชน ถ้านับเฉพาะในกรุงเทพมหานครน่าจะมีความยาวรวมกว่า 200 กิโลเมตรแล้ว และถ้าครบตามแผนก็น่าจะอยู่ที่ 500 กิโลเมตร แม้ว่าจะใช้เวลาเล็กน้อย แต่จะทยอยแล้วเสร็จภายใน 3-5 ปีข้างหน้าได้ ด้านโทรคมนาคมก็มีการเชื่อมโยงไว้หมดแล้ว ส่วนด้านการเชื่อมเส้นทางในระดับภูมิภาค ไทย จีนและลาว ก็มีการสร้างรถไฟความเร็วสูงแล้ว แม้ว่าจะไม่ได้เชื่อมกันอย่างสมบูรณ์ แต่ถ้าลงทุนเพิ่มอีกเพียงเล็กน้อยในอีกไม่กี่ปี ก็จะได้เห็นการเปลี่ยนแปลงที่พลิกโฉมประเทศแล้ว

ประเทศไทยนั้นมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก มีการพัฒนาทั่วประเทศ ซึ่งคนเราอาจจะมองไม่เห็นเพราะว่ามันเป็นการสร้างเส้นทางแบบแนวยาว คนแต่ละจังหวัดก็จะเห็นในส่วนของพื้นที่ตนเอง ปัจจุบันถนนหลักก็ต้องว่ากันที่ 4 ช่องทางจราจร ไม่มีแบบ 2 ช่องจราจรแล้ว นอกจากนี้ ยังมีเส้นทางสะพานจาก จ.บึงกาฬ ไปยังประเทศลาว เพื่อพัฒนาต่อ มุ่งไปสู่ทางออกฝั่งทะเลของเวียดนาม ซึ่งเป็นเส้นที่ไปทางทะเลใกล้กว่าลงมาถึงอ่าวไทย ดังนั้น มันเกิดขึ้นหมดแล้ว ไทยก็ไม่ต้องเหนื่อยเพราะสร้างแล้วเหลือเพียงรอวันที่เสร็จสมบูรณ์เท่านั้น

เรื่องของการส่งเสริมอุตสาหกรรมใหม่หลังโควิด ในเรื่องของการดูแลสิ่งแวดล้อม การลดปัญหาเรื่องการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ ซึ่งมีผลกระทบและสร้างความเสียหายอย่างมาก เมื่อเทียบกับการพัฒนาประเทศแล้วมันไม่คุ้มค่า ประเทศไทยถือว่าเป็นผู้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกรายใหญ่เหมือนกัน จำนวน 350 ล้านตันต่อปี ถ้าเราปล่อยไปเฉยๆ ก็จะกลายเป็นที่จับตามอง ดังนั้น รัฐบาลจึงประกาศตัวที่จะเป็นผู้แก้ไข ซึ่งมันจะเป็นการพลิกบทบาทสำคัญอีกด้าน และมีการกำหนดปีเป้าหมายที่ชัดเจน

แม้บางคนจะมองเป้าหมายคือปี ค.ศ.2050 แล้วหัวเราะว่ามันอีกตั้ง 29 ปี แต่จริงๆ แล้วมีอีกเป้าหมายที่มาแทรกเป็นบทพิสูจน์ คือในปี ค.ศ.2030 ที่ไทยกำหนดว่าจะปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงสุด และหลังจากนั้นจะต้องลดลงเท่านั้น ไม่ว่าเศรษฐกิจไทยจะเติบโตมากขึ้นเท่าไหร่ก็ตาม หมายความว่า สิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต คือ การใช้พลังงานทั้งด้านอุตสาหกรรม และในชีวิตประจำวันจะต้องให้ความสำคัญกับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากขึ้น ดังนั้น ก็จะมีการปรับเปลี่ยนอุตสาหกรรมใหม่ เทคโนโลยีจะช่วยลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ก็จะตามมาไม่ว่าจะเป็นการหันมาใช้ยานยนต์ไฟฟ้า (รถอีวี) และใช้พลังงานสะอาดมากขึ้น

แต่หลายคนไม่มองถึงเรื่องอีโคซิสเต็ม คือ เมื่อมีรถอีวีก็ต้องมีสถานีชาร์จไฟฟ้า และจะมีพลังงานสะอาดก็ต้องมีที่สายส่ง และที่กักเก็บพลังงานที่อาจจะไม่สามารถผลิตได้ตลอดเวลา เช่น พลังงานจากแสงอาทิตย์ หรือจากแรงลม นอกจากนี้ การใช้พลังงานก็จะเคลื่อนไหวได้ ถ้ามีการเคลื่อนรถอีวีเป็นหมู่คณะการใช้พลังงานก็จะย้ายตามไป ต่างจากเดิมที่การใช้พลังงานหยุดนิ่งอยู่กับที่ ตามโรงงาน ตามชุมชน ซึ่งมันไม่เหมือนเดิม จึงต้องเปลี่ยนระบบสมาร์ทกริด ระบบกักเก็บพลังงานก็จะเข้ามามีบทบาทมากขึ้น ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมใหม่ที่ไทยกำลังดึงดูดให้เข้ามาลงทุนเพิ่ม ซึ่งตอนนี้ไทยได้เปิดหน้าร้านให้การลงทุนด้านนี้เกิดขึ้นแล้ว

ส่วนเรื่องของเทคโนโลยีดิจิทัล ไทยมีการสร้างโครงสร้างพื้นฐานของโครงข่าย เคเบิลใต้น้ำ ได้เตรียมไว้หมดแล้ว แต่สิ่งที่ต้องการ คือ ระบบเทคโนโลยีกลางน้ำ (midstream) อาทิ คลาวด์ เซอร์วิส เอไอ คอมพิวติ้ง แพลตฟอร์มต่างๆ ซึ่งพวกนี้ต้องมีระบบมารองรับกระบวนการทำงานให้ระบบธุรกิจเชื่อมโยงกับโครงข่ายพื้นฐานของเทคโนโลยีดิจิทัลได้ ดังนั้น ต้องหาคนมาลงทุน เพราะเรื่องพวกนี้ไม่ใช่การลงทุนน้อยๆ เพราะต้องลงทุนแบบไฮเปอร์สเกล เนื่องจากในอนาคตข้อมูลทุกอย่างจะต้องถูกเก็บ แยกประเภท และมีการคำนวณคิดวิเคราะห์ในทุกมิติ ซึ่งต้องใช้อุปกรณ์ที่มีคุณภาพและความชำนาญสูง ต้องไปดึงดูดการลงทุนด้านนี้มาให้ได้ และรัฐบาลไทยได้พยายามดึงบริษัทใหญ่ระดับสากล (บิ๊กเนม) เข้ามา และใกล้ได้ข้อสรุปในเร็วๆ นี้

ในส่วนนี้จะเป็นการช่วยเติมเต็มให้อุตสาหกรรมด้านนี้มันเกิดขึ้นได้ และพอธุรกรรมด้านดิจิทัล เซอร์วิสไปได้ดี ทำให้เกิดผลปลายทางต่างๆ อีกมากมาย ทำให้ผู้ประกอบการไทยทำธุรกิจได้สะดวก รวดเร็วยิ่งขึ้น มีเครือข่าย 5จี และมีฐานเก็บข้อมูลขนาดใหญ่เป็นของคนไทยเอง ไม่ต้องพึ่งพาต่างประเทศ และลดปัญหาเรื่องความไม่ปลอดภัยของข้อมูล ซึ่งธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ก็จะสามารถมีประสบการณ์ในเรื่องการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเหล่านี้ได้ พร้อมทั้งดึงดูดการลงทุนอื่นๆ เข้ามาไทยได้ด้วย ประกอบกับไทยเดินหน้าเรื่องพลังงานสะอาด ยิ่งทำให้ไทยน่าลงทุนเพิ่มขึ้นอีก

เมื่อไทยเปิดหน้าร้านจะทำให้การลงทุนเทคโนโลยี และการสนับสนุนต่างๆ เพิ่มเข้ามามากขึ้น ซึ่งรัฐบาลจะพยายามผลักดันให้ได้ในปี 2565 ให้เกิดความชัดเจน เรื่องของผู้เล่นรายใหญ่เข้ามาในไทย เพื่อให้ผู้ประกอบการไทยสามารถขยายตัวไปได้มากขึ้น มีขีดความสามารถในการแข่งขันเพิ่มขึ้น และจะสร้างให้อุตสาหกรรมในประเทศแข็งแรงและเติบโตเพื่อคนรุ่นใหม่ ต่อเนื่องไปยังเรื่องของการเพิ่มทักษะความรู้ใหม่ๆ และมีอาชีพรองรับในอนาคต

ความเชื่อของผมคือ ถ้าเราเปิดโอกาสส่วนนี้และให้บิ๊กเนมมาลงทุน ซึ่งเขาไม่เพียงแค่มาลงทุนเท่านั้น แต่มีหน้าที่ให้ความรู้ด้วย เราก็จะได้อัพสกิลและรีสกิลไปในตัว มันจะเกิดการเปลี่ยนแปลงในประเทศไทยจนได้ เท่านั้นไม่พอ ในระยะสั้นมีเรื่องสนับสนุนวีซ่าการพำนักระยะยาวให้ชาวต่างชาติที่มีทักษะสูงมาใช้ชีวิตในไทย มีออฟฟิศแห่งที่สอง ให้คนที่มีความสามารถมาช่วยเพิ่มทักษะให้คนไทยได้ เพราะถ้าจะให้รัฐบาลลงมือทำเอง กระทรวงศึกษาธิการเปลี่ยนหลักสูตรมันเป็นเรื่องยากและใช้เวลานาน ดังนั้น ภาคเอกชนต้องเข้ามามีส่วนร่วมด้วย

สิ่งสำคัญที่สุดคือ ต้องเปลี่ยนประเทศไทยหลังโควิดให้ได้ใน 3 เรื่อง คือ เรื่องเทคโนโลยีดิจิทัล เรื่องสิ่งแวดล้อม และเรื่องของการดึงคนมีความสามารถมาพำนักระยะยาวในไทย ซึ่งหลังจากนี้คงใช้เม็ดเงินไม่เยอะแล้ว เพราะเน้นไปที่เรื่องมาตรการจูงใจต่างๆ เรื่องรถอีวีก็มีการส่งเสริมงบสำหรับอุดหนุนให้ประชาชน ที่จะได้มีประสบการณ์ใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในราคาย่อมเยา ใกล้เคียงกับรถยนต์สันดาปภายใน และเรื่องดึงดูดให้คนพำนักระยะยาวจะได้เรื่องท่องเที่ยวด้วย ไม่ต้องพึ่งพาเพียง
นักท่องเที่ยว 40 ล้านคนอย่างเดียว แต่มีชาวต่างชาติแค่ 1 ล้านคน อาจจะได้เม็ดเงิน 1 ล้านล้านได้ด้วย เป็นผลพลอยได้

ส่วนเรื่องตัวเลขของการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) นั้นมันไม่ใช่จุดสำคัญ เพราะที่สำคัญคือการเปลี่ยนแปลงประเทศไทย เพราะต่อให้จีดีพีขยายตัวจากการบริโภค แต่ถ้าอุตสาหกรรมไทยไม่เปลี่ยนแปลง ไทยเราอาจจะไปตายในวันข้างหน้า ดังนั้น จึงต้องเปลี่ยนแปลงให้ได้ และไทยเองเป็นไม่กี่ประเทศที่มีซัพพลายเชนที่สมบูรณ์อยู่ในพื้นที่เดียว จึงทำให้เป็นฐานการผลิตที่ได้รับความสนใจอย่างมาก ส่วนเรื่องสถานการณ์ทางการเมืองนั้นก็ไม่ใช่ปัจจัยที่จะส่งผลต่อการลงทุนและปรับเปลี่ยนประเทศ เพราะโดยธรรมชาติแม้จะมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองใดๆ ก็ตาม โครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่ดำเนินการอยู่ก็จะถูกทำต่อไปเรื่อยๆ ทุกรัฐบาลต่างก็สานต่อการพัฒนาไปอย่างต่อเนื่อง

ทิศทางตัวเลขจีดีพีของปี 2565 นั้นเป็นไปได้หมด และยิ่งถ้าแผนการเปลี่ยนแปลงประเทศ การดึงดูดการลงทุนด้านอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า และอุตสาหกรรมเทคโนโลยีดิจิทัลไปได้ดี มีบิ๊กเนมเข้ามาลงทุนกับไทยได้ตามที่คาดไว้ มีการย้ายฐานผลิตเข้ามาในไทยมากขึ้น มีสัญญาณพวกนี้เข้ามา เชื่อว่าจีดีพีจะเติบโตได้ดีแน่นอน ขอแค่ร่วมมือกันผลักดันให้สำเร็จแล้วมันจะเกิดขึ้นแน่นอน

สำหรับปี 2565 จะเป็นปีแห่งการจุดประกาย ถือเป็นเหมือนฟางเส้นแรกที่จุดติดไฟ หรือจะเปรียบเหมือนดาวดวงแรกในคืนมืดมิดที่โผล่ขึ้นมา หลายคนอาจมองว่ามันมืดเกินไป แต่ไม่ต้องไปหวังพระอาทิตย์ขึ้นตอนกลางคืนหรอก ไปคิดการใหญ่ว่าต้องให้มีพระอาทิตย์เกิดขึ้นเพื่อให้มันสว่างแบบนั้นมันผิดเวลา สู้มีดาวเป็นพันดวงที่ทยอยสว่างวันละดวง 3 ปี ก็ได้เป็น 1 พันดวงแล้ว และมันจะสว่างไสวของมันได้เอง ไม่ควรไปอยู่กับแนวคิดที่เป็นไปไม่ได้ เพราะมันก็จะเป็นไปไม่ได้เช่นเดิม

นิยามของไทยในอนาคตจะเปลี่ยนไปเป็นประเทศที่เปิดกว้าง เป็นสากล และเป็นต้นแบบในเรื่องของเริ่มต้นการลดก๊าซเรือนกระจกที่ดี มีเมืองที่น่าอยู่อาศัยมากขึ้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image