เปิดใจ‘เรวัตร จันทร์ประเสริฐ’ ฟื้นภาพลักษณ์-สานสามัคคี‘อัยการ’ (คลิป)

เปิดใจ‘เรวัตร จันทร์ประเสริฐ’
ฟื้นภาพลักษณ์-สานสามัคคี‘อัยการ’

หมายเหตุนายเรวัตร จันทร์ประเสริฐ ประธานคณะกรรมการอัยการคนที่ 3 ที่มาจากการเลือกตั้งตามกฎหมายใหม่ของอัยการทั่วประเทศ ให้สัมภาษณ์“มติชน” ถึงภารกิจและความคาดหวังในองค์กรอัยการ ในช่วงวาระดำรงตำแหน่ง 2 ปี

⦁เหตุผลในการสมัครเป็นประธานคณะกรรมการอัยการ
ผมเกษียณอายุราชการแล้วพอมีเวลาว่าง จึงอยากที่จะทำอะไรให้เป็นประโยชน์ต่อสำนักงานอัยการสูงสุดบ้าง เห็นว่าคณะกรรมการอัยการเป็นสถาบันที่มีบทบาทสำคัญยิ่งต่อชีวิตราชการของอัยการ คณะกรรมการอัยการจะคอยดูแล กลั่นกรอง ในเรื่องการบริหารงานบุคคลให้เกิดความโปร่งใสและเป็นธรรม ไม่ว่าจะเป็นกรณีการแต่งตั้งโยกย้าย พิจารณาความดีความชอบ หรือการพิจารณาความผิดทางวินัย ล้วนไปยุติจากการพิจารณาของคณะกรรมการอัยการเป็นตอนสุดท้ายทั้งสิ้น และจากการที่ผมเป็นอัยการมา 46 ปี ตั้งแต่เริ่มมาปี 2518 และเกษียณมาปี 2564 ทั้งยังเคยเป็นคณะกรรมการอัยการมาก่อน ก็เลยมีความผูกพันกับองค์กรเป็นอย่างมาก พอมีการเปิดรับสมัครประธานคณะกรรมการอัยการ และได้รับการผลักดันจากพี่ๆ น้องๆ อัยการ จึงได้สมัครเป็นประธานคณะกรรมการอัยการในครั้งนี้

⦁คิดว่าอะไรเป็นสาเหตุให้อัยการทั่วประเทศ เทคะแนนให้มากขนาดนี้
ส่วนหนึ่งคงเป็นเพราะวิสัยทัศน์และนโยบายของผมคงโดนใจผู้ที่ใช้สิทธิเลือกตั้ง อีกส่วนหนึ่งคงเป็นเพราะผมรับราชการมานาน หลายที่ หลายตำแหน่ง ทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด ทำให้รู้จักและคุ้นเคยกับพนักงานอัยการเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ ผมเคยดำรงตำแหน่งอธิบดีอัยการ สถาบันพัฒนาข้าราชการฝ่ายอัยการอยู่ 2 ปีครึ่ง ซึ่งก็ได้รับผิดชอบในการฝึกอบรมอัยการหลายรุ่น ทั้งหลักสูตรอัยการผู้ช่วย อัยการจังหวัด อัยการพิเศษฝ่าย อธิบดีอัยการ และหลักสูตร อื่นๆ อีกหลายหลักสูตร จากนั้นผมได้ย้ายมาเป็นอธิบดีอัยการ สำนักงานคดียาเสพติด ต่อมาขึ้นเป็นผู้ตรวจการอัยการ เเละก็เป็นรองอัยการสูงสุดตามลำดับ พ้นจากรองอัยการสูงสุดก็เป็นอัยการอาวุโส กลับไปประจำสถาบันพัฒนาข้าราชการฝ่ายอัยการอีกครั้ง อยู่จนเกษียณ ก็เลยมีลูกศิษย์ลูกหาที่เป็นอัยการอีกเป็นจำนวนมาก พอลงสมัครประธานคณะกรรมการอัยการ จึงมีส่วนทำให้ได้คะแนนเสียงมากตามไปด้วย

Advertisement

⦁ความรู้สึกหลังได้รับการรับเลือกเป็นประธานคณะกรรมการอัยการ
รู้สึกดีใจ ภูมิใจและต้องขอขอบคุณน้องๆ ผู้ที่ใช้สิทธิเลือกตั้งที่เทใจให้เข้ามาทำหน้าที่เป็นประธานคณะกรรมการอัยการ อันเป็นตำแหน่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่งตำแหน่งหนึ่งขององค์กรเรา ซึ่งผมถือว่าเป็นความประสงค์ของน้องๆ ที่อยากให้ผมเข้าไปสร้างประโยชน์ให้กับองค์กร ผมจะปฏิบัติหน้าที่ให้ดีที่สุดตามที่ได้รับความไว้วางใจ

⦁นโยบายที่ตอนหาเสียงประธานก.อ.
ตอนสมัครได้แสดงคติพจน์ไว้ว่า “ส่งเสริมความเป็นธรรม สร้างสรรค์สิ่งที่ดี สืบสานสามัคคีในองค์กร” อันนี้เป็นคติพจน์ของผมตอนแนะนำตัว จุดประสงค์คืออยากให้ฝ่ายบริหารนำไปเป็นนโยบายในการดำเนินงาน คณะกรรมการอัยการเหมือนพี่เลี้ยงของฝ่ายบริหาร ซึ่งปกตินโยบายต่างๆ เป็นเรื่องของฝ่ายบริหาร เพียงแต่ว่านโยบายไหนที่ต้องมานำเสนอคณะกรรมการอัยการ เราแค่ไปช่วยผลักดันสนับสนุนให้เกิดผลที่ดีตามที่เขาประสงค์ เพราะการไปกำหนดนโยบายเองมันไม่น่าใช่หน้าที่โดยตรงของคณะกรรมการอัยการ เราจึงเป็นเหมือนสถาบันที่คอยเป็นพี่เลี้ยงในการผลักดัน สนับสนุน และกลั่นกรองงานของฝ่ายบริหาร

⦁ในวาระที่ดำรงตำแหน่งนี้ให้ความสำคัญกับเรื่องใดมากที่สุด
ในเรื่องของความสามัคคี ซึ่งเป็นวัฒนธรรมที่สืบสานกันในองค์กรของเรามาช้านานแล้ว ความสามัคคีทำให้อัยการเราอยู่กันแบบพี่น้อง มีอะไรเราก็ถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน ไม่โต้เถียงกันด้วยอารมณ์ ปัญหามันก็จะจบไปโดยไม่มีความรุนแรง สมัยผมก็ยึดสามัคคี อยู่กันแบบพี่น้อง มีอะไรก็คุยกันด้วยเหตุด้วยผล จึงคุยกันรู้เรื่อง พอถึงยุคนี้คนมากขึ้นกว่าเมื่อก่อน มีหลายกลุ่มอายุ หลากหลายความคิดเห็น อาจเกิดความโต้แย้งกันได้โดยง่าย ตรงนี้ความสามัคคีจะเข้ามาช่วยได้ ผมจึงอยากให้ทุกคนให้ช่วยกันรักษาความสามัคคีซึ่งเป็นวัฒนธรรมอันดีขององค์กรไว้อย่างต่อเนื่องด้วยในเรื่องของภาพลักษณ์ขององค์กรก็เป็นเรื่องสำคัญ องค์กรอัยการดำรงอยู่ได้มาถึง 130 ปี เพราะเรามีภาพลักษณ์ที่ดีมาโดยตลอด บรรพอัยการทำไว้ได้ดีมาก สมัยก่อนมีแต่คนกล่าวชื่นชม แต่ตอนนี้เริ่มมีข่าวต่างๆ ออกมาในเชิงลบบ้างแล้ว ตรงนี้จึงอยากให้ทุกคนช่วยกันเสริมสร้างและรักษาภาพลักษณ์ขององค์กรเราให้ดียิ่งๆ ขึ้นไปครับ ซึ่งก็มีการถ่ายทอดไปยัง
ผู้บริหารแล้ว

Advertisement

⦁การแต่งตั้งโยกย้ายที่เป็นธรรมจะทำให้เห็นเป็นรูปธรรมอย่างไร
ทราบว่าฝ่ายบริหารกำลังจัดทำระเบียบการแต่งตั้งโยกย้ายกันอยู่เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ที่มีความเป็นธรรมและชัดเจน จะได้เกิดความเป็นธรรมมากยิ่งขึ้น เรื่องนี้เป็นสิ่งเร่งด่วนที่ต้องทำ น่าจะประกาศใช้เร็วๆ นี้
ทุกวันนี้การแต่งตั้งโยกย้ายยังไม่ได้มีระเบียบตายตัว จะย้ายทีก็มีหนังสือเวียนที่ใช้ตามธรรมเนียมปฏิบัติเป็นส่วนใหญ่ จึงอยากวางหลักเกณฑ์ให้ชัดเจน คือ ลอกมาจากกฎหมาย ซึ่งจะมีหลายมาตราพูดง่ายๆ จากอัยการชั้น 6 ลงมาถึงชั้น 2 ตรงนี้วางหลักมาแล้ว ของเดิมก็เน้นอาวุโส แต่ว่าทุกอย่างมีหลัก มีข้อยกเว้น บางคนมีความจำเป็น ตัวเองป่วย แม่ป่วยติดเตียง ลูกเข้าโรงเรียน อัยการมีทั้งผู้หญิงและผู้ชาย ความจำเป็นของผู้หญิงน่าจะมากกว่าผู้ชาย แต่ความอาวุโสก็มีความสำคัญ จะทิ้งเรื่องอาวุโสไม่ได้เหมือนกัน ต้องค่อยๆ หาจุดที่มันลงตัว การที่จะให้ความสำคัญกับเรื่องไหนมากกว่ากันนั้น ไม่ใช่เรื่องง่าย ในส่วนตัวเห็นว่าผู้บริหารต้องคำนึงถึงประโยชน์ขององค์กร แต่งตั้งโยกย้ายคนต้องให้เหมาะกับงาน เห็นว่าสำนักงานไหนต้องการคนอย่างไร ก็จัดคนลงไปตามความเหมาะสม ตามความรู้ความสามารถ พวกเราใครทำงานเป็นยังไงก็พอมองเห็นกันอยู่ บางครั้งอาวุโสอย่างเดียวมันก็ใช้ไม่ได้

⦁ดูบุคลิกเป็นคนใจดี ดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการอัยการจะกล้าลงโทษอัยการหรือไม่
ผมเคยเป็นคณะกรรมการอัยการมาก่อน ผมเคยเสนอให้ลงโทษ ให้ออกเลยก็มี ทั้งที่คณะกรรมการอัยการท่านอื่นมีความเห็นเป็นอย่างอื่น สำหรับผมผิดก็ต้องว่าไปตามผิด ส่วนเรื่องการพัฒนาคุณภาพชีวิตการทำงาน ผมถือเป็นนโยบายสำคัญลำดับต้นๆ เลย ในการประชุมคณะกรรมการอัยการครั้งแรกก็มีการพูดถึงเรื่องนี้ การมีคุณภาพชีวิตการทำงานที่ดีเป็นการสร้างขวัญกำลังใจ สร้างภาพลักษณ์ ศักดิ์ศรีเกียรติภูมิองค์กรอัยการ อยากให้ผู้บริหารเอาใจใส่ดูแลอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะเงินเดือน ประโยชน์เกื้อกูล และสวัสดิการต่างๆ ควรจะต้องติดตามองค์กรข้างเคียงอย่างใกล้ชิด ซึ่งปกติเงินเดือนก็ใกล้เคียงกัน กฎหมายเขียนมาล้อกันอยู่แล้ว แต่เราก็ต้องตามข่าว เช่น ถ้าองค์กรข้างเคียงมีสวัสดิการอะไรเพิ่มเติมเราก็ควรจะต้องนำมาพิจารณา เเต่บางอย่างเราคงเท่าเขาไม่ได้ เราต้องดูแลสวัสดิการไม่ให้ตกหล่น ผมก็ฝากเรื่องคุณภาพชีวิตการทำงานไว้กับผู้บริหาร เพราะส่งผลต่อการทำงานที่ดีกับอัยการสูงสุดก็อยู่กันแบบพี่น้อง พบกันก็ปรึกษาหารือกันในสิ่งที่จะเป็นประโยชน์แก่ประชาชนและองค์กร
โดยส่วนตัวผมมองว่า ประธานคณะกรรมการอัยการ กับอัยการสูงสุดเป็นเสมือนนักกีฬาที่ต้องเล่นกันเป็นทีม แต่ละคนแม้อาจมีบทบาทหน้าที่แตกต่างกันไปบ้าง แต่ก็มีเป้าหมายเดียวกัน อย่ามองว่าเป็นเสือสองตัวในถํ้าเดียวกัน ต้องมองว่าเป็นเสือสองตัวที่ต้องช่วยกันปกป้องดูแลให้อัยการได้ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อประโยชน์สุขของประชาชน การทำงานที่ให้เกียรติและรับฟังเหตุผลซึ่งกันและกัน ประสานความเข้าใจและเชื่อใจซึ่งกันและกัน จะทำให้การปฏิบัติหน้าที่ของแต่ละฝ่ายลุล่วงไปด้วยดีครับ จะทำงานร่วมกับอัยการสูงสุดอย่างดีที่สุด แต่ตัวผมเองแม้มีบุคลิกที่เรียบง่ายใจดีก็จริง แต่อะไรที่เป็นกฎเป็นเกณฑ์ก็ต้องทำไปตามนั้น

⦁หากในอนาคตต้องทำหน้าที่เสนอชื่ออัยการสูงสุดคนต่อไปจะทำอย่างไร
เรื่องนั้นในกฎหมายกำหนดขั้นตอนวิธีการไว้ชัดเจนอยู่แล้ว ทั้งยังมีธรรมเนียมปฏิบัติที่ยึดถือกันมา หากทำตามนั้นคงไม่น่าจะมีปัญหาอะไรสิ่งที่อยากฝากถึงพี่น้องอัยการ คือเรื่องความสามัคคีและภาพลักษณ์ขององค์กรตามที่กล่าวไว้ข้างต้น ต้องไม่ลืมว่าองค์กรอัยการดำรงอยู่อย่างยั่งยืนได้มาจนถึงทุกวันนี้ ก็อาศัยคุณธรรมสองข้อดังกล่าวเป็นหลักยึดในการปฏิบัติหน้าที่อำนวยความยุติธรรม รักษาผลประโยชน์ของรัฐ และคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนด้วยความเป็นธรรมมาโดยตลอด ดังนั้น จึงขอให้อัยการทุกคนช่วยกันสืบสานความสามัคคีและรักษาภาพลักษณ์ที่ดีๆ ขององค์กรนี้ไว้อย่างดีที่สุด

⦁⦁⦁⦁⦁⦁⦁

นายเรวัตร จันทร์ประเสริฐ เกิดวันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ.2493 อายุ 72 ปี ชื่อเล่น “เร”

จบการศึกษา นิติศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, เนติบัณฑิตไทย สำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา,ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาพัฒนาสังคม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

ผ่านการอบรมหลักสูตร นักเรียนอัยการรุ่นที่ 7 ผู้บริหารกระบวนการยุติธรรมระดับสูง (บ.ย.ส.) รุ่นที่ 2 วิทยาลัยการยุติธรรม ประกาศนียบัตรกฎหมายมหาชน รุ่นที่ 9 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นักบริหารงานยุติธรรมระดับสูง (น.บ.ย.ส.) รุ่นที่ 4 สำนักงานอัยการสูงสุด หลักนิติธรรมเพื่อประชาธิปไตย (นธป.) รุ่นที่ 2 สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ผู้บริหารระดับสูง สถาบันวิทยาการตลาดทุน รุ่นที่ 20 สถาบันวิทยาการตลาดทุน

⦁ประวัติรับราชการ

ผ่านตำแหน่ง อัยการผู้ช่วย อัยการจังหวัดพิจิตร อัยการจังหวัดสุพรรณบุรี อธิบดีอัยการฝ่ายคดีปกครอง จ.สงขลา อธิบดีอัยการฝ่ายพัฒนาข้าราชการฝ่ายอัยการ อธิบดีอัยการฝ่ายคดียาเสพติด ผู้ตรวจอัยการ รองอัยการสูงสุด และอัยการอาวุโส

นอกจากนี้ ยังเคยดำรงตำแหน่ง กรรมการมูลนิธิพัฒนาข้าราชการพลเรือน กรรมการอัยการผู้ทรงคุณวุฒิ กรรมการมูลนิธิอัยการ

ได้รับเลือกเป็น ประธาน ก.อ. มีวาระโชว์ฝีมือ 2 ปี ในการบริหาร กำกับดูแลอัยการ

เป็นเพื่อนรักนิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ รุ่น 11 รุ่นเดียวกับ นายอรรถพล ใหญ่สว่าง อดีตอัยการสูงสุด และ ประธาน ก.อ.คนแรก จากการเลือกตั้ง และบรรจุรับราชการอัยการรุ่นเดียวกันกับ นายตระกูล วินิจนัยภาค อดีตอัยการสูงสุด ซึ่งก่อนหน้านี้ ถูกจับตามองเป็นตัวเต็งในการเลือกตั้งประธาน ก.อ.ครั้งนี้ ด้วยความเป็นผู้ใหญ่ จิตใจดี ได้รับการยอมรับจากข้าราชการอัยการ เคยเป็นอธิบดีอัยการสถาบันพัฒนาข้าราชฝ่ายอัยการ จนถึงอัยการอาวุโส เสมือนครูใหญ่ จัดฝึกอบรมอัยการผู้ช่วย อัยการจังหวัดเเละหลักสูตรอื่นอีกหลายรุ่น

โดยคณะกรรมการอัยการ มีจำนวน 15 คน ประกอบด้วย ประธาน ก.อ. (ที่มาจากการเลือกของอัยการยกเว้นอัยการผู้ช่วยซึ่งกฎหมายเก่าจะเป็น อสส.โดยตำเเหน่ง) โดยมีอัยการสูงสุดเป็นรองประธาน ก.อ. ส่วน ก.อ.ประกอบด้วย รองอัยการสูงสุดตามลำดับอาวุโส จำนวน 5 คน กรรมการอัยการผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 6 คน ซึ่งมาจากการเลือกของอัยการยกเว้นอัยการผู้ช่วย ประกอบด้วย อัยการชั้น 5 ขึ้นไปจำนวน 4 คน อัยการที่เกษียณอายุราชการ จำนวน 2 คน รวมเป็น 6 คน เเละกรรมการอัยการผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 2 คน ซึ่งไม่เป็นหรือเคยเป็นอัยการมาก่อนและเป็นผู้ทรงคุณวุฒิด้านการงบประมาณ การพัฒนาองค์กร หรือการบริหารจัดการ (มาจากการเลือกของอัยการยกเว้นอัยการผู้ช่วย) โดยให้อธิบดีอัยการสำนักงานคณะกรรมการอัยการ เป็นเลขานุการ ก.อ. มีหน้าที่พิจารณาแต่งตั้งโยกย้ายตำแหน่งข้าราชการอัยการ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image