สุรชาติ บำรุงสุข ไทยควรยืนอย่างไร ในยุคสงครามเย็นใหม่

“สถานการณ์ในเวทีโลกยังมีความน่ากังวล ซึ่งโจทย์ในปี 2024 ของผมมีทั้งหมด 5 เรื่องที่เป็นความน่ากังวลใหญ่”

ดร.สุรชาติ บำรุงสุข เปิดสนทนากับ “มติชน” ทันที เมื่อถูกถามถึงสถานการณ์โลกในปี 2024 ทั้งนี้แน่นอนว่า โจทย์ทั้งหมดที่ “สุรชาติ” ตั้งขึ้นนั้น ล้วนมีผลกระทบกับไทย ที่รัฐบาลควรเตรียมรับมือ

โดยโจทย์ใหญ่ทั้ง 5 ข้อนี้ ประกอบด้วย 1.ปัญหาสงครามในเวทีโลก 2.การแข่งขันของรัฐมหาอำนาจ 3.ปัญหาใหญ่จากวิกฤต 6 ชุดที่เกิดคู่ขนานกัน วิกฤตอากาศ วิกฤตเศรษฐกิจ วิกฤตพลังงาน วิกฤตอาหาร วิกฤตโรคระบาด วิกฤตผู้อพยพ 4.ปีแห่งการเลือกตั้งใหญ่ในเวทีโลก และ 5.โจทย์ที่คาดเดาไม่ได้

⦁ ฉายภาพ 3 สงครามใหญ่

ดร.สุรชาติ ได้เริ่มขยายความให้ทีละโจทย์ ตั้งแต่เรื่อง ปัญหาสงครามในเวทีโลก โดยไล่ไทม์ไลน์ย้อนไปถึงปี 2020

Advertisement

“ปี 2022 มีสงครามรัสเซีย-ยูเครน มีวิกฤตช่องแคบไต้หวัน มีสงครามกลางเมืองในซูดาน ก่อนหน้านั้นปี 2021 มีรัฐประหารในเมียนมา ถอยกลับปี 2021 มีสงครามโรคระบาด ในปี 2020 เมื่อเรานำทั้งหมดมาร้อยเรียงกันจะเห็นทันทีว่า ปี 2020 มีสงครามโรคระบาด ปี 2021 มีรัฐประหารในเมียนมา ปี 2022 เห็นสงครามในยูเครน วิกฤตช่องแคบไต้หวัน แล้วก็สงครามกลางเมืองในซูดาน ดังนั้น คำถามของผมคือในปี 2024 เราจะเจออะไร”

“ถามว่า ในปี 2022 เราคิดกันหรือไม่ว่าปี 2023 จะมีสงครามในกาซา ไม่มีหรอก” อาจารย์สุรชาติกล่าว และว่า ฉะนั้น ปัญหาสงครามเป็นโจทย์ที่คนในวงที่ศึกษาเรื่องความมั่นคงหลายคนชี้ว่า สิ่งที่น่ากลัวคือ 3 สงครามใหญ่ เราได้เห็นแล้ว 2 คือ สงครามในยูเครน กับกาซา

ส่วนสงครามที่ 3 ที่กลัวกัน คือสงครามช่องแคบไต้หวันนั้น “สุรชาติ” หวังว่า จะไม่เกิดขึ้น

Advertisement

ถามต่อไปว่า โจทย์สงครามในยูเครนกับในกาซา จะจบในปี 2024 หรือไม่ “สุรชาติ” ชี้ว่า เรื่องนี้ ตอบง่าย ไม่จบแน่ แล้วจะยังเป็นโจทย์ที่ค้างคาต่อไปด้วย

⦁ การกลับมาของอาวุธนิวเคลียร์

ขณะที่ โจทย์ที่สอง การแข่งขันของรัฐมหาอำนาจนั้น “สุรชาติ” มองว่า จะเป็นปีที่มีความเข้มข้นขึ้น แล้วในความเข้มข้น จะเห็นมิติต่างๆ เช่น มิติที่เกี่ยวข้องกับ “อาวุธนิวเคลียร์” มาเพิ่มขึ้นด้วย

“ตั้งแต่รัสเซียตัดสินใจประกาศปลดพันธะที่ตัวเองเคยรับในความตกลงเกี่ยวกับอาวุธนิวเคลียร์ในปีที่ผ่านมา วงผู้เชี่ยวชาญในอเมริกันก็เริ่มคุยกันถึงการเตรียมรับมืออาวุธนิวเคลียร์ เพราะฉะนั้นปี 2024 จะเหมือนสงครามเย็นในอดีต ที่มีอาวุธนิวเคลียร์เข้ามาเป็นองค์ประกอบสำคัญ”

ส่วน โจทย์ที่สาม ปัญหาใหญ่ของวิกฤตทั้ง 6 ชุดนั้น ซึ่งคำถามของ “สุรชาติ” ต่อเรื่องนี้คือ ในปี 2024 มันจะรุนแรงขึ้นเพียงใด?

ไม่ว่าจะเป็น อากาศทั่วโลกจะผันผวนขนาดไหน

ขณะที่ เศรษฐกิจ ล่าสุดวงถกในหมู่บริษัทยักษ์ใหญ่ของโลกเชื่อว่าปีหน้าไม่ดี เช่นเดียวกับพลังงาน ถ้าสงครามในตะวันออกกลางยืดเยื้อไปเรื่อยๆ จะมีปัญหาเรื่องราคาพลังงาน วันนี้เราเห็นแล้วว่า ราคาแก๊สในไทยเพิ่มขึ้น

ส่วน วิกฤตอาหาร ไทยโชคดีอย่างเดียว เราไม่ใช่สังคมที่ทานขนมปังและข้าวสาลี ถ้าสังคมไทยเป็นสังคมที่ทานขนมปังและข้าวสาลี เราจะมีวิกฤตการเมืองในหลายๆ ปีที่ผ่านมาเหมือนเช่นกรณีศรีลังกา

วิกฤตโรคระบาด โควิดจบ แต่ถามว่า โรคระบาดจบไหม ไม่จบ วันนี้โรคระบาดใหม่ๆ ถูกตั้งคำถามว่า จะเป็นสัญญาณตัวร้ายของปี 2024 หรือไม่ โดยเฉพาะกรณีการระบาดของโรคทางเดินหายใจในจีน

สุดท้าย โจทย์ผู้อพยพใหญ่ คือ กาซากับยูเครน ของไทยเรากำลังจะเผชิญกับผู้อพยพจากสงครามในเมียนมา

⦁ กระแสขวาในการเลือกตั้งโลก

โจทย์การเลือกตั้งในเวทีโลก สำหรับ “สุรชาติ” ถือเป็นปีที่ต้องจับตา เพราะจะเป็นการเลือกตั้งที่ตัดสินอนาคตของโลกด้วยว่า จะเดินไปทางไหน

เริ่มตั้งแต่เดือนมกราคม จะมีการเลือกตั้งที่ไต้หวัน มีนาคมจะมีการเลือกตั้งในยูเครน และรัสเซีย พฤษภาคม เกิดขึ้นที่อินเดีย กันยายน มีการเลือกตั้งในออสเตรีย พฤศจิกายน สหรัฐอเมริกามีการเลือกตั้ง และธันวาคมจะเป็นการเลือกตั้งในอังกฤษ

แน่นอน การเลือกตั้งในไต้หวันจะมีผลอย่างมากต่ออนาคตของโลก โดยเฉพาะปัญหาข้อขัดแย้งในช่องแคบไต้หวัน ระหว่างไต้หวันกับจีน

ส่วนการเลือกตั้งในยูเครน เชื่อว่าเซเลนสกีคงชนะ เช่นเดียวกับการเลือกตั้งในมอสโก ไม่ต้องเดาว่าปูตินชนะแน่ ส่วนในอินเดีย นเรนทรา โมดี ชนะ คงไม่เปลี่ยน

แต่การเลือกตั้งในออสเตรีย จะชี้ว่าพรรคฝ่ายขวาจะขึ้นหรือไม่ เพราะพรรคฝ่ายขวาขึ้นแล้วในเนเธอร์แลนด์ ถ้าพรรคฝ่ายขวาขึ้นในออสเตรีย จะส่งผลต่อการเมืองยุโรปทันที

“เรื่องนี้มีสัญญาณตั้งแต่ต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมา มีการประชุมผู้นำฝ่ายขวาใหญ่ที่เมืองฟลอเรนซ์ ประเทศอิตาลี เป็นเวทีเสวนาใหญ่ เพื่อขับเคลื่อนกระแสขวาในยุโรป ฉะนั้น ถ้าการเลือกตั้งสหรัฐ โดนัลด์ ทรัมป์ชนะ การเมืองโลกในปี 2025 จะเปลี่ยนไปเลย แล้วถ้าทรัมป์ชนะ โอกาสที่การเลือกตั้งในอังกฤษจะสะวิงขวาก็เป็นไปได้อีก”

ดังนั้น แปลว่าโจทย์ชุดนี้จะผันยาวไปถึงปี 2025 เลยทีเดียว

⦁ เข้าสู่สงครามเย็นยุคใหม่

สุดท้าย โจทย์ที่คาดเดาไม่ได้ เป็นโจทย์ที่ “สุรชาติ” รับว่า จำเป็นต้องตั้งไว้ แต่ยังไม่มีคำตอบชัด

เพราะย้อนไปตั้งแต่โจทย์แรก ตั้งแต่ปี 2020 จนถึงวันนี้ จากโควิด-19 ยูเครน วิกฤตไต้หวัน รวมถึงในกาซานั้น จะสังเกตได้อย่างหนึ่งว่า ก่อนเกิดเหตุการณ์เหล่านี้ เราคาดเดาไม่ได้เลย เพราะฉะนั้นตอนนี้เรายังตอบไม่ได้ แล้วอนาคตก็ยังอีกไกล

“หลายเรื่อง เช่น สงครามจะยกระดับขึ้นหรือไม่ หรือในอีกส่วนหนึ่ง ปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้นในภูมิภาคต่างๆ เช่น สงครามในรัฐชายขอบในเมียนมา ในซูดานใต้ ในมาเลเซีย เป็นต้น ทั้งหมดเป็นตัวอย่างของปัญหาว่า ปี 2024 จะมีความรุนแรง เพราะโจทย์ชุดนี้จะทำให้เกิดผู้อพยพ และความช่วยเหลือระหว่างประเทศ รวมถึงการคาดเดาไม่ได้เรื่องเชื้อโรคว่าจะมีอะไรระบาดอีกหรือไม่ อากาศจะผันผวนหนักไหม”

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น “นักวิชาการด้านความมั่นคง” ยังมองเห็นข้อดี ในอดีตจาก “สงครามเย็นในศตวรรษที่ 20” นั่นคือ ไม่เกิดสงครามใหญ่ แต่เมื่อเราเห็นสงครามในยูเครน กับในกาซา มันก็ไม่ได้หมายความว่า จะไม่มีสงครามเกิดขึ้นเลย

ดังนั้น เบื้องต้นเราคงคาดหวังแบบเดิมว่า การเริ่มต้น “สงครามเย็นยุคใหม่นี้” จะไม่พาโลกไปสู่สงครามใหญ่อีก

เมื่อถามต่อว่า สงครามเย็นยุคใหม่ จะเหมือนหรือต่างกับยุคเก่านั้น อาจารย์สุรชาติอธิบายทันทีว่า เดิมสงครามเย็น แบ่งซ้ายขวาบนชุดความคิดทางการเมือง สังคมนิยมกับเสรีนิยม แต่ยุคปัจจุบัน คิดว่าจะไม่ได้แบ่ง 2 แบบเดิม

แม้ในช่วงเริ่มต้นของยุคใหม่นี้ จะถูกแบ่งระหว่างประชาธิปไตยกับเผด็จการ หรือระหว่างเสรีนิยมกับอำนาจนิยม แต่ในความเหมือนก็เห็นความต่าง ของการแบ่งชุดความคิดทางการเมือง

ย้อนกลับไปดูการแบ่งยุคนั้น สหรัฐอเมริกาแข่งกับสหภาพโซเวียต แล้วสหภาพโซเวียตก็มีพันธมิตรจีน พอยุคนี้สหรัฐอเมริกาแข่งกับจีน โดยมีรัสเซียเป็นพันธมิตร มันเป็นเพียงการกลับตัวแสดงในขั้วอีกฝั่งหนึ่งเท่านั้นเอง

อาจารย์สุรชาติยืนยันว่า จากนี้เราจะเห็นการแข่งขันกันทุกอย่าง ทั้งการเมือง การทูต เศรษฐกิจ แข่งทางความมั่นคง ทางสังคม แข่งกันในมิติผ่านโซเชียล ซอฟต์เพาเวอร์ แข่งขันในทุกมิติ คล้ายในความหมายเดิม เพียงแต่ยังไม่เกิดสงครามใหม่

ส่วนจะกินเวลานานเหมือนยุคก่อนหรือไม่นั้น “สุรชาติ” รับว่า ยังไม่มีคำตอบ แต่เชื่อว่าจะไม่สั้นแน่นอน

⦁ รัฐบาลไทย ควรยืนอย่างไร

ถามว่า ไทยควรยืนอย่างไร เมื่อเห็นโจทย์โลกเป็นแบบนี้? ส่วนตัวคิดว่า รัฐบาลปัจจุบันคงตระหนักดีว่า 9 ปีที่ผ่านมา บทบาทไทยในเวทีโลกและภูมิภาคมันหายไป

เป็น 9 ปีที่ “สุรชาติ” เปรียบว่า เป็นมนุษย์ล่องหน

“เราทำตัวเองให้ไม่ปรากฏอยู่ในสกรีนเรดาร์ของโลก พอเราไม่ปรากฏอยู่ในจอเรดาร์ของโลกนี้ เราก็เหมือนประเทศที่หลุดออกจากการเมืองโลกไป”

ฉะนั้นเมื่อรัฐบาลนี้พยายามจะฟื้นบทบาทเหล่านี้ 3 เดือนแรก จึงมีภาพ นายกฯเศรษฐา ทวีสิน ไปต่างประเทศแบบถี่ยิบ

ถามว่า มาถูกทางหรือไม่? อาจารย์สุรชาติชี้ทันทีว่า การออกไปแบบนี้ โดยหลักการดีกว่าการไม่ออกอยู่แล้ว

อย่างน้อยๆ ได้เห็นตัวผู้นำไทย แล้วที่สำคัญยังเป็นผู้นำไทยที่ไม่ใช่ผู้นำทหารเหมือน 9 ปีที่ผ่านมาแล้ว

“9 ปีที่ผ่านมา ผู้นำไทยมีคำนำหน้าชื่อเป็น General แต่วันนี้ผู้นำไทยมีคำนำหน้าเป็นเพียง Mr. อย่างน้อย นายกฯเศรษฐาเปลี่ยนภาพลักษณ์ของการเมืองไทย เปลี่ยนลุคประเทศไทยว่าไม่ใช่คนในเครื่องแบบแล้ว”

สิ่งเหล่านี้คือการทำให้ไทยกลับสู่จอเรเดาร์ แต่อาจารย์สุรชาติย้ำว่า เท่านี้ยังไม่พอ

“รัฐบาลจำเป็นต้องมีเนื้อหาหรือคอนเทนต์ที่จะนำเสนอในเวทีโลกและเวทีภูมิภาคด้วย อันนี้เป็นโจทย์ที่น่าสนใจที่รัฐบาลต้องตั้งหลักคิดให้ดี”

จากนั้น อาจารย์สุรชาติยกตัวอย่างทันที เช่น กรณีปัญหาในเมียนมา กับกรณีสงครามยูเครนในเวทีโลก

“ตกลงไทยจะเอาอย่างไรกับปัญหาในเมียนมา จะเสริมบทบาทไทยในการแก้ไขวิกฤตเมียนมาได้หรือไม่ หรืออีกมุมหนึ่ง หากในอนาคตมีการลงเสียงในกรณีสงครามยูเครน แล้วรัฐบาลไทยจะลงเสียงอย่างไร จะตัดสินใจไม่ออกเสียงแบบเดิม แล้วเป็นมนุษย์ล่องหน หรือตัดสินใจประณามรัสเซียเหมือนกระแสโลกเขา”

อาจารย์สุรชาติย้ำเลยว่า นี่คือโจทย์สำคัญที่จะทำให้ไทยเลิกเป็นมนุษย์ล่องหนในเวทีโลกเหมือนกับ 9 ปีที่ผ่านมา

⦁ ปรับท่าที เลิกเป็นมนุษย์ล่องหน

อย่างไรก็ตาม 3 เดือนที่ผ่านมา เห็นชัดว่ารัฐบาลเพื่อไทยพยายามเดินออกไปนอกบ้าน โดยเอาเรื่อง “เศรษฐกิจ” เป็นธงนำ มากกว่าโจทย์ที่อาจารย์สุรชาติพยายามนำเสนอ

แม้เขาจะอธิบายว่า มิติด้านเศรษฐกิจถือเป็นส่วนหนึ่งของงานด้านการต่างประเทศก็จริง แต่เขาไม่เชื่อว่ากระทรวงการต่างประเทศจะทำงานด้านเศรษฐกิจได้จริง

แม้เขาจะไม่ปฏิเสธบทบาทด้านเศรษฐกิจของกระทรวงการต่างประเทศในยุคนายกฯทักษิณ ชินวัตร แต่ก็อยากให้ทำความเข้าใจใหม่ว่ามันเป็นโจทย์คนละชุดกันแล้ว

“นายกฯทักษิณคิดและทำให้กระทรวงการต่างประเทศมีบทบาทนี้ เพราะโจทย์โลกตอนนั้นเปลี่ยนเป็น Globalization แต่โจทย์โลกยุคนี้ มันเป็นโจทย์ Cold War”

นี่คือสิ่งที่อาจารย์สุรชาติเรียกร้องเลยว่า เป็นโจทย์ที่ผู้นำรัฐบาลต้องทำความเข้าใจสภาพแวดล้อมใหม่

วันนี้คือโจทย์ “สงครามเย็น” ไม่ใช่ “โลกาภิวัตน์” แบบเดิม

“ยิ่งสงครามเย็นยุคใหม่มีความเข้มข้นมากเท่าไหร่ กระทรวงการต่างประเทศจะยิ่งถูกบังคับให้ทำเรื่องงานความมั่นคงและการเมืองมากขึ้น”

“การอพยพคนไทยในอิสราเอล” เป็นตัวอย่างที่ “สุรชาติ” ชี้ว่า รัฐบาลโดนบีบให้สนใจเรื่องเหล่านี้มาแล้วรอบหนึ่ง แล้วยังชี้ต่อไปด้วยว่าในปี 2024 รัฐไทยต้องเจออีกแน่นอน

นั่นคือ “วิกฤตจากสงครามในเมียนมา”

เมื่อถามว่า ถ้าไทยยังจะยืนยันจุดยืนเรื่องความเป็นกลางกับกรณีเมียนมา เหมือนกับยุค พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อาจารย์สุรชาติตอบทันทีว่า “9 ปีที่ผ่านมามันจบไปแล้ว”

“เราเห็นอะไรที่เป็นผลบวกที่มีนัยยะสำคัญบ้าง” ย้อนถาม

ต้องยอมรับว่า 9 ปีที่ผ่านมา ในยุค “ลุงตู่ ปู่ดอนและป้าพร” อย่างที่ “สุรชาติ” ชอบเรียกนั้น บทบาทกระทรวงการต่างประเทศสำหรับเขา มีไว้จัดอีเวนต์กับงานต้อนรับแค่นั้นเอง

“พีคที่สุดงานด้านต่างประเทศในยุคนี้คือ การได้จัดอีเวนต์เอเปค แต่เฟลที่สุดคือ การเป็นมนุษย์ล่องหนในเวทีโลก ฉะนั้นในกรณีเมียนมา เราจะยังเป็นเด็กดื้อของอาเซียนต่อไปอีกหรือ” ย้อนถามซ้ำ

อาจารย์สุรชาติยืนยันซ้ำว่า ถ้าไทยไม่อยากเป็นมนุษย์ล่องหน รัฐบาลและกระทรวงการต่างประเทศต้องเลิกเป็นเด็กดื้อกับมติของอาเซียน แล้วปรับบทบาทตัวเองใหม่

“เราต้องสนับสนุนมติของอาเซียน พร้อมกับยืนอยู่ใน Position ในการช่วยเหลือให้อาเซียนผลักดันนโยบายเรื่องเมียนมา เพื่อลดทอนความรุนแรงในเมียนมาลง”

⦁ แนะ ‘เศรษฐา’ นั่งคุมถนน 5 สาย

เมื่อโจทย์ทั้งหมดเป็นแบบนี้ จึงเป็นโจทย์ที่เรียกร้องรัฐบาลหรือตัวผู้นำว่า ต้องคิดเป็นแล้วทำได้ด้วย

ฉะนั้น สิ่งที่ “นักวิชาการผู้อาวุโส” เสนอคือเริ่มต้นปีใหม่ 2024 อยากให้ “นายกฯเศรษฐา” ยอมนั่งลงแล้วคลี่ดูสถานการณ์ทั้ง 3 ระดับให้ดี ตั้งแต่สถานการณ์โลก สถานการณ์ในภูมิภาค และสถานการณ์ในไทย

พร้อมเสนอสิ่งที่เรียกว่า “ถนน 5 สาย” ให้ “นายกฯเศรษฐา” ไว้พิจารณาเพื่อตั้งหลักคิดสำหรับบริหารประเทศต่อไป

โดยถนน 5 สายของ “สุรชาติ” ประกอบด้วย เส้นทางแรก ถนนสายชีวิตของผู้คนในสังคมไทย เส้นทางที่ 2 ถนนสายเศรษฐกิจ เส้นทางที่ 3 ถนนสายการเมือง เส้นทางที่ 4 ถนนสายต่างประเทศ และสุดท้ายคือ ถนนสายความมั่นคง

“ผมคิดว่า นายกฯไม่ใช่คนขับรถ แล้วก็ไม่ใช่คนที่ต้องลงไปเข็นเอง แต่นายกฯจะต้องเป็นคนคุมรถ 5 คันที่วิ่งบนถนน 5 สายให้ไปข้างหน้าให้ดี และได้ไกลที่สุด

แล้วที่สำคัญต้องตระหนักด้วยว่าบนถนนทั้งหมดนี้ ไม่ใช่ทางลอยฟ้าที่ราบเรียบ ถนนแต่ละสายมีหลุมมีบ่อ มีตะปูเรือใบ เป็นอุปสรรค ยิ่งถนนสายสุดท้ายอาจมีโจรถือปืนด้วย

สำหรับผมถนน 5 สายคือเส้นทางชีวิต ที่เป็นภาพมหภาคของการเมือง แม้ว่าการที่นายกฯเดินสายเป็นเรื่องดี แต่เมื่อนายกฯเป็นนายกฯมาสักระยะแล้ว ปีใหม่นี้ก็อยากเห็นนายกฯนั่งนิ่งๆ และตั้งสติดูถนน 5 สายนี้

แล้วขอความรู้จากผู้ที่นั่งดูถนน 5 สายมานานๆ ว่า ในถนนแต่ละสาย มีหลุมมีบ่ออยู่ตรงไหน มีตะปูเรือใบอยู่ตรงไหน ถนนสายสุดท้ายมีโจรอยู่ตรงไหน แล้วถนนสายที่ 4 กับสายที่ 5 คือถนนต่างประเทศจากความมั่นคง บางครั้งมันดันมีจุดพาดพิงกันด้วย”

สำหรับ “สุรชาติ” ทั้งหมดนี้คือภาพรวมของการบริหารประเทศที่เขายืนยันว่า นายกฯจำเป็นต้องมองเห็น เพื่อเตรียมตัวปรับงาน หรือเปลี่ยนคนขับรถใหม่บ้าง เมื่อโอกาสหรือจุดเปลี่ยนใหญ่มาถึง

อย่างน้อยๆ ก็เพื่อแก้ไขเสียงวิจารณ์ จากอาการ “ผิดฝาผิดตัว” ที่เกิดขึ้นภายหลังจากการตั้งรัฐบาลผสมที่ผ่านมา

⦁ ชี้โอกาสหลัง ส.ว.หมดอำนาจ

ดร.สุรชาติมองว่า ในปี 2024 เป็นปีที่มีมุมบวกต่อรัฐบาล โดยเฉพาะโอกาสจากจุดเปลี่ยนใหญ่ของการเมืองไทย หลังเดือนพฤษภาคม เมื่อ 250 ส.ว.ที่ คสช.แต่งตั้งจะหมดอายุลง

ในทางวิชาการถือว่า การสิ้นสุดยุค คสช.มาถึงแล้ว เมื่อ 250 ส.ว.หมดอายุ มรดกเดียวที่ คสช.เหลือจะมีชิ้นใหญ่ชิ้นเดียว

นั่นคือ ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่ “สุรชาติ” เสนอเลยว่า ปีหน้าต้องรื้อทิ้งให้ได้ เช่นเดียวกับกฎหมายของ คสช. ต้องตั้งคณะกรรมการพิจารณา ฉบับไหนละเมิดสิทธิเสรีภาพ ต้องยกเลิก เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นให้พลเรือนเข้ามาคุมถนน 5 สาย

“มันจบแล้ว 9 ปีที่ผ่านมา สำหรับนายพลที่เชื่อว่าบนถนน 5 สายต้องใช้รถถังวิ่ง เพราะมันไม่ได้บอกถึงความสำเร็จอะไรเลย”

ฉะนั้น เมื่อโครงสร้างอำนาจใหม่ถูกจัด “สุรชาติ” จึงคาดหวัง ให้มีนัยยะไปสู่การปรับเปลี่ยน

อย่างน้อยๆ ในการปรับ ครม.ก็น่าจะเป็น ครม.ที่มีประสิทธิภาพมากกว่าปัจจุบัน

“ผมคาดหวังอยากเห็นคนขับรถ ที่ Good driver พารถไปสู่จุดหมายปลายทางได้อย่างปลอดภัย และผู้โดยสารทั้งหมดนั่งไปบนรถด้วยความเชื่อมั่น ไม่ใช่ขับรถไม่ดี แล้วผู้โดยสารถูกคนขับรถตวาด อย่าง 9 ปที่ผ่านมา”

เมื่อถามย้ำถึงเสียงวิจารณ์เรื่องการตั้งรัฐบาลผสมข้ามขั้ว ทำให้มีความกังวลกันว่า การเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นช้า หรือจะไม่เกิดขึ้นเลย แต่อาจารย์สุรชาติยังมองในแง่ดี โดยยกความเป็น “รัฐบาลผสม” มาอธิบายสถานะของรัฐบาลในขณะนี้

โดยยืนยันว่า “ยังไงมันก็ไม่เปลี่ยนเร็ว เพราะโอกาสที่พรรคใดพรรคหนึ่งจะเคลื่อนตามใจตัวเอง เป็นเรื่องลำบากมากอยู่แล้ว”

⦁ ปิดฉาก คสช. แต่ประชาธิปไตยยังเปราะบาง

อย่างไรก็ตาม อาจารย์สุรชาติ บำรุงสุข ยังลิสต์ 10 โจทย์ใหญ่อันเป็นปัญหาการเมืองไทยในปี 2024 ให้อย่างละเอียดยิบ

แน่นอน เรื่องแรก จะถึงยุค คสช.ปิดฉากแล้วจริงๆ โดย ส.ว. ซึ่งถือเป็นอำนาจใหญ่ที่สุดเท่าที่เราเคยเห็น จะหมดอำนาจ เรื่องที่สอง ภายหลังปิดฉาก ส.ว. ก็มีคำถามตามมาว่า การเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตยของไทย จะเดินไปได้มากน้อยแค่ไหน

เรื่องที่สาม จากนี้จะเห็นคือเกมและการต่อสู้ในรัฐสภาอย่างเข้มข้นมากขึ้น เพราะโจทย์จะเข้ามาสู่สภาล่างมากขึ้น

เช่นเดียวกับ เรื่องที่สี่ จะเห็นการแข่งขันของรัฐบาลผสม เพราะทุกฝ่ายต้องเร่งสร้างผลงาน เรื่องที่ห้า จะเห็นการแย่งชิงฐานเสียงมากขึ้นของทุกพรรค เรื่องที่หก เราหวังว่าจะได้เห็นการปรับ ครม.ชุดใหญ่ เพราะเห็นโครงสร้างอำนาจใหญ่ๆ อีกชุดหนึ่งเกิดในสภาบน หรือ ส.ว.ที่เชื่อมโยงกับพรรคการเมืองมากขึ้น

ขณะที่ เรื่องที่เจ็ด จะมีเสียงเรียกร้องเรื่องกระจายอำนาจมากขึ้น เพราะการเมืองจะเริ่มหลุดออกจากโครงสร้างแบบรัฐราชการ แม้ไม่ได้หลุดทั้งหมด แต่จะหลุดมากขึ้นเรื่อยๆ ส่วนเรื่องที่แปด ในเดือนเมษายนจะเกณฑ์ทหารอีกแล้ว เสียงเรียกร้องปฏิรูปกองทัพจะตามมาอีกระลอก

เรื่องที่เก้า อาจารย์สุรชาติมองว่า ปีกอนุรักษนิยม ในองค์รวมยังเข้มแข็ง ส่วนปีกที่เปราะบางยังเป็นฝ่ายประชาธิปไตย

“เรื่องนี้อย่างที่ย้ำไปตั้งแต่ต้น ต้องตามดูกระแสฝ่ายขวาในกระแสโลก จะส่งผลผลักดันกระแสอนุรักษนิยมในไทยด้วยหรือไม่”

และเรื่องสุดท้าย ไม่หนีไปไหน ปัญหาความแตกแยกทางการเมืองยังอยู่กับเราต่อไป

ทั้งหมดนี้ “สุรชาติ” สรุปว่า ในปี 2024 การเมืองไทยยังทุลักทุเลต่อไป เศรษฐกิจยังผันผวน ความมั่นคงแกว่งไปมา และสังคมยังเปราะบางต่อไปเช่นกันในอีก 4 เรื่องใหญ่

นั่นคือ 1.ปัญหาช่องว่างของการกระจายรายได้ 2.ปัญหาความยากจน 3.ปัญหายาเสพติด และ 4.ปัญหาอาชญากรรม

ส่วนปัญหาความมั่นคงที่แกว่งไปมา คือปัญหาความขัดแย้งภายในกับปัญหาภาคใต้ที่ยังเป็นปัญหาใหญ่ และปัญหาที่คาดเดาไม่ได้ เช่น ปัญหาที่จะทะลักออกมาจากประเทศเพื่อนบ้าน เช่นกรณีเมียนมา

ซึ่ง “นักวิชาการความมั่นคง” ทิ้งท้ายด้วยการย้ำอีกครั้งว่า เป็นสิ่งที่รัฐบาลต้องเจออย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้แน่นอน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image