‘แสวง บุญมี’ เปิดความพร้อมกกต. เลือกส.ว.ชุดใหม่

หมายเหตุนายแสวง บุญมี เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ให้สัมภาษณ์พิเศษ‘มติชน’ ถึงความพร้อมการจัดเลือกสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ชุดใหม่ 200 คน แทน ส.ว.ชุดเก่า 250 คน ที่จะหมดวาระในวันที่ 10 พฤษภาคม รวมทั้งวิธีการเลือกและมาตรการป้องกันการทำผิดกฎหมาย

กกต.มีความพร้อมสำหรับการเลือกสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ชุดใหม่อย่างไร

เหลือเวลาประมาณ 1 เดือนที่จะต้องดำเนินการจัดเลือก ส.ว. ซึ่งเป็นการเลือกแบบเต็มระบบครั้งแรก โดยขณะนี้เหลือระเบียบที่เกี่ยวกับการแนะนำตัวผู้ลงสมัคร ซึ่งอยู่ระหว่างการยกร่างฯ คาดว่าจะเสร็จในเร็วๆ นี้ ส่วนระเบียบตัวอื่นๆ ที่เกี่ยวกับข้อกฎหมายเสร็จครบหมดแล้ว ส่วนบุคลากรที่จะดำเนินการ ขณะนี้ได้ประสานงานกับผู้รับผิดชอบและเครือข่ายต่างๆ โดยอาศัยบุคลากรของกระทรวงมหาดไทยเป็นหลัก เนื่องจากจะเริ่มเลือก ส.ว.จากระดับอำเภอ สำหรับเรื่องงบประมาณรัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณไว้ให้เรียบร้อยแล้ว และจะมีการออกแบบให้ประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วม เพราะการเลือก ส.ว.จะเป็นระบบปิด กกต.พยายามจะทำให้เกิดความโปร่งใสและให้ประชาชนมีส่วนร่วมมากที่สุด เพราะสุดท้ายแม้ประชาชนจะไม่ได้เลือกโดยตรงเหมือนกับการเลือกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) แต่ ส.ว.จะเข้าไปทำหน้าที่เป็นตัวแทนปวงชนชาวไทย ดังนั้น ประชาชนก็ควรมีส่วนร่วมในการเลือกครั้งนี้ด้วย

การเลือก ส.ว.แบบเต็มระบบครั้งแรก ขั้นตอนการเลือกเป็นอย่างไร

Advertisement

ต้องยอมรับว่ามีความซับซ้อน โครงสร้างการเลือก ส.ว.แบ่งออกเป็น 3 ระดับ คือ ระดับอำเภอ ซึ่งทั่วประเทศมีจำนวน 928 อำเภอ ต่อมาคือ ระดับจังหวัด 77 จังหวัดรวมกรุงเทพมหานคร (กทม.) และระดับประเทศ คณะกรรมการเลือกระดับอำเภอ จะมีนายอำเภอเป็นประธาน ระดับจังหวัด ผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นประธาน ส่วนระดับประเทศ กกต.เป็นประธาน เลขาธิการ กกต.เป็นเลขาฯคณะกรรมการการเลือกตั้ง ในแต่ละชั้นจะมีการเลือกขั้นต้นคือ ระดับอำเภอ ให้เลือกกันเองก่อน ผู้สมัครคนหนึ่งมี 2 คะแนน เลือกตัวเองก็ได้หรือเลือกในกลุ่มตัวเองก็ได้ คนที่ได้คะแนนลำดับที่ 1-5 ของแต่ละกลุ่มจะเข้ามาอยู่ในขั้นที่สอง คือ ขั้นการแบ่งสาย โดย 20 กลุ่มระดับอำเภอจะแบ่งสายออกเป็น 4 สาย และให้ผู้สมัครเลือกไขว้ คือ เลือกคนในกลุ่มตัวเองไม่ได้ ให้ไปเลือกกลุ่มอื่น 1 คน คนที่ได้คะแนน 3 ลำดับแรกของแต่ละกลุ่ม จะผ่านมาสู่ขั้นตอนการเลือกระดับจังหวัด (ทั่วประเทศ มี 928 อำเภอ รวม 55,680 คน)

ต่อมาระดับจังหวัด 77 จังหวัด 20 กลุ่ม จะมีคนผ่านเข้ามา 55,680 คน ซึ่งวิธีการเลือกจะเลือกเหมือนระดับอำเภอ ครั้งแรกขั้นต้น คือ เลือกกันในกลุ่มตัวเองก่อน เลือกได้ไม่เกิน 2 คน โดยคนที่ได้คะแนน 5 ลำดับแรก จะผ่านมาสู่ขั้นที่ 2 คือ ขั้นแบ่งสาย เป็นการเลือกไขว้ ห้ามเลือกกลุ่มตัวเอง แต่เลือกกลุ่มอื่นในสายตัวเองได้กลุ่มละ 1 คน คนที่ได้คะแนน 2 ลำดับแรกของแต่ละกลุ่ม จาก 20 กลุ่ม จะเป็นตัวแทนมาขั้นตอนเลือกระดับประเทศต่อไป (ทั่วประเทศ 77 จังหวัด รวม 3,080 คน )

สำหรับระดับประเทศ แต่ละจังหวัด จะมีผู้ที่ได้คะแนน 2 ลำดับแรกของ 20 กลุ่ม เข้ามาสู่ระดับประเทศ คือ 3,080 คนและจะเป็นคนเลือก 200 คน โดยจะแบ่งเป็น 2 ชั้นเช่นกัน ชั้นต้น เลือกกลุ่มตัวเองไม่เกิน 10 คน คนที่ได้ 40 ลำดับแรกของแต่ละกลุ่ม จะเข้ามาอยู่ในขั้นที่ 2 คือ การแบ่งสาย และเลือกกลุ่มละไม่เกิน 5 คน แต่เลือกกลุ่มตัวเองไม่ได้ ซึ่งคนที่ได้คะแนน 10 ลำดับแรกของแต่ละกลุ่มจะได้เข้ามาเป็น ส.ว. ส่วนลำดับที่ 11-15 ของแต่ละกลุ่มจะมีชื่อเป็นตัวสำรอง หมายความว่ามี ส.ว. 200 คน และสำรอง 100 คน

Advertisement

การเลือก ส.ว.เต็มระบบครั้งแรก ขั้นตอนซับซ้อน จะมีมาตรการป้องกันการฮั้วมาลงสมัคร หรือลงคะแนนให้กันอย่างไร

การเลือก ส.ว.ครั้งที่ผ่านมา เป็นการเลือกตามบทเฉพาะกาล คือ เลือกระดับจังหวัดเพียงระดับเดียว 200 คนจาก 10 กลุ่มอาชีพ และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เลือกอีก 50 คน รวม 250 คน แต่ครั้งนี้จะมี 200 คน ซึ่งการเลือกครั้งแรกก็ยังมีการฮั้ว แต่ไม่เยอะ คดีไปถึงศาลฎีกา พอมาครั้งนี้ประเมินว่าจะมีผู้สมัครเป็นจำนวนมาก เพราะมีกลุ่มสาขาอาชีพมากขึ้นเป็น 20 กลุ่ม เลือกแล้วได้เป็น ส.ว.เลย ฉะนั้น ความน่าสนใจและความท้าทายน่าจะทำให้มีผู้สมัครจำนวนมาก ส่วนวิธีการป้องกันนั้น ขณะนี้เริ่มมีข่าวว่าคนคิดจะทำแบบนั้นแบบนี้ ซึ่งเราติดตามทั้งระดับจังหวัดและระดับประเทศ โดยระดับจังหวัดจะมีคนอ้างว่าไปให้ความรู้ แต่สิ่งที่ตามมาคือเท่าที่ได้รับข้อมูล คือ มีการตั้งกลุ่มไลน์ วัตถุประสงค์เพื่ออะไรนั้นตอนนี้ยังไม่ขอพูด แต่เราเก็บข้อมูล

ทั้งนี้ คำพิพากษาศาลฎีกา เคยวินิจฉัยว่า การโทรศัพท์ไปขอคะแนนกันมีความผิด นั่นหมายความว่า การขอคะแนนไม่ว่ารูปแบบใดจึงไม่ใช่การแนะนำตัว คือ การหาเสียงแล้ว ปี 2560 มี 2-3 คดีที่โทรศัพท์ไปขอคะแนน ทั้งนี้ การแนะนำตัว คือ การบอกว่าคุณมีคุณสมบัติอะไร ที่ผ่านมาทำงานอะไร จึงได้ชื่อว่าเป็นผู้ทรงคุณวุฒิ รัฐธรรมนูญต้องการให้ผู้ทรงคุณวุฒิเลือกจากประวัติและสิ่งที่คุณมี ไม่ใช่จากสิ่งที่คุณอยากจะทำ เพราะจะพ้นวิธีการแนะนำตัวและเป็นการหาเสียง ดังนั้น การจัดตั้ง การบริหารการจัดการ หรือการฮั้ว จึงทำไม่ได้เลย รวมถึงการให้คนอื่นมาช่วยแนะนำตัว ทำไม่ได้เลย เพราะเขาต้องการให้คุณแนะนำตัวจากเอกสาร สิ่งที่คุณเคยเป็นมา ไม่ใช่สิ่งที่คุณคิดอยากจะทำ เพราะหน้าที่ ส.ว.กฎหมายระบุชัดอยู่แล้วว่าต้องทำหน้าที่อย่างไรตามกฎหมาย ไม่ใช่ฝ่ายพัฒนาที่จะไปบริหารประเทศ

แม้ตอนนี้ยังประเมินไม่ได้ว่าจะมีผู้มาสมัครจำนวนเท่าใดในแต่ละอำเภอและแต่ละกลุ่มสาขาอาชีพ แต่คิดว่าน่าจะเยอะ ครั้งที่แล้วสมัคร 9,000 กว่าคนครั้งนี้อย่างน้อยก็ครึ่งแสน เพราะคนที่จะผ่านระดับจังหวัดคือ 55,680 คน แสดงว่าไม่น้อยกว่านี้ ถ้า 2 เท่าก็ 1.2 แสนคนได้ ถ้า 3 เท่าก็เกือบ 2 แสนคน ดังนั้น คิดว่าน่าจะเป็นหลักแสนคนขึ้นไป

ส่วนมาตรการป้องกันการฮั้ว การจัดตั้ง ตอนนี้ได้ติดตามความเคลื่อนไหว โดยให้ กกต.ส่วนกลาง และจังหวัด และการข่าวรวบรวมไว้เป็นข้อมูล ถ้ามีพระราชกฤษฎีกาออกแล้ว และยังมีการกระทำนั้นอยู่หรือไม่ ถ้าปรากฏอยู่นั้น กกต.จะต้องยื่นศาลฎีกาเพื่อวินิจฉัยว่าการกระทำแบบนี้เป็นการฝ่าฝืน พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) เราจะมีมาตรการเฝ้าดู ติดตาม กดดันและปราบปราม คนที่คิดจะทำแบบนี้ได้มีไม่เยอะไม่เกิน 4-5 กลุ่ม เพราะมีความซับซ้อน ใช้งบประมาณและคนเป็นจำนวนมาก ซึ่งการใช้คนจำนวนมากย่อมทิ้งร่องรอยให้เราติดตามได้ ด้วยข้อกฎหมายที่มี มาตรการที่เราทำและสิ่งที่เรารู้มา ผมว่าพอที่จะเอาเรื่องนี้ให้อยู่ในร่องในรอยได้

กฎหมายกำหนดห้ามผู้สมัครหาเสียง จะแนะนำตัวผ่านช่องทางใด

ทำพื้นที่ให้โดยโปรแกรมของเรา ทั้งนี้ การเลือกไม่ได้ขอคะแนนเสียงจากประชาชน เพราะประชาชนไม่มีสิทธิเลือก จะได้คะแนนจากกลุ่มกันเอง จึงหาพื้นที่ให้เขาสามารถติดต่อกันได้ในกลุ่มอาชีพเดียวกัน ต่างกลุ่มสาขาอาชีพ หรือกลุ่มสาขาอาชีพในจังหวัด ต่างกลุ่มสาขาอาชีพในจังหวัด ต่างกลุ่มสาขาอาชีพระดับประเทศ ซึ่งตอนเลือกระดับประเทศมันไขว้ทั้ง 77 จังหวัด จึงต้องทราบข้อมูลพอสมควร เขาถึงบอกว่าต้องให้คนดี คนดัง เอ่ยชื่อมาคนรู้จัก โดยไม่ต้องมีใบแนะนำตัว ทั้งนี้ ใบแนะนำตัวระบบเราจะให้ผู้สมัครทุกคนสามารถเข้าไปดูตรงนั้นได้ เพราะเป็นผู้มีสิทธิเลือก ดังนั้น ต้องสร้างพื้นที่ให้มีข้อมูลที่เพียงพอเพื่อจะเลือกได้ ส่วนประชาชน ไม่จำเป็นต้องลงรายละเอียดเพราะไม่มีสิทธิเลือกไม่ว่าการเลือกระดับใดก็ตาม

การเลือก ส.ว.ครั้งนี้ น่าจะมีคนมาสมัครจำนวนมาก มีมาตรการตรวจสอบอย่างไร โดยเฉพาะระดับอำเภอ

ถ้าเราไม่บอกว่าการจัดตั้ง การฮั้ว มีความผิดอาญา คนอาจจะมาสมัครเยอะ แต่ถ้าเราบอกว่าอย่าฮั้วกันมา คุณอาจจะมีความผิดด้วย เพราะร่วมกันมา บางคนอาจจะถอยลง เหมือนฟังข่าวช่วงนี้ เพราะคนสมัครเพื่อไปเลือก ไม่ใช่สมัครเพื่อไปเป็น แต่คุณต้องสมัครเพื่อไปเป็น เพราะเขาต้องการให้ผู้ทรงคุณวุฒิไปเลือกกันเอง แต่ถ้าสมัครไปเลือกเหมือนการลงทะเบียนไปเลือก เสีย 2,500 บาท หากนำเงินคนอื่นมามีความผิดแน่นอน มันมีทั้งจ้างลงสมัคร จ้างลงคะแนน ดังนั้น ขอฝากไปยังผู้สมัคร เริ่มตั้งแต่คุณสมบัติให้ตรวจสอบให้ดี มีความผิดทั้งคนสมัครและคนรับรอง อย่าให้ใครชักชวนมาสมัครโดยที่ตัวเองไม่มีคุณสมบัติ ท่านอาจจะได้เงินค่าสมัคร หรือเงินค่าลงคะแนน ซึ่งทั้งสองอย่างมีความผิด ขอให้คิดให้ดีว่าเป็นผู้ทรงคุณวุฒิหรือไม่ และมีคุณสมบัติหรือไม่ ต้องศึกษาให้ดี ส่วนการจ้างให้ลงคะแนนก็มีความผิด พรรคการเมืองห้ามมาก้าวก่าย ขณะที่ผู้สมัครห้ามยอมรับให้พรรคการเมืองมาก้าวก่าย

กำหนดบทลงโทษผู้กระทำผิดไว้อย่างไร

บทลงโทษอย่างน้อยคือ เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งตลอดชีวิต ไม่สามารถลงเลือกตั้งได้ตลอดชีวิต ถ้าเป็นผู้สมัคร หรือพรรคการเมือง แต่ถ้ารู้ว่าตัวเองไม่มีสิทธิแต่มาลงสมัคร โทษจะเหมือนกับ ส.ส. อย่าเห็นแก่เงิน 2,500 บาท หรือค่าอะไรต่างๆ หรือพรรคพวกเดียวกัน เพราะจะทำลายหลักการที่รัฐธรรมนูญออกแบบมาแม้ว่าประชาชนจะไม่มีสิทธิเลือกได้โดยตรง แต่ว่าเมื่อออกแบบให้คนมาทำหน้าที่แทนปวงชนชาวไทย ควรได้ผู้ทรงคุณวุฒิตามที่รัฐธรรมนูญออกแบบไว้ ไม่ใช่มีคนจัดตั้งไว้ 200 คน และมีคนสมัครมาเพื่อโหวตคน 200 คน แบบนี้ไม่ใช่แล้ว เป็นเรื่องของการเมือง ไม่ใช่ความเป็นกลาง วุฒิสภา ค่อนข้างมีความอิสระ เขาคิดแบบนี้อย่างไรก็โหวตตามนี้ ไม่ใช่คนกลุ่มนี้ คิดแบบนี้ก็โหวตตามทั้งหมด มันผิดหลัก ซึ่งศาลฎีกาได้วางแนวทางไว้แล้วแบบนี้ถือเป็นการแนะนำตัวที่เป็นการฝ่าฝืน การโทรศัพท์ไปขอคะแนน หรือการจัดตั้ง เพราะต้องให้นาย ก. นาย ข. ซึ่งเป็นผู้ทรงคุณวุฒิ เดินไปสมัครเอง ไม่ใช่มีคนส่งเข้าไปสมัคร แต่วันนี้เหมือนจะมีคนส่งเข้าไปสมัคร เพื่อไปลงคะแนนหรือไปเลือก ไม่ใช่สมัครเพื่อไปเป็น ส.ว. แบบนี้ไม่ได้

บุคคลที่มีชื่อเสียง ต้นทุน หรือทรัพยากรทางการเมืองเยอะกว่าคนอื่น อาจไม่ได้รับเลือกเข้ามาเป็น ส.ว.เสมอไป

กฎหมายออกแบบต้องการให้คนดี เด่น ดัง แต่ถ้าเป็นแบบนี้ อาจทำให้คนที่ดี เด่น ดัง อาจจะไม่อยากมา เพราะไม่รู้ว่าใครจะเลือกคุณหรือเปล่า ถ้าคุณไม่ใช่คนที่อยู่ในกลุ่มที่จัดตั้งมา โอกาสที่จะผ่านแค่รอบแรกคุณก็ตกแล้ว ไม่ได้สู้ทั้ง 3 ชั้น คุณไม่มีพวกก็ตกรอบตั้งแต่ชั้นอำเภอ ถ้าเป็นข่าวเยอะๆ คนสนใจจะมาลง จะหายไปเลย แรงจูงใจที่เสียเงิน 2,500 บาทมาลงทำไม ถ้าเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงแต่มาตกตั้งแต่ระดับแรก ดังนั้น สำนักงาน กกต. จึงต้องปกป้อง วิธีการและเป้าหมายของรัฐธรรมนูญที่ออกแบบไว้เช่นนี้

เมื่อต้องตรวจสอบคุณสมบัติให้ดี บุคคลที่รับรอง กลุ่มองค์กร สถานะต้องชัด ในการรับรองบุคคลที่มาลงสมัคร ส.ว. 

ใบสมัครจะมีแบบ ส.ว.เฉพาะเรื่องการรับรองกลุ่มสาขาอาชีพ บางคนอาจจะลงสมัครหลายกลุ่มได้ สามารถเลือกลงได้หลายกลุ่ม หรือบางคนอาจลงได้หลายจังหวัดก็ได้ แต่กฎหมายเขียนข้อห้ามไว้ กำหนดให้ลงสมัครได้อำเภอเดียวและกลุ่มสาขาอาชีพเดียว และระหว่างการรับสมัคร ห้ามเปิดเผยชื่อ หรือจำนวนผู้สมัคร เพราะจะมีส่วนได้เสีย คนจะมาเลือกลงสมัคร บางกลุ่มอาจจะมีไม่ถึง 5 คนก็ได้ ดังนั้น ช่วงการรับสมัครจะห้ามเปิดเผยจนกว่าจะปิดรับสมัคร แล้วจึงจะประกาศ

ส่วนบุคคลที่จะรับรอง เป็นโจทย์ของสำนักงานฯ เช่นกันว่าเวลาเลือกตั้ง ส.ส.หัวหน้าพรรคต้องเซ็นรับรอง ตรวจแล้วตรวจอีก เพราะกลัวว่าจะมีความผิดได้ ซึ่งมีความผิดทั้งผู้ลงสมัครและคนรับรอง แต่อันนี้ให้นาย ก. นาย ข. เหมือนกับรับรองตามกฎหมายนิติกรรมตามกฎหมายแพ่ง สำนักงานฯ คงไม่ได้ตรวจสอบอะไรมาก เพราะถือว่ามีการรับรองแล้ว แต่ถ้ารับรองไม่รอบคอบก็คงจะเกิดปัญหาพอสมควรว่าลงสมัครตรงกลุ่มหรือไม่ เราจะไปวินิจฉัยว่าคุณลงสมัครกลุ่มนี้ไม่ได้ ต้องไปกลุ่มนี้ มีเวลา 5 วัน นึกถึงวันสมัคร คนสมัครเป็นแสน ตรวจคุณสมบัติ 30 ข้อ ตรงนี้คงต้องซักซ้อมกับทางกระทรวงมหาดไทย เนื่องจาก ผอ.การเลือกระดับอำเภอ เป็นผู้พิจารณาและสามารถส่งศาลฎีกาได้เลย ถ้าเห็นว่าไม่มีคุณสมบัติและมีลักษณะต้องห้าม

เราพยายามทำให้จบในแต่ละชั้นจบและสะเด็ดน้ำตั้งแต่อำเภอก่อนขึ้นไปจังหวัด เพราะทุกคนมีโหวตติดตัว มันคงซับซ้อนชั้นอำเภอ เพราะยังประเมินไม่ได้ อย่างไรก็ตาม ที่ต้องทำให้สะเด็ดน้ำ เพราะต้องการให้ได้ ส.ว. 200 ภายในเวลา ต้องประกาศ ส.ว.ครบ 200 คนพร้อมกัน จะประกาศ 190 คนก่อนไม่ได้ และจะทำให้อยู่ในเวลาที่กำหนด เพราะไม่อยากให้บ้านเมืองเสียหาย หรือเสียเวลากับเรื่องแบบนี้ วางแผนว่าต้องได้ ส.ว.ครบ 200 คนภายในเวลาตามที่กฎหมายกำหนด รวมเวลา ไม่เกิน 60 วัน นับแต่มีพระราชกฤษฎีกา

การวางระบบและมาตรการ จะช่วยลดช่องว่างของปัญหาต่างๆ ได้ 

คนรณรงค์ผิดไปจากที่กฎหมายกำหนดไว้ ไปลงสมัครเพื่อไปเลือก ไม่ใช่สมัครเพื่อไปเป็น แต่กฎหมายต้องการให้สมัครเพื่อไปเป็น เพื่อให้ผู้ทรงคุณวุฒิเลือกกันเอง ถ้าสมัครเพื่อไปเลือกแสดงว่าคุณมีปัญหาแล้ว เราจะต้องเอกซเรย์เป็นพิเศษว่าวัตถุประสงค์คุณคืออะไร แค่โทรศัพท์ไปขอคะแนน ศาลฎีกา ตัดสินเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ดังนั้น ทางโซเชียล หากตั้งกลุ่มไลน์มีปัญหา เพราะต่างจาก ส.ส. ครั้งนี้ ถ้าคนสมัคร ส.ว.เป็นแสนคน อาจจะร้องถึงแสนคน เพราะไม่ยาก คนกลุ่มเดียวกันจะร้อง เพราะตกลงกันแล้วไม่ได้แบบที่อยากได้ อาจจะดูซับซ้อนแต่น่าจะผ่านไปได้ด้วยดี

ฝากถึงประชาชนที่ติดตามการเลือก ส.ว. เนื่องจากไม่ได้เลือกแบบวันแมนวันโหวต (One Man One Vote) 

เลือก ส.ว.ตามรัฐธรรมนูญ ประชาชนไม่มีสิทธิเลือก ถ้าอยากมีสิทธิ คือต้องเป็นและมาสมัครเพื่อเลือกเลย เมื่อกฎหมายออกแบบมาเช่นนี้ ส.ว.ทั้ง 200 คน จะทำหน้าที่แทนปวงชนชาวไทย คือทำหน้าที่แทนประชาชน ซึ่งประชาชนคงได้แค่เฝ้าติดตาม ตรวจสอบ ดูความเคลื่อนไหวของผู้สมัครหรือกลุ่มต่างๆ ที่เคลื่อนไหวเกี่ยวกับ ส.ว.ว่าเขาได้ทำให้เป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญออกแบบไว้หรือไม่ ถ้ามีเบาะแส หรือสิ่งบอกเหตุสามารถร่วมมือกับทาง กกต.ได้ ส่วนวันเลือกทุกระดับ เราจะถ่ายวงจรปิดออกมาด้านนอก ให้เห็นบรรยากาศการเลือกว่ามีความโปร่งใสหรือไม่อย่างไร ซึ่ง กกต.ต้องมีมาตรการ เปรียบเหมือนการสอบ ที่ไม่ให้ซ่อนโพย หรือเครื่องมือสื่อสาร แต่เราคงไม่ถึงขั้นนั้น เพียงแต่จะตรวจสอบให้ได้และทำให้ประชาชนเห็นบรรยากาศการเลือก ส.ว.ระหว่างการลงคะแนนแบบลับ

ศิริภา บุญเถื่อน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image