ตื่นเต้นเลยทีเดียว! ‘แมว ประกิต’ ผู้คิดคำ ‘ทำงาน ทำงาน ทำงาน’ รับบทกรรมการ ‘มติชนอวอร์ด’ เผยโตมากับ ‘การ์ตูนการเมือง อรุณ’
เมื่อวันที่ 7 เมษายนที่ผ่านมา ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ชั้น LG ฮอลล์ 5-7 สมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (PUBAT) พร้อมด้วยพันธมิตรสำนักพิมพ์ ร่วมจัดงาน ‘สัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 52 และสัปดาห์หนังสือนานาชาติ ครั้งที่ 22’ ตั้งแต่วันที่ 28 มีนาคม-8 เมษายนนี้
บรรยากาศเวลา 19.00 น. ที่เวทีกลาง นิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ ในเครือมติชน จัดเวทีเสวนา ‘เขียน คิด พลิกโลก: พลังเขียน พลังคิด ยังคงพลิกโลกอยู่หรือไม่’ ท่ามกลาง นักคิด นักเขียน ผู้ทรงคุณวุฒิและกรรมการกิตติศักดิ์ ร่วมเวทีคับคั่ง
โดยมีตัวแทนกรรมการและผู้ที่เคยผ่านเวทีการประกวด ‘รางวัลมติชนอวอร์ด‘ ได้แก่ นายกล้า สมุทวณิช คอลัมนิสต์ ‘คนตกสีที่อยู่อีกฝั่งหนึ่ง’ ในฐานะตัวแทนกรรมการเรื่องสั้น ซึ่งเคยคว้ารางวัลด้วยเรื่องสั้น ‘หญิงเสา’, นายเอกรัตน์ จิตรมั่นเพียร หรือ ‘นายทิวา’ ตัวแทนกวีนิพนธ์ และนายประกิต กอบกิจวัฒนา ตัวแทนกรรมการประเภทการ์ตูน ร่วมพูดคุย ตั้งคำถามและหาคำตอบของพลังเรื่องสั้น กวีนิพนธ์ การ์ตูนสะท้อนสังคมไทย ว่าวรรณกรรมและตัวอักษร ยังคงมีพลังหรืออิทธิพลต่อสังคมไทยมากน้อยแค่ไหน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในส่วนของ ‘การ์ตูนสะท้อนสังคมการเมือง‘ ได้การ์ตูนนิสต์อาวุโสทั้ง นายอรุณ วัชระสวัสดิ์ และ นายขุนพล พรหมแพทย์ ซึ่งมีผลงานทั้งในประชาชาติธุรกิจและมติชนสุดสัปดาห์ ซึ่งจะมาช่วยตัดสินผลงาน ร่วมด้วย นายประกิต กอบกิจวัฒนา หรือแมว ผู้คร่ำหวอดในแวดวงโฆษณา ซึ่งยังเป็นผู้วางกลยุทธ์สื่อสารในแคมเปญเลือกตั้งผู้ว่าฯ ให้กับทีม นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร คนปัจจุบัน
โดยเงินรางวัลการ์ตูน รางวัลชนะเลิศ 50,000 บาท พร้อมถ้วยรางวัล, รองชนะเลิศอันดับหนึ่ง 30,000 บาท และรองชนะเลิศอันดับสอง 10,000 บาท
ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายประกิต ในฐานะตัวแทนกรรมการประเภทการ์ตูน กล่าวก่อนขึ้นเวทีว่า ตื่นเต้น ปกติอยู่แต่ในห้องส่ง ขึ้นเวทีบ้างนานๆ ที แต่ตนมีโอกาสได้เป็นกรรมการอยู่บ่อยครั้ง
”ส่วนใหญ่ตัดสินเกี่ยวกับการ์ตูนภาพวาดนี่แหละ ก้าวไกลบ้างอะไรบ้าง ให้สัมภาษณ์บ้าง“ นายประกิตเผย
ได้ยินมาว่า วลีฮิต ‘ทำงาน ทำงาน ทำงาน’ ก็มาจากไอเดียของคุณประกิตด้วย ทำไมถึงนึกคำนี้ได้ ที่ฟังแล้วรู้สึกว่ามีพลังมาก?
นายประกิตเผยว่า เขาเรียกว่ามันเป็นคำที่เปิดการวิเคราะห์ (analyze) ตอนช่วงเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ก็อนาไลซ์จากคู่แข่งผู้ว่าฯ อัศวิน ขวัญเมือง อดีตผู้ว่าฯกทม.
“ตอนนั้นเรารู้สึกว่า เราเบื่อคำขวัญประเภทที่ว่าต้องคล้องจอง รักชาติ ศาสนา เราต้องการจะดิสรัปต์ (disrupt) มัน ตอนนั้นเรารู้สึกว่าคนกรุงเทพฯอยากได้คนทำงาน” นายประกิตเผย
ก็เลยออกมาเป็นคำสั้นๆ ง่ายๆ สื่อสารตรงตัว แต่มีพลัง? นายประกิตเผยว่า ตนอยากจะ Break
เมื่อถามถึงการที่มติชน กลับมาจัดเวที ‘มติชนอวร์ด 2024 ’ อีกครั้ง?
นายประกิตกล่าวว่า เป็นเรื่องดี ที่เปิดให้เด็กได้มีพื้นที่แสดงออกทางความคิด ซึ่งความจริงแล้วการเมืองเป็นเรื่องรอบๆ ตัวเรา
“จริงๆ แล้ว ผมก็โตมากับการ์ตูนการเมืองนะ อย่างการ์ตูนของพี่ อรุณ วัชระสวัสดิ์ ผมรู้สึกว่าภาพนึงที่มันสามารถอธิบายความหมายได้เยอะๆ จริงๆ แล้วมันมีประโยชน์ แม้กระทั่งการเอามาคิดคำขวัญทำงาน ทำงาน ทำงาน ที่กลั่นออกมาจากประสบการณ์” นายประกิตเผย
ทั้งนี้ ผู้ที่สนใจสามารถส่งผลงานเข้าประกวดภายในวันที่ 30 เมษายน 2567 ทางอีเมล์ [email protected] โดยเรื่องสั้น กวี และการ์ตูนที่ผ่านการเข้ารอบจะตีพิมพ์ลงในนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ ตั้งแต่ฉบับเดือนพฤษภาคม-พฤศจิกายน 2567 และตัดสินผลรางวัลในเดือนธันวาคม 2567 นี้