พิมพ์ประไพ ชวนมองใหม่ ปม ‘อั้งยี่’ ชี้บทบาทสำคัญ ดันไทยเจริญ เล่าชีวิตสุดทึ่ง ‘เจ้าสัวเกียรติ’
เมื่อวันที่ 1 เมษายน ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิต์ ชั้น LG ฮอลล์ 5-8 เขตคลองเตย กรุงเทพฯ สมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (PUBAT) พร้อมด้วยพันธมิตร จัดงาน ’สัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 53 และสัปดาห์หนังสือนานาชาติ ครั้งที่ 23‘ ภายใต้แนวคิด ‘ย ยักษ์ อ่านใหญ่’ ซึ่งนับเป็นการจัดใหญ่ที่สุดในรอบ 53 ปี บนพื้นที่กว่า 20,000 ตรม. และใหญ่สุดในอาเซียน โดยวันนี้เป็นวันที่ 6 ของการจัดงาน
โดย สำนักพิมพ์มติชน (บูธ J02) ร่วมสร้างสรรค์ของพรีเมียมสุดพิเศษใน ธีม “Read Friendly” ที่ออกแบบโดย “ตุลยา ตุลย์วัฒนจิต” หรือ TUNA Dunn พร้อมด้วยโปรโมชั่นส่วนลดจัดเต็มตลอด 12 วัน ไปจนถึง 7 เมษายนนี้ เวลา 10.00 น. – 21.00 น.
ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศที่บูธ ‘สำนักพิมพ์มติชน’ J02 เมื่อเวลา 10.00 น. มีผู้เดินทางเข้าเลือกซิ้อหนังสืออย่างต่อเนื่อง โดยหนึ่งในหนังสือขายดี คือ ชุด ‘ประวัติจีนกรุงสยาม เล่ม 1-3’ ผลงานเจฟฟรี ซุน และพิมพ์ประไพ พิศาลบุตร แปลโดย พิมพ์ประไพ พิศาลบุตร, กิตติพัฒน์ มณีใหญ่, สมชาย จิว และนิรันดร นาคสุริยันต์ ซึ่งติดอันดับ 1 ใน 5 ต่อเนื่องเข้าสู่วันที่ 6
ต่อมา เมื่อเวลา 14.00 น. สำนักพิมพ์มติชน จัดกิจกรรม Friendly Talk หัวข้อ ‘สายสัมพันธ์ไทย-จีน ครั้นอดีตสู่ปัจจุบัน’ โดย พิมพ์ประไพ พิศาลบุตร หนึ่งในผู้เขียน ‘หนังสือชุด ประวัติจีนกรุงสยาม เล่ม 1-3’ ดำเนินรายการโดย สมฤทธิ์ ลือชัย นักวิชาการอิสระ ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมอุษาคเนย์ ณ เวที Author’s Salon โดยมีบุคคลในแวดวงต่างๆ เดินทางเข้าร่วมจำนวนมาก อาทิ ศ.พิเศษ ดร. ชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดี ม.ธรรมศาสตร์, ศ.ดร. ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ อดีตคณบดีคณะศิลปศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์, นายวิโรจน์ ตั้งวาณิชย์ และนายสมชาย จิว ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมจีน รวมถึงนายสุวิช รุ่งวัฒนไพบูลย์ นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์ และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย เป็นต้น
ในการนี้ ผู้บริหารในเครือมติชนให้การต้อนรับ นำโดย นางสาวปานบัว บุนปาน ประธานกรรมการ บ. มติชน จำกัด (มหาชน), นายนฤตย์ เสกธีระ บรรณาธิการ กองบรรณาธิการ มติชน, นางสาวชุมฉันท์ ชำนิประศาสน์ บรรณาธิการ Khaosod English เป็นต้น
น.ส.พิมพ์ประไพ กล่าวถึงหนึ่งในแรงบันดาลใจสำคัญในการเขียนหนังสือ ชุด ประวัติจีนกรุงสยาม เล่ม 1-3 คือ คุณตา ซึ่งตนมองเป็นฮีโร่
“คุณตาเป็นนายกสมาคมการค้าจีนเซียงหวยตอนอายุ 28 ปี ที่อยู่สาทร ในช่วงที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจปี 1929 ไม่มีใครอยากขึ้นเป็นประธาน เพราะต้องไปดูธุรกิจของตัวเองให้อยู่รอด คุณตาจึงรับขึ้นเป็นนายกสมาคม ช่วงนั้นไทยกับจีนไม่มีความสัมพันธ์ ไทยมีระบบบรรณาการมาตั้งแต่ต้นกรุงศรีอยุธยา เมื่อมาถึงสมัยรัชกาลที่ 4 ขากลับทูตไทยโดนปล้น ถูกฆ่าตาย หลังจากนั้นจึงไม่มีการส่งเครื่องบรรณาการไปอีก ซึ่งในฝั่งจีนอยากมีความสัมพันธ์กับเรามากๆ แต่อยู่ในสถานะไม่มีความสัมพันธ์
แต่ด้วยการค้า ไม่อย่างนั้นไม่ให้สินค้าไทยเข้าประเทศ จึงตั้งให้ ประธานเซียงหวย เป็น ‘ทูตพาณิชย์จีนประจำประเทศไทย’ ซึ่งตอนญี่ปุ่นบุก สำพันธ์เริ่มไม่ดี คุณตาต้องระวังตัว อย่าง อื้อจือเหลียง ไปอยู่ปีนัง โดนจับติดคุก 18 วัน
ในฐานะเคยเป็น คุณตาก็เลยยอมเป็น ‘ประธานเซียงหวย’ ทำให้คนเกลียดท่าน มองว่าสมยอมรัฐบาลไทยกับญี่ปุ่น มีการเตือนว่าอย่าออกจากบ้าน คุณยายเปิดไพ่ ได้ไพ่ที่ต้องตาย ก็ไม่อยากให้ออกปรากฏว่า นายกฯ ควง อภัยวงศ์ ให้เลขาโทรมาว่าต้องไปพบ เพราะไทยอยู่ฝ่ายญี่ปุ่น อังกฤษกำลังจะมาแล้ว จึงต้องการมีความสัมพันธ์กับ ‘เจียง ไคเชก’ ตอนจะขึ้นเรือกลับบ้าน คุณตาก็โดนยิงตายเลย เขาถือว่าเป็นเกียรติมาก ที่ได้สังหารคุณตาเพราะนี่คือผู้นำชุมชนในประเทศไทย เป็นฝ่ายทญี่ปุ่น เป็นเรื่องที่ฝังใจเรามาก และเป็นส่วนหนึ่งในหนังสือเล่มนี้” น.ส.พิมพ์ประไพเผย
เมื่อนายสมฤทธิ์ ถามว่า ฟังแล้วจะเห็นว่า บทบาทของจีนไม่ใช่แค่การค้า ในแง่การเมือง ถือว่าบทบาทช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 นั้นสูงมาก หนังสือยังบอกถึงเรื่องตระกูลใหญ่ๆ ว่ามีที่มาที่ไปอย่างไร หนึ่งในนั้นคือคุณตา?
น.ส.พิมพ์ประไพ ตอบว่า ตนเขียนในฐานะนักมานุษยวิทยา เขียนในเรื่องครอบครัวให้เพื่อนฝูงฟัง ซึ่งเป็นการนำชีวประวัติของหลายๆ คนมารวมกัน
“ถามว่า ดิฉันอ้าปากค้างกับชีวประวัติของใคร ? ก็ต้องบอกว่าเป็นของ คุณเกียรติ ศรีเฟื่องฟุ้ง ทำงานในโรงสี ท่านตั้งปฏิญญาว่า สักวันฉันจะมีตึกในกรุงเทพฯ สมัยก่อนลูกชายต้องกลับไปซัวเถา เพื่ออ่านออกเขียนจีน ไม่อย่างนั้นจะไม่ศิวิไลซ์ เมื่อไปถึงซัวเถาอยู่ได้ปีเดียว ก็หนีไปอยู่ฮ่องกง เพราะรู้สึกว่าเป็นเมืองเล็ก ที่บ้านป่าเมืองเถื่อนนิดๆ พอพ่อกับอากงได้ข่าว ขึ้นเรือไปตั้งฮ่องกงเพื่อไปด่า เลยพาหอบไปอยู่กวางเจา”
“แล้วจากนั้นเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ปรากฏว่าไม่มีเงินส่งไป เลยสมัครเข้าโรงเรียนนายร้อย ไปสมัครเดี๋ยวก็ได้กินข้าว เรียนก็ฟรี ปรากฏว่าถือพาสปอร์ตไทย ฝรั่งเดินมาเห็นเลยส่งไปเรียนต่อที่อเมริกา ไปเรียนเป็นนักบินอยู่ปีกว่า ก็ส่งกลับมาจีน เข้า ‘ฝูงกองบิน’ แล้วขี้นไปสู่ยุทธวิธีกราดยิงเรือบินญี่ปุ่น สนุกมากเลย พอสงครามสิ้นสุดก็ไปทำงานกับ ลูกชายของซุนยัตเซ็น กลับมาไทยด้วยความที่เก่ง เลยไปหาแบงค์ที่กวางเจา ว่าทางจีนมีธุรกิจที่อยากติดต่ออะไรกับทางการไทยบ้าง เขาบอกว่าขยายสาขา คุยไปคุยมา ได้แบงค์ไลเซ่นส์ ธนาคารแห่งกวางเจา เดินไปหาเจ้าสัว ลงทุนด้วยกันไหม? เปิดเป็นธนาคารศรีนคร
แต่ด้วยความไม่ชอบเป็นพนักงาน มีวันหนึ่งพาภรรยาไปทะเล เห็นทรายขาวระยิบระยับ เลยหาผู้ร่วมทุนญี่ปุ่น มาทำแก้ว ‘ไทยอาซาฮีกลาส’ ซึ่งเป็นบริษัทที่ผลิตแก้วให้ตึกสูง ทั่ว กทม. พอเห็นจีนเปิดประเทศ ก็ไปตั้งโรงงานผลิตแก้ว ‘เดอะบอย ฟอร์มสุพรรณบุรี กลายเป็นมหาเศรษฐี’ เรื่องพวกนี้มีออกมาเป็น 3 เล่ม เพราะเต็มไปด้วยชีวประวัติของบุคคล” น.ส.พิมพ์ประไพกล่าว
น.ส.พิมพ์ประไพกล่าวเสริมว่า หนังสือเล่มนี้ ยังเน้นเรื่องอั้งยี่ และแรงงานเช่นกัน สมัย ร.5 แรงงานเป็นคนสร้างตึก รถไฟ ทำไมอั้งยี่ถึงสำคัญ เขาคือกงสีของคนจีนที่รวมตัวกันเป็นเครือข่าย
“ถ้าไม่มีอั้งยี่ เมืองไทยไม่มีแรงงาน ในการจะนำคนจีนมาทำงานที่ไทยได้ ต้องมีคอนเนคชั่น ไม่อย่างนั้นไม่มีทางรถไฟ ไม่มีอาคาร หนังสือเล่มนี้ จะเสนอให้มองอั้งยี่ใหม่ มีความเข้าใจสังคมจีนอย่างลึกซึ้ง และมีบทบาทสำคัญที่ให้ประเทศไทยเจริญ” น.ส.พิมพ์ประไพกล่าว
ผู้สื่อรายงานว่า หลังจบการเสวนามีผู้สนใจ เข้ามาซื้อหนังสืออย่างล้นหลาม สำหรับ ประวัติจีนกรุงสยาม เล่มที่ 1-3 เขียนโดย เจฟฟรี ซุน และพิมพ์ประไพ พิศาลบุตร แปลโดย พิมพ์ประไพ พิศาลบุตร, กิตติพัฒน์ มณีใหญ่, สมชาย จิว และนิรันดร นาคสุริยันต์ จำหน่ายในราคา (Box set) 1,400 บาท จากปกติ 1,760 บาท
พิเศษ! โปรสุดคุ้มสั่งซื้อหนังสือชุด ‘ประวัติจีนกรุงสยาม (ปกอ่อน)’ ในงานสัปดาห์หนังสืรับทันที Read Friendly Tote จำนวน 1 ใบ เพียงชุดละ 1,139 บาทเท่านั้น