เปิดมุมมอง ‘พนัส ทัศนียานนท์’ ลุยศึกชิงเก้าอี้ส.ว.

หมายเหตุนายพนัส ทัศนียานนท์ อดีตอัยการและอดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ให้สัมภาษณ์พิเศษ “มติชน” ถึงจุดยืนและแนวคิดการลงสมัครรับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ชุดใหม่ 200 คน

ผมได้เปิดตัวลงสมัคร สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) พร้อมพาเพื่อนกว่า 28 คน ลงสมัครด้วย เพราะว่าผมได้เคยประกาศไว้ว่า เป็นมิชชั่นสุดท้ายของตัวเองแล้ว เป็นทั้งภารกิจและพันธกิจเลยก็ว่าได้ เพราะว่า 1.ผมอายุ 81 ปี ย่าง 82 ปี ถือว่าแก่มากแล้ว 2.เนื่องจากผมเคยเป็นอดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ในปี 2540 ในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ขึ้นมา ด้วยความคิดที่ว่า เราจะทำรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนที่แท้จริง ให้เป็นรัฐธรรมนูญของประชาชน อำนาจเป็นของประชาชนโดยแท้จริง

หากยังจำได้อยู่ว่า มีประเด็นที่ถกเถียงกันพอสมควร คือคำว่า อำนาจอธิปไตย “เป็นของ” ประชาชน หรือว่า “มาจาก” ประชาชน ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับก่อนหน้าใช้คำว่า “มาจากปวงชนชาวไทย” ดีเบตกันค่อนข้างมากกันเลยทีเดียวว่า “มาจาก” หรือ “เป็นของ” กันแน่ ซึ่งส่วนตัวได้ถกเถียงเป็นอย่างมากในเรื่องนี้ แต่ลงมติกันว่า น่าจะใช่คำว่า “เป็นของประชาชน” มากกว่า

เพราะเห็นว่า รัฐธรรมนูญฉบับแรกของเราจริงๆ ที่เกิดขึ้นมา คือในปี 2475 ฉบับที่คณะราษฎรประกาศเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 คำว่า ‘อำนาจสูงสุดของประเทศนั้นเป็นของราษฎรทั้งหลาย’ แต่ปรากฏว่า หลังจากนั้นต่อมาก็เห็นความคลี่คลาย เห็นพัฒนาการหรือสิ่งที่เกิดขึ้นตามหลังมา ที่ทำให้เห็นว่า อันที่จริงแล้วไม่มีส่วนไหนเลยที่เป็นอำนาจของประชาชน ส่วนที่ว่าเป็นสิทธิเสรีภาพ เขียนเอาไว้อย่างโก้หรู ต่างชาติฟังดูแล้วคงคิดว่าคนไทยคงจะมีสิทธิเสรีภาพมากแน่ๆ ด้วยซ้ำไป แต่ในทางปฏิบัติจริงๆ แล้ว เกือบจะเรียกได้ว่า เราแทบจะไม่มีสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานที่ว่านี้เอาเสียเลยก็ว่าได้

Advertisement

คำว่า “สิทธิเสรีภาพ” สิทธิที่จะแสดงออกซึ่งความคิดเห็น เขาถือกันว่าเป็นหัวใจของระบอบประชาธิปไตย คือถ้าจะมีการปกครองประชาธิปไตยกันแบบจริงแล้วๆ แต่สิ่งนี้มันไม่มี หรือมีแบบบกพร่อง ไม่สมบูรณ์ ก็เกือบจะเรียกได้ว่า มีไปก็ไม่มีประโยชน์อะไร เป็นประชาธิปไตยแต่เพียงในนามเท่านั้น แต่ในเนื้อแท้จริงๆ แล้วไม่มี

จากสิ่งที่เกิดขึ้นมา หลังรัฐธรรมนูญ 2540 ถูกยกเลิก ก็เกิดรัฐธรรมนูญ 2550 มีการกลายพันธุ์ไปเรื่อยๆ โดยเฉพาะในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน 2560 กลายเป็นว่าอำนาจจริงๆ แล้วไม่ได้อยู่ที่ประชาชน กรณีล่าสุดเราจะเห็นได้เลยว่า ผู้ที่มีอำนาจสูงสุดมากกว่าใครเพื่อน ในอำนาจอธิปไตย 3 อำนาจ คืออำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร และอำนาจตุลาการ ซึ่ง “อำนาจตุลาการ” ถือเป็นอำนาจที่สูงสุด สามารถที่จะเข้าตรวจสอบ แล้วก็บอกได้ด้วยว่า การใช้อำนาจนิติบัญญัติก็ดี อำนาจบริหารก็ดี ตรงไหนไม่ถูกต้อง ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจที่บอกว่าสิ่งไหนทำได้ สิ่งไหนทำไม่ได้ ในผลสุดท้ายจริงๆ แล้ว อำนาจติดอยู่ที่ฝ่ายตุลาการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอยู่ในมือของ ‘ศาลรัฐธรรมนูญ’ ซึ่งถือว่ามีอำนาจสูงสุดในขณะนี้ สามารถตัดสินอย่างไรก็ได้แต่ก็ยังผูกพันอยู่ทุกองค์กร รวมถึงการเลือก ส.ว.ด้วย และผมต้องการเข้าไปเป็น ส.ว.อีกครั้ง เพื่อเข้าไปแก้รัฐธรรมนูญ

เพื่อให้องค์ประกอบต่างๆ ที่มีอยู่ในรัฐธรรมนูญปัจจุบัน ที่จั่วหน้าขึ้นต้นมาตั้งแต่มาตราแรกเลย ม.1, 2 และ 3 มักจะเขียนไว้เสมอว่า “อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย” สิ่งทั้งหลายที่เกิดขึ้นตามมา แล้วนำมาบรรจุไว้เป็นรัฐธรรมนูญ แต่ละองค์กรที่สร้างขึ้นมา องค์ประกอบแต่ละส่วนที่เกิดขึ้นมานั้น เป็นกลไกที่สุดท้ายแล้วทำให้เกิดผลว่า แท้ที่จริงประชาชนคนไทยไม่ได้มีอำนาจอะไรอยู่เลย เพราะฉะนั้น จึงเป็นสิ่งที่ผมคิดว่าน่าจะต้องเข้าไป เป็นพันธกิจ (Commitment) ก่อนที่จะจากโลกนี้ไป

Advertisement

ในช่วงเวลาที่ผ่านมา ผมเคยเป็น ส.ว. 1 ครั้ง ช่วงปี 2543-2549 วาระ 6 ปี ตามรัฐธรรมนูญ 2540 โดยในช่วงนั้นอำนาจของ ส.ว.ค่อนข้างมาก เกี่ยวกับเรื่องการรับรอง การคัดเลือกบุคคลมาดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ ทั้งคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.), คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.), คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน (กสม.) ต่างๆ สิ่งเหล่านี้เริ่มต้นมา ทำให้เราเริ่มรู้สึกแล้วว่า ไม่ได้เป็นอย่างที่เราคิดตอนร่างรัฐธรรมนูญ ทั้งกระบวนการสรรหาต่างๆ ที่พยายามสร้างให้ดูว่า มันน่าจะสามารถคัดเลือกคนมาได้อย่างดี แต่เกิดเป๋ไป

โดยสรุปคือ สิ่งต่างๆ ที่เขียนไว้ หนีไม่พ้นการ “ล็อบบี้” กันหมด ในการลงมติเพื่อที่จะเห็นชอบ หรือเลือกใครให้ดำรงตำแหน่ง ซึ่งในส่วนของการที่ ส.ว.ร่วมโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ไม่ว่าจะสมัยไหนไม่เคยมี เพิ่งจะมีสมัยล่าสุดที่ผ่านมา ซึ่งเขากำหนดขึ้นมาเฉพาะ ส.ว.ชุดปัจจุบันที่กำลังจะหมดวาระในวันที่ 10 พฤษภาคมนี้ ตั้งขึ้นมาเพื่อใช้ในการสืบทอดอำนาจ ปกครองบ้านเมืองให้ถึงเกือบ 10 ปีเช่นนี้ จำได้หรือไม่ ในปี 2562 การเลือกตั้งครั้งที่แล้ว เขาได้ลงมติเลือกใคร เป็นสิ่งที่บ่งบอกว่าเป็นกลไกการสืบทอดอำนาจ ของการทำรัฐประหารเมื่อปี 2547 เมื่อมาถึงเวลาเช่นนี้แล้ว ส.ว.ชุดนี้เขาไม่เอาแล้ว พ้นไปแล้ว หมดเวลาที่ต้องอยู่ในวันที่ 10 พฤษภาคมที่จะถึงนี้

จากชุดเดิมปัจจุบันที่สืบทอดอำนาจ มี 250 คน แต่ ส.ว.ในชุดใหม่ที่จะเลือก ตามรัฐธรรมนูญฉบับปกติ ที่ไม่ใช่ตามบทเฉพาะกาล เราจะมี ส.ว. 200 คน แต่ระบบเลือกตั้งอย่างที่ทราบกันแล้วว่า มันสลับซับซ้อนมาก ก็มีคำถามกันว่า เขาสร้างระบบนี้ขึ้นมาทำไม

อย่างไรก็ตาม ผมมองว่าจำนวนคนที่ลดลง หรือเพิ่มขึ้นไม่ได้ส่งผลอะไรมาก แต่มีความหมายในแง่ที่ว่า ส.ว.ชุดใหม่ที่เข้ามาตามบทบัญญัติปกติของรัฐธรรมนูญ 200 คน อำนาจจะยังมีเหมือน ส.ว.ชุดที่กำลังจะจบสิ้นไปทุกอย่าง ยกเว้นอำนาจแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี เพราะฉะนั้นอำนาจที่มีการคัดเลือกแต่งตั้ง ความเห็นชอบพวกองค์กรอิสระ ต่างๆ ยังมีความครบถ้วนหมดทุกอย่าง รวมทั้งมีอำนาจร่วมกับสภาผู้แทนราษฎร ในการพิจารณากฎหมาย ที่เรียกว่า “กฎหมายเพื่อปฏิรูปประเทศ”

เพราะฉะนั้น ส.ว.ชุดใหม่ที่กำลังจะเข้ามานี้ โดยความเห็นของผม ที่ทำให้ตัดสินใจลงสมัครอีกครั้ง ก็คืออำนาจเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่ง ส.ว.ชุดปัจจุบันมีอยู่แล้ว ตามมาตรา 256 ของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ส่วน ส.ว.ชุดใหม่ที่ผมจะลงสมัคร ก็มีอำนาจนี้เช่นเดียวกัน เพราะในการแก้ไขรัฐธรรมนูญทุกครั้ง ถึงแม้ว่าจะได้คะแนนเสียงข้างมากทั้ง 2 สภารวมกันแล้ว แต่แค่นั้นยังไม่พอ ยังต้องมีเงื่อนไขที่ว่า เสียงข้างมากที่ให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะต้องมีเสียง ส.ว. 1 ใน 3 จากจำนวน ส.ว.ทั้งหมด 200 คน ก็คือ 67 คน เป็นเงื่อนไขที่สำคัญที่สุด สมมุติว่าคะแนนเสียงของสภาผู้แทนราษฎร รวมกับ ส.ว. มันจะเกินครึ่ง แต่ถ้าหากยังไม่ได้คะแนนเสียงสนับสนุนของ ส.ว. ให้ความเห็นชอบถึง 67 คนด้วย ก็ไม่ผ่าน

ส่วนเรื่องการที่ต้องจ่าย 2,500 บาท เป็นค่าลงสมัคร ส.ว. หากคุณต้องการลงสมัคร ส.ว. วันไปสมัครทุกคนต้องมีเงินไปจ่ายด้วย นอกเหนือจากเอกสารหลักฐานแบบที่เขากำหนดว่าจะต้องนำไปแสดง แต่มีคนเขาบอกว่า ค่าสมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) แพงกว่านี้ด้วยซ้ำ เป็นหมื่น สิ่งที่แตกต่างกันก็คือว่า การที่สมัคร ส.ส. คนที่เลือกคือประชาชนออกเสียงเลือกตั้งทั้งหมด มีประชาชนที่มีสิทธิเลือกตั้งโดยประมาณ 52 ล้านคน แต่การเลือก ส.ว.ที่กำลังจะเกิดขึ้นครั้งนี้ ประชาชนทั่วไปไม่มีสิทธิ หากคุณไม่ลงสมัครเป็น ส.ว.ด้วย คุณไม่มีสิทธิเลือก เพราะฉะนั้นหากคุณคิดว่าคุณชอบใคร สมมุติคุณชอบผม คุณต้องจ่าย 2,500 บาท ลงสมัคร ส.ว.ด้วย ถึงจะมีสิทธิออกเสียงเลือกผมได้ แตกต่างจากการเลือก ส.ส.ที่ประชาชนเลือกโดยไม่ต้องเสียสตางค์เลยสักบาท

ในส่วนของประชาชนที่ต้องการเข้าไปสังเกตการณ์เลือกตั้ง ส.ว. ล่าสุดมีการออกกฎแล้วว่า เข้าไปไม่ได้ ก็มีการรณรงค์กัน อย่าง โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (ไอลอว์) ที่สมัครเข้าไปเพื่อไปโหวต หรือถ้าไม่อยากจะโหวต อย่างน้อยได้สังเกตการณ์การเลือก ส.ว. ว่ามีอะไรที่เกิดขึ้นแบบไม่ปกติหรือไม่ เพราะไม่ให้ใครเข้าไปสังเกตการณ์ได้เลย เราต้องฟังว่า กกต.ทำไมถึงมีเหตุผลเช่นนั้น เพราะ กกต.มีอำนาจตามรัฐธรรมนูญให้ไว้ ซึ่งอ้างว่าต้องการให้การเลือก ส.ว. เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม เขาบอกว่ามันมีการฮั้วกันได้ การเลือกแบบนี้

เรื่องการนับคะแนน น่าจะเป็นสิ่งที่ไม่มีปัญหาเหมือนเลือก ส.ว. เพราะเลือกกันเองไม่กี่คน แต่ผมเชื่อว่าสิ่งที่จะร้องเรียนกันตามมามีอย่างแน่นอน อาจจะมีการทุจริตกันแบบอื่นมากกว่า กกต.ก็มีการเตือนกันแล้วว่า “ห้ามฮั้วกัน” ส่วนความหมายคำว่า ฮั้วกัน มีอะไรกันบ้าง ต้องมาตีความกัน ยกตัวอย่างหากผมจะลงสมัคร ก็อาจจะไปตกลงกับใคร ให้เลือกผม หากคุณเลือกผม ผมให้เงิน นี่คือการฮั้วกัน และซื้อเสียงด้วย ถ้าบรรดากลุ่มการเมืองต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นพรรคการเมืองหรือไม่ หากเขารวมกลุ่มรวมตัวกันได้ แล้วขนคนมาลงสมัครเพื่อที่บล็อกคนใดคนหนึ่งไม่ให้เป็น อาจจะเกิดขึ้นได้ ยกตัวอย่างถ้าเกิดมีใครที่ไม่อยากให้ผมเป็น เขาอาจจะมีพรรคพวกที่มีปัจจัยทำได้ ส่งคนไปลงที่อำเภอของผม และกลุ่มอาชีพที่ผมจะลง แล้วก็เลือกคนของเขากันเอง แล้วตัวผมมีแค่ 1 เสียง เป็นต้น

ผมไม่แน่ใจเลยว่า ในบรรดา 29 ผู้สมัคร ส.ว.และรวมถึงตัวผมเองจะรอดผ่านเข้าไปได้ไหม จากประเด็นที่กล่าวมานี้ โดยเฉพาะบรรดานักการเมือง ถ้าเขาไม่ต้องการเห็นพวกผมที่มีความคิดแบบนี้ เข้าไปอยู่ในวุฒิสภา เขาก็บล็อกได้ แล้วจะมีการร้องเรียนกันอีกเยอะแน่นอน ทั้งร้องจริง-แกล้งร้อง มีเยอะแยะไปหมด

เราจะมีโอกาสเข้าไปอยู่ในสภาได้อย่างที่หลายคนคิดหวังหรือไม่ เพราะจากภาพแล้วดูดี เป็นนักวิชาการ บรรดากลุ่มสายอาชีพต่างๆ แต่มันจะเกิดสิ่งนี้ขึ้นได้ก็ต่อเมื่อ คุณช่วยกันลงสมัคร ต้องเสียสละตรงนี้ ท่านอาจจะยอมเสีย 2,500 บาท ขอให้เราได้ไปโหวตให้คนที่เราอยากให้เป็น ให้เขาเข้าไปอยู่ในวุฒิสภาให้ได้ ต้องมีคนคิดแบบนี้เยอะๆ เป็นหมื่นเป็นแสนคน ถึงจะมีโอกาสเข้าไปได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image