เปิดใจ‘จุฬา สุขมานพ’ เลขาฯอีอีซีป้ายแดง เร่งดึงลงทุน2.2ล้านล.

จุฬา สุขมานพ

หมายเหตุ – มติชนสัมภาษณ์พิเศษ นายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) หรืออีอีซี คนใหม่ ที่เข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการในวันที่ 1 เมษายน

รบ.รักษาการไม่ทำอีอีซีสะดุด
แม้เวลานี้รัฐบาลจะเป็นรักษาการ แต่การทำงานของอีอีซียังเดินหน้าตามปกติ ภารกิจสำคัญคือเน้นดึงการลงทุนในคลัสเตอร์อุตสาหกรรมต่างๆ ที่อีอีซีตั้งเป้าหมายไว้เพื่อดึงการลงทุนปีนี้ และภาพรวมช่วงปี 2566-2570 ซึ่งอีอีซีกำหนดเป้าหมายดึงเม็ดเงินลงทุนเข้าประเทศ 2.2 ล้านล้านบาท เพื่อกระตุ้นผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (จีดีพี) ขยายตัว 5% ต่อปี สิ่งเหล่านี้เป็นเป้าหมายเดิมที่วางไว้ตั้งแต่ปลายปี 2565 ยังคงเป้าหมายเดิมที่เซตไว้ จะไม่รื้อตัวเลขเป้าหมายแม้ที่ผ่านมาจะมีปัญหาต่างๆ เป็นเรื่องท้าทายต้องทำให้ได้

เขย่า12อุตฯเป้าหมายเฟ้นตัวแรงเทรนด์โลก
สิ่งที่จะทำให้เกิดขึ้นคือการลงรายละเอียดทำให้ไปสู่เป้าหมายดังกล่าว จะดูแผนภาพรวมว่าจะเพิ่ม หรือเติมส่วนไหนให้ถึงเป้าหมาย ประเมินปัจจัยแวดล้อมในปัจจุบัน อย่างประเภทอุตสาหกรรมก็ต้องดูว่าจะเน้นอุตสาหกรรมอะไรบ้าง 12 อุตสาหกรรมที่เคยกำหนดยังจำเป็นต้องเน้นทั้งหมดไหม เพื่อรับกับแนวโน้มการลงทุนของไทยและแนวโน้มการลงทุนของโลก ที่ต้องปรับให้เหมาะสม เพราะแผนงานของอีอีซีเริ่มเขียนตั้งแต่ปี 2561 เพื่อใช้ช่วงปี 2561-2565 ภายใต้ปัจจัยที่เกิดขึ้น ณ เวลานั้น กระทั่งต่อมาสถานการณ์ต่างๆ ของโลกปลี่ยนแปลงค่อนข้างเยอะ ช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมาเกิดการระบาดของโควิด-19 ทำให้ไลฟ์สไตล์ของคนทั้งโลกเปลี่ยนไป กระตุ้นไลฟ์สไตล์ใหม่ๆ ที่เรียกว่าเน็กซ์นอร์มอล

นอกจากนี้ ยังมีปัญหาใหม่เกิดขึ้นในโลก อาทิ ประเด็นภูมิรัฐศาสตร์ที่มีการสู้และแบ่งค่ายกันชัดเจน เรื่องนี้มีผลกระทบต่อเรื่องการลงทุน นอกจากนี้ ยังมีเรื่องสังคมผู้สูงอายุ และล่าสุดเรื่องเศรษฐกิจของโลกถดถอย ปัญหาวิกฤตธนาคารในสหรัฐและยุโรป ดังนั้น ต้องนำปัจจัยเหล่านี้มาดูใหม่เพื่อดูแนวทางว่าเราจะเดินหน้าอย่างไร

Advertisement

โดยกลไกของอีอีซีคือการพัฒนาเชิงพื้นที่ มีภาพใหญ่3 จังหวัด ได้แก่ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง สิ่งที่ทำอยู่เดิมคือการกำหนดอุตสาหกรรมเป้าหมาย 12 อุตสาหกรรม ในจำนวนนี้มีการกำหนดแบ่งพื้นที่รองรับแต่ละอุตสาหกรรม มีการกำหนดเขตส่งเสริมพิเศษ ปัจจุบันมีอยู่ 28 เขต กระจายตัวอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ เปรียบอุตสาหกรรมคือสินค้า มีพื้นที่ มีการกำหนดว่าพื้นที่ไหนมีสิทธิพิเศษ ดังนั้น หลังจากนี้ต้องมาดูแผนภาพรวมใหม่เนื่องจากตอนนี้สถานการณ์เปลี่ยนและมีปัจจัยเสี่ยง

ต้องดูว่าจาก 12 อุตสาหกรรมเป้าหมายซึ่งกำหนดไว้ตั้งแต่ปี 2561 ปัจจุบันจะเน้นกี่อุตสาหกรรม เพราะปัจจุบันเราไปกว้างแบบนั้นไม่ได้แล้ว เรื่องนี้ถือเป็นมิชชั่นที่ 2 ต้องดูว่าต้องเดินหน้าพัฒนาอุตสาหกรรมไหนก่อน

ยืนยันว่าเราจะไม่ทิ้งทั้งหมด เพราะอีอีซีเกิดจากอุตสาหกรรมทั้ง 12 ตัว แต่อาจจะมุ่งพัฒนาอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มการเติบโตก่อน อาทิ ปัจจุบันเรื่องยานยนต์ไฟฟ้า หรือหุ่นยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ นอกจากนี้ จากปัญหาเรื่องสาธารณสุข สังคมผู้สูงอายุ จะมุ่งเน้นด้านสุขภาพมากขึ้น เมื่อได้ลำดับความสำคัญของอุตสาหกรรมแล้วต้องมาดูว่าพื้นที่เขตส่งเสริมของอุตสาหกรรมรองรับมีที่ไหนบ้าง บางอุตสาหกรรมอาจจะใส่อะไรเป็นพิเศษ หรือสิทธิประโยชน์

Advertisement

เมื่อก่อนอาจตัดเสื้อฟรีไซซ์ แต่ตอนนี้ต้องตัดเสื้อตามความต้องการมากขึ้น ต้องดูว่าประเทศคู่แข่งไทยมีอะไรไปเสนอบ้าง ใครมีข้อเสนอได้ดีกว่า เราต้องมีดีกว่า ในเชิงกฎหมายมีแพคเกจสิทธิพิเศษตามประเภทของอุตสาหกรรม คงจะนำกระสุนตรงนั้นมาใช้

ขณะที่แผนดึงลงทุน เมื่อก่อนเน้นประเทศเป้าหมายและคุยทั้ง 12 อุตสาหกรรม แต่ในแผนของผมจะนำอุตสาหกรรมเป็นตัวตั้ง ดูว่าประเทศไหนเป็นผู้นำอุตสาหกรรม มีตัวเจ๋ง จะไม่หว่าน อาทิ ยานยนต์ไฟฟ้า แบตเตอรี่ อยู่ที่จีนและเยอรมนี ก็จะมุ่ง 2 ประเทศนี้ และดูประเทศเบอร์ 2 เบอร์ 3 ประกอบด้วย การทำเช่นนี้จะเน้นได้ดีกว่า

สร้างคนอีอีซีเป็นนักขายแข่งกันดึงลูกค้า
นอกจากนี้ จะสร้างทีมขาย ฝึกคนอีอีซีเป็นเซลส์ขายพื้นที่ดึงอุตสาหกรรมที่เราเน้น ใช้คนขายที่ชำนาญ หน้าเดิมๆ เน้นขายโปรดักต์ คาดว่าจะขายได้ดีกว่า เปรียบกับเซลส์ขายโทรทัศน์คงไปขายรถยนต์ไม่ได้

ขณะนี้แต่ละอุตสาหกรรมอาจเชื่อมโยงกัน อาทิ ออโตเมชั่น โรบอติก การแพทย์ รวมถึงศูนย์การแพทย์ไอที ดิจิทัล แนวโน้มมาแรง ดังนั้น จะให้คนอีอีซีแข่งกันขาย คนอีอีซีเป็นต้นเรื่องและผลักให้เอกชนคุยกันเอกชนน่าจะจบง่ายกว่า

ส่วนอุตสาหกรรมที่จะผลักดันก่อนนั้นจะเน้นที่ซัพพลายเชนเยอะ จะเลือกอุตสาหกรรมนั้นก่อน จะมีผลดึงลงทุนให้ตาม เพราะถ้ารายใหญ่มา รายกลาง รายเล็กจะตามมาด้วย ตรงนี้รายละเอียดค่อนข้างเยอะ

ต่อจากเรื่องลำดับความสำคัญอุตสาหกรรม ผมจะเน้นแพคเกจและสิทธิประโยชน์ที่ใช้ส่งเสริมเพื่อดึงการลงทุน ปัจจุบันเรื่องสิทธิประโยชน์ มีสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ให้อยู่แล้ว แต่กฎหมายอีอีซีให้สิทธิประโยชน์เพิ่มขึ้นได้ สามารถออนท็อปบีโอไอได้ โดยสิทธิประโยชน์ทางภาษีนั้น ปัจจุบันน่าสนใจแต่ในระยะยาวอาจไม่น่าสนใจ อาทิ นักลงทุนเข้ามาตั้งโรงงานที่ไทยต้องมาอยู่ยาว สิทธิประโยชน์ที่บีโอไอให้ 8-10 ปี แต่หลังจากนั้นอาจไม่คุ้มแล้ว

อีกเรื่องสำคัญคือ การเร่งเรื่องใบอนุญาต เพราะบางอย่างยื่นขอใบอนุญาตลงทุนต้องรอ 8 เดือน คนที่รอคงขาดใจตายไปก่อน และหนีไปลงทุนที่อื่น เรื่องนี้ในกฎหมายมีการโอนอำนาจหลายๆ อย่างให้อีอีซีทำได้ อาทิ เรื่องพลังงาน หากทำในพื้นที่อีอีซีจะทำโรงงานผลิตและจำหน่ายไฟฟ้า อีอีซีสามารถออกใบอนุญาตทำให้ได้ สิ่งเหล่านี้เราดึงให้เร็วขึ้นได้ จะมีผลต่อการตัดสินใจนักลงทุน

ถึงเวลาดึงลงทุนบิ๊กคอร์ปทั่วโลก
ภาพรวมการลงทุนในอีอีซีตั้งแต่ปี 2561 ถึงปัจจุบัน นักลงทุนระดับโลกที่เข้ามาตั้งฐานการผลิตใน 12 อุตสาหกรรมเป้าหมายยังไม่มาก เพราะที่ผ่านมาเป็นช่วงเริ่มต้นอีอีซีที่ต้องเน้นลงทุนอินฟราสตรัคเจอร์ก่อนให้มีความพร้อม เช่น รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน การลงทุนสนามบินอู่ตะเภา การลงทุนท่าเรือ ทั้งท่าเรือแหลมฉบังเฟส 2 และท่าเรือมาบตาพุดเฟส 3

สิ่งเหล่านี้เป็นโปรเจ็กต์โครงสร้างพื้นฐานที่แสดงให้เห็นว่าเรามีความพร้อม หากต้องการเดินทางเข้ามาก็มีสนามบินอู่ตะเภาให้ใช้ หากจะทำเรื่องสินค้าต่างๆ เราก็มีช่องทางการส่งสินค้าที่ท่าเรือแหลมฉบัง และสามารถเชื่อมต่อกับรถไฟความเร็วสูงได้ แสดงให้เห็นว่าหากต้องการมาปักหมุดในไทย เราก็มีความพร้อมในการต้อนรับ

เวลานี้จึงต้องกลับมาดูว่าปัจจุบันคนที่ใช้สนามบิน ใช้รถไฟความเร็วสูง ใช้ท่าเรือ คือใคร ขนสินค้าประเภทไหนไปที่ไหนอย่างไร ซึ่งเรื่องนี้เป็นคอนเซ็ปต์ อินฟราสตรัคเจอร์ดีเวลล็อปเมนต์ เพราะฉะนั้นการลงทุนส่วนใหญ่ในพื้นที่อีอีซีจึงเป็นการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเป็นหลัก จนวันนี้โครงสร้างพื้นฐานเป็นรูปเป็นร่าง เดินหน้าลงทุนทุกโครงการแล้ว หลังจากนี้จะให้น้ำหนักดึงลงทุนรายอุตสาหกรรม ซึ่งอีอีซีจะเน้นอุตสาหกรรมที่มาแรงผ่านนักขายที่มีความชำนาญคือคนอีอีซี

เคลียร์อำนาจใช้ประโยชน์กฎหมาย 8 ฉบับ
ส่วนอำนาจหน้าที่ของอีอีซี ปัจจุบันเรามีกฎหมายอยู่ 8 ฉบับในเชิงการทำงาน อาทิ การตั้งโรงงานและเรื่องสาธารณสุขต่างๆ และมีอีก 6 ฉบับระดับ พ.ร.บ. ส่วนใหญ่เป็นเรื่องของพลังงาน หรือการเดินเรือผ่านน่านน้ำไทย ส่วนกฎหมายที่เกี่ยวกับการใช้พื้นที่ต่างๆ ก็ได้เวฟมาให้อยู่ในอำนาจของคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ที่มีนายกฯเป็นประธาน

หลังจากนี้ต้องดูรายละเอียดเพราะสิ่งเหล่านี้จะอยู่ใน พ.ร.บ.อีอีซีฉบับใหญ่ ปัจจุบันมีคนที่สนใจขอใบอนุญาตค้างไว้อยู่ อาทิ เรื่องไฟฟ้า บางเรื่องอาจต้องขอความเห็นจากผู้ที่กำกับโดยตรง เบื้องต้นคงต้องยกทีมไปคุยกับคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เป็นเรกกูเรเตอร์ด้านพลังงาน ซึ่งในเชิงของหลักเกณฑ์อีอีซีและ กกพ.ต้องไม่แตกต่างกันจนเกินไป เป็นการย้ายอำนาจจากอีกคนมาอยู่กับอีกคนแทนเพื่อความสะดวกและเร็ว

นอกจากไฟฟ้ายังมีประปา ไอที ระบบโทรศัพท์ ระบบ 5G ด้านดำเนินการต้องหาผู้ที่ทำในเรื่องนี้เฉพาะไป แต่ในด้านการอนุญาต อำนวยความสะดวก ในกฎหมายอีอีซีสามารถขออนุญาตผ่าน กพอ.ได้

ส่วนประเด็นผังเมืองและชุมชนนั้นต้องปรับเป็นรายโปรเจ็กต์ไป สิ่งเหล่านี้ถูกบรรจุอยู่ในแผนภาพรวมว่าทิศทางจะเป็นอย่างไร และมีแผนย่อยว่าสาธารณูปโภคจะเป็นอย่างไร เรื่องนี้ที่เห็นส่วนใหญ่จะแค่ด้านคมนาคมที่ออกข่าวเยอะ แต่ยังมีไฟฟ้า ประปา โทรศัพท์ และขยะ สิ่งเหล่านี้รายละเอียดมีเยอะมาก ต้องดำเนินการอย่างจริงจัง ทำความเข้าใจทุกภาคส่วน

นอกจากนี้ ในผังเมืองจะมีโซนสีและแผนผังระบุให้เห็นว่าพื้นที่แบบไหนเป็นสีของผังเมือง พื้นที่เป็นพื้นที่อุตสาหกรรม เพราะฉะนั้นในเขตหลักๆ ของ 3 จังหวัดสามารถจะดูได้ว่าตรงไหนที่ราคาค่าเช่าคุ้มกับที่ลงทุน อาทิ อุตสาหกรรมสุขภาพต้องอยู่ใกล้เมือง ใกล้ถนน เพื่อให้คนมาใช้บริการได้เยอะ และอาจจะต้องดีลให้โรงงานต่างๆ หลบเข้าไปด้านในแทน ซึ่งต้นทุนค่าที่ดินจะแตกต่างกันไป

สำนักงานอีอีซีเหมือนคนขายบ้านจัดสรร คือมีหน้าที่โชว์ให้เห็นว่าในหมู่บ้านมีพื้นที่ส่วนกลางให้ ใครจะนำร้านขายเครื่องใช้ไฟฟ้า หรือศูนย์อาหารมาตั้งที่ไหน จะจัดโซนไว้ให้แต่ละร้านให้เขาไปแต่งเอง

ดันอีอีซีสู่เมืองอนาคต
สำหรับการแข่งขันระหว่างไทยกับหลายประเทศ อาทิ เวียดนามนั้น เรื่องการลงทุนไทยมีการลงทุนมาก่อนแล้ว สิ่งที่เกิดกับเวียดนามปัจจุบันได้เกิดขึ้นในไทยเมื่อ 30 ปีที่แล้ว ดังนั้น การที่เริ่มจากศูนย์พอมีคนแห่เข้ามาลงทุนจะเยอะเสมอ แต่ของเรามีมาแล้วกว่า 30 ปี เมื่อปีที่ 1-5 จะเยอะ แต่ถามว่าปัจจุบันยอดการลงทุนของเราโตขึ้นไหม บอกเลยว่าเติบโตแต่ไม่เยอะ เนื่องจากไทยเองมีค่าครองชีพและค่าจ้างแรงงานที่สูงขึ้น ซึ่งทั้ง 12 อุตสาหกรรมเป้าหมายส่วนใหญ่เป็นไฮเทคมูลค่าสูง อุตสาหกรรมพวกนี้ไม่ไปเวียดนาม เพราะพื้นที่และคนไม่พร้อม แต่จะมาไทย เพราะไทยรองรับอุตสาหกรรมที่ซับซ้อน เทคนิคเยอะ อีอีซีจึงต้องเตรียมพร้อมเพื่อดึงคนที่สนใจเข้ามาลงทุน

นอกจากนี้ ต้องทำโรงเรียนสอนคนด้วย โดยแบ่งโซนเพื่อการศึกษา เตรียมคนให้พร้อม หรือไปผูกปิ่นโตกับมหาวิทยาลัยแพทย์บางแห่งเพื่อจัดการเรื่องนี้ อาทิ มหาวิทยาลัยบูรพา ซึ่งอีอีซีกำลังดำเนินการอยู่

ขณะเดียวกัน เพื่อยกระดับสุขภาพประชาชน ปัจจุบันอีอีซีมีแผนสร้างโรงพยาบาลที่ อ.ปลวกแดง จ.ระยอง เป็นลักษณะการลงทุนร่วมกับภาคเอกชน (พีพีพี) ซึ่งเป็นเคสแรกที่เอาเอกชนมาทำด้วย เพราะหากรัฐลงทุนเองอาจจะทำได้เพียง 1-2 แห่ง แต่ถ้าร่วมกับภาคเอกชนก็ทำได้ 5 แห่ง และปัจจุบันอยู่ระหว่างเตรียมลงทุนในลักษณะดังกล่าวแถวบางแสนอีกแห่งหนึ่ง เกี่ยวกับการแพทย์จีโนมิกส์ (Genomic Medicine) โดยให้มหาวิทยาลัยบูรพาเป็นเคาน์เตอร์พาส เพื่อนำผลจากห้องทดลองไปใช้ในโรงพยาบาลต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image