อรุณ วัชระสวัสดิ์ คว้ารางวัล ‘มติชนเกียรติยศ’ คนแรก! – เอ็มดีมมติชน เชิดชูคุณค่า ‘การ์ตูนการเมือง’ 5 ทศวรรษ อิมแพ็คสังคมวงกว้าง เทียบดีกรีศิลปินแห่งชาติ
สืบเนื่อง เครือมติชนได้จัดการประกวดโครงการ ‘มติชนอวอร์ด 2024’ ทั้งผลงานประเภทเรื่องสั้น บทกวี และการ์ตูนสะท้อนสังคม 2024 โดยชิงเงินรางวัลรวมกว่า 4 แสนบาท ซึ่งมีผู้ประกวดส่งผลงานเข้าร่วมการประกวดทั้งสิ้น 894 ผลงาน จากนั้นผลงานดังกล่าวถูกคัดเลือกเหลือเพียง 24 ผลงาน ที่เข้ารอบตีพิมพ์ในนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ ระหว่างเดือนเมษายน-พฤศจิกายน 2567 ที่ผ่านมานั้น
เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม ที่อาคารสำนักงาน บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) เขตจตุจักร กรุงเทพฯ เครือมติชนจัดงานประกาศรางวัล ‘มติชนอวอร์ด 2024’ ได้แก่ รางวัลชนะเลิศประเภทการ์ตูนสะท้อนสังคมการเมือง, รางวัลชนะเลิศประเภทกวีนิพนธ์ และรางวัลชนะเลิศประเภทเรื่องสั้น พร้อมกับอีกหนึ่งรางวัลอันทรงเกียรติ “มติชนเกียรติยศ” ประจำปี 2567 ซึ่งปีนี้นับเป็นครั้งแรกของการมอบรางวัล
โดยปีนี้เป็นปีแรกสำหรับการจัดมอบรางวัล ‘มติชนเกียรติยศ’ แก่ศิลปิน นักคิด นักเขียน คอลัมนิสต์ นักหนังสือพิมพ์ ที่มีผลงานโดดเด่น และมีคุณูปการต่อวงการและเป็นที่ประจักษ์แก่สายตานักอ่านมาต่อเนื่องยาวนาน โดยคณะกรรมการฯ ผู้ตัดสินรางวัลมติชนวอร์ด มีฉันทามติร่วมกันเป็นเอกฉันท์ มอบ “รางวัลมติชนเกียรติยศ” ในงานประกาศ “มติชนอวอร์ด ประจำปี 2567” โดย นายขรรค์ชัย บุนปาน ประธานบริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) เป็นผู้มอบรางวัลมติชนเกียรติยศแก่ นายอรุณ วัชระสวัสดิ์
นายปราปต์ บุนปาน กรรมการผู้จัดการ กล่าวว่า เราอาจจะต้องมาพูดกันว่า ผลงานของ อรุณ วัชระสวัสดิ์ มีคุณูประการอย่างไรต่อสังคมไทยมาจนถึง 2567 และการมอบรางวัล ‘มติชนเกียรติยศ’ ให้กับ อรุณ วัชระสวัสดิ์ เป็นการส่งสาร ยื่นข้อเสนอ หรือ โยนคำถามอะไรให้กับสังคมไทยร่วมกันวันนี้
“จากเนื้อหาส่วนใหญ่ในหนังสือ ‘อรุณตวัดการเมือง’ เมื่อปี 2555 มาถึงคำประกาศรางวัลศรีบูรพาเมื่อปี 2563 มาสู่คำประกาศรางวัลมติชนเกียรติยศ ในปี 2567ดูเหมือนว่าทุกสถาบัน ทุกสำนัก จะพยายามตอกย้ำว่าอรุณ วัชระสวัสดิ์ เป็นการ์ตูนนิสต์ และ นักหนังสือพิมพ์ แต่วันนี้ผมอยากจะลองเชิญชวนให้ทุกคน ลองจินตนาการและคิดไปไกลกว่านั้นอีกว่า จริงๆแล้วอรุณเป็นอย่างอื่นได้อีกไหม หรือ อรุณมีสถานภาพอื่นๆ ได้อีกหรือไม่” นายปราปต์ชี้
นายปราปต์ กล่าวอีกว่า เรื่องแรกที่อยากชวนทบทวน คือ ถ้าย้อนกลับไปอ่านการ์ตูนของอรุณเมื่อทศวรรษก่อน หรือ เอาง่ายๆว่าดูการ์ตูนอรุณตวัดการเมือง ช่วงปี 2553-2555 ซึ่งเป็นช่วงที่มีความขัดแย้งทางการเมือง หรือ การ์ตูนของอรุณในทศวรรษ 2560 เป็นต้นมา ที่อาจจะอยู่ในสื่อมติชน รวมถึงเฟซบุ๊กของอรุณเอง
“เรื่องน่าทึ่งที่เราเห็น คือ แม้วิธีการวาดรูปการ์ตูนของคุณอรุณจะเปลี่ยนไปบ้างตามแต่ละเทคนิค แต่สิ่งที่ไม่เปลี่ยนไปเลย คือ หลักคิดและจุดยืนทางการเมืองของคุณอรุณที่ยังเดิมเสมอ ไม่ได้โอนเอนไปตามบุคคล ไม่ได้โอนเอนไปตามกลุ่มพรรคการเมืองใดๆ อรุณยึดมั่นในหลักการประชาธิปไตย การเลือกตั้ง และหลักสิทธิมนุษยชนอยู่เสมอ” นายปราปต์กล่าว
นายปราปต์กล่าวต่อว่า ตลอดช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา สังคมไทยมีความขัดแย้งทางความคิดและมีความขัดแย้งทางการเมืองอย่างหนัก มีผู้ใหญ่ที่เสียผู้ใหญ่ไปเยอะมากตามรายทาง แต่อรุณเป็นผู้ใหญ่คนหนึ่งที่ยังไม่เสียผู้ใหญ่ มาจนกระทั่งถึงบัดนี้
“ถามว่าหลักการและจุดยืนของอรุณสามารถตั้งตรงและมั่นคงได้ขนาดนี้ เพราะเขาเป็น “การ์ตูนนิสต์” และ “นักหนังสือพิมพ์” ใช่หรือไม่ คำตอบอาจตอบได้ว่าทั้ง “ใช่” และ “ไม่ใช่” เพราะอีกด้านหนึ่งคนในวิชาชีพเหล่านี้ ก็สามารถเปลี่ยนหลักคิดอุดมการณ์ของตัวเองได้เสมอ ด้วยเหตุผลและคำอธิบายต่างๆ นานา และน่าจะยังมีอีกหลายเหตุปัจจัย ที่ทำให้อรุณยังคงเป็นอรุณที่เชื่อมั่นในคุณค่าของประชาธิปไตย
เช่น อรุณอาจเป็นเพราะเขาเป็นพลเมืองที่มีความกระตือรือร้นอย่างสูง ต่อความเหตุการณ์เปลี่ยนไปของโลกใบนี้ ต่อความเปลี่ยนไปในโลกสากล หรืออาจเป็นเพราะว่าอรุณ มีพื้นฐานจากการที่เป็นมนุษย์ที่รักในเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน อย่างจริงใจ แล้วเห็นว่า มนุษย์ทุกคนควรใช้ชีวิตในสังคมนี้อย่างเท่าเทียม เสมอภาคกัน” นายปราปต์ระบุ
นายปราปต์กล่าวว่า อีกประเด็นที่อยากชวนคิดต่อ คือ บ่อยครั้ง เรามักมองผลงานการ์ตูนของอรุณเป็นแค่ปฏิกิริยาอะไรบางอย่าง หรือ เป็นแค่ลูกปิงปอง ที่เกิดขึ้นเพื่อตอบโต้ หรือเป็นผลลัพธ์ของสิ่งอื่นๆที่เกิดขึ้นก่อนหน้า บอกว่าการ์ตูนของอรุณเป็นผลสรุปรวบยอดของความคิดเห็นของบุคลากรคนอื่นๆ ในกองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์
“ในอีกมุมหนึ่ง สิ่งที่ปรากฏชัดเจนตลอดหลายปีที่ผ่านมา คือ การ์ตูนของอรุณสร้างสรรค์ จุดประกาย แล้วก็เป็นบ่อเกิดในการส่งมอบความใฝ่ฝันอันดีงามให้กับคนไทยที่เชื่อมันในระบอบประชาธิปไตยด้วย การ์ตูนของอรุณช่วยฉายให้เห็นเค้าโครงบางอย่าง ว่าอะไรคือภาพที่สังคมควรปรารถนาของระบบสังคมเมืองที่ดี พูดอีกอย่างคืออรุณพยายามออกแบบโครงสร้างการเมืองไทย ที่พึงปรารถนาผ่านผลงานของเขา ซึ่งอรุณทำหน้าที่เช่นนี้ได้ดีกว่ารัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันเสียอีก” นายปราปต์ชี้
นายปราปต์กล่าวว่า เรื่องสำคัญอีกเรื่องหนึ่ง คือ เวลาเราบอกว่า อรุณ วัชระสวัสดิ์เป็น “การ์ตูนนิสต์” และ “นักหนังสือพิมพ์” คนที่รู้จักอรุณในแง่มุมต่างๆ ก็มักต้องเสริมข้อมูลอื่นๆ แทรกเข้ามาเสมอ เช่น อรุณเป็นคนออกแบบปกหนังสือชั้นเยี่ยม อรุณเป็นคนออกแบบฟอนต์ตัวพิมพ์ชั้นยอด ในแง่นี้ อรุณก็ถือเป็น ‘ดีไซเนอร์’ ในโลกของศิลปะ
“ในความทรงจำของหลายคนคน พวกเราย่อมเคยเห็นชื่อของอรุณปรากฏอยู่ในไตเติลรายการจดหมายเหตุกรุงศรีทางช่อง 7 ในแง่นี้อรุณก็ถือเป็นคนทำทีวีคนหนึ่ง นอกจากข้อมูลเชิงรูปธรรมปลีกย่อยเหล่านั้นแล้ว เอาเข้าจริงอรุณอาจยังเป็นอะไรอย่างอื่น ที่กว้างและสามารถกว่านั้นได้อีก” นายปราปต์ชี้
นายปราปต์กล่าวว่า ข้อแรก หลายคนมักนิยามว่าอรุณเป็น “การ์ตูนนิสต์” แต่มันไม่ค่อยมีคนนิยามว่า เขาเป็นจิตรกรผู้สร้างผลงานศิลปะชั้นเยี่ยมแห่งยุคสมัยตลอด 5 ทศวรรษที่ผ่านมา ดังที่นายไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม เพิ่งให้สัมภาษณ์กับมติชนสุดสัปดาห์ไว้ว่า ช่วงหลังๆเป็นผลงานที่เป็นอาร์ตเวิร์ก ซึ่งมีคุณค่าในตัวของมันเอง โดยที่ไม่ต้องอยู่ในหนังสือก็มีคุณค่า
“บางที ปัญหาของการนิยามว่าอรุณเป็นจิตรกรหรือไม่เป็น ผลงานของอรุณเป็นผลงานจิตรกรรมหรือไม่ใช่ จึงอาจขึ้นอยู่กับโลกทัศน์และรสนิยมของผู้นิยามหรือผู้ประเมินค่ารายนั้นๆ พูดอีกแบบคือปัญหาอยู่ที่คนนิยาม ไม่ได้อยู่ที่ผลงานของอรุณ” นายปราปต์เผย
นายปราปต์กล่าวว่า ข้อถัดมา คือ แม้การ์ตูนของอรุณจะสื่อสารผ่านภาษาภาพเป็นหลัก แต่ก็คงไม่มีใครกล้าปฏิเสธเช่นกันว่า ผลงานของอรุณนั้นเป็น เรื่องเล่าชั้นยอด ที่มีแง่คิดคมคายและอารมณ์ความรู้อันหลากหลายของมนุษย์ที่แฝงอยู่ในงานทุกชิ้น เรื่องเล่าที่ไม่จำเป็นต้องถ่ายทอดด้วยตัวอักษร ข้อความ หรือประโยคบอกเล่าอะไรมากมายนัก
“ในแง่นี้ผมอยากจะถามว่า เป็นไปได้หรือไม่ที่เราจะพิจารณาว่าผลงานทั้งหมดของอรุณนั้นมีคุณค่าในเชิง “วรรณศิลป์” ด้วย ว่า ถ้าพิจารณารากศัพท์ทั้งบาลีและสันสกฤตแล้ว เอาเข้าจริงคำว่า “วรรณ” (วณฺณ หรือ วรฺณ) ก็ไม่ได้มีความหมายว่า “ตัวอักษร” หรือเรื่องเกี่ยวกับ “หนังสือ” อย่างที่เราคุ้นเคยในสังคมไทย แต่คำนี้อาจจะหมายถึง สีสัน, รูปทรง, ความงาม ตลอดจนสีหน้าท่าทางได้อีกด้วยยิ่งเมื่อพิจารณาความหมายอื่นๆ เหล่านี้ ผลงานของอรุณย่อมเข้าข่ายเป็นงาน “วรรณศิลป์”
หรือหากจะพิจารณาไปถึงนิยามของคำว่า ‘literature’ ในโลกตะวันตก ซึ่งแปลว่า วรรณกรรม ในภาษาไทยหลายคนก็นับรวมเอาเรื่องเล่ามุขปาฐะก็ดี หรือ ภาพเขียนในยุคก่อนประวัติศาสตร์ก็ดี ก็มีสถานะก็สถานะเป็นวรรณกรรมแขนงหนึ่ง ในการนิยามของใครหลายคนเช่นกัน
ท้ายสุดแล้ว ถ้าเรายังอยากจะยืนกรานว่า ‘วรรณศิลป์’ ต้องเป็นงานศิลปะที่มีความข้องเกี่ยวกับหนังสือเท่านั้น ก็คงไม่มีใครกล้าเถียงหรอกว่า ผลงานศิลปะเกือบทั้งหมดในชีวิตของอรุณนั้นเผยแพร่อยู่ในหนังสือ แล้วก็สื่อสิ่งพิมพ์ ฉะนั้นงานของอรุณก็เป็นงานเชิงวรรณศิลป์ในความเห็นของผมด้วย” นายปราปต์เผย
นายปราปต์กล่าวว่า แต่ไม่ว่าเราจะนิยมว่า อรุณเป็นศิลปินที่สร้างจิตรกรรม หรือ งานวรรณศิลป์ อีกสิ่งหนึ่งที่โดดเด่น คือ ผลงานของอรุณมีความยึดโยงถึงวัฒนธรรมของมวลชนอย่างแยกไม่ออก
“เมื่อการ์ตูนหรืองานศิลปะเหล่านั้นเผยแพร่อยู่ในสื่อสิ่งพิมพ์ ที่เคยเข้าถึงมวลชนในวงกว้าง อย่างน้อยก็ในยุคสมัยหนึ่ง ขณะเดียวกัน การทำรายการโทรทัศน์อย่างจดหมายเหตุกรุงศรี ก็ยิ่งบ่งชี้ว่าอรุณนั้นมีความข้องเกี่ยว หรือมีความใส่ใจให้ความสำคัญกับสื่อที่มีศักยภาพเข้าถึงผู้คนในวงกว้างขนาดไหน
จนมาถึงปัจจุบัน อรุณก็ยังพยายามเผยแพร่งานของเขาผ่านทางโซเชียลมีเดีย ทำให้ผลงานเหล่านี้สามารถเข้าถึงผู้ชมคนอ่านได้อีกไม่น้อย แล้วก็ให้ความสนใจว่า อรุณสามารถรักษาการทำงานขั้นสูงเอาไว้ได้ตลอด 5 ทศวรรษ ซึ่งเอาเข้าจริงเป็นเรื่องยาก ถ้าใครอยู่ในแวดวงศิลปะ จะเห็นศิลปินที่อยู่ในยุคทองได้ 1-2 ทศวรรษเท่านั้น แต่อรุณทำงานในส่วนนี้ได้ยาวนาน งานของอรุณไม่ได้เป็นเพียงที่ชื่นชอบคนคนอ่านรุ่นราวคราวเดียวกัน ให้คนอายุ 60-70 ได้ดู แต่งานเขายังเป็นที่ชื่นชมของคนรุ่นหลังที่ผ่านมาพบเจอ ผ่านสื่อสิ่งพิมพ์ โซเชียลมีเดีย หรือ รวมถึงอื่นๆ ด้วย
“ด้วยเหตุนี้ การ์ตูน ผลงานจิตรกรรม ผลงานวรรณศิลป์ของอรุณจึงเป็นผลงานที่ถูกเสนอชื่อที่ถูกผลิตขึ้นเพื่อมวลชนจำนวนมาก และผ่านช่วงอายุหรือเจเนอเรชั่นของคน แม้ในความเห็นของบางคน ผลงานของอรุณอาจจะไม่ใช่ผลงานศิลปะที่สวย สูงส่งขึ้นยิ่ง แต่ก็เป็นผลงานศิลปะที่แพร่กระจายไปตามท้องตลาด และวิถีการผลิต การบริโภคของทุกคน รวมถึงเข้าถึงชีวิตของสามัญชนอย่างกว้างใหญ่ไพศาล จนนับเป็นศิลปะที่เข้าถึงประชาชน เป็นศิลปะของประชาชาติ ชาติที่หมายถึงประชาชน
สุดท้าย รางวัล “มติชนเกียรติยศ” ครั้งแรกสุด ประจำปี 2567 จึงมีความเหมาะสมกับ “อรุณ วัชระสวัสดิ์” ผู้เป็นศิลปินที่สร้างสรรค์งาน “จิตรกรรม” และ “วรรณศิลป์” ที่สำคัญคนหนึ่งของชุมชนชาติไทยยุคปัจจุบัน ในความรู้สึกนึกคิดของใครหลายคนที่มารวมกันในที่นี้ อรุณ วัชระสวัสดิ์ เป็นศิลปินแห่งชาติไปแล้วเรียบร้อย” นายปราปต์ทิ้งท้าย