ดร.ญาณินี ไพทยวัฒน์ พานั่งไทม์แมชชีนย้อนดู ‘ทาส’ ในประวัติศาสตร์ไทย

ดร.ญาณินี ไพทยวัฒน์ พานั่งไทม์แมชชีนย้อนดู‘ทาส’ในประวัติศาสตร์ไทย

“อยากศึกษาแค่คำถามเดียวว่ามันปรากฏอยู่ในหลักฐานประวัติศาสตร์อะไรบ้าง อยากรู้แค่นั้น แต่พออ่านไปเยอะๆ รู้สึกว่าเขาไม่ค่อยพูดเรื่องทาสกันเลยนะ แต่พอมีการเลิกทาสก็ถูกพูดถึงซะใหญ่โต โดยเฉพาะประเด็นการถูกทำร้าย การถูกกดขี่ข่มเหง

คำถามคือมันถึงขั้นนั้นเหรอ แล้วถ้าพูดถึงประเด็นเรื่องการลงโทษที่มีการเฆี่ยนตีในภาพทาสผ่านละครนั้น จริงๆ แล้วการลงโทษแบบนี้เป็นเรื่องปกติ คนที่เป็นเจ้านายถ้าทำผิดก็โดนเฆี่ยน แต่มันรับไม่ได้ในสังคมยุคปัจจุบัน อาจจะเป็นเพราะเราดูละครตอนเด็กๆ เยอะ ตอนนั้นรู้สึกสงสาร การเป็นทาสลำบาก ต้องอยู่บ้านเจ้านาย แต่พอเราไปทำงานประวัติศาสตร์ก็รู้ว่าเขาก็ลำบาก แต่ก็ยังดีกว่าไปเป็นไพร่”

คือคำตอบของ ดร.ญาณินี ไพทยวัฒน์ อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ต่อข้อสงสัยของผู้ถามที่ถามถึงจุดแรกเริ่มในการทำหนังสือ ‘ทาสไท(ย): อำนาจ ความกรุณา และปิยมหาราชในภาพจำ’ ที่เพิ่งตีพิมพ์กับสำนักพิมพ์มติชนสดๆ ร้อนๆ โดยหนังสือเล่มนี้พาผู้อ่านย้อนไปดูว่า เรื่องราวเกี่ยวกับพระราชกรณียกิจเลิกทาสของรัชกาลที่ 5 ที่เรารับรู้กันในปัจจุบันเกิดขึ้นมาได้อย่างไร และถูกผลิตซ้ำผ่านรูปแบบใดบ้าง

ADVERTISMENT

ผู้เขียนโปรยบทแรกในหน้า 14 ได้น่าสนใจด้วยการพูดถึงคำอธิบายเรื่องทาสไทยเปลี่ยนไปตามอำนาจทางการเมือง และกลุ่มผู้สร้างคำอธิบายเรื่องทาสไทยที่ประกอบด้วยกลุ่มชนชั้นนำ กลุ่มนักเขียนวรรณกรรม กลุ่มนักวิชาการ และกลุ่มนักเขียนสารคดี… โดยคำอธิบายที่เกิดขึ้นมีผลต่อความเข้าใจของคนส่วนใหญ่ในสังคมไทยจนกลายเป็น “วาทกรรมทาสไทยกระแสหลัก” ขณะที่คำอธิบายที่สร้างความเข้าใจเรื่องทาสไทย แต่ส่งผลต่อคนส่วนน้อยในสังคมไทยจะกลายเป็น “วาทกรรมทาสไทยกระแสรอง”

ดร.ญาณินีเล่าว่า จบปริญญาเอกจากบัณฑิตวิทยาลัย ศูนย์เอเชียแปซิฟิกศึกษา มหาวิทยาลัยวาเซดะ ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เป็นลูกศิษย์ ศาสตราจารย์เออิจิ มูราชิมา (Eiji Murashima) นักประวัติศาสตร์ชาวญี่ปุ่นที่สนใจเรื่องประวัติศาสตร์ไทย เป็นคนชอบเรียนประวัติศาสตร์ไทยแต่เวลาเรียนก็ต้องเชื่อมโยงประวัติศาสตร์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และยุโรป แต่ที่ถนัดคือประวัติศาสตร์ไทยสมัยใหม่ตั้งแต่รัชกาลที่ 4 จนถึงช่วง พ.ศ.2475

ADVERTISMENT

“ชอบอ่านหนังสือประวัติศาสตร์อยู่เรื่อยๆ หนังสือของสำนักพิมพ์มติชนก็เป็นตัวเลือกในการเลือกซื้อหนังสืออยู่ประจำ แต่สมัยเรียนปริญญาตรีชอบอ่านนวนิยาย และชอบดูภาพยนตร์แนวประวัติศาสตร์ ย้อนยุค สืบสวนสอบสวน

หนังสือเล่มนี้จริงๆ แล้วมาจากวิทยานิพนธ์ตอนเรียนปริญญาโทที่ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อยากทำเรื่องทาสไทย แค่อยากรู้ว่าลักษณะของทาสไทยเป็นอย่างไร เพราะเรื่องทาสเป็นประเด็นใหญ่ของในแง่วิชาการ โดยเฉพาะทาสในอเมริกาเป็นประเด็นยิ่งใหญ่มากกับการเกิดสงครามกลางเมือง ในช่วงปริญญาตรี จึงทำให้ไปค้นหาเรื่องลักษณะของทาสไทยในห้องสมุดและหอจดหมายเหตุว่าเราจะเอาคำอธิบายเรื่องทาสในยุคก่อนมาจากที่ใดบ้าง

พอมาในช่วงปริญญาโทก็พัฒนาสิ่งที่เคยทำคือสานต่อเรื่องทาสไทย และได้ไอเดียจาก รศ.ฉลอง สุนทราวาณิชย์ ที่พูดขึ้นมาในชั้นเรียนว่าเรื่องการเลิกทาสเป็นเรื่องที่พูดถึงกันมาก เลยอยากทำให้เราอยากกลับไปค้นว่าทำไมเรื่องการเลิกทาสจึงถูกพูดกันเยอะ

ส่วนใหญ่เราจะสัมผัสเรื่องทาสผ่านหนังสือประวัติศาสตร์และละครโทรทัศน์ สมัยเด็กๆ ที่ดูก็จะมีเรื่องนางทาส ลูกทาส เราจึงนำไปคิดต่อว่าหรือเรื่องทาสเป็นวาทกรรม เพราะตอนที่เรียนประเด็นเรื่องแนวคิดยุคหลังสมัยใหม่ มีการบอกว่าทุกอย่างเป็นเรื่องของคำพูด เป็นเรื่องที่ถูกประดิษฐ์ ถูกสร้างขึ้นมาโดยคนรุ่นหลัง แล้วถ้าเรื่องทาสมันเป็นวาทกรรม เราจะหาบทพูด คำสนทนา หรือการพูดถึงทาสจากที่ไหนได้บ้าง”

⦁การนำเสนอเรื่อง ‘ทาส’ ในสังคมไทยเป็นอย่างไร?

ในหนังสือแบบเรียนสมัยรัชกาลที่ 5 ยังไม่มีการพูดถึงทาส แต่มาถูกพูดถึงในช่วงปี พ.ศ.2520 เป็นต้นมา ซึ่งเขียนโดยกรมวิชาการ ก็จะซ้ำวาทกรรมเดิมๆ อธิบายแค่ว่าทาสเป็นชนชั้นใต้ปกครองและข้ามไปพูดประเด็นเรื่องการเลิกทาสเลย ทาสจึงไม่ได้มีคำอธิบายมากไปกว่าการเลิกทาส ประเด็นเรื่องการถูกกดขี่ข่มเหงจะพูดถึงมากที่สุดในหนังสือแบบเรียนไม่ว่าจะเป็นตั้งแต่ชั้นประถมถึงมัธยม และที่แปลกใจคือมีถึงขั้นอธิบายในเชิงละคร คล้ายบทละครเรื่องลูกทาส เราเลยสงสัยว่าช่วงนั้นกระแสละครลูกทาสมาแรงหรือเปล่า (หัวเราะ) ที่พูดถึงว่าการเป็นทาสมันแย่อย่างไร โดยไม่ได้พยายามตั้งคำถามให้คนอ่านคิด แต่แค่ให้คนอ่านมีความรู้สึกร่วม เลยกลายเป็นว่าประเด็นเรื่องทาสมีความรู้สึกร่วม สร้างความรู้สึกร่วมกับคนที่เป็นนักเรียนหรืออาจารย์ผู้สอนมากกว่า และกลายเป็นว่าการมองทาสไทยเหมือนจะถูกเทียบกับละครโทรทัศน์ แต่ถ้าในโลกของวิชาการเรื่องทาสถูกหยิบยกมาพูดชัดเจนโดย จิตร ภูมิศักดิ์ ที่พูดในเรื่องของระบบการกดขี่ทาส เป็นส่วนหนึ่งของระบบที่ชนชั้นเจ้านายกดขี่

กลายเป็นว่าพวกฝ่ายซ้ายเป็นคนที่หยิบเรื่องทาสมาพูดในวงวิชาการก่อน และหลังจากนั้นก็จะเริ่มมีงานเขียน เรื่องทาสซึ่งมีไม่มาก ส่วนใหญ่ไม่เป็นประเด็นเรื่องที่จิตรเคยเขียนก็จะเป็นประเด็นเรื่องการเป็นแรงงานที่สำคัญในช่วงที่มีการเซ็นสนธิสัญญาเบาว์ริงและเกิดระบบทุนนิยมเข้ามา จึงทำให้ระบบการเกณฑ์แรงงานแบบเดิมเสื่อมสลายและทาสก็จะอยากออกไปประกอบอาชีพเป็นแรงงาน

⦁มีวิธีเล่าเรื่องอย่างไรให้แตกต่างจากหนังสือประวัติศาสตร์จ๋า?

จริงๆ ต้องขอบคุณ บ.ก.ซัน (ปิยวัฒน์ สีแตงสุก บรรณาธิการเล่ม) เขาก็ให้ไอเดียว่าน่าจะวางบทแบบไหนเพราะเราค่อนข้างใหม่กับการทำหนังสือ เพราะเวลาเราเขียนวิทยานิพนธ์ก็เป็นงานวิชาการ แต่พอมาทำเป็นหนังสือจะต้องเป็นงานที่อ่านง่าย เข้าใจง่าย เลยมีการคุยร่วมกันเรื่องการแบ่งบทแล้วแบ่งออกมาเป็น 7 บท โดยเริ่มจากการปูพื้นฐานความรู้ว่าปฐมบทเรื่องของทาส เราจะสามารถพบบันทึกเรื่องราวของทาสได้จากที่ไหนบ้าง ปูพื้นไม่ยากสำหรับคนอ่านที่อาจจะไม่ได้ชอบประวัติศาสตร์มากแต่สนใจ และพูดถึงแนวความคิดในสังคมสมัยรัชกาลที่ 4 ในตอนที่พบกับชาวตะวันตกอย่าง แอนนา เลียวโนเวนส์ ที่เข้ามาดูแลพระราชโอรสให้รัชกาลที่ 4 และตั้งคำถามว่าโลกข้างนอกมีการเลิกทาสกันหมดแล้ว

ถ้าสยามอยากจะเป็นสังคมสมัยใหม่ทำไมยังอยากจะมีทาสอยู่ เหมือนเราค่อยๆ ปูพื้นฐานองค์ความรู้ก่อน และค่อยๆ เพิ่มเนื้อหาในแง่ของกำเนิดวาทกรรมว่าเริ่มต้นสร้างในช่วงแรกตอนไหน มีข้อเขียนหรือคำอธิบายเรื่องทาสหลังรัชกาลที่ 5 อย่างไรบ้าง และในช่วง พ.ศ.2475 ที่ยิ่งตอกย้ำเรื่องของสิทธิเสรีภาพ ก็จะนำเอาทาสมาพูดอีกแบบหนึ่งว่ามันขัดสิทธิเสรีภาพ ในสมัย พ.ศ.2500 เป็นต้นมา เรื่องทาสยังได้รับการพูดถึงอยู่อย่างต่อเนื่องและมีพลัง เพราะเราเห็นว่ามันไม่ได้ถูกผลิตซ้ำแค่ในหนังสือ แต่ยังถูกผลิตออกมาในรูปแบบของรูปภาพหรือสื่อละครโทรทัศน์ที่คนดูแล้วอิน รวมถึงในหนังสือแบบเรียนที่ไม่เคยพยายามอธิบายอะไรใหม่

⦁ใน 7 บท บทไหนที่ห้ามพลาด?

บทที่ 3 กำเนิดวาทกรรม “ทาสไทย” ภายใต้พระบารมีของพระปิยมหาราช และบทที่ 4 เรื่องท้าทายวาทกรรมเก่า สร้างสำนึกพลเมืองใหม่ และแรงปะทะจากสังคมนิยม และเรื่องของการท้าทายวาทกรรมเก่าก็มีส่วนว่าหลัง พ.ศ.2475 กลับกลายเป็นว่ารัฐบาลของคณะราษฎรก็ไม่ได้ไม่ชอบหรือมองทาสเป็นเรื่องที่ละเลย ก็ยังมีการพูดเรื่องนี้อยู่

“คนจะชอบเทียบทาสไทยกับทาสอเมริกันซึ่งมันคนละเรื่องเลย

ทาสไทยอยู่ในสังคมเปิด ค้าขายกันอย่างเสรี คนเป็นทาสไม่ได้รู้สึกว่าต้อยต่ำเพราะระบบอุปถัมภ์ ระบบสังคมในยุคจารีตเขาเชื่อว่าชาติกำเนิดเป็นเรื่องสำคัญ เกิดมาต้องอยู่ภายใต้ใครสักคน คือกลายเป็นระบบที่ยอมรับได้

แต่พอเวลาผ่านไป เราก็จะเข้าใจอะไรผิดว่าคนที่เป็นทาสต้องมีชีวิตที่น่าสงสาร ยากลำบาก เหมือนเราเอาความรู้สึกปัจจุบันไปตัดสินอดีต”

⦁คิดว่าหนังสือเล่มนี้จะสร้างการรับรู้ใหม่เรื่องการเลิกทาสได้มากน้อยแค่ไหน?

ก็อยากให้เปิดใจ เพราะว่าคนส่วนใหญ่จะชอบเรียนประวัติศาสตร์ เด็กที่มาเรียนส่วนใหญ่ก็จะอยู่กับสิ่งที่ถูกสอนมานานคือการท่องจำ แต่จริงๆ การเรียนประวัติศาสตร์มันคือการเรียนรู้ การลองผิดลองถูก การเข้าใจอดีตอย่างมีเหตุมีผล ตัวเองเวลาสอนเด็กยังบอกเลยว่าไม่จำเป็นต้องเห็นด้วยในสิ่งที่เขาพูดกัน แต่เรามีเหตุผลของเราเอง มีการค้นคว้าและเลือกที่จะเชื่อ อย่าเชื่อโดยที่เขาบอกให้เชื่อ

⦁เล่มหน้า อยากเขียนหนังสือแนวไหน?

จริงๆ อยากเขียนประวัติศาสตร์เกี่ยวกับข้าราชการ เพราะตอนปริญญาเอกก็ทำเกี่ยวกับเรื่องเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรีที่เป็นขุนนางข้าราชการสมัยรัชกาลที่ 5 และเป็นหนึ่งในตัวอย่างของขุนนางไทยที่พยายามปรับตัวให้เข้าสู่ระบบราชการ ถ้าจะเขียนก็อยากทำเรื่องการกำเนิดและเติบโตของข้าราชการในสมัยรัชกาลที่ 5 ถึง รัชกาลที่ 7 ซึ่งเป็นช่วงประวัติศาสตร์ไทยสมัยใหม่

⦁ในงานหนังสือจะมีไปแจกลายเซ็นด้วยไหม?

มีที่บูธ M49 สำนักพิมพ์มติชน ในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 51 และสัปดาห์หนังสือนานาชาติ ครั้งที่ 21 วันที่ 1 เมษายน ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image