‘สมชัย’ ส่องกฎชิง 200 ส.ว. สกัดบล็อกโหวต-บ้านใหญ่?

หมายเหตุ – รศ.สมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ให้สัมภาษณ์ “มติชน” ถึงมุมมองต่อรัฐธรรมนูญ รวมทั้ง พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ในการเลือก ส.ว.ชุดใหม่ ทั้ง 200 คน ให้สะท้อนเจตนารมณ์ในการเข้ามาทำหน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติ

•ในฐานะที่เป็นอดีต กกต. มองกติกาทั้งรัฐธรรมนูญ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. ในการเลือก ส.ว.ชุดใหม่ 200 คน อย่างไร

การเลือก ส.ว.ชุดใหม่ทั้ง 200 คน เป็นไปตามมาตรา 107 ของรัฐธรรมนูญ ที่ระบุถึงวิธีการได้มาของ ส.ว. ว่าให้มาจากการคัดเลือกกันเองระหว่างกลุ่มผู้สมัครอาชีพต่างๆ 20 กลุ่มอาชีพ และยังระบุว่า แต่ละกลุ่มประกอบด้วยกลุ่มอาชีพย่อยอะไรบ้าง ซึ่งค่อนข้างลำบากกับ กกต.ที่จะออกแบบ เพราะต้องนึกถึงการเลือกทั้ง 3 ระดับ ได้แก่ อำเภอ จังหวัด และประเทศ

อีกทั้งกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญเขียนรายละเอียดไว้ว่า ในระดับอำเภอก็ต้องมีการเลือกกันเองภายในกลุ่ม และค่อยมีการเลือกไขว้ระหว่างกลุ่มอื่นๆ และสิ่งที่ กกต.จะทำได้ คือการทำให้เกิดความสมบูรณ์มากขึ้น และทำให้กระบวนการแยกกลุ่มเป็นจริง แต่สิ่งที่ กกต.ออกแบบมา ในระเบียบการเลือก ส.ว. ตามที่ กกต.ออกแบบให้คนสมัครตามกลุ่มอาชีพนั้น ค่อนข้างหละหลวมพอสมควร ที่หละหลวมเพราะการที่ใครจะระบุว่าตนเองอยู่ในกลุ่มอาชีพอะไร กกต.จะให้บุคคลเป็นผู้รับรองเพียง 1 คนเท่านั้น พร้อมกับบัตรประชาชนหรือสำเนาบัตรประชาชน และพยาน 1 คน พร้อมบัตรประชาชนหรือสำเนาบัตรประชาชน

Advertisement

ยกตัวอย่าง หากใครจะสมัครในกลุ่มอาชีพชาวนา ชาวสวน และกลุ่มอาชีพอิสระ ก็ไม่ต้องมีองค์กรใดมารับรอง แต่ต้องมีบุคคลมารับรองคุณสมบัติ ว่าประกอบอาชีพนี้ไม่ต่ำกว่า 10 ปี ทำให้การที่คนจะสมัครเข้าไปในกลุ่มอาชีพใดก็อาจจะปราศจากการตรวจสอบ ว่าบุคคลคนนั้น ประกอบอาชีพตรงตามกลุ่มอาชีพจริงหรือไม่

•การกำหนดให้มีการเลือกกันเองจาก 20 กลุ่มอาชีพ จะสะท้อนเจตนารมณ์ของประชาชน ในการได้มาของ ส.ว.หรือไม่ อย่างไร

ไปไม่ถึงประชาชนอยู่แล้ว เพราะการเลือกกันเองระหว่างผู้สมัคร ส.ว.จาก 20 กลุ่มอาชีพ เท่ากับว่าใครจะมีสิทธิเลือกต้องมีฐานะเป็นผู้สมัครก่อน โดยการยอมจ่ายเงิน 2,500 บาท เป็นค่าสมัคร เพื่อเข้าไปเลือก พร้อมกับยื่นหลักฐานต่างๆ ให้ครบถ้วน จึงจะมีสิทธิเลือก ส่วนประชาชนทั่วไปไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเลือก ส.ว.อยู่แล้ว

Advertisement

เป็นอีกหนึ่งจุดอ่อนว่า ส.ว. เป็นเพียงแค่ตัวแทนคนกลุ่มเล็กๆ กลุ่มหนึ่ง สุดท้ายผมยังไม่แน่ใจว่าจะได้ตัวแทนจากกลุ่มอาชีพทั้ง 20 กลุ่ม กลุ่มละ 10 คนจริงหรือไม่ เพราะ 1 คน สามารถลงสมัครได้หลายกลุ่มอาชีพ เมื่อสามารถลงได้หลายกลุ่มอาชีพก็คาดเดาได้ว่า เวลามีคนเลือกว่าจะลงสมัครในกลุ่มอาชีพใดนั้น ก็คงไม่ได้ตั้งอยู่บนพื้นฐาน หรือตั้งบนเหตุผลว่าเขาทำอาชีพนี้มานาน หรือเป็นสัดส่วนเวลาชีวิตมากที่สุดในอาชีพนี้ หรือจะลงในกลุ่มอาชีพที่เขาคิดว่ามีความรู้ความเชี่ยวชาญสูงสุดในกลุ่มอาชีพนี้ แต่ผู้สมัครจะเลือกจากกลุ่มอาชีพที่เขาคิดว่าน่าจะมีการแข่งขันน้อย ดังนั้น ก็อาจจะไม่ได้คนที่ได้ประสบการณ์ตรงกับกลุ่มอาชีพที่แท้จริง

•กลุ่มการเมือง กลุ่มบ้านใหญ่ที่มีฐานเสียงสนับสนุน จะอาศัยกติกา สร้างความได้เปรียบการส่งคนไปเป็น ส.ว.ได้มากกว่ากลุ่มอื่น ได้หรือไม่

สำหรับการออกแบบที่ให้ผู้สมัครเลือกกันเองในกลุ่มอาชีพ โดยเริ่มต้นจากระดับอำเภอ เป็นการเปิดโอกาสว่า หากเกิดการเกณฑ์คนมาสมัคร ส.ว.จำนวนหนึ่ง ซึ่งมีจำนวนเพียงพอที่จะเลือกกันเอง เพื่อให้เข้าไปเป็น 1 ใน 5 คน ในรอบแรก ก็มีโอกาสทำได้

ดังนั้น สำหรับคนที่มีอิทธิพลในระดับจังหวัด หากวางแผนไว้ดีก็สามารถส่งคนของตัวเองทะลุเข้าไปถึงระดับตัวแทนจังหวัดได้ การเริ่มต้นสมัครตั้งแต่ระดับอำเภอในแต่ละกลุ่มอาชีพ เพื่อให้ได้ผู้สมัครจำนวนมากในการเข้าไปเลือกกันเองเพื่อให้ผ่านเข้าไป เท่ากับว่ายังไงผ่านการเลือกในระดับอำเภอ หาก 5 คนนั้น เป็นคนของกลุ่มผู้มีอิทธิพลในพื้นที่ ถึงจะให้กลุ่มอาชีพอื่นเข้ามาเลือกไขว้ 3 ใน 5 คน ไม่ว่าจะเลือกอย่างไร ก็จะได้คนของผู้มีอิทธิพลนี้อยู่ดี เมื่อผ่านแล้วก็จะไปรวมในจังหวัดที่มีอำเภอน้อย ซึ่งจะมีโอกาสในการเข้ามาจัดการได้มากกว่าจังหวัดที่มีอำเภอเยอะ

ยกตัวอย่าง จังหวัดที่มีอำเภอน้อยที่สุด คือจังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งมีแค่ 3 อำเภอ ตัวแทนจากกลุ่มอาชีพ 3 คนในแต่ละอำเภอ 3 อำเภอ รวมเป็น 9 คน ในระดับจังหวัดที่มีการเลือกกันเอง เราจะคัดเลือกผู้สมัครจาก 9 คน ให้เหลือเพียง 5 คน ซึ่ง 5 คนนี้ ก็ยังเป็นคนของคุณอยู่ดี เมื่อได้ 5 คนในระดับจังหวัดแล้ว ถึงแม้จะเป็นการเลือกไขว้ โดยให้กลุ่มอาชีพอื่นเลือกเพื่อให้เหลือผู้สมัคร 2 คน ก็ยังเป็นคนของเขาอยู่ดี

ผมจึงบอกว่าหากกลุ่มผู้มีอิทธิพลมีกระบวนการจัดการ โดยมีการวางแผนที่ดีและระดมคนให้ลงสมัครในกลุ่มอาชีพต่างๆ ได้เยอะ ก็จะสามารถทะลุไปถึงระดับจังหวัดได้ ส่วนรอบสุดท้าย จากจังหวัดละ 2 คน ไปรวมในระดับประเทศ 1 กลุ่มอาชีพ เท่ากับมี 154 คน ก็ต้องเลือกกันเองให้เหลือ 40 คน สมมุติว่าเครือข่ายของกลุ่มผู้มีอิทธิพลที่อาจมีกลุ่มพรรคการเมืองหนุนหลัง ก็สามารถประสานกันระหว่างจังหวัดได้ เพื่อขอให้ช่วยเหลือการเลือกกันเองให้เหลือ 40 คน ในท้ายที่สุดแล้ว หากกลุ่มผู้มีอิทธิพลเหล่านั้นวางแผนดีในการจัดการ เราก็อาจได้คนเหล่านั้นเข้ามาเป็น ส.ว.

•กติกาการเลือก ส.ว.ที่มีอยู่ในขณะนี้ จะอุดช่องโหว่ การบล็อกโหวต จากกลุ่มการเมือง หรือผู้สมัครที่มีฐานเสียงสนับสนุน หรือมีทรัพยากรทางการเมืองมากกว่าผู้สมัครคนอื่นได้หรือไม่

กติกาหนึ่งซึ่งออกแบบมาดี คือ ในการสมัครตั้งแต่วันสมัครวันแรกจนถึงวันสมัครวันสุดท้าย ตามกฎหมายนั้นห้ามคณะกรรมการที่รับสมัคร เปิดเผยจำนวนและชื่อบุคคลที่สมัครในระดับอำเภอ แปลง่ายๆ คือจะไม่มีความเคลื่อนไหวออกมาให้ทราบว่าแต่ละอำเภอมีคนสมัครแล้วกี่คน ซึ่งเรื่องนี้อยู่ในกติกาที่ห้ามเปิดเผย และหากฝ่าฝืนนั้นก็เป็นความผิดทางอาญา หากสามารถดำเนินการได้จริง ผู้ที่จะอาศัยช่องโหว่ในการจะส่งคนให้เข้าไปสมัครจำนวนมาก ก็จะประเมินไม่ถูกว่ามีคนสมัครเท่าไหร่ หรือต้องเกณฑ์คนไปจำนวนเท่าไหร่ถึงจะเพียงพอในการชนะด้วยเสียงธรรมชาติ

แต่สิ่งที่ผมเป็นห่วง คือ แม้จะเป็นกติกาที่ระบุว่าห้ามเปิดเผย แต่สำหรับคนที่มีอิทธิพลหรือมีความเกี่ยวข้องกับคนใน กกต.ก็สามารถรู้ความเคลื่อนไหวได้อยู่ดี กกต.เองต้องระมัดระวังและเตือนคนของตัวเองว่าต้องเคร่งครัดในการไม่เปิดเผยข้อมูลดังกล่าว

อีกทาง คือประชาชนก็ต้องช่วยกัน ถือเป็นโอกาสที่เราจะเปลี่ยนแปลงการเมืองเปลี่ยนแปลง ส.ว. ให้มาจากตัวแทนของประชาชนจากหลากหลายกลุ่มอาชีพที่แท้จริง ดังนั้น หากคุณอยู่ในกลุ่มอาชีพใดก็แล้วแต่ ให้ลองนึกถึงศักยภาพของตัวเองว่าไหวหรือไม่ หากไหวก็ขอเสนอให้มาร่วมลงสมัครด้วย เพราะคุณเองอาจจะมีโอกาสที่จะได้เข้ามาเป็น ส.ว.ก็ได้ อย่าคิดเพียงแค่ว่าเสียสละสมัครเพื่อเข้าไปเลือกคนอื่น หากคิดแบบนั้นก็ถือว่ายาก เพราะหลายคนคงไม่ได้อยากจะจ่ายเงิน 2,500 บาทฟรีๆ และก็ไม่รู้ว่าเราจะได้อะไร เป็นเรื่องยากที่ประชาชนจะเสียสละขนาดนั้น

เพราะการเลือกตั้งที่ผ่านมาคนก็ยังไม่ค่อยออกไปใช้สิทธิ ผมอยากสนับสนุนให้สมัครเพื่อที่จะได้เป็นตัวแทนด้วย ให้เชื่อมั่นว่าเรามีความรู้ความสามารถเพียงพอ คนที่จะเข้าไปเป็น ส.ว. ไม่ได้ต้องการความรู้หรือความสามารถในเชิงกฎหมาย หรือเข้าใจในกลไกต่างๆ มากนัก แต่ขอให้เข้าใจสิ่งที่เป็นปัญหาของกลุ่มอาชีพ รวมถึงการออกกฎหมายด้วย หากมีความสามารถจนเป็นที่ยอมรับของคนอื่นๆ คุณก็อาจมีโอกาสเข้าไปเป็น ส.ว. ทำประโยชน์ให้กับบ้านเมืองได้

•การเลือก ส.ว.ครั้งนี้ จะได้คนที่มีความรู้ ความสามารถที่เหมาะสมตรงตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญได้หรือไม่

ขึ้นอยู่กับว่ามีตัวเลือกมากเพียงพอหรือไม่ หากประชาชนดูถูกศักยภาพของตัวเองคิดว่าไม่มีความเหมาะสม จึงไม่สมัครเข้าไปเลือก ส.ว. การเลือก ส.ว.ก็จะถูกจำกัดอยู่ภายใต้คนกลุ่มหนึ่งซึ่งอาจจะเป็นกลุ่มการเมืองเก่า เขาจะคิดว่านี่คืออีกช่องทางในการเข้าไปสู่ตำแหน่งของเขา และไม่ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงใดๆ แต่หากประชาชนตระหนักถึงศักยภาพและช่วยกันสมัครเข้ามาเป็น ส.ว. เชื่อว่าสามารถเปลี่ยนแปลงทางการเมืองได้ หรืออาจจะได้คนที่เป็นตัวแทนของประชาชนจริงๆ ผมคิดว่ามีโอกาสเป็นไปได้หากประชาชนช่วยกัน

•ส.ว.ชุดใหม่ทั้ง 200 คน แม้จะไม่มีอำนาจเลือกนายกรัฐมนตรีแล้ว แต่อำนาจหน้าที่ที่มีอยู่มองว่ามีความสำคัญต่อกลไกทางการเมืองอย่างไร

ผมมองว่ายังมีความสำคัญมากอยู่ ในหลายๆ หน้าที่ก็ยังคงเป็นเรื่องสำคัญ อย่างเรื่องพื้นฐานในการกลั่นกรองกฎหมาย ซึ่งกฎหมายที่ผ่านจากสภาผู้แทนราษฎรแล้ว ก็ต้องผ่านที่ประชุมวุฒิสภา เพราะฉะนั้น ส.ว.มีสิทธิที่จะทักท้วงหรือให้ความเห็น หรือแม้กระทั่งยับยั้งการออกกฎหมายที่อาจเป็นปัญหาต่างๆ ได้ เรื่องของการให้ความเห็นชอบในการแต่งตั้งองค์กรอิสระไม่ว่าจะเป็น กกต. คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ศาลรัฐธรรมนูญ ผู้ตรวจการแผ่นดิน ส.ว.ต้องให้ความเห็นชอบต่อองค์กรต่างๆ เหล่านี้ และยังมีองค์กรอื่นๆ ซึ่งอาจจะไม่ได้เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ แต่เขียนไว้ในกฎหมายของตนเอง ว่ากระบวนการในการสรรหาสุดท้ายต้องมาลงมติเลือกที่วุฒิสภา มีอีกหลายตำแหน่งที่ ส.ว.จะต้องเป็นฝ่ายคัดเลือก

หาก ส.ว.เลือกโดยสุจริตจากความรู้ ความสามารถ คุณสมบัติที่เหมาะสม เราจะได้คนที่มีความสามารถเข้าไปทำงานในองค์กรเหล่านั้น และอีกสิ่งสำคัญ คือ การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ส.ว.ยังคงเป็นกลไกสำคัญในการให้ความเห็นชอบการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะรัฐธรรมนูญมาตรา 256 ระบุว่า การที่จะเสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญให้ผ่านวาระที่หนึ่งและวาระที่สาม จะต้องใช้เสียงข้างมากของที่ประชุมรัฐสภาแล้ว ซึ่งในเสียงข้างมากดังกล่าวจะต้องมี ส.ว.ให้ความเห็นชอบด้วยอย่างน้อย 1 ใน 3 หรือประมาณ 67 คน หากไม่ได้เสียง ส.ว.เข้ามาให้ความเห็นชอบด้วย การแก้ไขรัฐธรรมนูญก็จะไม่สามารถเกิดขึ้นได้

•อยากให้เชิญชวน ทุกกลุ่มอาชีพให้เข้ามาสมัคร ส.ว. และภาคประชาชน ควรร่วมติดตามการเลือก ส.ว.ครั้งนี้ว่ามีความสำคัญได้อย่างไร

ประชาชนสามารถติดตามความเคลื่อนไหวต่างๆ ได้ แต่การที่จะเข้าไปสังเกตการณ์ในการเลือก ส.ว. ตามระเบียบกฎหมายที่ระบุไว้ก็ไม่ได้เปิดโอกาสให้ทำเช่นนั้น อาจจะต้องเรียกร้องไปยัง กกต.ว่าต้องเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าไปร่วมสังเกตการณ์การเลือก ส.ว.ได้ ส่วนประชาชนที่มีความพร้อม มีศักยภาพ มีความสามารถที่เหมาะสม ที่คิดว่าสามารถเข้าไปทำประโยชน์ได้ และไม่ได้ติดขัดเรื่องเงินมากไปนัก ผมก็อยากให้สมัครเข้าไปเป็น ส.ว. และใช้สิทธิของท่านในการเลือกคนที่เหมาะสม

หากสามารถเข้ารอบไปจนถึงรอบสุดท้ายได้ ท่านก็มีโอกาส ที่จะเป็น ส.ว. เป็น 1 ใน 200 คนที่เข้าไปทำประโยชน์ให้กับประเทศชาติได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image