มุมมอง‘ศุภวุฒิ สายเชื้อ’ ส่องทิศทางขับเคลื่อนปท.

มุมมอง‘ศุภวุฒิ สายเชื้อ’
ส่องทิศทางขับเคลื่อนปท.

หมายเหตุ – ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ นักเศรษฐศาสตร์ชื่อดังซึ่งเคยมีชื่อติดโผคณะรัฐมนตรีมาแล้วหลายรัฐบาลในตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ล่าสุดมารับตำแหน่งประธานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) คนใหม่ ซึ่งคณะรัฐมนตรีเพิ่งลงนามแต่งตั้งไปเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ให้สัมภาษณ์ “มติชน” เกี่ยวกับการมองภาพเศรษฐกิจข้างหน้าว่าควรจะขับเคลื่อนอย่างไร

⦁ตั้งใจทำอะไรบ้างเมื่อรับหน้าที่ประธาน สศช.
เดิมทีเข้าใจว่าเขาอยากให้เป็นกรรมการ โอเคเป็นกรรมการได้ เพราะผมอยากเข้าไปคุยกับบางส่วนที่ผมคุยได้ เช่น การคำนวณ จีดีพี ซึ่งมีการถกเถียงกันมาก ว่าตัวเลขซัพพลายไซซ์กับดีมานด์ไซซ์ ตัวเลขต่างกันมาก คลาดเคลื่อนสูงมาก เราไปช่วยดูได้ไหม ในส่วนตัว
ผมมีแนวคิด และคณะกรรมการชุดนี้ก็มีแนวคิดที่ตรงกับปัญหา

อันแรกคือปัญหาภาคการเกษตร จะต้องปรับปรุง มากๆ หลักการง่ายนิดเดียว ภาคเกษตรผลผลิตเท่ากับ 12% ของจีดีพี แต่ใช้แรงงานตั้ง 30% และใช้พื้นที่ประมาณเกือบ 50% เห็นเลยว่า โอ้โห…มันไม่ใช่ ภาคอุตสาหกรรมเขาจะอีกขาหนึ่ง สัดส่วนเขาจะเป็น 30% ของจีดีพี เขาใช้แรงงานไม่ถึง เขามีประสิทธิภาพสูงกว่า ดังนั้น การจะเพิ่มประสิทธิภาพของภาคเกษตร คิดง่ายๆ เลย ยังไงก็ต้องใช้เทคโนโลยี

Advertisement

⦁ควรทำโซนนิ่งหรือไม่
ผมคิดแบบนักเศรษฐศาสตร์ ตลาดเสรี โซนนิ่งเกิดขึ้นเองจากเทคโนโลยี จากกลไกตลาด อย่างเช่นที่เราพูดถึงโซนนิ่ง ตรงนี้ต้องปลูกข้าว (แต่) ผลผลิตต่ำทำไมยังปลูกข้าวอยู่ คำตอบอันหนึ่งที่เป็นไปได้มาก คือ เพราะคุณมีนโยบาย “ประกันรายได้” ไม่ใช่ “ประกันราคา” เป็นการประกันรายได้ ที่บอกว่าคุณจะปลูกข้าวได้เท่าไหร่ก็ไม่รู้ ราคาได้เท่าไหร่ก็ไม่รู้ แต่ผมประกันรายได้ต่อปี ผมให้เลยไร่ละเท่าไหร่ ปัจจุบันช่วงที่ผ่านมารัฐบาลให้ไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกิน 20 ไร่ หรือครัวเรือนละไม่เกิน 20,000 บาท ซึ่งถ้าเป็นอย่างนี้ทำไมเขาจะหยุดปลูกล่ะ ก็ปลูกไปเถอะ ราคาไม่ว่ากัน ปริมาณก็ไม่ว่ากัน ตอนปลายปีมาบอกว่ามีหลักฐานว่าได้
ปลูกแล้วก็เป็นชาวนา ก็ได้เงินไปเท่านั้นเท่านี้ ถามว่าแบบนี้แก้ง่ายไหม มันแก้ยาก ในเชิงการเมือง เพราะเขาอยากจะให้แบบนี้ แล้วให้มาจากรัฐบาลที่แล้ว อยู่มา 8-9 ปี มันมาจากตอนนั้นที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ไปตั้งราคา “จำนำข้าว” ราคาสูงจนกระทั่งถูกขับไล่ ถูกดำเนินคดี รัฐบาล คสช.เข้ามาก็บอกว่า โอเค ผมไม่มีทางทำอย่างนั้น ผมทำที่ดีกว่าคือจ่ายเงินให้เลย ไม่ผิดกฎหมายด้วย ทำมา 8-9 ปี แล้วจะไปโซนนิ่งได้อย่างไร ชาวนาเขามีรายได้แน่ๆ อยู่แล้ว ฉะนั้นจะไปปฏิรูปการเกษตร โอ้โห ฟังดูแล้วยาก

⦁ในฐานะที่เป็น Think-Thank ของรัฐบาล จะผลักดันให้มีการเปลี่ยนแปลงในเรื่องนี้อย่างไร
ต้องถามว่า ใน ครม.และรัฐมนตรีเกษตรเขาเห็นหรือเปล่า เพราะว่างบประมาณเรื่องนี้ก็เป็นแสนล้านบาท ถามว่างบประมาณที่เพิ่มขึ้นจะทำให้ผลผลิตมากขึ้นไหม ให้เขาใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ ไหม ดูในหลักการแล้ว ไม่ ฉะนั้น ถามผมจะทำยังไง ผมก็ต้องบอกว่าในหลักการต้องใส่เทคโนโลยีใหม่เข้าไป ในบริบทนี้มันใส่ง่ายไหม ใส่ไม่ง่ายแน่นอน จริงไหม

⦁เท่ากับมองไม่เห็นแสงสว่างเลย
แสงสว่างมันจะมาตรงที่ หวังว่าจะมีเกษตรกรกลุ่มหนึ่งที่เป็นคนรุ่นใหม่แล้วเขาจะต้องไปทำ เขาจะต้องใช้พื้นที่ให้ได้ผลผลิต ได้ประสิทธิผลสูงมากเพิ่มมูลค่าที่สูงมาก

Advertisement

⦁การที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีเดินทางไปฝรั่งเศส เห็นซุปเปอร์มาร์เก็ตมีผักสวนครัวของเมืองไทย แต่มีปัญหาเรื่องสารเคมีซึ่งเป็นปัญหากับการส่งออกเกี่ยวข้องกับภาคเกษตรโดยตรง จะทำอย่างไร
พูดง่ายๆ ต้องทำอะไรที่ออร์แกนิค และไม่ให้มีการใช้ยาฆ่าแมลง ต้องใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ อีกภาพใหญ่คือภาวะโลกร้อน น้ำมีไม่พอ บังคับให้เราต้องใช้เทคโนโลยี พอพูดถึงเทคโนโลยี คนจะคิดว่ามันลอยๆ ในคณะกรรมการ สศช.ก็มีคนที่รู้เรื่องเทคโนโลยีด้านการเกษตรอยู่ในนั้น เช่น ดร.รัสรินทร์ ชินโชติธีรนันท์ เจ้าของบริษัท ListenField Thailand จำกัด เขาใช้เทคโนโลยีทำให้การปลูกข้าว ข้าวโพดหวานได้ผลผลิตเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่เราไม่เคยรู้มาก่อน เช่น การสแกนดิน เขาจะเก็บดินไปวิเคราะห์ร่วมกับบริษัทที่เนเธอร์แลนด์ แล้วเอาข้อมูลนั้นมาทำเป็นแบบจำลองใส่ไปในสแกนเนอร์ แล้วเอาสแกนเนอร์ไปจิ้มหน้าดิน มันจะวิเคราะห์ได้ทันทีว่าดินเป็นอย่างไร ไม่ต้องไปทำ 3-4 ขั้นตอน คือเริ่มจากดินก่อน พอจากดินแล้วจะมีระบบที่เรียกว่า multi special vitual คือ การถ่ายภาพจากดาวเทียมลงมาบนที่นาตรงที่ที่เราจะเพาะปลูก ซึ่งเทคโนโลยีนี้มันไม่ได้ดูแบบตาคน แต่สามารถดูว่าพืชชนิดโตขึ้นแค่ไหน ถ้าพระอาทิตย์อยู่ทางนี้แล้วดาวเทียมอยู่ตรงนี้ ก็จะมีเงาแล้วคำนวณได้ว่าเงาอย่างนี้ เวลาเท่านี้ ต้นไม้จะสูงแค่ไหน แล้วดูสีของใบ ใช้ข้อมูลตรงนี้คำนวณได้ว่าต้นไม้จะโตมากน้อย ตรงไหนน้ำน้อยเกินไป ตรงไหนน้ำมากเกินไป เราไม่ต้องไปเดินดูเอง ถ้าจะไปเดินดูก็ไปเดินดูเฉพาะบางพื้นที่ที่มีปัญหา หรือเอาโดรนบินขึ้นไปดูก็ได้ นี่คือเทคโนโลยีที่ผมว่า นอกจากนั้น เทคโนโลยีจะรู้ว่าพืชชนิดนี้ควรจะเก็บเกี่ยวเมื่อไหร่ แล้วเก็บเกี่ยวได้ผลผลิตเท่าไหร่ โดยคุณนั่งอยู่แล้วใช้มือถือ ซึ่งดูเหมือนเทคโนโลยีนี้ไม่ใช่ชาวนารายย่อย แต่เป็นบริษัทขนาดใหญ่พร้อมจะทำ

⦁ชาวนาสูญพันธุ์
ไม่สูญพันธุ์ ชาวนาที่ผลิต ที่ปลูกก็ปลูกให้กับบริษัทพวกนี้ เขาจะทำเป็นคอนแทร็กต์ ฟาร์มมิ่งก็ได้ ทางบริษัทมีเทคโนโลยีนี้ให้คุณเอาไปใช้ก็ได้ ต้องจ่ายค่าเทคโนโลยี ในหลักการถ้าจ่ายแล้วคุ้มค่า ทำไมจะไม่จ่าย ญี่ปุ่นเขาให้ความสำคัญเรื่องนี้มาก เทคโนโลยีมีแล้วกำลังพัฒนา ทุกอย่างโครงสร้างเหมือนเดิมหมดแต่อยู่ๆ ต้นทุนลดลง ปุ๋ยไม่ต้องใช้เยอะเหมือนแต่ก่อน และยังรู้ด้วยว่าผลผลิตจะได้เท่าไหร่ จะขายของได้เท่าไหร่ ก็ไปหาตลาดมาให้แมตช์กัน สิ่งเหล่านี้จะทำให้ผลผลิตต่อไร่สูงขึ้น และสบายด้วยเพราะมอนิเตอร์จากมือถือได้ แต่เรื่องนี้รายย่อยเชื่อไหม เขาไม่ทำหรอก เพราะเขายังไม่กล้า แต่ถ้าเห็นรายใหญ่ทำแล้วได้ผล เดี๋ยวก็ทำตามเอง

⦁นอกจากภาคเกษตรกรรมแล้วในภาคอุตสาหกรรมต้องมีอะไรบ้าง
ภาคอุตสาหกรรม ที่ผ่านมาเราเป็นผู้รับเงินลงทุนจากบริษัทข้ามชาติ ให้มาใช้ไทยเป็นฐานการผลิตเพื่อผลิตสินค้าอุตสาหกรรมเพื่อส่งออก เราแทบจะไม่มีแบรนด์ของตัวเอง แล้วส่วนใหญ่เราจะผลิตสินค้าคือรถยนต์ เราภูมิใจว่า เราเป็นดีทรอยต์แห่งเอเชีย แต่จริงๆ แล้ว เราคือผู้ผลิตชิ้นส่วนเป็นหลัก เพราะรถสันดาปภายในใช้ชิ้นส่วนเยอะ แล้วบริษัทใหญ่ๆ มาตั้งโรงงานประกอบรถยนต์ที่เมืองไทย ซึ่งรถยนต์สันดาปภายในมีชิ้นส่วนเยอะมาก 2,000 กว่าชิ้น เลยเป็นคลัสเตอร์ที่ใหญ่ เป็นอุตสาหกรรมที่ใหญ่มาก แต่บริษัทชิ้นส่วนพวกนี้โดนกดหนัก ขายชิ้นส่วนให้โตโยต้า หรือ นิสสันเท่านั้น ขายคนอื่นไม่ได้ ฉะนั้นถ้าเกิดเซอร์เคิลมันไม่ดี คุณก็รับความเสี่ยงไปด้วย

มาถึงตอนนี้ก็โดน disrupt หนัก เพราะรถอีวีกำลังมา ชิ้นส่วนของรถอีวีที่เป็น drive chain จาก 2,000 ชิ้น กลายเป็นเหลือ 20 กว่าชิ้น ฉะนั้นจึงถูกดาวน์ไซซ์หมดเลย ไม่ว่ายังไงก็ถูกดาวน์ไซซ์ ฉะนั้น ตรงนี้ต้องกลับเปลี่ยนใหม่ ปัญหาที่มีคือ 1.สมมุติว่าคุณอยากจะผลิตแบตเตอรี่ ปัญหาคือ auto made หมด มันไม่ได้สร้างงานเท่าไหร่ 2.มีปัญหาว่าประชากรเราอายุน้อย คนเกิดใหม่ปีละแค่ 500,000 คน แต่ก่อนปีละ 1 ล้านคน คุณก็ไม่มีแรงงานให้อยู่ดี ฉะนั้น ตรงนี้ต้องถามตัวเองจริงๆ ว่าธุรกิจทางด้าน manufactory จะเดินยังไง ภายใต้เงื่อนไขที่ว่าอุตสาหกรรมที่เราเคยพึ่งพิงเป็นหลักโดนดิสรัปต์

ด้านเซมิคอนดักเตอร์ ทั้งต้นน้ำและปลายน้ำ ต้นน้ำ-การทำพวกซิลิก้าต่างๆ เราไม่มี กลางน้ำ-ผลิตตัวชิปเอง เราทำไม่ได้ แต่ตรงปลายน้ำ packaging testing ก็สำคัญแล้วเราทำได้ แล้วเรื่องนี้กลายเป็นตัวที่ฮอตมากตอนนี้ assembly testing packaging สำคัญมาก เพราะว่าเขาทำชิปกันเล็กเสียจนเหลือ 2-3 นาโนมิเตอร์แล้ว จะเพิ่มประสิทธิภาพตรงนี้ไม่ได้อีกแล้ว ฉะนั้น การจะเพิ่มตัวเซอร์กิตบอร์ด ต้องมาเน้นตรงทำ assembly testing packaging ซึ่งเราทำตรงนี้ได้ แต่จะทำได้ต้องรู้ว่ากำลังคนต้องมี ต้องมีคนที่มีความรู้ ไม่ใช่งานแบบแต่ก่อน ต้องใช้เทคโนโลยีที่สูงมาก เราจะพัฒนาทรัพยากรมาตอบโจทย์ตรงนี้ได้หรือไม่ เราจะทำอะไรให้มีปัจจัยที่ทำให้บริษัทพวกนี้โอเคกับเรา จะได้เอาเงินมาลงทุน เขาพร้อมแน่ แต่เราพร้อมหรือเปล่า

⦁ถ้ามองอย่างนี้เรื่องโนฮาวสำคัญ เมื่อไหร่เราจะมี R&D ทำเองสร้างเอง
ด้าน manufacturing ยาก ไม่มีทาง เพราะตรงนี้ไปไกลมากแล้ว จีนเขาก็รู้ เขาเลยทำอีวีเลยกระโดดข้ามเทคโนโลยีไปเลย ตรงนี้เราจะไปทำอะไรได้ผมเองยังนึกไม่ออก ทำยังไงถึงจะเปลี่ยนสินค้าอุตสาหกรรมให้ต้นทุนเปอร์ยูนิตต่ำ ฉะนั้น ภาคอุตสาหกรรมยากมากที่เราจะทำอะไรได้ ไต้หวันเขาถึงเน้นความเก่ง ตั้งใจทำ
เซมิคอนดักเตอร์อย่างเดียว แล้วขายไปสู่ตลาดโลก เรามีแผนจะทำตรงนี้ชัดเจนไหม

⦁ตีความได้ไหมว่าความหวังในอนาคตอยู่ที่แค่ภาคการเกษตร
ไม่ใช่ ภาคเกษตรควรจะทำให้มีประสิทธิภาพสูงกว่านี้อยู่แล้ว เพราะประสิทธิภาพของเราไม่ดีขึ้นเลยในรอบหลายสิบปีที่ผ่านมา ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมมีความต้องการอยู่ แต่เป็นแบบเล็กๆ แต่อย่าลืมภาคบริการ เรายังทำได้ดีกว่านี้อีกเยอะมาก ทุกวันนี้ประสิทธิภาพภาคบริการเรายังไม่ได้สูง ภาคบริการผมไม่ได้คิดแค่ท่องเที่ยว อย่างปัจจุบัน แต่ต้องทำให้การท่องเที่ยวเรามีค่าใช้จ่ายต่อคนสูงขึ้น ถามว่าทำยังไง ต้องเน้นพวกเฮลธ์แคร์ อาหารคุณภาพ คนมากิน มาดูแลรักษาสุขภาพตัวเอง มาพักฟื้น ต้องให้เป็นเวลเนสเซ็นเตอร์ ซึ่งจะทำให้รู้ว่าคุณต้องทำอะไร นโยบายต้องให้ความสำคัญอะไร

⦁สภาพแวดล้อมของไทยมีมลพิษสูง
ถึงต้องมียุทธศาสตร์ก่อน แต่แผนยุทธศาสตร์ 20 ปี โห…ไม่รู้เลยยุทธศาสตร์จริงๆ คืออะไร แต่ที่ผมพูดนี่เป็นยุทธศาสตร์เลยนะ ภาคบริการคุณต้องอัพเกรดตัวเอง คุณต้องไปแก้ PM2.5 หาทางให้กระทรวงการต่างประเทศไปคุยกับประเทศเพื่อนบ้านให้ได้ ยุทธศาสตร์ที่ต้องรู้ว่าต้องทำอะไรก่อนอะไรหลัง อะไรสำคัญสูงสุด ทุ่มเททรัพยากรลงไป เราจะเป็นอะไรในอนาคตข้างหน้า เราจะหากินอะไรใน 10-20 ปีข้างหน้า เราจะให้บริการการท่องเที่ยวและเวลเนส มันชัด เราจะได้ทุ่มเททรัพยากร ทุ่มเทงบประมาณลงไป พอรู้ว่าจะไปทางไหน ก็จะรู้ว่าต้องทำอะไร แนวทางก็ชัดขึ้นมา

ที่จริงหน้าที่ในการโน้มน้าวประชาชน หน้าที่ในการขับเคลื่อน เป็นหน้าที่ของนักการเมือง เราเป็นแค่ think thank

⦁ถ้าคิดแล้วแต่นักการเมืองหรือรัฐบาลเขาไม่ทำ
เราก็ไปหาอะไรทำ (หัวเราะ) อย่างที่ผมทำเรื่องสุขภาพ เรื่องผู้สูงอายุ ผมเสนอแนวคิดต่างๆ โดยให้ข้อมูลผู้สูงอายุปรับปรุงตัวเอง มีไลฟ์สไตล์ที่ถูกต้อง คุณจะแข็งแรงจนวันสุดท้ายของชีวิต ชีวิตคุณยาวเท่าไหร่ไม่สน แต่คุณไม่เดี้ยงช่วง 10 ปีสุดท้ายของชีวิตและ
ไม่เป็นภาระสังคม ไม่เป็นภาระของลูกหลาน

ปัญหาใหญ่ของประเทศนี้ คือ การสร้างความสุขของผู้สูงอายุ เพราะว่ากลุ่มประชากรที่จะเพิ่มมากที่สุดในช่วง 20-30ปีข้างหน้าคือผู้ที่อายุ 60 ปีขึ้นไป จะเป็นกลุ่มที่เพิ่มมากที่สุด แล้วกลุ่มผู้สูงอายุนี้ในหลักเศรษฐศาสตร์ต้องแก่แล้วไม่เป็นภาระ ซึ่งตอนนี้กำลังหัวเลี้ยวหัวต่ออยู่ ตอนนี้จำนวนกลุ่มอายุ 60 ปีขึ้นไปมี 12 ล้านคน กลุ่มเด็ก (0-15 ปี) ก็มี 12 ล้านคน ตัวเลขเท่ากัน แต่กลุ่มผู้สูงอายุจะโตขึ้นมาก คืออีก 20 ปีข้างหน้าจะมี 20 ล้านคน ขณะที่กลุ่มเด็กตัวเลขจะไหลลงเรื่อยๆ เพราะคนไม่ยอมมีลูก เพราะฉะนั้น กลุ่มผู้สูงอายุต่อไปจะไม่มีคนเลี้ยงดู ต้องเลี้ยงดูตัวเอง แล้วรัฐบาลจะใส่เงินให้ก็ยากมาก เพราะจำนวนจะเพิ่มขึ้นๆ จำนวนของผู้สูงอายุกลุ่มนี้ที่โต เราจัดการไม่ได้ เป็นโจทย์ใหญ่ รัฐบาลนี้ที่จะอัพเกรดนโยบาย 30 บาท ผมเห็นด้วยอย่างมาก เป็นเรื่องสำคัญมาก ต้องทำให้ทุกโรงพยาบาลเชื่อมข้อมูลใช้ดาต้าเบสเดียวกัน เพื่อให้ทุกคนเข้าถึงข้อมูล

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image