สมเด็จพระมหาธีราจารย์ มอบ ‘คติธรรม-พรปีใหม่’ 2567

สมเด็จพระมหาธีราจารย์
มอบ ‘คติธรรม-พรปีใหม่’ 2567

หมายเหตุ – ในโอกาสขึ้นปีใหม่ 2567 “มติชน” ได้เข้ากราบสักการะสมเด็จพระมหาธีราจารย์ (ปสฤทธ์ เขมงฺกโร) เจ้าอาวาสวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร (วัดโพธิ์) และกรรมการมหาเถรสมาคม (มส.) และสัมภาษณ์ โดยสมเด็จพระมหาธีราจารย์ได้มอบคติธรรมให้คนไทยใช้ในการดำเนินชีวิต พร้อมมอบพรไตรรัตนมงคล ปีใหม่ 2567 สำหรับประชาชนคนไทย ในโอกาสขึ้นปีใหม่

⦁คติธรรมที่คนไทยควรใช้ดำเนินชีวิตในปี 2567?

“ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาในรอบปี 2566 เราได้ประสบเหตุการณ์ต่างๆ หลากหลาย ซึ่งผู้ที่ประสบปัญหาอุปสรรคต่างๆ ทั้งเรื่องชีวิต ครอบครัว ธุรกิจการงาน โรคภัยไข้เจ็บ และสารพัดที่เกิดขึ้นในรอบปี โยงไปถึงเรื่องเศรษฐกิจ สังคม การเมือง มีผลสะท้อนทำให้ชีวิตของพวกเราทุกคนประสบปัญหา มากบ้าง น้อยบ้าง เหตุการณ์ต่างๆ ที่แต่ละคนได้เข้าไปเกี่ยวข้อง สภาพแวดล้อมจึงเป็นเรื่องสำคัญ สถานการณ์ของสังคมของโลกก็เป็นเรื่องสำคัญ เพราะฉะนั้นในวาระส่งท้ายปี 2566 ต้อนรับปีใหม่ 2567 ควรจะได้นำประสบการณ์ในรอบปีที่ผ่านมามาเป็นบทเรียน

Advertisement

ภาษาพระท่านบอกว่า อริยสัจ 4 คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ และมรรค เป็นเหตุการณ์ทั้งหมดที่เราต้องประสบ ทุกข์เป็นเรื่องที่เราต้องกำหนดรู้ ให้รู้เท่าทันปัญหาต่างๆ ในเหตุการณ์ที่ผ่านมา ซึ่งพวกเราทุกคน ทุกกลุ่มวัย กระทั่งผู้รู้และนักปราชญ์ทั้งหลาย ตลอดถึงผู้ที่อยู่ในวงการต่างๆ แม้แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเองก็ทรงนำปัญหาเหล่านั้นมาพิจารณาเป็นบทเรียน ความทุกข์ อุปสรรค ปัญหา ทำให้ได้สติ ได้ปัญญา ได้ธรรมะ
ตรงกันข้าม ถ้าเราไประลึกนึกถึง เพลิดเพลินแต่เรื่องความสุข ความสะดวกสบายต่างๆ จะทำให้เราเหลิง ประมาท ชะล่าใจ เป็นอุปสรรคอย่างหนึ่งที่จะทำให้ชีวิตในปี 2567 เกิดความอ่อนกำลัง อ่อนแอในการที่จะเอาชนะอุปสรรคปัญหาต่างๆ ได้

ฉะนั้น ปราชญ์ทั้งหลาย มีสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นต้นแบบ จึงให้เราระลึกถึงในเรื่องของอดีต ความจริงอดีตก็คือภาพพจน์ ไม่ควรไปกังวล อาลัยอาวรณ์มากเกินไปก็จริง แต่ก็ต้องนำมาเป็นกรณีศึกษาเพื่อประยุกต์ใช้ในชีวิต เพราะว่าชีวิตของคนเราทุกคนในโลกก็วนเวียนเช่นนี้ เมื่อวานนี้ผ่านมา วันนี้ผ่านไป แล้วก็เป็นอดีตเช่นเดียวกับเมื่อวานนี้ พรุ่งนี้ยังมาไม่ถึง พอมาถึงก็เป็นวันนี้ คือปัจจุบัน เพราะฉะนั้น อดีตเป็นภาพพจน์ที่ผ่านไปแล้ว ไม่ต้องกังวล แต่ต้องนำมาเป็นกรณีศึกษาให้เราได้เรียนรู้

ทั้งหมดนี้คือกฎของธรรมชาติ หรือเป็นวิทยาศาสตร์ ที่พระพุทธเจ้าได้แสดงว่าอริยสัจ 4 คือทุกข์ สิ่งที่เป็นปัญหาเกิดขึ้นในอดีตที่ผ่านมาเป็นเพราะอะไร สมุทัยก็คือกิเลส ในส่วนที่ทำให้เรามีอุปสรรค ปัญหาต่างๆ ความรัก โลภ โกรธ หลง จะทำให้เราเสื่อมลงไป หรือแม้แต่เรื่องที่เรานำหลักศีล 5 มาปฏิบัติ พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ว่า การไม่ทำความชั่วทุกอย่าง การทำความดีด้วยบุญกุศลที่ถึงพร้อม การชำระจิตให้ผ่องใส ทั้งหมดนี้เป็นหลักคำสอนของพระพุทธเจ้า แต่คนเราส่วนใหญ่มักจะทำแต่บุญ ไม่ละบาป จะต้องละบาปด้วยถึงจะมาทำบุญ ถึงจะมีความสมบูรณ์ นิโรธคือความปลอดจากภัยต่างๆ ทั้งหมดนี้เป็นบทสรุปให้เราได้เห็นคุณค่าของกุศล ความดีงาม ถึงบทสุดท้ายก็คือวิธีที่จะทำให้เราออกจากปัญหาอุปสรรคและความทุกข์ต่างๆ คือมรรคมีองค์ 8

Advertisement

เพราะฉะนั้น ในวาระส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่ เป็นโอกาสที่เราจะได้มาทบทวนดูอีกครั้งหนึ่งก่อนที่จะผ่านไป และนำมาเป็นบทเรียน จำไว้เลยว่า ที่เราประสบปัญหาต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องหนี้สิน ความทุกข์ทุกอย่าง ต้องมีสาเหตุเป็นตัวตั้ง และมีปัจจัยเสริมเป็นโซ่ ทำให้เกิดผล ถ้าเหตุไม่ดี คิดจะทำอะไรไม่ดี แต่ปัจจัยไม่เสริม ก็ไม่มีผลร้าย คิดไม่ดีเฉยๆ แต่ไม่ทำ ก็ไม่มีผล ขณะที่ความดีก็เช่นเดียวกัน ถ้าเราคิดจะทำความดี เหตุดี แล้วปัจจัยไม่ต่อเนื่อง ทำๆ แล้วหยุด ไม่มีความต่อเนื่อง ผลก็ไม่สมบูรณ์

ฉะนั้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความทุกข์ ความสุข ความชั่ว ความดี ต้องมีเหตุ มีปัจจัย ถึงจะมีผล เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความชั่ว หรือความทุกข์ ถ้าเราไม่ทำ ปัจจัยไม่เสริม ก็ไม่ถึงผลของความชั่วร้าย ทุกข์ร้ายต่างๆ เช่นเดียวกับอดีตที่ผ่านมาในปีเก่า ทุกอย่างเราเรียนรู้อยู่แล้ว ผลมาจากเหตุ เหตุถ้ามี ปัจจัยก็มีผล ต่อเนื่องกัน รู้ว่าไม่ดี ถ้าเราไม่ทำก็ไม่มีผลร้าย เช่นเดียวกัน ในการทำความดี ทุกอย่างต้องอาศัยเหตุ ปัจจัย และผล จึงจะเกิดผลดี

ขณะเดียวกัน เรื่องเคราะห์และโชคร้ายต่างๆ ถ้าเราไม่ทำในสิ่งชั่วร้าย หรือสิ่งที่ไม่ดีก็ไม่เกิดผลร้าย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไร สำคัญอยู่ที่ตัวเรา เราเป็นเจ้าของเหตุ ปัจจัย และผล เรามักจะส่งความสุขให้กันในโอกาสปีใหม่ ส.ค.ส. หรือพรปีใหม่ ซึ่งพรเป็นสิ่งที่ประเสริฐ ไม่มีใครจะให้พรกันได้ เป็นเพียงวาทกรรมที่แสดงออกถึงความรัก ความปรารถนาดีต่อกันด้วยความจริงใจ แต่ไม่มีใครที่จะมีอิทธิฤทธิ์ดลบันดาลให้ใครเป็นอย่างไรได้ ทั้งหมดนี้คือความจริง

พระพุทธเจ้าได้ตระหนักถึงธรรมะในพระพุทธศาสนาที่แท้จริง คือความไม่ไปอ้อนวอนหวังในสิ่งที่จะดลบันดาลให้เราเป็นนั่น เป็นนี่ เพราะจะไม่สำเร็จ อย่างการทำงาน ต้องฝัน ต้องใฝ่ดี ลงมือทำ ถึงจะบรรลุความสำเร็จ ทุกอย่างอยู่ที่ตัวเรา เช่นที่เรามักจะพูดกันว่า ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว ทำบุญได้บุญ ทำบาปได้บาป ถ้าเราปรารถนาความสุข หรือพรอันประเสริฐ ก็จะต้องคิดดี พูดดี ทำดีอย่างต่อเนื่อง ไม่ใช่ทำแล้วหยุด ดังนั้น ให้ทำความดีอย่างต่อเนื่อง แต่การอวยพรก็ถือเป็นความปรารถนาดีที่เราระลึกถึงกัน เป็นความปรารถนาดีที่คนมีน้ำใจจะมอบให้กัน ส่วนพรจริงๆ นั้นเราทุกคนต้องทำด้วยตัวเอง”

⦁ปัจจุบันคนไทยส่วนใหญ่มีปัญหาอุปสรรคในการใช้ชีวิต บางครั้งก็ลืมที่จะนำหลักธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้ามาใช้แก้ปัญหา จะมีคำแนะนำอย่างไร?

“เป็นเรื่องปกติของคน คำว่าคน แปลว่าปะปนกันไป มั่วๆ หรือปุถุชน คำว่าปุถุ แปลว่าหนา หนาด้วยกิเลส เพราะฉะนั้น จำเป็นต้องอาศัยปัญญา ซึ่งแปลว่าความฉลาด ความรู้ แต่ถ้ามีความรู้โดยขาดสติ ก็ไม่เฉลียว ฉลาดจะขาดเฉลียวไม่ได้ จะเห็นได้ว่าบางคนมีความรู้สูงแต่ก็พลาดพลั้ง เพราะขาดความยับยั้งชั่งใจ ความชั่วออกมาได้ทั้งทางกาย วาจาใจ เกี่ยวเนื่องกัน ใจเป็นนาย กายเป็นบ่าว ทุกอย่างมันออกจากใจก่อน ใจนี่ถ้าเราหละหลวม ประมาท เลินเล่อ ขาดสติ ก็จะเป็นที่มาที่ทำให้ขาดความไม่ประมาท ดังนั้น ขาดสติไม่ได้ ตัวเราจึงสำคัญที่สุด

ธรรมะทั้งหลายเกิดจากเหตุ เหตุทั้งหลายเกิดจากใจ ถ้าใจเราดี คิดดี พูดดี ทำดี ก็จะดี ถ้าใจเราไม่ดี ไม่บริสุทธิ์ ก็จะคิด พูด และทำแต่ในสิ่งที่ไม่ดี ทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่จะนำพาให้เราเป็นไปต่างๆ ตามเหตุปัจจัย ถ้าเราทำดี ก็ไปสู่แนวทางที่ดีได้

อีกส่วนที่สำคัญคือสภาพแวดล้อม ก็ทำให้ไหลไปตามนั้น แต่ทั้งหมดอยู่ที่เกราะ ถ้าใจเราแกร่งเหมือนดังร่างกาย ถ้าแข็งแรง โรคภัยไข้เจ็บก็ไม่มากล้ำกราย แต่ถ้าร่างกายอ่อนแอ โรคแทรกเข้ามาง่าย ดังนั้น ต้องรักษาสุขภาพกายและสุขภาพจิตให้ดี ทั้งหมดนี้คือธรรมะ เป็นเครื่องหล่อเลี้ยงใจเราอยู่ในที่ที่ดี ความคิดที่ดี การกระทำที่ดี

ธรรมะของพระพุทธเจ้าที่แสดงไว้ 84,000 พระธรรมขันธ์ สรุปเหลือ 3 คือ ศีล สมาธิ ปัญญา และถ้าสรุปเหลือ 2 คือ พระธรรมและวินัย วินัยคือ ข้อห้าม
ถ้าเกี่ยวกับทางโลก ข้อห้ามก็คือกฎหมาย ถ้าทำผิดกฎหมายก็ได้โทษทันที และถ้าย่อลงเหลือ 1 ธรรมะของพระพุทธเจ้า ก็คือสตินั่นเอง ความไม่ประมาท คนไม่ประมาทก็คือคนมีสติ สติมา ปัญญาเกิด สติเตลิด ไม่เกิดปัญญา ทั้งหมดอยู่ตรงนี้ ถ้าเราไม่ขาดสติ ยึดมั่น
อยู่ในศีล ในธรรม เราก็จะปลอดภัย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องใดๆ ทั้งสิ้น

เพราะฉะนั้น ตลอดปีใหม่ 2567 ถ้าเราไม่ขาดสติ สำรวมกาย วาจา ใจ ให้ดี รักษาร่างกายให้เข้มแข็ง จิตใจสะอาดสงบ ทุกอย่างเป็นของเรา เราจะต้องดูแลองคาพยพร่างกายให้ปลอดภัยจากโรค บริหารร่างกายและจิตใจให้เป็นไปอย่างปกติ อย่าปล่อยปละละเลย อย่ามอมเมาตัวเองไปสู่สาเหตุที่จะทำให้เกิดปัญหา เวลาศึกษาธรรมะ สามารถนำไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้หมด ทั้งหมดนี้เป็นประโยชน์ สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้”

⦁ปัจจุบันมีคนไทยบางส่วนอาจไม่มีสติ ไปหลงเชื่อกลุ่มคนที่นำหลักธรรมคำสอนไปบิดเบือน หรือหาประโยชน์กับกลุ่มคนที่ไม่มีที่พึ่งทางใจ?

“อย่างที่พูดมา คนเหล่านั้นเป็นกลุ่มคนที่ขาดสติ ถ้าขาดสติจะปล่อยตัวเองไปตามยถากรรม ใช้ชีวิตอย่างประมาท ไม่นึกถึงอนาคตตัวเอง ไม่นึกถึงพ่อแม่ แบบนี้แปลว่าขาดสติ ถึงช่วยตัวเองไม่ได้ แล้วคนเช่นนี้จะไปช่วยผู้อื่นได้อย่างไร เพราะตัวเองขาดภูมิคุ้มกัน เพราะฉะนั้น สติจึงเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ ขาดอะไรก็ขาดได้แต่อย่าขาดสติ สำคัญมาก

สติคู่กับปัญญา ปัญญาคือผู้รู้ ผู้ฉลาด แต่สติคือเฉลียว ความจริงสติ ปัญญา คือตัวเดียวกัน แต่ทำหน้าที่ต่างกัน ดังนั้น คนที่ขาดสติ บางทีก็ต้องปล่อยเขาไป เพราะในโลกนี้มีผู้คนจำนวนมาก ในสังคมที่เราอยู่ร่วมกันในโลกใบนี้ ในดีมีเสีย ในเสียมีดี อย่าไปคิดว่าคนที่จบดอกเตอร์ หรือคนที่เป็นมหาเศรษฐีจะมีความสุขเสมอไป ไม่ใช่ ความดี ใครทำใครได้ บุญ ใครทำใครได้ สติปัญญา ทาน ศีล ภาวนา ใครทำใครได้ เราจะไปทำให้คนอื่นไม่ได้ แผ่กุศลความดีไปให้ได้ระดับหนึ่ง แต่สิ่งเหล่านี้ทุกคนต้องทำเอง

หากเรามีความปรารถนาดีก็ต้องมีความเมตตากรุณาต่อเขา หากช่วยได้ก็ช่วย คนทุกคนที่เกิดมาพบเจอกันไม่มีความบังเอิญ ต้องมีเรื่องที่เกี่ยวข้องกันมา เช่น ตัวเราเองกับพ่อแม่ บางทีไม่ได้เกี่ยวข้องกันในชาตินี้แต่มีความเกี่ยวข้องกันมาก่อน ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นไม่ใช่เรื่องบังเอิญ หากพอที่จะช่วยกันและกันได้ก็ถือเป็นบุญกรรมที่เคยเกื้อหนุนกันมาก่อน แต่ก็มีบางครั้ง เห็นอยู่ว่าจะเกิดขึ้น ก็ไม่สามารถช่วยได้ ซึ่งอาจเพราะบุญวาสนาของเขามีแค่นั้น มีทั้งบุญและกรรมแต่ละคนไม่เท่ากัน นิ้วของเรายังไม่เท่ากันเลย ดังนั้น บางคนเราก็ช่วยได้
บางคนเราก็ช่วยไม่ได้ ถ้าเราช่วยได้ก็ควรจะช่วย”

⦁ในสังคมไทยมีความคิดเห็นที่แตกต่าง และไม่ยอมรับความเห็นซึ่งกันและกัน มีธรรมะข้อใดที่จะช่วยได้บ้าง?

“ต้องปล่อยเขาเหล่านั้นไป เพราะในทุกสังคมล้วนมีความเห็นต่าง”

อวยพรปีใหม่ 2567 ให้กับประชาชนคนไทย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image