คำต่อคำ! สปีชแรก ‘อรุณ’ หลังคว้ามติชนเกียรติยศ- เปรียบ‘การ์ตูนการเมือง’ เหมือน ‘น้ำจิ้ม’ ช่วยชูโรงข่าวเข้ม ปลื้มวันนี้ถูกเห็นค่า
สืบเนื่อง เครือมติชนได้จัดการประกวดโครงการ ‘มติชนอวอร์ด 2024’ ทั้งผลงานประเภทเรื่องสั้น บทกวี และการ์ตูนสะท้อนสังคม 2024 โดยชิงเงินรางวัลรวมกว่า 4 แสนบาท ซึ่งมีผู้ประกวดส่งผลงานเข้าร่วมการประกวดทั้งสิ้น 894 ผลงาน จากนั้นผลงานดังกล่าวถูกคัดเลือกเหลือเพียง 24 ผลงาน ที่เข้ารอบตีพิมพ์ในนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ ระหว่างเดือนเมษายน-พฤศจิกายน 2567 ที่ผ่านมานั้น
เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม ที่อาคารสำนักงาน บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) เขตจตุจักร กรุงเทพฯ เครือมติชนจัดงานประกาศรางวัล ‘มติชนอวอร์ด 2024’ ได้แก่ รางวัลชนะเลิศประเภทการ์ตูนสะท้อนสังคมการเมือง, รางวัลชนะเลิศประเภทกวีนิพนธ์ และรางวัลชนะเลิศประเภทเรื่องสั้น พร้อมกับอีกหนึ่งรางวัลอันทรงเกียรติ “มติชนเกียรติยศ” ประจำปี 2567 ซึ่งปีนี้นับเป็นครั้งแรกของการมอบรางวัล
โดยปีนี้เป็นปีแรกสำหรับการจัดมอบรางวัล ‘มติชนเกียรติยศ’ แก่ศิลปิน นักคิด นักเขียน คอลัมนิสต์ นักหนังสือพิมพ์ ที่มีผลงานโดดเด่น และมีคุณูปการต่อวงการและเป็นที่ประจักษ์แก่สายตานักอ่านมาต่อเนื่องยาวนาน โดยคณะกรรมการฯ ผู้ตัดสินรางวัลมติชนวอร์ด มีฉันทามติร่วมกันเป็นเอกฉันท์ มอบ “รางวัลมติชนเกียรติยศ” ในงานประกาศ “มติชนอวอร์ด ประจำปี 2567” โดย นายขรรค์ชัย บุนปาน ประธานบริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) เป็นผู้มอบรางวัลมติชนเกียรติยศแก่ นายอรุณ วัชระสวัสดิ์
นายอรุณ วัชระสวัสดิ์ กล่าวว่า ตนเขียนการ์ตูนมา 50 ปี ตกใจมาก ว่าผ่านมานานเหลือเกิน นับตั้งแต่การตีพิมพ์ผลงานครั้งนี้ ตนอยากจะบอกว่ามาได้อย่างไร และอยากจะขอบคุณทุกท่านที่ช่วยให้ตนมาถึงจุดนี้
“ผมเริ่มเขียนการ์ตูนเมื่อ 52 ปีที่แล้ว นานมาก ตอนนั้นผมอายุ 25 เรียนอยู่คณะจิตรกรรม ประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ส่วนความคิดที่ว่าจะเป็นนักเขียนการ์ตูนเมื่อไหร่นั้น ก็เริ่มจากตอนเด็กๆที่ชอบวาดตามหนังสือนิยายภาพ ส่วนมากจะเป็นหนังสือฝรั่ง ผมเป็นคนต่างจังหวัด อยู่สุราษฎร์ธานี
ตอนชั้นประถมศึกษาก็หัดเขียน หัดวาดการ์ตูนมานับตั้งแต่นั้น ส่วนที่อยากเป็นนักเขียนการ์ตูนการเมืองก็เริ่มเมื่อตอนเข้ากรุงเทพฯ เรียนหนังสือที่เพาะช่าง ต้องขอขอบคุณประยูร จรรยาวงศ์ เป็นท่านแรกที่ทำให้เกิดแรงบันดาลใจ ให้อยากเป็นนักเขียนการ์ตูนการเมืองนับจากนั้นตลอดมา ไม่คิดอยากจะทำอย่างอื่นเลย ผมขอยืนยันเลย
หนังสือพิมพ์สยามรัฐเป็นหนังสือพิมพ์ที่นิยมมากสำหรับคอการเมือง เป็นหนังสือพิมพ์ที่รวบรวมนักเขียนเก่งๆ จำนวนมาก ก็เป็นหนังสือแนวเดียวกันกับมติชนที่เป็นอยู่แบบนี้ ที่ได้เสนอความคิดผ่านเนื้อเรื่องการเมือง เศรษฐกิจ สังคมเป็นหลัก
มีอยู่วันหนึ่งผมอยากเป็นนักเขียนหนังสือการ์ตูนการเมือง ทำให้ผมได้เคยเขียนหนังสือการ์ตูนการเมืองตัวอย่างขึ้นมาชิ้นหนึ่ง เป็นการ์ตูนชื่อ ‘ม้าหิน-จอมปลวก’ ซึ่งต่อมาตัวการ์ตูน ‘หัวจุก’ ก็ได้มาเป็นมาสคอตของประชาชาติและมติชน ผมก็เขียนผลงานที่เป็นตัวอย่างชิ้นนั้นทางไปรษณีย์ไปให้คุณสุจิตต์ วงษ์เทศ ที่ตอนนั้นที่ทำงานอยู่กับขรรค์ชัย บุนปาน ที่สยามรัฐ ไม่นานก็ได้พิมพ์การ์ตูนการเมืองลงในหนังสือพิมพ์ครั้งแรก ซึ่งเป็นเรื่องราวเมื่อ 50 ปีมาแล้ว” นายอรุณเผย
นายอรุณกล่าวว่า ตอนนั้นถ้าเปรียบเป็นนักมวย ตนก็คงเป็นนักมวยที่ไม่เคยขึ้นเวทีที่ไหนเลย แต่ผมขึ้นเวทีครั้งแรกคงเป็นราชดำเนินเลย มันเป็นไปได้อย่างไร ไม่นานจากนั้นเขาก็ให้ตนออกจากการวาด เพราะเขาให้เหตุผลว่า ตนเป็นพวกเดียวกับสุจิตต์ กับ ขรรค์ชัย ซึ่งเหตุผลอาจจะเป็นเพราะเขาไม่ชอบงานตนก็ได้
“ต่อมาท่านก็ได้ตั้งโรงพิมพ์พิฆเนศ มาก็ได้มาช่วยออกแบบปก ทำให้ผมมีความรู้เรื่องการพิมพ์การออกแบบ และทำให้ผมได้เจอเพื่อนรักจนมาถึงทุกวันนี้ ทำให้ได้มีความรู้ทางวิชาการ ประวัติศาสตร์ โบราณคดี การเมือง ซึ่งเป็นเรื่องที่ผมไม่เคยสนใจเลยก่อนหน้านั้น
เรื่องมีอยู่ว่า คุณสุจิตต์จะพาผมไป ตั้งวงกินเหล้ากับนักวิชาการ นักคิดนักเขียนหลายท่าน ใกล้ๆโรงพิมพ์ จนผมได้รับฟังทุกวันๆทำให้ผมมีความรู้มากขึ้นจากวงสนทนานั้น โดยไม่จำเป็นต้องไปเรียนที่ไหนเลย” นายอรุณเผย
นายอรุณกล่าวว่า ต่อมาอีกไม่นานนายสุจิตต์ กับ นายขรรค์ชัย เปิดหนังสือพิมพ์ประชาชาติ ซึ่งผมเห็นว่าความตั้งใจของพี่ทั้งสอง คือ การทำหนังสือพิมพ์รายวันในอุดมคติสักฉบับ โดยมีโรงพิมพ์พิฆเนศเป็นจุดเริ่มต้น
“ถ้ามีเสาเข็มคงเป็นโรงพิมพ์พิฆเนศ และประชาชาติเป็นเสาหลัก การทำงานที่ประชาชาตินี่เองทำให้ได้เขียนการ์ตูนการเมืองทุกวัน แล้วก็รู้สึกว่ามั่นคงครั้งแรก ที่ประชาชาติสมัยนั้น มันเป็นเหมือนการรวบรวมม้าป่าที่ต้องไปรบจำนวนมาก ปกครองยาก แต่ก็สนุก กลายเป็นหนังสือพิมพ์ที่มีชื่อเสียงในสมัยนั้น” นายอรุณเผย
นายอรุณกล่าวว่า เวลาตนฟังใครพูด หรือ อ่านข่าว ในสมองส่วนหนึ่งของตนจะคิดเป็นรูปการ์ตูนตลอดเวลา ตนได้เขียนการ์ตูนอยู่ประชาชาติได้ไม่นาน หนังสือพิมพ์ก็โดนปิด พอโดนปิด ทุกคนก็ไม่มีงานกันหมด พอดีตอนนั้น สุทธิชัย หยุ่น ตอนนั้นอยู่เดอะ เนชั่น เรียกไปคุยด้วย ซึ่งการเขียนการ์ตูนการเมืองที่เนชั่นเป็นการเขียนที่ยากที่สุดในชีวิต เพราะเป็นหนังสือภาษาอังกฤษ ตนไม่รู้ภาษาอังกฤษเลย ตั้งแต่ตอนนั้นจนถึงตอนนี้
“ลองนึกภาพดูว่า ต้องเขียนในหนังสือที่อ่านไม่รู้เรื่อง แล้วเพื่อนฝูงในที่ทำงานก็พูดภาษาอังกฤษกัน ด้วยความที่ผมไม่ได้สนใจเรื่องภาษา ผมก็เลยเขียนเป็นการตูนใบ้ เพื่อที่จะหลีกเลี่ยงการเขียนหนังสือ ทำให้ผมต้องใช้ความคิดหนังมากในการทำให้คนเข้าใจการตูนที่ผมเขียน โดยไม่ต้องใช้เขียนข้อความซึ่งยากมาก
แต่สิ่งนี้ก็มีประโยชน์ ทำให้ผมเขียนหนังสือการ์ตูนได้โดยที่ไม่ต้องเขียนคำบรรยาย และทำให้ผมเป็นคนที่เขียนการ์ตูนแบบที่มีคำบรรยายไม่เป็น ก็มีทั้งเสียและไม่เสีย ตอนที่ทำอยู่ที่เดอะ เนชั่น เขาเปิดหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ เขาชวนผมไปเขียนการ์ตูน เขาเปิดหนังสือพิมพ์คมชัดลึก ผมก็เขียนวันละ 3 ชิ้น คนละเรื่องไม่ซ้ำกัน ซึ่งสิ่งที่ได้จากตอนทำให้เนชั่น ทำให้รู้ว่านักเขียนอยู่ต่างประเทศเขาคิดกันอย่างไร เขียนกันยังไง สมัยนั้นเขามักจะมีการ์ตูนการเมืองหลากหลายสไตล์ หลายหลายเทคนิค หลากหลายความคิด ทำให้ผมได้เรียนรู้วิธคิด และข่าวสารต่างประเทศมากมายด้วย เรียกได้ว่า สุทธิชัย ได้ชี้แนะแบบที่ไม่มีสถาบันไหนสอนให้เขียนการ์ตูนการเมืองเลย
สิ่งที่เล่ามาทั้งหมด อยากจะบอกว่าท่านทั้ง 3 คน สุจิตต์ ขรรค์ชัย สุทธิชัย สร้างให้มีชื่ออรุณถึงทุกวันนี้ แต่ถ้าท่านไม่สร้างขึ้นมาก็อาจจะไม่ได้มีนักวาดการ์ตูนชื่อ อรุณ วัชระสวัสดิ์ มายืนอยู่ตรงนี้ ขอขอบพระคุณท่านทั้ง 3 คน” นายอรุณเผย
นายอรุณกล่าวอีกว่า การที่ตนได้รับรางวัลในครั้งนี้ทำให้รู้สึกแปลกใจมาก ตนแปลกใจตั้งแต่ที่ได้รับรางวัลคว้ารางวัลศรีบูรพา ซึ่งเป็นสิ่งที่สังคมวรรณกรรม หรือ สังคมศิลปะ ไม่เคยมองเห็นความสำคัญของงานวาดการ์ตูนเลย จึงแปลกใจที่ได้รับรางวัลในครั้งนี้
“ในความรู้สึกของผมคิดว่า ทุกคนคงคิดว่าการ์ตูนมีแต่เรื่องตลกขบขัน ไร้สาระ โดยที่ไม่รู้ว่าเราก็มีสติปัญญา ความคิด ความรู้สึดต่อสังคมและเพื่อนมนุษย์ เพียงแต่เราสะท้อนความคิดออกมาเป็นภาพเท่านั้น ผมมาวันนี้อยากจะบอกว่า พวกเราเป็นศิลปินเหมือนกันเพียงแต่ทำงานคนละแขนงกับท่าน
ตลอดเวลาที่ทำการ์ตูนการเมืองมา มันเหมือนน้ำจิ้มถ้วยหนึ่งบนโต๊ะอาหาร ซึ่งมีอาหารที่อร่อยและมีคุณภาพบนภัตตาคาร ยิ่งหนังสือพิมพ์มติชนแล้วนั้น สร้างสรรค์อาหารที่ปรุงโดยเชฟชั้นดี โดยงานวาดของผมเป็นเพียงน้ำจิ้มเพื่อปรุงให้รสอาหารเหล่านั้นให้มีรสชาติขึ้น ผมคิดอย่างนั้นจริงๆ วันนี้ผมก็อดดีใจไม่ได้ ที่เจ้าของภัตตาคารได้ขึ้นป้ายใหญ่ที่หน้าร้านว่า ร้านนี้มีน้ำจิ้มอร่อย ซึ่งต้องขอขอบคุณที่เห็นคุณค่า
น้ำจิ้ม หมายถึง การ์ตูนการเมือง ที่สังคมยังคงมึนงงในการจัดประเภทว่าจะเป็นอะไร ศิลปะก็ไม่ใช่ กวีก็ไม่ใช่ วรรณกรรมก็ไม่เชิง ความมึนงงเหล่านี้ทำให้ศิลปินวาดการ์ตูนถูกสังคมมองข้ามมาตลอด จนล้มหายตายจากไปตามๆกัน ทุกวันนี้เหลือนักวาดน้อยเต็มที หรือ ใกล้จะสูญพันธุ์ แต่วันนี้ผมต้องขอขอบคุณแทนนักเขียนการ์ตูนทุกท่าน ที่ถูกเห็นถึงคุณค่า” นายอรุณเผย