คุยกับนักวิชาการความมั่นคง : ‘เกาหลีเหนือ’ มาถึงจุดนี้ได้ยังไง

เซอร์ไพรส์โลกพอสมควร กับสิ่งที่เกิดขึ้นหลังผู้นำเกาหลีเหนือประกาศเรื่องอาจจะยุติการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ ในยุคสมัยที่ผู้นำขั้วโลกเสรีอย่างสหรัฐฯ อยู่ภายใต้การนำของประธานาธิบดีทรัมป์ ที่มักอารมณ์ไม่ค่อยดี ชอบด่าใครๆในทวิตเตอร์บ่อยครั้ง

ก่อนหน้านี้ผู้นำเกาหลีเหนือเคยด่าทรัมป์ว่า “คนแก่จนเลอะเลือน” ขณะที่ทรัมป์ก็เคย ด่า คิม จอง อึน ว่าอ้วน-เตี้ย มาแล้ว ตามมาด้วยวิวาทะ ข่มขู่ตอบโต้กันอย่างดุเดือด ปฎิบัติการซ้อมรบจริงจัง จนดูเหมือนว่าจะเกิดสงครามขึ้นจริง

หรือเมื่อต้นปีที่ผ่านมานี้เอง ที่ คิม จอง อึน ประกาศว่า มี “ปุ่มนิวเคลียร์” เตรียมพร้อมบนโต๊ะเสมอเพื่อป้องกันสหรัฐฯก่อสงคราม ท่าทีดังกล่าวทำเอาทรัมป์ทนไม่ได้ ต้องออกมาประกาศเกทับว่า เขาก็มี “ปุ่มนิวเคลียร์” เหมือนกัน แต่ใหญ่กว่า

ทั้งนี้ปัญหาสำคัญของการเมืองโลก ต้องยอมรับว่าวิกฤตนิวเคลียร์เป็นเรื่องหลัก โดยเฉพาะที่เกาหลีเหนือ คำถามสำคัญคือว่าเกาหลีเหนือเดินมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร ในการประกาศอาจจะยุติการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ ซึ่งจะเป็นจุดสิ้นสุดของสงครามเกาหลีที่ต่อเนื่องมาอย่างยาวนาน

Advertisement

ปฏิบัติการสร้างเสน่ห์ครั้งใหญ่

ศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข นักวิชาการด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จากจุฬาฯ มองว่า ข่าวการจะยุติโครงการอาวุธนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือเป็นความประหลาดใจครั้งใหญ่ของโลก ถ้าดูสถานการณ์ก่อนปีใหม่ จะเห็นว่าสถานการณ์ตั้งแต่กลางปี 2017 โลกมีความตึงเครียดและกังวลอย่างมากกับปัญหาสงครามนิวเคลียร์บนคาบสมุทรเกาหลี โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นผลพวงจากการทดลองขีปนาวุธ และการพัฒนาหัวรบของเกาหลีเหนือ ส่วนตัวเห็นว่าเส้นการเปลี่ยนแปลงที่ชัดคือการเกิดกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาว และมีการส่งทีมกีฬาจากฝั่งเกาหลีเหนือร่วมกับเกาหลีใต้ หรือถ้าจะพูดก็คือเป็นทีมผสมระหว่างเกาหลีเหนือและใต้ ซึ่งถือว่าเป็นสัญญาณที่ดี นอกจากการตัดสินใจส่งทีมกีฬาผสม ยังได้เห็นการมาของนักร้องเกาหลีเหนือ และผู้ที่มากับขณะที่นักร้องก็คือน้องสาวของ คิม จอง อึน

“ผมคิดว่าช่วงเวลาโอลิมปิกฤดูหนาวถ้าเราดูจากภาพข่าว จะเห็นสัญญาณเชิงบวกค่อนข้างมาก รวมถึงข้อตกลงที่ว่าระหว่างที่มีกีฬาโอลิมปิกจะไม่มีการทดลอง ทดสอบอาวุธ หรือจะไม่มีการซ้อมรบอย่างใดทั้งสิ้น ซึ่งก็มีส่วนอย่างสำคัญที่ทำให้สถานการณ์มันอยู่กับกีฬา รวมถึงเรื่องทีมนักร้องที่มาเกาหลีใต้ ก็เป็นอะไรที่ได้รับความสนใจอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาพการมาเยี่ยมของน้องสาว คิม จอง อึน และทิ้งประเด็นที่ใหญ่ที่สุดคือการเชิญผู้นำเกาหลีใต้ ให้ไปเยือนเกาหลีเหนือ” ศ.ดร.สุรชาติ ระบุ

และว่า “ในช่วงถัดมาเราได้เห็นอีกปัจจัยหนึ่ง คือการเดินทางของนักร้องจากเกาหลีใต้ไปเหนือบ้าง ผมคิดว่าเราเห็นมิติของงานด้านการทูตที่น่าสนใจ หลายคนบอกว่าการที่เกาหลีเหนือส่งทีมนักร้องหญิงเข้ามาเหมือนเป็นปฏิบัติการสร้างเสน่ห์ครั้งใหญ่ ในวงการทูตจะใช้คำว่า Charm Offensive โดยในกรณีของเกาหลีใต้ แม้จะยังไม่ถึงขั้น Charm Offensive แบบที่เกาหลีเหนือเปิด แต่เราได้เห็นนักร้อง K POP ไปเปิดการแสดงที่เปียงยาง และได้เห็นการมาชมของผู้นำ คิม จอง อึน ภรรยาและผู้นำระดับสูงหลายท่าน” ศ.ดร.สุรชาติ กล่าว

Advertisement

ศ.ดร.สุรชาติ มองว่า ส่วนตัวคิดว่าในช่วงต้นของปี 2018 มองจากบริบทความขัดแย้งของเกาหลีเหนือ สถานการณ์มันเริ่มคลายตัวออก โดยมี Soft Power หรือการทูตที่เป็นอำนาจเชิงอ่อน แบบหนึ่งผ่านเสียงเพลงและกีฬา ต้องยอมรับว่าเป็น Soft Power ชุดใหญ่ของทั้งสองฝั่ง แล้วเราเห็นผลด้านบวกก็คือมันมีส่วนในการลดความตึงเครียด โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณี Charm Offensive ของเกาหลีเหนือ คิดว่าเป็นอะไรที่ได้รับการตั้งข้อสังเกตอย่างมาก นอกจากนี้ การเดินทางเยือนเกาหลีเหนือของผู้นำเกาหลีใต้ และกำลังจะเกิดการประชุมสูงสุดในวันที่ 27 เมษายนนี้ นี่คือเรื่องใหญ่ ซึ่งปกติได้เห็นท่าทีที่ค่อนข้างจะตึงมาก ระหว่างผู้นำสองฝ่าย แต่ในอีกด้านหนึ่งเราได้เห็นการเปิดความสัมพันธ์ทั้งสองฝ่าย มันจะนำไปสู่การประชุมสูงสุดของผู้นําเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ ซึ่งต้องถือว่าเป็นปัจจัยเชิงบวกอย่างมากอีกปัจจัยหนึ่ง ก่อนที่จะมีการประชุมสูงสุดของผู้นำเหนือกับใต้ เราเห็นผู้นําเกาหลีเหนือเดินทางเยือนจีน ตนคิดว่าคงมีการพูดคุยระดับสูงของผู้นําเกาหลีเหนือกับจีน หลายอย่าง ประเด็นหนึ่ง เป็นไปได้ว่าจีนคงไม่ต้องการเห็นสงครามกับสู่คาบสมุทรเกาหลีอีกครั้ง ภาพปัจจุบันจีนผลักดันตนเองเรื่องการค้าในเวทีโลกอย่างมาก แล้วถ้าเกิดสงคราม สงครามจะเป็นปัจจัยเหนี่ยวรั้งการเติบโตของจีน

ศ.ดร.สุรชาติ เล่าต่อว่า ประเด็นถัดมา วันนี้เราได้ยินข่าว นายไมค์ ปอมเปโอ ผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองกลางสหรัฐ (ซีไอเอ) ได้เดินทางไปพบกับผู้นำเกาหลีเหนือและมีการพูดคุย โดยการทูตเชิงลับที่เรากำลังเห็น มันกำลังนำไปสู่สิ่งที่หลายคนตั้งข้อสังเกตว่ามันจะมีความจริงเพียงใด ในการประชุมผู้นำสูงสุดระหว่างสหรัฐฯกับเกาหลีเหนือ ซึ่งวันนี้ต้องยอมรับว่าแนวโน้มมีความเป็นไปได้มากขึ้น โดยเฉพาะข้อเสนอการยุติโครงการอาวุธนิวเคลียร์ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ใหญ่ที่สุด เพราะเป็นประเด็นที่หลายฝ่ายเรียกร้องเกาหลีเหนือมานาน แต่จู่ๆเกาหลีเหนือกับเป็นฝ่ายที่เปิดเป็นข้อเสนอของตัวเองว่าต้องการที่จะยุติแล้ว เพราะฉะนั้นถ้า ถามว่าอะไรเป็นปัจจัย ตนคิดว่าการเปิดข้อเสนอใหม่ในลักษณะการต้องการยุติโครงการอาวุธนิวเคลียร์ ก็มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์เกาหลีเหนืออยู่พอสมควรว่าต้องการทำลายอำนาจต่อรองของตัวเองหรือเปล่า แต่ในมุมหนึ่ง การยุติโครงการ กำลังเป็นเสมือนการเล่นเกมทางการทูตชุดใหญ่ของผู้นําเกาหลีเหนือในเวทีโลกปัจจุบัน

ศ.ดร.สุรชาติ ย้ำว่า วันนี้ต้องยอมรับว่าในทางเทคโนโลยี องค์ความรู้ และตัวยูเรเนียมซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการทำหัวรบนิวเคลียร์ เกาหลีเหนือผ่านเรื่องพวกนี้มาหมดแล้ว ฉะนั้นการยุติไม่ได้หมายความว่าเกาหลีเหนือจะหมดซึ่งขีดความสามารถด้านนี้ เป็นแต่เพียงการตัดสินใจไม่เดินหน้าต่อในการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ รวมถึงข้อเสนอในการปิดจุดทดลอง เพราะฉะนั้นถ้าเป็นความสำเร็จ คิดว่าจะเป็นมิติใหม่ของผู้นําเกาหลีเหนือ ที่เหมือนกับเปิดตัวเองออกมาสู่เวทีโลก ผลที่ตามมา ตนคิดว่าประเด็นที่สองคือ ถ้าเกาหลีเหนือยกเลิก คงถอยกลับไปสู่ความพยายามในการเจรจาในอดีต ในปี 2012 สหรัฐฯกับเกาหลีเหนือมีความพยายามที่จะเจรจากันพอสมควร เพื่อเป็นเหมือนข้อต่อรองแลกเปลี่ยน หากเกาหลีเหนือยุติโครงการอาวุธนิวเคลียร์ สหรัฐฯก็จะเปิดโครงการด้านอาหาร ให้กับทางเกาหลีเหนือ ซึ่งนั่นคือเหตุการณ์ช่วงปลายก่อนที่ คิม จอง อิล บิดาของ คิม จอง อึน จะเสียชีวิตไม่นาน ในครั้งนั้นเหตุการเจรจาก็สะดุดลงเพราะคิม จอง อิล เสียชีวิตก่อน

เพราะฉะนั้นวันนี้มันมีลักษณะคล้ายๆกันในมุมหนึ่ง ว่าถ้าโครงการนิวเคลียร์ถูกยกเลิก แล้วตามมาด้วยกันยกเลิกการแซงชั่น สิ่งที่จะตามมาก็คือโครงการด้านอาหารที่จะเปิดให้กับเกาหลีเหนืออีกครั้งหนึ่ง หรืออาจจะรวมความช่วยเหลืออื่นๆบางส่วน

ดีไม่ดีทั้งสองผู้นำอาจได้โนเบล

นักวิชาการด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศท่านนี้ เล่าต่อว่า ประเด็นที่สามถัดมา ถามว่าจะได้อะไร ผู้นําเกาหลีเหนือคงได้รับการยอมรับจากสหรัฐฯมากขึ้นแน่ๆในบริบทอย่างนี้ ซึ่งก็น่าสนใจต่อว่าถ้ามองระยะยาวๆ ว่าอาจคงการนิวเคลียร์และการแสดงชั่นยุติลงความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯกับเกาหลีเหนือจะดำเนินต่อไปอย่างไร หรือจะพัฒนาไปอย่างไร

ประการที่ 4 ตนคิดว่าจะเป็นโอกาสในการลดความตึงเครียด เพราะต้องยอมรับว่าสถานการณ์ที่ผ่านมาโดยเฉพาะในปี 2017 สถานการณ์บนคาบสมุทรเกาหลีมีความตึงเครียดอย่างมาก เพราะฉะนั้นถ้ามองจากบริบทอย่างนี้ เกาหลีเหนือมีโอกาสได้รับแต้มทางการเมืองระหว่างประเทศ ในฝั่งสหรัฐฯ เองถ้าโครงการนี้สำเร็จ จะเป็นอะไรที่ไม่น่าเชื่อสำหรับโดนัลด์ ทรัมป์ เพราะประธานาธิบดีสหรัฐฯหลายท่านก่อนโดนัลด์ ทรัมป์มีความพยายามพอสมควร แม้แต่ในยุคของประธานาธิบดีโอบามาเองก็ตาม

“ทั้งนี้หากสำเร็จจริงและเกิดเสถียรภาพบนคาบสมุทรเกาหลี ผมคิดว่าดีไม่ดีทั้งสองคนอาจจะได้ Nobel Prize ในปีหน้า เพราะอย่าลืมว่า อ.กลุ่มที่ได้รางวัลโนเบล ในปี 2017 ชื่อกลุ่ม ICAN ซึ่งเป็นกลุ่มรวมนักวิทยาศาสตร์ที่ต่อต้านอาวุธนิวเคลียร์ แล้วถ้าอยู่ๆวันนี้ผู้นำสูงสุดทั้งสหรัฐและเกาหลีเหนือ จับมือแล้วยุติโครงการทำให้คาบสมุทรเกาหลีอยู่ในภาวะที่ปลอดสงครามนิวเคลียร์ได้ ผมคิดว่าต้องยอมรับว่าเป็นผลด้านบวกอย่างมาก แล้วเป็นอะไรที่หลายฝ่ายคาดไม่ถึง เพราะว่าในสถานการณ์โลกปัจจุบันเราแทบจะไม่เห็นสัญญาณบวกของเหตุการณ์ในเวทีโลกเลย สัญญาณในเวทีโลกมีแต่ความรุนแรงและเงื่อนไขที่เป็นเรื่องลบทั้งนั้น นอกจากนี้หากประสบความสำเร็จ ผมคิดว่าโดนัลด์ ทรัมป์ อาจจะได้คะแนนเสียงในบ้านด้วย ซึ่งน่าคิดต่อ เพราะจะมีผลต่อฐานการเมืองและปัญหาที่เขาเองกำลังเผชิญในบ้านอยู่พอสมควร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีความสัมพันธ์กับรัสเซีย” ศ.ดร.สุรชาติ ระบุ

AFP PHOTO

ศ.ดร.สุรชาติ กล่าวต่อว่า เพราะฉะนั้นโจทย์ชุดนี้ตนคิดว่าอย่างน้อย เราได้เห็นว่าถ้าการเจรจาระหว่างสหรัฐฯกับเกาหลีเหนือประสบความสำเร็จและเกาหลีเหนือตัดสินใจยุติโครงการจริงผลที่ตามมาแน่ๆสำหรับคาบสมุทรเกาหลีก็คือความตึงเครียดระหว่างเกาหลีเหนือกับเกาหลีใต้คงลดลง แต่การลดลงตนไม่ได้บอกว่ามันจะนำไปสู่การรวมชาติ เพราะคิดว่าเงื่อนไขการรวมชาติยังเป็นอีกขั้นตอนหนึ่ง แต่อย่างน้อยการลดความตึงเครียดทางทหาร การลดแนวโน้มของสงคราม มันจะเปลี่ยนสภาวะของพื้นที่โดยตรง และจะเปลี่ยนสภาวะความสัมพันธ์ระหว่างเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ รวมทั้งความสัมพันธ์ระหว่างเกาหลีเหนือกับสหรัฐฯและกับญี่ปุ่นเองด้วย

2.ยังมีส่วนต่อการลดเงื่อนไขทางทหาร ไม่ว่าจะเป็นการซ้อมรบ การทดลองอาวุธหรือการเตรียมพร้อมรับสงครามระหว่างสองฝั่ง 3. เป็นความหวังระยะยาวขึ้นว่า ถ้าเงื่อนไขทางสงครามลดลงจะนำไปสู่การรวมชาติในอนาคตหรือไม่ เป็นจริงได้อย่างไร อันนี้ยังเป็นเงื่อนไขระยะยาว 4.เป็นเรื่องทางสังคม คือครอบครัวที่ถูกแบ่ง หรือถูกแยกบนเงื่อนไขของสงครามบนเส้นขนานที่ 38 ถ้าสถานการณ์ความตึงเครียดลดลง เป็นโอกาสที่จะทำให้พวกเขาเจอกันมากขึ้นอีกไหม ขณะเดียวกันจะเป็นโอกาสให้เกาหลีเหนือมีโอกาสการพัฒนาทางเศรษฐกิจเพิ่มมากขึ้นหรือไม่ เพราะฉะนั้นตรงนี้มีโจทย์หลายอย่างที่ทับซ้อนกันอยู่

กรุงเทพฯเหมาะเป็นพื้นที่พบปะ?

เมื่อถามว่าทำไมมีข่าวว่ากรุงเทพมีชื่อติดว่าเป็นหนึ่งเมืองที่เหมาะกับการเจรจา ศ.ดร.สุรชาติ ระบุว่า กรุงเทพฯอยู่ในเอเชีย เราอาจจะอธิบายแบบหยาบๆว่าเป็นประเทศที่มีทั้งสถานทูตสหรัฐฯและเกาหลีเหนืออยู่ในบ้านเรา แต่ตนเองยังไม่ค่อยแน่ใจว่าในความเป็นจริง กรุงเทพฯจะมีโอกาสเป็นจริงได้มากน้อยเพียงใด เพราะต้องยอมรับว่าถ้าการเจรจาเกิดขึ้นจริงเป็นเรื่องที่น่าปวดหัวในทางความมั่นคง และระบบการรักษาความปลอดภัยอะไรต่างๆอยู่พอสมควร ส่วนตัวคิดว่าโอกาสเป็นจริงน่าจะอยู่ที่สวิซเซอร์แลนด์ หรือยุโรปในฝั่งสแกนดิเนเวียหรือไม่ ยกเว้นคิม จอ งอึนไม่อยากเดินทางไกลออกจากบ้าน ก็จะเป็นอีกเงื่อนไขหนึ่ง ไทยจึงเป็นเหมือนตัวเลือกหนึ่งแต่โอกาสจะเป็นจริง ยังต้องตามดูต่อ

ซึ่งเมื่อถามว่า แต่ถ้าดูในเอเชียไทยเหมาะที่สุดหรือเปล่า ศ.ดร.สุรชาติ ระบุว่า ถ้ามองในแง่ความใกล้ทางภูมิศาสตร์มันก็ใกล้ แล้วถ้าเลือกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มันก็ไม่มีจุดอื่น เพราะเกาหลีเหนือเองก็ไปมีปัญหากับมาเลเซีย ในเรื่องการสังหารพี่ชายของเขาคนหนึ่ง ส่วนประเทศอื่น ตนเองก็ไม่แน่ใจจะเป็นอย่างไร ยังมองว่าโอกาสเกิดขึ้นยังเป็นอะไรที่ต้องมองความเป็นจริง

ต่อกรณีท่าทีของรัฐบาลไทยต่อกรณีนี้ควรจะเป็นอย่างไร ศ.ดร.สุรชาติ เห็นว่า คิดว่าบทบาทของไทยในกรณีอย่างนี้คงอยู่ในบทบาทเป็นตัวเลือกเท่านั้นเอง เพราะว่าถ้าย้อนไปในช่วงที่มีการทดลองอาวุธนิวเคลียร์คงจำได้ว่า ทำเนียบขาวได้ต่อสายตรงถึงผู้นำไทย ผู้นำฟิลิปปินส์และผู้นำสิงคโปร์ในการสร้างพันธมิตรเพื่อต่อต้านเกาหลีเหนือในยุคที่มีการทดลองอาวุธนิวเคลียร์มากๆ ฉะนั้นตนคิดว่าบทบาทของไทยหากจะมีบทบาทก็คงเป็นตัวเชื่อมในด้านบวก ซึ่งในความเป็นจริงเราจะสามารถทำได้แค่ไหนก็ยังเป็นข้อสงสัยอยู่พอสมควร เนื่องจากคงต้องยอมรับว่า ในสภาวะที่เป็นรัฐบาลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง แล้วไม่ได้มีเครดิตในทางการเมืองระหว่างประเทศ การขับเคลื่อนนโยบายทางการพูดบางอย่างอาจจะมีข้อจำกัดอยู่พอสมควร เช่นมีการตั้งข้อสงสัยว่าในสภาวะที่ยังเป็นรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหาร ถ้าสหรัฐฯตัดสินใจใช้ไทยเป็นเวทีพบ ผู้นำสหรัฐฯจะรู้สึกไหมว่าปัญหาที่เคยออกแถลงการณ์ร่วมเมื่อตอนเชิญพลเอกประยุทธ์ไปเยือนวอชิงตัน ปัญหาดังกล่าวนั้นจบแล้วหรือไม่

เมื่อถามถึงท่าทีของทรัมป์ที่ประกาศว่าถ้าดูแล้วไม่มีผลลัพธ์ ก็จะไม่ไป ดูเหมือนเกมนี้สหรัฐฯมีแต้มต่อหรือไม่ ศ.ดร.สุรชาติ วิเคราะห์ว่า ส่วนตัวคิดว่า ในกระบวนการเจรจามันใช้ระยะเวลาและความอดทนอยู่พอสมควร ถ้าต่างฝ่ายต่างเรียกร้องมาก ตนคิดว่าสิ่งที่จะเกิดขึ้นมันอาจจะทำให้การเจรจาเดินไปได้ลำบาก แล้วตนคิดว่าในทั้งหมดที่เราเริ่มเห็น ถ้าดูเริ่มจากกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาว จะเห็นว่าการเจรจามันเพิ่งเริ่มต้น แต่สิ่งที่น่าจะเกิดขึ้นได้ง่ายคือโอกาสในการพบปะกันของผู้นําเกาหลีเหนือกับเกาหลีใต้ เพราะวันนี้ความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศดีขึ้นมาก แม้ว่าวันนี้กลุ่มปีกขวาในเกาหลีใต้ซึ่งเป็นกลุ่มที่ต่อต้านเกาหลีเหนือและคอมมิวนิสต์อย่างมาก จะไม่ยอมรับ แต่ตนคิดว่าโดยภาพรวม การพบปะระดับสูงสุดของผู้นำทั้งสอง น่าจะเป็นผลบวกมากกว่า

โลกยังไม่สิ้นปัญหาอาวุธนิวเคลียร์

เมื่อถามว่า ถ้าเกาหลีเหนือยุติโครงการอาวุธนิวเคลียร์ได้จริง ดูเหมือนว่าความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในโลกเราจะไม่มีอะไรน่าห่วงแล้ว ศ.ดร.สุรชาติ ตอบคำถามดังกล่าว ระบุว่า ตนคิดว่าถ้าปัญหานิวเคลียร์ในเอเชียด้านตะวันออกหรือด้านบนลดความรุนแรงลง สถานการณ์ในเอเชียน่าจะคลายตัวมากขึ้น เพราะว่าวันนี้ถ้าเราดูสถานการณ์ใหญ่ๆในเวทีโลก จุดหนึ่งยังเป็นปัญหาตะวันออกกลาง ไม่ว่าจะเป็นกรณีของซีเรีย กรณีของเยเมน ในกรณีของฉนวนกาซาเองก็ตาม ฉะนั้นโจทย์ถ้าปัญหาในเอเชียลดลงสิ่งที่จะเหลือในเอเชีย อาจจะเป็นปัญหาข้อพิพาททางทะเลเช่นในกรณีหมู่เกาะในทะเลจีนใต้ หรือหมู่เกาะเซนกากุ อะไรพวกนั้นเป็นต้น ก่อนจะเป็นโจทย์ความมั่นคงอีกแบบนึง แต่อย่างน้อยก็ทำให้ปัญหาด้านอาวุธนิวเคลียร์ในเอเชียลดความรุนแรงลง

เมื่อถามว่า พูดได้ไหมว่ากรณีนี้น่าจะเป็นจุดสิ้นสุดการใช้อาวุธนิวเคลียร์เป็นเครื่องมือต่อรองในการเมืองระหว่างประเทศ ศ.ดร.สุรชาติ มองว่า ตนไม่แน่ใจว่ามันจะจบได้จริงๆ พร้อมระบุเหตุผลว่า อันที่จริงถึงวันนี้ขีดความสามารถในการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์มันเปิดโอกาสมากขึ้น ด้วยเงื่อนไขทางเทคโนโลยี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัจจุบัน เราเห็นรัฐที่เป็นมหาอำนาจนิวเคลียร์เดิม คือสหรัฐฯ รัสเซีย อังกฤษ ฝรั่งเศส และจีน หลังจากนั้นเราเห็นตามมาอีก 2 ประเทศในการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์คือ อินเดียกับปากีสถาน แล้วก็น่าสนใจว่าช่วงที่อินเดียกับปากีสถานพัฒนาก็ไม่ได้มีแรงกดดันอย่างที่เราเห็นเหมือนกับกรณีอื่นๆ หรือนอกจากนี้หลายฝ่ายอาจจะเชื่อว่า ประเทศหลักๆอย่างในกรณีของอาร์เจนตินาหรือบราซิล ก็อาจจะมีขีดความสามารถแต่ตัดสินใจไม่พัฒนา หรือในครั้งหนึ่งแอฟริกาใต้มีขีดความสามารถแต่ก็ยุติตัดสินใจไม่พัฒนาต่อ ในวันนี้อิสราเอลมีคำถามว่ามีขีดความสามารถหรือไม่ หรือในเหตุการณ์หนึ่งที่เกิดการพยายามพัฒนาในอิรัก ซึ่งในปัจจุบันยังไม่ชัดเจนว่ามีการประสบความสำเร็จมากน้อยเพียงใดเพราะมันนำไปสู่สถานการณ์สงครามก่อน แต่นอกจากเกาหลีเหนือในยุคปัจจุบัน เราเห็นกรณีคู่ขนานกันคือ อิหร่าน ผมคิดว่าวันนี้ปัญหาอาวุธนิวเคลียร์ 2 จุดใหญ่ในโลกก็คือเกาหลีเหนือกับอิหร่าน แล้วน่าดูต่อว่าถ้าเกาหลีเหนือจบอย่างนี้ผลกระทบกับอิหร่านจะเป็นอย่างไร

Getty Images/AFP

เมื่อถามว่า มีโอกาสที่เกาหลีเหนือจะกลับมาเป็นแบบเดิมไหมอะไรเป็นปัจจัย ศ.ดร.สุรชาติ ระบุว่า ตนคิดว่าในแง่ของสถานการณ์โลก หรือสถานการณ์ในภูมิภาค มันก็อาจต้องเผื่อใจไว้ว่าทุกอย่างอาจจะไม่เป็นบวกไปทั้งหมด แต่อย่างน้อยการเปิดเกมการทูตชุดใหม่ ไม่ว่าจะเป็นความพยายามที่จะเปิดการเจรจาโดยตรงกับเกาหลีใต้ หรือความพยายามที่จะเสนอการปลดอาวุธนิวเคลียร์ของตัวเอง

“ผมคิดว่าต้องยอมรับว่าวันนี้เกาหลีเหนือเปิดเกมทางการทูตชุดใหญ่และครั้งใหญ่ ซึ่งน่าสนใจว่าถ้าตัดสินใจเปิดเกมการทูตแบบนี้แล้ว เกาหลีเหนือจะตัดสินใจถอยกลับไปในเกมการทูตชุดเก่า ด้วยการทดลองและพัฒนาอาวุธแบบเดิมจะมีผลลบอย่างไร แต่ผมคิดว่าอย่างน้อยในมิติเชิงบวก การเปิดเกมการทูตชุดใหม่อย่างที่เราเห็นในปัจจุบัน น่าจะเป็นผลบวกกับเกาหลีเหนือและอนาคตของเกาหลีเหนือเอง โดยเฉพาะแรงกดดันจากจีน ที่จีนคงไม่อยากเห็นปัญหาความตึงเครียดบนคาบสมุทรเกาหลี หรือหากมองไปไกลคือหากเกิดสงครามเหมือนปี 1950 ผมคิดว่าจีนคงไม่อยากกลับสู่สถานการณ์เช่นนั้น” ศ.ดร.สุรชาติ ระบุ

มองเผด็จการเป็นคนบ้าไม่ช่วยอะไร

เมื่อถามว่า การที่ผู้นำประเทศซึ่งดูเหมือนไม่สามารถพูดคุยได้ด้วยเหตุด้วยผล เปลี่ยนท่าทีแบบนี้ ให้บทเรียนอะไรกับเราในทางการเมืองระหว่างประเทศ ศ.ดร.สุรชาติ ให้ข้อคิดเห็น โดยระบุว่า

“อันแรก ผมคิดว่าต้องยอมรับว่า วิธีที่จะอธิบายบทบาทของผู้นำอย่าง คิม จอง อึน โดยบอกว่าเป็นผู้นำบ้าๆบอๆอันนี้เป็นคำอธิบายที่ไม่ค่อยช่วยอะไรเท่าไหร่ ทั้งหมดคงต้องยอมรับว่าอาวุธนิวเคลียร์คือแต้มต่อทางการเมือง ผู้นําเกาหลีเหนือมีความกลัวอย่างหนึ่งก็คือว่า ในสถานการณ์ที่เขามองเห็นเหตุการณ์ในเวทีโลก ตัวแบบที่ชัดเจนที่สุดคือ กัดดาฟี ผู้นำของลิเบีย ที่เคยสัญญาที่จะยุติการพัฒนาอาวุธที่มีอำนาจทำลายล้างสูง แต่ผลของการยุติโครงการพวกนั้น ไม่ได้เป็นหลักประกันว่าสุดท้ายกัดดาฟีจะไม่ถูกตะวันตกโค่น ฉะนั้นมุมมองของเกาหลีเหนือ อาวุธนิวเคลียร์เปรียบเสมือนหลักประกันด้านความมั่นคงสำหรับตัวระบอบการปกครอง และการอยู่ในอำนาจของผู้นำเกาหลีเหนือในปัจจุบัน ในจุดนี้ผมคิดว่าเกาหลีเหนือได้คำตอบคือมีของแบบนี้อยู่จริงๆ ฉะนั้นเกมทั้งหมดที่เราเห็นโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงหลังที่คิม จอง อึน มีการทดลองอาวุธค่อนข้างถี่และบ่อย มันตอบชัดในมุมหนึ่งก็คือ คิม จอง อึน ต้องการหลักประกันด้านความมั่นคงสำหรับระบอบการปกครอง และต้องการแต้มต่อในการเจรจาระหว่างประเทศกับสหรัฐฯ อย่างน้อยเป็นหลักประกันว่าสหรัฐฯไม่สามารถใช้กำลังเข้ามาโค่นรัฐบาลเกาหลีเหนือหรือระบอบการปกครองของเกาหลีเหนือได้โดยตรง ถ้าเรามองอย่างนี้มันจะเป็นคำอธิบายที่ดีกว่าที่เราจะเชื่อว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเหมือน คิม จอง อึน เป็นคนบ้า อย่างนั้นเป็นต้น” ศ.ดร.สุรชาติ ระบุ

เมื่อถามว่า ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของเกาหลีเหนือในอนาคตจะเป็นอย่างไร ศ.ดร.สุรชาติ ระบุว่า เชื่อว่าความสามารถทางทหารนั้น เกาหลีเหนือสามารถพัฒนาขีปนาวุธได้แล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเราตามข่าวในปลายปี 2017 เกาหลีเหนือน่าจะประสบความสำเร็จเกี่ยวกับขีปนาวุธระยะไกลแล้ว ส่วนขีปนาวุธระยะใกล้และระยะกลางข้อถกเถียงนี้จบไปแล้ว เขามีอาวุธสำคัญ และในปี 2017 อีกหนึ่ง ข้อถกเถียงทางการทหารก็คือการย่อหัวรบนิวเคลียร์ให้มีขนาดเล็กพอที่จะติดตั้งบนขีปนาวุธได้หรือไม่ ตนคิดว่าโจทย์ตรงนี้ก็น่าจะจบไปแล้ว นั่นหมายความว่า สถานการณ์ปัจจุบัน คงต้องยอมรับความเป็นจริงว่า เกาหลีเหนือเป็นรัฐนิวเคลียร์ และในความเป็นรัฐนิวเคลียร์จะพัฒนาต่ออย่างไรหรือไม่ ตนคิดว่านั่นเป็นคำถามในอนาคตแต่อย่างน้อย ถึงแม้เกาหลีเหนือจะหยุด แต่ขีดความสามารถตรงนี้ไม่ได้หายไปไหน

ต่อกรณีโอกาสการรวมชาติ นั้น นักวิชาการด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศท่านนี้มองว่า ผลพวงของการเจรจากับเกาหลีเหนือและข้อเสนอที่จะยุติโครงการอาวุธนิวเคลียร์จะนำไปสู่เรื่องใหญ่อีกเรื่องหนึ่ง นั่นคือปัญหาการเจรจาสันติภาพหรือสนธิสัญญาสันติภาพในการยุติสงครามเกาหลี วันนี้ อาจต้องทำความเข้าใจว่า สงครามเกาหลีที่เกิดขึ้นในวันที่ 25 มิถุนายนปี 1950 นั้น มันสิ้นสุดด้วยความตกลงในการหยุดยิง ในวันที่ 27 กรกฎาคม 1953 เรามักจะพูดว่าสงครามเกาหลีเหนือยาว 3 ปี แต่สิ่งที่ตามมาก็คือสงครามเกาหลีเหนือไม่จบ หลังการเจรจาในปี 1953 จนถึงวันนี้ก็ยังถือว่าสงครามไม่สิ้นสุด นั่นหมายความว่าถ้าเกาหลีเหนือกับเกาหลีใต้ รวมถึงมหาอำนาจที่เข้าไปเกี่ยวข้องสามารถที่จะเดินไปถึงจุดการทําสนธิสัญญาสันติภาพ แล้วทำให้สงครามเกาหลีสิ้นสุดจริงๆ ตนคิดว่านี่จะเป็นนัยยะสำคัญใหญ่เนื่องจากถ้าเรามองสถานการณ์ในเวทีโลกจะเห็นอย่างหนึ่งว่า เส้นขนานที่แบ่งประเทศออกเป็น 2 ส่วนคือเหนือกับใต้ หรือเป็นคอมมิวนิสต์กับไม่เป็นคอมมิวนิสต์ คือเราเห็นเส้นขนานที่ 17 ในเวียดนาม ที่จบไปแล้ว ด้วยการรวมชาติ เราเห็นการแบ่งเยอรมันตะวันออก ตะวันตก แล้วก็จบลงด้วยการรวมชาติเหมือนกัน เพราะฉะนั้นผลพวงจากยุคสงครามคอมมิวนิสต์หรือสงครามเย็น ของเกาหลีเหนือกับเกาหลีใต้ถูกแบ่งด้วยเส้นขนานที่ 38 มันเป็นคำถามค้างคาว่า สงครามเย็นสิ้นสุดไปแล้วแต่สงครามเกาหลีไม่จบ เพราะฉะนั้นถ้าเสียงที่เกิดขึ้นนำไปสู่สนธิสัญญาสันติภาพ เราอาจจะเห็นโอกาสในอนาคตที่ไม่แต่เพียงการสิ้นสุดของสงครามเกาหลีจริงๆ อาจจะเป็นโอกาสของการรวมชาติในอนาคต

“ไม่ใช่ว่าไม่มีโอกาสเป็นไปได้ ถ้าการเจรจายุติ สันติภาพเกิด สงครามยุติ สถานการณ์คลายตัวออก ผมคิดว่าที่จะตามมาคือครอบครัวที่ถูกแบ่งแยกด้วยเงื่อนไขของสงคราม จะมีโอกาสพบปะกัน แล้วถึงจุดหนึ่งผมยังเชื่อว่า คนเกาหลีหรือคนเวียดนาม หรือคนในเยอรมันที่ประเทศถูกแบ่งออก ไม่ว่าจะมีแนวคิดต่อต้านคอมมิวนิสต์หรือต่อต้านทุนนิยม อย่างน้อยพวกเขามีความฝันอย่างหนึ่งที่อยากจะเห็นการร่วมชาติของตัวเอง”ศ.ดร.สุรชาติ ระบุ

และว่า “แล้วผลที่ตามมาอย่างสำคัญอีกปัจจัยหนึ่งก็คือ ถ้าสถานการณ์ความตึงเครียดคลายตัวลงกองกำลังของสหรัฐในเกาหลีใต้จะอยู่อย่างไร เนื่องจากปัจจุบันสหรัฐฯมีกำลังรบหลักอยู่ในเอเชีย 2 พื้นที่ คือญี่ปุ่นและในเกาหลีใต้ ไม่นับกรณีเกาะกวม ในญี่ปุ่น สหรัฐฯ มีกำลังพลอยู่ประมาณ 47,000 นายขณะในเกาหลีใต้มีกำลังพล 28,500 นาย ถ้าสถานการณ์คลายตัวออก กําลังพลสหรัฐและกำลังรบต่างๆในญี่ปุ่น ตอบได้เลยว่าเป็นการอยู่เพื่อรับสถานการณ์ในเกาหลี หากสถานการณ์คลายตัวออกสหรัฐจะทำอย่างไร จะลดบทบาทและกำลังตรงนี้ลงหรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัจจุบันคงต้องยอมรับว่า กองทัพเกาหลีเหนือเป็นกองทัพที่ติดอันดับโลก ถ้าดูกำลังทหารอย่างเดียว จีนมีกำลังพลมากที่สุดในโลก อันดับ 2 คือ อินเดีย 3 คือสหรัฐฯ 4 คือเกาหลีเหนือ และอันดับที่ 5 คือรัสเซีย ฉะนั้นน่าสนใจว่า แม้สถานการณ์ความตึงเครียดจะลดลง เกาหลีเหนือเองจะลดปัญหาทางทหารที่ใช้เศรษฐกิจพุ่มลงไปกับการสร้างอำนาจทางทหารอย่างเต็มที่อย่างที่เราเห็นในปัจจุบันหรือไม่” ศ.ดร.สุรชาติ กล่าวทิ้งท้าย

AFP.
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image