‘นักรบ มูลมานัส’ ผู้ออกแบบปก ‘ในกำแพงแก้ว’ ถูกใจแนวศิลปวัฒนธรรม หวังรัฐบาลใหม่หนุนแวดวงวัฒนธรรมในนิยามกว้าง
เมื่อวันที่ 5 เมษายน ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ฮอลล์ 5-7 ชั้น LG มีการจัดงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 51 และสัปดาห์หนังสือนานาชาติครั้งที่ 21 โดย สมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (PUBAT) ร่วมกับ BOOKWALKER ในแนวคิด “Book Fluencer” ผู้นำอ่าน ตั้งแต่วันที่ 30 มีนาคม-9 เมษายนนี้
บรรยากาศในช่วงบ่ายยังเต็มไปด้วยผู้อ่านที่เดินทางมาจากสถานที่ต่างๆ เพื่อแวะเวียนเข้ามาเลือกซื้อหนังสือที่บูธของสำนักพิมพ์มติชนอย่างไม่ขาดสาย แม้ว่าจะเป็นวันธรรมดาก็ตาม
นายนักรบ มูลมานัส ศิลปินสายคอลลาจชื่อดัง ผู้เขียน ‘เล่นแร่แปลภาพ ประวัติศาสตร์สยามจากเบื้องหลังภาพถ่าย’ และมีผลงานร่วมกับสำนักพิมพ์มติชนมามากมาย โดยล่าสุด เป็นผู้ออกแบบปกหนังสือ ‘ในกำแพงแก้ว’ ผลงาน ศาสตราจารย์พิเศษ ธงทอง จันทรางศุ
นายนักรบกล่าวว่า ตนมาซื้อหนังสือ ‘ในกำแพงแก้ว’ มาเก็บสะสม และนำไปเป็นของขวัญวันสงกรานต์แด่ผู้ใหญ่ที่เคารพ
“เล่มนี้พูดถึงชีวิตของเจ้านายฝ่ายใน การออกแบบปกเล่มนี้ เลยนึกถึงเรื่องการแต่งกายแบบตะวันตกของเจ้านายฝ่ายใน นำมาแมตช์กับเครื่องเรือนของสมัยตะวันตกที่สามารถพบได้ตามพระที่นั่งต่างๆ และนำพระนามของเจ้านายที่อาจารย์ธงทองเล่าไว้ ไปหาภาพมาจัดให้เป็นเหมือนชีวิตความเป็นอยู่ในสมัยนั้น ซึ่งก็มีความเป็นไทย ผสมกับความเป็นตะวันตก”
เมื่อถามถึงหนังสือแนวที่สนใจเป็นพิเศษ นายนักรบกล่าวว่า หนังสือแนวศิลปวัฒนธรรม เพราะอยากเก็บข้อมูลไว้ใช้เป็นประโยชน์การทำงานของตนเอง โดยซื้อนิตยสารศิลปวัฒนธรรมฉบับเก่าๆ ด้วย
เมื่อถามถึงความคิดเห็นในฐานะของผู้ที่ทำงานในแวดวงศิลปะ ว่าคาดหวังอย่างไรกับรัฐบาลใหม่
นายนักรบกล่าวว่า อยากให้ภาครัฐสนับสนุนด้านวัฒนธรรมในนิยามที่กว้างขึ้น ทั้งศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย รวมถึงวัฒนธรรมการอ่าน
“ผมต้องการอยากให้มีการซัพพอร์ตไปสู่วัฒนธรรมที่มันกว้างขึ้น เช่น วัฒนธรรมร่วมสมัย วัฒนธรรมการอ่าน ก็หวังว่ารัฐบาลชุดใหม่จะเล็งเห็นในจุดนี้เยอะๆ และร่วมให้ความช่วยเหลือไม่ใช่แค่กับศิลปินอย่างเดียว แต่ช่วยคนที่ทำงานในแวดวงต่างๆ ที่ต้องการการสนับสนุน อย่างแวดวงการอ่าน เราก็เห็นว่าบรรยากาศคนมางานหนังสือเยอะ แต่ว่าในระบบอุตสาหกรรม เราก็ต้องการให้คนเห็นคุณค่า อยากให้เม็ดเงินเข้ามาสู่แวดวงนี้มากขึ้น”
นายนักรบยังอธิบายเพิ่มเติมถึงวัฒนธรรมการอ่านที่หลายคนมองว่า คนไทยอ่านหนังสือน้อยลง
“ผมคิดเห็นว่าในสมัยนี้การอ่านไม่ได้หมายถึงอ่านหนังสือเพียงอย่างเดียว แต่ยังรวมไปถึงการอ่านบทความออนไลน์ หรือข้อความบนอินเตอร์เน็ตด้วย เพราะการเข้าถึงความรู้มีวิธีที่หลากหลาย และหลายคนมีความถนัดแตกต่างกัน แต่ถึงอย่างนั้นก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าการอ่านหนังสือคือพื้นฐานที่ดีสำหรับการแสวงหาความรู้
ในสมัยนี้การเข้าถึงความรู้มันมีวิธีการที่มันหลากหลายมากๆ หลายคนก็ถนัดในการหาความรู้ที่มันอาจจะคนละทาง ที่ไม่ใช่แค่การอ่านหนังสือ แต่ยังไงเราก็คิดว่าการอ่านหนังสือนี่แหละ มันก็ยังเป็นพื้นฐานที่ดีในการที่จะช่วยในเรื่องของระบบความคิดความเห็นเหมือนกันครับ หลายๆ ทางแล้วกัน แสวงหาความรู้ให้มันครบทุกทางไปเลย” นายนักรบกล่าว