หมายเหตุ – นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้สัมภาษณ์พิเศษกับหนังสือพิมพ์มติชน และมติชนออนไลน์ ถึงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยปี 2568 ให้ถึง 3.5%
การขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เติบโต ต้องควบคู่ไปกับการแก้ปัญหาของประเทศ การแก้ไขหนี้ การแก้ปัญหาการลงทุนที่น้อย จะทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตอย่างยั่งยืน จึงเป็นที่มาให้รัฐบาลทำหลายอย่างเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ปี 2567 การเติบโตของเศรษฐกิจ (จีดีพี) ไทย อยู่ที่ 2.5% มีข้อสังเกตว่าในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2567 เป็นการขับเคลื่อนแบบไม่เต็มสูบ ไม่มีงบประมาณ ทำให้ทุกคนยังตั้งหลักตั้งตัวไม่ทัน โครงการหลายอย่างไม่พร้อมจะทำ มาตั้งตัวได้เมื่อเข้าไตรมาสที่ 3 ปี 2567 จีดีพีอยู่ที่ 3% และไตรมาสที่ 4 จีดีพี อยู่ที่ 3.2% รวมครึ่งปีหลังจีดีพีอยู่ที่ 3.1%
มองจากภาพข้างต้นอาจสรุปได้ว่า ถ้าทั้งปีจีดีพีโตแค่ 2.5% แต่มองลงในรายไตรมาส ช่วงครึ่งปีหลัง เป็นฐานการเติบโต 3.1% ทำให้มองว่าอย่างไรเราก็ต้องผลักดันให้จีดีพีปี 2568 โตเกิน 3% ให้ได้ แม้ว่าหน่วยงานหลายแห่งจะมองอยู่ในกรอบ 2.8% จนถึงกว่า 3% เฉลี่ยเพียง 2.8-2.9% แต่ในมุมของรัฐบาล เราต้องผลักดันจีดีพีให้เกิน 3% โดยรัฐบาลพยายามตั้งเป้าหมายเพื่อให้ทุกคนช่วยกันทำงาน เลยตั้งเป้าหมายจีดีพีที่ 3.5%
สำหรับอีก 0.5% จะทำอย่างไรนั้น ถ้าอยากให้เห็นในปีนี้ ก็มีโจทย์และวิธีปฏิบัติอย่างหนึ่ง นั่นคือต้องมีการทำงานแบบคู่ขนาน งานรัฐบาลคือ โจทย์ที่ต้องแก้ไขปัญหาในปีนี้ กับโจทย์ที่ต้องแก้ไขจากนี้ เพื่อเป็นการวางรากฐานให้แข็งแรง ให้สิ่งที่ทำไปในแต่ละปีเดินไปได้ด้วยตนเอง เวลาดูเศรษฐกิจ เครื่องจักรจะขับเคลื่อนไปสู่การบริโภคของประชาชน หมายความว่า เศรษฐกิจดีก็คือคนมีเงินบริโภค และมีหนี้ไม่เยอะ
ฉะนั้น เครื่องจักรแรก ต้องมาจากการลงทุน ทั้งภาครัฐ งบประมาณแผ่นดิน รายจ่ายลงทุน และภาคเอกชน คือ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอ ที่เป็นตัวจุดประกายที่ทำให้เกิดการลงทุนจากต่างประเทศ
สำหรับการลงทุน เริ่มจากภาครัฐ ในทุกๆ ปี การเบิกจ่ายงบลงทุนภาครัฐในช่วงต้นปีงบจะช้า แต่เมื่อใกล้สิ้นปีทุกคนจะเร่งเบิก ทำให้ยอดการเบิกจ่ายอยู่ราว 79-80% ดังนั้นในปีนี้รัฐบาลตั้งเป้าไว้ว่าจะเบิกจ่ายงบลงทุนให้ได้ถึง 85% ต้องไปดูว่าจะมีวิธีไปเร่งตรงไหนบ้าง เพราะว่าการลงทุนทุกๆ 1 แสนล้านบาทที่เพิ่มเข้ามาในระบบเศรษฐกิจ จะทำให้จีดีพีเพิ่มขึ้น 0.25% หมายความว่าถ้าผลักดันการลงทุนเกิดขึ้นได้จริงก็ส่งผลต่อเศรษฐกิจได้เยอะ ส่วนการลงทุนภาคเอกชน คงได้ยินว่ามีคำขอลงทุนผ่านบีโอไอ 1.1 ล้านล้านบาท
นอกจากนี้มีคำขอที่ผ่านการอนุมัติจากบอร์ดบีโอไอแล้ว 9.7 แสนล้านบาท และมีการออกบัตรลงทุนแล้ว 8.5 แสนล้านบาท เมื่อก่อนจะเป็นการลงทุนเรื่อยๆ ใช้เวลา 2-3 ปีกว่าจะเสร็จ อย่างไรก็ดี ปีนี้อยากจะเร่งให้เกิดการลงทุนจากยอดการออกบัตรให้ได้ 45% จากปัจจุบันอยู่ที่ 40% ส่วนความเป็นไปได้ไหมนั้น ทุกวันนี้ฝ่ายคนเข้ามาขอลงทุนไทย อยากเร่งให้เกิดกระบวนการผลิตในเมืองไทย เพื่อใช้เป็นฐานการผลิตในการส่งออกไปสู่ภูมิภาคต่างๆ เพราะฉะนั้นยอดการลงทุน 45% มีความเป็นไปได้
ขณะที่ เครื่องจักรที่สอง คือการส่งออก ที่เป็นเครื่องจักรที่ใหญ่ที่สุด เพราะไทยเราพึ่งพาการส่งออกคิดเป็น 65-70% ของจีดีพี ดังนั้นจะทำอย่างไรให้การส่งออกมีความยั่งยืน โจทย์คือโลกต้องการสินค้าอะไร ราคาดีไหม เพื่อให้ตอบโจทย์ความยั่งยืน โดยในปี 2567 การส่งออกเติบโต 5.8% เป็นการโตจากฐานต่ำ
มาเร่งเครื่องช่วงไตรมาส 2-3
ส่วนปี 2568 คงไม่ได้ตั้งสูงไปกว่านั้น เพราะต้องตั้งเป้าหมายที่ใกล้ความเป็นจริงมากที่สุด คือ 4.4% เป็นการใส่ข้อมูลลงไปด้วย อาทิ เรื่องนโยบายของสหรัฐ ของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐคนปัจจุบัน ทำให้ความไม่แน่นอนเกิดได้ทุกวัน อย่างเช่น นโยบายตั้งกำแพงภาษียุโรป ก็ทำให้หุ้นตกหลายประเทศ รวมทั้งหุ้นไทยด้วย ที่ตกไป 2.3% เพราะฉะนั้น แค่สหรัฐประกาศนโยบายขึ้นมาก็เป็นประเด็น และมีผลมากต่อเรื่องการส่งออก ดังนั้น จะทำอย่างไรในการส่งออกปีนี้โตเกิน 4.4% หากดูการส่งออกในแต่ละเดือนจะเห็นว่าการส่งออกเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2568 มีการเติบโตสูงถึง 13% เนื่องจากเทียบกับเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ปีที่ผ่านมา ที่ส่งออกเติบไม่ค่อยสูง
สิ่งที่พูดมาทั้งหมดนี้คือมาตรการที่คิดว่าเราจะต้องทำในปีนี้ เพื่อผลักดันเครื่องจักรที่ส่งเสริมเศรษฐกิจทั้งหลาย แต่ถ้ามาดูเบื้องหลัง จะเจอคำหนึ่งจากสังคมเสมอคือ การทำไม่ได้ เพราะเรามีปัญหาเชิงโครงสร้าง ถ้าจะแก้ต้องแก้เป็นรายเซ็กเตอร์ โดยมุ่งที่การเกษตร ที่ไทยมีการผลิตตั้งแต่ต้นน้ำ รวมทั้งเพื่อการส่งออก ดังนั้นต้องวางแผนจะปลูกอะไร ที่ไหน พันธุ์อะไร ตลาดอยู่ไหน เพิ่มการบริหารน้ำควบคู่กัน ต้องทำให้ภาคเกษตรผลิตตามความต้องการของตลาด ปริมาณเหมาะสม และได้ราคาดี อาจต้องมาดูเรื่องการจัดโซนนิ่งเกษตรกันใหม่
ส่วน เครื่องจักรที่สาม คือ ภาคการท่องเที่ยว ปีที่ผ่านมาถึงจุดที่ใกล้เคียงช่วงก่อนโควิดแล้ว โดยมียอดนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทย ราว 35 ล้านคน ส่วนปีนี้ตั้งเป้าที่ 38.5 ล้านคน สิ่งที่จะทำให้ยอดเพิ่มขึ้นในปีนี้ได้ คือการที่ไทยเป็นเจ้าภาพการจัดการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ 2025 ครั้งที่ 33 ช่วงปลายปีนี้ ถ้าหากรัฐบาลวางโปรแกรมให้ดีก็จะมีส่วนช่วยอย่างมาก ปกติการเปิดงานการจัดการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ ส่วนใหญ่จะจัดเล็กๆ มีพาเหรดในงาน มีจุดพลุแล้วก็จบ ดังนั้นครั้งนี้การจัดการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ 2025 ครั้งที่ 33 อาจจะต้องจัดให้ใหญ่ขึ้นเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้ามา โดยใช้อีเวนต์เหล่านี้ทำให้ยอดนักท่องเที่ยวเกิน 38.5 ล้านคน
อย่างไรก็ดี อีกเรื่องที่สำคัญของการท่องเที่ยวคือ ค่าใช้จ่ายต่อหัว จากก่อนโควิดเฉลี่ยอยู่ที่ 5.5 หมื่นบาทต่อคนต่อทริป แต่ปัจจุบันลดลงเหลือ 4.7 หมื่นบาทต่อคนต่อทริป แสดงว่าพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวนั้นเปลี่ยนแปลงไป จากที่เมื่อก่อนคนมีเงินจะกินหรู ใช้หรู แต่ตอนนี้คนที่มีเงินกลับมองไปถึงการใช้ชีวิตอย่างมีคุณภาพ อาจจะไปเที่ยวไปพักที่หรู แต่อาจจะไม่ค่อยเน้นการกินการใช้ ไปเที่ยวแค่เสพบรรยากาศดูพระอาทิตย์ตก ดังนั้นทางที่เป็นไปได้คือการที่ผลักดันในมีการจัดอีเวนต์มากขึ้น และการที่จะเพิ่มค่าใช้จ่ายอีกทางสำคัญคือการทำให้นักท่องเที่ยวอยู่ยาวขึ้น เพราะปัจจุบันนักท่องเที่ยวอยู่สั้นลง หากเอาตัวเราเป็นเกณฑ์ การที่อยู่เที่ยวกันสั้นลงเพราะไม่มีที่ให้ไป นอกจากที่กิน ที่ช้อปปิ้ง ยิ่งมาซ้ำรอบสองอาจจะไปเที่ยวมาหมดแล้ว ทั้งนี้ ควรมีการเพิ่มอีเวนต์ใหม่ๆ ระดับภูมิภาค อาทิ ซีเกมส์ หรือการจัดการแข่งขันฟอร์มูล่าวันเข้ามา เป็นต้น
อย่างกระทรวงการคลังเตรียมจะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงอัตราภาษีสำหรับรถโบราณใหม่ เพื่อให้นักสะสมเก็บรถไว้ที่ไทย เพื่อสนับสนุนให้เกิดการจัดอีเวนต์โชว์หรือขับรถโบราณ พร้อมทั้งช่วยสร้างงานสร้างอาชีพ อาทิ โกดังเก็บรถ ช่างซ่อมบำรุงรถหรู ซึ่งคนไทยมีความสามารถด้านนี้ ปัจจุบันตลาดรถโบราณนั้น มีขนาด 4 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ หากเราดึงดูดได้สัก 10% ก็เท่ากับ 4 พันล้านเหรียญ หรือกว่า 1 แสนล้านบาท
นอกเหนือจากการเครื่องจักรการลงทุน การส่งออก และการท่องเที่ยวแล้ว สิ่งที่ตามคือจะเอาเงินที่ไหนดี ให้คนลงทุนมากขึ้น สิ่งที่เขาอยากเห็นคือการเข้าถึงสินเชื่อที่ดอกเบี้ยถูก วันนี้ในส่วนของผู้กู้รายใหญ่ได้ดอกเบี้ยต่ำอยู่แล้ว ส่วนส่วนกลางลงมายังต้องพิจารณา จึงเป็นที่มาซึ่งผมได้คุยกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ให้ช่วยพิจารณาเรื่องแอลทีวี การมีเกณฑ์แอลทีวีนั้นมีทั้งข้อดีและข้อเสีย ซึ่งข้อดีคือการกันไม่ให้เกิดหนี้เสียเยอะขึ้น แต่ข้อเสียคือคนบางส่วนอาจพอมีกำลัง แต่พอเจอเกณฑ์เข้มงวดไปก็เข้าไม่ถึงสินเชื่อ ซึ่งก็ต้องมีการไปปรับกติกาบางอย่าง รวมทั้งการทำให้คนเป็นหนี้มีอิสรภาพ หรือเรื่องติดเครดิตบูโร ซึ่งรัฐบาลก็พยายามช่วย อาทิ โครงการแก้หนี้ คุณสู้ เราช่วย ในส่วนมาตรการจ่าย ปิด จบ ที่รัฐบาลตั้งงบ ช่วยปิดหนี้ก้อนไม่เกิน 5,000 บาท ล่าสุดช่วยไปแล้วกว่า 1 แสนบัญชี หรือกรณีที่เป็นการกู้ร่วม การค้ำประกันเงินกู้ ซึ่งคลังจะหารือกับ ธปท.เพื่อแก้ไขเกณฑ์การกู้ร่วมโดยให้หาคนที่กู้จริง เพื่อให้มาใช้หนี้ตามโครงการ ส่วนคนที่เป็นผู้กู้ร่วมก็จะปลอดภาระไปอัตโนมัติ
นอกจากนี้ผมกำลังเตรียมหารือกับสมาคมธนาคารไทย เพื่อพิจารณาเรื่องการกระตุ้นการปล่อยสินเชื่อมากยิ่งขึ้น โดยรัฐบาลช่วยอุดหนุนด้วยการให้ธนาคารพาณิชย์ลดเงินนำส่งเข้ากองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (เอไอดีเอฟ) ลงไป 0.23% จากปกติ 0.46% เปิดโอกาสให้ทางธนาคารพาณิชย์เสนอวิธีการด้วยตัวเอง ที่ผ่านมาสถาบันการเงินไม่กล้าปล่อยสินเชื่อ โดยเน้นไปปล่อยกู้แค่รายใหญ่ แต่ไม่ปล่อยให้รายเล็ก ถ้ารายเล็กมีปัญหาก็ลามกลับมาถึงรายใหญ่ได้เช่นกัน การกระตุ้นการปล่อยสินเชื่อนี้ไม่ใช่การบังคับให้แบงก์ต้องปล่อยหมด แต่ให้เลือกกลุ่มที่พอมีความสามารถ ไม่ใช่ปิดประตูไม่ปล่อยให้รายเล็กเลย และเป้าหมายของผมคือการเติมเงินเข้าสู่ระบบ และการเติมเงินที่ดีที่สุดคือการให้สินเชื่อ
นอกจากนี้ ยังพบปัญหาเงินหายไปจากตลาด โดยในหนึ่งปีมียอดสินเชื่อค้างในระบบธนาคารอยู่ราว 18 ล้านล้านบาท โดยมีส่วนต่างรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ Net Interest Margin (NIM) อยู่ที่ 3% เท่ากับคนเอาเงินไปจ่ายดอกเบี้ยราว 5 แสนล้านบาท ซึ่งก็กลายเป็นกำไรของธนาคาร มองว่าปัจจุบันกำไรธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบรวม 2 แสนล้านบาทนั้น มากเกินไปเมื่อเทียบกับศักยภาพเศรษฐกิจไทยปัจจุบัน ซึ่งอยากให้ภาคธุรกิจกลับมามองถึงความยั่งยืน หันกลับมาช่วยกัน แทนการมุ่งไปที่การทำกำไรสูงสุด ทั้งนี้ ถ้าอยากให้เงินกลับเข้าสู่ระบบ ก็ต้องมีการปล่อยสินเชื่อ แต่สินเชื่อยังเท่าเดิม ทำให้เงินหายไปจากตลาด เพราะฉะนั้นจะนำข้อมูลเหล่านี้ไปหารือกับธนาคารว่าถ้าไม่ปล่อยสินเชื่อเลยก็จะเกิดปัญหาเช่นนี้ ซึ่งรายย่อยเหล่านี้จะขอกู้ไม่เยอะแค่ 1-2 หมื่นบาทเท่านั้น และยอมรับในดอกเบี้ยสูงกว่าปกติได้ แต่ไม่อยากออกไปกู้นอกระบบที่ดอกเบี้ยแพงเกินไป
ส่วนของสถาบันการเงินของรัฐนั้นที่ผ่านมาก็ช่วยไปแล้วพอสมควร ขณะนี้ผมได้มอบนโยบายให้ธนาคารออมสินช่วยเติมเม็ดเงินในระบบโดยการปล่อยสินเชื่อพิเศษวงเงิน 1-2 หมื่นบาทต่อราย เป้าหมาย 3 แสนบัญชี คุณสมบัติจะเป็นกลุ่มบุคคลธรรมดาที่ทำมาค้าขาย และไม่เคยได้สินเชื่อ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งทางออมสินก็รับโจทย์ไปแล้วและกำลังหาวิธีการอยู่ คาดว่าจะประกาศเปิดตัวโครงการได้ภายใน 1-2 สัปดาห์นี้ และอีกอุตสาหกรรมสำคัญของไทยที่ต้องรักษาฐานผลิตไว้คือ ยานยนต์ ที่ผ่านมาญี่ปุ่นลงทุนและใช้ชิ้นส่วนผลิตจากผู้ประกอบการไทย ปัจจุบันสถานการณ์ยานยนต์เปลี่ยนไป แม้ยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) จะเป็นเทรนด์ แต่อาจไม่ใช่คำตอบทั้งหมด
ดังนั้นเร็วๆ นี้ จะหารือกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ถึงแนวทางการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมรถยนต์ไทย อย่างรถกระบะของไทยส่งออกคิดเป็น 40% ป้อนตลาดโลกดังนั้นต้องกำหนดแนวทางดูแลอุตสาหกรรม ขณะเดียวกันรถกระบะถือเป็นเครื่องมือทำมาหากินของเกษตรกร เวลานี้จึงสั่งการให้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เข้าช่วยค้ำประกัน เพื่อให้ไฟแนนซ์ปล่อยง่ายขึ้น