“ถ้าเป็นมวย นี่คือยกสี่ ของพรรคเพื่อไทย มีอาวุธเท่าไหร่ต้องใส่ให้หมด จะแพ้ชนะก็ดูที่ยกนี้ ถ้าออกอาวุธได้จะจะ เจ๋งเจ๋ง เชื่อว่า มีโอกาสได้รับการชูมือ”
ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ยืนยันกับ “มติชนออนไลน์” ถึงโอกาสของ “พรรคเพื่อไทย” ในการเลือกตั้งทั่วไปในสมัยหน้า ซึ่งมีเป้าหมายอยู่ที่ 200 เก้าอี้
ทั้งยังเป็น 200 เก้าอี้ในสถานการณ์ ที่ พรรคเพื่อไทย แม้จะเป็นแกนนำรัฐบาล กุมอำนาจรัฐ แต่ทว่า การขับเคลื่อนนโยบายต่างๆ เพื่อฟื้นฟูพลังทางการเมืองของตัวเอง ถือว่า ยังทำได้ไม่เต็มที่นักด้วย
โดยเฉพาะ นโยบายทางการเมือง ไม่ว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญ รวมถึง วาระของคนเสื้อแดง อย่างการทวงคืนความยุติธรรมให้กับผู้สูญเสียในเหตุการณ์สลายทางการชุมนุมเมื่อปี 2553
ท่ามกลางสถานการณ์ที่มี “เงื่อนไข” ขึ้นมาท้าทายพรรคเพื่อไทยอยู่ตลอด
อย่างล่าสุด ภายหลังจบศึกเลือกตั้ง “นายกอบจ.” ที่ “พรรคภูมิใจไทย” รวมถึง “เครือข่ายสีน้ำเงิน” กลายเป็นผู้เล่นใน “ขั้วอนุรักษ์นิยม” ที่ขึ้นมามีบทบาทโดดเด่น แซงหน้ากลุ่มอื่นๆ
ฉะนั้น เป้าหมายนี้ สำหรับพรรคเพื่อไทย จะสำเร็จหรือไม่ ยังเป็นเครื่องหมายคำถาม ? แต่รูปธรรมที่ชัดเจน ระหว่างทางก่อนนำไปสู่การเลือกตั้งทั่วไปครั้งหน้าปี 2570 ของพรรคเพื่อไทย
นั่นคือ การกลับมารับตำแหน่งทางการเมืองของ “ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ”
แน่นอน การกลับรอบนี้ ไม่เพียงรับบทเป็น กุนซือนายกฯแพรทองธาร ชินวัตร เท่านั้น แต่ยังเป็นผู้ติดสอยห้อยตาม อดีตนายกฯทักษิณ ชินวัตร ลงไปฟื้นฟูฐานเสียงเดิมๆของพรรคเพื่อไทยด้วย
ดังนั้น เวลาอีก 2 ปีนิดๆ ก่อนจะถึงปี 2570 พรรคเพื่อไทย จะเตรียมพร้อม กับสถานการณ์ที่เป็นอยู่นี้อย่างไร
ทั้งหมดจากคือทัศนะ ที่ “ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ” สนทนากับเรา
• ยังยืนยันเรื่อง สามก๊กทางการเมือง ?
ในภาพใหญ่การเมือง ความเป็นสามก๊กมันชัดเจนมากขึ้น แม้จะมีการถกเถียงแลกเปลี่ยน เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย ไม่ว่ากัน
พอพูดคำว่า 3 ก๊กนี้ คนก็ไปมองถึงเล่าปี่ โจโฉ ซุนกวน วิเคราะห์กันเป็นเรื่องวรรณกรรม ที่จริงไม่ใช่ สำหรับผม 3 ก๊กคือรูปธรรมในการอธิบายสภาพทางการเมืองในขณะนี้ได้ชัดและง่ายที่สุด ซึ่งคนจำนวนหนึ่งรู้สึกว่า มันจับต้องได้ โดยโฟกัสไปที่พลังมวลชนที่สนับสนุน และบทบาทพรรคการเมืองที่กลุ่มพลังนั้นๆสนับสนุน
ไล่เรียงกันมาตั้งแต่ก๊กเพื่อไทย อันนี้ก็ชัดว่า มีกลุ่มพลังมวลชนสนับสนุน ขณะนี้เป็นแกนนำถืออำนาจรัฐอยู่ ก๊กพรรคประชาชน ก๊กนี้ก็จะมีพลังมวลชนเช่นกัน และมีวาระการเมือง ซึ่งก๊กนี้ประกาศว่า เป็นวาระก้าวหน้า เป็นตัวทะลุทะลวง เพื่อสร้างฐานการสนับสนุน
ส่วน ก๊กอนุรักษนิยม คือกลุ่มพรรคร่วมเดิมของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แม้พลังมวลชนน้อยกว่า อีก 2 ก๊กข้างต้น แต่มีพลังแฝง พลังเสริม ประมาทไม่ได้ อาจจะยิ่งใหญ่มโหฬาร หรืออาจจะไม่ยิ่งใหญ่เท่ายุคก่อนๆ แต่ยังคงมีพลังอยู่ และยังต้องดูกันเรื่อยๆ
ซึ่งการปฏิสัมพันธ์ของทั้ง 3 ก๊กนี้ จะมีทั้งหนุนเสริมกัน และเผชิญหน้ากันเอง ไม่ได้ขีดเส้นด้วยการเป็นฝ่ายรัฐบาลหรือฝ่ายค้าน จะเห็นว่าบางเรื่อง เช่น การแก้ไขรัฐธรรมนูญ พรรคแกนนำรัฐบาลและแกนนำฝ่ายค้าน ไปในทางเดียวกัน แต่พรรคร่วมรัฐบาล หรืออาจจะมีพรรคร่วมฝ่ายค้านด้วย ก็อาจไปอีกทางหนึ่ง สภาพมันจะเป็นแบบนี้
• ช่วงนี้ดูกลุ่มอนุรักษ์นิยม เคลื่อนไหวกันคึกคัก ทั้งในและนอกสภาฯ ?
ก็ต้องยอมรับว่า กลุ่มอนุรักษ์นิยม เขามีพลังมวลชนของเขา ดูผลสำรวจความนิยมนักการเมืองแต่ละรอบ จะมีกลุ่มที่สนันสนุนบุคคลที่เป็นตัวแทนของพลังนี้อยู่เสมอ ไม่ไปไหน ก่อนหน้านี้ชัดเจน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หรือแม้แต่ผู้นำพรรคประชาธิปัตย์ในยุคก่อนเป็นต้น เพียงแต่ ณ วันนี้ แม้นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค จะมีพลังนี้สนับสนุนอยู่ แต่ก็ไม่ชัดเจนว่า จะใช่ตัวแทนของพลังนี้ในวันนี้จริงหรือไม่
ดังนั้น เวลานี้กลุ่มอนุรักษ์นิยม จึงยังไม่มีพรรคการเมืองหรือนักการเมือง ที่เป็นตัวแทนแน่ชัด แม้พรรคประชาธิปัตย์ในเวลานี้ จะไม่แข็งแกร่งเหมือนในอดีต แต่พวกเขาก็มีสิทธิจะคิดว่า เขาคือเจ้าของสัมปทานเดิมนี้ ขณะที่พรรคภูมิใจไทยพยายามแสดงออก แล้วที่ผ่านมาก็มีความโดดเด่นขึ้นมา แต่ในที่สุดเรื่องนี้ มันจะชัดเจนแน่นอนก่อนที่การเลือกตั้งจะมาถึง
อย่างที่พูดไป แม้กลุ่มอนุรักษ์นิยม จะมีพลังมวลชนน้อยกว่า ก๊กเพื่อไทย กับก๊กประชาชน แต่พวกเขามีพลังแฝง พลังที่จะส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ทั้งที่คาดการณ์ได้ และคาดการณ์ไม่ได้
ไม่ว่ากรณีการยุบพรรคก้าวไกล และการพ้นจากตำแหน่งนายกฯ ของนายเศรษฐา ทวีสิน ซึ่งเป็นที่มา ทำให้ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ขึ้นมาเป็นนายกฯ เกิดพรรคการเมืองพรรคใหม่ คือพรรคประชาชน แล้วก็ยังมีผลสืบเนื่อง กับอดีตกรรมการบริหาร และ ส.ส.ของพรรคก้าวไกลเดิมอีก 44 คนด้วย ซึ่งล่าสุดมีความเคลื่อนไหวแล้ว แต่ก็ยังไม่ทราบชะตากรรมว่า มันจะเดินไปถึงจุดไหน
ภาพนี้มันทำให้ พรรคเพื่อไทย พรรคก้าวไกล ซึ่งเป็นแกนนำฝ่ายรัฐบาล และแกนนำฝ่ายค้าน ถูกกระทำจากการใช้อำนาจและคำวินิจฉัยขององค์กรอิสระด้วยกันทั้งคู่
ขณะที่ พรรคการเมืองในกลุ่มอนุรักษ์นิยม กลับเป็นพรรคการเมืองที่รอดปลอดภัยจากการใช้อำนาจขององค์กรอิสระ เผชิญคลื่นลม เผชิญมรสุมทางการเมือง ก็เป็นเกมการเมืองภายในพรรค หรือเป็นการเมืองภายในรัฐบาล แต่พลังของพวกเขาที่สะท้อนผ่านมวลชนที่สนับสนุน หรือสะท้อนผ่านกลุ่มเครือข่ายเดิม ที่เป็นกลุ่มก้อนกันอยู่ ยังแสดงออกอยู่เป็นระยะ ว่าพวกเขาก็ยังมีแรง ยังมีตัวตน
• สถานการณ์แบบนี้ ก็จะบีบให้ก๊กต่างๆทำเกมแข่งขันกันเองไปเรื่อย ?
ก็จะเป็นงูกินหางกันแบบนี้ ถือเป็นรูปลักษณ์การเมืองที่ไม่เคยปรากฏขึ้นในสังคมไทย โดยสมการ โดยสถานการณ์ โดยความเป็นจริงทางการเมือง มันจะไปแบบนี้ไปจนถึงการเลือกตั้ง และเมื่อการเลือกตั้งผ่านไปแล้ว รัฐบาลชุดต่อไปมันจะถูกตั้งโดย 2 ใน 3 ก๊กนี้ ความเชื่อของผมคือ จะไม่มีรัฐบาลที่ถูกตั้งด้วยก๊กเดียว ดังนั้น ถ้าหากก๊กไหนก็ตามเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล ต้องจับมือกับ 1 ใน 2 ก๊กที่เหลือ
ดังนั้น เราจะเห็นว่า นอกเหนือจากความเปลี่ยนแปลงที่ผ่านมา ทั้งในขั้วรัฐบาล และในขั้วฝ่ายค้าน เราก็จะเห็นความพยายามทำให้ก๊กของตัวเองเข้มแข็ง สร้างการยอมรับในหมู่ประชาชน
ก๊กพรรคเพื่อไทย ไม่มีทางอื่น นอกจากเร่งสร้างผลงาน ผลักดันนโยบาย ให้เป็นมรรคเป็นผล ให้เกิดผลลัพธ์ โดยตรงต่อประชาชนให้ได้ ขณะที่ ก๊กพรรคประชาชนเขาก็ต้องเร่งสร้างผลงานของเค้าเหมือนกัน มีการเตรียมการที่จะแสดงบทบาทในฐานะพรรคฝ่ายค้าน จุดพลุเรื่องการอภิปรายไม่ไว้วางใจ พยายามในหลายเรื่องที่จะทำให้เห็นว่า การทำงานของรัฐบาลไม่มีความเชื่อมั่น ก๊กฝ่ายอนุรักษ์นิยม เขากำลังพยายามทำงานกันอยู่ ในการขยายฐานการเมืองของฝ่ายตัวเอง
ดังนั้น ผมคิดว่า เราจะเห็นความเข้มข้นในการเร่งทำงานของทั้งสามก๊ก และในความเข้มข้นนี้ มันจะทำให้การเมืองอุณหภูมิสูงขึ้นตามไปด้วย
อย่างที่พูดไปตอนต้น สำหรับพรรคเพื่อไทยเอง ถ้าเป็นมวยไทยก็ขึ้นยกที่สี่แล้ว มีอาวุธเท่าไหร่ต้องใส่ให้หมด จะแพ้ชนะดูที่ยกนี้ ถ้าหากในปีนี้ รัฐบาลออกอาวุธจะจะเจ๋งเจ๋งเข้าตา ปี 2569 ขึ้นยกห้าคุมลูกมวยสวยๆ ในออกอาวุธ ก็มีโอกาส แต่ถ้าหากยกที่สี่ ออกอาวุธไม่ได้ เข้าทำแล้วไม่เข้าเป้า เหนื่อยครับ สำหรับยกหน้า
• พอพรรคร่วมรัฐบาลไม่ได้ร่วมด้วยอุดมการณ์เดียวกัน เพื่อไทยก็ลำบากในการทำนโยบายใช่ไหม?
มันไม่ง่าย อย่าว่าแต่ ก๊กเพื่อไทย กับก๊กประชาชนเลย แม้จัดตั้งรัฐบาลร่วมกันสำเร็จ ก็ใช่ว่า จะทำอะไรสำเร็จได้โดยง่าย อย่าง การแก้ไขรัฐธรรมนูญก็เห็นแล้ว พรรคภูมิใจไทยไม่ร่วมด้วย และบังเอิญว่า เขายังแนบแน่นอยู่กับส.ว.ส่วนใหญ่ ซึ่งส.ว.เหล่านั้นก็บังเอิญไม่เอาด้วย ผลก็อย่างที่เห็น ต้องใช้เวลา และมีแรงเสียดทาน
ภาพทางการเมืองก็จะเป็นไปแบบนี้ ว่ากันเป็นเรื่องๆไป อะไรที่มันเป็นนโยบายของรัฐบาล ชัดๆว่าประชาชนได้ประโยชน์แน่ นัยทางการเมืองไม่แหลมคมนัก พรรคร่วมรัฐบาลก็คงไปทางเดียวกัน เผลอๆบางเรื่อง ฝ่ายค้านก็ต้องเอาด้วย เช่น รัฐบาลดัน พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม พ.ร.บ.สุราชุมชน หรือ บางเรื่อง รัฐบาลไปด้วยกัน ฝ่ายค้านไม่ไปด้วย อย่าง ดิจิทัลวอลเล็ต ก็เชื่อว่าฝ่ายค้าน ถ้าต้องแสดงมติ เขาก็จะแสดงอีกอย่าง
ดังนั้น เข้มข้นครับ เชื่อว่า ทุกฝ่ายจะใส่กันเต็มที่ เพื่อที่จะทำให้เวลาขึ้นยก 5 แต่ละฝ่ายจะคุมเกมให้การชกอยู่ในสไตล์ของตัวเองได้มากที่สุด
• มองว่า บทบาทของทักษิณเป็น ตัวช่วยหรือเป็นสายล่อฟ้าให้เพื่อไทย ?
สายล่อฟ้ามันเป็นคำพูดของคนที่มองสถานะของนายกฯทักษิณในทุกมิติที่เป็นปัญหา คือต่อให้นายกฯทักษิณ อยู่ต่างประเทศ หรืออยู่ที่ไหนก็ตามในโลก ถ้าหากน.ส.แพทองธาร เป็นนายกฯ นายกฯทักษิณก็จะถูกมองเป็นสายล่อฟ้าอยู่ดี เพราะมีคนไม่ชอบเยอะ มีคนไม่ยอมรับพรรคการเมืองที่นายกฯทักษิณตั้งขึ้น เป็นต้น
แต่ถ้ามองอีกมุม ความรู้ความสามารถ ประสบการณ์ เครือข่ายสายสัมพันธ์ในเวทีระดับโลกของ นายกฯทักษิณ เป็นส่วนหนุนเสริมอย่างสำคัญ สำหรับการทำงานของรัฐบาลนี้ในเวลาที่โลกซับซ้อนมากขึ้น
ดังนั้น บทบาทของนายกฯทักษิณ ผมคิดว่า มีทั้งด้านที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ หรือมองว่าเป็นปัญหา แต่ก็มีด้านที่สามารถเป็นจุดแข็งของรัฐบาลได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การแสดงวิสัยทัศน์ในเวทีต่างๆ
ถ้าเราสังเกตจะพบว่า หลายๆส่วนในสังคม เขาติดตาม เขาให้ความสนใจ และมีการวิเคราะห์วิจารณ์ ความเป็นไปได้กันในหลายแง่มุม แบบนี้แสดงว่ามีพลังมีผลกระทบกับสังคม เขาเลยพูดถึง
บทบาทของนายกฯทักษิณจะอยู่สักแค่ไหน มากกว่าที่หลายคนพยายามจะวิเคราะห์กัน ผมก็เชื่อว่า ท่านคงทำสุดความสามารถให้รัฐบาลนี้แก้ปัญหาได้ ให้ประชาชนคนไทย มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น แต่คำว่า สุดความสามารถของท่านจะไม่สุดทางไปจนถึงขนาดว่า เดินล้ำหน้ารัฐบาลหรือนายกฯ
ผมเชื่อว่า ตัวนายกฯทักษิณเองก็จะมีเส้นของตัวเอง จะมีการกำหนดสถานะของตัวเอง ในขณะเดียวกัน นายกฯแพทองธาร ก็มีวิถีทางของตัวเองเหมือนกัน ที่จะแสดงความเป็นผู้นำหรือถือธงนำรัฐบาลในการแก้ปัญหาให้กับประชาชนให้ได้
ที่จริงในทุกองค์กร ในทุกพรรคการเมือง หรือในกองทัพ ถ้ามีคนที่เก่งมากๆ ก่อนที่จะมองว่าเป็นปัญหา มันต้องมองให้เห็นประโยชน์ และมองให้เห็นวิธีการใช้ประโยชน์ก่อน และผมคิดว่า ในเวทีการเมืองไทย ในรอบหลายสิบปีมา จนถึงปัจจุบัน หรืออาจจะอนาคต หาคนศักยภาพเท่านายกฯทักษิณยาก
ในเมื่อพรรคเพื่อไทยมีบุคลากรเช่นนี้ มันต้องมองเห็นโอกาส ต้องมองเห็นจุดแข็ง อะไรที่เป็นข้อจำกัด อะไรที่เป็นอุปสรรค หรืออะไรที่เป็นปัญหา มันก็ต้องมีวิธีจัดการ หรือมีวิธีในการบริหารบทบาท ให้จุดแข็งมันถูกแสดงออกมามากกว่า และเป็นประโยชน์สูงกว่าได้ ถ้าองค์กรไหน กองทัพไหน บริษัทไหน มีคนเก่งมากๆ และมองเห็นแต่ปัญหา ผมว่า เอาจริงๆ องค์กรนั้นแหละ กำลังมีปัญหา
• จะดับไฟในสายล่อฟ้านี้ ยังไงไม่ให้จุดติดจนกระทบรัฐบาล ?
ดับไม่ลงหรอก เรื่องนี้เป็นปกติด้วยซ้ำ สำหรับผู้นำทางการเมืองที่มีคนที่ยังไงก็ไม่ยอมรับ แล้วเรื่องนี้เป็นทุกประเด็น ทุกสังคม ที่ผู้นำทางการเมือง ซึ่งเป็นบุคคลสาธารณะ จะมีคนกลุ่มหนึ่ง จะมากจะน้อยก็ตาม ปฏิเสธบทบาทอยู่เสมอ ไปค้นดูได้
เพียงแต่ของกรณีนายกฯทักษิณ อยู่ในประเทศมีความขัดแย้งทางการเมืองยาวนานมากว่า 20 ปี แล้วความขัดแย้งนี้ยังดำรงอยู่ ตัวละครต่างๆในความขัดแย้งยังไม่ได้ล้มหายตายจากไปไหน ยังอยู่เป็นคนกลุ่มเดิมเสียส่วนใหญ่ มันก็เป็นผลสืบเนื่องมาเท่านั้นเอง
หลายประเทศที่ไม่มีอาการแบบนี้ เพราะยังไม่ได้อยู่ในภาวะขัดแย้งทางการเมือง จนมีการแสดงพลังด้วยการใช้อำนาจนอกระบบ มีการแสดงพลังด้วยวิธีการพิศดารทั้งหลาย นอกกติกาประชาธิปไตย แต่เขาไปสู้กันในระบบ สู้กันในสภา แพ้ชนะ ประชาชนให้การยอมรับใครมากกว่า ก็จบตรงนั้น ดังนั้น ผู้นำการเมืองในประเทศอื่นๆ ที่มีขาประจำ เราจึงเห็นไม่ชัด เพราะว่ามันจบกันในระบบได้
แต่ของประเทศไทยที่เห็นชัด ในระบบก็ว่ากันไป นอกระบบเขาก็ว่าของเขา มันจึงเห็นแบบนี้ไปตลอดทาง แล้วต่อให้เปลี่ยนใครขึ้นมานำ ก็จะมีกลุ่มที่แสดงตัวว่าไม่เอาด้วย เพราะว่ากลไกการเมืองของบ้านเรา ยังเป็นการเมือง 2 สนามอยู่ นั่นคือสนามในระบบ และสนามนอกระบบ ดังนั้น เมื่อเป็นการเมือง 2 สนาม การเมืองในระบบคุณจะไปอย่างไรก็ว่ากันไป
แต่ว่า นอกระบบเขาเล่นของเขา อย่างไม่มีนกหวีดเป่าหมดเวลาเหมือนกัน ก็ยังมีความคิดอ่าน มีความเคลื่อนไหว เพราะเขาเคยเห็นความสำเร็จจากการเคลื่อนไหวในแบบนี้มา มีรัฐประหาร ใช้องค์กรอิสระในการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล เป็นต้น
ซึ่งคงต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง ที่จะทำให้การเมืองในสนามนอกระบบ อ่อนแอลง จนกลุ่มผู้เล่นที่อยู่ในนั้น ไม่เห็นโอกาสที่จะทำประตูได้อีกต่อไป ก็คงมีวิวัฒนาการของมันไป
• ปี 48 เกิดพันธมิตรเสื้อเหลือง นำมาซึ่งรัฐประหารปี 49 ปี 57 ก็สุดซอย ตามด้วย กปปส. และรัฐประหารอีกครั้ง ครั้งนี้จะซ้ำรอยอีกหรือไม่ ?
ผมไม่คิดอย่างนั้น เพราะว่า สังคมไทยบอบช้ำจากความขัดแย้งทางการเมือง และบอบช้ำกับการใช้อำนาจนอกระบบมากจนพอที่จะตั้งสติกันได้แล้ว แน่นอนคนจำนวนหนึ่งคงยังคิดแบบเดิม แต่ผมว่าคนส่วนใหญ่เขาคิดแตกต่างแล้ว เราอยู่ในยุครัฐประหาร และมีรัฐบาลอยู่ต่อเนื่องมาเป็นสิบปี นี่เพิ่งพ้นจากอำนาจคณะรัฐประหารจริงๆได้ไม่นานนัก
ดังนั้น ผมเชื่อว่า คนส่วนใหญ่ยังอยากเห็นกลไกการเลือกตั้ง อยากเห็นระบบรัฐสภา อยากเห็นการเมืองมันต่อสู้ มันเปลี่ยนแปลง มันเดินไปข้างหน้า หรือถอยหลัง หรือแม้กระทั่งหยุดอยู่กับที่ด้วยกลไกที่ประชาชนมีส่วนร่วม และสัมผัสได้
ผมเชื่ออย่างนั้น ไม่ได้หมายความว่า กลุ่มคนที่อยู่ในสนามนอกระบบเขาอ่อนแอหรือขาดศักยภาพ แต่เป็นความเปลี่ยนแปลงพัฒนาการของสังคมที่ทำให้พื้นที่ตรงนั้นอาจจะไม่ได้ทรงพลังแบบสมัยก่อนๆ ประกอบกับ โดยเงื่อนไขทางการเมืองปัจจุบัน เมื่อเป็นการเมืองแบบ 3 ก๊ก ไม่ใช่ 2 ก๊ก เผชิญหน้ากันแบบคราวก่อนๆ การเคลื่อนไหวใดๆก็ตาม มันมีเงื่อนไข มันมีประโยชน์ มันมีโทษ กับใน 3 ก๊กนี้อยู่ทุกกรณี
เช่น สมมติถ้าปีนี้ เกิดม็อบใหญ่ ออกมากดดันรัฐบาล รัฐบาลอยู่ไม่ได้ ต้องยุบสภา แต่ก่อนจะถึงรัฐประหาร ต้องมีการบอยคอตการเลือกตั้งก่อน แล้วคุณว่า เหตุการณ์ตอนนี้มันจะมีใครบอยคอตไหม แล้วถ้ามีการบอยคอต มันจะมีผลเหมือนกับคราวก่อนๆไหม เพราะคราวก่อนๆ พรรคร่วมฝ่ายค้านบอยคอต
ผมว่า ถ้าเกิดรัฐบาลยุบสภา พรรคแกนนำฝ่ายค้านก็พร้อมลงตั้งแต่วันนี้เลย แล้วพรรคแกนนำรัฐบาลในฐานะที่เขาถืออำนาจอยู่แล้ว ยุบสภา คืนอำนาจให้ประชาชน เขาก็ต้องลงเลือกตั้ง มันก็จะเกิดเหตุการณ์ว่า พรรคแกนนำรัฐบาลและพรรคแกนนำฝ่ายค้าน 2 พรรค ซึ่งมีส.ส.ในสภาฯ รวมกันเกือบ 300 ที่นั่ง ลงเลือกตั้งพรรคที่คิดจะบอยคอตยากนะ ที่จะเกิดความชอบธรรม หรือจะไปขัดขวางการเลือกตั้งยิ่งแล้วใหญ่ เพราะว่า ส่วนใหญ่เขาลง
ถึงได้บอกว่า สถานการณ์ ไม่เหมือนกัน และนี่คือกลไกของ 3 ก๊ก ที่ทำงานในตัวของมันเองอยู่ขณะนี้
• มองว่า การมี 3 ก๊ก ก็มีข้อดี ดีกว่า แข่งกัน 2 ก๊ก แล้วมีทหารมารัฐประหาร ?
มันอาจจะเป็นพัฒนาการอีกรูปแบบหนึ่ง ที่การเมืองไทยกำลังหาที่ทางที่ลงตัวว่า ไม่ว่าจะขัดแย้งกันยังไง มันไม่เปิดช่องให้อำนาจนอกระบบเข้ามาได้ เราอาจจะกำลังเดินมาถึงสถานีนี้ ใดๆก็ตาม เดินต่อไปอีกข้างหน้า คงอาจจะไม่ใช่เวลาสั้นๆนัก ก็อาจจะกลับมายืนอยู่ที่การเมืองในฝ่ายอนุรักษนิยม กับเสรีนิยม แบบหลายๆสังคมก็เป็นอยู่อีกครั้ง แต่เป็นฝ่ายอนุรักษนิยม กับเสรีนิยม ที่อยู่เหนืออำนาจนอกระบบแล้ว
• แสดงว่า ตอนนี้เราอยู่ในระหว่างการเปลี่ยนผ่านทางการเมือง?
ผมมองอย่างนั้น ถึงได้บอกว่า เดิมเนี่ยผมเป็นคนพูดว่า การเมืองหรือการต่อสู้บนท้องถนนที่พวกผมทำกันอยู่ ไม่ใช่สู้ระหว่างเพื่อไทยกับประชาธิปัตย์ แต่สู้ระหว่างอนุรักษนิยมกับเสรีนิยม ผมพูดเรื่องนี้มาตลอด ผมยกตัวอย่างเป็นวรรณกรรม เป็นประวัติศาสตร์ เป็นอะไรต่ออะไรหลายเรื่องราว เพื่ออธิบายมัน แล้วพอถึงวันหนึ่ง จนมาถึงจุดนี้ จากภาพนั้น ผมเห็นเป็น 3 ก๊ก
แต่ 3 ก๊กที่ผมเห็นมันลดโอกาสหรือลดช่องว่างให้ฝ่ายอนุรักษนิยมเข้าทำได้ง่ายๆแบบสมัยก่อน แล้วต่อไปข้างหน้าพอผ่านจากยุค 3 ก๊ก มันก็อาจจะกลับมายืนอยู่ เหมือนหลายๆสังคม นั่นคือ เสรีนิยมกับอนุรักษนิยมอีกครั้ง
เราต้องเข้าใจและเชื่อในความจริงข้อหนึ่งก่อนว่า ไม่ว่าสังคมนี้มันจะมีพัฒนาการทางการเมืองแค่ไหน แนวคิดที่แตกต่างกันทางการเมือง มันก็จะยังดำรงอยู่ มันจะไม่มีแนวคิดใดแนวคิดหนึ่ง เป็นแนวคิดหลักเพียงอย่างเดียวในสังคม แล้วคนมันเห็นเหมือนกันหมด ไม่มีทาง แล้วการต่อสู้ทางการเมือง การต่อสู้ทางแนวคิด มันก็จะยังดำรงอยู่เช่นกัน เพียงแต่ว่าจะสู้กันตรงไหน จะสู้กันในระบบอย่างเดียว หรือสู้โดยหวังวิธีการนอกระบบด้วย ซึ่งมาถึงบรรทัดนี้ผมหวังใจว่า พื้นที่ตรงนั้นจะค่อยๆลดพลังลง
• กับข้อกล่าวหาว่า วันนี้เพื่อไทยไม่ใช่อำนาจอีกก๊กหนึ่ง แต่เป็นอนุรักษ์นิยมนี่แหละ?
คุณคิดว่า กลุ่มพลังอนุรักษนิยมเดิม เขานับเพื่อไทยเป็นแบบนั้นไหม
• เขามองว่า เพื่อไทยพยายามจะทำให้ฝ่ายอนุรักษ์นิยมยอมรับ ให้เขานับเป็นพวก ?
เพื่อไทยพยายามที่จะผลักดัน เรื่องแก้รัฐธรรมนูญ พยายามผลักดันวาระก้าวหน้าหลายๆเรื่อง ซึ่งมันไม่เคยสำเร็จในรัฐบาลชุดก่อนหน้านี้ อย่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม สุราชุมชนก็เดินมาได้ไม่ไกล เหตุผลก็เพราะว่า พรรคเพื่อไทยเองก็ต้องรับผิดชอบต่อการสร้างวาระก้าวหน้าที่ตัวเองทำได้ เพื่อให้พลังที่สนับสนุนยังคงอยู่ และเห็นวิถีทางว่า ยังมีอนาคตร่วมกับพรรคเพื่อไทย
ถ้าพรรคเพื่อไทยพยายามแสดงตัวเป็นตัวแทนของฝ่ายอนุรักษนิยม และพยายามที่จะดึงเอาแรงสนับสนุนของฝ่ายอนุรักษนิยมทั้งหมดมาห่อหุ้มตัวเอง เพื่อความปลอดภัยทางการเมือง หลายเรื่องไม่ต้องพยายามทำก็ได้ ก็แค่แสดงตัวว่า เป็นปฏิปักษ์ กับอีกก๊กหนึ่ง แล้วก็ให้ขบวนการของฝ่ายอนุรักษนิยมทั้งหลายมาสนับสนุน มาช่วยกันทำให้อีกก๊กหนึ่งอ่อนแอ หรือแพ้ไป
แต่วันนี้ มันไม่ใช่ วันนี้ฝ่ายอนุรักษนิยมเองลุกขึ้นมาชี้ว่าพรรคเพื่อไทยกำลังจะขายชาติ กำลังจะทำเรื่องต่างๆอะไรสารพัด ที่จะทำให้เกิดความเสียหาย สภาพแบบที่เห็นอยู่ มันเคยรู้สึกว่า เป็นพวกเดียวกันไหมหละ
• นอกจากวาระก้าวหน้าที่ว่า แล้วเรื่องวาระของคนเสื้อแดงหละ อย่างการเคลื่อนไหวแก้ไขร่างพ.ร.ป.ป.ป.ช. ให้ญาติฟ้องเอง จะเอาอย่างไรต่อ ?
เวลานั้นเราผ่านทุกขั้นตอนจนถึงประธานรัฐสภานัดบรรจุระเบียบวาระเข้าที่ประชุมรัฐสภาแล้ว แต่กรรมการปปช.ชุดใหญ่ มีการประชุมกัน และมอบหมายเลขาธิการป.ป.ช.มาแจ้งมติกับวิปฝ่ายรัฐบาลและวิปฝ่ายค้าน ว่าร่างนั้นอาจขัดรัฐธรรมนูญ
เมื่อป.ป.ช.เขาไม่เห็นด้วย เขาก็แสดงท่าทีชัด มีข้อวิพากษ์วิจารณ์ในวิปทั้งสองข้างว่า ถ้าเป็นแบบนี้ เดินต่อไปจะเกิดปัญหาแบบไหน เกิดข้อวิตกกังวล
ผมคุยกับพรรคเพื่อไทย พรรคเพื่อไทยพร้อมเดิน ไปหาพรรคก้าวไกล นั่งคุยกับคุณชัยธวัช ตุลาธน ที่สภา กับเพื่อน ส.ส.อีก 4-5 คน เขาก็พร้อมเดิน แต่ก็นั่งจิ้มตัวเลขกัน ผมก็เป็นคนขานจำนวน คุณชัยธวัชก็นั่งนับ ได้ 312 แต้ม มันจำเป็นต้อง 376 ขึ้นไป เพราะว่าต้องใช้รัฐสภา เนื่องจากเป็นการแก้กฎหมายลูก
คุณชัยธวัชบอกว่า แบบนี้แพ้นะ จึงได้หารือ อ.ชูศักดิ์ ศิรินิล หัวหน้าฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย อ.ชูศักดิ์ บอกว่า พรรคร่วมรัฐบาลเขากังวล และท่าทางจะเดินยาก ใส่เข้าไปมีสิทธิที่จะร่วงลงมาในวาระแรก
สมมติว่า กฎหมายมันตกลงมาในวาระแรก เขาก็ไม่ได้ห้าม ไม่ให้เสนออีก แต่ในทางการเมืองมันจะยิ่งยากกว่าครั้งแรกหลายเท่า ก็ปรึกษากันว่านะจะเอายังไง อ.ชูศักดิ์ บอกว่า ถอนออกมาก่อนไหม เอามาปรับมาแก้ แล้วค่อยใส่กลับเข้าไปใหม่ ผมก็ไม่มีตาเดิน ก็บอกว่า เอาอย่างนั้นก็ได้
แต่ความคืบหน้าล่าสุดร่างผ่านขั้นตอนการรับฟังความเห็นของประชาชนไปแล้ว แต่เนื่องจากบางบทบัญญัติ มีเรื่องให้ผู้ที่ถูก ป.ป.ช.ชี้มูล แล้วภายหลังไปต่อสู้ในศาลแล้วชนะคดี สามารถที่จะฟ้อง เรียกค่าชดเชยเยียวยาจากรัฐได้ด้วย อันนี้ทางกฎหมายได้ใส่ไปเพิ่ม เพราะเห็นว่าเป็นประโยชน์ต่อความยุติธรรม เมื่อใส่เป็นแบบนี้ ก็ถูกตีความว่าเป็นกฎหมายการเงิน ก็ต้องให้นายกฯเซ็นรับรองก่อนที่จะยื่นกลับเข้าสภา
ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนนี้ ผมตามยิบ รู้ทุกรายละเอียด และส่วนไหนที่เป็นข้อติดขัด ส่วนไหนที่เป็นปัญหา ก็ต้องเข้าไปแก้ เข้าไปสื่อสารกับผู้ที่เกี่ยวข้อง ดังนั้นก็หวังใจว่า ในต้นปีนี้ ขั้นตอนของกฎหมายนี้ก็จะกลับเข้าสู่สภาอีกครั้ง และจะเดินหน้าในรัฐสภาต่อไป
• นอกเหนือจากเรื่องกฎหมาย เรื่องการทวงความยุติธรรมให้กับญาติผู้สูญเสียหละ?
การไต่สวนสาเหตุการตาย ในยุครัฐบาลนายกฯยิ่งลักษณ์ ชินวัตร 31 ราย โดย 17 ราย ศาลชี้ว่า เสียชีวิตจากอาวุธฝ่ายเจ้าหน้าที่ อีก 14 ราย ไม่สามารถระบุได้ เหลือ 68 ตั้งแต่วันยึดอำนาจ 22 พฤษภาคม 2557 มันไม่มีเรื่องนี้อีกเลย หยุดไปเฉยๆ ไปถามสารพัดที่มันไม่สามารถจะพบเจอความคืบหน้า
ผมใช้เวลาติดตามสอบถามประสานงานกันภายในนานพอสมควร จนเห็นว่า พอมีทางไป ก็เลยประสานงานกับสมาคมทนายความแห่งประเทศไทย เพราะจะฝากเขาเป็นแม่งานทางด้านข้อกฎหมาย
ถามว่า ทำไมต้องมีองค์กรองค์กรหนึ่งมารองรับ เพราะเรากำลังพูดถึงการไต่สวนสาเหตุการตายของอีก 68 ชีวิต ต้องไปประสานกับญาติผู้เสียชีวิต ซึ่งปกติก็ติดต่อพูดคุยกันอยู่ตลอดเวลาอยู่แล้ว ไม่เคยห่างกัน แล้วก็ไปยื่นเรื่องที่ดีเอสไอ
เรื่องแบบนี้จากประสบการณ์ตรงของผม ถ้าจะทำเอาสำเร็จ ไม่ใช่ไปยื่นเรียกร้องแล้วเป็นข่าว มันต้องมีคนเดินไปตาม มันต้องมีคนเป็นเจ้าภาพชัดเจนในการผลักดันทุกขั้นตอน เพราะมันเกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงาน กว่าจะเสร็จสักหน่วยงาน กว่าจะผ่านสักขั้นตอน มันนานมันยุ่ง แต่ถ้ามีคนไปตาม มีคนไปแสดงตัวเป็นเจ้าของเรื่องนี้ เป็นเจ้าภาพเรื่องนี้ ตามทุกขั้นตอน ดูทุกรายละเอียด ไม่ใช่ไปก้าวก่ายแทรกแซง แต่อันไหนติดขัด พยายามผลักดันให้มันเร็วขึ้น มันเป็นจริงได้มากกว่า
ที่จริงผมไม่เคยพูด แต่จะยกตัวอย่างให้ฟัง ตอนทำเรื่องเยียวยาผู้บาดเจ็บ เสียชีวิต เราทำกันแบบนี้ถึงประสบผลสำเร็จ มันไม่ได้สำเร็จมาจากการเรียกร้อง แล้วก็กดดันให้รัฐบาลทำ หลักเกณฑ์การเยียวยากว่ามันจะออก ต้องไปผลักทุกที่ เพราะถ้าให้หน่วยงานต่างๆเขาทำ เขาก็โยนกันไปมา อย่างเร็วไม่มีทางเสร็จก่อน 2 ปี นี่เราทำเสร็จ 7 เดือนแรกของรัฐบาลชุดนั้น
ใครมีบทบาทอย่างไรบ้าง ขออนุญาตถอนตัวเองออกจากเรื่องนั้น จะกลายเป็นว่า มาพูดแล้วเอาหล่อเอาเท่ ที่จริงผมไม่เคยพูด แต่จะชี้ให้เห็นเพียงแค่ว่า ในโลกของความเป็นจริง จากประสบการณ์ตรง ถ้าไม่มีการเข้าไปผลักเข้าไปดัน ไม่มีทาง
• รัฐบาลยิ่งลักษณ์ใช้เวลา 7 เดือน มีการวางหลักเกณฑ์ จ่ายเงินเยียวยา ถือว่าเร็วมาก วันนี้เพื่อไทยเป็นรัฐบาลมา 2 ปีแล้ว กระบวนการเหล่านี้เดินช้ามาก แทบจะไม่เดิน เขาโดดเดี่ยวคุณณัฐวุฒิกับคนเสื้อแดงหรือเปล่า ?
มันไม่ใช่ไม่เดิน แต่ถามว่าเดินช้าหรือไม่ มันก็ควรจะเร็วกว่านี้ได้ สำหรับพรรคเพื่อไทยก็ไม่ง่ายในการเดินเรื่องพวกนี้ ขนาดที่ผมทำอยู่ยังมีเพื่อนๆพรรคพวกที่เคยต่อสู้ด้วยกัน ตั้งคำถามอยู่เลย การละครหรือเปล่า สำเร็จจริงหรือเปล่า ซึ่งผมไม่มีคำตอบให้กับเรื่องเหล่านี้หรอก แต่ผมรู้ว่า ผมกำลังทำอะไรอยู่ และผมก็มีความเชื่อว่า คนเราถ้าทำงานใหญ่ อย่าทำด้วยใจที่คับแคบ
สำหรับเรื่องที่เหลืออยู่ของคนเสื้อแดง เป็นเรื่องที่ยากทั้งหมด เรื่องประกันตัว ตอนนายกฯยิ่งลักษณ์ เราก็ประกันตัวผู้ต้องขัง ผมพาเพื่อนๆน้องๆ ส.ส.หลายคนเอาตำแหน่งไปประกันตัว เรื่องแบบนี้เกิดขึ้นมาก่อนแล้ว พรรคเพื่อไทยทำ ศาลให้ก็ออกมา ศาลไม่ให้ตั้งเรือนจำต่างหาก เอาผู้ต้องขังคดีการเมืองไปอยู่ที่หลักสี่ พอยึดอำนาจเขาก็ยกเลิก
การออกหลักเกณฑ์เยียวยา สำหรับคนทุกฝ่ายทุกค่ายทุกสีเสื้อ ภายใน 7 เดือน มติครม. ออก แต่ว่า ครม.ชุดนั้น ถูกร้องใน ป.ป.ช. ผ่านไปหลายปีเหลือเกินกว่าคดีจะจบ มีการดำเนินคดีถึงชั้นศาลแล้ว บางคนบอกว่า ยิ่งลักษณ์เป็นนายกฯ ไม่เห็นจะทำอะไรเลย แก้ไข ไม่แก้แค้น ไม่จริง จริงๆคดีมันถึงศาลแล้ว แต่ว่าเขาไปร้องแย้งแล้วก็ถูกตีตกกลับมา ไม่ต้องลงรายละเอียด เพราะว่า มันพูดกันเยอะแล้ว
ทีนี้ เหลือแต่เรื่องยากแล้ว คือ คดีมันจะเอายังไง เพราะจริงๆมันก็ไม่ได้ง่ายสักเรื่อง แต่ที่มันง่ายกว่าเอาคนผิดมาดำเนินคดี มันทำไปหมดแล้ว ตอนนี้ที่ศาลฎีกาชี้ว่า ไม่อยู่ในอำนาจศาลอาญา หมายความว่า มันไปศาลอาญาไม่ได้แล้ว แล้ว ป.ป.ช.ก็ยกคำร้องแล้ว สำหรับผู้สั่งการ มีการพยายามไปฟ้องศาลทหาร อัยการศาลทหารก็บอกว่า มันไม่สามารถระบุตัวคนยิงได้ ไปฟ้องกว้างๆ เขาก็สั่งไม่ฟ้องอีก
ภายใต้ภาวะการณ์แบบนี้ ไม่ใช่เรื่องง่ายแล้ว ที่ผมทำอยู่ก็ไม่กล้าจะยืนยันว่า สำเร็จ แต่ผมกล้ายืนยันว่า ตั้งใจทำกันจริงๆ และผมกล้ายืนยันว่า ถ้าไม่พยายามไปผลักไปดัน ไม่มีทาง
ที่พยายามผลักพยายามดันอยู่ ก็เต็มกลืนกันอยู่ เพราะว่ามันติดขัดหลายขั้นตอน ไม่ใช่เพราะรัฐบาลไม่ให้ความร่วมมือ เรื่องนี้ถ้ารัฐบาลไม่ให้ความร่วมมือ ผมทำไม่ได้ แต่ว่ามันเป็นเรื่องเกี่ยวข้องกับกลไกอำนาจ เป็นเรื่องเกี่ยวข้องกับกลุ่มพลัง กลุ่มอิทธิพลทั้งหลาย
• เรื่องนี้อีกไม่นานก็จะหมดอายุความ ?
ใช่ ของ ป.ป.ช. น่าจะเหลืออีก 5-6 เดือน ผมก็ตั้งใจเร่งสปีดว่า ถ้ากฎหมายมันเสร็จทันก็จะพอดี ของคดีอาญาก็จะเหลือเวลาอีก ประมาณ 6 ปี ก็ไม่เยอะแล้ว สำหรับคดีอาญา ซึ่งก็จะขาดอายุความไปด้วย
แต่ว่า ผมก็เห็นในหลายๆประเทศ ถ้ามันไม่หยุดเดิน วันหนึ่งเวลามันอาจจะผ่านไปมากกว่า 20 ปี แล้วมันถูกกลับมาพูดเรื่องความยุติธรรมอีกที ก็อาจจะเป็นไปได้ แต่ว่า เมื่อเวลาเดินไปเรื่อยๆ แล้วเราอยู่ในจุดที่ทำอะไรได้ มันก็ต้องทำกันตั้งแต่วันนี้
แล้วไม่ใช่ผมทำคนเดียว คนอื่นๆก็ทำ กลุ่มอื่นๆก็เดิน ผมอยากให้พวกเขาทำสำเร็จด้วยซ้ำ เพราะผมรู้ว่า มันไม่ใช่เรื่องง่าย และผมเอาใจช่วยทุกกลุ่ม ใครมาเดินเรื่องพี่น้องเสื้อแดง ถ้าเดินด้วยความตั้งใจกันจริงๆ เอาเลยครับ
ถ้าหากมีอะไรที่ผมพอที่จะร่วมแรงร่วมใจได้ ผมยินดี ไม่ขัดข้อง และพร้อมที่จะให้ลบชื่อนายณัฐวุฒิออกจากทุกบรรทัดที่เคลื่อนไหวเรื่องนี้ด้วยซ้ำ ไม่ได้ตั้งใจที่จะมาเอาแต้มเอาคะแนนอะไร แต่ต้องทำ และทุกเรื่องที่ทำ ไม่เคยประกาศด้วยว่าทำ
• มาถึงวันนี้ เคยสูญเสียอิสรภาพ ติดคุก มีคนตาย เพื่อนร่วมรบบาดเจ็บ หนีหายกันไป มองผลจากตรงนั้นว่า เป็นยังไง ถ้าย้อนกลับไปได้ จะต่อสู้แบบเดิมไหม หรือ มองว่า เราสำเร็จหรือยัง จาก 10 ให้กี่คะแนน ?
ถ้าย้อนกลับไปได้ ยังต่อสู้ทางการเมืองไหม ตอบเลยว่า ทำ แต่จะทำแบบเดิมไหม ไม่แน่
สิ่งที่อยู่ในใจผมตลอดก็คือ ผมประเมินความอำมหิตในสนามต่อสู้นี้น้อยไปมาก ผมไม่นึกว่า จะมีการยิงกันขนาดนั้นในปี 2553 พอเห็นการใช้ปืนติดกล้องยิงระยะไกล ในคืนวันที่ 10 เมษายน ซึ่งผมอยู่ที่นั่น ผมก็มีความรู้สึกว่า นี่มันคืออะไรกัน เราอยูในสงครามหรือ เรามาเรียกร้องเพียงแค่ยุบสภา แต่มันต้องฆ่ากันตายขนาดนี้เลยหรือ ซึ่งในท่ามกลางความรุนแรง ความอำมหิต และมันก็มีการสูญเสียเรื่อยมา
ดังนั้น เปลี่ยนใจว่าจะไม่ออกมาต่อสู้ไหม ตอบเลยว่า ไม่ แต่อาจจะปรับวิธีการ อาจจะมีมุมในการประเมินสถานการณ์ใหม่ อาจจะทำให้หลีกเลี่ยง ความรุนแรงที่จะเกิดโดยรัฐได้มากขึ้น โดยที่เรารู้แล้วเขาจะฆ่า แต่คราวที่ผ่านมาเราไม่รู้ ยังไงก็ไม่มีทางประเมินว่าจะถึงจุดนั้น
ถามว่า ให้คะแนนอย่างไร ผมว่าให้ประวัติศาสตร์อธิบายดีกว่า สำเร็จหรือยัง ก็ยัง ถ้าสำเร็จแล้ว มันจะไม่ต้องมาพูดเรื่องการเมือง 3 ก๊ก การเมืองสนามในระบบ สนามนอกระบบ เรื่องนี้ยังต้องทำกันต่อ
• มาวันนี้คิดว่า ทำมาเกินครึ่งทางหรือยัง ?
มาไกลนะ เมื่อเทียบกับปี 2549 วันนี้มันเป็นภูมิทัศน์ทางการเมือง ที่ผมไม่นึกว่า จะได้เห็นด้วยซ้ำ แต่ทางที่เราต้องเดินไป ยิ่งไกลกว่า ก็ต้องเดินกันต่อไป คะแนนไม่มีให้ตัวเอง
ถามว่า พอใจไหม มันควรจะทำได้ดีกว่านี้ ควรจะขยับวาระประเด็นต่างๆได้มากกว่านี้ เพียงแต่ว่าสถานการณ์มันต่างกัน ปัจจุบันวาระในการต่อสู้ วาระในทางการเมือง มันก็ขยับไปไกลกว่าเดิมมากๆ และแม้ว่ายังมีการใช้อำนาจ มีการใช้กรงขัง มีการใช้วิธีการต่างๆที่จะกดดันขบวนการต่อสู้ แต่อย่างน้อยที่สุดเรายังไม่เห็นการฆ่าชัดๆจังๆแบบที่เราเคยเจอ อย่างเมื่อปี 2552 -2553 ที่ผ่านมา
ดังนั้น ผมก็หวังใจว่า ทิศทางการเดินไปข้างหน้าของสังคมไทย การต่อสู้ทางการเมืองมันจะลดความรุนแรงลง วาระการถกเถียงควรเพิ่มความแหลมคมขึ้นเรื่อยๆ และสุดทางสำหรับผม คือทุกคนทุกฝ่ายก็อยู่ร่วมกันนี่แหละ
ผมไม่เคยมีจินตภาพว่า มันต้องมีส่วนหนึ่งส่วนใดหายไปจากประเทศหรือสังคมนี้ เพราะทุกส่วนที่มีมันสามารถอยู่ร่วมกันได้ ในวิถีทาง ในกติกา ในหลักการที่มันถูกต้อง ไม่ใช่วันนี้ก็วันต่อไป ไม่ใช่วันต่อไป ก็เป็นวันต่อๆไป ผมหวังแบบนี้
• แต่ระหว่างทางก็ต้องแลก ด้วยสถานการณ์แบบนี้ มีเพื่อนๆเปลี่ยนฝั่ง ย้ายข้าง มองกันเป็นศัตรูด้วย ?
ผมยังคงถูกด่าอยู่ อย่างเสมอต้นเสมอปลาย (หัวเราะ) กับคำด่าเดิมๆ
ปี 2549 ออกมาเคลื่อนไหว ก็เป็นไอ้พวกสมุนทักษิณ พวกทำลายบ้านเมือง เผาบ้านเผาเมือง มาวันนี้ก็คล้ายๆกัน เพียงแต่กลุ่มคนที่พูดถึงเราลักษณะนี้ อาจจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างมีนัยสำคัญ บางส่วนเป็นกลุ่มคนที่เคยต่อสู้กันมา
อย่างที่บอกไป ผมไม่มีปัญหา ทุกอย่างที่ผมตัดสินใจทางการเมือง ไม่ได้คาดหวังให้ทุกคนเห็นด้วย ยอมรับตบมืออยู่แล้ว เพราะการเมืองเป็นเรื่องที่คนคิดไม่เหมือนกัน วิธีการเดินก็ไม่เหมือนกัน ถ้าหากว่าวันหนึ่ง คนที่คิดเหมือนกันจะไปด้วยกัน ก็โอเค
วันหนึ่งคิดเหมือนกัน แต่ไม่ไปด้วยกัน เขาจะกระแทกอะไรกลับมาบ้าง สำหรับผมไม่ว่ากัน แล้วผมไม่เคยคิดที่จะไปกระแทกใครกลับด้วย เพราะการเมืองก็คือการเมือง การต่อสู้ ก็คือการต่อสู้ แต่มิตรภาพ ก็คือมิตรภาพ
ผมเชื่ออยู่เสมอว่า เพื่อนพี่น้องผม ที่สู้ด้วยกันมา เมื่อปี 2552-2553 ณ วินาทีที่ร่วมเป็นร่วมตาย มันร่วมเป็นร่วมตายกันจริงๆ มันผูกพันด้วยเลือดเนื้อชีวิตกันจริงๆ เกิดมาจะมีกี่ครั้งที่เรามีเพื่อนพี่น้องแบบนี้ แล้วถ้าวันเวลามันทำให้เราคิดไม่เหมือนกันหรือยืนกันคนละข้าง ยืนกันคนละฝ่าย แล้วเรามาห้ำหั่นกันเอง ไม่รู้สิ สำหรับผม ผมไม่ทำ
เพราะอย่างที่บอก ไม่รู้อีกกี่ปี ไม่รู้อีกกี่ชีวิต เราถึงจะมีคนที่มันเคยอยู่กันแบบนั้น แล้วจำนวนมาก ไม่ใช่จำนวนไม่กี่คน ผมอยากรักษาตรงนี้ไว้
• จะฟื้นพลังคนเสื้อแดงกลับมาได้ไหม ซึ่งการต่อสู้ที่ผ่านมามีทั้งล้มเหลว สิ้นหวัง และอ่อนพลังลงไป ?
ผมว่าได้ อย่างน้อยที่สุดขบวนการต่อสู้นี้ก็ได้ทำให้ทั้งหมดของประเทศ หรือแม้กระทั่งเวทีโลกเห็นแล้วว่า จิตวิญญาณในการต่อสู้ของประชาชนในประเทศไทยมันไม่ได้มอดดับลงได้ง่ายๆ
ถ้านับตั้งแต่ปี 2549 ที่เกิด นปก.ขึ้นมา จนถึงวันนี้ ผมว่า นี่เป็นช่วงเวลาที่ขบวนการต่อสู้ของประชาชนในภาคเมืองต่อเนื่อง ยาวนาน และส่งผ่านรุ่นต่อรุ่น อย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน ในประวัติศาสตร์การเมืองไทย ผมว่านี่เป็นสิ่งที่เป็นผลลัพธ์ร่วมกันของทุกคน
การต่อสู้มันทำให้การใช้อำนาจนอกระบบ แม้ว่ามันมีโอกาสเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา เพราะที่นี่คือประเทศไทย แต่ว่าต้นทุนมันสูงขึ้นทุกที มันต้องแลกมากับอะไรหลายอย่าง ซึ่งใครก็ตามที่คิดอ่านจะทำการโดยการใช้อำนาจนอกระบบต้องประเมินมันอย่างรอบคอบละเอียดอ่อนอย่างยิ่ง
เรื่องนี้มันทำให้คนหนุ่มคนสาวมองย้อนไปข้างหลัง แล้วเขายังรู้สึกว่า มีความหวังไปข้างหน้า เพราะเมื่อมองย้อนกลับไปแล้วเขายังเห็นว่า คนรุ่นพ่อรุ่นลุงรุ่นอามันก็เคยสู้มา ล้มลุกคลุกคลาน ถูกเขาไล่ยิงบ้าง เอาไปขังบ้าง แต่มันก็มีคนสู้มา ทำให้พวกเขาสามารถที่จะสู้แล้วมองไปข้างหน้าได้
ผมว่า ถ้าสังคมไทยเดินมาถึงจุดที่คนหนุ่มคนสาว เยาวชนในปัจจุบัน หันไปมองข้างหลัง แล้วไม่เห็นการต่อสู้ใดๆเลยมาตั้งแต่ยึดอำนาจปี 2549 ผมว่า เขาก็สิ้นหวัง ที่จะเดินไปข้างหน้าเหมือนกัน
สำหรับผมการต่อสู้ของคนรุ่นก่อนๆ มันเป็นต้นทุน เป็นทุนรอน สำหรับการเดินไปข้างหน้าของคนยุคปัจจุบันเสมอ ผมไม่เคยมีประสบการณ์เดือนตุลาเดือนอะไรกับเขาเลย เริ่มต้นต่อสู้ ก็รัฐประหาร 2549
แต่เมื่อต้องทำมันอย่างเต็มกำลังผมก็กลับไปอ่าน กลับไปศึกษา กลับไปค้นคว้า ก็พบว่า มันมีวัตถุดิบ มันมียาบำรุง มันมีสารอาหาร มากมายจากการต่อสู้ของคนรุ่นก่อน ให้เราสั่งสม แล้วก็เดินไปข้างหน้า และผมก็แน่ใจว่า สิ่งที่พวกเราทำ คนเสื้อแดง หรือนปก.ทำ มันก็ยังมีสิ่งที่มีคุณค่าอีกเยอะ ให้ใครมาเลือกหยิบเลือกใช้ แล้วก็เดินหน้าต่อไป
ส่วนความสูญเสีย ความเจ็บปวด หรือความรู้สึกว่า ยังไม่ชนะ ความรู้สึกว่า ยิ่งเดินยิ่งห่าง เส้นทางยิ่งไกล เหล่านี้ก็ต้องให้กำลังใจกันและกัน และให้เชื่อว่า ตราบใดที่ยังไม่มีการต่อสู้ มันก็ยังไม่มีความพ่ายแพ้สำหรับประชาชน
แล้วถ้าช่วงไหนเหนื่อย ช่วงไหนอยากพัก พักบ้างก็ได้ เพราะการต่อสู้มันไม่ใช่คณิตศาสตร์ว่า จะต้องดูว่าใครสู้กว่า ใครสู้น้อยกว่า ใครทุ่มเทกว่า
ผมคิดง่ายๆอย่างที่ผมเคยพูดไป วันเวลาที่คนเสื้อแดงกำลังต่อสู้กันอย่างหนัก คนบางคนที่ใส่เสื้อสีแดง ออกมากินก๋วยเตี๋ยวปากซอยบ้าน นั่นเขาก็สู้แล้ว เพราะเงื่อนไขชีวิต เขาทำได้เท่านั้น แต่นั่นคือหัวใจต่อสู้
คนบางคนในช่วงเวลาที่คนเสื้อแดงเพิ่งถูกปราบปรามในเดือนพฤษภาคม 2553 แล้วใส่เสื้อสีแดงไปนั่งอยู่คนเดียวในที่ทำงาน นั่นเขาก็สู้แล้ว เราจะไปเรียกร้องการต่อสู้อะไรมากมายไปกว่าที่เจ้าตัวเขารู้เองด้วยหัวใจ ว่าเขาสู้ได้เท่านี้ และสู้ได้แบบนี้ ผมเชื่ออย่างนั้น
เพราะฉะนั้น ก็เลยยังคิดว่า การต่อสู้มันไม่มีวันถูกล้มเลิก ตราบใดที่มันยังไม่ล้มเลิก ก็จะเรียกว่าล้มเหลวไม่ได้