หมายเหตุ – นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ให้สัมภาษณ์พิเศษ มติชน ถึงมุมมองภาพรวมเศรษฐกิจไตรมาสแรก 2568 และแนวทางการกำกับดูแลปัญหาปากท้องและด้านส่งออก หนึ่งในเครื่องจักรขับเคลื่อนจีดีพีไทยให้บรรลุ 3.5% ตามเป้าหมายที่รัฐบาลกำหนดไว้
ภาพรวมเศรษฐกิจไทย ผมมองว่ากำลังไปด้วยดี ผ่านเครื่องจักรขับเคลื่อนเศรษฐกิจ 3 ใน 4 ตัว กำลังเดินหน้าไปได้แล้ว เครื่องจักรแรก ภาคส่งออก ปีที่ผ่านมาเติบโต 5.4% สูงกว่ากระทรวงพาณิชย์ตั้งเป้าไว้โต 1-2% ขึ้นเดือนมกราคม 2568 สัญญาณดีขึ้นและส่งออกเติบโต 13.6% เป็นการเติบโตต่อเนื่อง 7 เดือน เชื่อว่าปี 2568 ภาคส่งออกยังเป็นกลไกหลัก ทำให้เศรษฐกิจไทยขยายตัว ภาคส่งออกจะเชื่อมโยงกับภาคลงทุน อีกเครื่องจักร ถ้าลงทุนเยอะขึ้นอนาคตส่งออกจะเยอะขึ้นตาม ปี 2567 มีมูลค่าการลงทุนถึง 1.4 ล้านล้านบาท สูงสุดในรอบ 10 ปี และหลายโครงการจะเสร็จภายในปี 2568 นี้ จะเริ่มต้นผลิตและส่งออกได้เพิ่มขึ้น เชื่อว่าปีนี้การลงทุนจะมากขึ้นอีก เห็นได้จากสัปดาห์ก่อน บริษัท ติ๊กต๊อก เทคโนโลยีส์ ประกาศลงทุนในไทย 8.8 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 3 แสนล้านบาท อีกเครื่องจักรภาคท่องเที่ยว ปีก่อนต่างชาติมาเที่ยวไทย 36 ล้านคน ปีนี้คาดว่าถึง 39 ล้านคน สะท้อนกลไกทางเศรษฐกิจเดินได้ สมัยก่อนเรามีปัญหาเรื่องส่งออกแย่ ลงทุนไม่มี ท่องเที่ยวน้อย แต่ตอนนี้สถานการณ์กลับกัน แต่ต้องใช้เวลาบิลด์มากขึ้น
ส่วนที่ว่าทำไมเศรษฐกิจยังไม่ดี ติดเรื่องหนี้ครัวเรือนสูง หนี้เกิดจากการสะสมมาก่อนรัฐบาลนี้ วันนี้ตัวเลขหนี้ครัวเรือนสูงถึง 90% หากรวมกับหนี้นอกระบบอาจเกิน 100% นั่นคือหาเงินได้เท่าไหร่ต้องใช้หนี้เกือบหมด เงินใช้จ่ายจำกัด ส่งผลให้เศรษฐกิจแย่ ดังนั้น การแก้ไขปัญหาหนี้สูงจึงเป็นเรื่องใหญ่ ต้องเร่งดำเนินการ เมื่อหนี้เยอะ consumption (การบริโภค) ก็น้อย คนอยากซื้อรถยนต์ รถกระบะ หรือซื้อที่พักอาศัย ก็ติดที่ธนาคารไม่ปล่อยสินเชื่อ เป็นเรื่องกระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ต้องเร่ง activity ให้ธนาคารปล่อยกู้ทำให้เศรษฐกิจหมุนเวียนมากขึ้น รวมถึงต้องดูแลในเรื่องค่าเงินบาทด้วย ตอนนี้ไทยแข็งค่ากว่าประเทศในอาเซียน เมื่อเงินเราแพง การค้าขายก็ยากขึ้น
อะไรคือสิ่งที่จะทำให้เศรษฐกิจไทยฟื้นได้นั้น การเติมเงินเข้าระบบ ส่วนจะเติมอย่างไร สำหรับกระทรวงพาณิชย์ ด้านหนึ่งคือต้องหาเงินจากต่างประเทศเข้ามาเติม ผ่านการส่งออก ต้องดึงเงินให้มากขึ้น ทำให้ผมต้องออกไปเจรจาเพิ่มการค้า และเจรจาเพิ่มเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) เป็นเรื่องสำคัญในปัจจุบัน เมื่อกว่า 10 ปีก่อน เราไม่ได้เจรจาเอฟทีเอเลย เพิ่งมาเริ่มรัฐบาลนี้จากศรีลังกา สมัยนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม สมัยดูแลกระทรวงพาณิชย์ จากนั้นได้ไปลงนามไทย-เอฟต้า (สมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป) และภูฏาน ความสำคัญต้องทำเอฟทีเอมากขึ้น เพราะคือแต้มต่อของประเทศ อย่างเวียดนามมีเอฟทีเอกับ 56 ประเทศ แต่ไทยมี 18 ประเทศ ทำให้จากไทยเคยส่งออกชนะเวียดนาม แต่วันนี้พอเวียดนามมีเอฟทีเอและดึงดูดนักลงทุนต่างชาติจากไทยไปจนเกือบหมด เพราะผลิตในเวียดนาม นอกจากต้นทุน ค่าแรงงาน ไฟฟ้า หรือที่ดิน ถูกกว่าไทยแล้วยังมีเอฟทีเอกับหลายประเทศ ทำให้สินค้าที่เวียดนามผลิตถูกกว่าไทย 30-40% จากไม่ต้องเสียภาษี ตอนนี้ไทยกำลังเร่งเจรจาเอฟทีเอกับหลายประเทศ อาทิ อียู ที่มีสมาชิก 27 ประเทศ บวกกับ 24 ประเทศเดิม ไทยจะมีเอฟทีเอกับ 51 ประเทศแล้ว ใกล้ๆ กับเวียดนามแล้ว หลายประเทศที่กำลังเจรจา เช่น ยูเครน เกาหลีใต้ กลุ่ม ยูเออี แคนาดา เมื่อเจรจาสำเร็จจะเพิ่มทั้งการค้าและการลงทุนขึ้นเรื่อยๆ
อีกด้านที่กระทรวงพาณิชย์ต้องดูแล คือ ทำให้ประชาชนอยู่ดีกินดี ลดปัญหาปากท้อง ทั้งโครงการที่กระทรวงพาณิชย์พัฒนาขึ้น และโครงการที่สอดคล้องกับนโยบายของรัฐ เช่น โครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ต่อยอดแจกเงินหมื่นเฟสสอง จัด ชูใจ วัยเก๋า 60+ ลดราคาสินค้า ควบคู่ เพื่อเพิ่มเงินให้สะพัดและเพิ่มมูลค่าเป็น 1.2, 1.3 หรือ 1.4 หมื่นบาท หรือเกิด น้ำท่วม จัดมหกรรมธงฟ้า เพื่อลดภาระค่าใช้จ่าย หรือปรับการมอบตราไทยซีเล็คต์ (Thai SELECT) เป็นเสมือนมิชลินสตาร์ ผลักดันเอสเอสเอ็มสร้างแบรนด์ของตนเอง ผ่านโครงการไทยแลนด์แบรนด์ เราต้องการผลักดันจีดีพีเอสเอ็มอีจาก 36% ให้เกิน 50%
อีกด้านคือดูแลเกษตรกร ต้องยอมรับว่าราคาสินค้าเกษตรปี 2568 อาจไม่ดีเท่าปี 2567 เป็นปีที่ขายได้ราคาดีมาก อย่างข้าวปีนี้เจอปัญหาอินเดียกลับมาส่งออกข้าวขาว พอมีซัพพลายในตลาดโลกมากราคาสินค้าย่อมลง สินค้าเกษตรทั่วไปไทยไม่มีอำนาจคุมราคา ขึ้นอยู่กับราคาตลาดโลก พออินเดียประกาศส่งออก ราคาข้าว เรื่องนี้ผมได้เตือนไว้แล้ว เมื่อราคาตกรัฐบาลต้องช่วยเหลือเกษตรกรให้อยู่ได้ ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) มีการเสนอหลายมาตรการต่อ นบข. พิจารณาและเลือกให้สนับสนุนเงินไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกิน 10 ไร่ต่อครอบครัว เรื่องนี้เกษตรกรมาร้องขอเอง เรารับมาก็เสนอเข้า นบข. ให้พิจารณาที่จะเลือกวิธีที่ดีที่สุด แต่นี้เป็นการช่วยเหลือระยะสั้นเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนเฉพาะหน้า ส่วนในระยะยาวต้องทำให้เกษตรกรมีรายได้สูงขึ้นอย่างยั่งยืน จึงหารือกันใน นบข. จัดโซนนิ่งปลูกพืชที่ช่วยเพิ่มรายได้ และสามารถขายได้ ยึดหลักการตลาดนำการผลิต
การเพาะปลูกข้าวไทย มี 2 ประเด็นคือ ต้องพัฒนาเพิ่มพันธุ์ข้าวที่ให้ผลผลิตสูงใกล้เคียงประเทศคู่แข่ง อย่างเวียดนาม ผลิตข้าวเปลือกเจ้าได้ 650-700 กิโลกรัมต่อไร่ แต่เวียดนามผลิตได้ 1,200-1,300 กิโลกรัมต่อไร่ ทำอย่างไรให้มีประสิทธิภาพการผลิตดีขึ้น และ 2.พื้นที่ใดจะให้ผลตอบแทนมากสุด หากเกษตกรเปลี่ยนมาปลูกพืชอื่นแทนข้าว เพื่อให้มี รายได้เพิ่มอย่างยั่งยืน อย่าง กล้วย ผมไปญี่ปุ่นพบว่าเขาบริโภคล้านตัน ปลูกกล้วยหอม สามารถให้ผลตอบแทนถึง 1 แสนบาทต่อไร่
กระทรวงพาณิชย์และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จับมือสำรวจพื้นที่เหมาะสม พบว่าพื้นที่เพาะปลูก 74 ล้านไร่ มีพื้นที่ไม่เหมาะปลูกข้าว 11 ล้านไร่ ในจำนวน 4 ล้านไร่ที่อยู่ในเขตพื้นที่ลุ่มภาคกลาง มีน้ำขัง เหมาะกับปลูกกล้วยหอม มะพร้าวน้ำหอมให้ผลตอบแทนไร่ละแสนบาทเช่นกัน หรือปลูกปาล์มน้ำมัน ส่วนนี้ต้องปรับพื้นที่ยกท้องร่องก่อน ส่วนอีก 7 ล้านไร่ ในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ขาดแหล่งน้ำ ควรปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ คู่กับยางพาราในระยะยาว จะให้ผลผลิตใน 3-5 ปีข้างหน้า ต้องเตรียมเรื่องขนส่งและโลจิสติกส์ด้วย อย่างกล้วย ได้ให้ทูตพาณิชย์นำผู้นำเข้าจากญี่ปุ่นมาดูแหล่งปลูก เช่น อ.เสิงสาง จ.นครราชสีมา ลงปลูกแล้ว 1.5 แสนต้น พันธุ์กล้วยหอมเขียว ราคาขายในต่างประเทศดีมาก
อย่างมะพร้าวน้ำหอม ผมไปอังกฤษ เขาขายลูกหนึ่งราคากว่า 5 ปอนด์ ไปสวิตเซอร์แลนด์เขาขาย 7 ฟรังก์สวิส หรือ 200-300 บาทเลย เราอยากให้ปลูกพืชที่ช่วยเพิ่มมูลค่าและรายได้ของเกษตรกรด้วย
กระทรวงพาณิชย์เราดูแลทั้งต่างประเทศและในประเทศ ด้วยจีดีพีประเทศไทยพึ่งพาภาคส่งออกและภาคท่องเที่ยว รวมกันกว่า 80% ภาคลงทุนอีก 10% กว่า ต้องนำเงินเข้าประเทศมาปรับเปลี่ยนโครงสร้าง
พื้นฐานและดูแลคนในประเทศให้มีรายได้เพิ่ม จึงต้องหาหลายช่องทาง เช่น มันสำปะหลัง ตลาดส่งออกหลักของเราคือ จีน นำเข้าไปเพื่อผลิตแอลกอฮอล์ เมื่อราคาข้าวโพดโลกลงมาก เป็นวัตถุดิบเพื่อผลิตเหมือนมันสำปะหลัง ราคามันสำปะหลังจึงลงตาม แต่ผมได้เจรจากับจีนจนจีนยอมซื้อ แล้วคิดเป็นหัวมันเพื่อแปรรูปกว่า 3 ล้านตัน กำลังผลักดันเพิ่มซื้อไปเป็นวัตถุดิบอาหารสัตว์ด้วย หรือข้าว ขอให้จีนเร่งซื้อที่ค้างตามสัญญาเดิม 2.8 แสนตัน
จีนก็รับปากจะเร่งซื้อ ขณะเดียวกันเร่งหาตลาดใหม่ เช่น แอฟริกา เขาชอบข้าวไทย ก็เจรจาได้แล้ว 3.9 แสนตัน จะลงนามในเดือนมีนาคมนี้ อีกเรื่องที่กำลังเร่งคือ เวียดนาม ประกาศกำหนดจะขายข้าวราคาไม่ต่ำกว่า 500 เหรียญสหรัฐต่อตัน ผมมองว่าเป็นโอกาส เร็วๆ นี้จะหารือกับเวียดนามและอินเดีย 3 ประเทศมีส่วนแบ่งตลาดค้าข้าวโลกกว่า 80% จะหารือทางออกราคาที่เหมาะสม จะดีต่อรายได้เกษตรกรทั้ง 3 ประเทศ กรมการค้าภายใน ดึงโมเดลเทรด ทำข้าวและรณรงค์บริโภคเข้าว เพื่อดูดซับซัพพลายออกจากตลาด ทำให้ราคาข้าวเปลือก 15% (สุพรรณบุรี) อยู่ที่ 8,800 บาท ถ้าราคาส่งออกข้าวอยู่ที่ 500 เหรียญ/ตัน ส่งผลให้ราคาข้าวในประเทศเกิน 10,000 บาทต่อตัน และเรายังเปิดเสรีส่งออกข้าวสำหรับรายเล็กรายใหม่ ทั้งลดค่าธรรมเนียมและสต๊อก
กำลังให้องค์การคลังสินค้า (อคส.) ปรับปรุงและเพิ่มบทบาทฟู้ดสตอเรจ เป็นสถานที่เก็บและเก็บรักษาด้านอาหารให้กับประเทศต่างๆ ก่อนหน้านี้กลุ่มประเทศยูเออี ตะวันออกกลาง และอิสราเอล สนใจ ถือเป็นเรื่องใหญ่ในอนาคต โดยให้ อคส.ทำโมเดลอยู่ว่าเป็นอย่างไร และเน้นพัฒนาสินค้าพร้อมรับประทาน สามารถเพิ่มมูลค่าในตัวสินค้าได้
นอกจากนี้ ได้สั่งให้กรมการค้าภายในเตรียมแผนบริหารจัดการผลไม้จะออกสู่ตลาดตั้งแต่เดือนนี้ ดูข้อมูลผลผลิตปีนี้ผลผลิตผลไม้ไทยจะสูงกว่าปกติ ปี 2568 คาดการณ์ผลผลิตรวม 6.74 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 12% ตัวหลักๆ เช่น ทุเรียนเพิ่ม 37% ปริมาณ 1.76 ล้านตัน มะม่วง เพิ่ม 10% ปริมาณ 1.31 ล้านตัน ลำไย เพิ่ม 1% ปริมาณ 1.46 ล้านตัน ด้วยลำไยตะวันออกออกน้อยมาก แต่เชื่อว่าลำไยเหนือจะมา 3 ชนิดนี้เน้นส่งออก เพราะผลผลิตในประเทศสูงเกินบริโภคมาก ตลาดส่งออกทุเรียน คือ จีน จะเจาะเมืองรอง กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เตรียมมาตรการดันส่งออก ผ่านงานแสดงสินค้า รณรงค์บริโภค และสร้างแบรนด์ เช่น ทุเรียนหมอนทอง ต้องผลิตและส่งออกจากประเทศไทยเท่านั้น ที่กังวลสารตกค้าง ทั้งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และกระทรวงพาณิชย์ จะเข้มงวดตรวจสอบผ่านด่าน ส่วนมะม่วงตลาดหลัก คือ เกาหลีกับญี่ปุ่น เชิญชวนดึงผู้ซื้อมาเจรจาล่วงหน้า เพิ่มตลาดใหม่อย่างอินเดีย ตะวันออกกลาง ส่วนบริโภคภายใน จะเชื่อมโยงแหล่งผลิตและจำหน่าย เช่น จัดทุเรียนบุฟเฟต์ ดึงปั๊มน้ำมันรับซื้อแจกลูกค้า ดึงผู้ผลิตแช่เย็นแช่แข็งเพื่อดูดซับผลผลิต เร็วๆ นี้ จะประชุมคณะกรรมการบริหารจัดการผลไม้ปี 2568 ส่วนงบประมาณดูแลคาดใกล้เคียงปีก่อนที่ใช้ 759 ล้านบาท
เรื่องการแก้ปัญหานอมินีและสินค้าด้อยคุณภาพ ส่งผลกระทบต่อ ผู้ประกอบการ โดยเฉพาะเอสเอ็มอีและรายย่อย หลังตั้งคณะกรรมการ 2 ชุดปฏิบัติการลดปัญหา ส่งผลให้ 2-3 เดือนหลังตั้งคณะกรรมการ ลดปัญหาได้ 20% มีการจับกุมนอมินีแล้ว 820 บริษัท ทุนจดทะเบียน 12,495 ล้านบาท สัปดาห์นี้จะมีการประชุมติดตามการดำเนินงานและเร่งรัด แผนงานต่อไป ครอบคลุมเรื่องแพลตฟอร์มออนไลน์ด้วย
เรื่องราคาสินค้า มองกันว่าแพงขึ้น อาจด้วยรายได้ไม่สมดุลรายจ่าย รายได้น้อยก็จะรู้สึกว่าของแพง ทั้งที่ดัชนีเงินเฟ้อทั่วไปของไทยไม่ได้สูงต่ำกว่า 1% ต่ำกว่ากรอบเงินเฟ้อที่รัฐบาลอยากเห็น 1-3% เราจึงอยากเห็นคนมีรายได้เพิ่มขึ้น
สำหรับแผนรับมือผลกระทบจากนโยบายทรัมป์ 2.0 นั้น ได้เจรจาแล้วบางส่วน ตอนผมไปสหรัฐก็ติดต่อเรื่อยๆ หาทางเจรจากันเพื่อให้ไทยรอดพ้น เชื่อว่าเรากับสหรัฐจะได้ทำการค้าการลงทุนเพิ่มกันอีกเยอะ สหรัฐอเมริกาเป็นคีย์หลักทำเงินเข้าประเทศ เราเตรียมรับมือแน่นอน
แม้เรามองเห็น Positive ของเครื่องจักร 3 ใน 4 ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย แต่ยังคงเป้าหมายตัวเลขส่งออกทั้งปีนี้ไว้ 2-3% เพราะยังมีปัจจัยต้องติดตาม และดูภาคลงทุนว่าโรงงานได้ลงทุนไว้ก่อนหน้านี้ จะเริ่มผลิตได้เมื่อไหร่ ล่าสุดได้คุยกับบริษัทที่ลงทุนแผ่นวงจรพิมพ์ (พีซีบี) ลงทุนเป็นแสนล้านบาท เขาคาดว่าโรงงานจะเสร็จกลางปีนี้ เริ่มปั๊มสินค้าเพื่อขายและส่งออกได้ ก็จะช่วยขยายส่งออก ถ้ากลไกเศรษฐกิจต่างประเทศเดินไปด้วยดีแล้ว การส่งออกน่าจะโตในอัตราน่าพอใจ ส่งผลต่อเศรษฐกิจโตได้เกิน 3% ตามเป้าหมาย สัญญาณหลายเรื่องดีขึ้น เพียงแต่ปัญหาหนี้ครัวเรือนสูง คนแบกหนี้เยอะ เมือนกบต้ม ยังรักษาไม่หาย ต้องดูว่าจะแก้กบต้มอย่างไร ส่งออกกับลงทุน มีความสัมพันธ์ แม้บาทแข็ง เดือนมกราคมก็ยังขยายตัวได้ 13.6%