มติชน เปิดมุมลับ ‘ปากคลองตลาด’ แวะทุกศาล เปิดเกร็ดปวศ. ถอดรหัสมูเตลู

มติชน เปิดมุมลับ ‘ปากคลองตลาด’ แวะทุกศาล เปิดเกร็ดปวศ. ถอดรหัสมูเตลู

เมื่อวันที่ 9 มีนาคม ที่สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ (มิวเซียมสยาม) เขตพระนคร กรุงเทพฯ เครือมติชนและพันธมิตร ร่วมจัดงาน “Knowledge Fest เทศกาลอ่านเต็มอิ่ม 2025 x เทศกาลดนตรีกรุงเทพ” ตั้งแต่วันเสาร์ที่ 8 มีนาคม-อาทิตย์ที่ 9 มีนาคม 2568 เวลา 12.00-21.00 น.

บรรยากาศเมื่อเวลาประมาณ 08.30 น. ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศกิจกรรม Walking Tour เปิดมุมลับพระนคร กับ “สายมูต้องมา!” ไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์แห่งปากคลองตลาด พร้อมย้อนอดีตยุคอยุธยา และธนบุรีผ่านหลากเกร็ดน่ารู้ โดย นายศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ คอลัมนิสต์มติชนสุดสัปดาห์ โดยทัวร์เริ่มต้นที่บริเวณ ‘ศาลตราแผ่นดิน’

ADVERTISMENT

นายศิริพจน์ กล่าวว่า สิ่งที่น่าแปลกใจคือ ทำไมไม่มีประวัติการตั้งศาล และเป็นไปได้อย่างไรว่ามีตราแผ่นดินอยู่ในบริเวณนี้

“เราอยู่ในบริเวณพื้นที่ สน. พระราชวัง ไม่มีประวัติชัดเจนว่าสร้างเมื่อไหร่ จึงกำหนดจากการใช้ตราแผ่นดินในช่วง พ.ศ. 2416-2436 ซึ่งเปรียบเสมือนเป็นสิ่งตั้งต้นในการสร้างศาลในสมัย ร. 5 มีการเฃียนแบบ ทำตราอาร์ม ตรงกลาง คือพระมหาพิชัยมงกุฎ เป็นสัญลักษณ์ของความเป็นสยาม มีฉัตร 7 ชั้น ข้างหนึ่งเป็น คชสีห์ อีกข้างหนึ่งเป็นราชสีห์ โดยมีช้างเอราวัณเป็นสัญลักษณ์ของความเป็นสยามอีกด้วย ผู้ที่นิยมมาไหว้ศาลตราแผ่นดิน มักเป็นบุคคลที่ต้องการสอบราชการ บุคคลที่ต้องทำงานราชการ หรือผู้ที่มีคดีความในชั้นศาล หรือต้องขึ้นโรงขึ้นศาลนั่นเอง” นายศิริพจน์กล่าว

ADVERTISMENT

จากนั้น นายศิริพจน์กล่าวว่า สมัยรัชกาลที่ 5 มีการปรับภูมิทัศน์ของวังหลวง และพื้นที่โดยรอบ ย้ายตลาดปลาออกไปเพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องกลิ่น

“สมัยนั้นเมืองกระจุกมาก เมืองยังไม่สะอาด มีแผงขายปลาเยอะ ริมถนนข้างรั้ววัง ก็มีแผงขายปลา แต่ไม่มีน้ำแข็งมากพอที่จะดับกลิ่น เพราะต้องนำเข้าจากสิงคโปร์ กลิ่นปลารุนแรงมาก รัชกาลที่ 5 จึงโปรดให้ย้ายตลาดปลาออกไป ย่านนี้จึงมีการปรับภูมิทัศน์เกิดขึ้นอย่างมาก” นายศิริพจน์กล่าว

ต่อมา ผู้ร่วมกิจกรรมเดินเท้าไปยัง ‘ปากคลองตลาด’ โดยนายศิริพจน์กล่าวว่า สมัยก่อนส่วนใหญ่มีการจำหน่ายสินค้าทะเล และ เกลือ ต่อมา ปากคลองตลาดเป็นแหล่งค้าขายผักผลไม้ที่สำคัญ เมื่อ จอมพล ป.พิบูลสงคราม ย้ายตลาดผลไม้จากด้านหลังพระราชวังไปยังบริเวณปากคลองตลาดแทน ส่วนการเป็นตลาดดอกไม้เพิ่งเกิดขึ้นในช่วงเวลาต่อมา ส่วน ‘ท่าเตียน’ มีผู้สันนิษฐานหลากหลาย อาทิ เกิดจากไฟไหม้จนเตียน แต่ในความเป็นจริง ชื่อท่าเตียนมีมาก่อนไฟไหม้ใหญ่ ซึ่งตนเชื่อว่า ชื่อท่าเตียนมาจาก คำว่า ‘ฮาเตียน‘ ซึ่งเป็นเมืองท่าของเวียดนาม เปรียบเสมือนที่นี่เป็นฮาเตียนน้อย เพราะคนเวียดนามมาอยู่ตรงนี้ คนเวียดนามค้าขายเก่ง ขายของแพง ของหรู ในสมัยนั้น

ต่อมา ในเวลาประมาณ 10.00 น. เดินเท้าชมทิวทัศน์บริเวณตรงข้ามป้อมวิไชยประสิทธิ์ นายศิริพจน์ กล่าวว่า ป้อมวิไชยประสิทธิ์ ตั้งอยู่บนฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาด้านตะวันตก ทางเหนือของปากคลองบางหลวง (คลองบางกอกใหญ่) ซึ่งเป็นคลองขุด

“เมื่อมีการขุดคลอง จึงความเจริญเกิดขี้น ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ เมืองก็เริ่มใหญ่ พื้นที่ฝั่งธนบุรีก็ขยายใหญ่ขึ้นมาก มีคนอาศัยมากขึ้น แต่ฝั่งพระนครกลับไม่มีค่อยมีคนอาศัย” นายศิริพจน์กล่าว

ต่อมาเวลา 10.30 น. เดินเท้าถึง ‘ศาลกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท’ โดยนายศิริพจน์กล่าวว่า กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท มีนามเดิมว่า บุญมา เป็นพระอนุชาของรัชกาลที่ 1 มีเรื่องเล่าว่า เมื่อครั้งกรุงแตก ได้อพยพมาทางเรือ พายเรือมาตอนมึดๆ คิดว่าจะทำอย่างไรดี หากเจอพม่า สู้ไม่ได้แน่ จึงเสี่ยงทายบนเรือ ถ้ารอดจะไปกับร่วมกับสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช สุดท้ายรอดมาได้ จึงไปร่วมทัพกับพระเจ้าตาก

จากนั้น ราว 11.00 น. เดินเท้าถึง ‘ตลาดยอดพิมาน’ เข้าสักการะ ‘ศาลสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า’ บริเวณตลาดยอดพิมาน

นายศิริพจน์กล่าวว่าผู้ที่มาขอพรยังศาลสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า มักขอพรเรื่องธุรกิจ การค้า โชคลาภ เนื่องจากรัชกาลที่ 1 ทรงมีพระปรีชาสามารถในด้านดังกล่าวด้วย

จากนั้น เวลา 11.30 น. ถึง ‘ศาลเจ้าพ่อหอกลอง’ ซึ่งมีความสำคัญมาก กล่าวคือ ในสมัยอยุธยา มีการตั้งหอกลองไว้ในกลางสี่แยก ย่านโบสถ์พราหมณ์

“กลองเป็นสิ่งสำคัญ มี 3 ใบ ใช้สำหรับ 1.ย่ำบอกเวลา เพราะยุคนั้นยังไม่มีนาฬิกา 2.ย่ำบอกสัญญาณไฟไหม้ และ 3.ย่ำเวลาศัตรูบุกเมืองตำแหน่งเดิมของหอกลองคือวัดโพธิ์ ชั้นล่าง แขวนกลองชื่อ ย่ำพระสุรสีห์ หรือ ย่ำพระสุรีย์ศรีหมายถึงพระอาทิตย์ ชั้นที่สอง แขวนกลองชื่อ อัคคีพินาศ คือย่ำไฟไหม้ ชั้นที่สาม แขวนกลองชื่อ พิฆาตไพรี หรือ พิฆาตไพรินทร์ ย่ำข้าศึกเข้ามา เตรียมปกป้องพระนคร” นายศิริพจน์กล่าว

นายศิริพจน์กล่าวว่า สมัยนั้นต้องเลี้ยงแมวไว้ 1 ตัว เพื่อกันหนูที่จะมากัดหน้ากลอง ต่อมาสมัย รัชกาลที่ 5 ยกเลิกหอกลอง เพราะมีนาฬิกาแล้ว แต่มีการสร้างศาลขึ้นดังที่ปรากฏในปัจจุบัน
สำหรับนักท่องเที่ยวที่จะมาขอพรยังศาลเจ้าพ่อหอกลอง มักขอไม่ให้ติดทหารหรือขอให้ได้ใบดำนั่นเอง

ทั้งนี้ ประชาชนสามารถเข้าร่วม งาน “Knowledge Fest เทศกาลอ่านเต็มอิ่ม 2025 x เทศกาลดนตรีกรุงเทพฯ” ณ สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ (มิวเซียมสยาม) ตั้งแต่วันเสาร์ที่ 8 มีนาคม – อาทิตย์ที่ 9 มีนาคม 2568 เวลา 12.00 – 21.00 น.

ดูรายละเอียดทุกกิจกรรมได้ที่ Matichon Book – สำนักพิมพ์มติชน 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image