โชติวัฒน์ เหลืองประเสริฐ ‘รักศาล ร่วมใจ รับใช้ประชาชน’

โชติวัฒน์ เหลืองประเสริฐ

โชติวัฒน์ เหลืองประเสริฐ ‘รักศาล ร่วมใจ รับใช้ประชาชน’

นายโชติวัฒน์ เหลืองประเสริฐ ประธานศาลฎีกา คนที่ 48 ได้เปิดห้องทำงาน ให้ “มติชน” ได้อัพเดตการทำงานกว่า 3 เดือนเศษตั้งแต่ทำหน้าที่ประมุขฝ่ายตุลาการ ติดตามได้จากบรรทัดถัดจากนี้

⦁นโยบายรักศาล ร่วมใจ รับใช้ประชาชน มีจุดมุ่งหมายอย่างไร

นโยบาย “รักศาล ร่วมใจ รับใช้ประชาชน” ที่ผมกำหนดขึ้นในการบริหารราชการศาลยุติธรรม มีเป้าหมายสูงสุด คือ การ “รับใช้ประชาชน” หรือการให้บริการประชาชน ด้วยความสะดวก รวดเร็ว ถูกต้อง และเป็นธรรม ซึ่งมองว่า การจะไปถึงเป้าหมายดังกล่าว ต้องเริ่มต้นจากการสร้างจิตสำนึกให้บุคลากรทุกภาคส่วนมีความรัก ความผูกพันในองค์กร ไม่ใช่เฉพาะผู้พิพากษา แต่รวมถึงเจ้าหน้าที่ ผู้พิพากษาสมทบ ผู้ประนีประนอม ซึ่งเป็นบุคคลที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาศาลยุติธรรมเช่นกัน เพราะการจะทำงานให้บรรลุเป้าหมายคือการบริการประชาชนนั้น ผู้พิพากษาไม่อาจจะทำได้โดยลำพัง ดังนั้น บุคลากรทุกฝ่ายจึงมีความสำคัญ ต้องปลุกจิตสำนึกให้ทุกคนร่วมมือร่วมใจกันทำงาน ตรงนี้จึงเป็นที่มาของคำว่า “รักศาล”

Advertisement

ส่วน “ร่วมใจ” คือ การร่วมมือร่วมใจรวมพลังทุกฝ่าย เพราะศาลยุติธรรมทั่วประเทศมีอยู่เกือบ 300 ศาล ถ้าหากทุกศาลร่วมมือกัน เห็นความสำคัญในการทำงานเพื่อประโยชน์ของประชาชนจะมีพลังที่ยิ่งใหญ่และมีผลงานปรากฏเป็นรูปธรรม ทำให้ประชาชนรับรู้ได้ถึงความมุ่งมั่นตั้งใจในการให้บริการประชาชน

เมื่อกำหนดนโยบายได้แล้ว ผมคิดว่าการจะทำให้นโยบายสำเร็จได้ต้องมีการเตรียมการและวางแผนตั้งแต่ต้น ดังนั้นเมื่อรับตำแหน่งประธานศาลฎีกาในเดือนตุลาคม 2565 ผมจึงเชิญผู้บริหารศาลทั่วประเทศมาร่วมประชุมเพื่อรับทราบนโยบาย โดยได้อธิบายให้ผู้บริหารได้รู้ถึงเหตุผลที่มาที่ไปของนโยบาย เพื่อที่จะได้นำความคิดและความเข้าใจที่ถูกต้องไปถ่ายทอดให้บุคลากรในสังกัดได้เข้าใจ และจะได้ร่วมมือร่วมใจปฏิบัติหน้าที่ให้องค์กรเดินหน้าไปสู่เป้าหมายและความสำเร็จที่ต้องการ

แต่คิดว่าลำพังการที่ผมอธิบายให้ผู้บริหารศาลรับรู้ อาจจะยังไม่เพียงพอ จึงได้วางแผนตรวจเยี่ยมศาลต่างๆ ทั่วประเทศ เพราะเมื่อออกนโยบายไป การจะทราบว่า ผู้ปฏิบัติเข้าใจและรับรู้ถึงที่มาที่ไปของนโยบาย ก็จะต้องมีการออกไปตรวจเยี่ยม โดยนอกจากจะไปมอบนโยบายแล้ว ยังเป็นการสร้างขวัญกำลังใจให้บุคลากรด้วย เพราะจังหวัดไกลๆ ไม่มีผู้บริหารไปเยี่ยมบ่อยนัก การที่ผมเดินทางไปย่อมเป็นการสร้างความรู้สึกที่ดีให้แก่บุคลากรว่า ผู้บริหารสูงสุดได้มาเยี่ยม ให้ความสำคัญแก่บุคลากรทุกภาคส่วน แม้อยู่ไกลแค่ไหนก็ยังไป

Advertisement

เมื่อปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ผมได้เริ่มจากการเดินทางไปตรวจเยี่ยมศาลยุติธรรมในภาค 9 ใช้เวลาตรวจเยี่ยม 4 วัน โดยวันแรกเดินทางไปที่จังหวัดนราธิวาส เพื่อพบปะพูดคุยกับบุคลากรของศาลในพื้นที่ จากนั้นวันรุ่งขึ้นเริ่มลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมศาลใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ทั้งหมด คือ จังหวัดนราธิวาส ยะลา และปัตตานี ในวันถัดไปก็เดินทางไปตรวจเยี่ยมศาลในจังหวัดสงขลา พัทลุง และตรัง แต่ด้วยระยะเวลาอันจำกัด ก็จะมีบางศาลที่ไม่สามารถไปได้ เพราะอยู่ไกล เช่น ศาลจังหวัดเบตง ก็จะเชิญให้บุคลากรของศาลนั้นมาสมทบที่ศาลจังหวัดยะลา เช่นเดียวกับศาลจังหวัดนาทวี ก็ได้เชิญมาพบปะพูดคุยเพื่อมอบนโยบายที่ศาลจังหวัดสงขลาแทน

ในวันสุดท้าย ตรวจเยี่ยมศาลในจังหวัดตรังและจังหวัดสตูลก่อนขึ้นเครื่องบินที่อำเภอหาดใหญ่กลับกรุงเทพฯ

⦁ทำไมเลือกพื้นที่ภาค 9 เป็นแห่งแรกในการตรวจเยี่ยม

ที่ให้ความสำคัญกับภาค 9 เป็นลำดับแรก เพราะเป็นจังหวัดอยู่ไกลที่สุด ที่สำคัญเป็นที่ตั้งของจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีเหตุการณ์ความรุนแรง การที่ผมไปเยี่ยมบุคลากรในพื้นที่นี้ก็เพราะตั้งใจอยากจะไปให้กำลังใจทุกๆ คน ทำให้เขาอุ่นใจว่าผู้นำองค์กรพร้อมที่จะอยู่เคียงข้างและดูแลเขา ซึ่งจากการตรวจเยี่ยมก็พบว่าทุกคนก็มีกำลังใจในการปฏิบัติงานที่ดี

ต่อมาเดือนพฤศจิกายน 2565 ได้ไปตรวจเยี่ยมศาลยุติธรรมในภาค 4 คือ พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน มีจังหวัด ขอนแก่น กาฬสินธุ์ มหาสารคาม มุกดาหาร ร้อยเอ็ด นครพนม สกลนคร อุดรธานี หนองคาย แล้วปิดท้ายที่จังหวัดเลย ทริปนี้ใช้เวลาเดินทาง 5 วัน

ล่าสุดไปตรวจเยี่ยมศาลในภาคเหนือมา เริ่มจากจังหวัดเชียงราย แล้วผ่านเข้าตรวจเยี่ยมศาลแขวงเวียงป่าเป้า จากนั้นไปตรวจศาลในจังหวัดเชียงใหม่ทั้งหมด ต่อด้วยศาลในจังหวัดลำพูน และลำปาง แต่การตรวจราชการในภาคเหนือยังไม่หมด ปลายเดือนมกราคมจะไปตรวจศาลที่เหลือ ทั้งที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยจะไปถึงศาลจังหวัดแม่สะเรียง ซึ่งเป็นศาลที่ไม่มีผู้ใหญ่ไปเยี่ยมมาแล้วหลายปีแล้วด้วย หลังจากนั้นจะแวะที่ศาลจังหวัดฮอด แล้วผ่านจอมทองมาเข้าเชียงใหม่

ขณะเดียวกันก็ได้แบ่งเวลาไปตรวจเยี่ยมศาลในกรุงเทพฯ เช่นกัน โดยศาลที่ไปตรวจเยี่ยมแล้ว ได้แก่ ศาลอาญา ศาลแพ่ง ศาลอาญาตลิ่งชัน ศาลแพ่งตลิ่งชัน และวางแผนว่าในเดือนนี้ จะไปศาลอาญามีนบุรี ศาลแพ่งมีนบุรี ศาลอาญาธนบุรี และศาลแพ่งธนบุรี

ในการตรวจเยี่ยมศาล สิ่งสำคัญประการหนึ่งที่ผมและคณะทำงานจะเข้าไปดูแล คือเรื่องของการบริหารจัดการคดี ซึ่งโดยปกติจะให้ศาลยุติธรรมทั่วประเทศรายงานสถิติคดีค้างมา คดีรับใหม่ และคดีแล้วเสร็จเข้ามาที่ส่วนกลางทางระบบออนไลน์ตลอดทุกเดือน โดยผมจะมีคณะทำงานที่คอยติดตามวิเคราะห์ประเมินผลข้อมูลดังกล่าว จึงทราบว่าศาลที่จะไปตรวจเยี่ยมมีผลสัมฤทธิ์ในการบริหารจัดการคดีเป็นอย่างไร มีปัญหาอุปสรรคการทำงานอย่างไร

ในการไปตรวจเยี่ยม ก็จะมีคณะทำงานชื่อว่า คณะอนุกรรมการส่งเสริมการบริหารจัดการคดีในศาลชั้นต้น ที่มีนายสืบพงษ์ ศรีพงษ์กุล ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา เป็นประธานอนุกรรมการ ร่วมเดินทางไปกับผมตลอด เพื่อให้คำแนะนำการวางแนวทางบริหารจัดการคดีให้แต่ละศาลให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

⦁แต่ละศาลที่ไปตรวจเยี่ยม มีเสียงตอบรับในการปฏิบัติตามนโยบายประธานศาลฎีกาเพียงใด

การไปตรวจเยี่ยมของผม จะไม่ใช่แค่ไปพบปะพูดคุยทั่วๆ ไป แต่ผมได้พูดถึงนโยบาย เหตุผลและความจำเป็น ที่ศาลต้องปรับตัว เปลี่ยนแปลงการทำงานที่เน้นการให้บริการประชาชน โดยถือประชาชนเป็นศูนย์กลางให้มากที่สุด ทำให้ประชาชนมีความเชื่อมั่นศรัทธาในองค์กรศาลยุติธรรม ให้ประชาชนยังคงรู้สึกว่าศาลเป็นที่พึ่งสุดท้ายของประชาชนอย่างแท้จริง

ผมได้เน้นย้ำกับบุคลากรในทุกศาลที่ไปตรวจเยี่ยมว่า ประชาชนที่มาติดต่อราชการ เขามีความทุกข์ มีความเดือดร้อน มีปัญหาข้อพิพาท จึงมาหาเรา ดังนั้น ต้องช่วยกันทำงาน เพื่อทำให้คดีเสร็จลงอย่างรวดเร็วและเป็นธรรม การเขียนคำพิพากษาต้องละเอียด รอบคอบ คำวินิจฉัยต้องประกอบไปด้วยข้อเท็จจริง ข้อกฎหมาย และเหตุผลที่ชัดเจน เพื่อให้คู่ความอ่านแล้วเข้าใจ เป็นที่ยอมรับได้ ส่วนฝ่ายที่แพ้คดี หากไม่เห็นด้วยก็เป็นเรื่องที่จะต้องใช้สิทธิอุทธรณ์ต่อไป อีกสิ่งหนึ่งที่ผมเน้นย้ำ ก็คือ การคุ้มครองสิทธิของผู้ต้องหาและจำเลยในคดีอาญา โดยเฉพาะในระหว่างที่ศาลยังไม่มีคำพิพากษา การใช้ดุลพินิจในการอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวต้องเป็นไปอย่างเหมาะสม เพราะการไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว ก็เท่ากับว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยต้องถูกคุมขังไว้ จึงพึงต้องใช้ดุลพินิจส่วนนี้ด้วยความระมัดระวัง การดำเนินคดีก็ต้องเป็นไปโดยรวดเร็วและเป็นธรรม จะอุทธรณ์ฎีกาก็ว่ากันต่อไป ในคดีแพ่ง ก็สำคัญเช่นกัน เพราะประชาชนที่มาศาลก็ต่างเป็นผู้ที่มีข้อพิพาทเกี่ยวกับทรัพย์สินหรือสิทธิอื่นๆ ตามกฎหมาย ถือว่าทุกคนมีความเดือดร้อน เพราะฉะนั้นผู้พิพากษาที่พิจารณาคดีแพ่งก็ต้องช่วยเร่งรัดการพิจารณาคดีให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว การสั่งคำร้อง คำแถลง หรือการมีคำพิพากษา ต้องมีเหตุผลที่ชัดเจน ให้เป็นที่ยอมรับของประชาชน

การตรวจเยี่ยมศาลตามแนวทางดังกล่าว ไม่ได้ส่งผลต่อเฉพาะศาลที่ได้ตรวจเยี่ยมแล้วเท่านั้น แต่ยังส่งผลไปถึงศาลอื่นๆ ด้วย เพราะศาลที่ยังไม่ได้ไปตรวจก็จะพูดคุยสอบถามจากศาลที่ได้รับการตรวจเยี่ยมแล้ว ว่าแนวทางดำเนินงานเป็นอย่างไร ซึ่งเขาจะอยู่นิ่งไม่ได้ ก็ต้องคิดทำอะไรต่อทำให้กระตือรือร้น ในภายหลังเมื่อผมไปสื่อสารด้วยตัวเอง ไปพูดคุยกับเขาก็ยิ่งเข้าใจ

นโยบาย “รักศาล ร่วมใจ รับใช้ประชาชน” ผมไม่ได้ทำขึ้นมาให้สวยหรูแล้วก็จบไป โดยไม่มีผลงานเป็นรูปธรรม แต่ผมต้องการความสำเร็จ ต้องการผลงานที่เป็นรูปธรรม ให้เกิดแก่ระบบงานของศาลยุติธรรม เพื่อที่ว่าสุดท้ายแล้วประโยชน์ก็จะตกแก่ประชาชน เป็นการวางหลักวางรากฐานเอาไว้ให้ประธานศาลฎีกาที่จะมาดำรงตำแหน่งต่อจากผมสานต่อให้ดียิ่งๆ ขึ้นไป

ตอนนี้เหลืออีก 6 ภาค ที่ยังไม่ได้ไปตรวจ ซึ่งก็ต้องไปเรื่อยๆ มีหลายจังหวัดถามว่าเมื่อไหร่ท่านประธานศาลฎีกาจะมา ผมก็บอกว่าจังหวัดที่อยู่ใกล้กรุงเทพฯ ก็ช้าหน่อยนะ เพราะว่าสะดวกอยู่เเล้ว ผมจะไปจังหวัดไกลๆ ก่อน โดยเฉพาะศาลที่ไม่เคยมีผู้ใหญ่ไปกัน

⦁จากการตรวจเยี่ยมมีความประทับใจอย่างไร

สิ่งที่ผมประทับใจที่สุด คือ ทุกๆ ศาลมีความกระตือรือร้นในการทำงาน ผมเพียงแต่มาเน้นย้ำ มาปลุกเร้า เขาก็ตอบรับ ตรงนี้ก็ยิ่งทำให้การทำงานศาลยุติธรรมเข้มแข็งขึ้น เป็นทีมเวิร์กมากขึ้น มีการทำงานที่เห็นเป็นรูปธรรมมากขึ้น ผมประทับใจที่บุคลากรของศาลยุติธรรมมีคุณภาพ มีความตั้งใจเดิมที่ดีในระดับหนึ่ง พอเรามาเป็นผู้ชี้นำ เป็นผู้บุกเบิก และช่วยกระตุ้น เขาก็ให้ความร่วมมือ ทุกศาลที่ไป ผมจะย้ำว่าไม่ได้มากดดัน ผมไม่ได้มาใช้ให้ทำอะไรที่หนัก ที่เหนื่อยมาก แต่มาเพื่อขอความร่วมมือร่วมใจที่จะให้พวกเราเห็นความสำคัญในการทำงานให้ประชาชนมีความสุข คนที่ความเดือดร้อนมาหาเรา แล้วเราได้แก้ความเดือดร้อน แก้ปัญหาให้ เป็นความภูมิใจ เป็นความสุขเป็นสิ่งดีๆ ที่เรามอบให้แก่ประชาชน

โครงการถัดไป ผมจะไปตรวจเยี่ยมศาลยุติธรรมในภาค 8 คือ ภาคใต้ จะแยกไปสองทาง คือ ทางทะเลอันดามัน ฟากกระบี่ พังงา ภูเก็ต ระนอง จากนั้นจึงจะไปจังหวัดทางอ่าวไทย คือ สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ชุมพร เหตุที่ต้องทยอยไปตรวจทีละส่วน เพราะมีเวลาจำกัด ที่กรุงเทพฯ ก็มีภารกิจของประธานศาลฎีกาที่ต้องปฏิบัติควบคู่ไปด้วย จึงต้องวางแผนการเดินทาง ยกตัวอย่างเช่น ไปสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ นอนค้างที่ปัตตานี เช้ามาสงขลาใช้เวลารวม 2 ชั่วโมง ผมก็ต้องออกกันตั้งแต่ 06.30 น. อาหารเช้าก็ต้องจัดเป็นกล่องมากินบนรถ เมื่อไปถึงสงขลาตรวจงานได้เลย

ในการลงพื้นที่ต่างจังหวัด ผมก็จะเข้าใจถึงแนวทางการทำงานและสภาพความเป็นอยู่ของผู้พิพากษาที่รับราชการในภูมิภาค เพราะผมเองก็เป็นคนต่างจังหวัด เป็นคนจังหวัดลพบุรี และชีวิตที่ผ่านมา ในช่วงที่รับราชการเป็นผู้พิพากษาในศาลชั้นต้น ก็จะอยู่ต่างจังหวัดมาตลอด โดยอยู่ที่ภาคอีสานนานที่สุด

⦁คดีเเรงงานที่มีมากขึ้นเรื่อยๆ จะแก้ปัญหาอย่างไร

มีแนวคิดเพิ่มที่ทำการศาลแรงงาน เริ่มจากการตั้งศาลแรงงาน 2 จังหวัด คือ ศาลแรงงานจังหวัดสมุทรปราการ และศาลแรงงานจังหวัดระยอง สาเหตุที่ต้องเป็น 2 จังหวัดนี้ เพราะมีนิคมอุตสาหกรรมและโรงงานจำนวนมาก ข้อพิพาททางแรงงานก็ย่อมมากตามไปด้วย สถิติคดีมีปริมาณสูงปีหนึ่งประมาณเกิน 1,000 คดี แต่ในปัจจุบันข้อพิพาทที่เกิดขึ้นในจังหวัดสมุทรปราการ จะต้องฟ้องคดีต่อศาลแรงงานภาค 1 ที่จังหวัดสระบุรี ส่วนจังหวัดระยอง ขึ้นศาลแรงงานภาค 2 ที่ตั้งอยู่จังหวัดชลบุรี การตั้งศาลแรงงานจังหวัดจึงเป็นประโยชน์กับคู่ความในแง่ของการเดินทาง ปัจจุบันต้องแก้ปัญหาด้วยการจัดให้มีศาลแรงงานสาขาหรือศาลแรงงานเคลื่อนที่ แต่บุคลากรศาลก็จะต้องเดินทางไปยังพื้นที่ต่างๆ ทำให้การจัดสรรเวลาพิจารณาคดีไม่รวดเร็วเท่าที่ควร ถ้าตั้งศาลแรงงานจังหวัดได้ ก็จะมีผู้พิพากษาศาลหัวหน้าศาล มีผู้อำนวยการ จะสมบูรณ์ การทำงานจะสะดวกรวดเร็ว ให้การบริการประชาชนได้อย่างดีตอนนี้ขั้นตอนผ่านมติเห็นชอบของคณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรม ผลักดันให้เกิดเพื่อที่จะได้ให้บริการประชาชนได้อย่างสะดวกรวดเร็ว แต่ว่าจะได้แค่ไหนอยู่ที่การสนับสนุนของรัฐบาลด้วย ต้องได้งบประมาณ

⦁เห็นว่ามีโครงการจัดประกวดศาลดีเด่นเพื่อประชาชน

โครงการศาลดีเด่นเพื่อประชาชน จะกำหนดให้ศาลต่างๆ ในต่างจังหวัดแข่งขันกัน ซึ่งมีหลักเกณฑ์ที่เป็นตัวชี้วัดความสำเร็จในการดำเนินงานด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านการบริหารจัดการคดีให้แล้วเสร็จไปอย่างรวดเร็วและมีคุณภาพ และด้านการบริการ ซึ่งมีการให้คะแนนในหลายมิติ เช่น สภาพบรรยากาศที่เอื้อต่อการทำงาน การนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้สนับสนุนการให้บริการประชาชน การปรับการบริการให้เข้าถึงประชาชน โดยจัดให้มีช่องทางที่ง่ายต่อการประสานงานและติดต่อ การแก้ไขปัญหาโดยนำความคิดเห็นของประชาชนหรือปัญหาที่เกิดขึ้นจากการทำงานมาปรับปรุงระบบงาน เป็นต้น

ทุกๆ ภาค จะคัดตัวแทนศาลจังหวัด ศาลแขวง ศาลเยาวชน ภาคละ 2 ศาล เป็นตัวแทนภาค เช่น ประเภท ศาลจังหวัด 2 ศาล ศาลแขวง 2 ศาล ศาลเยาวชนและครอบครัว 2 ศาล เป็นต้น เพื่อมาแข่งขันกันว่าระหว่างศาลประเภทเดียวกันใครจะได้ที่หนึ่งของประเทศ มีรางวัลที่ 1-3และรางวัลชมเชย โดยศาลที่ได้รับรางวัลจะได้ประกาศเกียรติคุณจากประธานศาลฎีกาและจะได้รับเงินรางวัลเพื่อนำไปใช้ในการพัฒนาศักยภาพการทำงาน ซึ่งก็จะต้องมีรายงานการใช้เงินเป็นไปตามระเบียบราชการทุกอย่าง

โครงการแบ่งเป็น 2 รอบ รอบแรกจะตรวจและให้คะแนนภายในเดือนมีนาคม รอบที่สองภายในเดือนสิงหาคม 2566 เท่ากับว่าหนึ่งปีจะให้รางวัลโครงการนี้ 2 ครั้ง ศาลที่ได้รางวัลครั้งแรกก็ต้องรักษาแชมป์ ถือเป็นโครงการที่ส่งเสริมให้บุคลากรมีเป้าหมายในการทำงานเพิ่มขึ้น เป็นการแข่งขันที่ประชาชนจะได้รับประโยชน์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image