เปิดโรดแมป เดินหน้าแก้ไข รธน. วางกติกาประเทศ

เปิดโรดแมป
เดินหน้าแก้ไข รธน. วางกติกาประเทศ

หมายเหตุ นายนิกร จำนง กรรมการและโฆษกคณะกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางในการทำประชามติเพื่อแก้ไขปัญหาความเห็นที่แตกต่างในเรื่องรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 และนายวุฒิสาร ตันไชย ประธานคณะอนุกรรมการศึกษาแนวทางทำประชามติให้สอดคล้องกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ของคณะกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางในการทำประชามติ เพื่อแก้ไขปัญหาความเห็นที่แตกต่างในเรื่องรัฐธรรมนูญ 2560 เผยถึงแนวทางและความคืบหน้าการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของรัฐบาล

⦁ ประเมินภาพรวมและแนวทางการดำเนินงานของคณะกรรมการศึกษาแนวทางการทำประชามติ เพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างไร

ภาพรวมการทำงานที่ผ่านมาของคณะกรรมการชุดนี้ ถือว่าทำงานได้สำเร็จตามระยะเวลาที่กำหนด โดยขณะนี้มีข้อสรุปพร้อมที่จะส่งให้กับคณะรัฐมนตรี (ครม.) หากพูดในเชิงลึกก็ถือว่าเป็นที่น่าพอใจ เราได้สอบถามประชาชนกลุ่มเป้าหมาย อาทิ กลุ่มคนรุ่นใหม่ กลุ่มสาขาอาชีพ กลุ่มความหลากหลายทางเพศ กลุ่มคนพิการ กลุ่มมุสลิม กลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มผู้ใช้แรงงาน กลุ่มเกษตรกรในพื้นที่ทั้ง 4 ภาคของประเทศ สมาชิกรัฐสภา รวมถึงความเห็นที่แตกต่างจากพรรคก้าวไกล (ก.ก.) ซึ่งถือว่าครอบคลุมทุกมิติ โดยความเห็นของประชาชนที่มีต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น เขามองในจุดที่สัมพันธ์กับตัวเขา อย่างในภาคอีสาน ที่ จ.สกลนคร ประชาชนไม่เห็นด้วยกับการทำเหมืองโพแทช เขาก็ถามว่ารัฐธรรมนูญมีอำนาจในการดูแลเรื่องนี้หรือไม่ เราก็ชี้ว่ามี ด้านกลุ่มพี่น้องมุสลิมขอให้เคารพในอัตลักษณ์ที่ต่างกัน กลุ่มชาติพันธุ์ขอให้มีการรับรองสิทธิ เพราะเขามองว่าตัวเองเป็นคนไทยเช่นกัน ส่วนกลุ่มผู้ใช้แรงงานขอเรื่องสิทธิการลาคลอดและการลาป่วย ดังนั้นสรุปได้ว่าประชาชนสนใจรัฐธรรมนูญในเรื่องที่เกี่ยวกับเขา ดังนั้นเราต้องอธิบายว่ารัฐธรรมนูญคือสิ่งที่กำหนดเรื่องราวของทุกคน โดยเฉพาะเรื่องสิทธิและหน้าที่ต่างๆ คำตอบที่ได้มานั้น สามารถทำให้เราเห็นปัญหาของประชาชนที่เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ เราพบว่าถ้าไปพูดคุยกับประชาชน โอกาสที่เขาจะมาออกเสียงในประชามติจะยิ่งมีมาก และยังสามารถวิเคราะห์ทิศทางโหวตของกลุ่มสมาชิกรัฐสภา นอกจากนี้ เรายังสรุปในเรื่องของคำถามประชามติว่าควรจะตั้งคำถามอย่างไร โดยสรุปว่าจะต้องเป็นคำถามที่แคบและเข้าใจง่าย ส่วนการออกแบบสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ได้มีตุ๊กตาต้นแบบเพื่อที่จะเสนอไปยัง ครม.แล้ว หากทำประชามติผ่านรอบแรกผ่านแล้ว จะมีการยกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 ดังนั้น ผลลัพธ์ถือว่าครบหมดเป็นที่น่าพอใจ

Advertisement

ส่วนที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ถึงคำถามประชามติรอบแรก ว่าเป็นการมัดมือชกประชาชนในเรื่องของการไม่แก้ไขหมวด 1 และหมวด 2 นั้น เราพยายามพิจารณาแล้ว มีผู้เสนอว่าการแก้ไขหมวด 1 และหมวด 2 จะเป็นการสร้างความขัดแย้งหรือไม่ ซึ่งคิดว่า ถ้ามีการแก้ไขจะทำให้เกิดความขัดแย้ง และเป็นแนวคิดของรัฐบาลที่มีนโยบายว่าจะจัดทำรัฐธรรมนูญที่มีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น เพื่อแก้ไขความเห็นต่าง โดยไม่แก้ไขหมวดที่เกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์ เพราะเราเห็นว่ามีความขัดแย้งในเรื่องเกี่ยวกับมาตรา 112 ดังนั้น ทุกพรรคการเมืองที่มาร่วมรัฐบาล จึงเห็นพ้องกันหมดว่าต้องไม่แก้หมวด 1 และหมวด 2 จึงเป็นความชอบธรรมของรัฐบาลที่จะตั้งคำถามประชามติแบบนี้ เพราะเป็นส่วนหนึ่งของคำมั่นสัญญาต่อประชาชน ดังนั้นจะไปโทษรัฐบาลไม่ได้ รัฐบาลมีสิทธิที่จะยืนหยัดในจุดนี้ เพราะอย่างพรรคฝ่ายค้านเดิม เคยเสนอในสภาชุดที่แล้ว 3-4 ครั้ง ก็ไม่เคยผ่าน ดังนั้นการเว้นส่วนนี้ไว้จะทำให้ความขัดแย้งไม่มีเพิ่มมากขึ้น หากเกิดวิกฤตรัฐธรรมนูญขึ้นมาก็ไม่คุ้ม

ส่วนข้อวิจารณ์ต่อคณะกรรมการชุดนี้ที่ยังไม่เคาะสูตร ส.ส.ร. แม้จะทำงานมาแล้ว 3 เดือน ต้องขอชี้แจงว่า เดิมเราจะตั้งคำถามพ่วงแยกเป็น 2 คำถาม คือ 1.เห็นด้วยหรือไม่ในการไม่แก้หมวด 1 และหมวด 2 2.เห็นด้วยหรือไม่ที่จะให้มี ส.ส.ร.ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ แต่ปรากฏว่ามีความเห็นแย้งขึ้นมาว่าจะมีปัญหากับรัฐธรรมนูญมาตรา 166 ตรงนี้ยังมีจุดแตกหักว่าหากทำประชามติต้องไม่ขัดกับรัฐธรรมนูญ ดังนั้นถ้าเราจะตั้งคำถามประชามติเกี่ยวกับการให้มี ส.ส.ร. แต่รัฐธรรมนูญปัจจุบันยังไม่มีการระบุถึงการให้มี ส.ส.ร. ก็กลัวว่าจะถูกร้องว่าออกคำถามประชามติขัดรัฐธรรมนูญ เราจึงดึงไว้เพื่อถามประชาชนก่อนว่าประชาชนจะให้แก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่ แล้วค่อยไปว่ากันในขั้นตอนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 ว่าจะให้ ส.ส.ร.มีรูปแบบและที่มาอย่างไร ซึ่งได้ร่างไว้ส่วนหนึ่งแล้ว

⦁ ส่วนการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับเป็นไปได้หรือไม่

Advertisement

ตอนนี้เราได้ส่งข้อสรุปไปยัง ครม.แล้ว และปัญหาภายในพรรคร่วมรัฐบาลก็ไม่มีแล้ว หากผ่านประตูด่านแรกไปได้ เราก็สามารถแก้ได้ทั้งฉบับโดยเว้นหมวด 1 และหมวด 2 ยืนยันว่าไม่ใช่การหมกเม็ด เป็นการเดินด้วยความเร็วที่ไม่เร็วนัก แต่เดินด้วยความระมัดระวังเพื่อไปสู่เป้าหมาย คิดว่าเสร็จได้ทันตามเป้าหมายที่รัฐบาลได้ตั้งไว้คือ 3 ปีกว่าๆ และต้องทำกฎหมายลูกอีก 10 กว่าฉบับ น่าจะเสร็จพอดีภายในอายุรัฐบาล

ทั้งนี้ ต้องเข้าใจว่าที่ใช้เวลานาน เพราะการทำประชามติแต่ละครั้งใช้เวลาอย่างน้อย 90 วัน แต่ต้องไม่เกิน 120 วัน ดังนั้นหากทำ 3 ครั้ง ก็ใช้เวลา 300 กว่าวันแล้ว หากมี ส.ส.ร. กว่าจะรับสมัครและเลือกตั้ง ก็ใช้เวลา 5-6 เดือน และยังต้องตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ขึ้นมายกร่าง ซึ่งก็ต้องใช้เวลาอีกหลายเดือน กว่าจะฟังความเห็นของประชาชนให้ครบทุกกลุ่มก็ต้องใช้เวลาอีกเป็นปี จึงคิดว่ากระบวนการไม่เร็วและไม่ช้าเกินไป ถ้าวิ่งเร็วๆ จะสะดุดหกล้ม ต้องเดินไม่เร็วมากเกินไป แต่เป้าหมายชัดเจน เพราะมีกับระเบิดอยู่ตลอดทางคือเรื่องของกฎหมาย

⦁ เมื่อถามว่าจะให้ ส.ส.ร.มาจากการเลือกตั้งทั้งหมดได้หรือไม่

ต้องอยู่ที่ ครม.ว่าจะเป็นผู้เสนอหรือไม่ และเป็นเรื่องของรัฐสภาในชั้น กมธ. แต่จากที่ไปรับฟังความคิดเห็นมา เราได้ทำตุ๊กตาให้ ครม.ว่าการใช้สูตร ส.ส.ร แบบรัฐธรรมนูญฉบับปี’40 ที่มาจากการเลือกตั้งทางอ้อมคงไม่เวิร์ก โดยเราเสนอสูตรให้เลือกตั้งจังหวัดละ 1 คน นักวิชาการ และผู้ชำนาญการกฎหมายมหาชน 23 คน ส่วนอีก 10 คน ให้คัดเลือกจากกลุ่มประชาชนที่มีความหลากหลาย อาทิ สัดส่วนเยาวชนคนรุ่นใหม่ 2 คน กลุ่มสตรี 2 คน กลุ่มผู้สูงวัย 2 คน และกลุ่มผู้พิการ 2 คน และเราจะเพิ่มกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศอีก 2 คน โดยจะให้ประชาชนเป็นผู้เสนอชื่อมา แล้วให้รัฐสภาที่มาจากประชาชนเป็นผู้เลือก ซึ่งสาเหตุที่ไม่ให้มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด เพราะเกรงว่าคนเหล่านี้ก็จะไม่ได้รับการเลือกตั้งเข้ามา และศาลรัฐธรรมนูญเคยมีคำวินิจฉัยว่า รัฐสภาต้องเป็นผู้แก้ไขรัฐธรรมนูญ หาก ส.ส.ร.มีอำนาจเต็มในตัวเอง ก็จะขัดคำวินิจฉัยของศาล ดังนั้นการตั้ง ส.ส.ร.ต้องเริ่มจากรัฐสภาไม่ใช่รัฐบาล

ส่วนข้อกังวลที่ว่าหาก ส.ส.ร.ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด อาจมีการแต่งตั้งให้คนเข้าไปสอดไส้กลไกบางอย่างในรัฐธรรมนูญนั้น อยากให้ย้อนดูว่าในรัฐธรรมนูญฉบับปี’40 ส.ส.ร.มาจากการแต่งตั้งด้วยซ้ำ แต่ก็ออกแบบรัฐธรรมนูญออกมาให้ดีได้ หากไม่อยากกังวลก็ต้องไม่แก้เลย ดังนั้นเราต้องพยายามปิดช่องว่างให้ได้มากที่สุด ย้ำว่าการแก้รัฐธรรมนูญทำให้สำเร็จได้ แต่หากเราทำตามใจตัวเอง เอาที่สบายใจคนเดียว ก็ไม่มีทางสำเร็จ

⦁ ในฐานะหนึ่งในกรรมการชุดนี้ จะทำให้ประชาชนมั่นใจได้อย่างไรว่าการแก้รัฐธรรมนูญครั้งนี้ จะได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนจริงๆ ไม่ใช่กลไกเพื่อเอื้ออะไรบางอย่าง

ต้องทำให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ ให้ประชาชนมีส่วนร่วมมากที่สุด ไม่ว่าอย่างไรก็ต้องทำให้เป็นฉบับของประชาชน วิธีการแก้ไขปัญหาคือ 1.ทำให้แก้ไขได้ง่าย 2.ให้ที่มามาจากประชาชน และในอนาคตก็ให้รัฐธรรมนูญเปลี่ยนไปตามสภาพ หากมีปัญหาก็แก้ไป ในอนาคต หมวด 1 และหมวด 2 อาจจะถูกแก้ก็ได้ แต่ไม่ใช่ในคราวนี้แน่นอน

ยืนยันว่ารัฐธรรมนูญที่สมบูรณ์ที่สุดนั้นไม่มี แต่เราต้องทำให้สมบูรณ์มากที่สุดในเวลานี้ เพื่อให้สามารถแก้ไขให้ดียิ่งขึ้นในอนาคต

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image