รายงานหน้า2 : บุรณิน รัตนสมบัติ ชูนวัตกรรม : ศักยภาพใหม่ธุรกิจ

หมายเหตุ“มติชน” สัมภาษณ์พิเศษ ดร.บุรณิน รัตนสมบัติ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่นวัตกรรมและธุรกิจใหม่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หนึ่งในวิทยากรงานสัมมนา “สู่ศักยภาพใหม่ : Thailand 2022” วันที่ 31 มกราคม 2565 เวลา 09.00-12.00 น. บริเวณห้องโถงชั้น G อาคารสำนักงานใหญ่ บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) สามารถรับฟังในรูปแบบไลฟ์สตรีมมิ่งผ่านสื่อออนไลน์ในเครือมติชน ทั้ง Facebook มติชนออนไลน์, ประชาชาติธุรกิจ, ข่าวสด และ YouTube มติชนทีวี รวมถึงช่องทาง Line มติชน ข่าวสด

พูดถึงศักยภาพประเทศไทยต้องบอกว่า ในช่วงปี 2562 ที่เผชิญการระบาดโควิดต่อเนื่องมาถึงปี 2563-2564 ไทยเริ่มมีการปรับตัว โดยเฉพาะปี 2563 สิ่งที่เห็นโดดเด่นคือการส่งออก ทั้งที่ประสบภาวะโควิดพอสมควรแต่ตัวเลขการส่งออกยังดีขึ้น และปี 2564 สูงพอสมควร เติบโตประมาณ 17% หมายความว่า อุตสาหกรรมบางส่วนเริ่มปรับตัวแล้วและปรับตัวจากไทยแลนด์ 3.0 ไปสู่ 4.0 มากขึ้น เป็นสิ่งที่เป็นข้อดี เพียงแต่ต้องรอเสริมด้วยตัวเลขการท่องเที่ยว ถ้าโควิดหายไป มีการเปิดประเทศ ทั้งตัวเลขอุตสาหกรรมและท่องเที่ยวจะช่วยส่งผลให้การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจปรับตัวสูงขึ้น จะเห็นศักยภาพของประเทศไทยว่าจริงๆ แล้วพื้นฐานของเราดี แค่ต้องปรับตัว เมื่อปรับตัวได้และต่อยอดไปกับหลังยุคโควิดได้ ถือว่าจะทำให้เศรษฐกิจมีโอกาสก้าวกระโดด

สิ่งที่เรากังวลตอนนี้คือเรื่องเงินเฟ้อ ทั้งโลกจะเป็นเหมือนกันหมด จากเรื่องของซัพพลายที่สะดุด ราคาน้ำมันสูงขึ้น ต้องบอกว่าถ้าราคาน้ำมันสูงขึ้น เป็นช่วงของการเปลี่ยนถ่ายพลังงาน ทุกคนรู้อยู่แล้วจะต้องไปพลังงานสะอาด แต่ว่าระหว่างนี้ที่ตัวเลขเศรษฐกิจดีขึ้น ดีมานด์เพิ่มขึ้น ขณะที่ซัพพลายลดลง ก็เกิดความรู้สึกว่าราคาปรับตัวสูงขึ้น ประกอบกับมีความตึงเครียดในด้านจีโอโพลีติคอลในหลายๆ พื้นที่ ไม่ว่าทางยุโรป รัสเซีย ตะวันออกกลาง วันนี้ไม่ว่าราคาน้ำมัน เงินเฟ้อ อัตราดอกเบี้ยเป็นเชิงมหภาคระดับโลกไม่ใช่ระดับประเทศ คำว่าเฝ้าระวังคือต้องติดตามเทรนด์ใหญ่ของโลก อาจจะมีการหน่วงบ้างถ้าเรายังไม่พร้อม แต่ไม่ใช่ว่าตึงหรือหน่วงตลอดเวลา เพราะสุดท้ายเมื่อคลื่นใหญ่มาไม่มีทางที่จะไปขวางคลื่นได้ เพียงแต่ค่อยๆ บรรเทามัน ปรับตัวไปกับมัน ผมเชื่อว่าคนไทยปรับตัวเก่ง

มองว่าระยะยาวราคาน้ำมันคงไม่ได้สูงต่อเนื่องไป เพราะทุกคนกำลังมูฟไปสู่พลังงานสะอาด โดยเฉพาะพลังงานที่ไม่ใช่ฟอสซิล มองว่าเราเริ่มมีพื้นฐานดี เริ่มปรับตัวได้ เรามีความเสี่ยงเรื่องอัตราเงินเฟ้อ ถ้าเงินเฟ้อสูงมากๆ จะมีความกังวลว่าจะมีขึ้นดอกเบี้ย ผมเชื่อว่านักเศรษฐศาสตร์ทั่วโลกคงบาลานซ์กันระหว่างการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ เงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ย เป็นสิ่งที่ต้องติดตาม ต้องเฝ้าระวัง ผมเชื่อว่าการปรับตัวมุ่งเทคโนโลยีและนวัตกรรมจะเป็นทางออกของประเทศไทย

Advertisement

ราคาน้ำมันพูดยาก เพราะตามแผนธุรกิจเรามองปี 2565 ไม่ถึง 100 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล แต่ช่วงระยะสั้น ดีมานด์-ซัพพลายเกิดความตึงเครียด ไม่รู้ว่าราคาวันนี้มันอยู่ประมาณ 80-90 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ถือว่าสูงกว่าพื้นฐานที่บริษัทพลังงานใหญ่ ผู้ผลิตที่มองว่า 60-65 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ก็แฮปปี้แล้ว แต่ว่าช่วงสั้นๆ พอถึงจุดหนึ่งอาจจะมีปริมาณการผลิตใหม่เข้ามา หรือว่าถึงจุดหนึ่งถ้าราคาสูงไปมากๆ การส่งเสริมเรื่องพลังงานทดแทนจะมาแทนที่ ต้องบอกว่าระยะยาวฟอสซิลยังมีประเด็นเรื่องการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ก๊าซ CO2 ช่วงนี้เป็นช่วงเปลี่ยนผ่าน ถ้าจะยืนอยู่อาจจะเป็นในลักษณะช่วงสั้น แต่ตอบไม่ได้ว่าจะ 1 เดือน 3 เดือน ครึ่งปี หรือปีหนึ่ง

เราอยู่ในยุค 3.0 มานาน และประเทศไทยเติบโตได้ดีในยุคอุตสาหกรรม 3.0 เป็นฐานการผลิต ฐานการส่งออก ใช้วัตถุดิบและแรงงานบางส่วน แต่ว่ายุคปัจจุบันพูดถึงเรื่องการใช้เทคโนโลยี ซึ่งเทคโนโลยีดิจิทัลเริ่มเห็นแล้ว แต่วันนี้กำลังพูดถึงโลกข้างหน้าจะมีเทคโนโลยีมากกว่าดิจิทัล ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของเทคโนโลยีทางกายภาพ เรื่องทรีดีพรินติ้ง เรื่องควอนตัม เรื่องดิจิทัล ที่ไปในเรื่องของประมวลผลขั้นสูง หรือสิ่งที่เราจะพูดกันมากๆ ในเชิงเกี่ยวข้องกับสุขภาพ เรื่องไบโอเทคโนโลยี มองว่าไบโอเทคโนโลยีประเทศไทยมีความหลากหลายทางชีวภาพ และเรากำลังมุ่งนโยบายบีซีจี ถ้าวางแผนเรื่องนี้ดีๆ และเราลุกขึ้นมาเป็นผู้นำไบโอเทคโนโลยีได้จะทำให้ประเทศไทยมีโอกาสใน 5 ปี 10 ปี ข้างหน้า จะสร้างไบโอเทคโนโลยีเป็นอุตสาหกรรมใหม่ของประเทศไทย

อีกเรื่องที่เราเห็นมากๆ คือสังคมคาร์บอนต่ำ การลงทุนเกี่ยวข้องกับดีคาร์บอไนเซชั่นจะใช้พลังงานสะอาด การใช้ยานยนต์ไฟฟ้าจะเป็นนิวอีโคซิสเต็มของประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นยานยนต์ไฟฟ้า สังคมดีคาร์บอไนเซชั่นจะก่อให้เกิดการลงทุนใหม่ และการลงทุนใหม่จะเป็นฟันเฟืองตัวหนึ่งที่บิลด์อัพเศรษฐกิจไทย และเชื่อว่าเราปรับตัวแล้ว มีการลงทุนใหม่ เปิดประเทศมีนักท่องเที่ยว ทำให้องค์ประกอบทุกอย่างมารวมกัน ทำให้เราสามารถเติบโตขึ้นอีกครั้ง

Advertisement

ถ้าให้เป็นคำแนะนำ เมื่อปีที่แล้วเกิดโควิดระบาดหนัก ต่อเนื่องมา 2564 ทางกลุ่ม ปตท.เองแคสซิฟายด์ธุรกิจเป็น 3 ธุรกิจคือ ธุรกิจดั้งเดิม (OLD) ธุรกิจปัจจุบัน (NOW) และการแสวงหาธุรกิจใหม่ (NEW) ตอนนี้ OLD-NEW-NOW มีความชัดเจนแล้ว อย่าง NOW เน้นเรื่องโลจิสติกส์ ปิโตรเคมีขั้นสูง ส่วน NEW เน้นยานยนต์ไฟฟ้า Life Science หรือธุรกิจวิทยาศาสตร์เพื่อชีวิต ปีนี้ต้องพูดว่า NOW-NEW-BETTER คำว่า NOW ต้องทำทันที เพราะการปรับตัวรอไม่ได้ มองไปถึงเทรนด์อนาคตข้างหน้าที่ต้องดีกับทุกคน และธุรกิจใหม่ตอบสนองทุกคน เป็นแนวทางการดำเนินธุรกิจของ ปตท.เอง และเป็นที่มาของการเปลี่ยนวิสัยทัศน์ที่เรียกว่าขับเคลื่อนทุกชีวิตด้วยพลังแห่งอนาคต หรือ Powering Life with Future Energy and Beyond

อย่างที่ทราบ ปตท.ต้องขยับจากเรื่องของอุตสาหกรรมที่เป็นการใช้อยู่บนฟอสซิลเบส ไปอยู่อุตสาหกรรมที่ใช้ความรู้ วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีในการทำธุรกิจ เราเริ่มมีการปรับตัว เปลี่ยนเป็นชีปอินโนเวชั่น แอนด์ นิวเวนเจอร์ หมายความว่าเทคโนโลยีอย่างเดียวไม่ได้เงิน ต้องนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีไปบวกกับคอมเมอร์เชียลไลฟ์เตชั่น ไปสู่ภาคการค้า และตั้งเป้า ปตท.จะมีกำไรจากธุรกิจใหม่ประมาณ 30% มีจัดตั้งทีมงาน บริษัทลูกใหม่ทำธุรกิจ และการทำธุรกิจสมัยใหม่ไม่ได้พูดถึงตัวธุรกิจแค่โตปีละ 5% 10% พูดถึงการโตเป็นเท่า 3 เท่า 5 เท่า 10 เท่า เพราะฐานมันต่ำ ส่วนธุรกิจเดิมไม่ใช่ทุกธุรกิจจะต้องไปหาธุรกิจใหม่ อยู่ในธุรกิจเดิมแต่ใช้เทคโนโลยีที่ทำให้ต้นทุนถูกลง ทำให้ผลิตผลสูงขึ้น นี่เป็นทิศทางที่ประเทศไทยควรจะเดิน เริ่มเห็นแล้วหลายอุตสาหกรรม และเริ่มการปรับตัวในประเทศไทย เป็นที่มาว่าวันนี้สินค้าที่เราส่งออกมีความหลากหลายมากขึ้น

ถ้าให้มองภาพจากนี้การที่รัฐบาลกำหนด 12 อุตสาหกรรมเป้าหมาย (New S-Curve) เป็นเป้าหมายที่ถูกแล้ว เรามีพื้นฐานแต่ต้องใช้องค์ความรู้มาต่อยอด ทำให้ 12 อุตสาหกรรมเกิดขึ้นจริงได้ ต้องเริ่มจากการสร้างสังคมที่มีความรู้ ใช้ความร่วมมือระหว่างรัฐและเอกชน โดยเอกชนจะเป็นตัวการสำคัญ แต่ภายใต้การสนับสนุนของรัฐที่ดี จะทำให้เกิดการสร้างอุตสาหกรรมใหม่เกิดขึ้นในประเทศไทยได้ ซึ่งธุรกิจสมัยใหม่จะอยู่บนฐานการเป็นเหมือนแพลตฟอร์ม ต้องนำสิ่งที่เก่ง สิ่งสนับสนุนของหลายคนมารวมกัน ออกแบบโครงสร้างที่ไม่ตายตัวเกินไป ทำให้ทุกคนเล่นอยู่บนจังหวะและแพลตฟอร์มเดียวกัน จะทำให้โอกาสของประเทศไทย โอกาสความร่วมมือรัฐ-เอกชน รายใหญ่ รายกลาง รายย่อย รวมถึงภาคประชาชนเป็นคนทำงาน มีส่วนมาต่อจิ๊กซอว์ตรงนี้ ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาอาจจะมีหยุดเรียนออนไลน์ พอโควิดหายต้องมาบิลด์ มาอัพสกิลคน เทรนด์เด็กที่ไม่ได้เรียนอยู่มหาวิทยาลัยเต็มตัวให้สามารถเปลี่ยนความพร้อมเข้าสู่ระบบการทำงานในอนาคตได้

ภายใต้วิกฤตโรคระบาดที่ผ่านมา คำแนะนำคือรัฐและเอกชนต้องจับกันให้แน่น ต้องเชื่อมกับต่างประเทศ ช่วงนี้อาจจะมีปัญหาการเมืองระหว่างประเทศหลายขั้ว ถ้าบริหารจัดการดีๆ จะเป็นโอกาสดึงนักลงทุนจากต่างประเทศมาลงทุนในไทย มีบริษัทไทยไปลงทุนต่างประเทศ มีการจ้างงานในอุตสาหกรรมใหม่ มีการพัฒนาพนักงานหรือทักษะของเด็กรุ่นใหม่ให้มาสอดคล้องกับตลาด ขอให้ทำไป ปรับไป การไปสร้างระบบใหม่ไม่ได้สร้างวันนี้แล้วเสร็จพรุ่งนี้ ต้องสร้างวันนี้แล้วมองไป 5 ปี 10 ปี รัฐบาลพยายามทำอยู่ โดยเฉพาะนโยบายใหม่ๆ ปรับปรุงปฏิรูปกฎหมาย การมีช่องทางสนับสนุนด้านการเงิน สิทธิประโยชน์ที่เหมาะสม เชื่อว่าเมื่อประกาศโควิดเป็นโรคประจำถิ่นกลางปีนี้ ทุกอย่างพร้อมที่จะขับเคลื่อน

ในแง่ ปตท. ธุรกิจใหม่ ปตท.ต้องใช้เวลาพอสมควร ต้องสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของโลก อย่าง Life Science ที่ ปตท.ตั้งบริษัท อินโนบิก (เอเซีย) จำกัด สอดคล้องกับสังคมสูงวัย สังคมสุขภาพ ในเชิงของการป้องกัน การตรวจวินิจฉัย การรักษา ก้าวแรกจะมีธุรกิจยา อาหารเพื่อสุขภาพ วัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ เมดิคอลเทคโนโลยี ถ้าทำแต่ยาอย่างเดียว การป้องกันคนป่วย คนสูงอายุมีสุขภาพดีได้ ผมว่าจะดีกว่า แต่ถ้าเจ็บป่วย มียาที่ประชาชนสามารถเข้าถึงได้ในราคาที่เหมาะสม ยังมีสิ่งที่เราเรียกว่าความก้าวหน้าไบโอเทคโนโลยี อนาคตการรักษาจะเป็นการรักษาที่เฉพาะเจาะจง ไม่ใช่แบบกินยาเม็ดเดียวครอบคลุมทุกเรื่อง ผมถึงเลยบอกว่าไบโอเทคโนโลยีมันมาแน่

ส่วนเรื่องสังคมดีคาร์บอไนเซชั่น การที่ทุกคนจะลดปล่อยก๊าซ CO2 จะเป็น Net Zero จะพูดถึงการใช้พลังงานทดแทนผลิตไฟและไฟที่ได้ไปเป็นรถอีวี มาเป็นระบบแบตเตอรี่ ระบบจัดเก็บ ถึงสมาร์ทแอพพ์ สมาร์ทบริดจ์ จะช่วยเรื่องประสิทธิภาพการเผาไหม้โดยไม่เกิดประโยชน์จะเป็นเทรนด์ใหม่ๆ ที่ต้องปรับตัว เช่น ถ้าเป็นรถอีวีชิ้นส่วนจะเล็กลง ใช้วัสดุที่มีน้ำหนักเบา แต่มีแมททีเรียลที่ทนทาน ขณะเดียวกันจีพีเอสซีจะดูเรื่องแบตเตอรี่ทั้งที่เป็นอินโนเวชั่นเราเอง หรือไปร่วมทุนกับบริษัทอื่น สถานีบริการน้ำมันจะเปลี่ยนเป็นสถานีบริการอีวี ทั้งหมดต้องบอกว่า ปตท.เป็นแค่ตัวจุดประกายเพราะแค่สร้างแพลตฟอร์ม แต่ว่าถึงเวลาที่แพลตฟอร์มเกิดต้องให้เอสเอ็มอีหรือเอกชนรายอื่นมาใช้ประโยชน์ตรงนี้ด้วย จะเป็นคีย์ที่ ปตท.ใช้กลยุทธ์ที่บอกว่าโตกับพันธมิตร โตกับพาร์ตเนอร์ชิป

อีก New S-Curve อย่างยานยนต์ ความคืบหน้าของธุรกิจอีวีมีการตั้งบริษัท อรุณ พลัส จำกัด วันนี้จับมือกับฟ็อกซ์คอนน์ผู้รับจ้างผลิต (OEM) ในการทำแพลตฟอร์มการผลิตรถอีวี กำลังหาพื้นที่ก่อสร้างโรงงานมองไว้ภาคตะวันออก หรืออีอีซี ขณะเดียวกันการจะมีโรงงานรถอีวีได้อีกขาคือแบตเตอรี่ ซึ่งอรุณพลัสจับมือกับจีพีเอสซีพัฒนาแบตเตอรี่และหาโอกาสการลงทุนธุรกิจแบตเตอรี่ด้วย ขณะเดียวกันตัวชาร์จไฟมีทั้งที่อรุณพลัสไปติดตั้งเองนอกปั๊ม กับนอกปั๊มที่โออาร์ติดตั้ง และยังมีแพลตฟอร์ม “อีวี มี” ให้เช่ารถอีวี รวมถึงมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า มี “สวอพ แอนด์ โก” เป็นสถานีจุดชาร์จสลับแบตเตอรี่แก่ผู้ใช้งานรถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า รองรับการขยายตัวกลุ่มไรเดอร์

อนาคตที่ ปตท.วางไว้จะเป็นรูปแบบที่เห็นว่าจะเป็นแพลตฟอร์ม ไม่จำเป็นต้องมีหน้าร้าน จะมีอีคอมเมิร์ช ต่อไปการชำระเงินถ้าผ่านดิจิทัลเพย์เมนต์ หรือบิทคอยน์ก็ไม่ต้องมี จะต้องมีทีมคอยวิเคราะห์และปรับปรุงการให้บริการ หรือปรับปรุงธุรกิจ สร้างธุรกิจใหม่ๆ มารองรับ จะเป็นภาพที่ต้องบอกว่าวันนี้ประเทศไทยเปลี่ยนไปแล้ว จาก 3.0 ไป 4.0 เป็นความจำเป็นที่ทุกคนต้องปรับ

ตอนนี้รัฐมีการผลักดันการซื้อรถอีวี เราติดตั้งชาร์จเจอร์ 300 สถานี อำนวยความสะดวก ส่วนฝั่งซัพพลายหัวใจคือแบตเตอรี่และผู้ผลิตมีไม่กี่ราย ส่วนใหญ่อยู่ที่ประเทศจีน การจับมือกับฟ็อกซ์คอนน์ทำเป็นแพลตฟอร์มว่าใครอยากจะผลิตรถอีวี ไม่ต้องสร้างโรงงานเอง มาออกออเดอร์ที่นี่ หาแบตเตอรี่มา ออกแบบดีไซน์มา เราทำในตัวระบบส่งกำลังและทำซอฟต์แวร์ก็ใช้ได้เลย ต่อไปรถยนต์จะมี 2 ประเภทคือ รถยนต์ที่เป็นแบรนด์เดิมกับรถยนต์ที่เป็นค่ายใหม่ๆ เป็นแบรนด์เฉพาะเจาะจงเหมือนประเทศจีน จะเห็นรถอีวีใหม่ๆ ยี่ห้อจีนจำนวนมาก

แต่ความยากคือแบตเตอรี่ ต้องใช้การลงทุนสูงและเทคโนโลยียังจำกัด แร่หรือวัตถุดิบที่ทำแบตเตอรี่ยังอยู่เฉพาะจุด ถ้าแบตเตอรี่ยังสร้างไม่ได้ เรานำแพลตฟอร์มนำเข้าแบตเตอรี่ได้ แต่ถ้ามีตลาดใหญ่พอ อยากจะชวนคนมาลงทุนในประเทศไทย ถ้ามีโรงงานประกอบรถยนต์แล้ว มีโรงงานแบตเตอรี่แล้ว มีตลาดในเมืองไทย จะเป็นโอกาสสร้างตรงนี้เกิดขึ้น กำลังการผลิตที่เหลือยังส่งออกได้ เป็นการเตรียมความพร้อม ถ้าเกิดเรื่องของโลกร้อนมาจริง เรื่องเทคโนโลยีมีประสิทธิภาพถูกลง ถ้าไม่เตรียมการเราจะตกขบวนและต้องนำเข้ารถอย่างเดียว ถ้าจัดหาพื้นที่สร้างโรงงานได้คาดว่าจะสร้างเสร็จในปี 2566 แต่ต้องหาออเดอร์ได้ด้วย

หากถามถึงมุมมองต่อเศรษฐกิจปี 2565 ว่าจะฟื้นได้เมื่อไหร่นั้น ถ้าโควิดไปหมดผมว่าฟื้นแน่ ทุกคนเริ่มบอกว่าต้องอยู่กับโควิดให้ได้ การเปิดประเทศนำพามาซึ่งนักท่องเที่ยว ส่วนภาคอุตสาหกรรมถ้าปรับตัวดีแล้วให้ปรับตัวต่อ ยิ่งปรับตัวใช้เทคโนโลยี ยิ่งสร้างเป็นธุรกิจใหม่ๆ อยากให้รัฐสนับสนุนเดินหน้า ต้องไม่มองตลาดแค่ประเทศไทย ต้องมองตลาดภูมิภาค ตลาดโลกและเปิดเป็นมิตรกับทุกค่าย

การขึ้นค่าแรงและอัตราดอกเบี้ยต้องให้ทางเศรษฐกิจมหภาควิเคราะห์ เพราะภาพใหญ่มีหลายแฟกเตอร์ ต้องดูดอกเบี้ยในตลาดโลกด้วย ส่วนค่าแรงผมว่าวิน-วิน ระหว่างผู้ผลิตกับภาคของคนทำงาน สิ่งที่ควรต้องพูดมากกว่าขึ้นค่าแรงคือการเพิ่มประสิทธิภาพ การใช้เทคโนโลยีผสมผสานกับการอัพสกิลการทำงานของเรา เพราะเชื่อว่าในอนาคตการจ้างงานจะไม่เหมือนเดิม ไม่ใช้ค่าแรงขั้นต่ำเป็นตัวการันตีแต่ใช้สกิล

หากมองภาพธุรกิจใหม่ของประเทศไทยกับอาเซียนหรือโลก ผมว่าถ้าเทียบกับอาเซียนเราพอไปได้ จริงๆ แล้วเราอยู่ในธุรกิจเดิมมาก่อนอาเซียนหลายประเทศ ปัญหาที่ผ่านมาของเราอาจจะสปีดไม่เร็วขึ้น แต่ช่วงโควิดเริ่มเห็นการปรับตัว ฉะนั้น ในอาเซียนเชื่อว่าเราพอไปได้ แต่ว่าอย่างที่บอกขึ้นอยู่กับว่าจะเป็นธุรกิจไหนที่เป็นธุรกิจใหม่ สมมุติ เช่น ธุรกิจพลังงานสะอาด ประเทศไทยใช้ก๊าซธรรมชาติมานาน เริ่มมีรีนิวเอเบอร์พวกโซลาร์พอสมควรที่ไปได้ ด้านสาธารณสุข สุขภาพ จริงๆ เราแข็งแรงด้านแพทย์กับโรงพยาบาล แต่ว่ายา อาหารเพื่อสุขภาพ หรืออุปกรณ์ทางการแพทย์ อาจจะยังไม่ได้แข็งแรงมากนักเมื่อเทียบกับสิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย เมื่อพอรู้ว่าการแพทย์เป็นองค์ประกอบสำคัญกับจุดแข็งที่มีอยู่จะทำให้สปีดได้ดีขึ้น

ส่วนในระดับโลกต้องบอกว่าถ้าเทียบค่ายยุโรป อเมริกา จีน ญี่ปุ่น เรายังตามหลัง วิธีการที่จะปรับตัวให้ทันคือการเป็นพาร์ตเนอร์กับเขา แทนที่เราจะเริ่มต้นจากศูนย์ อาจจะเริ่มต้นจาก 3 จาก 5 แล้วต่อยอด

ที่สำคัญก็คือต้องสร้างนักธุรกิจ ถ้าเราบอกว่ามีความพร้อมหมด พอเขาบอกแล้วจะจับมือกับใครในประเทศไทย จะให้เขามาลงทุน 100% เชื่อว่าบริษัทข้ามชาติจะลงทุน ต้องหาพาร์ตเนอร์ที่เขาคิดว่ามีศักยภาพ เหมือน ปตท.เวลาไปลงทุนต่างประเทศต้องหาพาร์ตเนอร์ที่มีศักยภาพ ฉะนั้น ระหว่างที่เราเตรียมความพร้อมพวกนี้ต้องเตรียมความพร้อมให้มีธุรกิจที่พร้อมจะเป็นพาร์ตเนอร์กับเขาได้ด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image