เอนก เหล่าธรรมทัศน์ : ปักธง…ปฏิรูปอุดมศึกษา ดันเศรษฐกิจใหม่-นวัตกรรม

เอนก เหล่าธรรมทัศน์ : ปักธง...ปฏิรูปอุดมศึกษา ดันเศรษฐกิจใหม่-นวัตกรรม

เอนก เหล่าธรรมทัศน์

ปักธง…ปฏิรูปอุดมศึกษา

ดันเศรษฐกิจใหม่-นวัตกรรม

หมายเหตุนายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ให้สัมภาษณ์ถึงแนวทางการทำงานในปี 2565 โดยตั้งเป้าปฏิรูปอุดมศึกษา มุ่งหวังขับเคลื่อนให้ประเทศไทยเป็นประเทศพัฒนาแล้ว

Advertisement

⦁การทำงานในตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการ อว.มากว่า 1 ปี เป็นงานที่ท้าทายหรือไม่?

เป็นงานที่ท้าทาย แต่เป็นงานที่สนุก ที่ผ่านมาทำอะไรสำเร็จไปเยอะ มหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยมีความเข้มแข็งมาก ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี สามารถขยับการทำงานให้ไปพร้อมกันทั้งกระทรวงได้อย่างรวดเร็ว อว.มีหน่วยงานที่เป็นกรมและเทียบเท่ากรมร่วม 200 แห่ง มีนิสิต นักศึกษาที่ต้องดูแลกว่า 1.5 ล้านคน มีอาจารย์ ข้าราชการ และบุคลากรกว่า 200,000 คน ดังนั้น ถ้าการทำงานในรูปแบบต่างคน
ต่างเคลื่อนจะทำให้ไม่มีกำลัง

แต่ถ้าขับเคลื่อนเป็นองคาพยพเดียวกัน จะทำให้การทำงานมีพลังอย่างมาก เห็นได้จากการผลักดันโครงการมหาวิทยาลัยสู่ตำบล สร้างรากแก้วให้ประเทศ หรือ U2T เป็นโครงการที่สร้างอนาคตให้กับ 3,000 ตำบลทั่วประเทศ รวมทั้งสร้างอนาคต สร้างโอกาส สร้างรายได้ให้กับนักศึกษาและประชาชน 60,000 คน ที่ อว.ได้จ้างงาน

ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 อว.เข้ามาช่วยเหลือจังหวัดต่างๆ ในเวลาที่โรงพยาบาลไม่มีเตียงรองรับผู้ป่วยได้ หรือจะเป็นการฉีดวัคซีน ที่ อว.เข้าไปช่วยเหลือกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และกระทรวงมหาดไทย (มท.)

⦁ผลงานที่ภูมิใจที่สุดในปี 2564?

มีผลงานที่น่าภูมิใจอยู่จำนวนมาก เช่น การจ้างงานนิสิต นักศึกษา ประชาชน 60,000 คน ในโครงการ U2T เป็นต้น เดิมการทำงานของ อว.เป็นลักษณะที่ต่างคนต่างทำ แต่เมื่อผมเข้ามาทำงาน ได้ชักชวนให้ทุกหน่วยงานทำงานร่วมกัน จึงเกิดเป็นพลังที่ยิ่งใหญ่ เพราะ อว.เป็นกระทรวงที่ใหญ่ มีงานครอบคลุมทุกด้าน เช่น เมื่อไทยเจอสถานการณ์น้ำท่วม หน่วยงานที่รู้เรื่องนี้ดีที่สุดคือ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (สสน.) หรือหากอยากได้ความรู้เรื่องอวกาศและดาวเทียม ต้องถามข้อมูลจากสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA

หรือในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อว.ได้ผลิตวัคซีนโควิด-19 ขึ้นเอง โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการทดลองขั้นสุดท้าย งานต่างๆ ไม่ใช่เรื่องง่าย เมื่อได้ทำงานสำเร็จ ถือเป็นผลงานที่ทิ้งเอาไว้ให้กับคนรุ่นต่อไปได้เห็นว่าเราจะต้องทำงาน ต้องขับเคลื่อนไปด้วยกัน

⦁หากเปรียบการศึกษาเป็นเครื่องจักร สภาพเครื่องจักรขณะนี้เป็นอย่างไร ควรปรับเปลี่ยนพัฒนาอย่างไร?

มีหลายอย่างที่ควรปรับปรุง เปลี่ยนแปลง อย่างแรกคือ กระแสโลก เมื่อเทคโนโลยีมีการเปลี่ยนแปลง การเรียนรู้ก็เปลี่ยนไป มีการเรียนรู้ทางไกล มีการเรียนรู้ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ ต้องอาศัยความว่องไว ความอยากรู้ อยากเข้าใจอยากเห็น แต่โลกทุกวันนี้กลายเป็นโลกที่พูดคุยกันในกลุ่มย่อยของตน ไม่รับฟังคนอื่น บางคนที่ทำแบบนี้ อาจเรียกตนเองว่าเสรีนิยม แต่เสรีนิยม ต้องเข้าใจและเคารพความแตกต่างทางความคิด แม้จะไม่เห็นด้วย ก็จะช่วยปกป้องเพื่อให้บุคคลนั้นออกมาแสดงความคิดเห็นของตน แต่เสรีนิยมในไทย กลายเป็นสุดขั้ว คือขั้วใครขั้วมัน ซึ่งผมมองว่าเรื่องนี้ การศึกษาจะเข้ามาช่วยทำความเข้าใจเรื่องนี้ได้

ผมมองว่าการปฏิรูปอุดมศึกษา ไม่ควรเปลี่ยนไปตามโลกตะวันตก ควรจะนำความคิดและปรัชญาตะวันออก เช่น ปรัชญาของศาสนาพุทธและศาสนาอื่นๆ เข้ามาผสมผสาน เข้ามาชี้นำในการศึกษา จะเป็นอะไรที่สมบูรณ์ขึ้น เช่นถ้าเราทำงานตามกระแสโลก จะเป็นอะไรที่รวดเร็วและคิดตื้นขณะที่มรดกของโลกตะวันออกคือการคิดลึก คิดช้าๆ ผมมองว่าถ้านำความคิดโลกตะวันตกและโลกตะวันออกมาปรับสมดุลกัน จะปฏิรูปเปลี่ยนแปลงการศึกษาให้ดีขึ้นได้

หากเปรียบการศึกษาเป็นเครื่องจักร มองว่าเครื่องจักรของเราไม่เก่า เพราะเราปรับตัวตามกระแสโลกมาตลอด การปรับนี้ได้ประสานเข้ากับของเดิม ของดีของเรา ซึ่งเราทำแบบนี้มาตลอด แม้บางช่วงอาจจะมีเหวี่ยง มีละเลยของดี ของเดิมของเราบ้าง แต่ถ้าเรามาหยุดคิดช้าๆ ทำให้เห็นอะไรเยอะ เช่น เวลาที่เราจะปฏิรูปอะไร ต้องอยู่ที่ตัวตนภายในของเรา ไม่ใช่ว่าสูตรแบบตะวันตกจะใช้ในการเปลี่ยนแปลงได้ทั้งหมด เพราะตัวตนจริงๆ ของเราไม่ได้เป็นตัวตนของชาวตะวันตก ฉะนั้น เราต้องรู้จักตัวตนของเราก่อน

⦁มหาวิทยาลัยต้องปรับตัวเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของโลกอย่างไร?

หลังจากที่เข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการ อว.มากว่า 1 ปี พบว่าคนไทยเป็นคนที่เก่งทั้งสายวิทย์และสายศิลป์ วิทยาศาสตร์ของไทยเจริญก้าวหน้ามากเมื่อเทียบกับ 30-40 ปีที่ผ่านมา เราส่งคนเก่งจำนวนมากไปเรียนทุกที่ แม้ที่นั่นจะขึ้นชื่อเรื่องการเรียนลำบาก แต่คนไทยสามารถเรียนจบและสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ ได้จำนวนมาก เช่น เรื่องควอนตัมฟิสิกส์ ที่จะกลายมาเป็นอนาคตของโลก ผมได้สั่งการไปยังมหาวิทยาลัยทุกแห่งแล้วว่าเราต้องเตรียมตัวดักรอเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไป ต้องไม่กลัวการเปลี่ยนแปลง เวลานี้เราอาจจะตื่นเต้นกับ 5G แต่ทั้งโลกวิเคราะห์ว่าท้ายสุดแล้ว ควอนตัมจะมาแทนที่ดิจิทัล ดังนั้น ทุกอย่างจะเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ซึ่งผมมองว่าสิ่งต่างๆ เหล่านี้เป็น game changer ไม่ได้มองทุกอย่างเป็นอันตรายไปเสียหมด

ผมได้สั่งการให้ทุกมหาวิทยาลัยมองการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีเป็นโอกาสใหม่ของเรา เมื่อเราเห็นสิ่งเหล่านี้เป็น game changer จะทำให้เราลดช่องว่างระหว่างประเทศไทย กับประเทศที่เจริญในด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีลงไปด้วย

ส่วนความเก่งด้านสายศิลป์นั้น เมื่อเร็วๆ นี้ U.S.News & World Report จัดให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีมรดกทางวัฒนธรรมที่ดีที่สุด เป็นอันดับที่ 7 ของโลก อันดับ 2 ของเอเชีย และอันดับที่ 1 ของอาเซียน แสดงว่าบรรพบุรุษของเราได้ลงทุนลงแรงในการสร้างผลงานทางศิลปะอย่างมาก และขณะนี้เรากำลังเก็บกินอยู่ แต่แทนที่จะเก็บกินอย่างเดียว เราควรต่อยอดอดีตให้เป็นอนาคตด้วย

⦁มหาวิทยาลัยต้องใช้เทคโนโลยีเข้ามาจัดการเรียนการสอนเพิ่มมากขึ้น?

มหาวิทยาลัยต้องใช้เทคโนโลยีเข้าช่วย อย่างไรก็ตาม คนไทยมองว่าเทคโนโลยีต้องเร็ว ต้องซื้อเทคโนโลยีมาแล้วแจกไป ซึ่งเป็นการคิดแบบขั้นต้นมาก ต้องเปลี่ยน Mindset ใหม่ โดยเชื่อว่าทุกสิ่งทุกอย่างเปลี่ยนแปลงได้ เชื่อว่าคนไทยมีศักยภาพที่จะเปลี่ยนแปลงได้ และต้องเชื่อว่าประเทศไทยจะเป็นประเทศที่พัฒนาได้ ไม่ใช่จมกับความคิดว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่กำลังพัฒนา หรือด้อยพัฒนาตลอดกาล เพราะข้อเท็จจริงต่างๆ ชี้ให้เห็นว่าประเทศกำลังดีขึ้น เรามีศักยภาพที่จะเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว และจะเป็นให้ได้ภายใน 16 ปีข้างหน้า หรือภายในปี 2580

ในส่วนของ อว.เป็นกระทรวงที่จะขยับให้ประเทศไทย เริ่มเข้าสู่การเป็นประเทศพัฒนาแล้วให้ได้ โดยเริ่มตั้งแต่ปี 2570 ดังนั้น Mindset เรื่องการศึกษาจึงสำคัญอย่างมากนอกจากนี้ Mindset ของ อว.ก็สำคัญเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานที่ดูแลด้านอุดมศึกษา หรือหน่วยงานที่ดูแลด้านวิทยาศาสตร์ ศิลปวิทยาการต่างๆ จะต้องไม่ทำอะไรไปเรื่อยๆ ต้องมีเป้าหมาย มีธงชัย แล้วจะต้องไปหยิบธงนั้นมาให้ได้ เป้าหมายต้องชัดเจน และจะต้องตั้งเป้าหมายเพียงเป้าหมายเดียว ดีกว่าที่จะไปตั้งเป้าหมายหลายตัว

ดังนั้น ต่อไป อว.จะทำงานแบบมี Mindset จะไม่ทำอะไรเรื่อยๆ ซึ่ง อว.ตั้งเป้าหมายที่เป็น Super Indicator ไว้คือภายในปี 2570 กระทรวงจะต้องคล้ายเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว และทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วภายในปี 2580

การศึกษาต้องมีเป้าหมายเช่นกัน เช่น การศึกษาที่ดีต้องทันโลก ขณะเดียวกันต้องไม่แยกเรื่องตัวตน ความเชื่อออกจากเรื่องวิชาการ และการศึกษาต้องไม่ใช่เรื่องเก่งและดีเท่านั้น แต่ต้องเป็นการศึกษาที่ทำให้เรามีความสุข มีความสมดุลภายในตัว

⦁ยุคหลังโควิด-19 จะต้องเปลี่ยนแปลงการผลิตบัณฑิตอย่างไรเพื่อรองรับอุตสาหกรรมใหม่ๆ?

ต้องผลิตคนที่คิดเองได้ เป็นคนที่ตื่นตัว ตื่นรู้ ไม่ใช่คนที่แตกตื่นกับการเปลี่ยนแปลง ไม่แตกตื่นกับการดิสรัปชั่นต่างๆ ต้องเป็นคนที่มองดิสรัปชั่นให้เป็นโอกาสให้ได้ ตั้งแต่ดิสรัปชั่นในเรื่องเล็ก จนถึงการดิสรัปชั่นของโลก ต้องมีความเชื่อมั่นในประเทศและสังคมว่าเรามีข้อดีอยู่ในตัวไม่น้อย

ผมมองว่าขณะนี้เรากำลังเข้าสู่โลกาภิวัตน์อีกแบบหนึ่งแล้ว โลกาภิวัตน์แบบเดิมจะมีตะวันตกเป็นศูนย์กลาง แต่ขณะนี้จะมีบูรพาภิวัตน์เข้ามาด้วย หมายความว่าความคิดแบบตะวันตกยังมีความสำคัญอยู่ แต่ความคิดแบบตะวันออกก็สำคัญเช่นกัน และขึ้นมาทัดเทียมกับความคิดตะวันตก หรืออาจจะนำความคิดทางตะวันตกก็ได้ ดังนั้น โลกจึงมีทั้งตะวันตก ตะวันออก โลกาภิวัตน์ที่เป็นอยู่ในขณะนี้ ต้องการหาความหลากหลาย ต้องการพหุวัฒนธรรม เพราะฉะนั้น เราจะนำสิ่งนี้มาจากไหน คือต้องเอามาจากอดีต การทำอดีตให้ดีจึงหมายความว่าเราจะมีอนาคต เพราะอดีตของเรา เมื่อนำไปผสมกับกระแสโลกตะวันตก จะกลายเป็นอนาคตที่เราจะเดินต่อไป

ดังนั้น การปฏิรูปอุดมศึกษาของประเทศ ต้องนำเอาวิทยาศาสตร์ และศิลปะมาไว้ด้วยกัน ซึ่งผมกำชับให้มหาวิทยาลัยของไทย หากต้องการสร้างคนที่เป็นเลิศ จะสร้างหลักสูตรที่จะสร้างให้คนไทยมีวัฒนธรรม มีอารยธรรมที่ต่อยอดจากของเก่า โดยนำของไทยไปผสมผสานกับโลกให้ดียิ่งขึ้นได้อย่างไร

⦁การปฏิรูปอุดมศึกษาต้องนำความคิดของตะวันตก และตะวันออกมาผสานเข้าด้วยกัน?

ถูกต้อง เพราะหากเราเอาแต่ความคิดตะวันตกอย่างเดียว แต่เราไม่ได้ผ่านประวัติศาสตร์แบบตะวันตกมา ที่สำคัญ ประเทศไทยมีสิ่งดีๆ มาตลอดหลายร้อยปี เพียงแต่ว่าการศึกษาที่ผ่านมา ทำให้เราไม่สนใจอดีตของเรา เรากลายเป็นคนที่เห็นแต่อนาคต เน้นตามฝรั่ง ซึ่งขณะนี้ผมพยายามทำให้คนใน อว.เอาความคิดหลายๆ แบบเข้ามาคิด เพื่อพัฒนาการศึกษา

⦁อนาคตหลักสูตร ต้องเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง?

หลักสูตรเป็นเรื่องของมหาวิทยาลัย ต้องไปคิดและทำขึ้นเอง โดยทั่วไปต้องทำให้สนุกขึ้น เน้นให้ออกจากห้องเรียนให้มากขึ้น เรียนรู้โดยผ่านผู้ทรงคุณวุฒิที่ไม่ใช่อาจารย์ ไม่ใช่ครู ไม่ใช่ศาสตราจารย์บ้าง ดังนั้น หลักสูตรต่อไปต้องสั้น กระชับ และเพิ่มการปฏิบัติให้มากขึ้น เพราะการเรียนรู้ที่เร็ว ดี และลึกซึ้ง คือการเรียนโดยปฏิบัติ นอกจากนี้พบว่าคนไทยเป็นคนที่ถ้าไม่สนุกไม่เรียน ดังนั้น ต้องทำหลักสูตรให้มีความสนุกด้วย

⦁อาจารย์มหาวิทยาลัยต้องพัฒนาตนเองอย่างไร?

ระบบการศึกษาของเราที่ผ่านมา โดยเฉพาะหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 การศึกษาในมหาวิทยาลัย เน้นการมีอาจารย์ประจำ โดยทำตามมหาวิทยาลัยตะวันตก เพราะเชื่อว่าอาจารย์ประจำเป็นสัญลักษณ์ของความเป็นเลิศ ซึ่งอาจารย์ประจำจะเก่งทฤษฎี เก่งตำรา แต่การปฏิบัติอาจจะไม่ได้มาก ดังนั้น การปฏิรูปอุดมศึกษาจะต้องทำให้อาจารย์ประจำมีประสบการณ์ในการปฏิบัติให้มากขึ้น

⦁เป้าหมายในการทำงานในปี 2565?

คงต่อยอดจากสิ่งที่ทำในปี 2564 การทำงานที่ดีต้องทำใหม่ ขณะเดียวกันต้องทำซ้ำ ซึ่งคนปัจจุบันเบื่อการทำซ้ำแต่ในความจริงแล้วหลายอย่างต้องทำซ้ำถึงจะเห็นผล อว.ต้องต่อยอดจากปีที่ผ่านมา และต้องทำงานอย่างเป็นกระทรวง ทุกหน่วยงานต้องสามัคคี และเข้าใจการปฏิรูปการเปลี่ยนแปลงให้ทันโลก มีความเข้าใจอย่างลึกซึ้งถึงแก่น และรากของเราด้วย เพราะรากเดิมของเราจะเป็นอนาคตของประเทศ จะเป็นอนาคตของโลก

งานของ อว.มีทั้งทำผลประโยชน์เฉพาะหน้า ผลประโยชน์ระยะกลาง และผลประโยชน์ระยะยาวให้ประชาชน ที่ผ่านมาทำงานให้ผลประโยชน์ระยะสั้นกับประชาชนแล้ว ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี แต่จะเห็นว่ากระทรวงในประเทศที่จะสร้างผลประโยชน์ระยะกลางและระยะยาวให้ประเทศได้อย่าง อว.มีน้อยมาก ดังนั้น อว.จะต้องสร้างประโยชน์ของชาติ ประชาชน ในระยะกลาง และระยะยาวให้ได้

ระยะกลาง คือ อว.ต้องเร่งผลักดันเศรษฐกิจ BCG ซึ่งเป็นเศรษฐกิจใหม่ของไทย

ส่วนระยะยาว จะผลักดันโครงการส่งยานอวกาศไปดวงจันทร์ให้สำเร็จ และตั้งเป้าส่งยานอวกาศโคจรรอบดวงจันทร์ให้ได้ภายใน 6-7 ปี เพื่อสร้างให้ไทยเป็นชาติอวกาศ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image