สุชาติ ชมกลิ่น : เพิ่มศักยภาพแรงงาน รับมือ‘ยุคใหม่’

สุชาติ ชมกลิ่น : เพิ่มศักยภาพแรงงาน รับมือ‘ยุคใหม่’

สุชาติ ชมกลิ่น

เพิ่มศักยภาพแรงงาน รับมือ‘ยุคใหม่’

หมายเหตุนายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ถ่ายทอดแนวคิด การปฏิบัติต่อแรงงานไทยในการป้องกันโรคระบาด และการเพิ่มศักยภาพเพื่อรับกับโลกยุคใหม่

⦁ถ้าเปรียบระบบแรงงานไทยเป็นเครื่องยนต์ 1 ปีที่ผ่านมา โรคโควิด-19 ส่งผลกระทบอย่างไรบ้าง

Advertisement

กระทบ 2 ด้าน คือ กระทบต่อโครงสร้างตลาดแรงงานไทย และกระทบต่อการจ้างงาน

เมื่อปี 2563 ต้องยอมรับว่าตลาดแรงงานค่อนข้างได้รับผลกระทบ มีคนออกมากกว่าคนเข้า ประมาณ 5 แสนราย แต่ในปี 2564 สถานการณ์กลับมาเป็นบวก มีคนเข้ามากกว่าคนออกอยู่ 2 แสนราย

ทำไมถึงดีขึ้น เพราะในปี 2563 ทุกประเทศปิดตัวหมด ส่งออกไม่ได้ นักท่องเที่ยวก็ไม่เข้า รัฐบาลไม่ได้เยียวยาชัดเจน ทำให้เครื่องยนต์ 3 ใน 4 ตัว (เครื่องยนต์เศรษฐกิจ 4 ตัว คือ 1.ภาคการท่องเที่ยว 2.ภาคการส่งออก 3.การบริโภค และ 4.การลงทุน) ดับ แต่ปี 2564 เราเริ่มเรียนรู้และบูรณาการเศรษฐศาสตร์คู่กับสาธารณสุข คือ รักษาการส่งออกไว้ด้วยโครงการแฟคตอรี่ แซนด์บ็อกซ์ (Factory Sandbox) แล้วเราก็มีการเยียวยาเพื่อกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ และมีโครงการการรักษาการจ้างงานของกลุ่มเอสเอ็มอี ทำให้ภาพของการจ้างงานกลับมาเป็นบวกอีกครั้ง

Advertisement

ทีนี้เรามองอีกเรื่องหนึ่งคือ นักศึกษาจบใหม่ ใน 1 ปีจะมีนักศึกษาจบใหม่ประมาณ 5 แสนราย แต่ว่ามีประมาณร้อยละ 30ที่เขาไปเรียนต่ออยู่แล้วโดยปกติ ซึ่งแปลว่าคนที่ต้องการมีงานทำจริงเหลืออยู่ประมาณ 4 แสนราย ซึ่งในจำนวนนี้เข้าร่วมโครงการรัฐบาลที่จ้างงานเด็กจบใหม่ มีเด็กกว่าร้อยละ 20 เข้าโครงการนี้ และเข้าสู่การจ้างงานของเอกชนอีกกว่าร้อยละ 60 อีกร้อยละ 20 ประกอบอาชีพอิสระ หรือว่างงาน

⦁ในปี 2565 จะเป็นอย่างไรต่อ ต้องปรับเปลี่ยนเครื่องจักรใหม่หรือไม่

ปี 2564 สิ่งที่เราสามารถพยุงการจ้างงานได้ คือ เรามีมาตรการยา 3 เม็ด คือ
1.ลดเงินสมทบ หรือว่าลดภาระค่าครองชีพผู้ประกันตน และเหตุว่างงานสุดวิสัย ซึ่งเราพบว่ากว่าร้อยละ 85 เขาสามารถกลับไปทำงานได้ ถ้าไม่มีตรงนี้เราอาจจะเห็นคนว่างงาน 2-3 ล้านคน

2.นโยบายภาครัฐ ที่กระตุ้นการจ้างงานใหม่ เช่น จ๊อบ เอ็กซ์โป (Job Expo) หรือพวกมาตรการคนละครึ่ง หรือ ม33เรารักกัน ที่ช่วยกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ

3.แฟคตอรี่ แซนด์บ็อกซ์ ที่ถูกพูดถึงบ่อยในช่วงหลัง ในภาคของธุรกิจผู้ประกันตน 11 ล้านคน กว่าร้อยละ 30 อยู่ในภาคอุตสาหกรรมการผลิต ในช่วงของวิกฤตที่ทุกอย่างกำลังดาวน์ลงสิ่งที่ยังพอไปได้ คือ อุตสาหกรรมการผลิตซึ่งจะมีทั้งหมด 4 เซ็กเตอร์ คือ อาหาร ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ชิ้นส่วนยานยนต์ และเครื่องมือแพทย์ ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในภาคการผลิต โดยมีประชาชนที่อยู่ในกลุ่ม 4 เซ็กเตอร์นี้กว่า 2 ล้านคน เพราะฉะนั้น เราจะต้องทำอย่างไรก็ได้ให้เศรษฐกิจในภาคอุตสาหกรรมสามารถไปต่อได้

ปี 2565 หากสถานการณ์ยังมีความต่อเนื่องอยู่ เราก็จะหยิบนโยบายที่สามารถเกิดประโยชน์สูงสุดมาใช้งานต่อ เช่น ในเรื่องของการผลิต ก็จะเน้นย้ำในส่วนของด้านสาธารณสุข การฉีดวัคซีนป้องกันก็ต้องฉีดอย่างต่อเนื่อง เพราะว่ากลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่ออกมาทำงานทุกวัน ซึ่งปัจจุบันเปิดให้ลงทะเบียนฉีดบูสเตอร์โดส ซึ่งจะเริ่มฉีดกันในวันที่ 17 มกราคมนี้ ทั้งหมดนี้เพื่อรักษาระดับการจ้างงาน และให้เศรษฐกิจขับเคลื่อน
ต่อไปได้ในปี 2565

ในส่วนแผนของการรักษาการจ้างงานของกลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอีจะเสร็จสิ้นในเดือนมกราคม หากไม่มีอะไรผิดพลาดจะเกิดการจ้างงานมากขึ้นในปี 2565 แน่นอน ส่วนนักศึกษาจบใหม่จะมีในส่วนของจ๊อบ เอ็กซ์โป ที่จะโฟกัสในกลุ่มของนักศึกษาจบใหม่

⦁เมื่อยังต้องอยู่กับโควิด-19 ต่อไป ในปี 2565 มีแผนให้ระบบแรงงานไปต่อได้อย่างไร

ปี 2565 คาดว่าสถานการณ์แรงงานของประเทศไทยมีความซับซ้อนมากขึ้น ซึ่งประเทศมาถึงจุดที่ต้องมีการปรับโครงสร้างตลาดแรงงานอันเนื่องมาจากสาเหตุประการสำคัญๆ คือ

1.กระแสของโลกยุคดิจิทัล ซึ่งปัจจุบันถือได้ว่าเกิดการปฏิวัติทางเทคโนโลยีและดิจิทัล มีผลกระทบต่อตลาดแรงงาน คือ เทคโนโลยีรูปแบบใหม่ อาทิ AI/IoT/Hain/AR Blockchain และระบบดิจิทัลอัตโนมัติ ที่จะเข้ามาแทนคนงานบางกลุ่ม หรือทำงานร่วมกับมนุษย์ ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต/แรงงาน และงานบางประเภทหายไป เกิดงานรูปแบบใหม่ และต้องการทักษะแรงงานที่แตกต่างไปจากเดิม และรูปแบบการทำงานที่เปลี่ยนไป เช่น ทำงานที่ไหนก็ได้ หรือที่เรียกว่า “Work from anywhere”

2.การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในปีต่อๆ ไปจะเป็นปัจจัยเร่งการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการทำงานให้เร็วและชัดเจนขึ้น เช่น การ Work from home/Work from anywhere เกิดการทำงานรูปแบบใหม่ การทำงานหลากหลายอาชีพ การถูกเลิกจ้าง ทำให้เกิดการว่างงานจำนวนมาก และบางคนไม่ต้องการกลับไปทำงานในระบบอีก แรงงานบางกลุ่มต้องเปลี่ยนอาชีพ คนที่ไม่สามารถหางานทำ หรือทำงานได้เป็นเวลานานจะเกิดการสูญเสียศักยภาพ

อีกทั้งยังมีเรื่องอื่นๆ ที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของแรงงาน คือ โครงสร้างอุตสาหกรรม และรูปแบบของงานที่เปลี่ยนไปสู่กรีน จ๊อบ (green job) ที่คำนึงถึงความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม การเป็นสังคมสูงวัยของหลายประเทศทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทย มีแนวโน้มจำนวนคนวัยทำงาน (อายุ 15-60 ปี) ลดลง และแนวโน้มแรงงานสูงอายุเพิ่มขึ้น ซึ่งจะมีผลต่อผลิตภาพการผลิต และผลิตภาพแรงงาน ผู้หญิง และเยาวชน มีบทบาทต่อการเป็นกำลังแรงงานเพิ่มขึ้น การพึ่งพาแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้าน รูปแบบการผลิตและการค้า ที่การเปลี่ยนแปลงรูปแบบการผลิตและการค้าส่งผลต่อคุณสมบัติ/ทักษะของแรงงาน เพื่อให้สอดคล้องและตอบสนองต่อการผลิตและการค้า ทักษะหลัก (core skill) มีความจำเป็น เมื่อต้องเปลี่ยนอาชีพ หรืองานใหม่ ในช่วงที่ธุรกิจกำลังเปลี่ยนผ่านไปสู่รูปแบบใหม่ที่จะมีผลต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และการเปิดเสรีการค้า ทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายแรงงานได้ง่ายขึ้น

ดังนั้น การดำเนินการในปี 2565 จึงได้มอบหมายให้ทุกหน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงาน ร่วมมือกับหน่วยงานภายนอกที่เกี่ยวข้องดำเนินการโครงการ/กิจกรรม ที่สำคัญๆ ดังนี้

สำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน 1.ให้แรงงานจังหวัดเป็น CEO ในการขับเคลื่อนงานระดับจังหวัดในทุกมิติ 2.อาสาสมัครกระทรวงแรงงานและบัณฑิตแรงงานเป็นกลไกในการขับเคลื่อนภารกิจของกระทรวงแรงงาน ให้การทำงานมีเครือข่ายใยแมงมุม 3.ให้อัครราชทูตที่ปรึกษาฝ่ายแรงงานเปิดตลาดแรงงานไทยในต่างประเทศ เพื่อสร้างรายได้กลับประเทศไทย 4.ให้ดำเนินการเร่งผลักดัน พ.ร.บ.แรงงานอกระบบฯ ให้เร็วที่สุด

กรมการจัดหางาน 1.โครงการส่งเสริมและรักษาระดับการจ้างงานในธุรกิจเอสเอ็มอี 2.ให้ดำเนินการพัฒนาแพลตฟอร์ม ไทยมีงานทำ.com ให้ทันสมัย 3.บริหารจัดการแรงงานต่างด้าวอย่างเป็นระบบภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค
โควิด-19 4.การจัดงานจ๊อบ เอ็กซ์โป (Job Expo) เพื่อสร้างงาน สร้างอาชีพให้แก่ผู้ที่ต้องการทำงาน

กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน 1.การป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน การบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด รวมทั้งมิให้เจ้าหน้าที่เข้าไปเกี่ยวข้องโดยเด็ดขาด 2.ส่งเสริมแรงงานสัมพันธ์เชิงรุก

กรมพัฒนาฝีมือแรงงงาน 1.ทบทวนหลักสูตรอาชีพที่มีอยู่เดิมให้สอดคล้องกับเทรนด์ปัจจุบันและเหมาะสมกับบริบทในพื้นที่ 2.การปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานอย่างครบวงจร ตั้งแต่การฝึกอบรมจนถึงสอนการทำตลาด 3.ให้สถาบัน/สำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานจังหวัดกำหนดหลักสูตรจังหวัดละ 1 หลักสูตร 4.ขับเคลื่อนการดำเนินงานตามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ร่วมกับอาชีวศึกษา และสนับสนุนให้สถานศึกษา ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน จัดตั้งศูนย์ทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน 5.ร่วมกับสถาบันการศึกษาจัดทำหลักสูตรเพื่อผลิตกำลังแรงงานรองรับตลาดแรงงานในอนาคต ระยะ 1 ปี 3 ปี และ 5 ปี

สำนักงานประกันสังคม 1.แก้ไข พ.ร.บ.ประกันสังคมฯ ในส่วนของสิทธิประโยชน์กรณีชราภาพ “3 ขอ” ได้แก่ ขอเลือก ขอคืน และขอกู้ 2.ให้ผลักดันให้มีการจัดตั้งสถาบันการแพทย์เพื่อผู้ประกันตน รวมถึงการบริการทางการแพทย์แก่ผู้ประกันตน 3.การสร้างที่อยู่อาศัยให้กับผู้ประกันตนในราคาถูก เพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีและมั่นคง 4.ให้สร้าง/พัฒนา แอพพลิเคชั่นประกันสังคมร่วมกับร้านค้า เพื่อให้เป็นประโยชน์แก่ผู้ประกันตน 5.ให้ปรับปรุงกฎ ระเบียบ ให้มีความทันสมัย เพื่อให้สามารถช่วยเหลือประชาชนได้หากเกิดวิกฤตการณ์ต่างๆ

⦁วางไทม์ไลน์งานต่างๆ ให้เป็นไปตามเป้าหมายอย่างไร

ในระยะแรก เน้นการกระตุ้น ส่งเสริม รักษาการจ้างงาน และการขยายตลาดแรงงานในต่างประเทศ โดยให้อัครราชทูตที่ปรึกษาฝ่ายแรงงานทำการหาตลาดแรงงานในต่างประเทศแก่แรงงานไทยในต่างประเทศ เพื่อสร้างรายได้กลับประเทศไทย มีการเดินทางไปติดตามผลการดำเนินงานประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และจะต้องมีอัตราการว่างงานลดลง

จากข้อมูลการขึ้นทะเบียนผู้ประกันตนกรณีว่างงานที่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ มีจำนวนการบรรจุงานเพิ่มมากขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา สถานประกอบการโดยเฉพาะเอสเอ็มอีคงอยู่ ในระยะถัดมา จะเน้นการสร้างความยั่งยืนให้กับแรงงาน ทั้งด้านรายได้และสวัสดิการพัฒนาทักษะฝีมือที่สอดคล้องกับความต้องการและบริบทของพื้นที่/ตลาดแรงงาน เร่งรัด ปรับปรุง แก้ไข กฎหมายแรงงานให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน และรองรับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต

⦁ถ้าเดินตามแผนงานเหล่านี้จะได้เห็นภาพของระบบแรงงานในอนาคตอย่างไร

เมื่อเราทำตามแผนที่วางไว้จะเห็นภาพระบบแรงงานในอนาคต ดังนี้ กระทรวงแรงงานเป็นกระทรวงเศรษฐกิจแรงงาน เป็นภาคส่วนสำคัญต่อการส่งออกสินค้า นำเงินตราจากต่างประเทศเป็นรายได้เข้าสู่ประเทศ ทดแทนรายได้จากแหล่งท่องเที่ยว ซึ่งเป็นการสนับสนุนการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจ ตั้งแต่ระดับชุมชนจนถึงระดับประเทศ

ส่วนกำลังแรงงานได้รับการพัฒนาศักยภาพด้านดิจิทัล รองรับกับโครงสร้างตลาดแรงงานที่เปลี่ยนแปลงไป การเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจดิจิทัล มีการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการทำงานมากขึ้น มีการบูรณาการความร่วมมือกับทุกภาคส่วน จะส่งผลให้การผลิตกำลังแรงงานสอดรับกับความต้องการของตลาดแรงงาน รองรับการลงทุนจากต่างประเทศ เป็นการสร้างสมดุลตลาดแรงงาน และรองรับระบบการจ้างงานที่เน้นการจ้างแรงงานที่สามารถทำหน้าที่ได้หลายอย่าง หรือมัลติ สกิล (Multi Skill) ประชากรวัยแรงงานมีโอกาสเข้าถึงแหล่งงาน และมีทางเลือกในการสร้างรายได้เพิ่มขึ้น คนทำงานประจำจะมีโอกาสการสร้างรายได้เสริมจากการรับงานอิสระประเภทต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับสายงานหรือเป็นงานที่ถนัด เช่น ทำขนม ทำอาหารขายออนไลน์ หรือการขายสินค้าออนไลน์ เป็นต้น

ในมิติทางด้านสังคม แรงงานทุกกลุ่ม รวมถึงแรงงานนอกระบบ กลุ่มผู้สูงวัย และกลุ่มเปราะบาง จะเข้าถึงโอกาสในการเพิ่มความรู้ความสามารถให้สามารถทำงาน และได้รับการดูแลให้เข้าถึงสิทธิตามมาตรฐานแรงงานโลก และระบบการประกันสังคม และสุดท้าย รัฐบาลมีศูนย์กลางข้อมูลด้านทักษะแรงงานที่พร้อมนำไปประยุกต์ใช้ฝึกอบรม และพัฒนากำลังแรงงานให้ตรงกับความต้องการในตลาดได้อย่างแท้จริง

ในปี 2565 ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นเราก็สามารถที่จะตอบรับได้อย่างทันเวลา ยืนยันด้วยตัวเลขในปี 2564 ดีขึ้นกว่าปี 2563 ซึ่งมั่นใจว่ามันจะต้องดีขึ้นอีก ถ้าเราเดินเศรษฐศาสตร์คู่กับสาธารณสุข คาดว่าตัวเลขผู้ติดเชื้อ หรือความรุนแรงของสถานการณ์จะไม่รุนแรงเท่าในปี 2563 ขณะเดียวกัน เรามีการถอดบทเรียนจากปี 2564 มันน่าจะดีขึ้น!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image