มุมมอง ‘สันติธาร เสถียรไทย’ 3 จุดพลิกผันเศรษฐกิจไทย

มุมมอง‘สันติธาร เสถียรไทย’ 3จุดพลิกผันเศรษฐกิจไทย “หากเราปรับตัวไม่ทัน
สันติธาร เสถียรไทย

มุมมอง ‘สันติธาร เสถียรไทย’ 3 จุดพลิกผันเศรษฐกิจไทย

“หากเราปรับตัวไม่ทัน อาจเป็นเสมือนขุนพลที่รบกับสงครามของเมื่อวาน และพลาดท่าสงครามของวันพรุ่งนี้…”

หมายเหตุนายสันติธาร เสถียรไทย ประธานทีมเศรษฐกิจและกรรมการผู้จัดการใหญ่ Sea Group ให้มุมมองต่อสถานการณ์เศรษฐกิจโลก ปัจจัยบวกและปัจจัยเสี่ยง ที่ทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย ยังต้องเผชิญต่อไปจากนี้ถึงปี 2566

⦁ทิศทางเศรษฐกิจโลก-เศรษฐกิจไทย
เรากำลังมาถึง “3 จุดพลิกผัน” ทางเศรษฐกิจที่สำคัญ ที่หากเราปรับตัวไม่ทัน อาจเป็นเสมือนขุนพลที่รบกับสงครามของเมื่อวานและพลาดท่าสงครามของวันพรุ่งนี้ การเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้น และต้องจับตาดูให้ดี มี 3 ด้าน

Advertisement

หนึ่ง: การพลิกจากความกังวลเรื่องเงินเฟ้อ (inflation fear) ไปเป็นความกังวลด้านการชะลอตัวของเศรษฐกิจแทน (growth fear) ความผิดพลาดที่ใหญ่ที่สุดของปีนี้คือการที่นักวิเคราะห์โดยเฉพาะธนาคารกลางของอเมริกาอ่านปัญหาเงินเฟ้อผิดไปจนรู้ตัวอีกทีก็สายไป เลยเสมือนต้องเหยียบเบรกหนักๆ เพื่อให้รถชะลอตัวลงด้วยการขึ้นดอกเบี้ยอย่างรุนแรงแม้จะรู้ว่าเดี๋ยวต้องเจ็บตัวก็ตาม ยิ่งตัวเลขเศรษฐกิจอเมริกาดูแข็งแกร่งเท่าไรแบงก์ชาติอเมริกาก็จะยิ่งอัดเพิ่มดอกเบี้ยหนักขึ้นอีก เพราะแสดงว่ารถคันนี้ยังไม่ชะลอตัวลง เลยทำให้ข่าวดีกลายเป็นข่าวร้าย ยิ่งอเมริกาดูแกร่ง ทั้งโลกยิ่งหวาดกลัวเพราะรู้ว่าดอกเบี้ยขึ้นอีกแน่ สิ่งที่ตามมาก็คือดอลลาร์ที่แข็งค่าขึ้นอย่างผิดคาดและไม่หยุดเสียที

สำหรับอาเซียนและประเทศไทยตอนนี้กำลังเผชิญกับความท้าทายจากเงินเฟ้อที่สูงขึ้นจากราคาพลังงานที่ดีดตัวขึ้นไปจากสงครามและภาวะขาดแคลน และค่าเงินที่อ่อนลงเพราะดอลลาร์แข็งค่าขึ้นหันมาซ้ำทำให้สินค้านำเข้าแพงขึ้นเพิ่มเงินเฟ้อไปอีกทอดหนึ่ง ทิศทางของนโยบายการเงินในภูมิภาคและประเทศจึงชัดเจนว่าจะเป็นดอกเบี้ยขาขึ้นเพื่อไม่ให้ค่าเงินอ่อนเกินไปและเพื่อคุมภาวะเงินเฟ้อแต่ทั้งหมดนี้คือปัญหาปัจจุบันเท่านั้นอีกไม่กี่เดือนหลังจากนี้เราอาจอยู่ในสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่แตกต่างไปมาก เศรษฐกิจยุโรปกำลังจะชะลอตัวเข้าขั้นถดถอยในหน้าหนาวนี้เพราะภาวะขาดพลังงานและดอกเบี้ยที่สูงขึ้นในขณะเดียวกัน สหราชอาณาจักรก็กำลังเผชิญปัญหาด้านพลังงานและเศรษฐกิจคล้ายคลึงกับยุโรป จนมีอาการหนักกระทั่งนักลงทุนบางท่านบอกว่า สถานการณ์ในสหราชอาณาจักร มีความรุนแรงเสมือนเป็นปัญหาในประเทศที่กำลังพัฒนา เศรษฐกิจอเมริกาที่ยังดื้อดึงเข้มแข็งอยู่จะอ่อนแอลงจนอาจเข้าขั้นถดถอยเช่นกันในต้นปีหน้าเมื่อผลจากดอกเบี้ยออกฤทธิ์เต็มที่ก็ตาม ทั้งหมดนี้จะส่งผลกระทบในเชิงลบต่อเศรษฐกิจไทย เพราะปัญหาในต่างประเทศจะฉุดการส่งออกเราอย่างมาก ซึ่งการส่งออกถือเป็นเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจที่สำคัญของไทยในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา

ส่วนในประเทศไทยเราเอง ภาวะเงินเฟ้อจะกัดกร่อนกำลังซื้อของผู้บริโภค ในขณะเดียวกัน อัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นก็จะเริ่มมีผลกับการลงทุนเช่นกัน ดังนั้น ปัญหาที่เราต้องเผชิญอาจพลิกจากนโยบายการเงินในโลกที่ “หย่อนไป”กลายเป็น “ตึงไป” จากเศรษฐกิจโลกที่มีอุณหภูมิ “ร้อนไป”กลายเป็น “หนาวไป” ซึ่งสำหรับไทย สิ่งที่เราอาจต้องเผชิญคือจากเงินเฟ้อที่สูงไปกลายเป็น growth ที่ต่ำไป ในขณะเดียวกัน จากสถานการณ์ที่ของแพงเร็ว อาจเปลี่ยนไปเป็นประชาชนขาดรายได้มากเกินไป แต่เศรษฐกิจโลกจะพลิกไปสู่หนาวแค่ไหนขึ้นอยู่กับอีกสองพลิก

Advertisement

สอง: พลิกเครื่องยนต์เศรษฐกิจโลกจากอเมริกาไปเป็นจีน คำถามสำคัญสำหรับเศรษฐกิจไทยและประเทศพึ่งพาส่งออกคือในวันที่ตะวันตกทรุดลงหมด เศรษฐกิจจีนจะสามารถฟื้นตัวมาช่วยลดทอนลมหนาวทางเศรษฐกิจนี้ได้ไหม ในตอนนี้ นักวิเคราะห์จีนแบ่งเป็น 2 ค่ายใหญ่ๆ ค่ายแรกบอกว่ายังไงจีนก็จะอ่อนแอต่อไปเพราะปัญหาโครงสร้างภายในเยอะ และยังไงก็คงยังยึดกับนโยบายซีโร่โควิดต่อไป แต่อีกค่าย กลับมองตรงกันข้ามว่าแม้จีนจะมีปัญหาโครงสร้าง แต่เดี๋ยวพอการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองเสร็จ จีนอาจเปิดเรื่องการท่องเที่ยว (แต่อาจจะปีหน้าไม่ใช่ทันที) พร้อมกับกระตุ้นเศรษฐกิจมากขึ้นผ่านนโยบายการคลัง จนอาจเป็นม้ามืดทางเศรษฐกิจได้ หากค่ายหลังคาดการณ์ถูก ก็แปลว่าอย่างน้อยเศรษฐกิจยักษ์ใหญ่สามตัวจะไม่ล้มลงพร้อมกัน เป็นผลดีต่อไทย เนื่องจากการส่งออกของไทยแม้จะยังคงหนาวอยู่ แต่คงไม่ถึงกับหนาวมาก สิ่งที่อาจจะตามมาจากการเปลี่ยนเครื่องยนต์เศรษฐกิจครั้งนี้ด้วยก็คือ เงินดอลลาร์อาจจะไม่แข็งค่าขนาดนี้แล้ว เพราะเมื่ออเมริกาเปลี่ยนไปกังวลเรื่อง growth การขึ้นดอกเบี้ยก็ต้องระมัดระวังขึ้น จนมีบางค่ายมองว่าเดี๋ยวอาจต้องพลิกมาลดดอกเบี้ยด้วยซ้ำ (แต่คงไม่เร็วนัก)

สาม: พลิกจากเศรษฐกิจสินค้า (goods economy) ไปเป็นเศรษฐกิจบริการ (service economy) หรือจากการส่งออกสินค้าไปเป็นท่องเที่ยวใหม่อีกครั้งเสมือนที่เคยเป็นก่อนยุคโควิด

ทั้งหมดนี้เริ่มเกิดขึ้นแล้วเมื่อคนกลับมาเดินทางกันมากขึ้นจนเครื่องบินเต็ม รถติด และประเทศต่างๆ ก็เปิดประตูให้คนออกมาได้มากขึ้น แม้เดี๋ยวนี้ไม่มีทัวร์จีนก็เห็นทัวร์จากเวียดนามแทน หน้าหนาวนี้คนยุโรปจำนวนมากคงหนีวิกฤตพลังงานที่นู่นมาเที่ยวไทย นี่ขนาดจีนยังไม่กลับมา เรายังเห็นภาพฟื้นตัวของการท่องเที่ยวไทย หลายคนเคยพูดไว้ว่าไม่อยากให้ไทยพึ่งพาแต่ท่องเที่ยวเน้นปริมาณอีกแล้ว แต่ในยามที่เศรษฐกิจตกต่ำอาจจะไม่มีใครอยากปิดเครื่องยนต์ตัวเดียวที่ไปได้ดีเช่นนี้ แต่ท่องเที่ยวเองก็คงไม่พอทำให้เศรษฐกิจไทยไปได้ในยามเศรษฐกิจโลกซบเซา โจทย์ปีหน้าจึงน่าจะเป็นเรื่องการหาทางพยุงเศรษฐกิจให้ผ่าน “หน้าหนาว” นี้ไปได้ ในวันที่นโยบายการเงินไม่สามารถทำอะไรได้มากนักเพราะเงินเฟ้ออาจจะยังไม่ลงเท่าไร นโยบายการคลังจึงเป็นทางเลือกหนึ่งที่สามารถพอนำมาใช้ได้ อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่ากระเป๋าเงินของภาครัฐ ที่ให้การสนับสนุนเศรษฐกิจมาอย่างยาวนาน จากการต่อสู้กับโควิดมาสองปี ก็มีสภาพที่บางลงไป การใช้นโยบายการคลังแบบตรงเป้า (Targeted Fiscal Policy) ให้ช่วยกลุ่มที่เปราะบางอย่างแม่นยำและไม่รั่วไหลจึงจะเป็นหัวใจสำคัญของนโยบายปีหน้า ที่จะช่วยให้การให้ความช่วยเหลือเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ”

⦁เทรนด์ใหม่ๆ ผุดช่วงโควิด เช่น เศรษฐกิจดิจิทัล ความยั่งยืน การเปลี่ยนขั้วอำนาจ ใช้ประโยชน์ต่ออย่างไร
ปีนี้เป็นปีปราบเซียนเรื่องการอ่านเทรนด์อนาคต เพราะทุกเทรนด์ที่คนต่างคิดกันว่าจะเป็นอนาคตถูกกระชากกลับเกือบหมดในขณะที่เศรษฐกิจดั้งเดิมกลับมาแรง จนเรียกเล่นๆ ได้ว่าเป็น Revenge of the old economies หรือการแก้คืนของเศรษฐกิจเก่า ยกตัวอย่าง 3 ธีมคือ ด้านเศรษฐกิจสีเขียว เศรษฐกิจดิจิทัล และการมาของเศรษฐกิจเอเชีย ดูจะอ่อนแรงไปมากในปีนี้จนเราต้องถามตัวเองว่า การตั้งยุทธศาสตร์องค์กร ธุรกิจ ประเทศ หรือแม้แต่สำหรับตัวเองบนฐานของธีมพวกนี้ยังจะเป็นแนวทางที่ใช่อยู่ไหม คำตอบเบื้องต้นของผมคิดว่าเทรนด์เหล่านี้ยังไปได้อยู่ แต่อาจต้องมีการปรับเปลี่ยนปรับธีมเหล่านี้บ้างเพราะมันไม่ได้ขาว-ดำชัดเจนเหมือนที่หลายคนอาจคาดคิดเอาไว้

หนึ่ง “ความยั่งยืนต้องมีตัวเอส”

เทรนด์ด้านความยั่งยืนมีอีกชื่อที่คนชอบเรียกกันว่า ESG ย่อมาจาก Environment Social Governance แต่บางทีเราชอบลืมตัว “S” หรือมิติด้านสังคม เรื่องของคนเหมือนที่เราเคยคิดถึงเรื่องดิจิทัลเป็นเรื่องเทคโนโลยีแล้วลืมมิติด้านคนเช่นกัน แต่ประเด็นด้านสังคมนี่แหละเป็นตัวสำคัญที่จะให้เทรนด์เศรษฐกิจสีเขียว เช่น การลดคาร์บอน เปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดสะดุดได้

สถานการณ์ในปีนี้ที่การขาดแคลนของพลังงานทำให้ราคาพลังงานปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลกระทบเป็นอย่างสูงต่อกลุ่มคนรายได้ต่ำที่ยังอ่อนแอจากการเจอวิกฤตโควิดมา 2 ปี ปัญหานี้ส่งผลให้หลายประเทศถูกกดดันให้ต้องกลับไปใช้แหล่งพลังงานฟอสซิลอันเป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อม เช่น ถ่านหิน น้ำมัน อีกครั้ง และชดเชยราคาพลังงานเหล่านี้เพื่อไม่ให้สังคมเผชิญภาวะขาดพลังงาน ตัวอย่างที่เห็นชัดเจน ก็เช่น รัฐบาลสหราชอาณาจักร ที่ล่าสุดก็กลับลำจากท่าทีเดิม หันมาประกาศจะขุดเจาะพลังงานรุ่นเก่าใน North Sea อย่างเต็มที่ ในขณะเดียวกันประเทศที่ส่งออกสินค้าพลังงานเหล่านี้ ก็ได้จังหวะสร้างรายได้เข้าประเทศในช่วงน้ำมันราคาดีขึ้นเพื่อหาเงินเข้าคลัง จากเดิมที่หมดเงินไปมากจากการประคองเศรษฐกิจในช่วงโควิด

หากมองระยะสั้นจึงอาจดูเหมือน เศรษฐกิจสีดำ (เช่น น้ำมัน ถ่านหิน) กำลังคัมแบ๊ก ไม่ใช่เศรษฐกิจสีเขียว แต่ความเป็นจริงก็คือเทรนด์สีเขียวยังมาแรง และคงไปต่อได้จากการผลักดันของนักลงทุนทั่วโลก จากผู้บริโภครุ่นใหม่ที่ให้ความสำคัญเรื่องนี้ และจากบางรัฐบาล เหตุการณ์ปีนี้เป็นเพียงแค่การเตือนว่าเราจะต้องจัดการกับเรื่องของปัญหาสังคมที่อาจจะเกิดขึ้นในยุคเปลี่ยนผ่านด้วย เป็นการสร้างคำถามสำคัญให้เราพิจารณา เช่น เรามีมาตรการช่วยครัวเรือนและธุรกิจขนาดเล็กปรับตัวหรือยัง หรือเรามีตาข่ายรองรับทางสังคมให้กับผู้ที่ถูกกระทบจากราคาพลังงานที่สูงขึ้นหรือไม่ เป็นต้น

การช่วยเหลือคนตัวเล็กนั้นเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับธีมต่อไปด้วยเช่นกัน

สอง “ดิจิทัลต้องช่วยคนตัวเล็ก”

ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาประเทศต่างๆ ในอาเซียนรวมทั้งไทยมีผู้ใช้บริการดิจิทัลต่างๆ เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด ในไทยเองก็มีผู้ใช้บริการดิจิทัลประมาณ 10 ล้านคน โดยจำนวนมากอาศัยอยู่นอก กทม. คนที่ปกติทั่วไปที่ไม่เคยใช้ก็หันมาใช้กันมากขึ้น ส่วนบางคนที่ใช้บริการดิจิทัลอยู่แล้วก็ยิ่งคุ้นเคยจนกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตไป แม้ในปีนี้เมื่อโควิดเริ่มผ่านพ้นไป คนที่มีความเก็บกดก็กลับมาเดินทางพบปะกัน เดินตลาด เดินห้าง ซื้อของจากออฟไลน์แทนออนไลน์มากขึ้น ทำให้เศรษฐกิจดิจิทัลก็ชะลอลงอย่างชัดเจน อย่างไรก็ตาม ฐานผู้ใช้งานดิจิทัลที่กว้างขึ้น น่าจะทำให้เศรษฐกิจดิจิทัลสามารถต่อยอดพัฒนาขึ้นได้อีกมากในอนาคต

สิ่งที่อยากเห็นคือการที่เศรษฐกิจดิจิทัลเข้าไปช่วยคนตัวเล็ก (คนที่ปกติเข้าไม่ถึงบริการต่างๆ หรือ underserved) ได้มากขึ้นโดยเฉพาะในยามที่เศรษฐกิจโดยรวมกำลังจะเผชิญความท้าทายทั้งของแพงทั้งรายได้ที่จะหดตามที่วิเคราะห์ไว้ เทคโนโลยีที่จะช่วยคนตัวเล็กได้มีอยู่มากมายไม่ว่าจะเป็น Agritech และ Foodtech ช่วยเพิ่มมูลค่าและผลิตภาพภาคเกษตร อีคอมเมิร์ซช่วยสร้าง SME หน้าใหม่และช่วยเจ้าเดิมขยายตลาด ฟินเทคทำให้คนเข้าถึงบริการการเงินทั้งฝั่งสินเชื่อ การลงทุนและประกัน Edtech ช่วยเปิดประตูให้คนเข้าถึงแหล่งความรู้ การศึกษาดีๆ ที่หลากหลาย ได้ในราคาถูกลง Healthtech ช่วยคนที่อยู่ห่างไกลเข้าถึงการแพทย์ เป็นต้น บางครั้งเทรนด์ของเทคโนโลยีที่มีอิมแพกต์มากที่สุดอาจจะไม่ใช่เทคโนโลยีที่ใหม่ และดูน่าตื่นตาตื่นใจเสมอไป แต่เป็นเทคโนโลยีที่ช่วยเสริมพลังติดปีกให้กับคนจำนวนมากได้

สาม “เอเชียต้องมีอาเซียน”

หากทำงานที่ต้องคุยกับนักลงทุนต่างประเทศอยู่เรื่อยๆ จะเข้าใจอย่างหนึ่งว่า แต่ก่อนเวลาเขาพูดถึงเอเชีย เช่น ขั้วอำนาจเศรษฐกิจโลกกำลังเอียงไปเอเชียมากขึ้น เขาหมายถึงจีน จีน และจีน หากไม่ใช่จีนก็มีอินเดีย ส่วนอาเซียนคือกลุ่มประเทศที่ไม่ค่อยรู้จักอยู่ระหว่างจีนและอินเดียแต่ในยุคหลังโควิดและสงครามสถานการณ์เริ่มเปลี่ยนไปเพราะนอกจากจีนจะเผชิญความท้าทายด้านเศรษฐกิจภายในหลายประการแล้วความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์ทำให้ธุรกิจต่างๆ หันมาใช้โมเดล China+1 คือตั้งโรงงานผลิตนอกจีนในอาเซียนเพื่อกระจายความเสี่ยงอีกด้วย ในขณะเดียวกันยุทธศาสตร์อินโดแปซิฟิกของสหรัฐอเมริกาทำให้อาเซียนเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ เศรษฐกิจดิจิทัลของอาเซียนก็เริ่มโดดเด่นเป็นที่รู้จักทั่วโลก เพราะเป็นตลาดที่เศรษฐกิจยังถือว่าโตเร็ว (เฉลี่ย GDP โตปีละ 5%) เมื่อเทียบกับที่อื่นๆ ในโลกผู้บริโภคดิจิทัลเพิ่มขึ้น 100 ล้านคนใน 3 ปีที่ผ่านมา บริษัทเทคโนโลยีระดับยูนิคอร์นมีมากกว่า 30 ตัว เมื่อก่อนเวลาพบนักลงทุน-นักธุรกิจจะคุยเรื่องอาเซียนยากเย็นแต่สมัยนี้หลายคนรู้จักและสนใจอยู่แล้ว ล่าสุด ได้มีโอกาสคุยกับนักลงทุนสาย Venture Capital (VC) ที่ลงทุนปั้นสตาร์ตอัพเป็นหลัก หลายคนก็พูดตรงกันว่ากองทุนใหม่ๆ ในภูมิภาคอาเซียนระดมทุนได้ไม่ยากและหลายคนให้ความสนใจ แต่ปัญหาจริงๆ อาจจะเป็นว่าไม่มีสตาร์ตอัพมากพอให้ลงทุนด้วยซ้ำ ทั้งหมดนี้ จึงชี้ให้เห็นการผงาดขึ้นของเศรษฐกิจเอเชียยังเป็นธีมที่สำคัญอยู่แต่ “เอเชีย” จะไม่ใช่แค่จีนอีกต่อไปแต่ต้องมีอาเซียนเป็นเครื่องยนต์เศรษฐกิจที่สำคัญด้วย ซึ่งก็เป็นเทรนด์ที่อาเซียนเนื้อหอมขึ้นในสายตานักลงทุนต่างชาตินี้ก็เป็นประโยชน์กับประเทศไทยหากเรารู้จักคว้าโอกาส

⦁ยุทธศาสตร์ชาติ กับรัฐบาลใหม่ที่จะรับไม้ต่อ ควรเป็นอย่างไร
ผมว่าประเทศไทยไม่ใช่ไม่มีนักลงทุนสนใจเลย เพราะก็ยังมีคนที่สนใจลงทุนในประเทศไทยแต่เดิมอยู่แล้ว อันนี้พูดทั้งในฝั่งนักลงทุนด้านตลาดการเงิน ทั้งธุรกิจต่างประเทศที่อยากมาลงทุนเพราะเราก็เห็นว่าได้ไทยเองก็ได้ดีลใหญ่ๆ มาเช่นกัน เช่น ล่าสุดในกรณีรถอีวี นอกจากนี้การที่อาเซียนเนื้อหอมขึ้น สำคัญขึ้นในเวทีโลกก็จะเป็นประโยชน์กับประเทศไทยด้วยอย่างที่กล่าวข้างบน แต่แน่นอนว่าหากถามนักลงทุนเหล่านั้นว่าประเทศใดในอาเซียนเนื้อหอมที่สุดเรามักจะได้ยินถึงเวียดนาม และอินโดนีเซีย ที่เป็นประเทศใหญ่และประชากรอายุน้อย มากกว่าจะเป็นประเทศไทย หากถามว่าที่ไหนที่บริษัทอยากตั้งกองทุนไว้ลงทุน ตั้งสำนักงานใหญ่ คำตอบจะเป็นสิงคโปร์ซึ่งกลายเป็นทั้งฮับของสตาร์ตอัพที่สำคัญ และล่าสุดก็เพิ่งแซงฮ่องกงในการจัดอันดับศูนย์กลางการเงินของโลก ดังนั้น ประเทศไทยก็อาจจะไม่โดดเด่นเท่าบางเพื่อนบ้านจริงๆ ตรงกับตัวเลข FDI ที่แผ่วลงมาหลายปีแล้ว

ถามว่าทำไม ผมคิดว่าเราต้องรู้จักตัวเองและรู้จักโลกที่กำลังเปลี่ยนมากกว่านี้ ขอเปรียบเทียบว่าหากประเทศไทยเป็นนักกีฬาคนหนึ่ง เราเป็นนักกีฬาที่เคยเก่งมากโดดเด่นคนหนึ่ง ร่างกายแข็งแรงมีพรสวรรค์ และปัจจุบันก็ยังใช้ได้อยู่และนี่คือสิ่งที่คนบางกลุ่มจะพูดเสมอว่า ประเทศไทยโชคดีที่ในน้ำมีปลาในนามีข้าว อยู่ในจุดยุทธศาสตร์ที่ดีระหว่างจีนอินเดีย เป็นฮับการบิน มีธรรมชาติมีวัฒนธรรมดึงดูดคนมาเที่ยว ฯลฯ สมัยก่อนเราก็เคยเกือบเป็นเสือตัวที่ 5ของเอเชียที่ GDP โตเฉลี่ยเกิน 5% ต่อปี แต่นั่นมันนานมาแล้ว ตอนนี้เราเป็นนักกีฬาที่แก่ตัวลงแล้ว เราไม่ได้วิ่งเร็ว กระโดดสูงได้เหมือนเดิม สมรรถนะร่างกายมันเสื่อมลงจะให้แข่งกับนักกีฬาเด็กๆ (เช่น เวียดนาม) ตรงๆ มันก็ยาก เห็นได้จากประชากรเข้าสังคมสูงอายุ การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเฉลี่ยที่ช้าลง เครื่องยนต์เศรษฐกิจใหม่ๆ ก็ไม่ค่อยมี ที่สำคัญคือเราไม่ได้สร้างทักษะใหม่ๆ ขึ้นมาเท่าไรเพื่อมาชดเชย หรือแทนที่สมรรถนะที่อ่อนแอลงไป ประเทศอื่นที่เจอปัญหาแก่ลงเหมือนกันเขาฝึกฝนทักษะอื่นจนกลายเป็นผู้เล่นที่เก่งได้แม้อายุมากขึ้น เช่น สิงคโปร์ เขาสร้างตัวเองกลายเป็นฮับของสตาร์ตอัพได้จากไม่มีอะไรเลย 7-8 ปีที่แล้ว ทั้งๆ ประชากรก็เข้าสู่สังคมสูงอายุ แต่เรายังพึ่งข้อดีเดิมๆ ที่เราเคยมี และยังคิดว่ามันขายได้เสมอไม่ว่ากี่ปีก็ตาม เรายังคิดว่าเป็นนักกีฬาซุปเปอร์สตาร์ที่ “ทีม” (หมายถึงนักลงทุน) ไหนก็ต้องอยากได้ คนต้องมาจีบเรา มาเข้าใจเรา เพราะเรายังยึดอยู่กับ “อดีต” และยังไม่เข้าใจว่า เวลาทีมเขาจะจ้างเราไหมนั้นเขาดูที่ “อนาคต” เช่นเดียวกันนักลงทุนดูประเทศจะลงทุนเขาก็ดูที่ “อนาคต” โชคดีคือเรายังแข็งแรงพอที่ไม่ได้
บาดเจ็บจนเล่นไม่ได้แล้ว และก็ยังมีคนจ้างเราเล่นอยู่ แต่สัญญาที่ได้มันอาจไม่ได้ดีมาก

ที่เปรียบเทียบเช่นนี้ก็เพราะอยากให้เห็นภาพว่าเราต้องทำอย่างไร

หนึ่ง: เราต้องยอมรับสภาพ และเลิกบอกตัวเองว่าเรายังเป็นนักกีฬาไฟแรงเนื้อหอมแบบในอดีต หากเราไม่เปลี่ยนวิธีการทำแค่พูดถึงทักษะใหม่โดยไม่สร้างและฝึกฝนมันเราตกขบวนได้

ดังนั้นก้าวแรกคือการยอมรับความจริง มันคือการมี “สติ” รู้จักตนเอง

สอง: ต้องเป็นน้ำครึ่งแก้ว มี growth mindset ในเมื่อเรารู้ว่านักกีฬาที่แก่ตัวลงก็ยังสามารถพัฒนาทักษะใหม่มาทดแทนสมรรถนะที่เสื่อมถอยได้ ยังเป็นนักกีฬาที่เก่งได้ เราก็ควรไปศึกษายุทธศาสตร์ และวิธีการของประเทศเหล่านั้นที่ทำสำเร็จ แล้วปรับเอามาใช้ให้เหมาะกับประเทศเรา

ต้องระวังอย่าคิดว่าประเทศไทยยูนีค ไม่เหมือนใครจนเรียนจากคนอื่นไม่ได้ เพราะการคิดเช่นนั้นอาจไม่ใช่การรู้จักตนเองแต่เป็นการเป็นน้ำเต็มแก้ว ในยุคที่คนต้องเรียนรู้ตลอดชีวิต องค์กร-ประเทศก็ต้องทำเช่นกัน และที่สำคัญอย่าไปศึกษาแต่ประเทศขนาดใหญ่ เช่น จีน อเมริกา ยุโรป เพราะยุทธศาสตร์ที่เหมาะสมกับประเทศใหญ่ และประเทศเล็กมันต่างกันมากๆ ประเทศไทยถือว่าเป็นประเทศขนาดเล็กที่ต้องพึ่งพาโลกในการเดินหน้าต่อ ดังนั้นเราจึงควรเรียนรู้จากประเทศขนาดเล็กที่เปิดเชื่อมโยงกับโลกมากกว่า แล้วถอดบทเรียนเอามาปรับใช้เพราะบริบททุกประเทศย่อมต่างกัน

สาม: อย่ารอแมวมอง ต้องไปหาแมว ต่อให้ทำข้อ 1 และ 2 แล้ว ต้องทำใจว่าก็ไม่ใช่ว่านักลงทุนจะมาเอง เราไม่ใช่นักกีฬาเด็กๆ ที่จะมีแมวมองมาตามหาแล้ว เราเป็นรุ่นที่ต้องไปหาแมวแล้วขอโอกาสพิสูจน์ตนเองให้เขาเห็น เราต้องไปอยู่ในเวทีระดับนานาชาติหลายๆ วง ปักธงในด้านต่างๆ ให้เป็นที่รู้จักในระดับโลก ดังเช่น เวียดนามเขาขายด้านการสามารถเข้าถึงหลายตลาดในโลกผ่าน FTA ที่เขามี อินโดนีเซีย เขามีเศรษฐกิจดิจิทัลที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน และแร่ที่จำเป็นสำหรับยุคอีวี สิงคโปร์เขาขายความเป็นศูนย์กลางการเงินยุคใหม่โดยเฉพาะ Green finance เป็นต้น นอกจากนี้ ยังต้องให้ระดับผู้ใหญ่เข้าไปคุยกับเจ้าใหญ่ๆ จีบให้เขามาที่ประเทศไทย และที่สำคัญออกไปขายของอะไรไว้แล้วกลับมาต้องทำได้จริง เช่น ถ้าบอกจะปลดล็อกระเบียบ จะให้สิทธิพิเศษอะไรแล้วต้องผลักดันให้เกิดได้ไม่งั้นจะเสียความน่าเชื่อถือ

⦁อัพเดตเทคโนโลยีและเทรนด์ใหม่ทั่วโลก
สิ่งหนึ่งที่ผมถูกถามบ่อยๆ เวลาไปบรรยายตามสถานที่ต่างๆ คือประเทศไทยควรเลือกอุตสาหกรรมไหนบ้างให้เป็นพระเอก เมื่ออุตสาหกรรมดั้งเดิมต่างๆ ของเรากำลังเผชิญความท้าทายไม่ว่าจะเป็นยานยนต์เครื่องสันดาป อิเล็กทรอนิกส์ที่เน้นฮาร์ดดิสก์ เกษตรที่จะถูกกระทบจากวิกฤตด้านภูมิอากาศ ท่องเที่ยวที่อาจจะเน้นปริมาณมากไป ฯลฯ

แต่หลังๆ คำถามที่ผมเองเริ่มตั้งกับตัวเองเหมือนกันก็คือเราอาจยังยึดติดกับโมเดลบริหารเศรษฐกิจแบบ “เสือเศรษฐกิจ” แห่งเอเชียในอดีต เช่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน สิงคโปร์ ฮ่องกง มากไป ที่ให้รัฐช่วยเลือกว่าอุตสาหกรรมไหนจะเป็นอนาคตของประเทศและมีส่วนลงมาบริหารเกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด เป็นโมเดลจากบนลงล่าง เปรียบเทียบกับทีมฟุตบอลคือรัฐลงมาช่วยเลือกกองหน้าว่าใครจะเป็นคนยิงประตูและเล่นยังไง แต่ในโลกที่การเปลี่ยนแปลงมันรวดเร็วขึ้นเรื่อยๆ คำถามคือยังเหมาะสมอีกหรือ ที่รัฐยังจะต้องเล่นบทเป็นผู้รู้ดีเช่นนี้ หากเราเลือกกองหน้าและรูปแบบการยิงประตูผิดเพราะเกมมันเปลี่ยนตลอดจะทำอย่างไร โมเดลแบบบนลงล่างนี้จึงอาจไม่เหมาะแล้วกับโลกยุคใหม่ เราอาจต้องเปลี่ยนวิธีการ และ mindset จากเน้น “กองหน้า” ว่าอุตสาหกรรมไหนเป็นเครื่องยนต์เศรษฐกิจหลักเป็นเน้นการบริหาร “กองกลาง” ให้ดีขึ้น

กองกลางคือภาคเศรษฐกิจที่อาจไม่ได้เน้นส่งออกต่างประเทศแต่เป็นปัจจัยการผลิต input ให้กับภาคเศรษฐกิจต่างๆ ความสำเร็จของเซ็กเตอร์นี้คือเน้นเสริมสร้างพลังให้กับทุกอุตสาหกรรม เช่นเดียวกันกับการที่กองกลางมีหน้าที่คุมเกมและส่งบอลให้กองหน้าไม่ได้เน้นยิงประตูเอง ตัวอย่างของกองกลางที่สำคัญ เช่น การศึกษา เพราะไม่ว่าอุตสาหกรรมใดก็ต้องใช้คนมีความสามารถ Talent และใช้การวิจัยพัฒนา (R&D) เพื่อเพิ่มมูลค่า, การเงิน เพราะไม่ว่าอุตสาหกรรมใดก็ใช้ทุนและต้องบริหารความเสี่ยง, หรือแม้แต่เศรษฐกิจดิจิทัล ซึ่งหลายคนอาจมองเป็นกองหน้า แต่สำหรับผมมันคือกองกลางที่สอดแทรกและมีหน้าที่เสริมอุตสาหกรรมอื่นๆ อย่างที่อธิบายก่อนนี้

ในทางกลับกันหากเราย้อนไปวิเคราะห์ว่าทำไมหลายเซ็กเตอร์ที่เราอยากให้เป็นกองหน้าถึงยังเพิ่มมูลค่าไม่ได้เท่าที่หวัง แข่งขันไม่ได้เท่าที่ควรเราก็จะเห็นว่าส่วนหนึ่งมาจากปัญหาที่กองกลาง เช่น การขาด Talent คนที่เรียนมาสูงก็ไม่ตรงกับความต้องการตลาด การขาดเงินทุนเพื่อช่วยให้ SME กับ Startup สามารถเติบโตได้ และการขาดทักษะดิจิทัลทำให้คนยังใช้ประโยชน์จากเศรษฐกิจดิจิทัลและ data ไม่ได้อย่างเต็มที่ เป็นต้น หากกองกลางพื้นฐานแน่น คุมเกมดีส่งบอลแม่น จะทำให้กองหน้าเล่นได้ดีขึ้น และต่อให้เกมต้องเปลี่ยน ก็สามารถปรับตามได้อย่างว่องไว

สุดท้ายเซ็กเตอร์กองกลางเหล่านี้ยังมีความสำคัญมากกว่าแค่การเสริมความสามารถการแข่งขันแต่ทั้งการศึกษา-การเงิน-ดิจิทัล ที่ยกตัวอย่างไปยังมีบทบาทสำคัญในการลดความเหลื่อมทางโอกาสในสังคมช่วยคนตัวเล็กอีกด้วย ดังนั้น การพัฒนาเศรษฐกิจแบบเน้นกองกลางจึงเป็นการยิงนัดเดียวได้นกหลายตัว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image