เปิดแผนพัฒนาอุตสาหกรรม ปลุกศักยภาพใหม่ไทยแลนด์

หมายเหตุ – “มติชน” สัมภาษณ์พิเศษ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานเปิดงานสัมมนา “สู่ศักยภาพใหม่ : Thailand 2022” วันที่ 31 มกราคม 2565 เวลา 09.00-12.00 น. บริเวณห้องโถงชั้น G อาคารสำนักงานใหญ่ บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) สามารถรับฟังในรูปแบบไลฟ์สตรีมมิ่ง ผ่านสื่อออนไลน์ในเครือมติชน ทั้ง Facebook มติชนออนไลน์, ประชาชาติธุรกิจ, ข่าวสด และ YouTube มติชนทีวี รวมถึงช่องทาง Line มติชน, ข่าวสด

•ฉายภาพเศรษฐกิจไทย และบทบาทของกระทรวงอุตสาหกรรมต่อการขับเคลื่อนศักยภาพประเทศ

จากการคาดการณ์ภาวะเศรษฐกิจของหลายสํานักชี้ไปในทิศทางเดียวกันว่า เศรษฐกิจไทยเริ่มมีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้นเป็นลําดับ โดยจากข้อมูลของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ คาดว่าแนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2565 จะขยายตัวในช่วง 3.5-4.5% โดยมีปัจจัยสนับสนุน อาทิ การฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศและภาคการผลิตตามสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ที่มีแนวโน้มคลี่คลายลง และความคืบหน้าของการกระจายวัคซีน การฟื้นตัวอย่างช้าๆ ของภาคท่องเที่ยว การขยายตัวในเกณฑ์ดีของการส่งออก และการขับเคลื่อนจากการเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐ เป็นต้น

Advertisement

ขณะเดียวกัน ในภาคอุตสาหกรรมจากการคาดการณ์โดยสํานักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) พบว่าในปี 2565 ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม หรือเอ็มพีไอ ยังคงขยายตัว 4-5% เช่นเดียวกับผลิตภัณฑ์มวลรวมภาคอุตสาหกรรม หรือจีดีพีภาคอุตสาหกรรม ที่ขยายตัว 2.5-3.5% จากปัจจัยสนับสนุนคือ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าหลัก มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ โดยไทยมีจุดแข็งในหลายด้านที่สร้างความได้เปรียบ ซึ่งจะช่วยเสริมความสามารถในการแข่งขัน ไม่ว่าจะเป็นแรงงานทักษะฝีมือที่มีคุณภาพ วัตถุดิบทางการเกษตรที่มีศักยภาพ การมีที่ตั้งที่เหมาะสมในการเป็นศูนย์กลางภูมิภาค และมีโครงการลงทุนเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ

เมื่อรัฐบาลกลับมาปลดล็อกการเดินทางระหว่างประเทศในรูปแบบเทสต์แอนด์โกอีกครั้ง เชื่อว่าจะช่วยดึงดูดนักลงทุนได้มากขึ้นอีกด้วย เนื่องจากตอนนี้มีนักลงทุนต่างชาติหลายรายที่รอเดินทางเข้ามาดูพื้นที่และเจราทางธุรกิจกับไทย โดยเฉพาะในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี)

สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยสนับสนุนภาคเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไทยในการแสวงหาประโยชน์จากโอกาสทางธุรกิจใหมที่เป็นแนวโน้มของโลกยุค Next Normal ทั้งการพัฒนาเศรษฐกิจตามโมเดล BCG ที่เชื่อมโยงกับภาคบริการ อาทิ ธุรกิจบริการที่ตอบรับเทรนด์สุขภาพ เป็นต้น

Advertisement

นอกจากนี้ ยังได้กําหนดแนวนโยบายด้านการพัฒนาอุตสาหกรรม เพื่อให้ภาคอุตสาหกรรมปรับตัวเท่าทันการเปลี่ยนแปลงของปัจจัยแวดล้อมทั้งภายในและภายนอก และเป็นเครื่องยนต์สําคัญในการขับเคลื่อนศักยภาพประเทศ โดยมุ่งสู่การพัฒนาเศรษฐกิจสร้างมูลค่าที่เติบโตบนฐานนวัตกรรม องค์ความรู้ เทคโนโลยี ความคิดสรางสรรค์ และมีการพัฒนาที่ยั่งยืนตามโมเดลเศรษฐกิจ BCG ผ่านประเด็นการพัฒนาสําคัญ 6 ด้าน ได้แก่

1.การส่งเสริมเกษตรอุตสาหกรรมอัจฉริยะ โดยส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีในภาคเกษตร เพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรด้วยนวัตกรรมตามโมเดลเศรษฐกิจ BCG

2.การพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายที่มีศักยภาพ ภายใต้มาตรการ หรือแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมที่สอดคล้องกับหมุดหมายการพัฒนาตามตารางแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13(พ.ศ.2566-2570) ได้แก่ อุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมชีวภาพ
ยานยนต์สมัยใหม่ หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ เครื่องมือและอุปกรณ์การแพทย์

3.การพัฒนาผู้ประกอบการและภาคการผลิตไปสู่ 4.0 โดยสร้างและพัฒนาผู้ประกอบการอัจฉริยะ ส่งเสริมเอสเอ็มอี และวิสาหกิจชุมชน ให้มีผลิตภาพ ลดต้นทุน ลดของเสียในกระบวนการผลิต เพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์อย่างสร้างสรรค์ด้วยเทคโนโลยี นวัตกรรม และดิจิทัล

4.การพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

5.การจัดตั้งและส่งเสริมการลงทุนนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ เพื่อส่งเสริมการลงทุนภาคอุตสาหกรรมที่ยึดโยงกับการพัฒนาในระดับพื้นที่

และ 6.การยกระดับการให้บริการด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อเพิ่มโอกาสการเข้าถึงบริการที่สะดวกรวดเร็ว

•มุมมองและแนวทางผลักดันโมเดลเศรษฐกิจ BCG

สำหรับโมเดลเศรษฐกิจ BCG เป็นการพัฒนา 3 ด้านไปพร้อมกัน ได้แก่ เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว โดยคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 19 มกราคม 2564 ให้การขับเคลื่อนการพัฒนา BCG Model เป็นวาระแห่งชาติ ตั้งแต่ปี 2564 เป็นต้นไป ซึ่งกระทรวงได้ให้ความสําคัญกับการขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมด้วย BCG Model ผ่านกลไกคณะกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียวของกระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งมีปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นประธาน มีเป้าหมายเพื่อสร้างความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ เพิ่มอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ สร้างงาน และยกระดับรายได้ของประชากรไปพร้อมกับการสร้างความมั่นคงทางสังคม ไม่ว่าจะเป็นความมั่นคงทางอาหาร สุขภาพ และพลังงาน เพื่อยก ระดับคุณภาพชีวิต และการสร้างความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อม ลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ ลดของเสีย ลดมลพิษต่อสิ่งแวดลอม ผ่านกลไก ขับเคลื่อน 6 ด้าน ได้แก่

1.การวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม 2.เงินทุน สิทธิประโยชน์และรางวัล 3.การพัฒนากําลังคนและความสามารถ 4.การบ่มเพาะสร้าง และยกระดับผู้ประกอบการและรูปแบบธุรกิจใหม่ 5.มาตรฐานกฎหมาย กฎระเบียบที่เอื้อต่อการพัฒนา BCG และ 6.การสร้างและพัฒนาตลาด ด้วยการพัฒนาแพลตฟอร์มตลาดอุตสาหกรรมออนไลน์

 

•แผนขับเคลื่อน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-Curve) ตามนโยบายรัฐบาล

ขณะที่แผนการขับเคลื่อน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย รัฐบาลได้ให้ความสําคัญกับการพัฒนา 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายที่มีศักยภาพ และเป็นที่สนใจของนักลงทุนทั่วโลก ซึ่งจะมีบทบาทสําคัญในการผลักดันเศรษฐกิจของไทยในอนาคต ประกอบด้วย 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ 1 อุตสาหกรรมเดิมที่มีศักยภาพ (First S-Curve) ได้แก่ ยานยนต์สมัยใหม่ อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ การท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดี และการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพการเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ และการแปรรูปอาหาร

กลุ่มที่ 2 อุตสาหกรรมอนาคต (New S-Curve) ได้แก่ หุ่นยนต์ การบินและโลจิสติกส์ เชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ ดิจิทัล และการแพทย์ครบวงจร นอกจากนี้ คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ยังมีมติให้เพิ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายในพื้นที่อีอีซีอีก 2 สาขา คือ อุตสาหกรรมการป้องกันประเทศ และอุตสาหกรรมพัฒนาคนและการศึกษา

กระทรวงอุตสาหกรรมได้จัดทํามาตรการที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายข้างต้น เสนอต่อ ครม. เพื่อผลักดันให้เกิดผลเป็นรูปธรรม ซึ่งขณะนี้มีมาตรการที่ผ่านการพิจารณาของ ครม.แล้ว 4 สาขา ได้แก่ 1.มาตรการสนับสนุนการผลิตรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าในประเทศไทย 2.มาตรการพัฒนาอุตสาหกรรม หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ 3.มาตรการพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพของไทย ปี พ.ศ.2561-2570 4.แผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร ระยะที่ 1 (พ.ศ.2562-2570) และอยู่ระหว่างการนําเสนอ จัดทําแผนปฏิบัติการ อีก 2 สาขา คือ อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะและเครื่องมือแพทย์ โดยมีสาระสําคัญของมาตรการ/แผนปฏิบัติการทั้ง 4 สาขาที่ผ่านการพิจารณาของ ครม. อาทิ การตั้งเป้าหมาย ZEV (Zero Emission Vehicles) คณะกรรมการได้เห็นชอบเป้าหมายการผลิตและการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า ZEV แบ่งเป็น 3 ระยะ ได้แก่ 1.ระยะเร่งด่วน 1-2 ปี เพื่อเร่งให้เกิดการใช้และการผลิตรถยนต์ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ 2.ระยะ 5 ปี คือ การผลิต ZEV รวม 225,000 คันต่อปี หรือ 10% ของการผลิตรถยนต์ ภายในปี 2568 และ 3.ระยะ 10 ปี คือ การผลิต ZEV 725,000 คันต่อปี หรือ 30% ของการผลิตรถยนต์ภายในปี 2573

สำหรับการเร่งรัดการลงทุนภายในประเทศ ภาคเอกชนไทยซึ่ง ส่วนใหญ่มีความพร้อมด้านเงินทุนและเทคโนโลยี จะเป็นแกนนําหลักในการขับเคลื่อนการลงทุนในอุตสาหกรรมชีวภาพภายในประเทศ โดยมีโครงการที่ดําเนินการผลิตเชิงพาณิชย์แล้ว จํานวน 4 โครงการ เกิดมูลค่าการลงทุนรวมทั้งสิ้น 10,940 ล้านบาท ได้แก่ โครงการผลิตน้ำยาล้างไต จ.ระยอง โครงการผลิต Poly Lactic Acid (PLA) จ.ระยอง โครงการ Palm Biocomplex จ.ชลบุรี และโครงการกรีนดีเซล และสารเปลี่ยนสถานะ (PCM) จากน้ำมันปาล์มดิบ จ.ระยอง

นอกจากนี้ ยังมีโครงการที่ขยายผลเพิ่มเติมในพื้นที่ศักยภาพ ซึ่งอยู่ระหว่างแผนการก่อสร้างและขับเคลื่อนให้เกิดการลงทุนของภาคเอกชน จํานวน 5 โครงการ โดยมีมูลค่าการลงทุนที่คาดว่าจะเกิดขึ้นอีกกว่า 160,000 ล้านบาท ได้แก่ โครงการนครสวรรค์ไบโอคอมเพล็กซ์ จ.นครสวรรค์ แบ่งโครงการเป็น 2 ระยะ คาดว่าจะสามารถดําเนินการผลิตเชิงพาณิชย์ได้ภายในไตรมาสที่ 1/2565 และไตรมาสที่ 1/2566 ตามลําดับ โครงการไบโอ ฮับ เอเชีย จ.ฉะเชิงเทรา โครงการลพบุรีไบโอคอมเพล็กซ์ จ.ลพบุรี โครงการนิคมอุตสาหกรรม Bioeconomy จ.ขอนแก่น และโครงการนิคมอุตสาหกรรมอุบลราชธานี

•แนวทางส่งเสริมและช่วยเหลือผู้ประกอบการโดย เฉพาะเอสเอ็มอี

นอกจากการขับเคลื่อนเศรษฐกิจแล้ว รัฐบาลได้มีมาตรการช่วยเหลือ
ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี โดยมีแนวทางดําเนินงาน 4 ด้านหลัก ได้แก่ 1.การฝึกอบรมให้ความรู้กับผู้ประกอบการในการเข้าถึงแพลตฟอร์มการซื้อขายสินค้าต่างๆ ให้ผู้บริโภคได้รับรู้และเข้าถึงผลิตภัณฑ์ที่ผู้ประกอบการมีอยู่ แนะนําวิธีการขายออนไลน์ให้อยู่ในระดับที่มีการรับรู้ในวงกว้างของกลุ่ม
ผู้บริโภค ตลอดจนแนะนําการเป็นคนกลางสําหรับขายสินค้า 2.การสนับสนุนการใช้ระบบซอฟต์แวร์ต่างๆ ร่วมกับการทํางานของพนักงานเพื่อการทํางานที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น อาทิ ระบบบัญชีออนไลน์ ระบบการจัดการประชุม ระบบการจัดการสํานักงาน รวมไปถึงระบบการจัดการโลจิสติกส์ ระบบสินค้าคงคลัง เป็นต้น

3.การสนับสนุนการนําเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการพัฒนาสินค้า รวมถึงการออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่เหมาะสมกับการขนส่งที่มีประสิทธิภาพ และ 4.การนําเทคโนโลยีมาใช้ในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต อาทิ ระบบ
ออโตเมชั่น และโรบอต การใช้อินเตอร์เน็ตออฟธิง มาปรับให้เป็นสมาร์ท
แฟคตอรี่ เป็นต้น

สําหรับในด้านการเสริมสภาพคล่องให้กับธุรกิจและบรรเทาผลกระทบ จากภาระการชําระหนี้ กระทรวงโดยกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐได้ออกสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ 3 โครงการ เพื่อช่วยเหลือเอสเอ็มอีและลูกหนี้สินเชื่อของกองทุนฯ ซึ่งขณะนี้ได้เปิดรับคําขอแล้วเมื่อวันที่ 17 มกราคมที่ผ่านมา และคาดว่าจะสามารถช่วยเหลือผู้ประกอบการได้มากกว่า 500 ราย รักษาการจ้างงานได้กว่า 3,000 ราย ก่อให้เกิดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจกว่า 10,000 ล้านบาท อีกด้วย

 

•การแก้ไขปัญหาเรื่องการเข้าถึงสินเชื่อของผู้ประกอบการเอสเอ็มอี

เชื่อว่าถ้าผู้ประกอบการเอสเอ็มอียังไม่ฟื้น เศรษฐกิจก็ฟื้นไม่ได้ เนื่องจากประเทศไทยมีผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในประเทศ 3.1 ล้านราย มีการจ้างงานประมาณ 12 ล้านคน ดังนั้น เอสเอ็มอีจึงมีผลต่อเศรษฐกิจมาก แต่หากเศรษฐกิจดีผู้ประกอบการก็จะฟื้นเร็วขึ้น สิ่งที่รัฐบาล ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และธนาคารพาณิชย์ กำลังหาทางปรับโครงสร้างหนี้ให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี โดยเฉพาะกรณีที่เอสเอ็มอี ก่อนโควิด-19 อยู่ได้ แต่ขาดทุนต้องรีบหาทางช่วยเหลือ ส่วนเอสเอ็มอีที่ขาดทุนตั้งแต่ช่วงโควิด-19 ต้องปรับตัวเปลี่ยนทำธุรกิจใหม่ เพราะสมัยนี้เริ่มใหม่ง่ายกว่า โดยเฉพาะด้านงานออนไลน์ หลังจากนี้อาจไม่ได้ให้เงิน แต่ช่วยในเรื่องแพลตฟอร์มออนไลน์มากกว่า ลำดับถัดไปช่วยในเรื่องของการลดต้นทุน และพยายามหาช่องทางการตลาดให้ด้วย ซึ่งเป็นสิ่งที่กระทรวงเดินหน้ามาตลอด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image