แน่น! แฟนคลับแห่เจอ ‘สุภัตรา’ ผู้แปล ‘The Last Mughal’ เผยอยากซื้อมาก การีนตีภาษาสวย เหมือนหลุดเข้าไปอยู่ในเหตุการณ์
เมื่อวันที่ 8 เมษายน ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ฮอลล์ 5-7 ชั้น LG มีการจัดงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 51 และสัปดาห์หนังสือนานาชาติครั้งที่ 21 โดย สมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (PUBAT) ร่วมกับ BOOKWALKER ในแนวคิด “Book Fluencer” ผู้นำอ่าน ตั้งแต่วันที่ 30 มีนาคม-9 เมษายนนี้
ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศเวลา 13.00 น. เต็มไปด้วยความคึกคัก นักอ่านต่างเข้ามาเดินเลือกซื้อหนังสือแน่นบูธมติชน M49 นอกจากนี้บริเวณหน้าบูธยังมีแฟนคลับยืนต่อคิวยาวเหยียด เพื่อนำหนังสือ “The Last Mughal – เมื่อบัลลังก์ล่ม เดลีร้าง” ที่เขียนโดย William Dalrymple มาประทับลายเซ็น สุภัตรา ภูมิประภาส ผู้แปลผลงานติดอันดับขายดี 1 ใน 5 ประจำบูธมติชน
‘ตู่’ พนักงานเอกชน เผยว่า เป็นครั้งแรกที่ได้มาหาพี่แหม่ม สุภัตรา หลังจากที่ตนติดตามมานาน ทั้งตื่นเต้นและดีใจอย่างมาก โดยเล่มแรกที่อ่านคือ ‘ราชันผู้พลัดแผ่นดิน เมื่อพม่าเสียเมือง’ หลังจากนั้นก็ตามมาทุกเล่ม จนถึงผลงานล่าสุดอย่าง ‘เมื่อบัลลังก์ล่ม เดลีร้าง’ ที่ได้ซื้อในงานหนังสือครั้งนี้ พร้อมกับหิ้วผลงานเก่าอีก 2 เล่ม อย่าง ‘จิบพม่า ตามหาจอร์จ ออร์เวลล์ ประวัติศาสตร์ระหว่างบรรทัดในร้านน้ำชา’ และ ‘ราชันผู้พลัดแผ่นดิน เมื่อพม่าเสียเมือง’ มาให้คุณสุภัตราเซ็นด้วย
“ส่วนที่โดดเด่นของพี่แหม่มคือเรื่องของภาษา มันเป็นภาษาที่รู้สึกว่าเข้าถึงเราได้ ภาษาสวย เข้าใจง่าย เหมือนมันพาคนอ่านให้เข้าไปอยู่ในเหตุการณ์นั้น เล่มไหนที่พี่แหม่มแปล สำหรับเรามันเหมือนกับว่าเล่มนี้ต้องดีแน่ๆ เหมือนได้รับการการันตีมาแล้วจากชื่อของนักแปล” ตู่เผย
ด้าน น.ส.ไพลิน เก็บนิล พนักงานเอกชน วัย 31 ปี กล่าวว่า รู้จักนักแปลจากหนังสือเรื่องจิบพม่า ตามหาจอร์จ ออร์เวลล์ ประวัติศาสตร์ระหว่างบรรทัดในร้านน้ำชา จนถึงปัจจุบันก็นับเป็นเวลา 3 ปีแล้ว หลังจากเรื่องนี้ก็เริ่มทยอยเก็บผลงานอื่นต่อมาเรื่อยๆ ส่วนเล่มใหม่อ่านไปแค่ 1 ใน 7 ของเรื่องเท่านั้น แต่ก็บอกได้แล้วว่าสนุก
“มันเป็นเรื่องเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของอินเดีย เนื้อเรื่องสนุก อยากจะแนะนำต่อไปถึงเรื่องตามหาจอร์จ ออร์เวลล์ด้วย ซึ่งเป็นเรื่องของอังกฤษกับพม่า เมื่อทหารเข้ามาแล้วชนพื้นเมืองของพม่าได้รับความบอบช้ำอะไรบ้าง แนะนำให้อ่านสองเล่มเลย” น.ส.ไพลินกล่าว
ขณะที่ น.ส.ปรินทร ศรีจันทร์งาม นักศึกษาปริญญาโท วัย 24 ปี เผยว่า ตนติดตามผู้แปลได้ 2-3 ปีแล้ว เพราะเป็นนักเรียนประวัติศาสตร์ที่ชอบอ่านเกี่ยวกับอินเดีย-พม่า เมื่อตอนที่เรียนปริญญาโทที่ธรรมศาสตร์ ก็ได้ลงเรียนวิชาที่เกี่ยวกับประวัติศาสตร์อินเดีย จึงได้ศึกษาช่วงพีเรียด ของราชวงศ์โมกุลด้วย
“พอมีเล่มนี้ออกมาเลยอยากซื้อมาก ตอนเรียนก็ได้เรียนเกี่ยวกับเรื่องนี้มาแล้ว แต่มันเป็นหนังสือภาษาอังกฤษ น่าจะยังไม่มีคนไทยคนไหนที่แปลเกี่ยวกับเหตุการณ์ราชวงศ์อินเดียกับอังกฤษ ดีใจ ที่มีอะไรเกี่ยวกับอินเดียออกมาเยอะๆ
“อยากจะแนะนำให้คนอ่านเล่มนี้ เพราะเป็นเรื่องเกี่ยวกับกษัตริย์องค์สุดท้ายของราชวงศ์โมกุล ท่านน่าสงสารมาก แล้วบางทีคนไทยเรียนประวัติศาสตร์ก็จะคิดว่าอังกฤษเป็นพระเอก คุณต้องมาอ่านเล่มนี้ แล้วจะรู้ว่ามันไม่ใช่” น.ส.ปรินทรกล่าว
ด้าน สุภัตรา ภูมิประภาส ผู้แปลหนังสือ กล่าวว่า วันนี้ได้รับผลตอบรับดี ตนปลื้มมาก ชอบตั้งแต่เวทีเสวนามีคนมาฟังเยอะ
“ฟังแบบสนใจจริงๆ ไม่ได้มานั่งพัก ได้สนทนากับคนอ่าน มีอาจารย์ประวัติศาสตร์หลายคนมาให้เซ็นชื่อ
เผื่อใครที่สนใจประวัติศาสตร์ หรือประวัติศาสตร์ที่ไม่ได้อ่านแล้วหลับ เรื่องนี้มันเป็นประวัติศาสตร์ที่ไม่ได้เป็นทฤษฎีอะไรมากมาย เป็นการเอาข้อเท็จจริงมาเล่า ข้อเท็จจริงเหล่านี้มาจากข้อบันทึกของทางราชสำนักและฝ่ายอังกฤษ มีกระทั่งเอกสารลับที่สายลับส่งให้กัน ข้อมูลแบบนี้แหละ ที่อยากให้คนได้อ่าน” สุภัตรากล่าว
อ่านข่าว : ชัชชาติ ทวงเสรีภาพการเขียน ! – ทึ่ง กวาดเรียบปกใหม่แค่พันกว่า สมบัติล้ำค่า ‘เก็บไว้อ่านตลอดชีวิต’