ถูกใจสายประวัติศาสตร์ นักศึกษาเลือก ‘ทาสไทย’ เปิดมุมมองใหม่นอกเหนือตำราเรียน
เมื่อวันที่ 7 เมษายน ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ฮอลล์ 5-7 ชั้น LG มีการจัดงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 51 และสัปดาห์หนังสือนานาชาติ ครั้งที่ 21 โดยสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (PUBAT) ร่วมกับ BOOKWALKER ในแนวคิด “Book Fluencer” ผู้นำอ่าน ตั้งแต่วันที่ 30 มีนาคม-9 เมษายนนี้
ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศในช่วงบ่ายของบูธสำนักพิมพ์มติชน M49 ว่ามีผู้เดินทางเข้าเลือกซื้อหนังสืออย่างคับคั่ง
‘วันทิ’ อายุ 25 ปี นักศึกษาคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง กล่าวว่าตนเป็นแฟนหนังสือของสำนักพิมพ์มติชนอยู่แล้ว วันนี้ก็เป็นโอกาสที่จะได้ตามเก็บสะสมหนังสือเล่มใหม่ ๆ โดยเล่มที่สนใจเป็นพิเศษ คือ ‘ทาสไท(ย): อำนาจ ความกรุณา และปิยมหาราชในภาพจำ’ ผลงานของ ‘ญาณินี ไพทยวัฒน์’
“หนังสือเล่มนี้ช่วยเปิดมุมมองที่มีต่อแนวคิดเกี่ยวกับการเลิกทาสในสมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งแตกต่างออกไปจากตำราเรียนจึงเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่น่าสนใจ หนังสือของสำนักพิมพ์มติชนช่วยเปิดมุมมอง ทำให้ตอนเรียนหนังสือได้อภิปรายมุมมองที่แตกต่างไปจากหนังสือเรียนมัธยม” วันทิกล่าว
ทั้งนี้ หนังสือเล่มดังกล่าว มีเนื้อหาทั้งหมด 7 บท ได้แก่
1 ปฐมบทของการผลิตซ้ำเรื่องทาส และการเลิกทาสในสังคมไทย
- ร่องรอยความรู้เรื่องทาสและการเลิกทาสในสังคมไทย
- ว่าด้วยวาทกรรม “ทาสไทย”
2 ก่อนทาสจะเป็นไท : หลักฐานและการรับรู้เกี่ยวกับทาส จากอยุธยาถึงรัตนโกสินทร์ตอนต้น
- การรับรู้เรื่อง “ทาสไทย” จากหลักฐานชั้นต้น
- “ยอมรับ” ปะทะ “ไม่ยอมรับ”การมีทาสในช่วงเปลี่ยนผ่านสู่ความศิวิไลซ์
3 กำเนิดวาทกรรม “ทาสไทย” ภายใต้พระบารมีของพระปิยมหาราช
- การเลิกทาสเมื่อแรกครั้งปฏิรูปประเทศ
- การเผยแพร่พระราชกรณียกิจสู่สาธารณะผ่าน “วันปิยมหาราช” และ “พระที่นั่งอนันตสมาคม”
- งานเขียนสนับสนุนพระราชกรณียกิจเลิกทาส
4 ท้าทายวาทกรรมเก่า สร้างสำนึกพลเมืองใหม่ และแรงปะทะจากสังคมนิยม
- สำนึก “พลเมือง” ตามรัฐธรรมนูญหลังการปฏิวัติ 2475
- นักคิดสังคมนิยมกับการรื้อถอนสังคมศักดินา
- คำอธิบายเรื่องทาส ฉบับพระบิดาแห่งประวัติศาสตร์ไทย
- แบบเรียนเทิดพระเกียรติจากระบอบเก่าสู่ระบอบใหม่
5 การหวนคืนของ “พระราชกรณียกิจเลิกทาส” ท่ามกลางกระแสอนุรักษนิยม
- ระบบพ่อขุนอุปถัมภ์กับการฟื้นฟูสถาบันพระมหากษัตริย์
- วิชาการเทิดพระเกียรติพระราชกรณียกิจเลิกทาส
- เมื่อระบอบสฤษดิ์-ถนอมถึงคราวสิ้นสุด การหันเหจากคำอธิบายเก่าช่วงหลัง 14 ตุลาฯ 204
6 สู่ศตวรรษแห่งพระราชกรณียกิจ เลิกทาสในสังคมไทย
- การเทิดพระเกียรติ “มหาราช” ในยุคเปรมาธิปไตย
- “ลัทธิพิธีเสด็จพ่อรัชกาลที่ 5”กับวัฒนธรรมการบูชาของชนชั้นกลาง
- “100 ปีแห่งการเลิกทาสในประเทศไทย” กับการผลิตซ้ำในพื้นที่สื่ออันหลากหลาย
7 บทสรุป