‘พล.อ.เกรียงไกร’ รองปธ.วุฒิฯ เปิดใจ เคลียร์ปม ‘ส.ว.สีน้ำเงิน’

หมายเหตุ – พล.อ.เกรียงไกร ศรีรักษ์ รองประธานวุฒิสภา คนที่หนึ่ง ให้สัมภาษณ์เครือมติชน เกี่ยวกับบทบาทการทำหน้าที่รองประธานวุฒิสภา คนที่ 1 รวมทั้งข้อครหาการเป็น ส.ว.สีน้ำเงิน รวมทั้งประเด็นการตรวจสอบโพยฮั้วการเลือก ส.ว.ของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ว่าคณะกรรมการคดีพิเศษ (กคพ.) จะรับเป็นคดีพิเศษในวันที่ 6 มีนาคมนี้หรือไม่

บทบาทหน้าที่รองประธานวุฒิสภา แตกต่างจากเดิมที่เคยทำหน้าที่แม่ทัพภาค 4 มากน้อยแค่ไหน

บทบาทหน้าที่ย่อมแตกต่างกัน แต่ยังคงต้องรับผิดชอบต่อเนื้องาน ในฐานะที่เคยอยู่ในกองทัพ ความเป็นเอกภาพในเรื่องการตกลงใจ ซึ่งกระบวนการตกลงใจของผู้บังคับบัญชาในกองทัพ ไม่ใช่อยู่ที่ผู้บังคับบัญชาคนเดียว เพราะมีหลายฝ่าย เวลาจะทำภารกิจใด เราจะต้องสอบถามกันเพื่อทำภารกิจให้สำเร็จ

ขณะที่การดูแล ส.ว. มีความคิด ความหลากหลาย ทั้งเรื่องที่มาที่ไป เราไม่สามารถบังคับบัญชา ซึ่งทุกคนมีศักยภาพในการเป็น ส.ว. เท่าเทียมกัน มีอำนาจหน้าที่ที่ใกล้เคียงกัน แต่เวลาผมทำหน้าที่รองประธานวุฒิสภา ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม เรามีหน้าที่ทำให้การประชุมเป็นไปตามข้อบังคับ เกิดความสงบเรียบร้อย รับความเห็นจาก ส.ว.ทุกคน ที่ส่งผ่านไปยังรัฐบาลและผู้ที่เกี่ยวข้อง

รู้สึกอย่างไรที่ถูกเรียกว่า กลุ่ม ส.ว.สีน้ำเงิน

ADVERTISMENT

มันมีกี่กลุ่มล่ะ จริงๆ ผมไม่คิดว่าจะเป็น ส.ว.สีน้ำเงิน หรือ ส.ว.กลุ่มใดก็แล้วแต่ เรามาตามกระบวนการของรัฐธรรมนูญปี 2560 ส่วนความเป็นกลุ่มเป็นก้อนเกิดจากการที่เราพูดคุยกัน ความคิดเห็นตรงกัน

อย่างไรก็ตามในระบอบประชาธิปไตย ความเห็นต่างเป็นเรื่องปกติธรรมดา แต่เมื่อเราอยู่ร่วมกัน กฎกติกาข้อตกลงของคนส่วนใหญ่จะนำไปสู่การปฏิบัติ แต่เราก็ไม่ละเลยเพิกเฉยที่จะฟังเสียงท้วงติง ข้อสังเกต ข้อเสนอแนะของคนส่วนน้อย นี่คือหลักประชาธิปไตย เด็กๆ ทั่วไปรู้ แต่ผู้ใหญ่ส่วนใหญ่รู้แต่ทำเป็นไม่รู้ รู้แต่ทำเป็นไม่เข้าใจ

สาเหตุเพราะ ส.ว.ส่วนหนึ่งใกล้ชิดนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย (ภท.) จึงถูกเรียกว่า ส.ว.สีน้ำเงินหรือไม่

ไม่เกี่ยว ผมคนเดียวที่สนิทกับนายอนุทิน เพราะเป็นเพื่อนร่วมรุ่น วปอ.61 และมีความผูกพันกับนายอนุทิน เพราะตอนที่ผมประสบอุบัติเหตุเครื่องบินตกที่ อ.เทพา จ.สงขลา เมื่อปี 2565 นายอนุทินก็บินไปหาผมทันทีด้วยความห่วงใย นี่คือความเป็นเพื่อน ไม่ได้มีความลึกซึ้งทางพรรคการเมือง เพราะผมไม่เคยสังกัดพรรคการเมือง

กรณีกลุ่ม ส.ว.สำรองยื่นร้องเรียนการเลือก ส.ว.ไม่สุจริต มองการเคลื่อนไหวนี้อย่างไร

ไม่เป็นไร เป็นสิทธิของเขา หากเขาพบเห็นในสิ่งที่คิดว่าไม่ถูกต้อง ไม่เป็นไปตามกระบวนการทางกฎหมาย เขาก็มีสิทธิที่จะร้องเรียน

มองว่ามีนัยยะอะไรหรือไม่ ในการเคลื่อนไหวเรื่องนี้

ผมคิดว่าเหมือนกันทุกกลุ่ม ไก่เห็นตีนงู งูเห็นนมไก่ ในกระบวนการการเลือกตั้งเขากำหนดให้เราทำอย่างไรได้บ้าง ก็ทำกันทุกคน โดยในการเลือก ส.ว. จะมีหนังสือแนะนำตัว ส.ว.3 ตั้งแต่ระดับอำเภอก็มีการให้ดูกัน เพื่อพูดคุยกัน หาเสียงกัน เป็นปกติธรรมดาที่จะต้องพูดคุยกันในระหว่างการเลือก ส.ว.

ในฐานะที่ผ่านกระบวนการเลือก ส.ว.มา มองว่ามีปัญหาหรือไม่

อยู่ที่มุมมอง ผมคิดว่าไม่ใช่ประเด็นปัญหา หากเป็นปัญหาจริงๆ ทุกการเลือกตั้งในประเทศไทยมีปัญหาหมด เช่น การเลือกตั้งซ่อม ส.ส. พรรคที่เป็นพันธมิตรกันก็รู้แล้วว่า พรรคไหนสมควรที่จะส่งผู้สมัคร ถ้าส่งไปคู่กันอาจจะเกิดการแข่งขัน เป็นการตัดคะแนนกัน จึงตัดสินใจไม่ส่งแข่งขันกัน แบบนี้เรียกฮั้วหรือไม่

ในห้วงการเลือก ส.ว.ตั้งแต่ระดับอำเภอ ระดับจังหวัด จนถึงระดับประเทศ พบเห็นเหตุการณ์ใดผิดปกติหรือไม่

ไม่มีอะไรผิดปกติ ผมก็โทรศัพท์คุยกับคนนั้นคนนี้ อย่างผมอาจได้เปรียบหน่อย เพราะสังคมยังไม่ลืม เนื่องจากเป็นอดีตแม่ทัพภาค 4 และเฮลิคอปเตอร์ตก เป็นผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก ภายหลังเกษียณอายุราชการก็มาเป็นประธานคณะที่ปรึกษาของนายอนุทิน เมื่อหนังสือแนะนำตัว ส.ว.3 ถูกแจกจ่ายไป ก็มีคนโทรมาถาม ขอเสียงกัน เป็นเรื่องปกติ ซึ่งเขาเปิดให้ทำได้

กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เข้ามาตรวจสอบคดีฮั้วเลือก ส.ว. และเตรียมตั้งข้อกล่าวหาอั้งยี่ ซ่องโจร

ไม่เป็นไร ถ้าเป็นไปตามกระบวนการตามกฎหมายเราไม่ว่ากัน แต่ดีเอสไอมีอำนาจและหน้าที่หรือไม่ ต้องมาดู เรื่องนี้ ดีเอสไอไม่ได้กล่าวหาผมโดยตรง แต่กล่าวหาสมาชิกวุฒิสภา ซึ่งรับรู้โดยทั่วไป โดยผมทำหน้าที่ดูแลปกป้องอธิปไตยของชาติมา ทั้งฝั่งมาเลเซียและเมียนมา ปะทะมาตั้งแต่เป็นผู้บังคับหมวด ผู้บังคับกองร้อย จนมาถึงแม่ทัพ สุดท้ายถ้าผมโดนตั้งข้อหาเป็นภัยต่อความมั่นคงในราชอาณาจักร ก็คิดว่าอย่างผมนี่หรือจะมีพฤติการณ์แบบนี้

แสดงว่าข้อกล่าวหานี้แรงไปหรือไม่

ไม่ทราบ ไม่หรอกครับ เรื่องข้อกล่าวหาก็เป็นเรื่องปกติ ก็ต้องพิสูจน์กันไปตามกระบวนการทางกฎหมาย

กรณีเรื่องเอกสารหลุด เป็นรายชื่อพยาน 1,200 ราย ที่ดีเอสไอจะเรียกสอบเป็นพยาน มองอย่างไร

ไม่ทราบ เรื่องเอกสารหลุดเป็นเอกสารลับ หน่วยงานต้องรับผิดชอบ แต่มองว่าเป็นเรื่องปกติที่ต้องเรียกสอบพยาน ไปถึงใครก็ต้องสอบ แต่เอกสารลับไม่ควรหลุดจากหน่วยงาน แต่จะหลุดจากไหนผมก็ไม่รู้ แต่วิญญูชนทั่วไปก็ต้องรู้ว่าปล่อยให้หลุดมาได้อย่างไร ในเมื่อเป็นเอกสารลับ และใครควรเข้าถึงชั้นความลับบ้าง เพราะราชการกำหนดว่า ใครหรือเจ้าหน้าที่ หรือผู้ใดสามารถเข้าถึงชั้นความลับได้ แต่ส่วนตัวไม่กังวล เป็นเรื่องปกติธรรมดา ให้ทำหน้าที่ก็ทำ ถึงเวลาเราไม่ได้ทำหน้าที่ เราก็ต้องหยุดทำหน้าที่

ผมพร้อมถูกตรวจสอบตามกระบวนการตามกฎหมาย ซึ่งเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ เรายอมรับอยู่แล้ว

อนุกรรมการกลั่นกรองของดีเอสไอ มีความเห็นให้รับคดีฮั้ว ส.ว.เป็นคดีพิเศษ และส่งเรื่องเข้าบอร์ดคดีพิเศษ หากสุดท้ายบอร์ดคดีพิเศษรับเป็นคดีพิเศษจริง ส.ว.จะเคลื่อนไหวอะไรหรือไม่

ไม่เป็นไร ก็เดินหน้ากันต่อไป แต่ถามว่าความผิดปกติที่เกิดขึ้น ทำไมอนุกรรมการกลั่นกรองของดีเอสไอมาประชุมหลังจากบอร์ดใหญ่พิจารณา แปลกไหม เพราะปกติคณะอนุกรรมการฯ ควรต้องประชุมกันก่อนและส่งให้บอร์ดใหญ่พิจารณา ให้คณะกรรมการคดีพิเศษพิจารณา

แต่วันนี้คดีนี้ขึ้นไปสู่กรรมการคดีพิเศษก่อน เมื่อตกลงกันไม่ได้ แล้วถึงให้อนุกรรมการพิจารณา มันแปลกๆ ไหม แต่ผมก็ไม่รู้ อาจเป็นธรรมเนียมของดีเอสไอก็ได้ เพราะผมเคยผ่านชีวิตรับราชการทหารมา ไม่เคยเป็นแบบนี้ แม้กระทั่งในวุฒิสภาเหมือนกัน กรรมาธิการ (กมธ.) ต้องให้อนุ กมธ.ไปศึกษาก่อน และอนุ กมธ.คณะนั้นจะมารายการให้ กมธ. ถึงจะพิจารณาในองค์รวมของประเด็นต่างๆ

ถ้าดีเอสไอรับเป็นคดีพิเศษ ส.ว.จะโต้กลับอย่างไรหรือไม่

ยังไม่ถึงขั้นนั้น เรื่องยังไม่เกิดยังไม่คิด

พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ยืนยันเรื่องจะจบในวันที่ 6 มีนาคมนี้

ไม่เป็นไร ทุกคนมีสิทธิคิดกัน ถ้าเป็นไปตามกระบวนการตามกฎหมาย

เหตุผลที่ ส.ว.เข้าชื่อเพื่อยื่นเรื่องให้คณะกรรมการ ป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)
ตรวจสอบ พ.ต.อ.ทวีและอธิบดีดีเอสไอ จริงๆ มีเหตุผล อะไร

ถ้าเป็นเหตุผลของ ส.ว. เขามีสิทธิจะต้องทำ ผมอยู่ในฐานะรองประธานวุฒิสภา แต่ได้ยินเพื่อน ส.ว.มาปรารภกัน ในฐานะผมเป็นรองประธานวุฒิสภา ก็ให้คำแนะนำไปว่าเป็นไปตามอำนาจหน้าที่ของแต่ละคน ถ้าคิดอย่างไรก็ทำไป ตามที่กฎหมายและรัฐธรรมนูญรองรับ

มีการมองว่าการร้องของ ส.ว.เพื่อหวังให้มีการยุติการสอบคดีฮั้วเลือก ส.ว.หรือไม่

ผมว่าไม่ใช่ประเด็น ต้องไปถามความคิดของ ส.ว. แต่ได้ยิน ส.ว.บ่นกัน ทำไมเขาทำแบบนี้ เราก็บอกไปว่าเป็นไปตามกระบวนการและขั้นตอนของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ต้อง
หวั่นไหวถ้าเราดำเนินการตามตัวบทกฎหมาย

คิดว่าเป็นการเอาคืนกันในเกมการเมืองหรือไม่

ไม่ทราบ ผมไม่ขอวิเคราะห์ หากวิเคราะห์ไปก็เอาไปขยายกันใหญ่โตอีก ประมาณว่า พล.อ. ปะทะ พ.ต.อ. ยืนยันว่าไม่ได้ปะทะ เพราะผมไม่เคยปะทะกับพี่ทวี ท่านเป็นผู้มีองค์ความรู้
และดีกันอยู่ แม้ผมจะไม่ค่อยได้พูดคุยกับ พ.ต.อ.ทวี แต่ก็นับถือกันอยู่