สันติธาร เสถียรไทย : มอง ศก.โลก-ส่อง ศก.ไทย ถึงยุค The Great Rebalancing

สันติธาร เสถียรไทย : มอง ศก.โลก-ส่อง ศก.ไทย ถึงยุค The Great Rebalancing

สันติธาร เสถียรไทย

มอง ศก.โลก-ส่อง ศก.ไทย

ถึงยุค The Great Rebalancing

หมายเหตุ ดร.สันติธาร เสถียรไทย เป็นประธานทีมเศรษฐกิจและกรรมการผู้จัดการ บริษัท Sea limited (บริษัทแม่ การีนา ช้อปปี้ ซีมันนี่) ซึ่งติดตามความเคลื่อนไหวเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทย พร้อมกับ
มีข้อเสนอแนะดีๆ เกี่ยวกับเศรษฐกิจอยู่บ่อยๆ “มติชน” จึงขอสัมภาษณ์พิเศษเพื่อนำมุมมองมานำเสนอ

Advertisement

⦁มองสถานการณ์โลกขณะนี้ว่าจะมีผลกระทบหรือซ้ำเติมต่อโลกอย่างไร

ก่อนอื่น ขอมองย้อนหลังเพื่อมองไปข้างหน้า ปี 2564 คือ “ปีแห่งความไม่สมดุล” ครั้งยิ่งใหญ่ของเศรษฐกิจโลก (Imbalances) ที่อาจจะเรียกได้ว่ามาถึงขีดสุด โดยเฉพาะในสองด้าน

หนึ่ง เศรษฐกิจสองนคราระหว่างเศรษฐกิจพัฒนาแล้ว (Developed Markets-DM) ที่ฟื้นตัวได้ดีกว่าเศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่ (Emerging Markets-EM) มาก เพราะการเข้าถึงวัคซีนคุณภาพสูงทำให้เปิดเศรษฐกิจได้เร็วทั้งยังมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจมหาศาล โดยเฉพาะในสหรัฐที่เติบโตแซงก่อนโควิดไปเรียบร้อยแล้ว ในขณะที่เศรษฐกิจ EM ยังต้องต่อสู้กับโควิดมาเกือบปี ทั้งในอาเซียน อินเดีย และแม้แต่จีนที่ค่อนข้างปลอดภัยจากโควิดก็ชะลอตัวเพราะเจอปัญหาภายใน เช่น การปฏิรูปภาคอสังหาริมทรัพย์

Advertisement

สอง เศรษฐกิจสองนคราระหว่างภาคการผลิตสินค้าและภาคบริการ ในขณะที่ภาคบริการยังซบเซาจากการที่ภาคการท่องเที่ยวยังไม่ฟื้นและแม้แต่การออกไปกินข้าวที่ร้าน อาหาร ดูหนังฟังเพลง ยังไม่กลับไปเป็นปกติ ผู้บริโภคในอเมริกาและประเทศกลุ่ม DM ก็ทุ่มกำลังซื้อที่ฟื้นตัวไปกับการซื้อสินค้าจนการค้าสินค้าโลกนั้นได้เติบโตฟื้นตัวเลยจุดช่วงก่อนโควิดไปเรียบร้อยแล้ว

ดีมานด์ต่อสินค้าที่กระโดดขึ้นสูงในประเทศ DM ปี 2564 ช่วยฉุดตัวเลขส่งออกจากประเทศอย่างไทยให้เติบโตได้ดีแต่ในขณะเดียวกันก็ทำให้ปัญหาคอขวดด้านการผลิตและขนส่งที่เกิดจากดิสรัปชั่นของโควิดแย่ลงเมื่อโรงงานผลิตสินค้าไม่ทันและเรือขนส่งสินค้าดีเลย์กันอย่างรุนแรง ปรากฏการณ์นี้ผลักดันให้สินค้าจำนวนมาก (เช่น ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์) ขาดตลาด ราคาสินค้าโภคภัณฑ์พุ่งสูงขึ้น เป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้เงินเฟ้อสูงขึ้นทั่วโลก โดยในอเมริกาตัวเลขนี้สูงที่สุดในรอบกว่า 30 ปี

ความไม่สมดุลที่ว่า ไปต่อไม่ได้ในระยะยาว ปี 2565 จึงต้องเป็นปีที่เศรษฐกิจโลกจะปรับสมดุลครั้งใหญ่ หรืออาจเรียกว่า “The Great Rebalancing”

กลุ่มประเทศ EM เริ่มได้ฉีดยากันมากขึ้นและติดเชื้อกันไปมากแล้วเริ่มมีภูมิคุ้มกันจนเปิดประเทศได้ การเดินทางในประเทศและเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวตามรอยประเทศ DM ขณะเดียวกันผู้เชี่ยวชาญด้านซัพพลายเชนส่วนใหญ่คาดว่าดิสรัปชั่นต่างๆ ในการผลิตและขนส่งน่าจะดีขึ้นภายในกลางปี 2565 แรงงานที่เคยขาดแคลนเพราะคนไม่หางานในสหรัฐน่าจะกลับมาทำงานมากขึ้น

นอกจากนี้ อเมริกาเริ่มปล่อยคันเร่ง แตะเบรก ลดการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเฉพาะด้านการเงิน (เช่น ลด QE)ทำให้ดีมานด์ของคนในประเทศที่แย่งกันซื้อสินค้าน่าจะแผ่วลง ทั้งหมดเลยน่าจะลดความแรงของเงินเฟ้อในโลกลงบ้างในปี 2565 แม้จะยังมีปัจจัยอื่นผลักเงินเฟ้อขึ้นไม่ให้กลับมาต่ำเหมือนช่วงโควิดแล้วก็ตาม

ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่กำลังค่อยๆ เกิด แต่…เชื้อโอมิครอนคือความเสี่ยงใหม่ที่กำลังทำให้กระบวนการ Great Balancing อาจเสี่ยงถูกดิสรัปต์และเกิดได้ช้าลง ซึ่งแปลว่า …

ข้อแรก การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโดนดิสรัปต์ ประเทศต่างๆ จะเปิดการท่องเที่ยวระหว่างประเทศได้ช้าลง แม้แต่การเดินทางในประเทศเองก็อาจต้องแตะเบรก แม้ไม่น่ารุนแรงเท่าในปี 2564 แต่ก็ทำให้เศรษฐกิจที่กำลังเริ่มฟื้นตัวเสียโมเมนตัม ในขณะเดียวกันการส่งออกที่เคยเป็นพระเอกก็จะไม่ฟื้นตัวดีเท่าในปี 2564 เพราะประเทศ DM ยังปล่อยคันเร่งแล้วเพราะเงินเฟ้อมาแรง

ข้อสอง เงินเฟ้อโลกสูงนานขึ้น การแพร่เชื้อรอบใหม่อาจยืดให้ดิสรัปชั่นต่อการผลิตและขนส่งนานขึ้น โรงงาน ท่าเรือสำคัญๆ ในโลกอาจถูกกระทบหากมีการระบาดเป็นช่วงๆ ซึ่งกระทบไปทั้งซัพพลายเชน คนงานยังไม่กล้ากลับมาทำงานทำให้ขาดคน ค่าแรงขึ้นสูง ทั้งหมดดันเงินเฟ้อในประเทศอย่างสหรัฐสูงขึ้น เช่นปี 2564 เพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 30 ปี และเมื่อเงินเฟ้อยังดื้อธนาคารกลางสหรัฐก็ยังจะค่อยๆ ลดคันเร่งต่อ ถอน QE เตรียมขึ้นดอกเบี้ยปี 2565

ปี 2565 จะเริ่มเห็นเศรษฐกิจเพื่อนบ้านในเอเชียหลายแห่งเริ่มขึ้นดอกเบี้ยตามอเมริกาแต่ประเทศไทยน่าจะยังไม่ไปทางนั้น

พูดโดยรวม คือ โอมิครอนทำให้ความกังวลเรื่อง Stagflation มีมากขึ้น โดยเฉพาะในหมู่นักลงทุน ทำให้กระทบตลาดการเงินทั่วโลกอย่างที่เห็น

ทั้งหมดนี้ขึ้นอยู่กับว่าโอมิครอนรุนแรงแค่ไหน ซึ่งเป็นสิ่งที่เรายังไม่รู้ หากเชื้อนี้ไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด หรืออาการเบาลงไปกว่าเดลต้ามาก การ Rebalance เศรษฐกิจโลกก็จะไม่โดนดีเลย์มากนัก แต่ต้องขอย้ำว่าประมาทไม่ได้เลยเพราะถ้าอาการเบากว่าเดลต้าแค่นิดหน่อย
แต่แพร่ได้เร็วและหลบวัคซีนได้มากกว่าผลกระทบต่อระบบสาธารณสุขก็จะยังรุนแรง และทำให้เกิดการล็อกดาวน์ใหม่ได้ง่ายแบบที่ได้เห็นในยุโรป

⦁ผลกระทบต่อเครื่องยนต์ขับเคลื่อนประเทศไทย และเศรษฐกิจไทย

ที่ต้องเล่าสภาวะเศรษฐกิจโลกยาวเพราะประเทศไทยเป็นผู้ขยับตามคลื่นเศรษฐกิจโลกอย่างแท้จริง เศรษฐกิจไทยปี 2565 จะไปได้ไกลเท่าที่การท่องเที่ยวจะให้เราไป กล่าวคือ หากเชื้อใหม่ไม่รุนแรงและเราคุมการระบาดได้ดี ประเทศไทยสามารถทยอยเปิดการท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศได้แค่ไหน เศรษฐกิจก็จะฟื้นได้เท่านั้น เพราะนี่คือประมาณ 20% ของเครื่องยนต์จีดีพีที่ยังไม่ได้กลับมา

นั่นแปลว่า ประเทศไทยต้องมีมาตรการรับความเสี่ยง คือมีทั้งวัคซีน-การรักษา-testing-tracing ที่พร้อมและเพียงพอเผื่อไว้หากมีระบาดอีกครั้ง จะได้ไม่ต้องกลับไปปิดการเดินทางเต็มรูปแบบอีก

การส่งออกได้ช่วยเต็มที่แล้วในปีนี้และมีแนวโน้มจะชะลอตามเศรษฐกิจโลก การลงทุนจะถูกกระทบจากสถานการณ์ด้านการเมือง ส่วนการบริโภคในประเทศจะถูกฉุดจากค่าครองชีพที่แพงขึ้น โดยเฉพาะค่าน้ำมัน ไม่ใช่แค่จีดีพีเท่านั้นที่ขึ้นอยู่กับการท่องเที่ยว แม้แต่ค่าเงินบาทก็เช่นกัน หากการท่องเที่ยวต่างประเทศฟื้นตัวได้ดีเงินบาทก็กระดอนกลับมาแข็งขึ้นได้ หรืออย่างน้อยก็จะแข็งกว่าเพื่อนบ้าน

⦁โจทย์ที่ประเทศไทยปี 2565 ต้องรับมือ และมีโอกาสที่จีดีพีไทยจะโต 3.5-4.0% ตามรัฐบาลคาดไหม

ตัวเลขจีดีพีปี 2565 อาจขึ้นกับหลายปัจจัยที่ประเทศไทยคุมได้ไม่มากนัก แต่ที่สำคัญคือโจทย์ของเศรษฐกิจไทยปี 2565 ต้องดูให้ลึกกว่าตัวเลขจีดีพี

ประเทศมี “3 แผล” ที่ต้องให้ความสำคัญ

หนึ่ง แผลจากการท่องเที่ยว โจทย์ไม่ได้มีแค่ว่าปี 2565 ฟื้นตัวได้แค่ไหน (ถึงแม้ไม่มีโอมิครอน) แต่ยังต้องเผชิญความเป็นจริงที่การท่องเที่ยวอาจเปลี่ยนแปลงถาวร เมื่อประเทศไทยอยากจะขยับออกจากการท่องเที่ยวแบบแมสปีละ 40 ล้านคน มาเป็น “เชิงคุณภาพ” มากขึ้น เช่น ท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ เป็นต้น โจทย์ใหญ่คือจะทำอย่างไรกับโครงสร้างและแรงงานที่เติบโตมากับการท่องเที่ยวรูปแบบเก่า เราจะต้อง Reskill คนเป็นจำนวนมากให้มีทักษะใหม่ เช่น พนักงานที่มีความรู้ด้านสุขภาพ ผู้ช่วยพยาบาล พยาบาล ฯลฯ อีกด้านหนึ่งเราต้องหาทางนำเข้าผู้เชี่ยวชาญและบุคลากร เช่น แพทย์ พยาบาล ที่ขาดแคลนอยู่แล้วในสังคมสูงอายุให้เพียงพอต่อดีมานด์จากต่างประเทศ

นี่แค่ตัวอย่างเดียวเท่านั้น

สอง แผลจากหนี้ หนี้ครัวเรือนที่สูงเกือบ 90% ของจีดีพีนั้นสูงมาก เทียบกับประเทศอื่นๆ แม้แต่ในเศรษฐกิจพัฒนาแล้วที่มักมีหนี้สูง หลายคนมองว่านี่มาจากการใช้จ่ายเกินตัวเพราะฟุ่มเฟือย ซึ่งอาจมีส่วนแต่ปัญหาที่สำคัญจริงๆ คือการที่รายได้ไม่พอและลดลงเพราะสภาวะเศรษฐกิจ หลายคนจำเป็นต้องกู้เพื่อให้อยู่รอด เมื่อไม่มีตาข่ายรองรับทางสังคมที่ดีพอ (กว่าครึ่งแรงงานไม่ได้อยู่ในประกันสังคม) นอกจากนี้ ปัญหาหนี้ยังแปลว่าแม้วันที่จีดีพีกลับมาโตได้แล้ว รายได้ส่วนหนึ่งจะต้องไปจ่ายหนี้ก่อนจะมีเงินไปเลี้ยงดูครอบครัว

สาม แผลจากความเหลื่อมล้ำ เรื่องนี้มีหลายมิติ แต่ขอเน้นสองประเด็น ด้านหนึ่งโยงกับปัญหาหนี้ คือความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงสินเชื่อและบริการทางการเงิน หนี้ครัวเรือนมีการกระจุกตัวสูงโดยในช่วงก่อน
โควิด 60% ของสินเชื่อไปอยู่ที่ลูกหนี้รายใหญ่ top 10% SME ส่วนใหญ่ยังเข้าไม่ถึงแหล่งการเงินและคนจำนวนมากต้องพึ่งสินเชื่อนอกระบบ ซึ่งเข้าใจว่ามีการประเมินมูลค่ารวมถึง 1 ล้านล้านบาท หรือพูดง่ายๆ คือบางคนอาจมีบัตรเครดิตหลายใบในขณะเดียวกันที่คนหลายกลุ่มขอสินเชื่อไม่ได้ยามจำเป็นที่สุด เพราะขาดหลักประกัน ไร้รายได้ประจำ และครัวเรือนที่พบปัญหาเหล่านี้
มักมีฐานะยากจน และอาจไม่ได้เข้าถึงสวัสดิการต่างๆ เพียงพออยู่แล้ว

จึงนำมาซึ่งสิ่งที่ต้องระวังมากที่สุดคือ การที่ครัวเรือนจำนวนมากอาจต้องเอาเด็กออกจากระบบการศึกษา ประมาณการว่าเด็กที่เสี่ยงจะหลุดจากระบบการศึกษาช่วงอนุบาล-ม.ปลาย มีประมาณ 7 แสนคน หากเราเก็บรักษาเด็กไว้ในระบบการศึกษาไม่ได้ ความเหลื่อมล้ำด้านโอกาสวันนี้จะสร้างความเหลื่อมล้ำในวันหน้า เด็กอาจเติบโตไปเป็นคนรายได้น้อยเพียงเพราะเขาเกิดมาในครอบครัวที่รายได้น้อย

ตัวเลขจีดีพีในปี 2565 อาจไม่สะท้อนสภาพของ 3 แผลนี้ ดังนั้น ประเทศไทยต้องให้ความสำคัญและตามประเมิน 3 ประเด็นนี้อย่างใกล้ชิด

⦁ทิศทางลม ประเทศไทยจากนี้ระยะ 2-3 ปี ไทยจะอยู่อย่างไร

ผมไม่อยากให้มองเป็นลบไปหมด เพราะในวิกฤตก็เป็นโอกาสในการเปลี่ยนแปลงเพื่อก้าวกระโดด การจะทำเช่นนั้นได้นอกจากจะรู้ถึง 3 แผลแล้วต้องเข้าใจการมาถึงของ 3 “กระแสลมโลก” ที่สำคัญสำหรับประเทศไทยด้วย
1.การมาถึงของยุคเศรษฐกิจดิจิทัล ใน 2 ปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจดิจิทัลเติบโตอย่างก้าวกระโดดทั่วโลก โดยเฉพาะในอาเซียนมีบริษัทสตาร์ตอัพระดับยูนิคอร์น (มูลค่าเกิน 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) เพิ่มขึ้นจาก 12 ตัว
เป็นกว่า 23 ตัว ในประเทศไทยเองมียูนิคอร์นเพิ่มขึ้นจาก 0 เป็น 2-3 ตัว แล้วแต่จะนับ

ทั้งหมดนี้สะท้อนถึงการที่คนเข้าถึงบริการต่างๆ จากเศรษฐกิจดิจิทัลมากขึ้นตั้งแต่โซเชียลมีเดีย อีคอมเมิร์ซ อีเพย์เมนต์ การส่งอาหาร ไปถึงการศึกษาเรียนรู้(Edtech) และสาธารณสุข (Healthtech) ฯลฯ และที่สำคัญคือแต่ละอุตสาหกรรมมีการเสริมกันและกันทำให้ “ระบบนิเวศ” ของเศรษฐกิจดิจิทัลก้าวกระโดดกว่าที่คาด

รายงานของ Google-Temasek-Bain ประเมินว่าในปีครึ่งที่ผ่านมาคนไทยใช้แพลตฟอร์มดิจิทัลมากขึ้น 9 ล้านคน โดย 67% อาศัยอยู่นอกหัวเมืองหลักแสดงถึงฐาน user ที่กว้างและทั่วถึงขึ้น และเศรษฐกิจดิจิทัลในประเทศไทยจะเติบโตเกือบ 2 เท่าไปถึง 6 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ (เกือบ 2 ล้านล้านบาท) ในปี 2568 จาก 3 หมื่นล้านดอลลาร์ในปีนี้

2.การมาถึงของยุคเศรษฐกิจบนฐานความรับผิดชอบที่มีทั้งมิติสิ่งแวดล้อม สังคมและธรรมาภิบาล หรือ ESG (Environmental Social Governance) โดยกระแสนี้ถูกขับเคลื่อนจาก 3 ปัจจัยสำคัญ ทั้งผู้บริโภครุ่นใหม่ที่ให้ความสำคัญเรื่อง ESG มากขึ้น ทั้งการตื่นตัวของภาครัฐที่ประกาศเป้าหมายการลดคาร์บอนออกมาชัดเจนขึ้น และที่สำคัญคือฝั่งนักลงทุนทั่วโลกที่กดดันให้บริษัทต่างๆ ต้องมีมาตรฐาน ESG ที่ดีขึ้นเป็นเงื่อนไขในการได้เงินลงทุน

ประเทศและบริษัทที่ปรับเข้าสู่บรรทัดฐานใหม่ได้เร็วกว่าอาจได้เปรียบที่จะดึงดูด “เงินทุนสีเขียว” จากทั่วโลก โดยเฉพาะอุตสาหกรรมหลักของไทย เช่น ยานยนต์ (รถไฟฟ้า) พลังงาน (พลังงานทางเลือก) ท่องเที่ยว (อีโคทัวริซึม) อาหาร ฯลฯ

เท่าที่ผมเห็นทาง ก.ล.ต. ธปท.และกระทรวงการคลังของไทยก็ค่อนข้างตื่นตัวและเริ่มสนับสนุนมาตรฐานการเงินเพื่อ ESG มากขึ้นอย่างชัดเจน ซึ่งเป็นทิศทางที่ดี แต่ยังมีอีกหลายด้านที่ประเทศไทยอาจต้องระวังการตกขบวน เช่น ในขณะที่บริษัทใหญ่อาจพอใช้โอกาสจากเศรษฐกิจสีเขียวได้ SME ส่วนใหญ่อาจปรับตัวต่อมาตรฐานใหม่ไม่ทันอาจทำให้ถูกกีดกันจากตลาดสำคัญ เช่น ยุโรป หรือยังขาดความสามารถในการเข้าถึงเงินทุน เป็นต้น

3.การมาถึงของเศรษฐกิจเอเชีย ที่ยังเดินหน้าต่อแม้หลายประเทศจะถูกฉุดจากวิกฤตโควิดอย่างรุนแรง ทั้งการเปลี่ยนแปลงของกระแสลมโลกในข้อ 1 และข้อ 2 กำลังเกิดขึ้นในบริบทที่เอเชียมีน้ำหนักในเศรษฐกิจโลกมากขึ้นและไม่ใช่แค่เฉพาะจีนเท่านั้น

ยกตัวอย่างภูมิภาคอาเซียนมีบทบาทสำคัญในตลาดโลกทั้ง 2 ธีมที่เพิ่งพูดถึง ด้านเศรษฐกิจดิจิทัล ประเทศในอาเซียนผงาดขึ้นมาเป็นที่รู้จักและเนื้อหอมดึงดูดการลงทุนจากทั่วโลก โดยเฉพาะในยุคที่นักลงทุนอยากกระจายความเสี่ยงออกจากจีนมากขึ้น

อย่างที่อธิบายไปแล้ว ในด้านเศรษฐกิจสีเขียว อาเซียนเป็นทั้งภูมิภาคที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนมากแต่ก็มีระบบนิเวศธรรมชาติที่กักเก็บคาร์บอนได้ ทั้งแบบ “Green” และ “Blue” carbon

การชิงกันเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจระหว่างจีน อเมริกา และประเทศยักษ์ใหญ่อื่นทำให้ต่างก็แย่งกันสร้างพันธมิตรผ่านกรอบความร่วมมือใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นผ่านการค้า (เช่น CPTPP RCEP) เทคโนโลยี-เศรษฐกิจดิจิทัล (เช่น Digital Economy Partnership Agreement ที่สิงคโปร์เป็นหัวหอก) หรือการลงทุน (เช่น หนึ่งแถบหนึ่งทางของจีน และ Build Back Better World ที่อเมริกานำ)

ศึกชิงบารมีของยักษ์ใหญ่นี้ไม่ได้จำเป็นต้องเป็นลบสำหรับประเทศไทยเสมอไปหากเราตามเกมทันและรู้จักจับมือกับประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะในอาเซียนในการเจรจากับมหาอำนาจ เพื่อให้ได้ดีลที่ดีที่สุดสำหรับไทย

ที่สำคัญคือประเทศไทยอยู่ในจุดยุทธศาสตร์ที่ดีทางภูมิศาสตร์อยู่แล้ว แต่จะเอาแต่กินบุญเก่าไม่ได้ ต้องหาจุดแข็งและจุดดึงดูดใหม่ๆ ที่เชื่อมโยงกับกระแสโลกด้วย

⦁บทบาทของเทคโนโลยีและสินทรัพย์ดิจิทัลในปี 2565

ผมได้พูดในเรื่องโอกาสทางเศรษฐกิจดิจิทัลโดยรวมไปแล้ว แต่อยากจะเน้นอีกประเด็นที่คนมักมองข้าม คือ การวัดความสำเร็จของเศรษฐกิจดิจิทัลที่รวมไปถึงภาคฟินเทคและสินทรัพย์ดิจิทัลด้วย แม้ผมจะคิดว่าการสร้างบริษัทเทคโนโลยีระดับยูนิคอร์นและใหญ่กว่านั้นเป็นสิ่งสำคัญมาก แต่ก็มองว่าเราไม่ควรโฟกัสแต่ประเด็นนั้นอย่างเดียว และไม่ควรเป็น “ไม้บรรทัด” อันเดียวที่ใช้ในการวัดความสำเร็จ

โดยส่วนตัวผมมองว่า โจทย์สำคัญคือการนำแพลตฟอร์มดิจิทัลมาช่วยให้คนและธุรกิจ SME ที่อาจจะขาดโอกาสสามารถเข้าถึงบริการต่างๆ ที่มีคุณภาพได้ (Digital Inclusion) ไม่ว่าจะเป็นบริการการเงิน การตลาด การเดินทาง การเรียนรู้ ฯลฯ หรือพูดได้ว่าผมมองเศรษฐกิจดิจิทัลเป็น “กองกลาง” ที่คอยเสริมสร้างproductivity ให้ภาคเศรษฐกิจอื่นๆ มากกว่าเป็น “กองหน้า” คอยยิงประตูอย่างเดียว

ใน 2 ปีที่ผ่านมา เราได้เห็นตัวอย่างการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลมาสร้างโอกาสให้ SME มากมาย เช่น รายงานของ Sea กับ World Economic Forum พบว่า SME ในประเทศไทย กว่า 90% มองว่าการเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัลเป็นสิ่งจำเป็นต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจและธุรกิจ โดย SME ที่มีช่องทางออนไลน์สามารถปรับตัวในช่วงวิกฤตโควิดได้ดีกว่ากลุ่มที่ไม่มีอย่างชัดเจนและยังค้นพบธุรกิจและตลาดใหม่ๆ ได้อีกด้วย ส่วนบทสำรวจของ Google ที่กล่าวถึงไปแล้วก็พบว่า 1 ใน 3 ของธุรกิจที่ขายของออนไลน์ตอบว่าหากไม่มีแพลตฟอร์มดิจิทัลธุรกิจเขาอาจไม่รอด

แต่ขณะเดียวกันก็ยังมีคนและธุรกิจจำนวนมากที่เข้าไม่ถึงช่องทางดิจิทัลเหล่านี้ ทำให้เสี่ยงจะเกิดเป็น Digital Divide หรือความเหลื่อมล้ำที่เกิดจากดิจิทัล ซึ่งไม่ได้มาจากปัญหาเรื่องเทคโนโลยีเอง แต่มาจากการขาดการบริหารจัดการ

รายงานของ Sea ชี้ให้เห็นชัดว่าอุปสรรคใหญ่ที่สุดของการเข้าถึงดิจิทัลของคนไทยเป็นเรื่องปัจจัยพื้นฐานมากๆ คือ เรื่องสัญญาณอินเตอร์เน็ตไม่ดีพอหรือค่าบริการแพงเกินไป และการขาดอุปกรณ์ เช่น คอมพิวเตอร์ แท็บเล็ต และสมาร์ทโฟน และอีกประเด็นคือการขาดทักษะด้านดิจิทัล หรือ Digital Literacy ทำให้ไม่สามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีได้เต็มที่ เพราะการสอนและเรียนออนไลน์ให้ได้ผลมันไม่ใช่แค่เอาห้องเรียนไปวางใน Zoom และการขายของออนไลน์มันไม่ใช่แค่เปิดเว็บไซต์ แต่ต้องมีทักษะความเชี่ยวชาญอื่นๆ ประกอบด้วย เรื่องการเงินและสินทรัพย์ดิจิทัล

ผมขอใช้เลนส์เรื่องการเข้าถึงบริการมาตอบคำถามด้านการเงินและสินทรัพย์ดิจิทัลเช่นกัน

ตอนนี้คนจะให้ความสำคัญกับเทรนด์ใหม่ๆ

– ด้านการเงินที่กำลังมาแรงเช่น Virtual Banking, Defi, NFT หรือแม้แต่ CBDC (Central Bank Digital Currency) และการที่ทั้งสถาบันการเงินใหม่ เก่า เข้ามาลุยวงการเหล่านี้ แต่สุดท้ายทั้งหมดก็คือ “เครื่องมือ” ที่จะมีอนาคตได้ก็ต่อเมื่อต้อง “ตอบโจทย์บริการทางการเงิน” ของคนและธุรกิจให้ได้ ยกตัวอย่างโจทย์สำคัญทางการเงิน เช่น

– ด้านเพย์เมนต์ เมื่อคนใช้ชีวิตออนไลน์มากขึ้นต้องการใช้จ่ายแบบไม่ใช้เงินสดมากขึ้น ต้องการการชำระเงินที่ง่าย เกิดขึ้นทันที ต้นทุนต่ำมากและใช้ได้แพร่หลาย เครื่องมือใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็น cryptocurrency หรือบาท CBDC ที่ ธปท.จะออกใช้ปีหน้ามาตอบโจทย์ที่ว่านี้ได้ดีแค่ไหน?

– ด้านการกู้เงิน-ระดมทุน ปัจจุบันเราพอเห็นตัวอย่างบ้างแล้วว่าการใช้ข้อมูลจากโลกดิจิทัลสามารถช่วยให้ประเมินความน่าเชื่อถือและความสามารถในการจ่ายเงินคืนของคน-SME ได้ดีทำให้ลูกหนี้คุณภาพดีจำนวนมากที่อาจจะขาดหลักประกันเข้าถึงสินเชื่อได้ แต่ต่อไปเราจะสเกลบริการแบบนี้ให้ใหญ่ขึ้นได้ไหม ในประเทศเพื่อนบ้านมีการออกใบอนุญาตธนาคารดิจิทัล (Virtual/Digital banking license) ให้มีผู้เล่นหน้าใหม่ๆ เข้ามาเพื่อเร่งการพัฒนาด้านนี้ ก็ต้องดูแนวทางการพัฒนาของไทยต่อไป

– ด้านการลงทุน ในสองปีที่ผ่านมานักลงทุนเริ่มมีทางเลือกมากขึ้นในการลงทุน ไม่ว่าจะเป็นในเงินคริปโทฯที่สามารถลงได้ทั้งทางตรงและผ่านกองทุนที่เริ่มลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลเช่นกัน หรือเข้าไปร่วมใน Defi Protocol ต่างๆ หรือลงทุนใน NFT ที่เป็นของสะสม ศิลปะและของหายาก เป็นต้น

แต่ต่อไปจะยั่งยืนแค่ไหนคงต้องดูว่า 1.การลงทุนในสินทรัพย์เหล่านั้นต่อไปจะเปิดกว้างให้คนทั่วๆ ไปที่ไม่ค่อยรู้จักวงการคริปโทฯเข้าไปลงทุนได้อย่างง่ายและปลอดภัยแค่ไหน 2.มีกฎกติกาที่ป้องกันความเสี่ยงต่างๆ ต่อนักลงทุนโดยเฉพาะรายย่อย เช่น การปั่นตลาด insider trading การต้มตุ๋น ฯลฯ

และ 3.ที่สำคัญปีหน้าที่ดอกเบี้ยโลกจะเป็นขาขึ้น จะเป็นบททดสอบสำคัญว่าสินทรัพย์เหล่านี้จะคงมูลค่าไว้ได้ไหม จะเป็นสินทรัพย์ทางเลือกได้แค่ไหน

นี่เป็นแค่บางตัวอย่างเท่านั้น

ผมเชื่อว่าเทคโนโลยีใหม่ๆ เหล่านี้จะมีบทบาทมากขึ้นในวงการการเงิน และผู้ให้บริการการเงินน่าจะมีความหลากหลายมากขึ้น มีผู้เล่นหน้าใหม่ มีความร่วมมือใหม่ๆ มีท่าเล่นใหม่ๆ แต่โมเดลที่เห็นอยู่ในปัจจุบันอาจยังไม่ใช่คำตอบสุดท้าย เพราะวงการเหล่านี้ยังอ่อนวัยมาก บวกกับมีกระแส hype เห่อเทคโนโลยีใหม่ๆผสมทำให้มีทั้ง
ตัวจริงตัวปลอมอยู่ในวงการ

โจทย์ที่ท้าทายของผู้วางนโยบายคือการหาจุดสมดุลระหว่างการเปิดให้มีนวัตกรรมและบริการใหม่ๆ ที่คนเข้าถึงได้มากขึ้นในขณะที่ตีกรอบกติกาป้องกันการเอาเปรียบผู้บริโภค-นักลงทุนพร้อมกับคุมความเสี่ยงเรื่องเสถียรภาพการเงิน (Inclusion without instability)

⦁ข้อเสนอแนะต่างๆ

ผมว่าประเด็นสำคัญด้านนโยบายอาจไม่ใช่แค่ “ปัญหาคืออะไร” และต้อง “ทำอะไร” แต่สิ่งที่สำคัญที่อาจต้องรีฟอร์มด่วนคือเรื่องของ Mindset ว่าจะทำนโยบายต่างๆ “อย่างไร” และด้วยกระบวนการแบบไหน

ก่อนหน้านี้ ผมเขียนบทความเรื่อง 4 เชื่อมโยง ขอสรุปสั้นๆ ตรงนี้ คือ

เราต้อง “เชื่อมกับอนาคต” “อย่ามัวแต่รบสงครามของเมื่อวานจนแพ้ศึกของวันพรุ่งนี้” เพราะในโลกที่เปลี่ยนแปลงเร็วจะมีคลื่นแรงๆ มาใหม่เสมอ หากเราไม่เห็นคลื่นนี้มาแต่ไกลก็จะพลาดโอกาสจมใต้คลื่น ดังนั้นคน/องค์กร/ประเทศที่อ่าน “ทิศทางลม” ได้ดีจะได้เปรียบ

แต่การจะอ่านทางลมได้ดีต้องเชื่อมกับอีก 3 ข้อคือ

“เชื่อมกับโลก” เพราะประเทศไทยไม่ใช่ศูนย์กลางของโลก (ส่วนใหญ่) ไม่ใช่คน set trend การจะชนะใครได้ไม่ตกขบวนต้องเริ่มจากเข้าใจว่าเราต้องพึ่งโลกมากกว่าโลกต้องพึ่งเรา

“เชื่อมกับข้อมูล” เพราะแม้ยุทธศาสตร์ที่ดีที่สุดก็ผิดได้ในโลกที่เปลี่ยนแปลงเร็ว การตามเก็บข้อมูลประเมินผลต่อเนื่อง (Data driven policy) ประกอบการทดลองผิดลองถูกจึงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

“เชื่อมกับคน” เพื่อฟังเสียงคนให้ครบทุกทางแม้เสียงที่เราไม่ชอบ เพราะเสียงคนไม่ใช่แค่คำบ่นที่น่ารำคาญแต่เป็นข้อมูลสำคัญที่ช่วยวัดชีพจรว่าเรากำลังไปถูกทางไหม เสียงของคนรุ่นใหม่ยิ่งมีความสำคัญเพราะเขาคือคนที่จะต้องอยู่กับอนาคตที่เรากำลังเป็นวาด มากกว่าตัวคนวาดภาพเองเสียอีก

ผมเชื่อว่าการเชื่อมทั้ง 4 มิตินี้น่าจะสำคัญทั้งในระดับองค์กรทั้งรัฐและเอกชน เพื่อรับมือเศรษฐกิจที่กำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านและปรับสมดุลครั้งสำคัญในปี 2565

สุดท้ายขอกราบสวัสดีปีใหม่ผู้อ่านทุกท่านด้วยครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image