ชูเท่าเทียม เสมอภาค ลบภาพจำ‘คุกมีไว้ขังคนจน’

ชูเท่าเทียม เสมอภาค
ลบภาพจำ‘คุกมีไว้ขังคนจน’

หมายเหตุพ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เปิดเผยมุมมอง ความท้าทายของกระทรวงยุติธรรม ในปี 2567 ที่จะสร้างความยุติธรรมให้เกิดอย่างถ้วนหน้า เพิ่มความเชื่อมั่นด้านภาพลักษณ์ทางสังคม การแก้ปัญหายาเสพติดและปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

ในปี 2567 ความท้าทายของกระทรวงยุติธรรม จะต้องนำนโยบายที่เราประกาศไว้คือวางโครงสร้างพื้นฐานให้ประเทศได้มีหลักยุติธรรม หลักนิติธรรม ที่เข้มแข็ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งจะนำเรื่องความยุติธรรมให้เกิดอย่างถ้วนหน้า เรื่องความยุติธรรมเราเชื่อว่าจะนำไปสู่การลดปัญหาความขัดแย้ง ทำให้เกิดความสามัคคี ธำรงไว้ซึ่งหลักนิติธรรม

⦁ ออกกฎหมายนิรโทษกรรม ปมแนวเขตที่ดิน

Advertisement

ประเด็นสำคัญ กระทรวงยุติธรรมอาจจะต้องขยับเข้ามา นำกระบวนการขัดแย้งที่เกิดขึ้นในสังคมไทย เราจะต้องมาศึกษา เพื่อจะได้ก้าวข้ามความขัดแย้ง ซึ่งในแนวความคิดของส่วนกระทรวงยุติธรรมจะต้องทำคือการเปลี่ยนผ่านในช่องทางของกฎหมาย ซึ่งอาจจะเป็นกฎหมายนิรโทษกรรม และจะมีการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ซึ่งกฎหมายการนิรโทษกรรมที่สำคัญที่กระทรวงยุติธรรมจะเข้าไปดำเนินการนั้นก็คือ กรณีการผิดพลาดของรัฐ ในปัญหาเรื่องที่ดินตามป่าไม้ รวมถึงการประกาศแนวเขตเรื่องที่ดิน ที่ไปทับที่ดินของประชาชน แล้วมีการดำเนินคดีของประชาชน

เรื่องนี้ต้องยอมรับว่าเป็นปัญหาที่สะสมมานาน มีการประท้วงเป็นเวลา 10-15 ปีที่ผ่านมา ภาพที่คุ้นตาที่มีสมัชชาคนจน พีมูฟ จะเอาปัญหาเหล่านี้มาร้องเรียนสะท้อนความเดือดร้อนของประชาชน ทั้งนี้ ในฐานะที่ได้รับมอบหมายให้เป็นประธานอนุกรรมการเรื่องยุติธรรมของกฎหมาย ก็คิดว่าจะหยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาแก้ปัญหา

⦁สร้างความโปร่งใส-แก้ปัญหาควบคู่กันระหว่างรัฐกับประชาชน

Advertisement

อีกความท้าทายก็คือ อยากให้การแก้ปัญหาทุกอย่างนั้นเราจะต้องมีมิติของการให้ความสำคัญ เรื่องเสียงสะท้อนหรือมุมมองรายการแก้ปัญหาของประชาชน ควบคู่ไปกับมุมมองการแก้ปัญหาของรัฐ ซึ่งทั้ง 2 ส่วนนั้นที่ผ่านมา อาจจะ
ไม่ไปในทิศทางเดียวกัน บางครั้งอาจจะคู่ขนานด้วยซ้ำ เนื่องจากว่าในมิติของรัฐ เราก็จะมองแค่ประสิทธิภาพในการปฏิบัติ ในมิติของประชาชนต้องการให้รัฐให้ความเป็นธรรม

ดังนั้นเราต้องทำให้รัฐบาลโปร่งใส ลดปัญหาคอร์รัปชั่น อย่างไรก็ตาม ทั้ง 2 ส่วนนี้ เป็นเรื่องที่คนอาจจะว่าเป็นเรื่องเก่าหรือไม่ แต่สิ่งหนึ่งที่กระทรวงยุติธรรมกล้านำงานวิจัยและนวัตกรรมที่มีการเสนอในการที่จะแก้ปัญหา เช่น มีระบบเทคโนโลยีเข้ามาใช้ ในเรื่องของคำให้การ ที่เอาไปใส่ระบบคลาวด์ เมื่อมีการสั่งให้แก้หรือเปลี่ยนแปลงจะได้มีการบันทึกไว้ ก่อนแก้ไข

⦁ แก้ปัญหายาเสพติด-ดึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นช่วยแก้ปัญหา

อีกเรื่องที่สำคัญ ที่กระทรวงยุติธรรมต้องเผชิญกับความท้าทาย คือ เรื่องการแก้ปัญหายาเสพติด นอกจากการแก้ในระบบแนวคิดเดิมๆ แล้ว เราต้องคิดเพิ่มเติมอีกว่าจะทำอย่างไรให้สังคมเข้าใจว่าเราจะลดทอนอันตรายจากการใช้สารเสพติดให้มากขึ้น เราจะต้องเปลี่ยนมิติเดิม การแก้ปัญหายาเสพติดจะแก้โดยใช้พลเรือน ตำรวจ ทหาร แต่เราลืมบทบาทของคนสำคัญคือภาคองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เราต้องเสริมศักยภาพให้ท้องถิ่นมากขึ้น

⦁ แก้ปัญหา 3 จังหวัดชายแดนใต้

ปัญหาในเรื่องนี้ เราได้ผ่านการแก้ปัญหามาแล้วกว่า 20 ปี แต่ว่าอาจจะมีภาพปัญหาร่วมกันระหว่างรัฐกับประชาชน ที่ผ่านมาเราแก้ปัญหาภาคใต้เป็นแบบทวิลักษณ์ (Duality) คือฝ่ายความมั่นคง เขาเรียกรัฐ กับฝ่ายที่ถือปืนของผู้ที่มีความเห็นต่างที่มาต่อสู้กัน คือเอา 2 ฝ่ายมา แต่ครั้งนี้เราจะใช้วิธีแก้ปัญหาเชิงพหุลักษณ์ (Plural Society) คือทุกภาคส่วนต้องเข้ามา สามารถมีพื้นที่ในการที่จะมาแก้ปัญหา เพราะบางครั้งเมื่อเราหยิบปัญหามาเป็นปัญหาร่วมกันแล้ว ก็ต้องมีเป้าหมายกลาง ซึ่งเราเชื่อว่าเมื่อทุกคนมีความรักในพื้นที่ อาจจะเปลี่ยนจากการใช้ความมั่นคงนำหน้า มาเป็นการใช้สันติภาพนำหน้าในการแก้ปัญหา อันนี้คืองานที่ท้าทายของกระทรวงยุติธรรม

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เสนอมาข้างต้นนั้นไม่จำเป็นต้องใช้เงินทุกข้อเสมอไป อาจจะแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ 1.ใช้ศักยภาพของรัฐธรรมนูญ หรือบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญที่มีอยู่แล้ว ขับเคลื่อนเพื่อแก้ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับอำนาจหน้าที่ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมสามารถเข้าไปดำเนินการได้ ซึ่งกฎหมายระดับรองที่ใช้อยู่นั้นจะต้องไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ

⦁ การบังคับใช้กฎหมาย (ราชทัณฑ์) ให้เป็นตามเจตนารมณ์

เรื่องใหญ่อีกอย่างที่เป็นความท้าทายก็คือ จะทำอย่างไรให้การปฏิบัติหรือการดำเนินการ หรือการบังคับใช้กฎหมายที่มีอยู่นั้น เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมายนั้นๆ ยกตัวอย่างเรื่องกรมราชทัณฑ์ เราถูกประเมินตัวชี้วัดเรื่องหลักนิติธรรม เรื่องสิทธิมนุษยชน ว่ามีความตกต่ำมาก แต่การตกต่ำนั้นไม่ได้ตกต่ำเพราะกฎหมาย แต่ตกต่ำเพราะความเป็นจริง คือนักโทษล้นคุก เราไม่ได้ปฏิบัติตามการพัฒนาพฤตินิสัย คือการเปลี่ยนพฤติกรรม เราก็มาพบว่ากรมราชทัณฑ์นั้นมี พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ ปี 2560 เนื่องจากมีการปรับแก้ พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ 2475 ซึ่งระบุไว้ชัดว่ากฎหมายเดิมนั้นไม่สอดคล้องกับนโยบายอาญาของประเทศ ประกอบกับกฎหมายเดิมไม่สอดคล้องกับหลักเกณฑ์ระดับสากล และไม่สามารถปฏิบัติได้ตามหลักสากล จึงนำไปสู่การแก้กฎหมายดังกล่าว ซึ่งเหตุผลในการแก้กฎหมายราชทัณฑ์เขียนไว้ก็คือ การจัดการและการบริหารโทษผู้ต้องขัง ไม่สามารถดำเนินการได้ ให้มีสถานที่ควบคุมหรือคุมขังผู้ต้องขังประเภทอื่นนอกจากคุมขังในเรือนจำ ซึ่งทำให้ระบบพัฒนาพฤตินิสัยและการบริหารระบบราชทัณฑ์ ไม่เป็นไปตามเป้าหมายสิทธิมนุษยชน จึงสมควรที่จะให้มีคณะกรรมการราชทัณฑ์

⦁ แยกกลุ่มผู้ต้องขังเพื่อบริหารโทษ ไม่ได้ทำเพื่อใครคนใดคนหนึ่ง

เพื่อที่จะกำหนดทิศทางและปรับปรุงหลักเกณฑ์เพื่อพัฒนาพฤตินิสัยของผู้ต้องขัง อันนี้คือสิ่งที่สังคมกำลังพูดถึงนั่นก็คือ เรื่องสถานที่คุมขังอื่น หรือการคุมขังนอกเรือนจำ ซึ่งกฎหมายเขียนไว้นานแล้ว ที่ผ่านมา 6 ปี ต้องมีกฎหมายรอง และระเบียบให้สอดคล้อง เพราะสิ่งนี้คือเจตนารมณ์ของกฎหมาย ส่วนสถานที่คุมขังอื่น ในความหมายก็คือ การถูกคุมขังอยู่ เพื่อไม่ให้ไปก่อเหตุร้าย

แต่การออกระเบียบนี้ก็เพียงแต่ทำให้ราชทัณฑ์ได้มีการแยกประเภทผู้ต้องขังชัดขึ้น เช่น ผู้ต้องขังป่วยเป็นมะเร็ง ก็ต้องเอาออกไปรักษา ทุกอย่างต้องมีหลักเกณฑ์เดียวกัน และต้องมีคณะกรรมการเข้ามาพิจารณาว่าใครจะเข้าหลักเกณฑ์ แต่ก็มีคนในสังคมมองว่าจะทำเพื่อคนใดคนหนึ่ง

⦁ สร้างหลักเกณฑ์กลางเพื่อความเท่าเทียม เสมอภาค

ซึ่งเขาคิดได้ แต่เมื่อมีเกณฑ์กลางแล้ว ใครที่เข้าหลักเกณฑ์กลางก็มีสิทธิได้รับ ตามการพิจารณาของคณะกรรมการ อาจจะมีมากถึงหลักหมื่นคน หลายคน เพราะวันนี้นักโทษในเรือนจำมีเกือบแสนคน อันนี้คือตัวอย่าง นอกจากนี้ยังมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องหลายฉบับ เช่น กรมคุมประพฤติิ ซึ่งเรามีนโยบายที่ชัดตามประมวลกฎหมายยาเสพติด ที่ให้ผู้เสพเป็นผู้ป่วย คือต้องการให้สาธารณสุขเป็นคนดูแล ไม่ใช่คนคุมประพฤติ เพราะสาธารณสุขมีงบประมาณมากกว่า และที่ผ่านมาเรานำคนที่ติดยาเสพติดมาอยู่ในระบบคุมประพฤติกว่า 2 แสนคน แทนที่จะเอาไปบำบัดรักษาตามกระบวนการสาธารณสุข ซึ่งเรื่องนี้เป็นอีกความท้าทายที่จะต้องนำคนกลุ่มนี้เข้าสู่การบำบัดรักษา

สิ่งต่างๆ พวกนี้ เขาเรียกว่าหลักนิติธรรม ก็คือต้องทำให้กฎหมายไม่ขัดกับรัฐธรรมนูญที่มีศักดิ์สูงสุด และกฎหมายต่างๆ ต้องเกิดให้สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของกฎหมาย

อย่างไรก็ตาม เราอยากให้สังคมเห็นว่าไม่ว่าจะเป็นเรื่องการทุจริตคอร์รัปชั่น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการกระทำที่สากลไม่รองรับ ไม่ว่าจะเป็นการค้ามนุษย์ การกระทำลักษณะการอุ้มหรือการทรมาน จะต้องถูกขจัดในกระทรวงยุติธรรมยุคต่อไป ซึ่งจะได้เห็นการทำงานแบบตรงไปตรงมา แบบมืออาชีพแล้วก็ไม่กลั่นแกล้งใคร

⦁ ความเชื่อมั่นด้านภาพลักษณ์ทางสังคม คุกต้องไม่มีไว้ขังคนจน

พอสังคมมีความขัดแย้ง จะเชื่อหรือไม่เชื่อเป็นส่วนหนึ่ง แต่สิ่งที่เราต้องทำคือต้องลดความขัดแย้ง ต้องกล้าสื่อสารให้สังคมรับรู้ เช่นเรื่องการขังนอกเรือนจำ เมื่อมีระเบียบออกมาก็ต้องสื่อสารออกไป เป็นหน้าที่ของอธิบดีกรมราชทัณฑ์ที่ต้องอธิบายกับสังคม เพราะอะไรทำไมต้องราชทัณฑ์ มีตัวชี้วัดในระดับสากล ตอนเราโดนประเมินตัวชี้วัดคะแนนเต็ม 1 เราได้คะแนน 0.25 อะไรแบบนี้ สิ่งที่อยากทำอีกอย่าง อยากให้กระทรวงยุติธรรมสามารถเป็นสถานที่สร้างคนพัฒนาคน เพื่อให้คนกลับไปอยู่ในสังคมอย่างมีคุณภาพ

และไม่ต้องการให้เกิดภาพจำหรือพูดกันว่า คุกมีไว้ขังคนจน เพราะตอนนี้พบว่ามีประชาชนถูกกักขังแทนค่าปรับประมาณ 5,000 คน คนเหล่านี้คือคนจนจริงๆ ไม่มีแม้เงินเสียค่าปรับ แล้วมาถูกกักขัง ซึ่งกระทรวงยุติธรรมต้องเข้าไปแก้ไข มีกฎหมายให้สามารถไปทำงานสาธารณะแทนกักขัง ที่ผ่านมาเราไม่ได้บริหารโทษในส่วนของกรมราชทัณฑ์อย่างจริงจัง ซึ่งหลังจากนี้ต้องเข้าไปดำเนินการเป็นนโยบายเร่งด่วน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image