เสียงจากรุ่นเดอะผสานรุ่นใหม่ จับตา‘วันสุดท้าย’ สมัคร (ส.ว.) เพื่อเปลี่ยน สมัครเพื่อโหวต

ผศ.ทัศนัย เศรษฐเสรี

เสียงจากรุ่นเดอะผสานรุ่นใหม่
จับตา‘วันสุดท้าย’
สมัคร (ส.ว.) เพื่อเปลี่ยน สมัครเพื่อโหวต

24 พฤษภาคม 2567

วันนี้ คือวันสุดท้ายของการเปิดรับสมัครสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ชุดใหม่

หลังจากวันแรก 20 พฤษภาคม ระบบล่ม ซ้ำเงียบเหงา ย้อนแย้งบรรยากาศตื่นตัวของประชาชน

Advertisement

19 พฤษภาคมที่ผ่านมา ที่ข่วงประตูท่าแพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือ iLaw เปิดโต๊ะคลินิกให้คำปรึกษาเตรียมตัวสมัคร ส.ว. ท่ามกลางประชาชนชาว จ.เชียงใหม่ที่ประสงค์ลงสมัคร ส.ว.มาขอรับคำปรึกษา และตรวจสอบคุณสมบัติกันอย่างต่อเนื่อง แม้ช่วงค่ำจะมีฝนตกโปรยปรายลงมาระหว่างการจัดกิจกรรมก็ตาม

ช่วงเย็นย่ำ มีเวทีเสวนาหัวข้อ ‘จะได้อะไรจากระบบใหม่ที่เลือกกันเอง’ ต่อด้วยเสวนาหัวข้อ ‘ฟังเสียงคนรุ่นใหม่ที่ไม่มีสิทธิสมัคร ส.ว. และไม่มีสิทธิเลือก ส.ว.’

ถ้าโมโห ‘ไปลง ส.ว.’ ไม่มีอะไรต้องอาย ‘เราถูกดับหวังไปหลายรอบ’

Advertisement

ผศ.ทัศนัย เศรษฐเสรี อาจารย์คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดเวทีว่า ทุกจังหวะของการเลือกตั้ง คือช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของฝ่ายอนุรักษนิยม จารีตนิยม กลัวตัวเลข กลัวคณิตศาสตร์ กลัวความเป็นจริง กลัวการใช้เหตุผลที่ประจักษ์พิสูจน์ได้

“เมื่อไหร่ที่ประชาชนร่วมมือกัน เขาจะรู้ดีว่าจะสูญเสียอะไร การเลือกตั้ง ส.ว.ในครั้งนี้ เราพิสูจน์ให้เห็นว่าท่านไม่ต้องกังวล ท่านไม่ต้องเกรงกลัวต่อผู้ใด เราไม่ใช่คนคิดร้าย เราเป็นคนปรารถนาดีต่อประเทศนี้ และเราเป็นผู้มีความสามารถ เป็นผู้เชี่ยวชาญในด้านต่างๆ ซึ่งในกฎระเบียบ กกต. ลองไม่กำหนดอายุดูไหม? จะมีหนุ่ม-สาวจำนวนมาก อาสามาเป็น ส.ว.อย่างแน่นอน” ผศ.ทัศนัยกล่าว ก่อนตั้งคำถามด้วยว่า ทุกเรื่องที่เรารู้สึกโมโหในทุกๆ วัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องคนฆ่าตัวตายเพราะไม่สามารถแบกภาระค่าใช้จ่ายในครอบครัวได้ เรื่องการเกิดอุบัติเหตุไม่มีหน่วยพยาบาลเข้าไปช่วยเหลืออย่างเท่าทัน เราจะทนเป็นประชาชนที่ต้องแบกภาระความโกรธเกรี้ยว ความโมโหรายวันอย่างนี้ต่อไปอีกหรือ?

“เข้าไปแก้มันในระบบ เข้าไปเดินในสภา เขาบอกว่าค่าข้าววุฒิสมาชิก 800 บาทต่อมื้อ เข้าไปชิมหน่อย อร่อยแค่ไหน” ผศ.ทัศนัยกล่าว ทั้งยังเผยต่อไปว่า ในตำแหน่งที่เรายืนอยู่ เราอยากเห็นสังคมที่มีความเป็นประชาธิปไตย สังคมที่คนเท่ากัน คนในเจเนอเรชั่น X มีหลายคนที่ไม่กล้าออกมายืนข้างนอก ไม่กล้าที่จะเปิดเผยตัวเอง เพราะกลไกการด้อยค่าเพื่อนมนุษย์ ทำให้เรากลายเป็นคนอื่น ให้เรากลายเป็นเชื้อโรคของสังคม

“เราถูกดับความหวังไปหลายรอบแล้ว ในการสมัคร ส.ว. ไม่มีสิ่งใดที่ต้องเหนียมอาย ที่จะต้องปกปิดตัวเอง ที่จะออกมาคัดสรร ส.ว.ในครั้งนี้ให้สังคมดีขึ้น โค้งสุดท้ายนี้ ความหวัง ความฝันเราไม่เคยจนตรอก และเราจะสู้ เราจะขับเคลื่อน เราจะผลักดันสังคมให้ดีขึ้น ไม่ว่าโอกาสนั้นจะเล็กเท่ารูเข็มก็ตาม” ผศ.ทัศนัยทิ้งท้าย

เกษตรกรรุ่นใหม่ ‘ฝากชิง ส.ว.’ แก้ รธน. ช่วยคนจนเป็นอย่างแรก

ด้าน วิศรุต ศรีจันทร์ สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) ขึ้นกล่าวในนามลูกหลานเกษตรกร ว่า ที่ผ่านมาพี่น้องกลุ่มเกษตรกรรายย่อย และกลุ่มชาติพันธุ์ ต้องเจอกับการใช้กฎหมายที่ไม่เป็นธรรม 10 ปีที่ผ่านมา เราเจอกับสถานการณ์ทวงคืนผืนป่า ในเขตป่าตอนนี้พี่น้องเราเจอกับคดีที่ไม่เป็นธรรม กว่า 46,000 คดี

อีกส่วนหนึ่งคือเรื่องของ ‘ที่ดิน’ เกษตรกรรายย่อยที่อยู่ในเมืองหรือชนบท ก็ถูกใช้กฎหมายในการเปลี่ยนแปลงผังเมือง จากพื้นที่เกษตรกรรม กลายเป็นพื้นที่อุตสาหกรรม และใช้อำนาจทางกฎหมายให้นายทุนเข้ามาซื้อที่ดิน มือใครยาวสาวได้สาวเอา ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

ในนามสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ เป้าหมายของเราที่ยึดมาตั้งแต่สมัยเป็น สหพันธ์ชาวนาชาวไร่แห่งประเทศไทย ก็ยังยึดเป้าหมายเดิมว่า มันต้องเกิดการปฏิรูปที่ดินในประเทศไทย แต่ปัญหาก็คือ การใช้รัฐธรรมนูญ ในการยืนหยัดหลักการ มันไม่สามารถเป็นไปได้ในสถานการณ์ปัจจุบัน เพราะมีการไปใช้พระราชบัญญัติ ใช้มติอื่นๆ ที่มากดทับ กดขี่

“ความฝันของเกษตรกรหรือกลุ่มชาติพันธุ์ในพื้นที่ทำงานของสหพันธ์เกษตรฯ ภาคเหนือ คิดว่าตอนนี้เรามีพระราชบัญญัติอยู่ 6 ตัวด้วยกันที่จะผลักดัน

ส่วนแรกเราคิดว่าต้องมีการจำกัดการถือครองที่ดิน หรือภาษีที่ดินอัตราก้าวหน้า ส่วนที่ 2 คือต้องมีกลไกในการกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรม ส่วนที่ 3 ก็คือเรื่องของสิทธิชุมชน ที่ชุมชนจะมีอำนาจในการบริหารจัดการที่ดิน เพราะว่าที่ผ่านมา มีการใช้กฎหมายอย่างไม่เป็นธรรม

การที่จะได้ ส.ว.ชุดใหม่กว่า 200 คน เราจะยึดหลักการแบบนี้ในการที่ผลักดันให้เกิดกฎหมายของประชาชนไหม ที่ประชาชนเขียนกฎหมายขึ้นมา เพราะว่าที่ผ่านมาชุดเก่า หรือว่า 250 คน ไม่สามารถผลักดันให้เกิดตามเป้าหมายของประชาชนได้เลย

นี่คือภารกิจทางประวัติศาสตร์ ตั้งแต่สมัยสหพันธ์ชาวนาชาวไร่แห่งประเทศไทยมาจนถึงสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ ที่กำลังผลักดันกันอยู่ และคิดว่าความฝันของเราที่จะเข้าไปสู่กฎหมายที่เป็นธรรม สู่การปฏิรูปที่ดินของเกษตรกร คิดว่ายังเป็นเป้าหมายหลักที่เราต้องรวมกันผลักดันอยู่ โดยเฉพาะ ส.ว.ที่จะมาเป็นชุดใหม่นี้” วิศรุตกล่าว

พี่เสื้อแดงยอมไหม? เยาวชนร้องขอ ‘ช่วยกันลง ส.ว.’ ดันปมล้อมปราบขึ้นศาล ICC

จากนั้น มาฟังเสียงเยาวชน อย่าง อชิรญา บุญตา นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง ที่เน้นย้ำความสำคัญและบทบาทหน้าที่ของ ส.ว.ว่า ที่ผ่านมาไม่ว่าจะเป็นสภาพอากาศ ไม่ว่าจะเป็นระบบขนส่งสาธารณะ ทุกอย่างขึ้นอยู่กับการพิจารณาของสภา ทุกอย่างต้องออกกฎหมาย ส.ว.มีหน้าที่เยอะแยะ ไม่ว่าจะเป็นการกลั่นกรองกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นการเห็นชอบ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ หรือแม้กระทั่งอาชีพที่ดูจะไม่เกี่ยวกับการเมือง

เยาวชนหญิงยังฝากคำถามถึง ‘พี่ๆ เสื้อแดง’ ว่าพี่ๆ มีความฝันใช่หรือไม่ ว่าอยากเห็นเมืองไทยลงนามในอนุสัญญา รับรองรัฐธรรมนูญกรุงโรมว่าด้วย ศาลอาญาระหว่างประเทศ อยากเห็นการคืนความยุติธรรมให้คนเสื้อแดงใช่หรือไม่ แล้วถ้ามีการพิจารณาว่าจะมีการลงนามจะต้องใช้เสียงของรัฐสภา หมายความว่า ส.ส.กับ ส.ว.จะต้องลงนามไปด้วยกัน จะต้องโหวตยกมือไปด้วยกันถึงจะผ่าน แปลว่า ศาลอาญาระหว่างประเทศ (ICC) ที่พี่น้องอยากได้ ก็ขึ้นอยู่ในมือของ ส.ว.เช่นกัน

“พี่น้องจะยอมหรือไม่ยอม ถ้าวันนี้ไม่ยอม น้องมีความฝัน พี่ๆ ก็มีความฝัน เราแลกหน้าที่กันไหม ให้น้องได้พูด ได้ขอร้องให้พี่ๆ ทุกคนไปลงสมัคร ส่วนพี่ๆ ทุกคนก็ไปสมัครให้น้อง ไปทำตามความฝันของตัวเอง ไปทำตามข้อเรียกร้องของตัวเอง หรือพี่อาจจะมีความฝันเดียวกันกับน้อง ที่อยากจะเห็นประเทศไทย มีรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ เอาไหม?”

รศ.ดร.เก่งกิจ กิติเรียงลาภ

อิฐทุกก้อนที่เราก่อ ‘มันคือเงื่อนไขของชัยชนะ’

ขณะที่ รศ.ดร.เก่งกิจ กิติเรียงลาภ อาจารย์คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จับไมค์เอ่ยวาทะ ว่า

“ผมเป็นคนที่ไม่ศรัทธาระบบใดเลยแม้แต่ระบบเดียว แต่ชื่นชมคนที่พยายามหาทุกช่องที่จะต่อสู้ได้ในระบบ เพราะการต่อสู้บนถนนสำหรับผมเป็นการชี้ขาดก็จริง แต่จะไม่สามารถต่อเนื่องได้ ถ้าไม่มีอิฐแต่ละก้อนที่วางลงไปให้เกิดกระแสของการต่อสู้อย่างต่อเนื่อง”

คมกริบตามสไตล์ ก่อนร่ายยาวอีกว่า การต่อสู้บนเวทีของ ส.ว.เป็นอีกเวทีหนึ่งที่ทำให้เรื่องราวของความหวังและการต่อสู้มันดำเนินต่อไปได้ ซึ่งหลายคนอาจจะไม่ชนะบนกติกาแบบนี้ แต่มันเป็นเงื่อนไขที่ทำให้เรายังมีเวทีแบบนี้ และเราสามารถพูดว่า เรายังต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยอยู่

อย่างไรก็ตาม การประเมินความสำเร็จของการต่อสู้ไม่ใช่การประเมินว่าพรุ่งนี้เราได้หรือไม่ได้ แต่มันคือการประเมินในวันที่เราชนะ ซึ่งในตอนนี้เรายังไม่ได้รับชัยชนะ แต่อิฐทุกก้อนที่เราได้ก่อกันขึ้นไปมันคือเงื่อนไขของชัยชนะทั้งนั้น เพื่อทำให้ความหวังว่าการได้ประชาธิปไตยจะทำให้วันรุ่งขึ้นชีวิตดีขึ้น ถึงแม้ไม่มีเงินสักบาทก็ตาม แต่จะไม่มีวันตายบนถนน นี่คือส่วนหนึ่งของความหวัง

เมื่อผู้ดำเนินรายการถามว่า มีโอกาสหรือไม่ที่ ส.ว.ชุดหน้าจะดีกว่าชุดที่ผ่านมา หรือโอกาสของเราในการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะมีโอกาสมากขึ้น?

รศ.ดร.เก่งกิจให้คำตอบว่า ไม่ว่าจะได้คนที่เป็นฝ่ายประชาธิปไตยไปกี่คนก็ตาม มันก็จะดีขึ้น เพราะที่ผ่านมามันแย่ที่สุด คนรอบตัวที่รู้จักลงสมัคร ส.ว.เยอะมาก ไม่ทราบว่าเราจะได้ ส.ว.ที่ดีขึ้นหรือไม่ แต่สิ่งที่สำคัญคือบรรยากาศความตื่นตัวทางการเมือง

“ผมคิดว่านี่คือส่วนสำคัญเลย หลังจากมีการเลือกตั้งเกือบ 1 ปี เราไม่มีบรรยากาศของความตื่นตัวทางการเมืองในระดับนี้ ซึ่งผมรู้สึกว่านี่เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด เป็นส่วนที่ทำให้บรรยากาศของประชาธิปไตยกำลังหล่อเลี้ยงตัวมันเอง และสิ่งที่ผมสนใจมากกว่าอย่างอื่นคือ การที่ผู้คนส่งต่อบรรยากาศของประชาธิปไตย ซึ่งไม่ได้จบที่การเลือกตั้ง

ผมคิดว่าทำอย่างไรที่เราอาจไม่ได้มีการตื่นตัวในระดับที่มีการเคลื่อนไหวทางการเมืองบนท้องถนน แต่เรายังพูดเรื่องประชาธิปไตยได้ ต่อให้มีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง แต่มีการตื่นตัวทางการเมืองนี้อยู่ ซึ่งผมรู้สึกว่าเป็นบรรยากาศที่ตื่นตัวที่สุดตั้งแต่หลังเลือกตั้งเป็นต้นมา และผมก็รู้สึกชื่นชม” รศ.ดร.เก่งกิจทิ้งท้าย

ศิริศักดิ์ ไชยเทศ

‘ชาติพันธุ์ปลดแอก’ โกรธจัด!-นักสิทธิ LGBTQ+ ประสานเสียง หวัง ส.ว.ฟื้นสังคมเท่าเทียม

หันมาผายมือยังฟากฝั่งความหลากหลาย ต้น ศิริศักดิ์ ไชยเทศ นักสิทธิมนุษยชนด้านความหลากหลายทางเพศ เผยว่า จากการให้ประชาชนสามารถมีสิทธิลงสมัคร ส.ว.ได้ รู้สึกดีใจและมีความหวังที่เราอยากให้ประเทศไทยดีขึ้น โดยเรื่องที่ตนเป็นตัวตั้งตัวตีมาโดยตลอด มีดังนี้

1.พนักงานบริการทางเพศ หรือ Sex Worker ซึ่งเป็นงานบริการชนิดหนึ่งที่ใช้ทักษะ ใช้ฝีมือ และเป็นงานที่ขาดไม่ได้ในตลาดแรงงาน แต่ทำไมได้รับการปฏิบัติไม่เท่าเทียม ทั้งสวัสดิการต่างๆ และยังถูกตีตราว่านำเรือนร่างมาแลกเศษเงิน

จากสถิติสหภาพพนักงานบริการแรงงานสากลได้เปิดเผยข้อมูลว่า ประเทศไทยมีพนักงานบริการทางเพศมากกว่า 250,000 คน ซึ่งเป็นอันดับ 8 ของโลกนั้น แสดงว่าพวกเราคือซุปเปอร์ซอฟต์เพาเวอร์

2.ต้องผลักดันความเท่าเทียมทางเพศ แม้ว่ากำลังจะได้รับเหมือนเป็นของขวัญ คือ กฎหมายสมรสเท่าเทียม แต่ตนมองว่าไม่ใช่ของขวัญ เพราะการสมรสต้องเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานอยู่แล้ว ไม่ใช่ของขวัญพิเศษใดๆ

พรชิตา ฟ้าประทานไพร

ด้าน พรชิตา ฟ้าประทานไพร กลุ่มเครือข่ายชาติพันธุ์ปลดแอก กล่าวว่า ชาติพันธุ์ ก็คือคน การเลือก ส.ว.ในครั้งนี้ต้องมีอายุ 40 ปีขึ้นไปถึงจะสมัครได้ แน่นอนว่าคนรุ่นใหม่อย่างเราไม่สามารถสมัคร ส.ว.ได้ ไม่สามารถเข้าไปมีส่วนร่วมได้ แต่เชื่อว่าสนามนี้เป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่

“เราในฐานะชาติพันธุ์คนรุ่นใหม่ที่มีความฝันและความหวังที่เชื่อว่าคนเท่ากัน อยากให้มีตัวแทนเข้าไปในสนามนี้ เป็นตัวแทนเพื่อเป็นปากเป็นเสียง แต่ยากมาก เพราะถูกแบ่งให้อยู่ในกลุ่มผู้เปราะบาง ซึ่งมีทั้งผู้พิการ-ผู้สูงอายุ กลุ่มชาติพันธุ์และอัตลักษณ์อื่นๆ เมื่อได้ทราบข้อมูลว่าแบ่งแบบนี้รู้สึกโกรธมาก เพราะเชื่อว่ากลุ่มชาติพันธุ์ก็เป็นประชากรส่วนใหญ่ที่ช่วยพัฒนาประเทศนี้เหมือนกัน” พรชิตาระบายใจ

เริงฤทธิ์ ละออกิจ

สหภาพบาริสต้าฯ ย้ำความเจ็บปวดแรงงาน หวัง ส.ว.ชุดใหม่ สร้างสถาบันภาคประชาชน

ปิดท้ายที่ เริงฤทธิ์ ละออกิจ สหภาพแรงงานบาริสต้าเชียงใหม่ ที่แจ้งเตือนว่า ระหว่างที่เรากำลังขับเคลื่อนในสมรภูมิ หรือมุ่งสู่การขับเคลื่อนสมรภูมิในสภา อย่าลืมตั้งแนวรบในการต่อสู้นอกสภา

“23.8093 เปอร์เซ็นต์ คือค่าสมัครของการสมัคร ส.ว. เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของกลไกที่เรียกว่าประชาธิปไตยของประเทศนี้ ซึ่งเป็นตัวเลขของค่าสมัครต่อค่าแรงขั้นต่ำของเชียงใหม่ ปัจจุบันอยู่ที่ 350 บาท เหลือ 10,500 บาทต่อเดือน ค่าสมัคร ส.ว. ถือว่าเป็นเงิน 23.8093 เปอร์เซ็นต์ของค่าแรงขั้นต่ำของเชียงใหม่ นั่นหมายถึงว่ากลไกนี้กีดกัน และผลักดันไม่ให้คนอีกประมาณ 60-70 เปอร์เซ็นต์ของประเทศ เข้ามามีส่วนร่วมในการคัดเลือกกลไกที่จะมีผลกระทบกับชีวิตของเขา” เริงฤทธิ์คำนวณยิบ แล้วอธิบายต่อไปว่าถ้านำคนไทย 68 ล้านคน มายืนเรียงหน้ากระดาน คนที่มีรายได้น้อยที่สุดอยู่หางแถว คนที่มีรายได้มากที่สุดอยู่หัวแถว คนตรงกลางของประเทศนี้มีรายได้ต่อเดือนเพียงแค่ 7,500 บาท

การที่คนคนหนึ่งจะเข้าไปมีส่วนได้ส่วนเสีย การกำหนดชีวิต หรือการกำหนดอนาคตของตนเองนั้น ต้องมีต้นทุนมากเหลือเกิน ประชากรทุกคนเป็นเจ้าของประเทศ แต่สิ่งที่เขากำลังกำหนดกลไกขึ้นมากับการเลือก ส.ว. ที่ไม่ใช่การเลือกตั้ง ส.ว.ด้วยซ้ำ นี่คือกลไกการผลักดันและกีดกันการมีส่วนร่วมของประชากรทั้ง 99 เปอร์เซ็นต์ของประเทศนี้

เจตนารมณ์ที่แท้จริงที่เราต้องไปให้ถึงในปลายทางของประชาธิปไตยที่เราวาดฝัน คือ คนทุกคนต้องสามารถที่จะมีส่วนร่วม กำหนด ออกเสียงของตัวเองได้ ในฐานะพลเมืองของประเทศ ข้อจำกัดทางด้านใดๆ ที่มีอยู่ ข้อจำกัดที่บอกว่าต้องมีต้นทุนทางสังคมมากกว่าคนอื่น ต้นทุนที่จะต้องจ่าย 2,500 บาท จงพังทลายมันเสีย นี่คือเสียงที่อยากจะฝากถึงพี่ๆ ที่มีอายุเกิน 40 ปีขึ้นไป และกำลังจะสมัคร ส.ว.” เริงฤทธิ์กล่าว

จากนั้น ยกคำของ ศาสตราจารย์ ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ ว่าสิ่งที่เรากำลังจะเห็นอยู่ตอนนี้คือ สิ่งที่เรียกว่า ‘รัฐนาฏกรรม’ หมายความว่ารัฐมีหน้าที่ในการควบคุมทุกอย่าง และประชาชนทุกคนมีหน้าที่เป็นผู้เฝ้าดูเท่านั้น ซึ่งเป็นสิ่งที่สามารถอธิบายและใช้กับการเลือก ส.ว.ได้ดีมาก

“อยากฝากพี่ๆ ที่จะเป็น ส.ว.ในอนาคตว่า โปรดรับเอาความฝัน และความหวังของพวกผมที่จะต้องการให้ประเทศไปข้างหน้าต่อ และมีประชาธิปไตยเต็มใบกับเขาสักที ในส่วนข้อเสนอที่ผมอยากจะขับเคลื่อนไปต่อ คือ การชวนให้ทุกคนตั้งสถาบันการเมืองภาคประชาชน โดยประชาชน และเพื่อประชาชน เพราะในขณะที่เรากำลังต่อสู้กันเพื่อจะได้ที่นั่งในสภา เพื่อเปลี่ยนแปลงกลไก

แต่ประชาชนที่ไม่ได้เข้าร่วมในมหรสพนี้ หรือคนที่อายุน้อยกว่า 40 ปีลงมา เราก็สามารถมีส่วนร่วมเกี่ยวกับการเมืองของเราได้เช่นเดียวกัน โดยที่ไม่ต้องเกี่ยวกับเรื่องของอายุ นี่คือสิ่งที่ผมและเพื่อนๆ กำลังทำร่วมกันอยู่ คือ การจัดตั้งสหภาพแรงงาน เพราะไม่มีสถาบัน หรือองค์กรใดที่จะสามารถปกป้องผลประโยชน์ของทุกคนในฐานะผู้ทำงานได้นอกจากสหภาพแรงงาน” เริงฤทธิ์กล่าว พร้อมทิ้งท้ายว่า

ขอให้ ส.ว.ที่มีเจตจำนงที่จะเข้าไปเปลี่ยนแปลงองค์กร ผลักดัน เปลี่ยนแปลง แก้ไข ยกเลิก ส.ว. แล้วมาสร้างสถาบันการเมืองภาคประชาชน อย่าง สหภาพแรงงานร่วมกัน

ทีมข่าวเฉพาะกิจ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image