ศักดิ์สยาม ชิดชอบ : เร่งเครื่อง ‘คมนาคม’ สร้าง ‘ฮับโลจิสติกส์อาเซียน’

ศักดิ์สยาม ชิดชอบ : เร่งเครื่อง‘คมนาคม’ สร้าง‘ฮับโลจิสติกส์อาเซียน’

ศักดิ์สยาม ชิดชอบ

เร่งเครื่อง‘คมนาคม’

สร้าง‘ฮับโลจิสติกส์อาเซียน’

หมายเหตุ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กางแผนงานในปี 2565 ที่สานต่อการทำงานของปี 2564 โดยเร่งดำเนินการสร้างไทยให้เป็นฮับโลจิสติกส์อาเซียน เพื่อศักยภาพใหม่ให้ประเทศไทย

Advertisement

⦁การขับเคลื่อนงานในปี 2565 เตรียมแผนดำเนินงานไว้อย่างไรบ้าง

การทำงานของกระทรวงคมนาคม ในปี 2564 ที่จะดำเนินการต่อปี 2565 งานของกระทรวงส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับระบบโลจิสติกส์ 4 มิติ ได้แก่ ทางบก ทางราง ทางน้ำ และทางอากาศ ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องที่คมนาคมต้องดูแล ประกอบกับในช่วงที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เข้ารับตำแหน่ง ได้วางแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ.2561-2580) เพื่อให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลาง (ฮับ) โลจิสติกส์ทั้ง 4 มิติของอาเซียน เมื่อเข้ารับตำแหน่งจึงมุ่งหน้าเดินตามเป้าหมายที่นายกรัฐมนตรีวางแผนไว้ ซึ่งสิ่งเหล่านี้หากจะบูรณาการตามนโยบายร่วมกัน เพื่อลดปัญหาของประชาชน ก็สามารถดำเนินการได้

ในช่วงที่เข้ามาเริ่มดำเนินการ ในส่วนของงานถนน นโยบายทางถนน ซึ่งเป็นนโยบายต่อเนื่องจากปี 2564 จำนวน 9 นโยบาย ได้แก่ 1.กำหนดความเร็วสูงสุด 120 กิโลเมตร (กม.) ต่อชั่วโมง (ชม.) ซึ่งในปี 2564 ประกาศใช้แล้วเป็นระยะทางกว่า 178 กม. ส่วนปี 2565 จะเพิ่มเติมอีก 9 เส้นทาง ระยะทาง 138 กม. จากระยะทางทั้งหมด 12,000 กม.ทั่วประเทศ โดยในงบประมาณปี 2566 จะเสนอของบประมาณจากสำนักงบประมาณ เพื่อจัดทำแบริเออร์ แบ่งเป็น 3 ช่วง จากระยะทางทั้งหมด 12,000 กม. เพื่อเป็นการเพิ่มความปลอดภัย และช่วยเกษตรกรในการคลายสต๊อกยางพาราอีกด้วย

Advertisement

2.พัฒนาระบบผ่านทางด่วน ทางพิเศษแบบไม่มีไม้กั้น หรือเอ็มโฟลว์ ปี 2564 โดยกรมทางหลวง (ทล.) ทดสอบระบบบนมอเตอร์เวย์สาย 9 จำนวน 4 ด่าน ส่วนปี 2565 เปิดให้บริการแบบเต็มรูปแบบ จำนวน 7 ด่าน (ทล. 4 ด่าน การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) 3 ด่าน) 3.เร่งรัดก่อสร้างมอเตอร์เวย์ สายบางปะอิน-นครราชสีมา (M6) ปี 2564 แล้วเสร็จ 23 สัญญา อยู่ระหว่างก่อสร้าง 17 สัญญา ก้าวหน้า 94% และลงนามในสัญญาให้เอกชนร่วมลงทุนสำหรับงานการปฏิบัติการและการบํารุงรักษา (O&M) แล้ว ส่วนปี 2565 เร่งรัดการก่อสร้างให้แล้วเสร็จ เปิดให้บริการปี 2566

4.เร่งรัดก่อสร้างมอเตอร์เวย์ สายบางใหญ่-กาญจนบุรี (M81) ปี 2564 แล้วเสร็จ 4 สัญญา อยู่ระหว่างก่อสร้าง 21 สัญญา ก้าวหน้า 63% และลงนามในสัญญาให้เอกชนร่วมลงทุนสำหรับงาน O&M แล้ว ส่วนปี 2565 เร่งรัดการก่อสร้างให้แล้วเสร็จ เปิดให้บริการปี 2566 5.จัดทำแผนแม่บท MR-MAP ปี 2564 เป็นการศึกษาแผนแม่บทโครงข่าย MR-MAP เสร็จ และคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) เห็นชอบแล้ว ส่วนปี 2565 ศึกษาความเหมาะสมเส้นทางทั้ง 10 เส้นทาง 6.พัฒนาทางพิเศษ จ.ภูเก็ต ปี 2564 คณะกรรมการรัฐร่วมเอกชน (พีพีพี) ได้ให้ความเห็นชอบโครงการกะทู้-ป่าตองแล้ว ส่วนในปี 2565 เวนคืน พร้อมดำเนินการคัดเลือกเอกชน และสามารถก่อสร้างได้ในปี 2566 และเปิดให้บริการในปี 2570

7.โครงการสะพานเศรษฐกิจเชื่อมฝั่งทะเลอ่าวไทย-อันดามัน (แลนด์บริดจ์ ชุมพร-ระนอง) ปี 2564 ศึกษาความเหมาะสมของโครงการ ส่วนปี 2565 ออกแบบแนวคิดท่าเรือ ผลการศึกษาจะแล้วเสร็จในปี 2566 และจะสามารถเริ่มการพัฒนาโครงการได้ในปี 2568 พร้อมเปิดโครงการได้ในช่วงปี 2573 8.การแก้ไขปัญหาการจราจรบนทางด่วน ปี 2564 ศึกษาจัดทำแผนการแก้ไขปัญหาการจราจรบนทางพิเศษ ส่วนในปี 2565 เสนอผลการศึกษาต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) และจะทำการศึกษารายโครงการในต้นปี 2566 เริ่มก่อสร้างโครงการเพื่อแก้ไขปัญหาต่อไป 9.การวางระบบติดตามโครงการขนาดใหญ่ ปี 2564 เริ่มโครงการนำร่อง จำนวน 5 โครงการ ส่วนปี 2565 ติดตามโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่เพิ่มเติมอีก 22 โครงการ

⦁โครงการที่จะได้เห็นปี 2565

ส่วนโครงการที่จะได้เห็นในปี 2565 อาทิ แผนเชื่อมต่อการเดินทางเข้าสู่ระบบรถไฟฟ้า ในปี 2564 ขบ.ได้ปรับเส้นทางรถโดยสารประจำทางเพื่อเป็นฟีดเดอร์ รถไฟชานเมืองสายสีแดงแล้ว 14 เส้นทาง และจะเพิ่มเติมการเชื่อมต่อสถานีรถไฟรังสิตตามมติ คจร.อีก 3 เส้นทาง ในปี 2565 นอกจากนี้ ในปี 2565 องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) จะขอความเห็นชอบเพื่อพัฒนาระบบอีทิคเก็ตบนรถประจำทาง ซึ่งเป็นการดำเนินการตามแผนฟื้นฟู ขสมก.

นอกจากนี้จะมีการเดินหน้าเรื่องการจัดระเบียบรถรับจ้างผ่านแอพพลิเคชั่น (รถมอเตอร์ไซค์) ในปี 2565 กรมขนส่งทางบก (ขบ.) จะยกร่าง พ.ร.บ.จัดระเบียบฯ เพื่อเสนอเข้าสู่การพิจารณาของ ครม.และรัฐสภา ตามขั้นตอนของกฎหมาย ส่วนในเรื่องของการแก้ปัญหาจุดตัดรถไฟ ในปี 2565 พัฒนาแอพพลิเคชั่นแก้ปัญหาจุดตัดรถไฟ และปี 2566 ปรับปรุงแก้ไขจุดตัดที่มีความเสี่ยงทั่วประเทศ ขณะที่การเดินหน้าเรื่องการจัดตั้งสายการเดินเรือแห่งชาติ คาดว่าในปี 2565 จัดตั้งสายเดินเรือแห่งชาติและเปิดให้บริการเส้นทางโดเมสติก

ขณะที่นโยบายใหม่ที่จะขับเคลื่อนต่อในปี 2565 เพื่อการพัฒนาระบบคมนาคมที่ยั่งยืน อาทิ การต่อเติมโครงข่ายทางพิเศษ เชื่อมโยงภูมิภาค ได้แก่ มอเตอร์เวย์ M82 สายบางขุนเทียน-บ้านแพ้ว ช่วงเอกชัย-บ้านแพ้ว มอเตอร์เวย์ M7 ต่อขยายเชื่อมต่อสนามบิน
อู่ตะเภา มอเตอร์เวย์ M5 ต่อขยายยกระดับอุตราภิมุข (ดอนเมืองโทลล์เวย์) และเติมเต็มมิสซิ่งลิงก์ เชื่อมโยงต่างประเทศ ได้แก่ ถนนเชื่อมศูนย์ซ่อมอากาศยาน-สะพานมิตรภาพแห่งที่ 3 จ.นครพนม สะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 5 (บึงกาฬ-ปากซัน) จ.บึงกาฬ สะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 6 (อุบลราชธานี-สาละวัน) จ.อุบลราชธานี ทางหลวงหมายเลข 348 และ 3486 ช่วงเขาช่องตะโก จ.สระแก้ว

⦁คมนาคมมีบทบาทในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจอย่างไร

ส่วนบริบทการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของกระทรวงคมนาคมนั้น ในเรื่องของการเร่งผลักดันการปฏิรูปเส้นทางการเดินรถ และการปรับเปลี่ยนรถที่ให้บริการขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) จะเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่จะมีส่วนช่วยในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ แต่แผนดังกล่าวจะแปรเปลี่ยนไปสู่การปฏิบัติจริงได้อย่างไรนั้น คาดว่าจะได้เห็นภาพที่ชัดเจนภายในปี 2565 แน่นอน

ส่วนเรื่องของการเบิกจ่ายงบประมาณของกระทรวงคมนาคมในปีที่ผ่านมา มีการเบิกจ่ายงบประมาณได้กว่า 90% และในปีงบประมาณ 2565 กระทรวงตั้งเป้าจะเร่งเบิกจ่ายงบประมาณต่อไปและจะเบิกจ่ายให้ครบ 100% โดยกระทรวงคมนาคมรับจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ.2565 วงเงินรวม 208,455 ล้านบาท แบ่งเป็นรายจ่ายลงทุน 171,860 ล้านบาท รายจ่ายประจำ วงเงิน 16,283 ล้านบาท และชำระเงินกู้ 20,311 ล้านบาท

⦁ศักยภาพในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของกระทรวงคมนาคม

ขณะเดียวกัน การเดินหน้าเพิ่มศักยภาพของกระทรวงที่มีเป้าหมายผลักดันไทยให้เป็นฮับด้านโลจิสติกส์ของอาเซียนนั้น ที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันกระทรวงได้เดินหน้าพัฒนาโครงการคมนาคมทั้ง 4 มิติ มาโดยตลอด อาทิ โครงการรถไฟทางคู่ ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งโครงที่เมื่อสร้างแล้วเสร็จจะสร้างมูลค่าให้กับเศรษฐกิจได้อย่างมหาศาล นอกจากนี้ยังมีโครงการแลนด์บริดจ์ ที่เมื่อแล้วเสร็จจะเพิ่มช่องทางการขนส่งสินค้าข้ามภูมิภาคได้สะดวก และช่วยเพิ่มมูลค่าด้านการขนส่งให้กับไทยอีกด้วย ซึ่งโครงการต่างๆ ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้จะได้เห็นความคืบหน้าและผลสำเร็จในช่วง 1-3 ปีนี้ ซึ่งไม่ว่าหลังจากนี้ เมื่อผ่านการเลือกตั้งจะมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง แต่โครงการเหล่านี้ก็ยังต้องถูกขับเคลื่อนเพื่อให้ไปสู่ความสำเร็จต่อไป เพราะล้วนแต่เป็นโครงการที่มีผลบวกกับประเทศชาติทั้งสิ้น

ความสำเร็จจะเกิดขึ้นได้ ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชนต้องร่วมมือกัน โดยเฉพาะเรื่องโควิด-19 คาดว่าในช่วงกลางปี 2565 จะได้เห็นประสิทธิภาพของวัคซีนที่ใช้กันทั้งในประเทศและต่างประเทศชัดเจนขึ้น และเมื่อไหร่ที่โควิด-19ได้รับการการันตีว่าไม่ใช่โรคร้ายแรง หรือเป็นแค่โรคประจำถิ่น เชื่อว่าหลังจากนั้นเศรษฐกิจจะกลับมาฟื้นตัวอย่างก้าวกระโดดทันที เพราะธุรกิจส่วนใหญ่ต้องหยุดชะงักไปกว่า 2 ปี เมื่อโอกาสกลับมาเชื่อว่านักธุรกิจจะรีบลงทุนทันที ซึ่งเรื่องนี้กระทรวงได้เตรียมแผนรับมือไว้แล้ว โดยสั่งการให้ทุกหน่วยงานของกระทรวงคมนาคมวางแผนรับมือหากสถานการณ์กลับมาเหมือนปี 2562 เพื่อไม่ให้เกิดการซ้ำรอยเกิดขึ้นต่อไป

แต่ยืนยันว่าปี 2565 ไม่มีอะไรน่าเป็นห่วง และขอย้ำว่าทุกอย่างจะสำเร็จได้ทุกคนต้องช่วยกัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image