เสียงเตือนจากทหารแก่ “ถ้าฝืนฉันทามติ รอบนี้จะหนักกว่า 14 ตุลาฯ 16”

เรื่องนี้มันแปลว่า คนมีอำนาจที่เล่นอยู่ข้างหลังฉาก เขามองแล้วว่า จะทำอะไรบางอย่างที่ต้องมีเรื่อง ให้ประชาชนต้องลุกฮือออกมาทั้งประเทศใช่หรือไม่”

เสธ.โหน่ง” พล.ท.พงศกร รอดชมภู อดีตแกนนำพรรคอนาคตใหม่ ตั้งคำถามผ่าน “มติชนออนไลน์” ดักทางฝ่ายความมั่นคง ถึงคำสั่งหลุดว่อนโซเชียล ให้ตำรวจเตรียมชุดควบคุมฝูงชน (คฝ.) ไว้เมื่อมีสถานการณ์การชุมนุม

ที่สำคัญยังเป็นคำสั่งที่ออกมาหลังเลือกตั้งเพียง 4 วันเท่านั้นด้วย

โดยให้เกณฑ์ “นักเรียนนายสิบ” ที่จบใหม่เกือบยกรุ่น รวมทั้งให้แต่งตั้งตำรวจทั้ง 9 ภาค และนครบาลให้มาทำหน้าที่กองร้อยคฝ. ให้เต็มจำนวน ถึง 2,576 นาย

Advertisement

เอานายสิบตำรวจไปอบรบเป็นคฝ. เยอะขนาดนี้ จากนี้ไม่นานจะต้องมีเรื่องใช่หรือไม่”

แล้วเรื่องที่จะสร้างคือเรื่องอะไร จะเป็นเรื่องกันถึงขนาดที่ประชาชนไม่ยอมใช่หรือไม่”

ถือเป็นการตั้งสมมติฐานแรงๆ จากอดีตนายทหาร ผู้ที่เคยมีบทบาทสำคัญ ผ่านงานในหน่วยงานความมั่นคง ถูกวางตัวไว้ให้เป็นเบอร์ 1 ตึกแดง สำนักงานเลขาธิการสภาความมั่นคงแหงชาติ (สมช.) เป็นตำแหน่งสุดท้ายในชีวิตราชการ แต่แล้วรัฐประหาร 2557 ก็เกิดขึ้น จาก “รองเลขาธิการสมช.” ถูกคสช. ย้ายเข้ากรุ เป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ฝ่ายข้าราชการประจำ จนเกษียณอายุ

Advertisement

แน่นอน ในมุมมองของ พล.ท.พงศกร สิ่งเหล่านี้มีนัยยะเกี่ยวข้องแน่ กับผลการเลือกตั้ง เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคมที่ผ่านมา

ท่ามกลางความพยายามในการฝืนฉันทามติของประชาชน จากบุคคลอันเป็น “มรดก” ที่คณะรัฐประหารคสช.วางไว้ ความเห็นของ พล.ท.พงศกร จึงน่าสนใจ

เพราะนอกจากจะมีบทบาทสำคัญต่อการทำงานการเมืองของ “คนรุ่นใหม่” ของพรรคก้าวไกล ตั้งแต่ยังเป็นพรรคอนาคตใหม่เดิมแล้ว ประสบการณ์ในอดีตที่เคยร่วมทีมวางแผนยื้อข้ามปี ไม่ให้พวกคบคิด ล้มรัฐบาลยิ่งลักษณ์​ ชินวัตร ในปี 2557 ทำสำเร็จได้โดยง่ายนั้น น่าจะฉายภาพสถานการณ์ในขณะนี้ได้ดี

จากนี้เป็นต้นไปคือสาระ ที่ “มติชนออนไลน์” คัดมานำเสนอ

  • คิดว่าคดีหุ้น ITV จะส่งผลต่อการจัดตั้งรัฐบาลก้าวไกลไหม ?

เฉพาะที่มีข้อสงสัยเกี่ยวกับเรื่องหุ้นสื่อ มันก็ชัดเจนว่า ศาลฎีกาหรือแม้แต่ศาลรัฐธรรมนูญก็วางหลักไว้ว่า เริ่มต้นจะดูก่อนว่ากิจการที่ถือหุ้นอยู่ได้ทำสื่อจริงๆหรือเปล่า ถ้าจริงก็ต้องดูว่าถือหุ้นไหม แต่ศาลฎีกาก็วางหลักซ้อนไปอีกว่า ถึงจะถือหุ้น แต่ถือในลักษณะที่มีอำนาจในการตัดสินใจ หรือกำหนดทิศทางของสื่อนั้นๆหรือไม่ เพราะเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญต้องการกันคนที่มีสื่อในมือ ใช้สื่อเพื่อประโยชน์ทางการเมืองออกไป หลักการมีเท่านี้

ดังนั้น เมื่อดูที่หลักการนี้ก็ไม่มีอะไร ยิ่งคดีหุ้นITV มันมาถึงจุดที่พบความผิดปกติแล้ว โดยสิ่งที่คุณฐปณีย์ เอียดศรีไชย ค้นพบ และนำเสนอในข่าวสามมิตินั้น มันชี้ให้เห็นความพยายาม เรื่องนี้ยังไม่รู้ว่าใครพยายาม แต่เมื่อไปดูตัวละคร หรือบริษัทต่างๆที่ปรากฏมันเชื่อมโยงไปยังกลุ่มขั้วอำนาจเดิมอีกนั่นแหละ แต่เราไม่รู้อีกว่าขั้วเดิมที่ว่านั้น มีส่วนโดยตรงหรือโดยอ้อมแค่ไหน

แต่สิ่งที่เห็นแล้ววันนี้คือ ความพยายามที่จะตัดไฟเรื่องนี้ตั้งแต่ต้นลม ไม่ให้ลามไปถึงตัวเอง เช่นประกาศว่าไม่เกี่ยวกับลูกพรรคที่เป็นตัวละครในข่าว เป็นต้น

เบื้องหลังไปกว่านั้นมันสะท้อนว่า ขั้วอำนาจเก่าคงต้องถอยแล้ว เพราะการใช้หุ้นสื่อมาเล่นคุณพิธามันไม่เวิร์กแล้ว

  • มองว่า ยังมีเรื่องอื่นให้เล่นได้อีกไหม ?

มันมีเรื่องเดียว จะหาเรื่องอื่นก็คงไม่ทันแล้ว แล้วเรื่องหุ้นมันไม่เวิร์ก 2 เด้งเลย เด้งแรก กระบวนการโดยหวังจะใช้ศาล แต่เมื่อมันปรากฏแบบนี้ มันก็หมดค่าเลย เด้งที่สอง หมดเรื่องให้ส.ว.ใช้เป็นข้ออ้างที่จะไม่โหวตคุณพิธาแล้ว ตำหนิไม่มี ถ้าจะงดออกเสียงก็โดนด่า เรื่องนี้มันเห็นชัด สังคมก็เคลือบแคลงว่า มันมีกระบวนการสมคบคิดกัน โดยที่ขั้วอำนาจเก่าที่แต่งตั้งพวกคุณมามันได้ประโยชน์

ดังนั้น ถ้ายึดตามหลักการเรื่องนี้ไม่มีอะไร จากนี้ก็จับตาเรื่องเดียวเท่านั้นว่า ส.ว.จะทำตามมติเสียงประชาชนส่วนใหญ่หรือจะมีความคิดอื่น ซึ่งที่ผ่านมามีส.ว.หลายท่านออกมาให้สัมภาษณ์ด้วยความกล้าหาญว่า จะเดินตามเสียงข้างมากของประชาชน

เรื่องนี้ผมคิดว่า มันจะมีมาเรื่อยๆ เพราะมันเป็นปลายของยุคของส.ว.แล้ว แล้วสิ่งที่ ส.ว.มีความเชื่อมโยงกับคสช. ก็อาจจะเชื่อมโยงโดยตรงกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ก็ต้องดูว่า แต่ละท่านมีโอกาสขึ้นมาหรือไม่ อย่าง พล.อ.ประวิตรจะกลับมาได้ต้องมีการข้ามขั้ว แต่ถ้าก้าวไกลกับเพื่อไทยจับมือกันแน่นแล้วก็มีเจตนาร่วมกันก็ไม่มีปัญหา

แม้ขณะนี้แนวทางนโยบายระหว่างเพื่อไทยกับก้าวไกลจะไม่ตรงกัน เพราะเป็นกลางขวา กับกลางซ้าย ต่อไปเพื่อไทยกับก้าวไกล จะเป็นเดโมแครต กับ รีพับลิกัน ต้องตีกันเหมือนสหรัฐฯอยู่แล้ว เรื่องนี้เป็นธรรมดามากๆเลย

แต่เวลานี้เราต้องไม่หลงเป็นลิเวอร์พูลกับแมนยูตีกันเองนะ ศัตรูตรงหน้ามันคือระบอบเผด็จการที่ยังมีอำนาจอยู่ มันเป็นภาพใหญ่กว่าการต่อสู้ของพรรคการเมือง

ดังนั้น การจับมือกันเพื่อขจัดขวากหนามของประชาธิปไตย สะสางปัญหาให้ประชาชน ขจัดสิ่งที่เป็นมรดกของคสช.ไปให้หมดแล้วสุดท้ายก็แก้รัฐธรรมนูญ แก้เสร็จก็ยุบสภา เลือกตั้งใหม่ ทีนี้แหละสู้กันได้เต็มที่เลย เป็นข้อดีด้วยให้ประชาชนได้เลือก

  • มรดกของคสช.ดิ้นอย่างหนักในการต้านคุณพิธา แม้เลือกตั้งครั้งนี้ที่คนออกมาใช้สิทธิมากที่สุด มีการตรวจสอบเข้มข้น ก็ยังมีส.ว.ไม่ยอมรับผลเลือกตั้ง เสนอรัฐบาลแห่งชาติ นายกฯคนนอก ?

จำคำของเสธ.อ้าย พล.อ.บุญเลิศ แก้วประสิทธิ์ ได้ไหม ตอนที่นายกฯยิ่งลักษณ์ เป็นนายกฯไม่นาน ก็ออกมาประกาศว่า เราต้องแช่แข็งประเทศไทยซักระยะหนึ่ง จากนั้น พล.อ.ประยุทธ์ ก็มาขอเวลาอีกไม่นาน 9 ปี ถามว่ามันใช่การแช่แข็งไหม มีการพูดถึงรัฐประหารปี 2549 ว่า เสียของ ไม่เบ็ดเสร็จเด็ดขาด จึงต้องมีมาตรา 44

ดังนั้น สิ่งที่เสนอทั้งหมด คือเขาคุยกันแล้วว่า อยากจะให้มันมี พยายามทำทางกันอยู่ แต่จะมีได้หรือไม่ อีกเรื่องหนึ่งนะ

ย้อนไปวันที่จะมีการรัฐประหาร 2557 ถ้าสู้ ผมคิดว่าคนพวกนี้ก็แพ้ราบคาบ วันนั้นผมเชียร์เลยให้สู้ เพราะรู้กันอยู่แล้วว่า เขาจะยึดอำนาจแน่นอน ถ้าสู้กันยังไงคนที่ยึดอำนาจก็ตกกระป๋อง แต่วิธีทางการเมือง ถ้ามองอีกทางก็ไม่เป็นไร

แต่วันนั้นกับวันนี้เทียบกันดู เอ้ยมันหนักกว่านะ ยิ่งภายหลังจากรัฐบาลทหารที่ยึดอำนาจมา ทำอะไรก็ไม่สำเร็จ แล้ววันนี้จะยึดอำนาจอีกหรือ

ดังนั้น ผมคิดว่า เขาไม่กล้าใช้ทหารหรอก แต่เขาจะใช้กฎหมาย ในลักษณะที่ว่ามันเกิดความวุ่นวาย จะทำอะไรก็ตามแต่ที่เขาจะทำ แต่บอกได้เลย ถ้าทำ พวกคุณจะไม่มีที่อยู่ครับ

  • ล่าสุดมีเอกสารหลุดสั่งการเตรียมคฝ.ไว้ มีการระดมไปฝึกด้วย ?

สิ่งนี้มันยิ่งทำให้น่าสงสัยว่า เรื่องนี้มันแปลว่า คนมีอำนาจที่เล่นอยู่ข้างหลังฉาก เขามองแล้วว่า จะทำอะไรบางอย่างที่ต้องมีเรื่อง ให้ประชาชนต้องลุกฮือออกมาทั้งประเทศใช่หรือไม่ เขาถึงได้เอานายสิบตำรวจไปอบรบเป็น คฝ.เสียก่อน แล้วก็เชื่อว่า จากนี้ไม่นานจะต้องมีเรื่อง

เราต้องช่วยกันดูว่า แล้วเรื่องที่จะสร้างคือเรื่องอะไร จะเป็นเรื่องกันถึงขนาดที่ประชาชนไม่ยอมใช่หรือไม่

แล้วผมมั่นใจเลยว่า ถ้ามีอะไรที่ไปฝืนความรู้สึกประชาชนจริงๆ ภาพที่เกิดขึ้นจะเป็นภาพที่ฝ่ายมีอำนาจไม่เคยเห็นมาก่อนแน่นอน เพราะเดิมทั้งเหลือง ทั้งแดง แม้จะมีคนร่วมโดยสุจริตใจ แต่ทั้ง 2 สีนี้มีการจัดตั้ง ผ่านการจัดการมา แต่คราวนี้จะไม่ใช่ แล้วจะเป็นครั้งแรกของไทยเลย ที่จะไม่ใช้ม็อบ แต่มันจะแมส มากันอย่างมหาศาลเลย

  • มีคนวิเคราะห์ว่ารอบนี้หากมีการฝืนฉันทามติ มันจะยิ่งกว่าปี 2553 และจะรุนแรงแบบเหตุการณ์ตุลาคม 2516 ?

ผมว่ารอบนี้ ตุลาคม 2516 ยังเบาไป ครั้งนั้นผมอยู่ในเหตุการณ์ ถ้าพูดตามภาษาเด็กๆ คือผมมันแก่แล้ว (หัวเราะ)

ต้องยอมรับว่า วันนั้นคนที่มาร่วมครึ่งหนึ่งเขาไม่รู้เรื่อง มาเป็นเครือข่าย รุ่นพี่ชวนรุ่นน้อง แล้วความจริงอีกอย่างก็คือ มีการจัดตั้งจากกอ.รมน.ด้วย สิ่งเหล่านี้มันมีอยู่จริง จนมีเรื่องลึกลับอะไรก็ว่ากันไปนะ แต่โดยพื้นฐานคนที่มายังไม่มีความรู้สึกทางการเมืองแบบมีส่วนร่วมจริงจังเท่ากับวันนี้

ดูความรู้สึกวันนี้มันต่างกับสมัยนั้นเลย คนรู้สึกทางการเมือง ถ้าพูดแบบภาษาชาวบ้าน คือความคลั่ง ความคลั่งที่อยากจะมีเสรีภาพ แล้วสมัยนี้มันขนาดไหน โลกไปไกลขนาดไหนแล้ว มีทั้งอินเตอร์เน็ต มีทั้งข้อมูลต่างๆ ยิ่งกว่าม็อบมือถือปี 2534-2535 ถ้ามันเกิดจะหนักกว่าเยอะ คราวนั้นแค่ชนชั้นกลาง แต่คราวนี้ทุกย่อมหญ้า ทุกชนชั้นเขาต้องการเปลี่ยนประเทศไทย

  • จำได้ไหม ผลของความรุนแรงในวันนั้น มันเกิดอะไรขึ้นบ้าง ?

ผมยังเรียนอยู่ สมัยนั้นเรียกได้ว่า แต่งเครื่องแบบทหารไม่ได้เลย คนไม่ชอบทหาร ผมไม่แต่งเครื่องแบบเข้าเรียนเป็นปี สมัยนั้นโรงเรียนนายร้อยจปร.ต้องเปิดให้คนข้างนอกเข้าไปดูว่า สอนอะไร มีจัดนิทรรศการให้คนนอกรู้จักโรงเรียนนายร้อย ผมก็ต้องจัดบูธ ทำเหมือนเด็กมหาวิทยาลัยทำสมัยนี้เลย คิดดูแล้วกัน ต้องทำถึงขนาดนี้ เพื่อลบภาพตัวเอง ให้กลับมาได้รับการยอมรับ

ส่วนสถานการณ์ของกองทัพวันนั้นก็เปลี่ยนไปเยอะ มีการเปิดกว้างให้คนจากสายอื่นขึ้นมานำกองทัพมากขึ้น เช่น พล.อ.กฤษณ์ สีวะรา เป็นต้น

แต่ที่สุดก็น่าเสียดายที่ไม่กี่ปีให้หลังก็เกิด 6 ตุลาคม 2519 วันนั้นคนเพิ่งได้รับเสรีภาพ จึงเกิดการสวิงไปสายเหมา เป็นคอมมิวนิสต์จีน ฝ่ายขวาก็กลัวมาก หาทางสร้างสถานการณ์ขึ้นมา จนเกิดขวาพิฆาตซ้าย หนีเข้าป่าวุ่นวายไปหมด

  • วันนี้ฝ่ายขวาก็กลัวจัด เหตุการณ์แบบขวาพิฆาตซ้าย จะเกิดขึ้นได้อีกไหม ?

ยากแล้ว โลกมันไปไกลมากแล้วที่การปลุกให้คนอยากมาฆ่าคนอีกฝ่าย ด้วยเหตุผลเรื่องไม่ขวาจัดแบบฝ่ายตัวเอง

ดูการเลือกตั้งนี้ก็บอกชัด มีพรรคหาเสียงแบบพรรคฝ่ายขวา แต่ดูจำนวนคนเลือก พรรคลุงตู่ กับพรรคลุงป้อมรวมกันเต็มที่ก็ 5 ล้านคน มันไม่ถึงครึ่งด้วยซ้ำ ต่างกันเยอะ

  • แล้วชัยชนะที่ก้าวไกลได้ ดันไปตีแตกในพื้นที่ที่เป็นที่ตั้งของหน่วยทหารด้วย ?

มันบอกให้รู้เลยว่า ถ้าจะปฏิรูปกองทัพ คุณไม่ต้องกลัวหรอก เพราะลูกน้องคุณเขาชอบ เข้ามาได้เลยก้าวไกล (หัวเราะ)

เรื่องนี้พูดได้เลยว่า เขาพร้อมใจเพื่อจะแสดงออกว่า เขาอยากเป็นทหารของกองทัพสมัยใหม่ เป็นกองทัพที่เกรียงไกร ทันสมัย สู้เก่งเหมือนกองทัพนาโต้ ในโลกตะวันตก เป็นกองทัพที่ฉลาด มีไหวพริบ คิดแก้ปัญหาได้ ไม่เอาแล้วสั่งแต่ซ้ายหันขวาหัน

พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผบ.ทบ. มาชี้แจงเกี่ยวกับการบรรยายพิเศษ ในหัวข้อ “แผ่นดินของเราในมุมมองความมั่นคง” คณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ ที่มี พล.ท.พงศกร รอดชมพู รองหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ เป็นประธาน
  • สัญญาณนี้พุ่งตรงไปที่ตัวโครงสร้างกองทัพแค่ไหน ?

ย้อนกลับไปกองทัพถูกตั้งขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 6 เป็นกองทัพที่ใช้การเกณฑ์คนมาแทนระบบไพร่ ซึ่งเป็นโครงสร้างแบบอุตสาหกรรมในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่เอาคนจำนวนมากมาใส่ชุดทหารเหมือนกันหมดเพื่อมาฆ่ากัน

แต่พอเกิดสงครามอ่าวเปอร์เซีย ทุกอย่างเปลี่ยนไป มีการใช้เทคโนโลยีเข้ามากลายเป็นกองทัพสมัยใหม่ และก็พัฒนาตัวเองเพื่อจะบอกว่า อีก 10-20 ปีข้างหน้า โลกนี้จะเปลี่ยนไปเป็นกองทัพในศตวรรษที่ 21 แล้วเขาก็เปลี่ยนได้ แต่กองทัพไทยยังเป็นกองทัพในศตวรรษที่ 20 อยู่ ตรงนี้คือปัญหา

สงครามรัสเซีย-ยูเครน เป็นตัวแบบล่าสุด ที่บอกชัดว่า การถมคนเข้าไปๆแบบรัสเซียเพื่อมุ่งที่จะใช้กำลังพลนั้น ความจริงอาจจะชนะก็ได้ แต่ถ้ามีคนเยอะจริงๆที่จะไปตายมากขนาดที่รัสเซียทำ ซึ่งสู้กับยูเครนที่มีขนาดเล็กกว่ากันตั้งเยอะ คำถามที่ตามมาก็คือ ทำไมเราไม่เก็บคนไว้ให้ปลอดภัย แล้วชนะสงครามหละ

  • คิดว่าระดับนำของกองทัพ จะตอบรับนโยบายการปฏิรูปกองทัพของก้าวไกลแค่ไหน ?

ก็ต้องคุยว่า ทุกคนได้ประโยชน์ ไม่ได้เข้าไปทุบ ทำลายอะไร ไม่มี อย่างเรื่องการยกเลิกเกณฑ์ทหารคือสิ่งที่ต้องทำอันดับแรกเลย เพราะมันชัดเจนแล้วว่า ทำแบบนี้จะไม่มีทางทำให้รบชนะแบบรัสเซียในขณะนี้ ดังนั้นก็สมควรเลิกซะ

เรื่องนี้ผมไม่ได้คิดเองนะ มันมีตัวแบบจากสหรัฐฯ สมัยประธานาธิบดีนิกสัน มันมีนักเศรษฐศาสตร์เสนอว่า ระบบสมัครใจมาเป็นทหาร โดยมีค่าตอบแทนที่สูงระยะยาวจะคุ้มค่ากว่าการเกณฑ์ทหาร ในทางเศรษฐศาสตร์คิดให้ดูเลย แล้วนิกสันก็ตกลงทำ ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาสหรัฐฯก็เปลี่ยน แล้วก็เปลี่ยนอีกทีตอนสงครามอ่าวเปอร์เซีย เปลี่ยนใหญ่เลย

สิ่งที่ก้าวไกลเสนอคือจะทำแบบนั้นแหละ พูดง่ายๆก็คือทำแบบประเทศในยุโรป ทำแบบนาโต้ แบบสหรัฐฯ แต่ทั้งหมดของการปฏิรูปกองทัพ ไม่ได้หมายความว่า เราจะทำเหมือนนาโต้ เพื่อไปทะเลาะกับจีนนะ แต่เราแค่เปลี่ยนโครงสร้างให้มันทันสมัยแบบนั้นเท่านั้น

  • แน่นอนมันต้องมีการต่อต้าน คิดว่าก้าวไกลควรมีจุดที่ทำให้กองทัพรู้สึกปลอดภัยกับการเปลี่ยนแปลงนี้ไหม ?

แรงต้านต้องมีเป็นธรรมดา เพราะสิ่งที่จะทำคือการพลิกกองทัพจากหน้ามือเป็นหลังมือเลย เพราะมันจะเป็นกองทัพในศตวรรษที่ 21 จริงๆ แน่นอนสิ่งที่กองทัพห่วงมีเรื่องเดียวเท่านั้น คือการแต่งตั้งโยกย้าย เรื่องนี้เป็นธรรมดา แต่ละคนก็อยากรักษาอำนาจ และตำแหน่งของตัวเองไว้

ดังนั้น ก้าวไกลเป็นฝ่ายการเมืองอยู่ดีๆเข้าไปแล้วปลดผบ.เหล่าทัพทันทีไม่ได้ เราไม่ยุ่ง คนเดิมที่อยู่ในตำแหน่งก็ทำงานกันต่อไป แต่เรื่องระบบเส้นสายการอุปถัมภ์ต้องยกเลิกนะ

ต้องยอมรับว่า นายทหารมักอยู่ในระบบเส้นสาย ถึงเวลายึดอำนาจก็จะเอาคนที่ไว้ใจได้ คนที่อยู่ในสายตัวเองขึ้นทั้งหมด แล้วคนเก่งละไปไหนก็ออกข้างๆไป เรื่องนี้ต้องยุติ เพื่อคัดสิ่งที่ดีที่สุดให้กองทัพ

จากนี้ต้องวางกฎเข้มให้แต่งตั้งได้แค่ 2 ชั้นเท่านั้น พล.อ.ก็แต่งตั้งได้แค่พล.ท. นั่นคือแม่ทัพ แม่ทัพก็แต่งตั้งได้แค่พล.ต. จึงจะทำให้มีระยะห่าง อีกนัยยะหนึ่งของระบบนี้คือการปิดทาง ไม่ให้ระดับบนของกองทัพ ตั้งตัวรัฐประหาร หรือตั้งผู้การ ผู้พันที่เป็นหน่วยคุมกำลังได้

ฉะนั้น เมื่อเราไม่ยุ่งกับตำแหน่งของคุณ คุณก็จะยุ่งกับระดับล่างไม่ได้ เพราะเราจะบังคับแล้วว่า ห้ามยุ่งข้างล่าง เพราะฉะนั้นต่างคนต่างมีจุดยืนที่ชัดเจนต่อกันก็จบ

  • ล่าสุดกลาโหมประกาศปฏิรูปตัวเอง มีแผนภายในปี 2570 จะลดจำนวนนายพล และปรับทหารเกณฑ์ไปสู่ระบบสมัครใจ เรื่องนี้ถือว่าเป็นสัญญาณบวกไหม ?

อันนี้ต้องขอบคุณที่กองทัพเห็นคุณค่าของปฏิรูป เรื่องนี้มีความจำเป็นที่กองทัพต้องทำ แต่วิธีการที่การที่อนาคตใหม่หรือก้าวไกลจะทำนั้น เป็นวิธีที่ค่อนข้างฉับพลันนิดนึง จะรอไปอีก 10-20 ปีคงไม่ไหว เราต้องทำให้มันได้ซะเดียวนี้ โดยไม่กระทบกระเทือนใคร

คำว่าจิ๋วแต่แจ๋ว พูดกันมาตั้งแต่สมัยพี่จิ๋ว พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ แล้วนะ มัน 30 ปีกว่ามาแล้ว วันนี้ยังไม่ไปไหนเลย เพราะคุณไม่เคยเปลี่ยนอย่างถึงรากถึงโคนเลย พอให้กองทัพทำเอง ก็ลูบหน้าปะจมูก พอเปลี่ยนนาย นายเอาลูกตัวเองมาใส่อีก จะลดก็ลดไม่ได้

ดังนั้น จึงต้องทำให้เป็นเรื่องใหญ่ ออกเป็นกฎหมาย กำหนดเวลาให้ชัด อาจจะแก้ไม่กี่เรื่อง ผ่านการแก้ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีบ้าง แก้กฎหมายบ้าง ซึ่งคิดว่าส่วนใหญ่มันทำได้เลยอยู่แล้ว

  • ภารกิจสำคัญและต้องมีแรงต้าน ดังนั้น สเปกของคนที่จะมาเป็นรมว.กลาโหม ควรเป็นแบบไหน ?

แน่นอน ควรเป็นที่ยอมรับก่อน แต่สิ่งที่ก้าวไกลวางไว้คือให้นายกรัฐมนตรี มาควบในตำแหน่งรมว.กลาโหมด้วย เพราะอย่าลืม การปฏิรูปกองทัพมันเกี่ยวกับหน่วยงานอื่นเยอะจริงๆ เช่น สวัสดิการ การศึกษาของพลทหาร เป็นต้น แล้วมันเป็นความลับอย่างหนึ่ง ถ้ารมว.กลาโหม กับนายกฯเป็นคนๆเดียวกัน เวลาขออะไรง่ายกว่า แต่ไม่ใช่การขอแบบเดิมแล้วนะ แต่เป็นการปรับโน้นปรับนี่ตามนโยบายการปฏิรูปกองทัพ ก็จะง่ายขึ้น

  • นอกจากรมว.กลาโหม ยังมีตัวเชื่อมอะไรอีกไหม อย่าง รมช.เป็นททารเก่าหรือไม่ เป็นต้น ?

จริงๆแล้วในต่างประเทศ คนเป็นรมว.กลาโหม เป็นผู้หญิงก็มีนะ เยอะด้วย แต่ว่าเขาจะเรียนมาตั้งแต่เด็กๆ ซึ่งผมคิดว่าคนที่เหมาะ คือประเภทที่ว่าเป็นพลเรือน หรือผ่านการเรียน รด.ที่เคยผ่านฝึกเหมือนทหาร อย่าง พล.อ.โคลิน พาวเวลล์ ก็จะจบมาจากมหาวิทยาลัย แต่เป็นประธานคณะเสนาธิการร่วมได้ บัญชาการรบได้ เพราะเขาฝึกมาเหมือนนักเรียนนายร้อย เป็นต้น

แต่อย่างเฉพาะหน้า ควรจะต้องมีทหารมา เรื่องนี้ไม่เป็นไร ทหารเข้าอกเข้าใจการเมือง เขาอกเข้าใจทหารด้วยกัน ก็ควรจะต้องมาเป็นรมช. ส่วนจะเป็นใครก็เป็นเรื่องที่ทางพรรคก้าวไกลต้องไปหามา

ดังนั้น ส่วนตัวคิดว่า ควรมี เพราะตัวนายกฯท่านดูนโยบาย ไม่มีเวลา งานประจำจะต้องมีคนหนึ่ง ไม่งั้นงานประจำจะหลุดหมด ซึ่งกลาโหมจริงๆงานก็ไม่ได้เยอะมาก มันเป็นงานแปรรูปซะมากกว่า หลายเรื่องปล่อยไปให้ปลัดกระทรวงทำหน้าที่แทนรมต.ได้

กรณีของคุณพิธา เมื่อควบรมว.กลาโหม ท่านจะดูนโยบายเพื่อกำหนดว่า วันนั้นเวลานี้ถึงเป้าหมายหรือยัง ขาดเหลืออะไร เพื่อให้หน่วยงานอื่นมาเสริม เพราะอย่างที่พูดไป กระทรวงกลาโหมหน่วยเดียวทำไม่ได้ ฉะนั้นองคาพยพใหญ่ที่สุดคือตัวของ กระทรวงต่างๆ ภายใต้ร่มเงาของเรื่องความมั่นคง จะมีสมช.เป็นตัวขับเคลื่อนให้ด้วย เช่น การปฏิรูปกองทัพ โดยการเพิ่มขีดความสามารถของทหารให้สูงขึ้น ต้องใช้หน่วยงานไหนเข้ามาช่วย ฝ่ายสังคม ฝ่ายการศึกษา ต้องมาช่วยหรือไม่

ฉะนั้น สมช.ต้องมีส่วนร่วมเสมอ ซึ่งเป็นหน่วยงานความมั่นคงที่นายกฯเป็นประธานอยู่ด้วยเช่นกัน

  • มองว่า ที่ผ่านมามันกลับหัวกลับหางไหม สมช.เป็นหน่วยงานพลเรือนที่กองทัพส่งคนไปคุม ?

จริงๆ ตัวเลขาฯสมช.ต้องเป็นฝ่ายการเมือง เพราะสมช.เปรียบเสมือนคอหอยกับลูกกระเดือกของผู้นำประเทศ อย่าง เลขาฯสมช.ในต่างประเทศ พูดแทนผู้นำประเทศได้เลยในเรื่องความมั่นคง แล้วยิ่งโครงสร้างที่กองทัพเป็นส่วนหนึ่ง การปฏิรูปทหารต้องพึ่งกระทรวงทบวงกรมอื่น ถ้าไม่มีก็โดดๆทำอะไรไม่ได้ เมื่อท่านนายกฯต้องมาช่วยกำกับ ข้อดีของนายกฯเป็นรมว.ด้วย คือการเข้าใจปัญหาของกองทัพ แล้วการไปพูดผ่านสมช.ที่เป็นประธานอยู่ ก็ช่วยให้การปฏิรูปกองทัพไปได้อีกทางหนึ่ง

  • คิดว่างานแรกของคุณพิธา ในฐานะรมว.กลาโหม นอกจากยกเลิกเกณฑ์ทหารแล้ว ต้องทำอะไรทันทีอีก ?

นอกจากเรื่องการปรับลดการเกณฑ์ทหารแล้ว งานที่เข้าใจว่าจะต้องทำของก้าวไกล คือการเข้าไปถาม เขาไปพูดคุยให้รู้ว่า กองทัพมองภัยคุกคามคืออะไร หาตัวมาให้เจอว่า อะไรคือภัยคุกคาม ถ้าไม่มีก็เท่ากับว่า คุณไม่ต้องมีอาวุธ​ ดังนั้น ต้องบอกให้ได้เพื่อจะได้คิดออกมาเป็นจำนวน ดีไซน์การเตรียมกำลังให้ครบ เตรียมทุกอย่าง พร้อมกับภัยคุกคามที่ประเทศมี

ผมประเมินว่า เมื่อเราลดจำนวนการเกณฑ์ในแต่ละปีลง เราก็ต้องออกแบบ กำลังพล ตั้งแต่จำนวนพลทหาร ต้องมีหน่วยรบเท่าไหร่ หน่วยช่วยรบเท่าไหร่ แล้วก็มีนายพลเท่าไหร่ ไม่ใช่ไปบอกว่า จะลดนายพลให้เหลือเท่านั้นเท่านี้ จากนี้มันจะไหลจากล่างขึ้นบนตามแผนที่ถูกดีไซน์จากภัยคุกคาม

แล้วการซื้ออาวุธจากนี้ต้องเปิดเผยโปร่งใส่ เปิดให้หมด อยากได้อะไรว่ามา แล้วให้ประชาชน สื่อ มามีส่วนร่วม โดยเอาข้าศึก หรือภัยคุกคามมาวางเลยว่า ของที่จะซื้อสมเหตุสมผลกับภัยคุกคามไหม แล้วกองทัพก็มีหน้าที่ดีเฟนตัวเองไปว่า ทำไมอยากซื้อ เช่น เรือดำน้ำลำนี้ ทั้งๆที่ไม่เคยมีที่ไหนในโลกมาก่อน เป็นเพียงต้นแบบ เครื่องก็ยังไม่รู้เอามาจากไหน เราควรจะยอมให้ซื้อไหม

ที่ผ่านมากองทัพทำเองหมด มันเลยเป็นปัญหา จากนี้การจัดซื้อต้องเป็นหน้าที่กระทรวงกลาโหมทำ ถ้าเป็นไปได้จะตัดเงินที่ต้นทางที่กระทรวงการคลังเลย พยายามจะทำให้ถึงจุดนั้น มีเหมือนมีช้อปปี้ ลาซาด้าเลยในกระทรวง ผ่านกระบวนการของกลาโหมทั้งหมด จะมีของต่างชนิดต่างราคา โดยบอกด้วยอาวุธนั้นๆ มีหน่วยงานไหนในโลกใช้บ้าง ราคาเท่าไหร่บ้าง แล้วหน่วยไหนอยากได้อะไรมาเลือกเอา แล้วดีเฟนเอาว่า ตรงกับภัยคุกคามของคุณหรือไม่

  • ในมุมมองทหาร ตอนนี้ภัยคุกคามของไทย คืออะไร ?

ตอนนี้มันกำลังจะเกิดวิกฤตแถวๆทะเลจีนใต้ หรือแม้แต่ทางประเทศเพื่อนบ้านของเราค่อนข้างแน่ ดังนั้น กองทัพไทยจะต้องเข้มแข็งถึงขนาดที่ว่าไม่มีใครอยากมายุ่งกับเรา แล้วเราก็จะเป็นกลางได้ดี

ที่ผ่านมา เราพูดคำนี้เสมอว่า ประเทศไทยต้องเป็นกลาง แต่ถ้าทหารอ่อนแอ เราจะเป็นกลางไม่ได้ จะโดนบุกยึดเป็นอันดับแรกเลย ดังนั้น จะต้องเป็นกลางให้ได้แบบสวิตเซอร์แลนด์ คือ ไม่มีใครกล้า

  • ในฐานะทหารแก่ อยากจะส่งเสียงเตือนอะไรไหม เพราะสิ่งเหล่านี้จะไม่เกิดขึ้นได้เลย ถ้านายพิธาโดนสอย  ?

ผมค่อนข้างแปลกแยกนะ เพราะเป็นทหารที่เคยร่วมลงชื่อต่อต้านรัฐประหาร ปี 2549 เขาเลยไม่ค่อยเลี้ยงเท่าไหร่ (หัวเราะ)

ผมอยู่กับผู้ใหญ่ในกองทัพมาเยอะ ผมเห็นตั้งแต่ระดับล่างจนถึงบนสุดของกองทัพ ระดับรัฐบาลก็เห็นมาหลายครั้ง เห็นทุกอย่าง แล้วก็ยังในวังวนของการใช้อำนาจรัฐ กับการรัฐประหารผมก็เคยเห็นทั้งหมดตั้งแต่ต้นจนจบ น้องๆรุ่นหลังไม่เคยจับเรื่องงานการต่อสู้เอาชนะคอมมิวนิสต์ จะไม่เข้าใจ อาจจะเห็นว่าการใช้อำนาจเป็นเรื่องง่าย แต่มันไม่ใช่เลย

ต้องถามคนรุ่นผม เก่าๆอย่างเนี้ย อาวุโสกว่าผมขึ้นไป ที่ไม่ใช่ลุงตู่กับลุงป้อมนะ ว่าเขาคิดยังไง โดยเฉพาะคนที่อยู่ในวงการจริงๆ เคยจับงานเรื่องการต่อสู้ในชนบทมาอย่างเข้มข้น ผ่านการพูดจาอะไรมาจะเข้าใจว่า ถ้าคุณปกครองไม่ได้ คนภายใต้ปกครองไม่ยอมรับการปกครอง คุณหนาวแน่ แล้วอย่าคิดว่าการใช้อำนาจ จะใช้ได้

เรื่องนี้ตัวแบบมันมี กัดดาฟี ซัมดัม ทำไมถึงไม่รอด ในวันที่กองกำลังต่างชาติเข้ามา ก็เพราะคนในประเทศคุณเขาไม่ช่วยไง คุณปกครองเขาด้วยอำนาจ ฉะนั้น คุณต้องปกครองให้ประชาชนมีอำนาจ คุณก็จะอยู่ด้วยกันได้ แต่ถ้าคุณจะปกครองด้วยคฝ. นำชุดควบคุมฝูงชนมาใช้ สิ่งเหล่านี้เป็นการวางแผนล่วงหน้าใช่ไหม เพราะฉะนั้นคุณเตรียมแบบนี้ใช่ไหม

ผมบอกได้เลยสุดท้ายจะเกิดการถอนรากถอนโคนอย่างที่คุณนึกไม่ถึงเลย 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image