อัพสกิล-รีสกิล แรงงานไทย ก้าวพ้นกับดักค่าจ้างขั้นต่ำ

อัพสกิล-รีสกิล แรงงานไทย
ก้าวพ้นกับดักค่าจ้างขั้นต่ำ

หมายเหตุ นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เผยถึงแนวทางการส่งเสริมและยกระดับทักษะฝีมือแรงงานไทย การเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำ และการผลักดันให้แรงงานไทยเป็นซอฟต์เพาเวอร์

วันนี้ได้รับความไว้ใจวางใจจากนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ให้มาดูแลกระทรวงแรงงาน จึงเป็นอีกบทบาทหนึ่งที่ได้รับมา ตั้งใจว่าครั้งนี้จะต้องทำให้กระทรวงแรงงานเป็น
กระทรวงทางเศรษฐกิจ เป็นอีกหนึ่งบทบาทที่มากกว่าการเป็นเพียงกระทรวงทางสังคม

“ในอดีต ประเทศไทยมีอาชีพชาวนาที่เป็นกระดูกสันหลังของชาติ แต่ปัจจุบันมีครอบครัวที่ทำงานเกษตรกรรมเพียง 15 ล้านคน อีก 40 ล้านคนเป็นผู้ใช้แรงงานทั้งสิ้น ผมพูดกับเพื่อนๆ ข้าราชการทุกคนว่า เราจะสร้างคำขวัญเพื่อทำให้กระทรวงแรงงานเป็นกระดูกสันหลังของชาติ ซึ่งจะนำมาสู่คำว่าเศรษฐกิจ เพราะแรงงานเป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ หากมีเพียงนายทุน แต่ไม่มีแรงงาน สถานประกอบการนั้นคงเดินหน้าต่อไปไม่ได้”

Advertisement

ส่วนสำคัญของการทำให้ “แรงงานไทย” มีศักยภาพ มีทักษะฝีมือ เพื่อก้าวพ้นกับดัก ‘ค่าจ้างขั้นต่ำ’ ด้วยการอัพสกิลและรีสกิล (Upskill and Reskill) ก้าวเข้าสู่การใช้แรงงานที่มีฝีมือ ดังนั้น กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) จะต้องขยายการฝึกทักษะให้มากกว่า 129 สาขา ให้มีความหลากหลายมากขึ้น จากนั้นต้องเร่งประชาสัมพันธ์การฝึกทักษะแรงงานผ่านงานมหกรรมการจัดหางานที่ยิ่งใหญ่ระดับประเทศ (JOB EXPO THAILAND) ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศอย่างเหมาะสม เป้าหมายการสร้างงาน สร้างอาชีพ 80,000 อัตรา นอกจากนี้ กพร.ได้ทำความตกลงกับบริษัทใหญ่เพื่อทำการอัพสกิลและรีสกิลให้กับบุคลากรในองค์กร ทาง กพร.จะเข้าไปดูและกำหนดหลักสูตรการอบรมร่วมกัน เมื่อผ่านการอบรมก็จะได้ใบรับรองความสามารถ (Skill Certificate) ซึ่งในปี 2567 กระทรวงแรงงานตั้งเป้าพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานในส่วนนี้อย่างน้อย 2,500,000 อัตรา

“ต้องซูมไปว่าจังหวัดไหนต้องการอบรมฝีมือแรงงานด้านไหนบ้าง เจาะลงไปในรายละเอียด เมื่อเราพัฒนาถึงจุดนั้นแล้ว แรงงานจะมองข้ามคำว่าค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาทต่อวัน แต่จะมองว่าทำอย่างไรที่จะยกระดับทักษะฝีมือไปสู่ค่าแรง 600 บาทต่อวัน ในปี 2570”

⦁ แผนส่งแรงงานไทยไปทำงานต่างประเทศในปี 2567

Advertisement

ตั้งเป้าว่า ปี 2567 ต้องไม่น้อยกว่า 100,000 คน และมากกว่า 200,000 คน ในปี 2570 ฉะนั้น การเพิ่มทักษะให้แรงงานเพื่อการไปทำงานในต่างประเทศนั้น จะเป็นอีกตัวชี้วัดของคำว่า ‘กระทรวงทางเศรษฐกิจ’ แน่นอนว่าประเทศไทยมีการส่งออกแรงงานไปทำงานต่างประเทศมากกว่า 30 ปี โดยเฉพาะประเทศฝั่งตะวันออกกลางอย่างประเทศอิสราเอล ที่มีแรงงานไปทำงานอย่างถูกกฎหมายเกือบ 30,000 คน และยังมีในประเทศกาตาร์ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ หรือยูเออี ซึ่งไม่ใช่แรงงานไร้ฝีมือ แต่เป็นแรงงานระดับฝีมือที่มีค่าตอบแทนต่อเดือนเฉลี่ย 30,000 บาทขึ้นไป หากมีการส่งออกแรงงานมากกว่าปีละ 200,000 คน จะทำให้มีเม็ดเงินเข้าสู่ประเทศไทยไม่น้อยกว่า 7 หมื่นล้านบาทต่อปี อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ต้องทำควบคู่กับการส่งแรงงานไปทำงานต่างประเทศ คือ “ลดช่องว่างของการเสียดุลทางการค้า” เนื่องจากปัจจุบัน ประเทศไทยมีการนำเข้าแรงงานจากต่างประเทศค่อนข้างสูง ฉะนั้นเมื่อมีนำเข้าก็ต้องมีส่งออกให้สมดุลกัน

⦁ ดันแรงงานไทยเป็นซอฟต์เพาเวอร์ของชาติ

กระทรวงแรงงานเป็นหนึ่งในคณะอนุกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ ตามที่รัฐบาลชูจุดขายเรื่องนี้ เพื่อเป็นตัวกระชากเศรษฐกิจให้ประเทศ ซึ่งมั่นใจว่าซอฟต์เพาเวอร์ที่ขลังและแข็งแรงที่สุดของไทยคือ ความเป็นคนไทย รอยยิ้มคนไทย เป็นซอฟต์เพาเวอร์ที่แท้จริง ด้วยอุปนิสัยใจคอของคนไทยที่มีความละเอียดอ่อน มีความคิดสร้างสรรค์ที่มาพร้อมกับความขยัน ทำให้นายจ้างชาวต่างชาติให้ความไว้วางใจ ต้องการแรงงานไทยไปช่วยงาน ด้วยทักษะที่ดี มีความพร้อมพัฒนาองค์ความรู้ หรือถ่ายทอดวิธีการทำให้งานนั้นๆ ได้ประสิทธิภาพที่สูงขึ้น ไม่ใช่ไปเพียงขายแรงงาน เรื่องนี้ จึงเป็นเสน่ห์ของแรงงานไทยที่นายจ้างต้องการ และเมื่อแรงงานไปทำงานร่วมกับเพื่อนชาวต่างชาติ ก็เกิดการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม ถ่ายทอดความเป็นไทยในต่างแดน

⦁ การผนึก 4 กระทรวงสังคม สร้างคนที่มีคุณภาพ

ตามที่ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย (มท.) ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ได้ผนึกกำลัง 4 เจ้ากระทรวงจากพรรคภูมิใจไทย เริ่มจากต้นน้ำที่กระทรวงมหาดไทยมีหน้าที่ในการพัฒนาสังคม ดูแลประชาชนตั้งแต่ระดับฐานรากให้เด็กไทยได้เข้าสู่ระบบการศึกษาขั้นพื้นฐานอย่างถ้วนหน้า ส่วนสำคัญไม่น้อยไปกว่าการศึกษาคือการค้นหาผู้ว่างงานในระดับรากหญ้า แต่มีทักษะในการประกอบอาชีพ เช่น ช่างเชื่อม ช่างซ่อม ช่างไฟ หรืองานฝีมือต่างๆ โดยกระทรวงแรงงานต้องเข้าไปสร้างโอกาส สร้างอาชีพให้กับประชาชน โดยมีสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) ช่วยออกใบประกอบคุณวุฒิวิชาชีพ ให้การรับรองความสามารถเฉพาะทาง เพื่อเพิ่มโอกาสในการทำงานของประชาชนตามความสามารถ

กระทรวงศึกษาธิการเป็นบทบาทสำคัญในการสร้างบุคลากร โดยนักเรียนในระบบการศึกษาสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จะต้องเจอกับทางแยกสำคัญของเขา ดังนั้น จะต้องมีผู้ที่แนะแนวได้ว่าตัวเองมีความชอบในด้านอะไร มีทักษะในการทำงานอย่างไรบ้าง ซึ่งบางคนอาจจะชอบการศึกษาในสายสามัญ หรือบางคนชอบที่จะเรียนในสายอาชีวศึกษาหรือสายอาชีพ ‘เพื่อให้เกิดสารตั้งต้นที่ดี’

จากนั้นนักเรียนที่เลือกเข้าสู่ระบบการศึกษาสายสามัญก็จะมีกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นผู้ดูแล ปั้นบุคลากรให้มีความเชี่ยวชาญตามแต่ละสาขา ซึ่งสายน้ำทั้งหลายจะมาบรรจบที่กระทรวงแรงงาน โดยกรมการจัดหางาน (กกจ.) มีหน้าที่ป้อนข้อมูลความต้องการของตลาดแรงงานในระดับประเทศและนานาชาติไปยัง 3 กระทรวงที่กล่าวมา เพื่อให้แต่ละกระทรวงมีเป้าหมายในการสร้างแรงงานไปในทิศทางที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาด

“ปัจจุบันน้องๆ ที่จบสายอาชีพ แรงงานไม่เพียงพอ เพราะสถานประกอบการจะมีการจองนักเรียนสายอาชีพในทุกวิทยาลัย ในลักษณะทวิภาคี ซึ่งต้องยอมรับว่าน้องๆ ยังมีความต้องการเรียนในสายสามัญมากกว่า เป็นหน้าที่ของ 4 กระทรวงที่จะสื่อสารให้กับเด็กรุ่นใหม่ว่าการเรียนสายอาชีพนั้น จะช่วยส่งเสริมทักษะฝีมืออาชีพให้กับน้องๆ เพื่อให้มีความพร้อมใช้ เมื่อเรียนจบมาก็มีงานรองรับ”

⦁ ปัญหาคนไทยว่างงานที่ยังมีตัวเลขค่อนข้างสูง

เดิมเราใช้ข้อมูลอัตราการว่างงานเป็นตัวเลขเชิงสถิติ แต่หากสามารถลงลึกไปได้ถึงต้นตอของปัญหา ตั้งแต่ระดับตำบลไปจนถึงระดับจังหวัด ค้นหาว่ามีคนว่างงานกี่คน หาสาเหตุการว่างงาน เพื่อส่งเรื่องไปยังกระทรวงมหาดไทย วิเคราะห์ว่าแต่ละพื้นที่มีความขาดแคลนในเรื่องอะไร จากนั้นข้อมูลจะถูกส่งไปยังกระทรวงแรงงาน เพื่อส่งเจ้าหน้าที่จากทั้ง 5 เสือแรงงาน คือ สำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน, กรมการจัดหางาน, กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน, กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) และสำนักงานประกันสังคม (สปส.) เข้าไปร่วมกันดูแล

“แต่หากถามว่าจะทำให้อัตราว่างงานเป็นศูนย์เปอร์เซ็นต์ คงเป็นไปได้ยาก เพราะวันนี้ น้องๆ ที่จบการศึกษาในสายสามัญ ระดับปริญญาตรี ยังไม่มีงานทำอีกมากกว่า 1 แสนตำแหน่ง ตรงนี้ทางกระทรวงแรงงานจะต้องเปิดช่องทางการสื่อสาร เพื่อให้เด็กจบใหม่ที่ยังไม่มีงานได้แสดงความจำนงว่ามีความต้องการทำงานด้านไหน มีความสามารถเฉพาะทางอย่างไร จากนั้นก็ดึงน้องๆ เข้าสู่การอบรมเฉพาะทาง แล้วป้อนเข้าสู่ตลาดแรงงานเฉพาะทาง ซึ่งวันนี้เราขาดมากๆ คือ ภาคการท่องเที่ยว ที่ผ่านมา ธุรกิจหรือสมาคมด้านการท่องเที่ยวมีการแจ้งความจำนงมาถึงกระทรวงแรงงานอยู่ตลอดว่า ให้เราช่วยอัพสกิลและรีสกิลน้องๆ ที่มีความรู้ ทักษะด้านภาษาอังกฤษเบื้องต้น เพื่อป้อนเข้าสู่การทำงานในภาคท่องเที่ยว ไม่ว่าจะโรงแรม ร้านอาหาร หรือมัคคุเทศก์ ซึ่งเรื่องนี้เป็นหนึ่งในนโยบายขับเคลื่อนประเทศของรัฐบาล เพราะการท่องเที่ยวและการกีฬาเพื่อการท่องเที่ยวเป็นตัวกระชากเศรษฐกิจให้สูงขึ้นได้เร็วที่สุด”

ข้อมูลล่าสุดที่ทางกระทรวงแรงงานและกระทรวงการท่องเที่ยวฯได้ร่วมกันทำงานมาพบว่า ปัจจุบันยังมีความขาดแคลนแรงงานด้านการท่องเที่ยวประมาณ 1 ล้านตำแหน่ง ในอดีตเมื่อปี 2562 มีแรงงานภาคการท่องเที่ยวประมาณ 4 ล้านตำแหน่ง แต่เมื่อมีการระบาดของโรคโควิด-19 แรงงานถูกเลิกจ้างออกไป และเมื่อมีการเปิดประเทศต้อนรับการท่องเที่ยวอีกครั้งในปี 2565 พบว่ามีแรงงานกลับเข้าสู่ภาคการท่องเที่ยวเพียงร้อยละ 60 เท่านั้น จนมาถึงขณะนี้ แรงงานภาคการท่องเที่ยวก็ยังกลับเข้าสู่ระบบไม่ถึงร้อยละ 75 ดังนั้น อีกร้อยละ 25 คือส่วนที่ขาดไปประมาณ 1 ล้านคน

“ทำให้ภาคธุรกิจการท่องเที่ยวแสดงความจำนงมาถึงกระทรวงแรงงานให้ป้อนแรงงานเข้าสู่ภาคการท่องเที่ยว โดยการนำเข้าแรงงานเพื่อนบ้านที่มีทักษะด้านภาษาเข้ามาทำงานในประเทศไทย เช่น อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ เป็นต้น ผมในฐานะเจ้ากระทรวงแรงงาน ยืนยันว่าจะไม่ยอมให้มีการนำเข้าแรงงานจากต่างประเทศเพื่อมาทำงานในภาคการท่องเที่ยว เนื่องจากยังมีน้องๆ ที่ยังไม่มีงานทำอีกหลายแสนตำแหน่ง ต้องนำน้องๆ กลุ่มนี้บรรจุเข้าไปให้ครบก่อน โดยในไตรมาสแรกของปี 2567 เราจะต้องป้อนแรงงานเข้าสู่ภาคการท่องเที่ยวให้มากที่สุด เพื่อรองรับนโยบายการท่องเที่ยวของรัฐบาลที่ตั้งเป้าว่าปีหน้าจะต้องมีนักท่องเที่ยวมาเยือนประเทศไทยไม่น้อยกว่า 40 ล้านคน เพื่อให้ตัวเลขกลับไปเท่ากับเมื่อปี 2562 ซึ่งจะทำให้มีรายได้จากการท่องเที่ยวและกีฬาไม่น้อยกว่า 3,000,000 ล้านบาท”

ทั้งนี้ เข้าใจมุมมองของคนรุ่นใหม่ที่มีศักยภาพในการทำงานอย่างหลากหลาย บางส่วนไม่ต้องการเข้าสู่ระบบแรงงาน หรือการทำงานประจำ แต่มีความชอบในอาชีพอิสระที่ไม่มีนายจ้าง ส่วนนี้ทางกระทรวงแรงงานก็พร้อมเข้าไปดูแลในการให้คำแนะนำและพัฒนาทักษะในการประกอบอาชีพอิสระ เพื่อมีรายได้มาสู่ตัวเองและครอบครัว อย่างไรก็ตาม สปส.มีนโยบายรองรับสำหรับผู้ประกอบอาชีพอิสระที่ไม่มีนายจ้างไม่ได้อยู่ในระบบการจ้างงานแรงงาน การเป็นพนักงานบริษัท หรือเข้าใจง่ายๆ ก็คือ เป็นบุคคลที่ทำงานอาชีพอิสระ สามารถสมัครเป็นผู้ประกันตนในมาตรา 40 ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกันสังคม พ.ศ.2533 มี 3 ทางเลือกจ่ายเงินสมทบตั้งแต่ 70 บาท, 100 บาท และ 300 บาท กรณีที่มีการรักษาพยาบาลสามารถใช้สิทธิตามระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือบัตรทอง ในการรักษาความเจ็บป่วย จากนั้นจะได้รับสิทธิประโยชน์การขาดรายได้จากมาตรา 40 เช่น การเบิกเงินทดแทนการขาดรายได้ เมื่ออายุครบ 60 ปี สามารถรับเงินบำเหน็จชราภาพไปจนถึงกรณีเสียชีวิต ทายาทก็จะได้รับเงินค่าทำศพรายละ 50,000 บาท

⦁ นโยบายที่จะเข้าดูแลแรงงานกลุ่มที่อยู่ในวัยใกล้เกษียณ

อย่างไรก็ตาม นอกจากเด็กจบใหม่แล้ว ยังมีกลุ่มผู้ที่อยู่ในวัยใกล้เกษียณ ได้หารือร่วมกับข้าราชการกระทรวงแรงงานถึงเรื่องนี้ค่อนข้างตกผลึกว่า ในปี 2567 นี้ จะมีการขยายฐานอายุวัยเกษียณของผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม จากอายุ 55 เป็น 60 ปี เพราะวันนี้ คนในกลุ่มนี้ยังมีร่างกายที่แข็งแรง มีสมองที่สามารถทำงานได้อย่างสมบูรณ์อยู่ ฉะนั้น ไม่ควรปล่อยให้พลังส่วนนี้ออกไปให้เป็นคนว่างงานเร็วนัก เนื่องจากปัจจุบันนี้ อัตราการเกิดใหม่และการเสียชีวิตไม่สมดุลกัน กลับกลายเป็นการเสียชีวิตสูงกว่าการเกิดใหม่ จึงเป็นสาเหตุสำคัญที่ต้องรักษาแรงงานกลุ่มนี้ไว้ให้นานที่สุด เพื่อรอ
นโยบายกระตุ้นการมีบุตรของรัฐบาล ส่งเสริมให้คนรุ่นใหม่มีบุตรมากขึ้น เพื่อขยายฐานจำนวนประชากรของประเทศ

“เข้าใจดีว่าการดูแลบุตรในวันนี้มีค่าใช้จ่ายมากกว่าในอดีตมาก ต้นทุนทางสังคมสูง ทำให้หนุ่มสาวรุ่นใหม่คำนึงถึงค่าใช้จ่ายในการดูแลบุตรเป็นสำคัญ เป็นปัจจัยที่น่าเป็นห่วง ฉะนั้น ผู้นำรัฐบาลจะต้องมาดูแลเรื่องการส่งเสริมให้มีประชากรเกิดใหม่เพิ่มขึ้น เพราะไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ขึ้นชื่อว่ามีการคุมกำเนิดดีที่สุดในโลก แต่วันนี้เรากำลังขาดประชากร”

สำหรับกลุ่มผู้ที่เกษียณอายุแล้ว แต่ยังมีพลังกาย พลังใจมาก จำเป็นอย่างยิ่งที่รัฐบาลจะเข้าไปส่งเสริมให้คนกลุ่มนี้มีกิจกรรม หรือมีรายได้ตามความเหมาะสมกับศักยภาพของร่างกาย สร้างคุณค่าทางจิตใจ ป้องกันความคิดว่าคนวัยเกษียณเสมือนเป็นบุคคลไร้ความสามารถ เช่น ลดเวลาทำงานให้น้อยกว่า 8 ชั่วโมง ซึ่งได้รับค่าตอบแทนตามเวลาทำงานอย่างเหมาะสม

ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ กระทรวงแรงงานจะต้องเป็นสารตั้งต้นในการผลิตกำลังแรงงานสำคัญของประเทศ ซึ่งมีทั้งส่วนที่ดำเนินการได้ภายในกระทรวงแรงงานเอง ไปจนถึงการสร้างความร่วมมือกับกระทรวงหรือหน่วยงานภายนอกอื่นๆ เพื่อให้ ‘ประเทศไทย’ ก้าวผ่านความท้าทายในตลาดแรงงาน และเป็นประเทศผลิตแรงงานฝีมืออันดับต้นๆ ของโลกให้ได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image