ชาญวิทย์ ภูมิใจ บั้นปลายชีวิต รับบท ‘เอ็นเตอร์เทนเนอร์’ เล่าลึก ‘ถ้วยสาเกจักรพรรดิ’
เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ชั้น LG ฮอลล์ 5-7 สมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย และพันธมิตรร่วมจัดงานมหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 29 (Book Expo Thailand 2024) ในธีม “อ่านกันยันโลกหน้า” ตั้งแต่วันที่ 10-20 ตุลาคม โดยวันนี้เป็นวันสุดท้าย
ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยายช่วงเวลา 11.00 น. พบกิจกรรมทอล์ก หัวข้อ “An Imperial Sake Cup and I” นำโดย ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้เขียนหนังสือ An Imperial Sake Cup and I โดยมีผู้สนใจร่วมรับฟังจำนวนมาก
ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ชาญวิทย์กล่าวว่า ในเรื่องราวหนังสือ An Imperial Sake Cup and I นั้นเกิดขึ้นโดยเป็น “เหตุบังเอิญ” หรือ “อุบัติเหตุ” ผมบังเอิญเก็บ “มีดพับ” ของทหารญี่ปุ่น เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 จากพ่อเอาไว้ที่อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี
พอโตขึ้น จบปริญญาตรี และทำงานอยู่ไม่กี่เดือนที่ กทม. ปี 2505 องค์มกุฎราชกุมารอากิฮิโตะ และพระชายามิชิโกะ เสด็จเยือนประเทศไทยครั้งแรก โดยตนอยู่ในทีมต้อนรับ จนกระทั่งจบงานได้มีของขวัญจากสถานทูตญี่ปุ่น นั่นคือ “ถ้วยสาเก”
“ผมเก็บของ 2 สิ่งนี้เป็นเวลานานมากๆ วันหนึ่งได้คุยกับ ศาสตราจารย์ ดร.ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ เขาก็แนะนำให้จัดคุยเรื่องถ้วยสาเกดีไหม ก็ได้นำมาพูดคุย ปรากฏว่ามีคนมาคุย มารับฟังจำนวนมาก จนมาได้พูดคุยกับ ดร.กฤติยา กาวีวงศ์ ผู้อำนวยการหอศิลป์บ้านจิม ทอมป์สัน เขาบอกว่า การจัดนิทรรศการโดยนำของมาวางมันเชย ของมันพูดไม่ได้ จึงเสนอให้จัด Lecture Performance ปรากฏว่ามีคนเข้ามาดูเป็นจำนวนมาก เป็นร้อยๆ คน
ตอนนั้นคำว่า Lecture Performance ผมไม่รู้จัก เป็นคำวงการศิลปะ ผมอยู่ในวงการวิชาการ ผมก็ Lecture ไปจะมีคนฟังไหม ผมก็ Lecture ไป แต่เมื่อเป็น Performance ผู้คนก็เลือกมาดูและตั้งใจฟัง” ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ชาญวิทย์กล่าว
ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ชาญวิทย์กล่าวต่อไปว่า “ถ้วยสาเก” เป็นมากกว่าถ้วยที่ใช้สำหรับดื่มสาเก มันเป็นเรื่องราวการเกิด การเติบโต การทำงาน การแต่งงาน รวมไปจนถึงการตาย ถ้วยสาเกเป็นความเชื่อดั้งเดิมของชาวญี่ปุ่น เป็นลัทธิที่ไม่ใช่ศาสนา
“หลังโควิดเริ่มลดลง ที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะโตเกียวเมโทรโพลิแทน ญี่ปุ่น ทีมของผมได้รับเชิญไปแสดง ถึง 3 หน ตอนนั้นยังต้องขอวีซ่าในการประทับตรา เขาเขียนว่าผมเป็น ‘เอ็นเตอรเทรนเนอร์’ ผมภูมิใจนะ ในบั้นปลายชีวิตได้ใช้คำนี้ ผมอยู่ในกลุ่มนักแสดงที่มาจากหลายๆ ประเทศ ปรากฏว่าของผมแสดง 3 รอบ ไม่รวมรอบซ้อมใหญ่ มีคนดูกว่า 100 คน ผมมองไป คนเต็มเลย ผมตื่นเต้นจนลืมบทไปเลย แต่ไม่มีคนรู้นะ (หัวเราะ)
ช่วงที่ผิดคิว ผู้กำกับการแสดงคือ คุณธีระวัฒน์ มุลวิไล หรือ คาเงะ และ นนทวัฒน์ นําเบญจพล เขาตกใจมาก แต่ก็ปล่อย เพราะผิดคิวแต่ไม่มีคนรู้ อีกทั้งคนญี่ปุ่นน่ารักมาก มาดูเราทั้งที่ไม่รู้จัก เขาเปิดกว้างรับสิ่งใหม่ๆ” ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ชาญวิทย์เผย
ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ชาญวิทย์กล่าวถึงการเขียนบท Lecture Performance ว่า เราคุยกันหลายรอบ ทีมงานมี 2 คนสำคัญ คือ ดร.กฤติยา ซึ่งเป็นคนบอกให้เป็น Performance ไม่ควรเป็น Lecture เฉย ๆ และ นางจารุนันท์ พันธชาติ หรือ จา ซึ่งป็นคนนั่งฟังผมคุยกัน และไปตามงานผมที่เขียนงานจำนวนมาก ทั้งศิลปวัฒนธรรม มติชนสุดสัปดาห์ เขานำงานผมมาปะติดปะต่อกันจนมาเขียนบท ใช้เวลาหลายเดือน และสนุกมากในช่วงนั้น
“รอบแรกเราไปแสดงที่เชียงใหม่ การนำสถานที่มาล่อ ผมก็ชอบนะ แสดงที่สันกำแพง ผมพยายามจะขายเรื่องนี้ว่าผมอยากจะไปแสดงที่กรุงปารีส ฝรั่งเศส ไปเปิดบ้านอองโตนี บ้านของอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ ดีไหม ยินดียกทีมไปแสดงเลย มันกลายเป็นงานสนุก ไม่ใช่งานน่าเบื่อซ้ำซาก” ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ชาญวิทย์กล่าว
ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ชาญวิทย์ยังเล่าย้อนกลับไปในวัยเรียนว่า ตนเกิดที่บ้านโป่งและอยู่ที่นั่นจนอายุ 13 ปี เรียนที่โรงเรียนนารีวุฒิ และโรงเรียนสารสิทธิ์พิทยาลัย
“ผมเรียนชั้นประถมที่โรงเรียนนารีวุฒิ ซึ่งเป็นโรงเรียนหญิง แต่รับนักเรียนชายชั้นประถม ผมคิดว่าคนที่อยู่แทบภาคตะวันตก มองว่าเป็นโรงเรียนฝรั่งและเป็นโรงเรียนที่การศึกษาดีมาก เพราะฉะนั้นจึงเรียนนี้ ที่เป็นโรงเรียนผู้หญิง 1 ปี
แต่ผมเรียนกับผู้หญิงที่อายุเท่ากัน ผู้หญิงจะโตเร็วกว่า และเราตัวเล็ก เราจะถูกบูลลี่ เลยขอพ่อย้ายไปที่โรงเรียนสารสิทธิ์พิทยาลัย เป็นโรงเรียนชาย และเรียนมาถึง 6 ปี
จนกระทั่งความจำเป็น พ่อบอกว่าพอ ม.4-ม.8 ต้องมาเรียนกรุงเทพฯ และต้องมาเรียนโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ผมขึ้นรถเมล์จากบ้านโป่งมาลงสะพานพุทธ ผมก็สงสัยว่าโรงเรียนบ้าอะไรทำไมตึกยาวมาก ก็ตามใจพ่อ และมาเรียนสวนกุหลาบ 5 ปี
และมาเรียนปริญญาตรี รัฐศาสตร์การทูต (ชื่อสาขาวิชาในสมัยนั้น) ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ อยู่ 4 ปี เพราะผมอยากไปเมืองนอก จนมาทำงาน กทม. และกระทรวงการต่างการประเทศไม่นาน ก็ไปเรียนต่อเมืองนอก ก็นำเรื่องราวเหล่านี้มาใส่ในหนังสือเล่มนี้
แต่ประเด็นที่จี้ใจคนคือผมกลับมาอยู่เมืองไทยปี 2516 ช่วงต้นปี ผมอยู่ในช่วงเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ถึง 6 ตุลาคม 2519 ผมอยู่ท่าพระจันทร์ตลอด ผมเห็นเหตุการณ์ในช่วงนี้เยอะมาก ผมเห็นคนตุลาฯ เยอะมากแต่ผมหนี ผมหลบซ่อน แต่ผมไม่ได้เข้าป่า เพราะใจเราไม่ถึง ผมไปอยู่ญี่ปุ่นดีกว่า ก็นำมาใส่ในหนังสือด้วย” ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ชาญวิทย์เล่า
ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ชาญวิทย์กล่าวต่ออีกว่า เวลามีความเครียดเราต้องหาอะไรบางอย่างทำ ตนไปอยู่ฮาวายพักหนึ่ง ไปเรียนโยคะเป็นเวลา 1 เดือน เป็นงานอดิเรกที่ได้ประโยชน์มาก จนทำปริญญาเอกแล้วมันเครียดมาก จะจบไม่จบอยู่ที่วิทยานิพนธ์
“ผมเครียด เลยหาทางออกด้วยการไปเรียนกีตาร์แต่ไม่ประสบความสำเร็จ เลยไปเรียนปั้นหม้อดินเผา มันสนุกมาก ผมปั้นได้เยอะมาก และส่วนใหญ่ก็บริจาคให้พิพิธภัณฑ์ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ตอนกลับมาประเทศไทย ความรู้สึกว่าตอนนั้น ศ.ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผมเป็นลูกน้องท่าน ผมเป็นรองอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ฝ่ายวิชาพื้นฐาน ต้องสอนวิชาที่นักศึกษาเรียกกันว่า ยำไทย อาทิ อารยธรรมไทย อายรธรรมตะวันออก เป็นต้น” ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ชาญวิทย์กล่าว
ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ชาญวิทย์กล่าวว่า เราทุกคนในยุคนั้นต่างรู้ดีว่ารัฐประหารมีแน่ๆ ไทยแทบเป็นอันดับ 1 ของโลก ตนจะไม่ตัดทิ้งว่าจะมีรัฐประหารอีกไหม
“ผมคิดว่าเมื่อผมไปลี้ภัยอยู่หลายเดือน ผมไปอยู่บ้านยายที่ปากน้ำ สมุทรปราการ เพราะยายรู้จักกับบ้าน พลเรือเอก สงัด ชลออยู่ หัวหน้ารัฐประหารในปีนั้น เวลาเกิดปัญหา ผู้หญิงจะเก่งมาก ผู้ชายจะคิดไม่ออก ผมต้องนึกถึงยาย และจึงออกไปญี่ปุ่น
ผมก็มาเขียนในหนังสือในเล่มนี้อีกว่า วันที่ผมขึ้นเรือบิน (เครื่องบิน) ที่สนามบินดอนเมือง ผมได้ยินเสียงเพลง หนักแผ่นดิน และผมคิดในใจว่าผมไม่อยากพูดภาษาไทยอีกต่อไป เพราะผมเจ็บปวดต่อเหตุการณ์เดือนตุลาฯ และไม่คิดจะกลับมา
และผมก็คิดที่จะกลับมา เพราะสถานการณ์มันเปลี่ยน ตอนนั้นที่ประเทศไทยก็ยังมีรัฐประหาร รัฐบาลของ นายธานินทร์ กรัยวิเชียร รัฐบาลก็ล้ม สถานการณ์เปลี่ยน พออยู่ครบ 1 ปีที่ญี่ปุ่นก็กลับมาทำงานที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ผมทำอะไรหลายอย่างที่ปลูกสำนึกเรื่องประวัติศาสตร์ธรรมศาสตร์ ประชาธิปไตย สิทธิความเสมอภาค” ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ชาญวิทย์กล่าว
ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ชาญวิทย์ยังกล่าวถึง ศาสตราจารย์ นิธิ เอียวศรีวงศ์ นักคิด นักเขียน และศาสตราจารย์ด้านประวัติศาสตร์ว่า อาจารย์ได้พูดกับผมและจับมือกับตนว่า “อาจไม่อยู่ถึงเห็นการเปลี่ยนแปลง แต่ดีใจที่อยู่มาถึงเหตุการณ์ขณะนี้” นัยยะของอาจารย์ต้องการจะสื่อว่า ความเปลี่ยนแปลงมาแน่ๆ แต่เพื่อจะเปลี่ยนแปลงอย่างสันติวิธีได้หรือไม่ ตนก็เลี่ยงบอก 50/50
ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ชาญวิทย์กล่าวทิ้งท้ายด้วยว่า สิ่งที่จะสื่อในหนังสือเล่มนี้คือไทยเราจะรอดปลอดภัยได้เราต้องดูตัวอย่างประเทศที่ประสบความสำเร็จ พัฒนาการก้าวหน้าทันสมัย แต่ก็ยังรักษามกดกทางวัฒนธรรมไว้ได้ ไม่ใช่ตามประเทศที่ “กิ๊กก๊อก”