ถอดรหัส ‘มูฯไทย ไสยฯอินเดีย’ ผลงานสุดท้าย ‘อ.ตุล’ ชี้โลกยุคใหม่เลิกซุกพิธีกรรมใต้พรม
ถอดรหัสความเชื่อ ‘มูฯไทย ไสยฯอินเดีย’ สานต่อผลงานสุดท้าย ‘อ.ตุล’ ชวนยืนมองจากมุมคนศรัทธา ชี้โลกยุคใหม่เลิกซุกพิธีกรรมไว้ใต้พรม
เมื่อวันที่ 31 มีนาคม ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิต์ ชั้น LG ฮอลล์ 5-8 เขตคลองเตย สมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (PUBAT) แถลงจัดงาน ’สัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 53 และสัปดาห์หนังสือนานาชาติ ครั้งที่ 23‘ ภายใต้แนวคิด “ย ยักษ์ อ่านใหญ่” ซึ่งนับเป็นการจัดใหญ่ที่สุดในรอบ 53 ปี บนพื้นที่กว่า 20,000 ตรม. และใหญ่สุดในอาเซียน
โดย สำนักพิมพ์มติชน (บูธ J02) ร่วมสร้างสรรค์ของพรีเมียมสุดพิเศษในธีม “Read Friendly” ที่ออกแบบโดย “ตุลยา ตุลย์วัฒนจิต” หรือ TUNA Dunn พร้อมด้วยโปรโมชั่นส่วนลดจัดเต็มตลอด 12 วัน ตั้งแต่วันที่ 27 มีนาคม – 7 เมษายน 2568 ตั้งแต่เวลา 10.00 น. – 21.00 น.
เวลา 14.00 น. ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศว่า นักอ่านหลากหลายช่วงวัยเดินทางหลั่งไหลมาเลือกซื้อหนังสือที่บูธสำนักพิมพ์มติชนอย่างไม่ขาดสาย พร้อมกับแลกของที่ระลึก อาทิ กระเป๋าผ้า กระเป๋าเป้ กระบอกน้ำ และหมวก ซึ่งออกแบบลวดลายสุดพิเศษโดย “TUNA Dunn” กันอย่างคึกคัก
ต่อมาเวลา 17.50 น. เริ่มกิจกรรม “Friendly Talk” ในหัวข้อ “I told พระแม่ลักษณมี about มู(เตลู): รวมมิตรมูไทย ไสยอินเดีย” นำพูดคุยโดย นายศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดี และบรรณาธิการหนังสือเล่ม “ภารตะ-สยาม มูฯไทย ไสยฯอินเดีย” ซึ่งเป็นหนังสือผลงานสุดท้ายของ ผศ.คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง หรือ อ.ตุล
นายศิริพจน์ กล่าวว่า หนังสือ “ภารตะ-สยาม มูฯไทย ไสยฯอินเดีย” เป็นผลงานที่อ.ตุลทำค้างไว้ ซึ่งตนก็ทราบว่าในช่วงสัก 2-3 ปีที่ผ่านมา อ.ตุลสนใจเรื่องที่เกี่ยวข้องกับมูเตลู หรือ ไสยศาสตร์ ที่มันเป็นปรากฏการณ์ทางสังคมไทย
“ชุดหนังสือภารตะ-สยามของอ.ตุล มันเป็นการรวบรวมข้อเขียนจากที่อ.ตุลย์เขียนลงในมติชนสุดสัปดาห์เป็นประจำ ชื่อคอลัมน์ว่า “ผี-พราหมณ์-พุทธ” ซึ่งจากชื่อคอลัมน์มันก็แสดงให้เห็นถึงความเชื่อและศาสนาต่างๆ รวมถึงเขายังเป็นอาจารย์ภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร โดยเฉพาะสาขาปรัชญาอินเดีย ดังนั้นสิ่งที่อ.ตุลเขียน มันก็เป็นหัวข้อทำนองนี้อยู่แล้ว” นายศิริพจน์เผย
นายศิริพจน์ กล่าวอีกต่อว่า หนังสือเล่มแรกสุดที่อ.ตุลย์รวมเล่มออกมา คือ “ภารตะ-สยาม? ผีพราหมณ์พุทธ?” และตั้งตามชื่อของคอลัมน์ “ผี-พราหมณ์- พุทธ” ด้วย ซึ่งโดยทั่วไปแล้วคนก็จะรู้จักอาจารย์ตุลย์ ในฐานะผู้เชี่ยวชาญอินเดียศึกษา โดยเฉพาะปรัชญาอินเดียต่างๆ แล้วทีนี้พอจับเรื่องความเชื่อเรื่อง “ผี-พราหมณ์- พุทธ” ซึ่งเป็นการเขียนของด้วยกรอบวิธีคิดที่อยู่ในหนังสือชุดภารตะ-สยาม เล่มแรกนี้
“เอาเข้าจริงแล้ว มันแสดงให้เห็นถึงวิธีการตั้งชื่อ ซึ่งมันเกี่ยวข้องกับศาสนา ที่จริงๆแล้วเราเรียกว่า ‘ศาสนาไทย’ ซึ่งหมายถึงศาสนาของสังคมไทย เพราะในแต่ละสังคมมันจะมีชุดความเชื่อหลายๆศาสนา หรือ ลัทธิที่มันปนกันอยู่ ทีนี้สิ่งที่เป็นความเชื่อของศาสนาไทย แต่เดิมเขาจะพูดว่า มันเป็นศาสนาแบบ ‘พุทธ-พราหมณ์-ผี’ ซึ่งศาสนาพุทธเป็นศาสนาหลักที่สุด แล้วก็มีศาสนาพราหมณ์รองลงมา เดี่ยวข้องกับพิธีกรรมต่างๆ และสุดท้าย คือ ศาสนาผี ที่เชื่อว่าเป็นศาสนาดั้งเดิมที่ถูกเก็บซ่อนเอาไว้อยู่ใต้พรม
แต่ว่าคนที่มาเสนอประเด็นนี้ว่า จริงๆแล้วเรามันควรเรียก ปรากฏการณ์ทางความเชื่อศาสนาในสังคมไทยว่าเป็น “พุทธ-พรามหณ์- ผี” ก็คือ ศาสตราจารย์ นิธิ เอียวศรีวงศ์ ซึ่งน่าจะเป็นคนแรกที่พูดตรงๆ ในคอลัมน์ของมติชนสุดสัปดาห์เหมือนกันว่า “พุทธ-พรามหณ์- ผี หรือ ผี-พรามหณ์-พุทธ”
ซึ่งอ.นิธิก็บอกว่า ไม่จริงหรอกที่คนไทยบอกว่าตัวเองเป็นพุทธ จริงๆมันเป็นความเชื่อผี ที่ถูกพุทธและพรามหณ์ ทับเอาไว้ข้างหน้า เพราะฉะนั้นในชื่อเราจึงจะต้องเอาคำว่า ‘ผี’ มาไว้ข้างต้น พออ.นิธิ (ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์) เสนอแบบนี้ ก็มีอีกหลายคนที่เห็นด้วยตามกันมา” นายศิริพจน์ชี้

นายศิริพจน์กล่าวว่า การที่อ.ตุลย์ตั้งชื่อคอมลัมน์และหนังสือว่า ผี-พรามหณ์-พุทธ มันก็บอกอยู่แล้วว่าอาจารย์ตุลย์เห็นด้วย กับ อ.นิธิ เพราะฉะนั้นหนังสือเล่มแรกจึงจะเป็นการพูดถึงสังคมไทย มองปรากฏการณ์ว่า อะไรที่เรามองว่าเป็นผี พุทธ หรือ พรามหณ์ ซึ่งเป็นการรวมเล่มหลังจากที่เขียนคอลัมน์มาเป็น 10 ปี ก็จะเป็นการรวมข้อเขียนที่เหมาะกับคนที่อยากรู้ว่า “อะไรคือผี-พรามหณ์-พุทธ หรือ พุทธ-พรามหณ์- ผี” กันแน่ ตนคิดว่ามันจะให้ภาพค่อนข้างชัด
นายศิริพจน์กล่าวอีกว่า ส่วนหนังสือเล่มที่ 2 คือ “ภารตะ-สยาม ศาสนา ต้อง(ไม่)ห้ามเรื่องการเมือง” ซึ่งมันเป็นปรากฏการณ์ที่น่าสนใจ เพราะว่าในไม่กี่ปีที่ผ่านมา ถ้าเราจำกันได้มันจะม็อบหรือปรากฏการณ์ทางการเมืองที่ค่อนข้างจะแรง แล้วในปรากฏการณ์ช่วงนั้นถ้าเราสังเกต เราจะเห็นกลุ่มม็อบ หรือ กลุ่มคนต่างๆ เอาเรื่องความเชื่อต่างๆ มาใช้ในสถานการณ์ทางการเมืองด้วย ซึ่งตอนนั้นอ.ตุลย์ก็จะหยิบเอาปรากฏการณ์ดังกล่าว เช่น ประท้วงกันอยู่ดีๆ ก็จะเห็นว่ามีคนทำพิธีกรรมตรงนู้นบ้าง ตรงนี้บ้าง ซึ่งอ.ตุลก็เอามาเขียนลงไว้ในมติชนสุดสัปดาห์ในช่วงเวลานั้น เช่น ผู้ชุมนุมประท้วงกันอยู่ดีๆ ก็มีพิธีกรรมกันตามที่ต่างๆ เอามาเขียนอธิบายในคอมลัมน์ตอนนั้น รวมทั้งหยิบยกเรื่องอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นในสังคมไทย หรือ อินเดีย จนออกมาเป็นเล่มที่ 2
“ความแตกต่างระหว่างการรวมเล่มที่ 1 กับเล่มที่ 2 คือ เล่มแรกจะให้ภาพกว้างๆของศาสนาที่มีการผสม ผี-พรามหณ์-พุทธ แล้วกลายมาเป็นศาสนาไทย ส่วนเล่มที่ 2 จะหันมาพูดถึงเรื่องความเชื่อ พิธีกรรมต่างๆของศาสนา ที่ถูกเอามาใช้ทางการเมือง” นายศิริพจน์ระบุ
นายศิริพจน์ กล่าวอีกว่า ส่วนเล่มสุดท้าย และเป็นเล่มล่าสุดในเซ็ต จะแตกต่างออกไปอย่างสิ้นเชิง คือ “ภารตะ-สยาม มูฯไทย ไสยฯอินเดีย” ซึ่งจะพูดถึงปรากฏการณ์ที่คนไทย เน้นว่าทำไมอยู่ดีๆ เมื่อก่อนจะพูดว่า ‘ผี-พราหมณ์-พุทธ’ ยังไม่ได้เลย ผีมันต้องถูกซุกเอาไว้ใต้พรม แต่ยุคนี้คนกลับมาสนใจสิ่งที่เรียกว่า ไสยศาสตร์ แต่เราก็เรียกเลี่ยงๆ โดยใช้คำว่า ‘มูเตลู’ ซึ่งอ.ตุลเขาก็พยายามอธิบายปรากฏการณ์ตรงนี้ว่า ทำไมคนถึงหันไปหวังพึ่งมูเตลู
“หนังสือทั้ง 3 เล่มนี้ ถึงแม้ว่าจะเป็นเรื่องของศาสนา ‘ผี-พรามหณ์-พุทธ’ ที่มีความสัมพันธ์กันระหว่างไทยกับอินเดียเยอะๆ แต่ว่าในแต่ละเล่มก็มีคาแรคเตอร์ต่างกันไป แล้วผมก็คิดว่าตอบโจทย์สังคมในมุมที่ต่างออกไปด้วย” นายศิริพจน์เผย
นายศิริพจน์ กล่าวอีกว่า ตนอยากจะบอกว่า แม้ไม่ใช่แฟนคลับอ.ตุลย์ ก็ควรอ่านหนังสือเล่ม “ภารตะ-สยาม มูฯไทย ไสยฯอินเดีย” หรือ ต่อให้เป็นแฟนคลับอ.ตุลย์ ก็ต้องมีไว้แม้ว่าเขายังไม่เสียชีวิตก็ตาม เพราะว่าข้อเขียนชุดนี้ตนอ่านแล้วยังได้ความรู้เพิ่มอีกบานเลย ได้ทั้งความรู้ และตัวมุมมอง ซึ่งแต่ละคนเขามีความรู้หรือมุมมองเฉพาะด้านต่างกันไป ตามแต่ละคน ขึ้นอยู่กับว่าคุณคิดว่ามุมมองของใครน่าสนใจ ซึ่งสำหรับตนคิดว่า มุมมองของอ.ตุลย์น่าสนใจอย่างยิ่ง โดยเฉพาะตอนที่อ.ตุล มองปรากฏการณ์เหล่านี้
“อ.ตุลไม่ใช่เพียงนักวิชาการ แต่ยังเป็นนักปฏิบัติ หรือ ผู้ศรัทธาในศาสนา เพราะฉะนั้นเวลาที่แกพูดเรื่องพวกนี้ เรื่องความเชื่อ มันจึงไม่ใช่การพูดมาจากมุมมองของนักวิชาการเพียวๆ มองมันเป็นสิ่งของ แต่เอาเข้าจริงๆ อ.ตุลย์ยืนอยู่ข้างคนที่มีศรัทธาด้วยซ้ำ ซึ่งไม่ว่าจะเป็นคนกลุ่มไหน ผมว่าเล่มนี้น่าซื้อ” นายศิริพจน์กล่าว