เปิดใจบ้านใหญ่เมืองชล ‘สนธยา คุณปลื้ม’ คืนรัง ‘เพื่อไทย’ สู้เลือกตั้ง

เปิดใจบ้านใหญ่เมืองชล ‘สนธยา คุณปลื้ม’ คืนรัง ‘เพื่อไทย’ สู้เลือกตั้ง

หมายเหตุนายสนธยา คุณปลื้ม อดีตรัฐมนตรีหลายสมัย อดีตหัวหน้าพรรคพลังชล และผู้ร่วมก่อตั้งพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ให้สัมภาษณ์พิเศษมติชนถึงการเปลี่ยนเส้นทางการเมืองเข้าสังกัดพรรคเพื่อไทย (พท.) เพื่อเตรียมพร้อมการเลือกตั้งที่จะถึงนี้

ชัดเจนหรือยัง ในการตัดสินใจไปอยู่พรรคเพื่อไทย

ตัดสินใจแล้ว 1,000% ก่อนนี้เราเป็นพรรคพลังชลแล้วไปอยู่พรรคพลังประชารัฐในช่วงก่อตั้งพรรค เราก็ตัดสินใจแล้วว่า เราจะเปลี่ยนแปลงในส่วนของกลุ่มเราว่า จะไปทางไหน เราต้องเลือกทางที่เราไปทำงาน นำพาทีมเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในกลไกแก้ปัญหา ไม่ว่าปัญหาเศรษฐกิจปากท้องที่มีอยู่

ปัจจัย 1,000% ที่ตัดสินใจนั้น มาจากอะไรบ้าง

Advertisement

ก่อนหน้านั้นที่มีข่าวว่ามีโครงการ 50:50 ที่ชลบุรี คือแบ่งกัน 5 เขต 5 เขต ถ้าพูดถึงเรื่องนี้ ต้องย้อนกลับไปดูโพสต์ของผมเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2565 ที่เราเขียนถึงมีเรื่องนี้อยู่ด้วย ขึ้นหัวว่าคนเราบางคนรู้ที่ไปแต่ลืมที่มามีเรื่องการกำหนดตัวผู้ลงสมัครรับเลือกตั้ง แล้วก็โพสต์ที่ 2 คือให้สัมภาษณ์อีกครั้ง เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ พูดถึงเรื่องต่างๆ ที่เกิดขึ้น ผมบอกว่าคนเราถ้าจะโกหกอะไรไว้ให้จดไว้ด้วยเดี๋ยวจะลืมสำหรับผม เราไม่เคยโกหก เราพูดความจริง

แล้วสุดท้ายอีกครั้ง ช่วงวันเกิดผมโพสต์วันที่ 9 หรือ 10 ธันวาคมนี่เอง ผมใช้มอตโตสั้นๆ ว่าโกหกก็คือโกหก อย่าคิดว่าการพูดโกหกบ่อยๆ แล้วจะเป็นเรื่องจริงได้ อย่าพูดอะไรที่มันสนุกปากมากเกินไปเป็นเรื่องราวตั้งแต่ตอนนั้นถึงตอนนี้ เมื่อย้อนไปทำให้เราคิดว่าการเมืองที่เราจะเดินหน้าต่อ คงมีการเปลี่ยนแปลงตั้งแต่ช่วงนั้นแล้วล่ะว่าจะต้องเปลี่ยนสังกัดพรรคในการเลือกตั้งครั้งต่อไป ถามว่า 100% ไหมย้ายพรรค ผมก็ตอบว่าให้ 100% ทำไม ให้น้อยเหลือเกิน

มีปัจจัยอะไรที่เลือกไปพรรคเพื่อไทย

Advertisement

ตอนนี้ปัญหาเศรษฐกิจปากท้อง ผมมองกลับไปถึงเรื่องขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ เพราะตอนที่เราไปพรรคพลังประชารัฐ ถ้าจำได้ผมจะพูดเรื่อง EEC ผมเข้าไปตั้งแต่ต้นเลย ผมเป็นที่ปรึกษานายกฯ (พล..ประยุทธ์ จันทร์โอชา) คุณอิทธิพล (นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม) ไปเป็นผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เหตุผลคือ EEC เริ่มต้น เราอยู่ในพื้นที่ ถ้ามีโอกาสได้ไปเริ่มตั้งแต่ต้นเลย ก็จะกำหนดนโยบายตรงนั้นได้

ปัจจุบันเราไม่ได้มองแค่ EEC เรามองทั้งภาคตะวันออก ที่มีจีดีพีสูงสุดของประเทศ เรามองว่าต้องมาขับเคลื่อนต่อเป็น New Business Zone เป็นนโยบายที่เริ่มพูดกันว่าเขตเศรษฐกิจใหม่ เราต้องขับเคลื่อนตรงนี้ไปเพื่อสร้างทุกอย่างให้พร้อมการลงทุนภาคอุตสาหกรรมสร้างรายได้ของประเทศ

ใช้เวลานานหรือไม่ในการตัดสินใจ คุยกันมานานหรือยัง จะไปพรรคเพื่อไทยเมื่อไร

คุยกันมานานแล้ว ถามว่าตั้งแต่ตอนไหนก็คือเริ่มที่จะมีประเด็นต่างๆ เข้ามา ตอนนี้ยังไม่ได้ไปสมัครสมาชิกพรรคเพื่อไทย ถ้าพูดถึงพรรคเพื่อไทย เราเคยทำงานกับเขามาตั้งแต่ปี 2548 ดูจากพื้นฐานนโยบาย ก็ทำงานร่วมกัน คุยกันแบบตรงไปตรงมา เอาความจริงมาคุยกันว่าจะเดินไปทางไหน

เรียกว่าตั้งแต่ต้นปีที่แล้ว ที่มีเรื่องมีราว

ผมไม่ได้เป็นคนก่อเรื่องนะ มันเป็นเรื่องการทำงาน เรายึดมั่นในเรื่องการทำงานทางการเมือง การมีเพื่อน หรือการทำงานทางการเมืองคนละพรรค มันยังเป็นเพื่อนกันได้ ไม่จำเป็นว่าถ้าอยู่คนละพรรค อยู่คนละพวกแล้วจะไม่เอากัน มันไม่ใช่ ไม่ใช่แนวทางตั้งแต่ในอดีตสมัยคุณพ่อ (กำนันเป๊าะสมชาย คุณปลื้ม) บอกว่า คนเราต้องมีเพื่อนให้มากๆ เพราะไม่มีใครดีร้อยเปอร์เซ็นต์ เลวร้อยเปอร์เซ็นต์ คนเรามีดี มีเลวในตัวเอง ต้องค้นหาสิ่งดีๆ ของแต่ละคนให้เกิดประโยชน์แก่เราได้ เขาถึงบอกพรรคไม่สำคัญ แต่พวกสำคัญ เป็นสิ่งที่พ่อบอกมาตลอด เราก็ยึดมั่นแบบนี้มาตลอด 

พ่อผมสอนอะไรไว้เยอะ เขาบอกว่าการเลือกตั้งมีได้ มีตก มีได้เป็น มีไม่ได้เป็น มีตำแหน่ง ไม่มีตำแหน่ง เพราะฉะนั้นผลการเลือกตั้งจะออกมาอย่างไร ไม่ต้องไปสนใจหรอก ถ้าเราคิดจะทำการเมืองต่อ เหมือนตอนที่สมัยผมลงเลือกตั้งครั้งแรกปี 2535 เรียกว่า 35/1 แล้วสามเดือนต่อมายุบสภา มีเลือกตั้ง 35/2

ช่วง 35/1 เราได้ 4 ที่นั่ง คู่แข่งได้ 2 ที่นั่ง ตอนนั้นเมืองชลฯ มี 6 เขต พอ 35/2 เกิดพฤษภาทมิฬ มีพรรคเทพ พรรคมาร เราบังเอิญไปอยู่พรรคมาร แล้วเลือกตั้งมาเราเหลือ 2 คน เหลือผมกับคุณวิทยา คุณปลื้ม พ่อผมยังบอกเลย เที่ยวนี้แพ้ เขาบอกว่าไม่เป็นไร อย่างที่บอกมีได้มีตก ไม่เป็นไรก็ทำงานกันต่อ แล้วเที่ยวถัดมาปี 2538 เราก็ได้ยกทั้งจังหวัด

มีอีกอย่างเขาบอกว่า แข่งก็แข่งกันไปอย่าไปทะเลาะกัน อย่างไรก็ยังเป็นพวกกันได้ ทำให้เมืองชลไม่มีการเมืองประเภทแตกแยกกัน แข่งก็คือแข่ง ในอนาคตอาจจะมีโอกาสมารวมเป็นทีมเดียวกันได้ เหมือนปี 2550 ผมไม่เหลือซักคนเลยนะ ตกหมดเลย แพ้ให้กับประชาธิปัตย์ ตอนนั้นเราอยู่พรรคชาติไทย แต่คุณอิทธิพลกับคุณวิทยา ลงสนามท้องถิ่น ก็ทำงานการเมืองกันต่อ เลือกตั้งนายก อบจ. คุณวิทยาได้ยกทีมทั้งจังหวัด เลือกตั้งเมืองพัทยา คุณอิทธิพลก็ชนะยกทีมทั้งพัทยา

ประเมินเลือกตั้งรอบนี้อย่างไร

เที่ยวที่แล้วไม่ใช่ทีมเราไม่ได้เลย ทีมเราได้ 5 ที่นั่ง พรรคอนาคตใหม่ได้ 3 นั่ง เพราะเที่ยวที่แล้วเมืองชล พลังประชารัฐในนามของกลุ่มเรา พลังชลคือกลุ่มชลบุรี ไม่ใช่กลุ่มพลังนั้นกับกลุ่มบ้านใหญ่ เราเป็นคนดูการเลือกตั้งทั้งหมด และไม่ใช่ฝั่งที่ผมดูตกหมด ฝั่งที่เขาดูชนะหมด ไม่ใช่

ผมอยากจะเรียนเลยว่าสิ่งที่ได้ยินมันไม่ใช่ สิ่งที่เห็นมันไม่จริงที่ผ่านมาผมไม่ได้พูดอะไรเลย ที่ไม่ได้ชี้แจงอธิบายอะไร เพราะว่าเราไม่สนใจ และผู้ใหญ่ก็บอกว่าถ้าไม่ใช่เรื่องจริง ไม่ต้องสนใจอะไร ใครจะไปเชื่อ ทุกคนรู้ หลายคนก็รู้ แต่เมื่อเราไม่ได้ออกมาพูดอะไร ทำให้ข้อมูลที่ได้ยินคนก็ชักเชื่อแฮะ ก็ต้องโยงมาที่โพสต์ผมวันที่ 17 กุมภาพันธ์, สัมภาษณ์วันที่  22 กุมภาพันธ์ แล้วก็โพสต์อีกครั้งวันที่ 9-10 ธันวาคม ถ้าไปอ่านจะเห็นเลยว่า สองสามย่อหน้านั้นมันคืออะไร มีคนบอก เราต้องพูดบ้างแล้วนะ เพราะไม่งั้นเดี๋ยวมันชักจะมากเกินไป

คราวที่แล้วเราเป็นคนดูแลทั้งหมด 5 ที่นั่งในนามกลุ่มชลบุรีในนามพลังประชารัฐ อีก 3 เขตที่แพ้ไป ไปดูคะแนนได้เลย ใน 3 เขตที่แพ้คะแนนไม่ได้ตกน้ำไปไหนเลย อยู่ในเป้าหมายที่เราทำ ไม่ว่าจะเป็นเขต 5 เขต 6 เขต 7 โดยเขต 5 ได้เพิ่มอีก เขตของคุณอิทธิพลก็ได้มาเท่ากับที่ภรรยาผมลงเขตนั้น ได้มา 3 หมื่นกว่าคะแนน และอีกเขตที่คุณปรเมศวร์ งามพิเชษฐ์ ลงก็ 3 หมื่นกว่าคะแนน ได้มาตามเป้า

แต่พอยุบพรรคไทยรักษาชาติ คะแนนตรงนั้นก็ไม่ใช่ของเราอยู่แล้ว คะแนนจึงไหลไปที่พรรคอนาคตใหม่ ถ้าดูคะแนนจริงๆ พรรคประชาธิปัตย์จากเดิมที่ได้คะแนนเขตละ 2 หมื่น เหลืออยู่หลักพัน ก็ไม่ใช่คะแนนของเราอยู่แล้วเหมือนกัน ทำให้ไหลไปรวมกัน ทำให้ทั้ง 3 เขต ทางพรรคอนาคตใหม่ชนะเราไปเขตละ 3 พัน 5 พัน ไม่ใช่คะแนนหายไปเป็นหมื่นแล้วทำให้เราแพ้ จนดูว่าเราไม่ได้รับความนิยม ไม่ได้รับความไว้วางใจ แต่คะแนนเราได้มาตามเป้าหมาย สาเหตุที่แพ้ก็คือแบบนี้

ถ้าพรรคไทยรักษาชาติไม่ยุบ โอกาสของบางคนจะเป็น ส..ก็ไม่มีเหมือนกัน

ถ้าพรรคไทยรักษาชาติส่งครบทั้งชลบุรี ไม่ใช่เขต 1-4 เป็นพรรคเพื่อไทย เขต 6-8 เป็นไทยรักษาชาติ คือถ้าเป็นไทยรักษาชาติลงทั้งเขต 1-8 เลยนี่ พลังประชารัฐได้แค่ 4 ที่นั่ง เพราะจะมีเขต 1 อีกเขตนึงที่จะแพ้ จากคะแนนรายงานผลของ กกต. เพราะเราได้ 38,000 คะแนน แต่อีกสองพรรคเขารวมกันแล้วได้ 40,000 คะแนน มันก็เหมือนกับเขตอื่นที่พอยุบไทยรักษาชาติ คะแนนก็ไปรวมอยู่ที่เดียว

ส่วนการเลือกตั้งในปี 2566 เราต้องทำเต็มที่ ไม่ว่าตัวผู้สมัคร พรรค นโยบาย แล้วแนวทางหาเสียง เราก็สู้เต็มที่ 10 เขต แต่ท้ายที่สุดประชาชนเป็นผู้ตัดสินใจ เรามองมันมีหลายปัจจัยว่าจะเลือกคนแบบไหน คนมีคุณสมบัติส่วนตัวอย่างไร ตรงไปตรงมาในการทำงานทางการเมือง หรือว่าคนที่เช้าอย่าง กลางวันอย่าง เย็นอย่าง พูดจาปลิ้นปล้อน โกหก ประชาชนเขารู้กัน แล้วเขาก็จะตัดสินใจว่าจะเลือกใคร แต่เราก็ต้องทำงานการเมืองเต็มที่ทั้ง 10 เขต

เป้าหมายคือ 10 เต็ม 10 เราก็สู้ 10 อาจจะ 11 หรือ 12 สิบสอง อาจมีสัดส่วนในปาร์ตี้ลิสต์ ไม่มีหลีกทางเพราะมีการวิเคราะห์กันว่าอาจจะมีลักษณะ สองก๊กรุมหนึ่งก๊ก จับมือกันโค่นอีกคน

คราวที่แล้วพรรคเล็กๆ เยอะ เพราะรัฐธรรมนูญเปิดช่อง แต่ครั้งนี้รัฐธรรมนูญเป็นหาร 100 ทำให้พรรคเล็กค่อยๆ หายไป เป็นเหตุผลหนึ่งว่าทำไมพลังชลจึงต้องพัก แต่ยังทำงานทางการเมืองตาม พ...ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง

นอกจากชัยชนะที่เราหวังจะได้ทั้ง 10 เขต มีเรื่องการแก้แค้นสั่งสอนใครบางไหม

ประชาชนจะเป็นคนที่ตัดสินมากกว่า ประชาชนจะพิจารณาเองจากสิ่งที่เป็นภาพรวมของพรรคการเมือง คุณสมบัติ กับสิ่งต่างๆ ที่เป็นองค์ประกอบ เราต้องทำงานของเราอย่างเต็มที่ให้ประชาชนไว้วางใจแล้วลงคะแนนให้กับทีมเรา แสดงให้เห็นว่าความจริง เรื่องจริง ที่เรามีให้กับการทำงานที่ผ่านมาโดยตลอด

มองสถานการณ์เวลานี้ ประเมินยุบสภาเมื่อไหร่

ผมคิดว่าเดือนกุมภาพันธ์ เราอ่านว่าประมาณสัปดาห์แรกของเดือนต้องไปสังกัดพรรคกันหมดแล้ว เพราะมีเงื่อนไข 90 วันของการเป็นสมาชิกพรรค อันนั้นคือถ้าอยู่ครบวาระ แต่ ณ วันนี้ดูแล้ว ผมคิดว่ายุบสภา เพราะเป็นโอกาสที่แต่ละพรรคจะชักชวนใครเข้ามาอยู่ในพรรค หรือว่าถ้าใครคิดว่าครบ ไม่ครบ ไม่รู้ล่ะ ต้นเดือนกุมภาพันธ์ต้องไปกันแล้ว เหมือนอย่างของเรา ประมาณต้นเดือนกุมภาพันธ์ เราต้องชัดเจนในเรื่องตัวผู้สมัคร การเข้าไปสังกัดพรรคอะไรต่างๆ ต้องให้พร้อม

ความผูกพันระหว่างตระกูลคุณปลื้มกับชลบุรีมีอะไรเปลี่ยนไปหรือไม่

สังคม ความเจริญต่างๆ บ้านเมืองมันเปลี่ยนไป คนรุ่นใหม่เติบโตขึ้นมาตลอด เปลี่ยนแน่นอนครับ ต้องให้รู้เท่าทันและทันสมัย ทุกวันนี้ยังต้องคอยถามลูกว่าพวกรุ่นๆ เขาคิดกันอย่างไร และควรจะเป็นอย่างไร เด็กรุ่นนี้เขาคิดไม่เหมือนรุ่นเรา เพราะฉะนั้นเราต้องรู้เท่าทันทุกเรื่องเพื่อให้ตัวเราเองไม่ตกยุค

การเลือกตั้งครั้งนี้จะลงเองหรือไม่ และตระกูลคุณปลื้ม ไปไหนไปกันหรือไม่

ผมไม่ได้ลงเขต ทีแรกจะลงเขต ก็มีคนท้วง เพราะผมต้องดูทั้ง 10 เขต ดูภาพรวมอาจต้องดูต่างจังหวัดด้วย คนที่ลงเขตผมก็คือคุณสุกุมล คุณปลื้ม ภรรยาผม คุยกันบอกพี่ไม่ต้องลง หนูลงเอง เพราะตอนผมถูกพักการเมือง 5 ปี เขาก็เคยลงเขตผมมาแล้ว แล้วก็เป็นรัฐมนตรีอยู่ช่วงหนึ่ง เพราะฉะนั้นเขาลงเอง เราไม่ลงเพราะเราต้องดูแลพื้นที่ 

ส่วนพี่น้อง 5 คน เราคุยกันอยู่แล้วว่าจะไม่อยู่กันคนละพรรค ไปไหนไปกัน พี่น้องเราทำการเมืองกันมาด้วยกัน อาจจะมีแบ่งหน้าที่กันไป แต่ไปไหนไปกัน ก่อนปีใหม่เราก็คุยกัน เรื่องพรรค เรื่องอะไรต่างๆ มีโอกาสก็คุยกัน วิเคราะห์การเมือง ตอนนี้เป็นอะไร แบบไหน แล้วต่อไปเราจะไปอย่างไร พี่น้อง 5 คนคุยกันแล้วตัดสินใจลงมติว่าเอาแบบนี้ 

นอกจากเราแล้ว ที่เราออกไปพบพื้นที่ แกนนำเราทั้งหลาย ประชาชนว่าอย่างไร เหมือนเราหาข้อมูล แล้วมาคุยกัน เอาไงเอากัน เหมือนคราวที่แล้วที่เราจะไปพลังประชารัฐ ที่ไปคุยกันคือ ผม คุณวิทยา และคุณอิทธิพล ก็ไปคุยกับผู้ใหญ่ด้วยกัน สุดท้ายพอตัดสินใจ เราก็กราบเรียนทางผู้ใหญ่ไปว่า โอเค เราตกลงจะไปร่วมกับพลังประชารัฐ ก็มาคุยว่าทำงานกันแบบไหน มีเงื่อนไขอะไรไหม

การทำงานเที่ยวนี้ก็เหมือนกัน เราไปในทิศทางเดียวกัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image