กนกวรรณ วิลาวัลย์ : ชู‘ร.ร.เอกชน’เอ็ดดูเคชั่น ฮับ ดัน‘กศน.’รับมือโลกเปลี่ยน

กนกวรรณ วิลาวัลย์ : ชู‘ร.ร.เอกชน’เอ็ดดูเคชั่น ฮับ ดัน‘กศน.’รับมือโลกเปลี่ยน

กนกวรรณ วิลาวัลย์

ชู‘ร.ร.เอกชน’เอ็ดดูเคชั่น ฮับ

ดัน‘กศน.’รับมือโลกเปลี่ยน

หมายเหตุ นางกนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้มองปัญหาและอุปสรรคการจัดการศึกษาช่วงสถานการณ์โควิด-19 รวมถึงนำเสนออนาคตการศึกษาที่จะต้องปรับเปลี่ยนให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง

Advertisement

⦁ภาพรวมการจัดการศึกษานอกระบบ และการศึกษาเอกชน เป็นอย่างไรบ้าง?

ภาพรวมการจัดการศึกษาในส่วนของสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) ประมวลจากการลงพื้นที่ ได้เห็นความสำเร็จของนโยบาย กศน.wow ประกอบด้วย 6 เรื่อง (6G) ได้แก่ 1.Good Teacher เพิ่มอัตราข้าราชการครู กศน. 928 อัตรา เพื่อเสริมสร้างการเรียนรู้สู่ยุคดิจิทัล 2.Good Place จะตั้งศูนย์ กศน.ต้นแบบที่ดีเยี่ยม 5 อย่าง ใน 928 อำเภอ พร้อมให้บริการ Digital Library และ e-Book

3.Good Activity Digital Platform พัฒนาการศึกษาแบบออนไลน์ที่เข้าถึงทุกที่ทุกเวลา พร้อมพัฒนาหลักสูตรลูกเสือมัคคุเทศก์ และหลักสูตรระยะสั้นรองรับ New S-Curve4.Good Partnership มีเครือข่ายที่ดีทำงานร่วมกันอย่างเข้มแข็ง และรวบรวมภูมิปัญญาท้องถิ่น และแหล่งเรียนรู้ในชุมชน 5.Good Innovation การจัดการความรู้นวัตกรรมสมัยใหม่ เพื่อยกระดับผลิตภัณฑ์แบรนด์ กศน. และ 6.Good Learning Center ศูนย์การเรียนรู้สำหรับคนทุกช่วงวัยในชุมชน โดยใช้ประโยชน์จากพื้นที่โรงเรียนที่ถูกควบรวม

Advertisement

ทั้งนี้ นโยบายดังกล่าวได้รับความร่วมมือจากคน กศน.สามารถพัฒนาไปตามมิติที่เหมาะสมสอดคล้องกับบริบทได้อย่างโดดเด่น และเหมาะสมกับพื้นที่ การจัดการศึกษาเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ ภาพรวมมีการปรับตัวให้เหมาะสมกับสถานการณ์ สำหรับการสอนอาชีพ มีการต่อยอดนำผลิตภัณฑ์สู่ตลาดออนไลน์

ส่วนการจัดการศึกษาของโรงเรียนเอกชน สังกัดสำนักงานส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) นั้น ส่วนตัวเห็นใจ โดยเฉพาะโรงเรียนเอกชนขนาดเล็กและโรงเรียนเอกชนการกุศล ซึ่งประสบปัญหา เพราะไม่สามารถเปิดเรียนได้ เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยพยายามหาแนวทางช่วยเหลือขับเคลื่อน ในเรื่องการลดความเหลื่อมล้ำ ลดความเดือดร้อน ให้โรงเรียนสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุน ดอกเบี้ยต่ำ ที่ผ่านมาได้ประสานกระทรวงการคลัง เพื่อให้มีนโยบายไปยังสถาบันการเงิน ขอความร่วมมือปล่อยเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำให้กับสถานศึกษาเอกชน เพื่อนำไปใช้ในการเสริมสภาพคล่อง ขณะเดียวกันมีการขับเคลื่อนเพิ่มสวัสดิการค่ารักษาพยาบาล ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน

นอกจากนี้ ยังมีการปรับปรุงกฎหมาย ระเบียบ หลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับ กศน.และสถานศึกษาเอกชนหลายเรื่อง ทั้งร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. … ซึ่งอยู่ในชั้นกรรมาธิการ (กมธ.) ขณะที่ สช.มีการศึกษาเพื่อเตรียมความพร้อม ยกร่างกฎหมายที่เกี่ยวกับการจัดการศึกษาเอกชนให้สอดคล้องเหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน

⦁การพัฒนาการจัดการศึกษา เป็นไปตามเป้าหมาย และนโยบายที่วางไว้หรือไม่?

จากการลงพื้นที่รับฟังปัญหาของผู้เรียน ทำให้รับทราบปัญหา และหาแนวทางพัฒนาได้อย่างเหมาะสม สอดคล้องกับการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ในพื้นที่ ดังนั้น คิดว่าปีที่ผ่านมาสามารถทำงานได้เกินเป้าหมาย แม้จะอยู่ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ก็สามารถแก้ปัญหา ปรับรูปแบบการจัดการศึกษาให้เหมาะสมกับสถานการณ์ เพื่อประโยชน์ของผู้เรียน ผู้สอน และประชาชน ให้มีความปลอดภัยในการดำรงชีวิต ไม่เสี่ยงต่อการติดเชื้อ ไม่ว่าจะเป็นการเรียนออนไลน์ ออนดีมานด์

⦁โควิด-19 ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา มีผลกระทบต่อการจัดการศึกษามากน้อยเพียงใด?

แน่นอนว่ากระทบต่อการจัดการศึกษาอย่างมาก โดยเฉพาะในส่วนของโรงเรียนเอกชน จากการรับฟังปัญหาพบว่าการเรียนออนไลน์ทำให้โรงเรียนขาดรายได้จากการบริการผู้เรียนในบางประเภท ดังนั้น การเปิดเรียนแบบออนไซต์จึงเป็นทางรอดของโรงเรียน ซึ่งส่วนตัวพยายามช่วยวางแนวทางปรับระบบต่างๆ เพื่อให้โรงเรียนแต่ละแห่งสามารถเปิดเรียนได้ตามมาตรการป้องกันของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้นักเรียน ครู ผู้ปกครอง มีความปลอดภัยสูงสุด

ส่วน กศน.ถือโอกาสปรับการเรียนเป็นรูปแบบออนไลน์ โดยพบว่าครู กศน.มีการพัฒนาตัวเองตลอดเวลา ทำให้สามารถปรับตัวได้เร็ว

⦁หากเปรียบการศึกษาเป็นเครื่องจักร มองว่าเครื่องจักรทางการศึกษานี้มีสภาพอย่างไร?

มองว่าอาจจะค่อนข้างเหนื่อย เพราะไม่ว่าจะเป็นเครื่องจักร หรือชีวิตมนุษย์ ก็ต้องได้รับการทะนุถนอม บำรุงรักษา ตอนนี้ครูเหนื่อยมาก ไม่ว่าจะเป็นครูของรัฐ หรือเอกชน เพราะการเรียนวิถีใหม่ บางครั้งต้องลงพื้นที่ เยี่ยมบ้านนักเรียน ทำให้เกิดความเสี่ยง ดังนั้น จากสภาพที่เกิดขึ้น
ทุกคนต้องการกำลังใจ ครูควรต้องได้รับการดูแลและพัฒนาให้มีความก้าวหน้าในการดำรงชีวิต ในส่วนของ กศน.เองยังมีปัญหาสัดส่วนบุคลากรทางการศึกษาไม่สอดคล้องกับความต้องการที่แท้จริง ที่ผ่านมาพยายามเติมเต็มอัตรากำลังในส่วนที่ขาด และเกลี่ยอัตรากำลังภายใน ศธ.เอง รวมถึงพยายามพัฒนาครูให้มีคุณภาพ โดยมอบหมายให้ กศน.ไปจัดทำแผนการอบรมอย่างต่อเนื่อง ทั้งในรูปแบบออนไลน์และออนไซต์ ตามสถานการณ์ ทั้งนี้ การอบรมจะเน้นให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อผู้เรียน สามารถนำไปใช้ในการประกอบอาชีพได้

ส่วน สช.มีการวางแผนช่วยเหลือโรงเรียนในแต่ละขนาด ทั้งเล็ก กลาง ใหญ่ รวมถึงเตรียมแนวทางช่วยเหลือโรงเรียนนอกระบบ ซึ่งในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาด ไม่สามารถเปิดเรียนได้ ล่าสุด คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบร่าง พ.ร.บ.กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ฉบับปรับปรุงใหม่ และเตรียมเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรในเดือนมกราคม

การปรับปรุงกฎหมายดังกล่าว จะทำให้ผู้เรียนทั้งในระบบและนอกระบบ ได้เข้าถึงโอกาสแหล่งเงินกู้ยืม กยศ. รวมถึงปลดภาระผู้ค้ำ เป็นเรื่องที่ก่อเกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาการศึกษา และการพัฒนาประเทศอย่างใหญ่หลวง เพราะเดิมผู้ที่เรียนในโรงเรียนนอกระบบ ไม่เคยได้รับสิทธิกู้ยืมเงิน กยศ.มาก่อน การปรับปรุงกฎหมายนี้จะทำให้ผู้ที่ต้องการมีอาชีพ มีช่องทางเงินกู้เงินเรียน เพื่อเข้าไปพัฒนาตัวเองในโรงเรียนนอกระบบ สร้างโอกาสการมีงานทำ สามารถดูแลครอบครัวได้อย่างดีในอนาคต

⦁สิ่งที่อยากเร่งผลักดันให้เห็นผลสำเร็จในปี 2565?

มีหลายเรื่อง เรื่องแรกคือ การผลักดันร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. … ให้ผ่านการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรทั้ง 3 วาระ เพื่อประกาศใช้เป็นกฎหมาย เพื่อประชาชนได้อย่างแท้จริง ไม่ว่าจะเป็นการศึกษาตลอดชีวิต การเรียนเพื่อพัฒนาตนเอง และการเรียนเพื่อคุณวุฒิ ซึ่งจะเกิดประโยชน์สูงสุด ขณะเดียวกัน วางเป้าหมายต่อยอดโครงการที่ดำเนินการในเรื่องการพัฒนาทางกาย จิตใจ และสมองของผู้สูงอายุ ให้ครบใน 4 มิติ คือ สุขภาพ เศรษฐกิจ สภาพแวดล้อม และสังคม เพราะประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมสูงอายุในอีก
ไม่ช้า ดังนั้น การดูแลผู้สูงอายุจึงเป็นเรื่องที่รัฐบาลและ ศธ.ให้ความสำคัญ กศน.จะทำเรื่องนี้ให้เกิดความร่วมมือกับการพัฒนาประเทศ

ขณะเดียวกันยังมีโครงการ กศน.ปักหมุด เพื่อสร้างโอกาสทางการศึกษาสำหรับคนพิการและผู้ด้อยโอกาส ให้เข้าถึงการศึกษา และได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ให้ประชาชนมีความสุข โดยจะปักหมุดบ้านคนพิการและผู้ด้อยโอกาส อายุ 18 ปีขึ้นไป จำนวน 12,649 คน ได้เข้าสู่ระบบการศึกษา มอบหมายให้ ครู กศน.ตำบลลงพื้นที่สำรวจความต้องการของผู้พิการและผู้ด้อยโอกาสทางการศึกษา และนำข้อมูลเข้าสู่ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ caper พร้อมปักหมุดทุกบ้าน โดยเริ่มดำเนินการนำร่องไปเมื่อวันที่
15 พฤศจิกายน 2564 ที่ จ.ระนอง และในช่วงระหว่างวันที่2 ธันวาคม 2564-7 มกราคม 2565 ดำเนินการต่อยอดขยายผลสู่ 18 จังหวัด ตามเขตตรวจราชการ 17 เขต ประกอบด้วย ชัยนาท ปทุมธานี กาญจนบุรี เพชรบุรี พัทลุง ปัตตานี ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี สระแก้ว อุดรธานี นครพนม ขอนแก่น นครราชสีมา ศรีสะเกษ ลำปาง พะเยา สุโขทัย และกำแพงเพชร

⦁จัดการศึกษาต้องพัฒนาไปในทิศทางใด เพื่อให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงระดับนานาชาติ?

ทั้งหมดที่พูดไปในเบื้องต้น สอดคล้องกับการจัดการศึกษา เพื่ออนาคต และระดับนานาชาติ สิ่งที่จะมุ่งเน้นต่อในอนาคต คือจะทำให้เอกชนเป็นศูนย์กลางการศึกษาในภูมิภาค (Education Hub) เพราะเท่าที่ดูการศึกษาเอกชนในแต่ละภูมิภาคของไทย มีความโดดเด่นที่ไม่เหมือนกัน อย่างโรงเรียนเอกชนนอกระบบที่ จ.ภูเก็ตและเชียงใหม่ ซึ่งสอนการทำอาหาร และสอนภาษาจำนวนมาก ดังนั้น จึงมีแนวคิดจะประสานกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ต่อยอดทำวีซ่าท่องเที่ยวและ Education ไปในคราวเดียวกัน ทำให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจเพิ่มมากขึ้น ถือเป็นการพัฒนาในระดับนานาชาติ คิดว่าจะทำให้ประเทศไทยเป็นที่สนใจ และเป็นการยกระดับมาตรฐานทางการศึกษาของไทย

ส่วน กศน.จะยกระดับการจัดการศึกษาตามโครงสร้างการบริหารที่กำลังจัดทำขึ้นใหม่ โดยคนไทยในอนาคตไม่ว่าจะอยู่ประเทศใด ก็เรียน กศน.หรือพัฒนาตนเองกับ กศน.ได้โดย กศน.จะจัดหลักสูตรให้พร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์โลก

⦁ฝากอะไรถึงนักเรียนและครู ซึ่ง 2 ปีที่ผ่านมาต้องปรับตัวค่อนข้างมากกับการเรียนการสอน?

ขอเป็นกำลังใจให้ครู ผู้บริหาร ทั้ง กศน.และโรงเรียนเอกชน ทั้งในระบบ และนอกระบบ รวมถึงเป็นกำลังใจให้นักเรียนและผู้ปกครองทุกคนที่มีความอดทน ในการพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง

อดทนต่อสู้และเรียนรู้กับสถานการณ์ใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image