คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช : สร้าง‘โค้ดดิ้ง’ รับมือทุกความเปลี่ยนแปลง

คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช : สร้าง‘โค้ดดิ้ง’ รับมือทุกความเปลี่ยนแปลง

คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช

สร้าง‘โค้ดดิ้ง’

รับมือทุกความเปลี่ยนแปลง

หมายเหตุ คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ให้สัมภาษณ์ถึงทิศทางการทำงาน และการพัฒนาการศึกษาไทยในปี 2565

Advertisement

⦁ก้าวสู่ปีที่ 3 ในการทำงานในตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการ ศธ.แล้ว เป็นอย่างไรบ้าง?

รู้สึกสนุก มีความสุขที่ได้ทำงานให้กับเยาวชนและวงการการศึกษาไทย ถือเป็นงานที่ท้าทายมาก และภาคภูมิใจมากที่ได้เสนอ และขับเคลื่อนนโยบายการศึกษาที่สำคัญ 2 เรื่อง คือ การผลักดันการเรียนโค้ดดิ้ง และวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรม ถือเป็นการปฏิรูปการศึกษาที่เข้าถึงตัวเด็กโดยตรงเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ และสามารถลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาได้

⦁การผลักดันเรื่องโค้ดดิ้งและวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี ถือเป็นผลงานที่น่าภูมิใจในปี 2564?

Advertisement

ตลอด 2 ปีกว่าในการทำงานมีผลงานที่น่าภูมิใจหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องโค้ดดิ้ง ขณะนี้อบรมครูได้มากกว่า 300,000 คน เบื้องต้นครูมีความเข้าใจเรื่องโค้ดดิ้งแล้ว ประยุกต์ใช้กับบริบทของท้องถิ่นให้ประสบความสำเร็จ เด็กได้เรียนรู้อย่างมีความสนุกสนาน และมีทักษะหลายด้าน เช่น ทักษะในการอ่าน ทักษะในการเขียน ทักษะในการคิดสร้างสรรค์ คิดวิเคราะห์อย่างมีเหตุมีผล ทักษะเชิงคณิตศาสตร์ และกล้าตัดสินใจ ซึ่งทักษะเหล่านี้เป็นทักษะที่จำเป็นสำหรับยุคดิจิทัล ซึ่งการเรียนโค้ดดิ้งนั้นหลายคนอาจเข้าใจผิดว่าต้องมีเครื่องมือถึงจะสามารถจัดการเรียนการสอนได้ แต่ในความจริงแล้วการเรียนการสอนโค้ดดิ้งนั้นสามารถทำได้โดยใช้สิ่งของรอบตัวมากระตุ้นความคิดให้เด็ก คิดเป็นกระบวนการ คิดแก้ไขปัญหาเป็นขั้นเป็นตอนได้

อย่างไรก็ตาม ทุกเรื่องต้องใช้เวลาถึงจะเห็นความเปลี่ยนแปลง อย่างที่คนจีนกล่าวไว้ว่า ปลูกต้นไม้ใช้เวลา 10 ปี ปลูกคนใช้เวลา 100 ปี ดังนั้น เราทำงานอยู่บนความเป็นจริง ต้องใจเย็น ค่อยๆ พัฒนาและทำต่อเนื่อง เพื่อสร้างรากฐานให้เด็กและเยาวชน เป็นความภาคภูมิใจที่ทำให้เด็กไทยอยู่ในยุคดิจิทัล และศตวรรษที่ 21 ได้อย่างมั่นใจ

ส่วนการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จัดทำโครงการสร้างมิติใหม่การศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ ผสานศาสตร์และศิลป์ เปลี่ยน STEM เป็น STEAM วิทยาศาสตร์พลังสิบ ลดความเหลื่อมล้ำ สร้าง Citizen Science ให้เกิดขึ้น เป็นการขยายโอกาสให้นักเรียนได้เรียนวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมอย่างกว้างขวาง โดยจะเน้นการจัดการเรียนการสอนที่เน้นการปฏิบัติ ประยุกต์ใช้กับชีวิตประจำวัน

การผลักดันนโยบายอ่านเขียน เรียนประวัติศาสตร์ด้วยสื่อร่วมสมัย โดยจะสร้างสื่อการเรียนการสอนที่ทันสมัย เพื่อให้เด็กได้เรียน และไม่ลืมประเพณีอันดีงามของไทย โดยสร้างคลิปวิดีโอ 10 คลิป ให้นักเรียนได้เรียนประวัติศาสตร์อย่างสนุก และสามารถนำไปต่อยอด ซึ่งขณะนี้คลิปดังกล่าวเผยแพร่อยู่ในเว็บไซต์ของโรงเรียนต่างๆ และเว็บไซต์ OBEC ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ซึ่งจากการประเมินหลังจากนำสื่อมาใช้ในการเรียนการสอนได้ผลตอบรับที่ดี

นอกจากนี้ ดิฉันได้รับผิดชอบดูแลวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี (วษท.) สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) 47 แห่ง เดินหน้าพัฒนาให้สอดคล้องกับการปฏิรูปการศึกษา โดยนำสาระวิชามาปฏิบัติเพื่อให้เกิดสมรรถนะการทำงาน เป็นผู้ประกอบการได้ โดยเฉพาะการบริหารจัดการน้ำที่ดิฉันผลักดันมากว่า 1 ปี โดยนำทฤษฎี และแนวปฏิบัติของในหลวงรัชกาลที่ 9 มาพัฒนาเป็นหลักสูตร “ชลกร” คือหลักสูตรสำหรับผู้บริหารจัดการน้ำ ซึ่งผู้ที่เรียนหลักสูตรนี้จะมีความรู้หลากหลาย มีความรู้ด้านอุตุนิยมวิทยา ความรู้เรื่องฝน เพื่อที่จะบริหารจัดการน้ำตามแนวพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 ได้ คือมีที่ให้น้ำอยู่ มีที่ให้น้ำไหล สามารถเก็บน้ำไว้ใช้ทำการเกษตรได้ หวังว่าการบริหารจัดการน้ำจะแก้ปัญหา 3 อย่าง คือ แก้ความยากจน แก้ปัญหาน้ำหลาก และแก้ปัญหาน้ำแล้ง ขณะนี้นำร่องเปิดสอนหลักสูตรชลกรระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ปีการศึกษา 2564 ใน 5 วิทยาลัย ประกอบด้วย วษท.มหาสารคาม วษท.อุบลราชธานี วษท.ยโสธร วษท.ศรีสะเกษ และ วษท.ร้อยเอ็ด

ดิฉันยังดูแลสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ สังกัด สพฐ.ดูแลโรงเรียน 177 แห่ง และดูแลผู้ด้อยโอกาสในสังคม ดูแลคนพิการกว่า 20,000 คน โดยจะสอนชีวิต สอนวิชาการ และสอนวิชาชีพ เพื่อให้เด็กด้อยโอกาสได้รับโอกาสมากขึ้น ดังนั้น ประเทศไทยจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

⦁หากเปรียบการศึกษาเป็นเครื่องจักร มองว่าสภาพเครื่องจักรเป็นอย่างไร ควรจะพัฒนาแก้ไขอย่างไรให้ทันการเปลี่ยนแปลงในปัจจุบัน?

การศึกษาไทยเราหยุดไม่ได้ แต่ที่แน่นอนที่สุด เมื่อโลกเปลี่ยนแปลง สังคมเปลี่ยนแปลง วิทยาศาสตร์เทคโนโลยีก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็ว จนเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างหักศอก หรือดิสรัปชั่น ยังเจอสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ที่เข้ามาซ้ำเติม

การศึกษาหยุดไม่ได้ก็จริง แต่ระบบเดิมที่คิดว่ามีประสิทธิภาพก็อาจไม่มีประสิทธิภาพ เนื่องจากไม่มีความสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน แต่เครื่องจักรของเราหยุดไม่ได้ เราอาจจะต้องปรับแก้ เปลี่ยนอะไหล่ แต่เครื่องจักรต้องเดินตลอดเวลา เพราะ ศธ.มีองคาพยพที่ใหญ่ มีหลายระดับ หลายช่วงอายุ ฉะนั้น การเปลี่ยนแปลงเพื่อให้ทันยุคดิสรัปชั่นจึงเป็นเรื่องที่โหด และเป็นปัญหาที่หนัก แต่ผู้บริหารทุกคนไม่เคยท้อถอย ไม่เคยหยุดนิ่งที่จะพัฒนาวางรากฐานให้เด็ก โดยเฉพาะการเรียนโค้ดดิ้ง และวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี

นอกจากนี้ เครื่องจักรต้องเปลี่ยนบริบทและเปลี่ยนบทบาทในการผลิตคนด้วย โดยเฉพาะโรงเรียน ผู้บริหาร ครู และบุคลากรทางการศึกษา จากเดิมที่เป็นคนป้อนเนื้อหาวิชาการ แต่ควรปรับเป็น “Facilitator” หรือเป็นพี่เลี้ยง เป็นผู้ที่สร้างบรรยากาศของโรงเรียนให้เด็กมีโอกาสได้เรียนในสิ่งที่อยากเรียน สิ่งที่สนใจ บทบาทของครู และโรงเรียนที่จะต้องเปลี่ยน คือจะต้องมุ่งสร้างบรรยากาศให้เด็กได้เรียนในสิ่งที่อยากเรียน ดังนั้น ต่อไปการเรียนจะไม่ใช่การตัดเสื้อโหล แต่ครูและโรงเรียนจะต้องประคับประคองการบริหารจัดการเรียนการสอน
ให้เด็กทุกคนได้เรียนสิ่งที่สนใจ

จึงเป็นเรื่องที่ยากในการเปลี่ยนแปลง ซึ่งดิฉันเชื่อว่าหากสร้างโค้ดดิ้ง และวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี เป็นพื้นฐานของเด็กจะเป็นภูมิคุ้มกันให้ตลอดช่วงชีวิต สิ่งเหล่านี้เป็นหลัก และแนวทางที่อยากเห็น การปรับตัวของผู้บริหารและครูอาจจะเป็นเรื่องที่ยาก แต่อยากให้เข้าใจ ดังนั้น เมื่อต้องการให้ผู้บริหารและครูปรับเปลี่ยนตนเอง ต้องให้กำลังใจ และสนับสนุนเครื่องมือ เพื่อให้ผู้บริหารและครูสามารถปรับเปลี่ยนหน้าที่การเรียนการสอนเป็นผู้ส่งเสริมการศึกษาแทน

การเปลี่ยนสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่ยาก เราไม่สามารถหยุดเครื่องจักร และหาเครื่องจักรใหม่เข้ามาทดแทนได้ เพราะการให้ความรู้และการผลิตคนนั้นหยุดไม่ได้ ฉะนั้น สิ่งที่เราต้องการมีความหลากหลาย โดยมีหลักการว่าอยู่ที่ไหนก็เรียนได้ ไม่จำเป็นต้องอยู่ในห้องเรียน สามารถเรียนได้ทุกที่ สิ่งนี้ ศธ.อยากให้ครูและโรงเรียนปรับตัว ต้องสร้างบุคลากรของคนไทย ไม่ว่าช่วงวัยไหนจะต้องเรียนรู้ได้ ตามที่มีคำกล่าวว่า “การเรียนรู้ตลอดชีวิต” สิ่งนี้เป็นวาทกรรม ฟังดูดี แต่ในทางปฏิบัติต้องสร้างให้เด็กมีโค้ดดิ้ง คือเด็กสามารถตั้งคำถามได้ สามารถคิดวิเคราะห์ ตอบแบบมีเหตุมีผลได้ มีตรรกะเชิงวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ให้เด็กได้ลงมือทำซ้ำ ทำให้เด็กรู้ว่าการแก้ปัญหาไม่ได้มีแค่หนทางเดียว

ซึ่งเป็นเป้าหมายของดิฉันที่อยากให้การเรียนรู้ของ ศธ.เป็นเช่นนี้ โดยเริ่มจากการเรียนโค้ดดิ้ง ไม่ต้องใช้เครื่องมือ แต่ให้เด็กใช้ความคิด เรียนรู้จากสิ่งรอบตัว เด็กทุกคน และคนไทยทุกคนต้องมีโค้ดดิ้ง จึงเกิดคณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์และนโยบายส่งเสริมการเรียนภาษาคอมพิวเตอร์ (Coding) แห่งชาติขึ้นมา มี นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เพื่อสร้างให้คนไทยทุกอาชีพมีโค้ดดิ้งเพื่อพัฒนาศักยภาพของตน มองว่าโค้ดดิ้งสามารถแก้ปัญหา แก้วิกฤตทุกอย่างได้ ดังนั้น ถ้าทำให้คนไทยมีโค้ดดิ้งมากขึ้นเท่าไหร่ ก็ทำให้คนไทยแก้ปัญหาที่มีความซับซ้อนได้มากเท่านั้น

⦁หากทำให้โค้ดดิ้งเป็นฐานทางการศึกษาได้ ประเทศจะพร้อมเดินหน้าต่อ แม้เจอสถานการณ์และการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ของโลก?

ใช่ค่ะ เราต้องสร้างภูมิคุ้มกันให้คนไทยสามารถเผชิญกับการผันผวนในอนาคตได้

⦁สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อการศึกษาอย่างมาก?

ตั้งแต่พบโรคโควิด-19 ได้เพิ่มความเร่งด่วนในการใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรม เพราะถือเป็นความก้าวหน้า ก็ตามประเทศอื่นๆ ไป แต่พอโรคโควิด-19 มา ทำให้เราต้องเร่งใช้เทคโนโลยีมากขึ้น ซึ่งก็ไม่ทัน เพราะไม่ได้ตั้งงบประมาณเพื่อสนับสนุนสิ่งเหล่านี้ และการจะใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี ต้องมีฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ และพีเพิลแวร์ คำถามต่อมาคือ เราพร้อมหรือยัง จึงเกิดปัญหาเครียด ซึมเศร้า ซึ่งโทษใครไม่ได้เพราะไม่รู้ว่ามันจะมา แต่ยังพบว่ามีโรงเรียนบางแห่งปรับเปลี่ยนตัวเองล่วงหน้า ทำให้แม้จะเจอสถานการณ์โควิด-19 ก็จัดการเรียนการสอนต่อไปได้ สิ่งเหล่านี้คือโค้ดดิ้งที่ผู้บริหารคิดไปข้างหน้า และหาทางพัฒนาตนเองไปเรื่อยๆ

เมื่อโรคโควิด-19 เข้ามาซ้ำเติมสถานการณ์ดิสรัปชั่น ถ้าใครมีโค้ดดิ้งสูง ก็สามารถแก้ปัญหาของตนได้ ไม่จำเป็นต้องมีงบประมาณก็แก้ไขปัญหาได้

ที่ผ่านมาดิฉันทำโครงการ ซึ่งจะช่วยสนับสนุนโครงการ Next Normal with Smart Devices ภายใต้แคมเปญ “พี่ใหญ่ให้ยืม” ถือเป็นการประกาศเจตนารมณ์ในการช่วยลดความเหลื่อมล้ำ และบรรเทาผลกระทบความเดือดร้อนจากการขาดแคลนอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ให้กับนักเรียนสำหรับใช้ในการเรียนออนไลน์ โดยให้ศิษย์เก่าช่วยเรื่องเครื่องมืออุปกรณ์การเรียนให้กับรุ่นน้อง พร้อมตั้งกองทุนสนับสนุนอุปกรณ์สำหรับใช้ในการเรียน เพราะมองว่าการเรียนออนไลน์ให้มีประสิทธิภาพนั้นต้องประกอบด้วย 4 องค์ประกอบ คือ 1.ศักยภาพของตัวผู้สอน หรือครู 2.Content หรือเนื้อหา ทำอย่างไรการเรียนออนไลน์จึงจะสนุก และมีประสิทธิภาพ 3.เทคโนโลยีที่เข้าถึงได้ และ 4.Smart Device หรืออุปกรณ์ที่เชื่อมต่อกับระบบเครือข่ายอินเตอร์เน็ตได้ สิ่งเหล่านี้ถือเป็นหัวใจสำคัญในการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ซึ่งโครงการนี้จะช่วยเรื่องฮาร์ดแวร์ ที่จะเป็นอีกทางหนึ่งในการช่วยสนับสนุนให้เด็กมีเครื่องมือ หรืออุปกรณ์เรียนออนไลน์มากขึ้น

ส่วนซอฟต์แวร์ ต้องพัฒนาสร้างหนังสือรูปแบบอีบุ๊กให้มากขึ้น ขณะนี้สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) สร้างหนังสือ 120 เล่ม และคลิปการเรียนรู้ 3,000 คลิป เพื่อให้เด็กได้มาเรียนทางออนไลน์

และพีเพิลแวร์ คือครู จะต้องพัฒนาครูให้สามารถจัดการเรียนการสอนโดยใช้ Smart Devices ได้ เพื่อให้เด็กได้เรียนครบทุกสาระวิชา สิ่งเหล่านี้ต้องเร่งผลักดัน และพัฒนาต่อไป

⦁ตั้งเป้าการทำงานในปี 2565 ไว้อย่างไร?

จะเร่งผลักดัน และสานต่องานในปี 2564 ไม่ว่าจะเป็นเรื่องโค้ดดิ้ง วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี

นโยบายไหนที่ทำได้ผลแล้ว ต้องเพิ่มผลผลิตให้มากขึ้นด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image