‘สนธยา’ ร่ายยาว 3 ปี บนเก้าอี้ นายกพัทยา

หมายเหตุ – นายสนธยา คุณปลื้ม อดีตนายกเมืองพัทยา ที่เพิ่งลาออกจากตำแหน่งให้สัมภาษณ์พิเศษ “มติชน”

หลังจากที่ท่านนายกฯแต่งตั้งผมเป็นนายกเมืองพัทยา โดยระบุเหตุผลในคำสั่งว่า เนื่องมาจากโครงการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ซึ่ง ณ ขณะนั้นอยู่ในช่วงของการเริ่มต้นได้ประมาณปีกว่าถึง 2 ปี และผมเองเวลานั้นก็ได้รับการแต่งตั้งเป็นที่ปรึกษานายกฯและยังเป็นที่ปรึกษาอีอีซี อีกด้วย เมื่อได้รับการแต่งตั้งให้เป็นนายกเมืองพัทยาก็มองว่าอีอีซีเป็นนโยบายหลักของรัฐบาล เป็นยุทธศาสตร์สำคัญที่จะขับเคลื่อนในอนาคต

โครงการในอีอีซีหลักๆ ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของการพัฒนาสนามบินนานาชาติอู่ตะเภา การพัฒนารถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน หรือเรื่องของ 13 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ยังมีเรื่องของเมืองการบิน ตามแผนของ อีอีซี จึงระบุว่าเมืองพัทยาจะเป็นศูนย์กลางด้านเศรษฐกิจ การลงทุน และการท่องเที่ยวของอีอีซี และของประเทศไทยด้วย อันนี้เป็นเหตุผลสำคัญในการที่ได้แต่งตั้งให้ผมเข้ามารับตำแหน่งเป็นนายกเมืองพัทยา

ภารกิจสำคัญก็คือการเชื่อมโยงกับอีอีซี เพราะฉะนั้นเมื่อเข้ามาแล้ว สิ่งที่ทำอย่างแรกเลยก็คือ การสร้างยุทธศาสตร์พัฒนาเมืองพัทยา โดยสอดคล้องกับอีอีซี ซึ่งเป็นนโยบายหลักของประเทศด้วย

Advertisement

เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ชัดว่า ยุทธศาสตร์ที่เราใช้ชื่อว่า นีโอพัทยา นีโอคือพัทยาใหม่ พัทยายุคใหม่ พัทยาโฉมใหม่ ภายใต้อีอีซี จะต้องเป็นเมืองที่จะรองรับการเจริญเติบโตทุกอย่างของอีอีซี ต้องเป็นเมืองหลัก เป็นศูนย์กลางทางด้านเศรษฐกิจของภูมิภาคและของประเทศได้

เราเขียน นีโอพัทยา ประกอบด้วย 5 ยุทธศาสตร์ คือยุทธศาสตร์ทางด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม
สิ่งแวดล้อม และยุทธศาสตร์ที่สำคัญที่สุดเลยคือการบริหารจัดการ คือการทำงานแบบบูรณาการที่จะต้องสามารถเชื่อมจากระดับรัฐบาลมาสู่ภูมิภาคและมาสู่เมืองพัทยา ซึ่งเป็นท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ

โดยยุทธศาสตร์เราก็แบ่งเป็น 2 ส่วนใหญ่ๆ คือ ด้านเศรษฐกิจและด้านพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดี แล้วก็มีแผนงานระยะสั้น ระยะกลาง ระยะยาวที่ชัดเจน มีเป้าหมายว่าเราจะทำอะไร ครอบคลุมทั้งแผนเฉพาะหน้าและระยะกลาง คือแผนงาน 5 ปี ต้องสอดรับกับยุทธศาสตร์ชาติต่อไปด้วย

Advertisement

ภายใต้ยุทธศาสตร์หลัก นีโอพัทยา ก็จะมีนีโอนาเกลือ และ นีโอเกาะล้าน นี่เป็นจุดสำคัญในการเริ่มต้นหลักๆ จากการที่ผมได้เข้ามารับหน้าที่เป็นนายกเมืองพัทยา

อีกประการก็คือ เมื่อเข้ามารับตำแหน่ง ทุกคนจะถามอยู่เรื่องนึงก็คือการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม การระบายน้ำเมืองพัทยา อันนี้พูดได้เลยว่าเป็น ภาพจำ ของเมืองพัทยา จะเห็นว่า พอเขาพูดถึง น้ำขังพัทยา การระบายน้ำ ณ วันนั้นมีภาพจำอยู่ 2 ภาพหลักๆ ภาพนึงก็คือ ภาพสวนสนามในน้ำ ของงาน 50 ปีอาเซียน ในการเฉลิมฉลองดังกล่าวมีการสวนสนามบริเวณถนนชายหาดพัทยาและฝนตก แล้วน้ำท่วมขัง ภาพในวันนั้นก็คือสวนสนามกันในน้ำ อีกภาพนึงก็คือน้ำท่วมบริเวณพัทยาใต้ และหลายพื้นที่ในเมืองพัทยา และมีรถไหลตามกระแสน้ำ

เราเห็นว่าตรงนี้มันเป็นปัญหาที่เป็นภาพที่ทุกคนเห็นกันอยู่ และถูกตั้งคำถามตั้งแต่แรกเลย ในการเข้ามาดำรงตำแหน่งนายกเมืองพัทยา วันนั้นผมให้คำตอบไปว่า ผมยังแก้ปัญหาน้ำท่วมเมืองพัทยาไม่ได้ทันทีทันใด แต่ผมจะระบายน้ำให้อย่างรวดเร็ว เพื่อให้เกิดความเสียหายน้อยที่สุด เราก็เลยต้องดูว่าแผนระยะสั้นเหตุเฉพาะหน้าคืออะไร เพราะฉะนั้น เราต้องคลายภาพจำที่สวนสนามในน้ำ บริเวณถนนสายชายหาด หาต้นเหตุว่าทำไมมันถึงน้ำท่วม ทำไมมันถึงระบายน้ำไม่ได้

พอได้ดูลักษณะกายภาพ จะเห็นเลยว่า ชายหาดมีฟุตปาธ และก็มีช่องระบายน้ำเป็นจุดๆ และก็ท่อระบายน้ำชายหาดเป็นท่อขนาดเล็กๆ ประมาณซัก 60 เซนติเมตร และหลังฟุตปาธ ก็ยังมีกระสอบทรายของผู้ประกอบการร่มเตียงชายหาด เพราะเกรงว่าถ้าหากน้ำท่วม น้ำหลากลงมาจะพัดทรายไป เขาจะตั้งเตียงหรือประกอบอาชีพไม่ได้

เราลงพื้นที่และพิจารณาอย่างนี้เสร็จ ก็ศึกษาทางน้ำธรรมชาติไหลเข้ามามีกี่เส้นทาง มีกี่ช่อง และน้ำจะไหลไปอย่างไร พอกำหนดได้เสร็จ ผมก็เปิดฟุตปาธทันทีเลย 13 จุด ตลอดเส้นทาง ตามทางน้ำ เพื่อระบายน้ำ ถ้าระบายน้ำได้เร็วเท่าไร ความเสียหายก็น้อยลงเท่านั้น

สิ่งที่เราอธิบายไว้ส่วนหนึ่งก็คือ ณ ขณะนั้นมีโครงการซ่อมเสริมชายหาดของกรมเจ้าท่า ที่ทำงานกับเมืองพัทยา ซ่อมแซมน้ำที่ซัด หรือกัดเซาะดำเนินการสำเร็จแล้ว เริ่มใช้พื้นที่ชายหาดแล้ว แต่เราก็บอกว่า เมื่อฝนตก มีน้ำไหลลงมา ระบายน้ำผ่านชายหาดจะมีการกัดเซาะทรายลงไป จะเป็นร่องในทะเล ตอนนั้นเราจะเห็นว่ามีคนถ่ายรูปเป็นร่องถูกกัดเซาะ มีน้ำตกที่ชายหาด

สิ่งที่ผมอธิบายคือ ภาพนี้จะต้องเกิดขึ้นแน่นอน แต่สิ่งที่เราจะต้องแก้ไขทันที นั่นคือเราจะมีเครื่องมือ เครื่องจักร พอฝนหยุด ก็จะไปตักทรายที่ถูกน้ำกัดเซาะไปที่อยู่บริเวณชายหาดกลับขึ้นมา ซ่อมแซมให้เหมือนเดิมอย่างรวดเร็ว พอมีเหตุการณ์เช่นนั้นจริงๆ เราก็ทำตามแนวทางนั้นสามารถซ่อมเสร็จภายใน 2 วัน ไม่เกิน 3 วัน ชายหาดก็จะกลับสู่สภาพปกติ คืนพื้นที่ชายหาดได้

นอกจากนั้น เรื่องท่อระบายน้ำของเมืองพัทยาสร้างมานาน กว่า 60 ปี มีขนาดไม่เกิน 60 เซนติเมตร ถึงร้อยละ 70 ของทั้งหมด และที่เหลือร้อยละ 30 คือท่อที่ใหญ่กว่า 60 เซนติเมตร เพราะฉะนั้น ความสามารถในการระบายน้ำ จึงไม่เพียงพอและไม่ทันต่อการเจริญเติบโตของเมือง

เราต้องแก้ไขปัญหา ในระยะสั้นคือเรื่องการเปิดทางน้ำ เปลี่ยนท่อระบายน้ำ และแผนระยะยาวคือทำงานร่วมกับกรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย ในการศึกษาระบบการระบายน้ำของลุ่มน้ำบางละมุงทั้งหมด ซึ่งแผนทั้งหมด ผ่านคณะอนุกรรมการ ผ่านคณะกรรมการน้ำแห่งชาติ และผ่านการเห็นชอบจาก ครม. เรียบร้อยแล้ว พร้อมวงเงินงบประมาณ 2.6 หมื่นล้าน อันนี้เป็นแผนระยะยาวที่เราเตรียมไว้หมดแล้ว

ณ วันนี้จากการที่เราต้องระบายน้ำได้เร็ว ทำให้เห็นเลยว่า น้ำที่เคยท่วมขังอยู่ที่แยกพัทยาใต้ หรือส่วนใดก็ตาม สามารถระบายน้ำได้เร็วขึ้นกว่าเดิมมาก จากเดิมเคยท่วมขังประมาณ 2 ชั่วโมง ยังไม่ระบายไปไหนเลย เป็นคำที่ชาวบ้านที่พัทยาใต้พูดกัน ก่อนหน้านี้เคยท่วม 2 ชั่วโมง น้ำยังไม่ไปไหนเลย ทุกวันนี้ไม่เกิน 40-45 นาที น้ำลดหมดแล้ว

เราต้องการระบายน้ำให้เร็วเนื่องจากพัทยาเป็นพื้นที่ต่ำ เรามีพื้นที่อยู่เหนือพัทยาไปบริเวณทางรถไฟ ซึ่งสูงกว่าพัทยาถึง 40-60 เมตร เช่น บริเวณเขาน้อย เขาตาโล เมื่อฝนตกหนักจะมีปริมาณน้ำไหลลงมาท่วมพัทยา แต่ ณ วันนี้ โครงการทำระบบระบายน้ำร่วมกับกรมโยธาจบแล้ว ครม.เห็นชอบแผนงานและวงเงินงบประมาณแล้ว

ยังมีโครงการที่เราดำเนินการอยู่ คือการวางท่อระบายน้ำขนาด 2 เมตร ตลอดเส้นเลียบทางรถไฟ เพื่อที่จะ ดักน้ำ ที่จะไหลจากข้างบนลงมาพัทยาให้ได้ในระดับหนึ่ง จะทำให้น้ำไหลเข้าสู่พัทยาน้อยลง บริหารจัดการน้ำได้ดีขึ้น แล้วถ้าจะมี ระบบใหญ่
เข้ามาก็จะช่วยแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขังของเมืองพัทยาได้สำเร็จ โดยการสูบกลับเข้าไปเป็นน้ำดิบใช้ในเรื่อง อุปโภค-บริโภค หรือสูบกลับไปที่อ่างเก็บน้ำชากนอกและมาบประชัน ซึ่งมีการแยกระหว่างน้ำในท่อระบายน้ำกับน้ำฝนที่ตกลงมา อันนี้คือแผนในเรื่องการระบายน้ำของเมืองพัทยา

นอกจากนี้ ยังจัดการทั้งระบบแบบบูรณาการ คือเราไม่ได้มองแค่พัทยา เรามองร่วมกับ 6 องค์กรส่วนท้องถิ่นโดยรอบ มีการประชุมร่วมกัน เพราะฉะนั้นเรื่องนี้เป็นหนึ่งในงานที่จะต้องทำและมีความคืบหน้าไปมาก หลังจากก่อนหน้านี้ เราอาจจะเห็นว่ามีการ
เอาภาพรถยนต์สีดำไหลไปตามน้ำมาเผยแพร่ ซึ่ง ณ วันนั้น ฝนตกหนัก 196 มม. แล้วก่อนหน้านั้น 2 สัปดาห์ ฝนตก 134 มม. ขณะที่ความสามารถในการระบายน้ำของเมืองพัทยา ไม่เกิน 80 มม. เมื่อตกมาขนาดนั้น
เราจะเร่งทยอยระบายน้ำออกไป หลังฝนหยุด ไม่เกิน 1 ชั่วโมง เราระบายน้ำออกไปได้แล้ว

นั่นเป็นสิ่งที่เราดำเนินการ ถือว่ามันเป็นภาพที่เราแก้ไขเรื่องน้ำท่วมพัทยา ถือว่าขับเคลื่อนตามแผนทุกอย่างในการทำงานจบหมด ซึ่งอยู่ภายใต้ยุทธศาสตร์
นีโอพัทยา ก็อยู่ที่ว่าจะมีการพัฒนาต่อไปหรือไม่เท่านั้น

อีกส่วนที่ผมถือเป็นตัวอย่างในเรื่องการทำงานภายใต้ยุทธศาสตร์ นีโอพัทยา เรื่องแผนการจัดการ
สิ่งแวดล้อม เรื่องของขยะ ทั้งขยะบนบก ขยะที่เกาะล้าน ก็ได้ดำเนินการ เรียกว่าเป็นรูปธรรมที่ชัดเจน อีกทั้งขยายประสิทธิภาพในการบำบัดน้ำเสียของเมืองพัทยาให้เพิ่มขึ้นอีก 100% เพื่อรองรับการเจริญเติบโตต่อไป ซึ่งถือว่าเป็นส่วนสำคัญ

ดังนั้น สิ่งที่เราจะต้องทำ คือเรื่องการสร้างความเชื่อมั่น ความมั่นใจให้กับนักลงทุน และนักท่องเที่ยว ถ้ามาเมืองพัทยาแล้วไม่ว่าจะเป็นเรื่องของสภาพทั่วไป เรื่องของการสื่อสาร เรื่องของระบบการวางแผนและการพัฒนา ระบบดิจิทัล 5G พัทยา สมาร์ท ซิตี้ เราดำเนินการเรียบร้อย ขณะนี้แผนอยู่ในการติดตั้งและขยาย 5G เมืองพัทยาให้ทั่วถึงมีประสิทธิภาพสูงสุด

ส่วนเรื่องอื่นๆ เพื่อสร้างความเชื่อมั่น ระบบสาธารณูปโภคและที่สำคัญคือแผนขยายโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อรองรับตลาดนักท่องเที่ยวของคนไทยเพิ่มเติม เราดำเนินการเป็นรูปธรรมชัดเจน โดยสร้างอาคารจอดรถบริเวณชายหาด อาคารจอดรถบริเวณตลาดนาเกลือ การพัฒนา ซีฟู้ด มาร์เก็ต หรือเรื่องอื่นๆ เป็น นีโอนาเกลือ

ส่วน นีโอเกาะล้าน ก็เช่นเดียวกัน จะเป็นการพลิกโฉมเกาะล้านสู่การท่องเที่ยวสีเขียว การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ธรรมชาติ การพัฒนาท่าเรือที่สะดวก ปลอดภัย และถนน 15 สายที่กลมกลืนกับสภาพแวดล้อมบนเกาะ การบริหารจัดการขยะ ภาพทั้งหมดจะต้องออกมาให้เห็นอย่างชัดเจน

เรื่องการพัฒนาด้านสาธารณสุข โรงพยาบาลเมืองพัทยา กำลังปรับปรุงคุณภาพ เพื่อสร้างความเชื่อมั่น สร้างสุขภาพอนามัย หรือคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน นักเดินทางที่เข้ามาเมืองพัทยา ทุกอย่างอยู่ภายใต้ยุทธศาสตร์นีโอพัทยา ที่จะต้องเป็นเมืองหลักสำหรับรองรับการเจริญเติบโตทางด้านเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอีอีซี ต้องรองรับโครงการขนาดใหญ่ที่นำคนเข้ามามาก ก็คือสนามบินอู่ตะเภา และโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน

ทั้งหมดนี้ เป็นโครงการที่โดยภาพรวมในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ทั้งประสบความสำเร็จเป็นรูปธรรม ทั้งกำหนดเป็นแผนงาน แล้วก็เป็นโครงการ ทุกอย่างเรียบร้อยหมดแล้ว เพราะฉะนั้นเรื่องการเลือกตั้งนายกเมืองพัทยาที่จะมีขึ้นวันที่ 22 พฤษภาคม 2565 ยังมีการวางแนวทางการทำงาน เพื่อเป็นการ ต่อยอด และเพื่อเป็นการทำงานอย่างต่อเนื่อง เพื่อรองรับยุทธศาสตร์ที่เมืองพัทยาจะต้องเป็นเมืองศูนย์กลางด้านเศรษฐกิจ ด้านการลงทุนและการท่องเที่ยวในอนาคต

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image