สัมภาษณ์พิเศษ’ชนิดา ชิตบัณฑิตย์’ ทบทวนการเคลื่อนไหว’สตรีนิยม’ในสังคมไทย

หมายเหตุ อ.ชนิดา ชิตบัณฑิตย์ จากคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มธ. และกรรมการโครงการปริญญาโท สาขาวิชาสตรี เพศสถานะและเพศวิถีศึกษา, วิทยาลัยสหวิทยาการ มธ. ให้สัมภาษณ์ “มติชน” เพื่อทบทวนการเมืองเรื่องการเคลื่อนไหวของนักสตรีนิยมในสังคมไทย ในโอกาสครบรอบวันสตรีสากลเมื่อวันที่ 8 มีนาคมที่ผ่านมา รวมถึงพูดคุยเรื่องเป้าหมายการต่อสู้สตรีนิยมในสังคมไทยในอนาคต

-การเคลื่อนไหวสตรีนิยมในไทยภาพรวมเป็นยังไง มันมีปัญหาตรงไหน

การต่อสู้ของขบวนการสตรีนิยมไทยมีลักษณะเฉพาะที่แตกต่างจากตะวันตก สตรีนิยมในตะวันตกมีการต่อสู้ที่แตกต่างกับบ้านเรา โดยเฉพาะสิทธิในการเลือกตั้ง สู้กันมาจนทศวรรษ 1920 กว่าผู้หญิงจะชนะ เช่นเดียวกับ สิทธิทางการศึกษา ประวัติศาสตร์การต่อสู้ของขบวนการสตรีนิยมไทย มีทั้งการต่อสู้ของหญิงทาส และกรรมกรหญิง ที่ลุกขึ้นต่อสู้เรื่องค่าแรง แต่กลับไม่เป็นที่รับรู้มากนัก เป็นที่น่าสังเกตว่า การต่อสู้ที่มักเป็นที่รับรู้ของสังคม คือ การต่อสู้ของผู้หญิงชนชั้นกลางและชนชั้นสูงที่มีการศึกษา โดยเน้นการแก้ไขกฎหมายเป็นหลัก ยกตัวอย่างองค์กรสตรีในยุคแรก เช่น “สมาคมบัณฑิตสตรีทางกฎหมาย” ที่เน้นสู้เรื่องการแก้กฎหมายเป็นหลัก เราจะเห็นได้ว่า กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสตรีของเมืองไทยค่อนข้างก้าวหน้า เช่น กฎหมายครอบครัว กฎหมายข่มขืน กฎหมายคำนำหน้านาม – การเลือกใช้นามสกุล เป็นต้น เนื่องจากนักสตรีนิยมกลุ่มนี้เป็นชนชั้นกลางที่มีความรู้ด้านกฎหมาย มองว่ากฎหมายมีความไม่เท่าเทียม จึงสู้เรื่องนี้เป็นหลัก จนถึงกับมีข้อสังเกตว่า กฎหมายครอบครัวของไทยก้าวหน้ากว่าทุกประเทศแถบภูมิภาคนี้แล้ว เพราะเป็นหลักประกันด้านสิทธิของผู้หญิงชนชั้นกลางและชนชั้นสูง

– ความเท่าเทียม คือ ประเด็นหลักในการต่อสู้ของสตรีนิยม?

คำถามที่น่าสนใจ คือ “ความเท่าเทียม” คืออะไร
หากเรามองจากมุมมองของนักสตรีนิยมสายเสรีนิยม ความเท่าเทียม คือ การเท่ากันในแง่ของสิทธิและกฎหมาย ระหว่างชายหญิง ซึ่งยังยึดติดกับประเด็น “สรีระ” ระหว่างเพศชายและหญิงเป็นหลัก แต่หากเรามองว่าปัญหาความไม่เท่าเทียมในสังคมว่ามีความหลากหลายและซับซ้อน โดยเฉพาะการขาดความเท่าเทียมในเรื่องของ “โอกาส” และปัญหาการถูกกดขี่ทำให้เกิดความไม่เท่าเทียมในเชิงโครงสร้าง เช่น ปัญหาเรื่องปากท้อง ปัญหาการขาดสิทธิในที่ดินทำกิน ปัญหาการจัดสรรทรัพยากร และการกระจายรายได้ที่ไม่เท่าเทียม ฯลฯ เราจะพบว่าปัญหาความไม่เท่าเทียมนั้นมีความเกี่ยวพันกับปัญหาโครงสร้างและมีมิติของ “ความไม่เท่าเทียมทางด้านโอกาส” อยู่ด้วย

Advertisement

มีข้อสังเกตที่น่าสนใจในการต่อสู้ของขบวนการสตรีนิยมไทย คือ ความเท่าเทียมแบบนักสตรีนิยมสายเสรีนิยม ซึ่งมักเป็นผู้หญิงชนชั้นกลางและชนชั้นสูง มักถูกทำให้กลายเป็นประเด็นหลักในการต่อสู้ของขบวนการสตรีนิยมทั้งหมด ทั้งที่ความจริงแล้วความเท่าเทียมนั้นอาจจะมีสัดส่วนประมาณ 20% แต่ปัญหาที่แท้จริงของผู้หญิงกลุ่มอื่น เช่น ผู้หญิงชนชั้นล่างและภาคชนบท ซึ่งเป็นผู้หญิงส่วนใหญ่ของประเทศที่มีสัดส่วนกว่า 80% นั้นถูกทำให้หายไป
ปัญหาที่นักสตรีนิยมสายเสรีนิยมมองมีอิทธิพลจากผู้หญิงชนชั้นกลางและชนชั้นสูง ที่เห็นว่าตนเองไม่ได้รับสิทธิทางกฎหมาย หมายความว่า ถึงแม้จะมีการเลือกตั้ง แต่การเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของระบบการเมืองมันไม่มี ประเด็นหลักที่สู้กันจนทุกวันนี้ในขบวนการสตรีนิยมจึงกลายเป็นเรื่องสัดส่วนที่ว่า ทำอย่างไรให้ผู้หญิงเข้าไปมีสัดส่วนในรัฐสภา ในระบบการปกครองทุกรูปแบบ นี่คือเหตุผลว่าทำไมนักสตรีนิยมชื่อดังของไทยจำนวนมากจึงชื่นชอบรัฐธรรมนูญปี 2550 เพราะตามประวัติศาสตร์ รัฐธรรมนูญฉบับนี้ผู้หญิงเข้าไปมีส่วนร่วมมากที่สุด

แต่ข้อสังเกตที่สำคัญ คือ แม้ว่าสัดส่วนของผู้หญิงจะเพิ่มสูงขึ้นในระบบการเมือง แต่ผู้หญิงเหล่านี้ล้วนแต่เป็นตัวแทนของผู้หญิงชนชั้นกลางและชนชั้นสูงเป็นหลัก ซึ่งเป็นสัดส่วนที่ไม่ได้สะท้อนให้เห็นถึงความหลากหลายของผู้หญิงอย่างแท้จริง ดังนั้น หากรณรงค์ในแง่ของการเพิ่มจำนวนสัดส่วนของผู้หญิงก็จำเป็นต้องมอง “สัดส่วน” ในแง่ของการเป็นตัวแทนที่สะท้อนความหลากหลายของผู้หญิง ไม่ใช่สัดส่วนเฉพาะกลุ่ม

-ในฐานะนักวิชาการสตรีศึกษาเรื่องพวกนี้จำเป็นไหม?

Advertisement

จำเป็น แต่ไม่ใช่ทั้งหมด เพราะหลายประเทศที่เขาสู้กันก็สู้กันเรื่องสัดส่วน แต่บ้านเราอาจจะไม่พอ ถามว่าเรื่องสัดส่วนผู้หญิงในทางการเมืองการปกครองเรามีไหม ก็ตอบว่ามี เราเคยมีถึงขั้นนายกรัฐมนตรีเป็นผู้หญิงด้วยซ้ำ แต่ประเด็นมันไม่ได้อยู่ที่เรื่อง “เพศสรีระ” ชายหรือหญิง แต่ต้องไปดูภูมิหลังของผู้หญิงที่เข้าไปมีตำแหน่งว่า เป็นตัวแทนของผู้หญิงที่หลากหลายจริงหรือเปล่า หรือจริงๆ เข้าไปเพราะสถานะทางสังคมและความสัมพันธ์บางอย่าง เวลาพูดเรื่องปัญหาผู้หญิงก็ไม่เคยพูดถึงปัญหาผู้หญิงชั้นล่างที่หลากหลาย เพราะเขาเป็นผู้หญิงชนชั้นกลางที่ไม่ได้มองปัญหารากฐานของชาวบ้าน เราจะพบผู้หญิงจำนวนมากเข้าไปในสภา แต่พอถึงเวลาก็ไม่ได้ต่อสู้เรื่องปัญหาผู้หญิง

-แล้วสตรีนิยมกระแสรองในเมืองไทยตอนนี้เป็นยังไง มีหรือไม่?

มันมีแน่นอน คือเราต้องมองว่าปัญหาสตรีนิยมในบ้านเราละเลยมิติเรื่อง “ชนชั้น” ภายในขบวนการสตรีนิยมเอง เวลาเราพูดถึงปัญหาสตรีนิยม ถ้าเป็นคนภายนอกก็จะเห็นภาพกว้างๆ เป็นก้อนๆ ผู้หญิงกลุ่มหนึ่งที่มาต่อสู้เรื่องกฎหมาย สิทธิ และความเท่าเทียมกัน แต่เราลืมว่าจริงๆ ผู้หญิงมีหลากหลายกลุ่มและผู้หญิงกลุ่มหลักในสังคมไทยไม่ใช่ผู้หญิงชนชั้นกลาง หรือชนชั้นสูง แต่เป็นผู้หญิงชนชั้นล่าง หรือชนบท ผู้หญิงที่ลุกขึ้นมาต่อสู้ทางการเมืองจำนวนมาก แต่เสียงเขาไม่ดังและถูกกดทับไว้ ทำให้เรามองไม่เห็นว่าจริงๆ แล้ว การต่อสู้ของเกษตรกร ชาวนา การต่อสู้เรื่องแย่งชิงทรัพยากร ที่ดิน เหมืองแร่ การสร้างเขื่อน นิคมอุตสาหกรรม ฯลฯ มีแต่ผู้หญิงทั้งนั้นที่เขาต่อสู้ในระดับท้องถิ่น แต่เราไม่พยายามเข้าใจว่านี่คือการต่อสู้ของสตรีนิยมเหมือนกัน

– การถูกกดทับทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม หรือวัฒนธรรมของ ผู้หญิงชนชั้นล่าง เป็นอย่างไร

จากการวิจัย ดิฉันมองว่ามันเป็น “ระบบอาณานิคมภายใน” บางคนใช้คำว่า การครอบงำอำพราง หรือโครงสร้างที่มองไม่เห็น มันคือการทับซ้อนกันอยู่ของกลุ่มคนที่มีสถานภาพทางสังคมสูง คือ ผู้หญิงชนชั้นกลางและชนชั้นสูงที่นำเสนอปัญหาของตัวเอง โดยบอกว่านี่คือปัญหาของผู้หญิงทุกคน เช่น ฉันต้องการคำนำหน้าว่า นางสาว หากแต่งงานไปแล้วก็ไม่ต้องการเปลี่ยนนามสกุล เรื่องนี้ชนชั้นกลางเข้าใจได้ เพราะการเปลี่ยนนามสกุลมันมีข้อผูกพันทางกฎหมาย เขาจึงสู้กันจนได้สิทธินี้ในปัจจุบัน แต่ผู้หญิงชนชั้นล่างจะบอกว่า “จะใช้นามสกุลใครก็ไม่สำคัญ ขอให้มีเงินพอเลี้ยงปากท้อง ขอให้มีที่ทำกินก็พอ” เพราะข้าวจะกินในแต่ละวันยังไม่มี ประเด็นของเขาคือปากท้องและทรัพยากรธรรมชาติ แต่จะบอกว่าเรื่องสิทธิทางกฎหมายไม่จำเป็นก็ไม่ใช่ แต่มันมีความพยายามทำให้มันเป็นปัญหาของผู้หญิงทุกคน ทำให้เสียงที่เป็นปัญหาที่แท้จริงมันถูกกดทับลงไป


-อาจารย์เห็นความพยายามในการทำความเข้าใจระหว่างการมองปัญหาของผู้หญิงในเรื่องสิทธิทางกฎหมาย กับการมองว่าเศรษฐกิจ ปัญหาปากท้องคือปัญหาบ้างไหม

เป็นข้อสังเกตที่ดีมาก ทำไมปัญหาสิทธิจึงสำคัญกว่าปากท้อง คำถามนี้ สะท้อนปัญหาใจกลางของสตรีนิยมกระแสหลักในสังคมไทย คือ ปัญหาเรื่องชนชั้น คือ ปัญหาของผู้หญิงชนชั้นกลาง 20% ถูกทำให้กลบเสียงของปัญหาของผู้หญิงชนชั้นล่างอีก 80% ดังที่ตั้งข้อสังเกตไปแล้ว

มันเหมือนเป็นช่องว่าง เพราะพื้นที่ในการนำเสนอเรื่องราวหรือเสียง องค์ความรู้ต่างๆ แบบนี้ถูกปิดกั้น การนำเสนอในสื่อกระแสหลักก็ยังมีความจำกัด สังคมก็ไม่มีมุมมอง ยิ่งเสียงหนึ่งดังมากเท่าไหร่ อีกเสียงหนึ่งก็ดังน้อยลง สังคมจึงไม่มีมุมมองว่าปัญหาผู้หญิงชนชั้นล่าง สาวโรงงาน ผู้หญิงที่มาทำงานในเมือง หญิงบริการ แม่ค้าปากคลองตลาด แม่ค้าท่าพระจันทร์ที่ถูกจัดระเบียบ นี่คือปัญหาของผู้หญิงที่เราต้องร่วมกันบอกว่าต้นตอของปัญหาที่ผู้หญิงระดับล่างเผชิญอยู่ คือ ปัญหาเชิงโครงสร้างที่มีรัฐเป็นตัวแทน ผู้หญิงระดับล่างจึงเผชิญปัญหาทางโครงสร้างที่ส่งผ่านมาในรูปของนโยบาย กฎหมาย และในทางการปฏิบัติ เช่น การจัดระเบียบต่างๆ ที่ใช้อำนาจเข้าไปจัดการกับชีวิตประจำวันของเขา ปัญหาของขบวนการสตรีนิยมไทยอยู่ตรงนี้ คือ ผู้หญิงชนชั้นกลางและชนชั้นสูง ซึ่งมีพื้นที่ในการพูดและมีโอกาสในการเข้าถึงสื่อมากกว่า เลือกที่จะพูดบางอย่างและไม่พูดบางอย่าง ปัญหาหลักที่ผู้หญิงส่วนใหญ่ของประเทศนี้เผชิญอยู่ คือ เรื่องที่ดิน เรื่องปากท้อง เรื่องถูกกระทำความรุนแรงโดยรัฐ ก็ถูกทำให้เงียบหายไป

-ทำไมดูเหมือนคุณสมบัติของนักสตรีนิยม คือ ต้องวิจารณ์ความเป็นชายเป็นหลัก

ต้องขอถามกลับว่า “นักสตรีนิยมกลุ่มไหน?” ถ้าเป็นนักสตรีนิยมกระแสหลักบางกลุ่ม อาจจะโจมตีความเป็นชายที่หมายถึงผู้ชายที่เป็นปัจเจกบุคคลหนึ่งๆ อยู่ แต่ถ้าเป็นนักสตรีนิยมที่เห็นปัญหาของผู้หญิงชั้นล่าง ความเป็นชายที่เราวิจารณ์ คือ ความเป็นชายในเชิงโครงสร้าง ในเชิงความคิดที่เรียกว่า ‘ระบอบปิตาธิปไตย’ จริงๆ แล้วขบวนการสตรีนิยมมีขอบเขตกว้างมาก ซึ่งรวมถึงผู้ชายและกลุ่มคนหลากหลายทางเพศด้วย เพราะฉะนั้นเราต้องเลิกยึดติดกับเรื่องสรีระร่างกาย คือ เรื่องสัดส่วน มักจะมองแค่เรื่องร่างกายและสรีระ แต่เราต้องพูดถึง “มุมมอง” หมายความว่า ต่อให้คุณเป็นผู้ชาย แต่หากคุณมีมุมมองแบบสตรีนิยม คุณก็คือนักสตรีนิยม ไม่เกี่ยวว่าจะต้องเป็นผู้ชาย บางทีเราอาจไม่รู้ตัวว่าเราเป็นนักสตรีนิยมอยู่ก็ได้

แต่ทั้งนี้ก็ไม่ได้หมายความว่า “ความเป็นเพศ” ไม่สำคัญ เพราะที่สุดแล้วเรากำลังพูดถึงปัญหาความเป็นผู้หญิง

จากการสังเกตพบว่า ขบวนการสตรีนิยมกระแสหลักที่เคลื่อนไหวในประเด็นความรุนแรง มักหมกมุ่นแต่เรื่องการรณรงค์ที่ชี้ให้เห็นว่าผู้ชายเป็นผู้ก่อความรุนแรงในครอบครัว เพราะกินเหล้า จึงทำร้ายทุบตีเมีย มีผู้หญิงเป็นเหยื่อของความรุนแรง และมุ่งแก้ปัญหาด้วยการรณรงค์เลิกเหล้า โดยมองว่าจะเป็น “สูตรสำเร็จ” ของการแก้ปัญหาความรุนแรงทั้งหมดทั้งมวล แต่ในความจริงแล้วผู้ชายเองก็ถูกกดดันจากสังคมเช่นกัน ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่นำมาสู่การก่อความรุนแรงต่อผู้หญิง การกินเหล้าจึงเป็นเพียง “ปลายเหตุ” ของปัญหาความรุนแรง

การรณรงค์ในประเด็นความรุนแรงจึงต้องมองไปที่รากฐานของ “ปัญหาโครงสร้างความรุนแรง” ที่เชื่อมโยงกับมิติทางสังคม เศรษฐกิจ การเมือง และรัฐ รวมถึงตัวผู้ชายที่ถูกกระทำจากโครงสร้างสังคมให้มากขึ้น นอกจากนี้ การมุ่งเน้นความรุนแรงในครอบครัวยังทำให้ละเลยผู้หญิงจำนวนมากซึ่งประสบความรุนแรงในรูปแบบอื่นๆ ความรุนแรงในชีวิตประจำวัน ความรุนแรงในที่ทำงาน ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานราชการ หรือโรงงาน เป็นต้น

-ผู้ชายก็เป็นนักสตรีนิยมได้ ?

เป็นได้และมีจำนวนมากด้วย เราจะพบว่ามีผู้ชายมาเรียนสตรีศึกษาทุกปี ปีนี้ก็กำลังรับสมัครอยู่ (โปรดดูรายละเอียด http://www.ci.tu.ac.th/) เหตุที่เรียนเพราะเขามีมุมมองที่เข้าใจว่าจริงๆ แล้วการกดขี่ทางเพศมันไม่ได้กดขี่เฉพาะผู้หญิง ตัวผู้ชายเองก็ถูกกดทับทางสังคมเหมือนกัน เช่นการถูกบังคับให้ไปเป็นทหาร การถูกสังคมคาดหวังว่าผู้ชายต้องแมน ต้องเป็นสุภาพบุรุษตลอดเวลา ต้องมีลักษณะรูปร่างที่สอดคล้องกับลักษณะความเป็นผู้นำครอบครัว ห้ามร้องไห้ เป็นต้น ใครร้องไห้จะไม่ใช่ลักษณะของความเป็นชาย เป็นต้น ผู้ชายจึงเป็นผู้ที่ถูกกระทำจากระบบโครงสร้างของสังคมแบบชายเป็นใหญ่เหมือนกัน ซึ่งโครงสร้างถือเป็นกรอบและวิธีคิดที่ครอบงำคนทุกเพศ ทั้งชายและหญิง รวมถึงคนหลากหลายทางเพศด้วย

-แต่การต่อสู้จนมีชัยชนะทางกฎหมายของผู้หญิง ก็ทำให้ผู้หญิงมีอำนาจในเชิงรูปธรรมจับต้องได้

เราอาจกล่าวได้ว่า ผู้หญิงได้รับความคุ้มครองทางในเชิงตัวบทกฎหมาย แต่ในกระบวนการทางกฎหมาย ซึ่งประกอบด้วยการดำเนินการทางกฎหมายและการบังคับใช้กฎหมาย เรากลับพบว่าโอกาสที่ผู้หญิงชั้นล่างจะได้รับการคุ้มครองทางกฎหมายนั้นแตกต่างกันมากกับผู้หญิงชนชั้นกลางและชนชั้นสูง เพราะผู้หญิงชั้นล่างไม่มีเวลา และเป็นที่รู้กันดีว่า กระบวนการการเข้าถึงความคุ้มครองทางกฎหมายใช้เวลาและเงินอย่างมาก ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้หญิงชนชั้นล่างไม่มี จึงจำเป็นต้องกลับมาทบทวนว่า นอกจากการแก้ไขตัวบทกฎหมายเพียงอย่างเดียวนั้นไม่เพียงพอ สิ่งที่สำคัญกว่า คือ ทำอย่างไรให้กระบวนการยุติธรรมไม่ใช่สิ่งประดิษฐ์ที่ล่าช้า ราคาแพง และเข้าถึงได้ยากเหลือเกินโดยผู้หญิงชั้นล่าง

-ปัญหาการรณรงค์เรื่องสิทธิสตรีในเมืองไทยที่ผ่านมา

จากภาพที่มีการวิจารณ์การรณรงค์ประเด็นต่างๆ เราจะเห็นว่าการรณรงค์ส่วนใหญ่มักไม่สามารถเข้าถึงผู้ประสบปัญหาที่แท้จริงได้ เนื่องจาก กระบวนการแปรรูปเงินทุน จากแหล่งทุนมาสู่องค์กรพัฒนาเอกชนระหว่างประเทศ ระดับประเทศ และในระดับท้องถิ่น เช่นเดียวกันกับการรณรงค์เรื่องประเด็นสตรีที่มักถูกลดทอนให้เหลือแค่การจัดงาน (event) เช่น การจัดเต้น จัดวิ่ง เป็นต้น แต่คำถามคือ ทำไมถึงมีแต่การจัดงานในลักษณะการรณรงค์เชิงสัญลักษณ์มากกว่าการทำงานหนักเพื่อการนำเสนอมุมมอง และประเด็นปัญหาจากผู้ประสบปัญหาเอง

ข้อสังเกต คือ เรามักให้ความสำคัญกับการรณรงค์ ซึ่งเป็นเรื่องง่ายที่จะมีส่วนร่วมและใช้เงินจำนวนมาก ในขณะที่การผลักดันให้ผู้หญิงชนชั้นล่างมีโอกาสได้ “ส่งเสียง” สะท้อนปัญหาและมุมมองในการแก้ไขปัญหาจากจุดยืนของเขาเองยังมีจำนวนน้อยมาก ทำให้เราแก้ปัญหาไม่ตรงจุด ยกตัวอย่างเช่น การจะเข้าใจปัญหาความรุณแรงในครอบครัวนั้น จำเป็นต้องทำความเข้าใจโครงสร้างทางเศรษฐกิจสังคมด้วย เช่น ต้องดูว่าผู้ชายชนชั้นล่างที่มาก่อความรุนแรงต่อผู้หญิง มิติหนึ่ง พวกเขาเองก็ได้รับความรุนแรงมาจากมิติทางวัฒนธรรมอื่นๆ แล้วมาลงที่ผู้หญิง และผู้หญิงที่ได้รับความรุนแรงดังกล่าวก็ไม่ได้อยากเลิกกับผู้ชาย อยากให้ผู้ชายเปลี่ยนแปลง หรืออยากให้สังคมเปลี่ยนแปลงผู้ชาย เพราะเขารักผู้ชายคนนั้น คือผู้หญิงจำนวนมากที่อยู่กับความรุนแรงและเขาสามารถเรียนรู้ที่จะเอาชีวิตรอดในชีวิตประจำวันจากความรุนแรงได้ในระดับหนึ่ง แต่ปัญหาที่สังคมขาดคือองค์ความรู้การจัดการปัญหาความรุนแรงในมิติจากผู้หญิงที่ประสบความรุนแรงเองต่างหาก การมองผู้หญิงที่ประสบความรุนแรงด้วยมุมมองความน่าสงสาร ทำให้เรามองไม่เห็นปัญหา และเป็นมุมมองที่เห็นอีกฝ่ายต่ำกว่าก็จะทำให้เราไม่คิดที่จะไปเรียนรู้อะไร เพราะมองเห็นผู้หญิงเป็นเพียง “เหยื่อ”

-ผู้หญิงในพื้นที่ทางอุดมการณ์ เช่นในสื่อ แบบเรียน ละคร เป็นยังไงแล้วตอนนี้

มันน่าสนใจเพราะเรามีโซเชียลมีเดีย ทำให้สื่อไม่ถูกผูกขาดโดยสื่อกระแสหลักอีกต่อไป สังคมจะกดดันทันทีกรณีมีปัญหา เช่นเรื่องโฆษณาผิวขาวที่ออกอากาศเพียงไม่ถึงวันเดียวก็ต้องถอดออก เพราะกระแสสังคมมันบอกว่าคุณเหยียดสีผิว เป็นต้น เดี๋ยวนี้สื่อไม่ฟังเสียงประชาชนไม่ได้แล้ว เพราะตอนนี้โอกาสในการเข้าถึงสื่อมีมากขึ้น ทำให้ผู้บริโภคมีอำนาจในการต่อรองเพิ่มขึ้นบ้าง

ปัจจุบันสื่อก็ไม่ได้ปรับอะไรมาก ตัวละครก็นิสัยเดิมๆ นางร้ายก็เหมือนเดิม เดี๋ยวนี้แฝงชนชั้นเข้าไปอีก เช่น นางร้ายมักมาจากชนชั้นล่าง ประเด็นคือ ตัวแบบอุดมคติยังเหมือนเดิม ฉากข่มขืนก็ยังมีอยู่ นางร้ายก็ต้องถูกข่มขืนโดยตัวร้ายอีก คนไทยมองว่าโรแมนติก ทั้งยังเป็นละครวนเวียนอยู่กับวิถีชีวิตของชนชั้นกลาง หรือไม่ก็ชนชั้นล่างที่กำลังจะยกระดับตัวเองขึ้นมาเป็นชนชั้นกลางในกระแสหลัก อย่างไรก็ตาม ก็เห็นความพยายามของคนรุ่นใหม่ที่จะทำหนังที่สะท้อนความจริงในแง่ที่หนังเข้าใจสภาพความเป็นจริงในสังคมมีมากขึ้น แต่ยังคงมีจำนวนน้อยอยู่ เมื่อเทียบกับสื่อกระแสหลัก

-มองยังไงกับปัญหาเรื่องสิทธิสตรีในรัฐธรรมนูญฉบับนี้

ถือเป็นครั้งแรกที่รัฐเอาอุดมการณ์เรื่องครอบครัวของรัฐมาใส่ในร่างรัฐธรรมนูญ ข้อสังเกตคือ ปัญหาของผู้หญิงนอกจากจะไม่ถูกแก้ไขปัญหาแล้วยังถูกกดทับซับซ้อนหนักหน่วงมากขึ้นไปอีก ด้วยการชูประเด็นครอบครัวขึ้น เพราะครอบครัวในความหมายของรัฐ คือ ครอบครัวในอุดมคติ พ่อ แม่ ลูก และมีความหวังว่าครอบครัวจะเป็นหน่วยพื้นฐานที่ช่วยกล่อมเกลาให้เป็นพลเมืองดีรัฐ คิดตาม ไม่คิดอะไรต่างจากรัฐ แล้วใครล่ะที่เป็นตัวจักรอยู่ในครอบครัวก็คือผู้หญิง
ผู้หญิงต้องมีสามี มีครอบครัว ลูก รัฐจึงจะรับรอง ส่วนคนที่มีสามีโดยไม่แต่งงาน หรือมีลูกนอกสมรส รัฐจะไม่รับรอง กลายเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยว รัฐไม่ดูแล ไม่มีสวัสดิการอะไร ตรงนี้น่ากังวล เพราะผู้หญิงชนชั้นล่างจำนวนมากเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยว การผูกผู้หญิงไว้กับสถาบันครอบครัวจึงน่ากังวล เพราะครอบครัวปัจจุบันมันเปลี่ยนไปมากแล้ว ผู้หญิงโสดก็เยอะขึ้น การนำครอบครัวไปใส่ในรัฐธรรมนูญมันจะนำไปสู่การสร้างความรุนแรงเชิงโครงสร้างต่อผู้หญิงจำนวนมาก ที่ไม่สามารถอยู่ในโมเดลครอบครัวแบบที่กำหนดในรัฐธรรมนูญได้

-การเคลื่อนไหวสตรีนิยมในอนาคตต้องคำนึงอะไร

นักสตรีนิยมต้องไม่พูดแทนผู้หญิงคนอื่น หรือไม่เอาปัญหา 20% ของผู้หญิงชั้นกลางไปแทนปัญหา 80% ของผู้หญิงชั้นล่าง ต้องทำการบ้านหนักขึ้นในการดึงเสียงปัญหาจริงๆ ของผู้หญิงที่หลากหลาย โดยเฉพาะเสียงของผู้หญิงชั้นล่างให้ดังขึ้น มากกว่าแค่การละลายเงินเพื่อจัดการรณรงค์วันเดียวดังที่กระทำอยู่ที่ไม่รู้ว่าใครได้ประโยชน์ ยกตัวอย่างเช่น ในประเด็นการยุติความรุนแรง คนที่ได้ประโยชน์คงไม่ใช่คนที่ประสบความรุนแรงอยู่ และหากอธิบายว่านี่คือการยุติความรุนแรง คำถามที่ตามมาก็คือว่าเป็นการยุติ หรือการสร้างความรุนแรงซ้ำซ้อนขึ้นด้วยหรือไม่ การรณรงค์ในรูปแบบดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของการทำให้ประเด็นความรุนแรงง่ายขึ้น หรือ simplify ประเด็นความรุนแรง

ในขณะที่คนที่ยังประสบปัญหาความรุนแรงจริงกลับไม่มีพื้นที่ให้พูด มิหนำซ้ำผู้ก่อความรุนแรงตัวจริง คือ “รัฐ” ซึ่งเป็นหัวใจหลักของความรุนแรงถูกทำให้เลือนหายไป

หากมองในแง่นี้ คุณอาจไม่ได้มีส่วนในการยุติความรุนแรงเลย และอาจเป็นผู้สร้างความรุนแรงซ้ำซ้อนด้วยซ้ำ เพราะทำให้สังคมเข้าใจว่า แค่การออกไป (เต้นหรือวิ่ง) ก็สามารถเป็นส่วนหนึ่งของการยุติความรุนแรงได้แล้ว แต่อย่าลืมว่าความรุนแรงที่แท้จริงนั้นซับซ้อน และ “รัฐ” นี่แหละคือ หัวใจหลักของผู้ก่อความรุนแรงต่อผู้หญิงจำนวนมากในสังคมนี้ ที่ยังถูกทำให้หายไปจากการรณรงค์ประเด็นยุติความรุนแรงของสังคมไทยอยู่

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image