จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ประกัน‘5 สินค้าเกษตร’ พลิกฟื้นเศรษฐกิจไทย

หมายเหตุ – นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ให้สัมภาษณ์พิเศษ ในหัวข้อ “ประกันรายได้ พลิกฟื้นเศรษฐกิจไทย” ได้อย่างไร ซึ่งจะเป็นเนื้อหาส่วนหนึ่งในการสัมมนา “ประกันรายได้สินค้าเกษตร 5 สินค้า” โดยกระทรวงพาณิชย์ ในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นสัมมนาออนไลน์รูปแบบไลฟ์สตรีมมิ่ง ผ่านเฟซบุ๊กเครือมติชน ไลน์มติชน ไลน์ข่าวสด และยูทูบมติชนทีวี

•แนวทางนโยบายการประกันรายได้

พืชเกษตรที่กระทรวงพาณิชย์ ดูแลต้องแบ่งเป็น 2 ส่วน 1.ส่วนที่อยู่ในนโยบายประกันรายได้ และ 2.ส่วนที่ไม่ใช่ประกันรายได้ แต่ใช้นโยบายเชิงรุกและมาตรการด้านอื่นดำเนินการ
สำหรับนโยบายประกันรายได้เกษตรกรนั้น ถือว่าเป็นนโยบายสำคัญของพรรคประชาธิปัตย์ ที่เป็นเงื่อนไขเข้าร่วมรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี ว่า ถ้ารัฐบาลยอมรับนโยบายประกันรายได้เกษตรกรของพรรคประชาธิปัตย์ เป็นนโยบายรัฐบาล พรรคยินดีจะเข้าร่วม สุดท้ายรัฐบาลประยุทธ์รับเป็นนโยบายและแถลงต่อรัฐสภา ฉะนั้นประกันรายได้เกษตร จึงเป็นนโยบายรัฐบาลชุดนี้ ที่เดินหน้าจนเข้าปีที่ 3 แล้ว โดยจะดูแลพืชสำคัญ 5 ชนิด ได้แก่ ข้าวเปลือก มันสำปะหลัง ยางพารา ปาล์มน้ำมัน และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ถือเป็นนโยบายที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อเกษตรกร เพราะช่วยให้เกษตรกรผู้ปลูกพืชทั้ง 5 ชนิดนี้ มีหลักประกันของรายได้ เขาไม่จำเป็นต้องฝากชะตาชีวิตไว้กับราคาที่มีความผันผวน ไม่แน่นอน แต่มีรายได้ที่ชัดเจนตามราคา หรือ รายได้ที่รัฐบาลประกัน

ถ้าไม่มีประกันรายได้ เกษตรกรจะมาทางเดียว คือ เอาพืชเกษตรไปขายในตลาด ราคาเท่าไหร่ก็ได้เท่านั้น ถ้าราคาดีก็ได้เงินแยะ ถ้าราคาไม่ดีราคาตกมาก ก็ได้เงินทางเดียว ปีนั้นก็ประสบภาวะขาดทุนได้
แต่พอมีประกันรายได้จะมีรายได้ 2 ทาง คือ ทางเดิมๆ เอาพืชเกษตรนั้นไปขายที่ตลาด และได้เงินตามราคาตลาดขณะนั้น เช่น ปาล์มทะลายประกันกิโลกรัมละ 4 บาท ถ้าปาล์มราคาตกเหลือ 3 บาท เอาไปขายในตลาดได้เงิน 3 บาทก็จบ แต่เมื่อมีประกันรายได้ เขาจะมีรายได้ทางแรกเมื่อเอาปาล์มไปขายตามราคาตลาด 3 บาทแล้ว และยังมีรายได้ทางที่ 2 ที่เรียกว่าเงินส่วนต่างประกันรายได้ที่กำหนดราคาประกันรายได้ไว้กิโลกรัมละ 4 บาท หากช่วงนั้นราคาลงเหลือ 3 บาท จะได้รับส่วนต่างอีก 1 บาท ที่จะเป็นรายได้ก้อนที่สอง ที่รัฐบาลจะโอนส่วนต่างนี้เข้าบัญชีเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนและมีบัญชีไว้กับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) โดยประกันรายได้เกษตกร พืช 5 ชนิด เข้าถึงจำนวนเกษตรกรตามเป้าหมาย 7.91 ล้านครัวเรือน

Advertisement

ขณะนี้ต้องยอมรับว่ากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กับ กระทรวงพาณิชย์ จับมือกันเดินหน้า ทำให้ราคาพืชเกษตรเกือบทุกตัวราคาดีขึ้นมาก ตอนนี้ยางก้อนถ้วยที่ประกันกิโลกรัมละ 23 บาท ขึ้นไปถึง 24 บาท 25 บาท กว่า 26 บาท หรือ น้ำยางข้นประกันราคาที่กิโลกรัมละ 57 บาท แม้บางช่วงราคาหย่อนลงบ้าง แต่ปัจจุบันราคายังสูงกว่าอดีตแยะ เคลื่อนไหวในราคากิโลกรัมละ 51 บาท 52 บาท หรือ 53 บาท แล้วแต่กรณี หรือ อย่างข้าวเปลือก แม้ว่าช่วงครึ่งปีก่อนหน้านี้ ราคาจะตกเพราะว่าเพาะปลูกประสบภัยน้ำท่วม และข้าวเปียก คุณภาพต่ำ ทำให้ขายไม่ได้ราคา แต่ต้นปีมานี้ ราคาเริ่มดีขึ้น ราคาข้าวเปลือกเกวียนละกว่า 8,000 บาท มันสำปะหลังประกันราคาที่กิโลกรัมละ 2.50 บาท ราคาขยับไปถึงกิโลกรัมละ 2.60-2.70 บาท สูงสุดเป็นประวัติการณ์ในรอบ 10 ปี ข้าวโพดประกันราคากิโลกรัมละ 8.50 บาท ราคาไปถึงกิโลกรัมละกว่า 10 บาท ปาล์มน้ำมันราคาประกันกิโลกรัมละ 4 บาท ขยับต่อเนื่องตั้งแต่ 6 บาท 7 บาท 8 บาท 9 บาท 10 บาท 11 บาท สูงสุดถึง 12 บาทมาแล้ว

ตอนนี้ราคาหย่อนลงแต่ก็อยู่ที่กิโลกรัมละ 8-9 บาท ถือว่าสูงกว่าราคาประกันรายได้เท่าตัว บางช่วงสูงกว่าถึง 2 เท่า เป็นผลสัมฤทธิ์ที่อยากฉายให้เห็นภาพ

ส่วนพืชตัวอื่นที่ไม่ได้ประกันรายได้ กระทรวงพาณิชย์ก็ใช้มาตรการเชิงรุก เข้ามาช่วยแทน บางตัวช่วยให้เกษตรกรมีรายได้ดีกว่าพืชที่ประกันรายได้ด้วยในบางกรณี เช่น ผลไม้ มีมาตรการเชิงชัดเจน ฤดูกาลผลผลิตใหม่ที่จะเริ่มมีผลผลิตออกตั้งแต่เดือนมีนาคม-เมษายน เป็นต้นไป ผมได้เคาะแผนรับมือและบริหารจัดการผลไม้ 18 มาตรการที่ได้เรียกประชุมและเตรียมพร้อมแล้วเมื่อช่วงครึ่งปีที่ผ่านมา ไม่อยากให้ล่วงเลยจนผลไม้ทะลักออกมา จนเป็นปัญหาแล้ว มานั่งประชุมแก้ปัญหา จึงสั่งทำมาตรการล่วงหน้า เมื่อผลผลิตผลไม้ออกก็จะเดินหน้าได้เลย

Advertisement

ทั้งนี้ มาตรการดูแลผลไม้และพืชอื่นๆ อาทิ มาตรการเร่งรัดตรวจและรับรอง GAP เป้าหมายปี 2565 กว่า 120,000 แปลง มาตรการช่วยผู้ประกอบการ หรือเกษตรกร หรือล้ง กระจายผลผลิตผลไม้ออกนอกแหล่งผลิต กิโลกรัมละ 3 บาท ปริมาณ 80,000 ตัน มาตรการเสริมสภาพคล่องให้ผู้ส่งออกช่วยเหลือดอกเบี้ยร้อยละ 3 และช่วยผู้ส่งออกที่ส่งออกผลไม้อีกกิโลกรัมละ 5 บาท ปริมาณ 60,000 ตัน สนับสนุนทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้าด้านผลไม้ เป้า 30,000 ตัน มาตรการส่งเสริมการบริโภคผลไม้ในประเทศ ประสานงานกับสายการบินให้โหลดผลไม้ขึ้นเครื่องบินในประเทศไทยฟรี 25 กิโลกรัม ตั้งแต่เมษายนเป็นต้นไป มาตรการช่วยสนับสนุนกล่อง 200,000 กล่อง ปีนี้จะสนับสนุน 300,000 กล่อง ช่วงผลไม้ออกเยอะสนับสนุนให้มีรถเร่ รถโมบายไปรับซื้อผลไม้ และนำออกจำหน่ายสู่ผู้บริโภคโดยตรง เป้า 15,000 ตัน รวมถึงประสานห้างท้องถิ่นและปั๊มน้ำมันต่างๆ เปิดพื้นที่ระบายผลไม้ให้กับเกษตรกร เป้า 5,000 ตัน เร่งส่งเสริมการขายผลไม้ในต่างประเทศ เช่น 12 เมืองใหญ่ในตลาดจีน จัดเจรจาจับคู่ซื้อขายผลไม้ทางออนไลน์ ส่งเสริมการขายผลไม้ในงาน THAIFEX-Anuga Asia พฤษภาคมนี้ที่ เมืองทองธานี ทำสื่อประชาสัมพันธ์ผลไม้ไทย 5 ภาษาโปรโมตผลไม้ไทยทั่วโลก จัดอบรมกลุ่มเกษตรกรเรื่องการค้าออนไลน์ เป้ากว่า 1,000 ราย ขอความร่วมมือจากผู้ว่าราชการจังหวัดเคลื่อนย้ายแรงงานในการเก็บผลไม้และส่งเสริมการขาย ประสาน กอ.รมน.ส่งกำลังพลเข้ามาช่วยเก็บเกี่ยวและขนย้ายผลไม้ช่วงขาดแคลนแรงงาน สั่งการให้ทีมเซลส์แมนจังหวัดและทีมเซลส์แมนประเทศ ช่วยระบายผลไม้ของทั้งตลาดในประเทศ และต่างประเทศ บังคับใช้กฎหมายโดยเคร่งครัดเพื่อป้องกันถูกเอารัดเอาเปรียบ ซึ่งประเมินว่าผลไม้ปีนี้ผลผลิตรวมกว่า 3.5 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 8%

คาดการณ์ได้ว่า พืชสำคัญๆ ปีนี้แนวโน้ม ราคาดีเกือบทั้งหมด ปีก่อนหน้าที่มีการใช้มาตรการ ทุเรียน เฉลี่ยกิโลละร้อยกว่าบาท บางช่วงกว่า 200 บาท มังคุดก็เหมือนกันราคาดีมาก ยกเว้นบางช่วงที่โควิดแรง อย่างภาคใต้ เป็นกรณีเฉพาะ ซึ่งหลังแหล่งปลูกมังคุดที่ จ.จันทบุรี ขายได้ราคาดี และหมดลง มังคุดปักใต้ผลผลิตออกพอดีกับเกิดโควิดระบาดหนัก จนต้องล็อกดาวน์ ทำให้ล้งส่วนใหญ่อยู่ที่ จ.จันทุบรี เคลื่อนย้ายเข้าไปรับซื้อแหล่งผลิตที่นครศรีธรรมราช และชุมพรไม่ได้ ทำให้มังคุดใต้ราคาตก ผมจึงประสานผู้ว่าฯจังหวัดในภาคใต้และเอาล้งเข้าไปรับซื้อ ราคาก็ดีขึ้น สุดท้ายก็ผ่านไปด้วยดี มะม่วงราคาก็ดี ภาพรวมส่งออกดีขึ้น จนผลไม้บางชนิดผลิตป้อนส่งออกไม่ทัน แต่อย่างไรก็ตาม อยากเตือนให้เกษตรกรต้องเน้นเรื่องคุณภาพให้ได้มาตรฐานความต้องการของส่งออก อย่าง ทุเรียนอย่าจัดลูกอ่อนขาย ราคาจะไม่ดี

ส่วนพืชเกษตรตัวเล็กตัวน้อย ก็จะใช้มาตรการเฉพาะหน้า ไปแก้ปัญหา ที่ทำมาตลอด ตอนนี้ผมสั่งพาณิชย์ให้ทำงานเชิงรุกทั้งหมด ไม่ใช่รอให้เกิดปัญหาออกมาแล้วไปไล่ตามแก้ เพราะเรารู้อยู่แล้ว เรามีปฏิทินรายปีของพืชแต่ละชนิดอยู่แล้ว เช่น รู้ว่าลำไยจะออกเดือนไหน หอมแดง กระเทียม จะออกช่วงใด มันไม่ได้เป็นข้อมูลลึกลับซับซ้อน รู้เหมือนกันทุกปี ยกเว้นปีใดที่ฤดูกาลผันผวน ค่อยแก้ปัญหาเฉพาะหน้าไป

อีกเครื่องมือที่เร่งสนับสนุน คือ ส่งเสริมเกษตรพันธสัญญา หรือ คอนแทร็กต์ฟาร์มมิ่ง ผมสั่งการให้กระทรวงเกษตรฯ กระทรวงพาณิชย์ เกษตรจังหวัด พาณิชย์จังหวัด จับมือกับจังหวัด เอาผู้ซื้อ ทั้งค้าปลีกใหญ่ ผู้ส่งออกหรือประกอบการแปรรูป จัดพบปะเกษตรกรโดยตรง ให้เขาจับคู่เจรจาและทำสัญญาล่วงหน้า ว่า ถ้าผลผลิตได้ตามมาตรฐาน ผู้ซื้อยินดีจะซื้อในราคากิโลกรัมละเท่านี้ ตันละเท่านี้ ผู้ขายพอใจหรือไม่พอใจ ต่อรองกัน แล้วตกลงทำสัญญากันล่วงหน้า ช่วยให้เกษตรกรมีหลักประกัน ไม่แขวนอนาคตไว้กับความไม่แน่นอน เพราะต้องปฏิบัติตามสัญญาไม่อย่างนั้นถือว่าทำผิดกฎหมาย แนวทางนี้ได้เข้าไปช่วยพืชเกษตรตัวเล็กตัวน้อยได้มาก

•ผลสัมฤทธิ์ประกันรายได้ต่อเศรษฐกิจ

นโยบายประกันรายได้ ส่งผลดีแยะมาก ไม่แค่การช่วยให้เกษตรกร มีหลักประกันเรื่องรายได้ เกิดเม็ดเงินเฉพาะปีที่ 3 ทุ่มไปมูลค่ากว่า 1.7 แสนกว่าล้านบาท สำหรับภาพรวมพืชทั้ง 5 ชนิด ซึ่งในนั้นมีทั้งการจ่ายเงินส่วนต่างประกันรายได้ และมาตรการเสริม
อื่นๆ ที่จะช่วยดึงราคาพืชเกษตรทั้ง 5 ชนิดนี้สูงขึ้นมา ทั้งหมดนี้เม็ดเงินตกไปถึงเกษตรกร โดยเฉพะส่วนต่างไม่ตกหล่น เพราะธ.ก.ส. จะโอนเงินของ ธ.ก.ส. ที่รัฐชดเชยให้ เข้าบัญชีเกษตรกรโดยตรง ฉะนั้นโกงกันไม่ได้ ยกเว้นโกงขึ้นทะเบียนแต่ไม่ใช่เกษตรกรจริง วันหลังก็มีความผิด จะถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย ซึ่งก็ยังเจอกรณีนี้บ้าง ฉะนั้นทุจริตไม่มีเลยในเรื่องการประกันรายได้ เพราะเงินทุกบาททุกสตางค์ตกถึงมือเกษตรกร

นอกจากประโยชน์เป็นหลักประกันรายได้ให้เกษตรกรแล้ว เม็ดเงินที่ลงไปถึงมือเกษตรกรในยามวิกฤตโควิด เห็นชัดว่า เงินประกันรายได้ที่รัฐบาลทุ่มไปเป็นส่วนหนึ่งทำให้เม็ดเงินหมุนเวียนในระบบ
ถ้าหากว่าไม่มีประกันรายได้ ยามใดที่พืชเกษตรตกต่ำ จะมีผลมาก ตลาดสด ตลาดนัด ร้านขายของชำ นั่งตบยุง เพราะว่าพืชราคาตก เกษตรกรจะไม่มีเงินไปซื้อของอุปโภคบริโภค แต่พอมีเงินประกันรายได้มีส่วนช่วย ตอนหลังคนละครึ่งออกมาช่วยอีก ที่เราช่วยสนับสนุน มันช่วยเม็ดเงินหมุนเวียนไป เฉพาะนโยบายประกันรายได้พืช 5 ชนิด ช่วง 3 ปี ประเมินว่าจะมีเงินเข้าระบบเศรษฐกิจแล้วกว่า 5 แสนล้านบาท และเงินส่วนนี้หมุนเวียนรอบเดียวก็จะก่อมูลค่าเป็นล้านล้านบาท

นอกจากภาคเกษตรแล้ว ยังมีภาคท่องเที่ยว เข้ามาช่วยเสริม เมื่อถึงเวลาโควิดคลี่คลาย รวมทั้งเร่งส่งออกให้มีความต่อเนื่อง เพื่อให้เป็นกลไกในการขับเคลื่อน เศรษฐกิจ ซึ่งปัจจุบันนี้พืชเกษตร เกือบทุกตัวส่งออกได้ดี แล้วการส่งออกเกษตรถือว่าเป็นตัวเลขทำรายได้ ระดับสูงให้ประเทศ อย่างข้าวไทยตกมา 2-3 ปี แต่ปี 2564 กระเตื้องทำยอดได้ 6.1 ล้านตัน เกินเป้ากว่า 1 แสนตัน ปี 2565 ตั้งเป้าหมายส่งออกไว้ 7 ล้านตัน เชื่อว่ามีความเป็นไปได้สูง อย่างไรก็ตาม เรื่องส่งออกภาคเกษตรยังดี สินค้ายางก็เป็นพระเอก จากผลิตภัณฑ์ยางรถยนต์ จะนำรายได้เข้าประเทศแยะมาก ขณะที่ส่งออกผลไม้ปีหนึ่งนำเงินเข้าประเทศกว่า 2 แสนล้านบาท ตัวเลขล่าสุด 11 เดือนปี 2564 ส่งออกรวมกว่า 2.33 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นเกือบ 40% ดังนั้น ภาคการเกษตรถือเป็นอนาคตที่ดีต่อประเทศ และการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

•ปัจจัยเสี่ยงที่รัฐต้องดูแลภาคเกษตร

ประเด็นแรก คือ การลดต้นทุน ถือเป็นเรื่องจำเป็นที่ต้องเร่งทำไปพร้อมกับประเด็น นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมต่างๆ มาช่วยเสริมช่วยเติมทุกมิติภาคเกษตร ที่เราต้องทำต่อไป เพื่อให้เกษตรไม่ใช่ทำเพื่อขายแค่แบบเกษตรพื้นฐาน อย่างข้าว เอาข้าวเปลือกสีแปรเป็นข้าวสาร แล้วใส่ถุงขายหรือส่งออก เท่านี้ไม่พอแล้ว ต่อไปต้องทำเกษตรนวัตกรรม และเกษตรที่มีมูลค่าสูง เกษตรปลอดภัย พัฒนาและเร่งเป็นเกษตรอินทรีย์ เกษตรรูปแบบใหม่ ที่จะเป็นพื้นฐานของไบโออีโคโนมี (การพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพ) ซึ่งไบโออีโคโนมี จะเป็นจุดสำคัญ ในการขับเคลื่อนประเทศไทยต่อไป ผมมีโอกาส ผมตั้งใจจะทำเรื่องนี้ให้เป็นรูปธรรมต่อไป

ฉะนั้นหัวใจสำคัญของการผลิต ทางภาคเกษตร เราต้องเน้น 2 ส่วน ทั้งใช้ในการบริโภคในประเทศ และ เน้นเรื่องส่งออก เพื่อนำส่วนเหลือจากความต้องการบริโภคในประเทศออกสู่ตลาดส่งออก เพื่อนำรายได้เข้าประเทศ นำเงินนั้นมาหมุนเวียนเป็นเงินภาษี เงินหมุนเวียนต่อการประกันรายได้ช่วยภาคเกษตรกรและทุกภาคส่วนทั่วประเทศ จากนี้เราต้องมุ่งเน้นและใช้นวัตกรรมเข้ามามีบทบาทต่อการพัฒนาภาคเกษตรมากขึ้น

•สมดุลราคาเกษตรกับภาระค่าครองชีพ

เรื่องนี้มีความยากและเป็นความยากของรัฐบาล ในการจัดการสร้างสมดุล ระหว่างผู้มีส่วนได้เสียอย่างไร (Stakeholder) อย่าง ปาล์มน้ำมัน ชัดเจนที่สุด ในเรื่องปาล์มน้ำมัน กระทรวงพาณิชย์ดูแลทั้งเกษตรกรผู้ปลูกปาล์ม และขบวนการแปรรูปปาล์มให้เป็นน้ำมันปาล์มเพื่อการบริโภค ต้องดูแลถึงผู้บริโภคที่ต้องใช้น้ำมันปาล์ม ขณะที่ผลปาล์มราคามันขึ้น กิโลกรัมละจากตกไปเหลือ 2 บาท ให้ราคาดีขึ้น ตอนนี้เกษตกรชื่นใจ ราคาขยับมากว่า 10 บาท 11 บาท ถึงกว่า 12 บาทแล้วก็มี เกษตรกรชื่นชมรัฐบาล ด้านผู้แปรรูปเจอต้นทุนขึ้นเอาๆ ผู้บริโภคต้องรับภาระน้ำมันปาล์มเพื่อบริโภคแพงขึ้น บ่นว่าทำไมแพงอย่างนี้ ทำอย่างไรให้กดราคาลงมาได้ อันนี้เป็นความยากในการหาจุดสมดุล ให้อยู่ได้ทั้ง 3 ฝ่าย ทั้งเกษตรกรก็อยู่ได้ ได้ราคาดี ผู้บริโภคก็ไม่ต้องซื้อของแพงเกิน แต่เมื่อไรราคาผลปาล์มตกมาก เกษตรกรก็เดือดร้อน ส่วนการปรับสูตรไบโอดีเซล ที่จะกระทบต่อราคาปาล์มน้ำมัน กระทรวงพลังงานก็ต้องเข้ามาดูด้วย

ฉะนั้น ความพอดีอยู่ตรงใด เป็นสิ่งยาก แต่ผมทำได้และทำกันอยู่ ทุกวันนี้ คือการพยายามลดกำไรส่วนกลางส่วนต่างให้น้อยลง เพื่อให้เกษตรกรไม่ต้องถูกกดราคาปาล์ม แต่ผู้บริโภคไม่ถึงกับต้องรับภาระสูงเกินไป ยิ่งในภาวะปัจจุบันที่มีหลายปัจจัยรุมเร้า ผมก็สั่งการให้กระทรวงพาณิชย์ ติดตามสถานการณ์ราคาสินค้าอย่างใกล้ชิด และเร่งแก้ปัญหาให้ตรงจุด ที่เป็นธรรมกับทุกฝ่าย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image